พวกเราอยู่ในช่วงเวลาที่น่าสนใจแห่งยุคสมัย ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราได้ยินข่าวด้านลบมากมายของแพลตฟอร์มที่เราใช้อย่างคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล ข่าวปลอม การนำข้อมูลผู้ใช้แพลตฟอร์มไปเอื้อประโยชน์ให้การเลือกตั้ง โมเดลธุรกิจที่ไม่เป็นธรรมหรือมีอคติ ไปจนถึงหุ่นยนต์แย่งงานคน
วิกฤตเหล่านี้ชวนให้มวลชนเริ่มไม่ไว้ใจบริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ คนทั่วไปอย่างเราๆ เริ่มสงสัย หวาดกลัว และถูกปลุกให้ตื่นจากฝันหวานของวันเก่าว่าเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสารจะนำมาสู่โลกที่เท่าเทียมและสวยงามไร้มลทินอย่างง่ายดาย ไม่ต้องควบคุมอะไร ไม่ต้องเรียกร้อง แค่ใช้งานไป
Techlash กระแสตีกลับของมวลชนต่อบริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ ปลุกให้ตื่นจากฝันหวานเทคโนโลยี
เมื่อพวกเราเริ่มคุ้นเคยกับวิกฤตหรือเรื่องราวด้านลบของวงการเทคฯ แห่งยุคสมัย เป็นโอกาสอันดีที่เราจะขอแนะนำให้รู้จักกับคำว่า ‘Techlash’ เกิดจากคำว่า tech (เทคโนโลยี) + backlash (การสะท้อนกลับอย่างรุนแรง) เมื่อรวมกัน Techlash จึงหมายถึง ‘ปรากฏการณ์ดีดกลับเพื่อต่อต้านอย่างรุนแรงและกว้างขวางต่อวงการเทคโนโลยี’ ก่อให้เกิดการตั้งคำถามต่อบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่หรือ big tech ของโลกที่เราคุ้นเคยอย่างเฟซบุ๊ก กูเกิล แอมะซอน อูเบอร์ ฯลฯ
คำว่า ‘Backlash’ ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในบทความของหนังสือพิมพ์ The Economist ในปี 2018 ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นปีแห่งความอลหม่านวุ่นวายในวงการ Tech Startup ทั่วโลกอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ Cambridge Analytica หรือเหตุการณ์ที่ข้อมูลในเฟซบุ๊กรั่วไหลจนมีผลต่อผลการเลือกตั้งอเมริกา ความแคลงใจที่ผู้บริโภคมีต่อโมเดลธุรกิจผูกขาด รวมทั้งข้อกล่าวหาว่าวงการนี้มีอคติและเหยียดเพศ ฯลฯ ประชากรผู้ใช้เฟซบุ๊กนั้นมีมากถึง 1.69 พันล้านคนในปี 2020 ซึ่งมากกว่าประชากรของประเทศไหนในโลกนี้เสียอีก (สมมติว่าไม่มีแอ็กเคานต์ปลอม บอต หรือแอ็กหลุม) ปัญหาในโลกออนไลน์จึงไม่ใช่เพียงปัญหานามธรรมแต่ส่งผลต่อคนบนโลกจริงๆ
สารคดี The Social Dilemma กำกับโดย Jeff Orlowski ซึ่งหาดูได้ในเน็ตฟลิกซ์ได้ไปสำรวจและสัมภาษณ์เหล่าอดีตพนักงานและผู้ก่อตั้งบริษัทเทคฯ ทั้งหลาย พวกเขาต่างออกมาสารภาพว่าตนเองมีส่วนร่วมทำให้กลไกอัลกอริทึมอันซับซ้อนและแสนอัปลักษณ์ที่เอาเปรียบผู้ใช้ แสวงประโยชน์จากความสนใจของผู้คน และส่งผลร้ายกับสังคมในโลกจริง ซอฟต์แวร์เหล่านี้ก้าวหน้าซับซ้อนจนตรวจสอบและควบคุมได้ยาก โดยที่ ส.ส. สว.ในสภาซึ่งมักเป็นกลุ่มคนสูงวัยก็ตามไม่ทันเทคโนโลยีเหล่านี้และไม่สามารถปกป้องประชาชนได้
มันยากที่จะจินตนาการว่าเว็บไซต์ไม่ได้มีเพียงแค่ส่วนที่เราเห็นอย่างหน้าตา รูปภาพ ตัวอักษร หรือโปรไฟล์ที่คลิกไปดูได้ แต่คือระบบขนาดใหญ่แสนฉลาดที่คอยแสวงหากำไรจากความสนใจของเรา ทำให้เสพติด ดลให้เราให้ข้อมูลส่วนตัวทั้งทางตรงและอ้อม และแสวงประโยชน์จากความอยากรู้อยากเห็นตามธรรมชาติของมนุษย์ ขยายด้านมืดในจิตใจ ทั้งยังเต็มไปด้วยฟีเจอร์ที่ทำให้หยุดดูไม่ได้ต้องกดดูต่อไปเรื่อยๆ ทุกๆ วัน
ย้อนไปช่วงต้นปี 2010 บริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ถูกมองว่าเป็นผู้ขับเคลื่อนโลกให้ก้าวไปข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ Arab Spring, มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กถูกนิตยสาร Time ยกย่องให้เป็นบุคคลแห่งปี, Spotify ช่วยแก้ปัญหาการดาวน์โหลดเพลงเถื่อน กูเกิลเต็มไปด้วยอัจฉริยะแสนฉลาดเพียบพร้อม เทคโนโลยีเต็มไปด้วยเวทมนตร์ใหม่ๆ ที่ทำให้เราตื่นตา
แต่เวลาผ่านไป เมื่อมีผู้ใช้มากขึ้นเป็นพันล้านคน เวทมนตร์เหล่านั้นก็เริ่มเสื่อม เผยให้เห็นปัญหามากมายที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการเลี่ยงภาษี เทคโนโลยีที่เข้ามาแทนที่ทำให้คนตกงาน เครื่องมือออนไลน์แสวงกำไรจากความสนใจจนเสพติดของผู้ใช้ ด้านมืดและด้านลับเบื้องหลัง ความผิดพลาดจากความรวดเร็วและการหมกมุ่นกับการเติบโต (Growth) คนทำงานข้างในที่เห็นโครงสร้างของปัญหา เมื่อพยายามเรียกร้องให้บริษัทแก้ไขแต่ไม่เกิดผลก็เริ่มรวมตัวกันเรียกร้องส่งเสียงเพื่อให้คนนอกได้ระวังตัวและเห็นผลกระทบต่อสังคม
และเมื่อเสียงสะท้อนของกระแสต่อต้านวงการเทคฯ เริ่มดังขึ้น จึงมีหนังสือออกใหม่มากมายเพื่อแฉหรือตีแผ่เบื้องหลังของวงการเทคฯ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องแต่งที่อ้างอิงเหตุการณ์และประสบการณ์จริง เช่น
- Bad Blood: Secrets and Lies in a Silicon Valley Startup โดย John Carreyrou ตีแผ่เรื่องอื้อฉาวของ Theranos อดีตสตาร์ทอัพไบโอเทคดาวรุ่งที่กลายเป็นเรื่องหลอกลวงราคาแพง
- Uncanny Valley โดย Anna Wiener นวนิยายเล่าชีวิตหญิงสาววัย 20+ ที่เข้าไปคลุกคลีสัมผัสวัฒนธรรมบริษัทเทคฯ ในซิลิคอน วัลเลย์ เรื่องราวของเธอเริ่มต้นด้วยการมองโลกในแง่ดีด้วยความเดียงสาว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนโลกไปสู่อนาคตที่ดีกว่า ทว่าเธอกลับร่วงหล่นสู่เหตุการณ์เลวร้ายเหลือจะคิด
- I Hate the Internet โดย Jarett Kobek นิยายที่เต็มไปด้วยคำสบถ ด่าทอบริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ทั้งหลายที่ชวนผู้อ่านไปสำรวจแวดวงเทคฯ สัมผัสความอยุติธรรม และผลร้ายเกิดขึ้นได้จากโซเชียลมีเดีย
- The Big Disruption: A Totally Fictional But Essentially True Silicon Valley Story โดย Jessica Powell นิยายตลกเสียดสีบริษัทยักษ์ใหญ่ในซิลิคอน วัลเลย์
เมื่อเครื่องมือพบปัญหา ไม่ได้หมายความว่าเราต้องหยุดใช้แต่เราสามารถเรียกร้องให้ดีขึ้นได้
ปรากฏการณ์ Techlash อาจนำไปสู่บรรยากาศและทัศนคติของคนในสังคมว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งเลวร้ายน่ากลัว และเราก็ควรเลี่ยงหรือหยุดใช้มัน แต่แน่นอนว่าเทคโนโลยีหรือความก้าวหน้านั้นไม่ได้แย่ไปเสียทั้งหมดจนเราต้องหนีไปเสีย
อย่างที่เรารู้กันดี แพลตฟอร์มต่างๆ ช่วยเชื่อมต่อเรากับญาติมิตร ช่วยสร้างเครือข่ายสำหรับการงาน ช่วยแนะนำเราให้ได้พบคนที่สนใจเรื่องเดียวกัน และช่วยให้บางคนสร้างงานสร้างอาชีพได้ เช่น ขายของออนไลน์ เปิดเพจรับค่าโฆษณา ฯลฯ หลายคนที่ชื่นชมในแง่งามของผลิตภัณฑ์หรือแพลตฟอร์มเหล่านี้จึงอาจคิดว่าหากไม่ชอบก็เลิกใช้ไปเสีย อย่าได้มาบ่นหรือก่นด่าให้วุ่นวายใจ ถึงอย่างนั้น ก็ต้องอย่าลืมว่าสิ่งใหม่ๆ ที่แพร่หลายล้วนต้องผ่านการพิสูจน์ ทดสอบจากมวลชน และมีภาคส่วนต่างๆ มาร่วมกันปรับปรุงให้เหมาะสมกับมนุษย์และสังคมทั้งนั้น
เมื่อเกิดข้อมูลรั่วไหลจากเหตุ Cambridge Analytica มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ต้องไปให้ปากคำกับสภาคองเกรส Tim Berners-Lee ผู้คิดค้น World Wide Web ในปี 1989 ได้เสนอความเห็นว่าเขา “เข้าใจดีถึงความรู้สึกที่สิ่งที่เขาสร้างด้วยความหวังดีได้ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดและเป็นภัยร้ายต่อคนอื่น” แต่เขาก็เชื่อว่ายังไม่สายเกินไปที่จะแก้ไขและซ่อมระบบ แต่เรื่องนี้จะสำเร็จได้เมื่อบริษัทเทคฯ ยอมทำงานร่วมกับรัฐบาล นักเคลื่อนไหว นักวิชาการ และผู้ใช้ แสดงความจริงใจและโปร่งใสเพื่อให้มั่นใจว่าแพลตฟอร์มนั้นสร้างขึ้นเพื่อเพื่อนมนุษย์จริงๆ มิใช่แค่เพื่อแสวงหาประโยชน์และกำไรเท่านั้นโดยไม่แคร์ผลกระทบใดใด เพราะแพลตฟอร์มเหล่านี้กระทบต่อชีวิตคนจำนวนมาก ทั้งยังส่งผลกับการเมืองและสังคมวงกว้าง
ส่วนพวกเราประชาชนคนทั่วไปก็ควรจะมีสำนึกที่จะหวงแหนข้อมูลส่วนตัวว่ามันคือของเราไม่ใช่ของบริษัทเหล่านี้ เรามีอำนาจต่อรองเพราะหากไม่มีเรา–เหล่าผู้ใช้งาน บริษัทเหล่านี้ก็ไม่มีมูลค่า หมดความหมาย รวมถึงสื่อมวลชนก็ควรตระหนักถึงหน้าที่ของตัวเองในการตีแผ่ ชี้จุดบกพร่อง และสร้างสำนึกเรื่องอำนาจของผู้บริโภคให้คนทั่วไปเข้าใจความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวเมื่อใช้แพลตฟอร์ม
ทางออกของปัญหาจึงไม่ใช่การที่ทุกคนหยุดใช้แพลตฟอร์มต่างๆ ลบแอ็กเคานต์ทิ้งไป ไม่ต้องคุยกับใครในโลก แต่คือการที่รัฐมีกฎหมายและข้อบังคับที่ทันต่อโลก การตั้งภาษีที่เหมาะควรกับบริษัทเทคฯ และผู้ใช้อย่างเราๆ ก็ควรเข้าใจกลไกความปลอดภัยของข้อมูล เข้าใจความเสี่ยงของการใช้แพลตฟอร์มก่อนจะกดยอมรับข้อตกลงการให้บริการ เพราะหากผู้ใช้อย่างเราๆ รวมตัวกันก็มีอำนาจที่จะเรียกร้องให้เกิดความโปร่งใสได้ นอกจากนี้คนบางกลุ่มก็เริ่มหนีออกจากแพลตฟอร์มใหญ่ไปใช้บริการเจ้าเล็กๆ ใหม่ๆ ที่มีกติกาที่เป็นธรรมกว่า
ถึงเวลาที่เราต้องก้าวให้ทันผลิตภัณฑ์ทันสมัยที่เราใช้
หลังจากกระแส Techlash เกิดขึ้น ITIF (Information Technology and Innovation Foundation) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรของสหรัฐฯ ที่ทำงานด้านนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับเทคโนโลยีได้เสนอแนวทางปฏิบัติให้เหล่าผู้ออกนโยบาย (Policymakers) และอธิบายข้อเท็จจริงเพื่อให้ผู้ออกนโยบายเหล่านี้รู้เท่าทันปรากฏการณ์ Techlash โดย ITIF อธิบายว่าปัญหาต่างๆ ไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้นหากเราเข้าใจการทำงานของมัน เว็บไซต์ politico รายงานว่าหลังจากเกิดปัญหาเทคฯ ครั้งใหญ่ในปี 2018 มาจนปีนี้ ประเทศต่างๆ ในโลกก็เริ่มออกนโยบายด้านดิจิทัล (Digital Policy) ที่เป็นธรรมและทันต่อยุคสมัยมากขึ้นและเชื่อว่าจะดีขึ้นต่อไป
เมื่อเราต่างเห็นว่าความเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมที่เกิดขึ้นต่างมีแพลตฟอร์มต่างๆ เข้ามาอยู่ในสมการ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ไลน์ หรือเทเลแกรม ทั้งเป็นตัวเชื่อมชุมชนทางความคิด เป็นพื้นที่ขับเคลื่อนความคิดของคนรุ่นใหม่ นำมาสู่การรวมตัวกันเพื่อออกไปเรียกร้อง และยังสามารถเป็นอาวุธทางการเมืองที่อันตราย ทั้งในการส่งต่อข้อมูลผิดๆ หรือฝังแนวคิดที่อันตรายและรุนแรง ก่อกำเนิด hate speech และ cyberbullying ซึ่งหากเราสนใจแค่ฝั่งความคิดของตัวเองก็อาจมีความคิดที่ผิดเพี้ยนหรือเกิดอคติได้
ย้ำอีกครั้งว่าสิ่งที่เราต้องทำไม่ใช่การหยุดหรือเลิกใช้ แต่คือการสร้างสภาวะตื่นรู้ความจริงต่อเทคโนโลยี (Tech Realism) เข้าใจแพลตฟอร์มที่เรากำลังใช้อยู่ เข้าใจปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เพื่อแก้ไขให้ถูกจุด หรืออย่างน้อยก็เพื่อรอจนกว่าจะมีเทคโนโลยีที่ใหม่กว่าและดีกว่ามาแทน
ทุกๆ วันเราเล่นมือถือมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดบาปอะไร ไม่ว่าเราจะใช้เพื่อความสุข ความสนุกเพลิดเพลิน หาความรู้ใหม่ๆ เพื่อเชื่อมต่อสานสัมพันธ์ หรือเป็นกระบอกเสียงให้กับค่านิยมที่เราเชื่อ จึงจำเป็นเหลือเกินที่ชาวเน็ตอย่างเราๆ จะไม่ใช่แค่ใช้อินเทอร์เน็ตโดยไม่เข้าใจ
เราควรตระหนักรู้และตื่นตัวถึงสิทธิในข้อมูลส่วนตัวที่เรามี และเคารพในสิทธิของคนอื่นๆ เข้าใจว่าสิ่งที่เราได้เห็นได้อ่านในฟีดล้วนเกิดจากกลไกที่เก็บข้อมูลว่าเราชอบดูอะไร เป็นคนแบบไหน นอกจากนี้เราควรระลึกไว้เสมอว่าสิ่งที่เราได้พบในโลกออนไลน์อาจไม่ใช่ความจริงทั้งหมด เข้าใจว่าข้อความหรือภาพที่เราโพสต์ลงไปจะสามารถถูกแคป ส่งต่อ บิดเบือนยังไงได้บ้าง และมีสติก่อนที่จะแชร์หรือส่งต่อข้อมูลข่าวสารและภาพลงไปในโลกกว้างอันไร้พื้นที่ ไร้เวลา ไร้บริบท
เราซึ่งเป็น ‘ผู้ใช้’ มิใช่แค่ผู้ใช้ แต่คือประชาชนและพลเมืองของโลก และพลเมืองของอินเทอร์เน็ต เลิกคิดว่าในเมื่อเขาให้ของเราใช้ฟรีๆ เสียงของเราก็คงไม่มีความหมาย ไม่มีค่าอะไร หากเรารวมตัวกันสร้างสำนึกให้ตัวเอง ชวนคนรอบตัวมาเห็นความสำคัญของข้อมูลของพวกเรา ลองทำความเข้าใจหลักการคร่าวๆ ของเทคโนโลยีที่เราใช้ เข้าใจความเป็นไปได้และข้อจำกัด เราก็เป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้แพลตฟอร์มที่เราใช้ต้องปรับปรุงและพัฒนาเพื่อมวลชนและสังคมอย่างแท้จริง
อ้างอิง
A Policymaker’s Guide to the “Techlash”—What It Is and Why It’s a Threat to Growth and Progress
The story of techlash, and how the future might be different