ความจริงเบื้องหลังนวัตกรรมลวงโลกใน ‘เลือดชั่ว’ สารคดีแฉบริษัทดาวรุ่งแห่ง Silicon Valley

เลือดชั่ว

ระหว่างอ่าน เลือดชั่ว: เรื่องลับและคำลวงเบื้องหลังบริษัทดาวรุ่งแห่งซิลิคอนแวลลีย์ ฉันก็นึกถึงสำนวนฝรั่งสำนวนหนึ่งว่า fake it ‘til you make it 

สำนวนนี้เป็นการเล่นคำ ความจริงแล้วมันย่อมาจาก frequently until you make it แปลไทยให้เข้าใจง่ายคงได้ประมาณ ‘ทำบ่อยๆ เดี๋ยวก็เก่งเองนั่นแหละ’

แต่ เลือดชั่ว ไม่ได้ทำให้ฉันนึกถึงคำว่า frequently

กลับกัน Elizabeth Holmes ตัวละครหลักของเรื่องทำให้ฉันคิดถึงสำนวนที่ไม่ต้องตีความหรือเล่นคำ

fake it ‘til you make it. ที่แปลได้ว่า ‘โกหกบ่อยๆ เดี๋ยวก็สำเร็จ’ 

เลือดชั่ว

ปกติฉันไม่ค่อยอ่านสารคดีหรืองานน็อนฟิกชั่นบ่อยนัก ยอมรับเลยว่าสิ่งดึงสายตาอย่างแรกคือหน้าปก ตัวหนังสือสีแดงบนฉากดำทำให้เข้าใจว่านี่เป็นสารคดีของ Taylor Swift vs. Katy Perry เพราะสวิฟต์เคยมีเพลงชื่อนี้ออกมา (คิดไปได้) พออ่านโปรยจริงๆ แล้วไม่ใช่ แต่เรื่องราวที่น่าสนใจและคำนิยมจาก Bill Gates ก็มีแรงดึงดูดมากพอให้ฉันหยิบหนังสือจากชั้นไปจ่ายเงิน

เลือดชั่ว: เรื่องลับและคำลวงเบื้องหลังบริษัทดาวรุ่งแห่งซิลิคอนแวลลีย์ แปลจากหนังสือเรื่อง Bad Blood: Secrets and Lies in a Silicon Valley Startup ของ John Carreyrou โดยสำนักพิมพ์ Salt สารคดีเรื่องนี้เล่าเรื่องราวของ ‘Theranos’ บริษัทสตาร์ทอัพด้านสาธารณสุขของเอลิซาเบท โฮล์มส์ หญิงสาวผู้ลาออกจากมหาวิทยาลัยตั้งแต่อายุ 19 มาเปิดบริษัทของตัวเองใน Silicon Valley ชุมชนที่ให้กำเนิดบริษัทเทคโนโลยีดังๆ อย่างกูเกิล, เฟซบุ๊ก, แอปเปิล และอีกมากมาย

ความฝันของเอลิซาเบทคือการสร้าง ‘เอดิสัน’ แล็บเคลื่อนที่ที่สามารถตรวจโรคได้จากตัวอย่างเลือดไม่กี่หยด ความอัจฉริยะของมันคือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหรือผู้ป่วยติดเตียงสามารถตรวจเองได้จากที่บ้าน และเครื่องจะส่งผลเลือดนั้นไปให้แพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อปรับเปลี่ยนการให้ยาต่อไป

Elizabeth Holmes by techcrunch.com

สำหรับคนอเมริกันหลายคนที่ไม่ค่อยไปตรวจเลือดที่โรงพยาบาลเพราะบริการแต่ละครั้งนั้นแสนแพง เอดิสันคือนวัตกรรมที่จะเข้ามา ‘ช่วยชีวิต’ และเปลี่ยนวิถีเดิมๆ ของบริการรักษาสุขภาพให้เข้าถึงคนได้มากขึ้น 

ไอเดียนี้ระดมทุนให้เอลิซาเบทได้หลายร้อยล้านดอลลาร์ ดึงคนสำคัญจากหลายวงการมาร่วมงานกับเธอนับไม่ถ้วน บริษัทเติบโตจนมีมูลค่านับหมื่นล้าน ทำให้ Theranos กลายเป็น ‘ยูนิคอร์น’ (สตาร์ทอัพที่มีมูลค่าสูงกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ตัวใหม่ของ Silicon Valley และเอลิซาเบทก็ได้ชื่อว่าเป็น Steve Jobs เวอร์ชั่นผู้หญิง

Theranos น่าจะเติบโตต่อไป นวัตกรรมของพวกเขาควรจะพลิกโลก ถ้าไม่ติดว่าในปี 2015 จอห์น แคร์รีย์รู นักข่าวสืบสวนประจำสำนัก The Wall Street Journal ตีพิมพ์บทความเปิดโปงว่าเทคโนโลยีของบริษัทเป็นเรื่องโกหกทั้งเพ

John Carreyrou by prhspeakers.com

จากการสัมภาษณ์คนกว่า 150 คน ซึ่ง 60 คนในนั้นคือพนักงานเก่าของ Theranos พวกเขาบอกว่าเทคโนโลยีของ Theranos เป็นภาพฝัน ของจริงนั้นเต็มไปด้วยข้อผิดพลาดมากมาย ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาพวกเขาทดสอบกับผู้ป่วยอยู่เรื่อยๆ และไม่เคยได้ผลตรวจเลือดที่เที่ยงตรง Erika Cheung อดีตคนทำงานในห้องแล็บของ Theranos ยกตัวอย่างว่า สมมติมีการทดสอบผู้ป่วยไทรอยด์ 1 คน เจาะเลือด 3 ครั้ง ผลเลือดทั้ง 3 ครั้งที่ได้ก็จะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีของ Theranos ไม่ควรถูกปล่อยออกไป เพราะนี่คือผลการตรวจที่แพทย์จะใช้ตัดสินใจรักษาผู้ป่วยต่อ มันคือการชี้เป็นชี้ตายได้เลย

นั่นคือจุดเริ่มต้นของการขุดค้นว่าบริษัทมูลค่าหมื่นล้านเหรียญนั้นฟอนเฟะแค่ไหน นำมาซึ่งคดีฉ้อโกงที่ฉาวโฉ่ที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ของ Silicon Valley

เลือดชั่ว

กับคนไม่ค่อยอ่านสารคดีอย่างฉัน เลือดชั่ว ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังอ่านนิยายสืบสวนสอบสวนสักเรื่อง มันตีหัวฉันเข้าเล่มได้ตั้งแต่บทแรกด้วยเหตุการณ์การตัดสินใจผิดๆ ของตัวละครที่ต้องอุทานว่า อันนี้คิดแล้วจริงปะ (และสาบานได้ว่าอุทานแบบนี้ไปจนถึงตอนที่ Theranos โดนแฉ) โดยเฉพาะตัวละครเอลิซาเบท โฮล์มส์ และ Sunny Ramesh Balwani สองผู้บริหารผู้ทำทุกอย่างเพื่อให้สินค้าของบริษัทขายได้ แม้นั่นจะหมายถึงการมองข้ามข้อทักท้วงของพนักงานเรื่องคุณภาพชั้นเลวของเครื่องตรวจเลือด การโกหกนักลงทุนด้วยการโชว์ตัวเลขรายได้หลอกๆ ให้ดู การละเลยความใส่ใจผู้ป่วยที่มาตรวจเลือดด้วยการนำเครื่องตรวจที่ยังไม่พร้อมไปใช้ และการไล่บดขยี้พนักงานเก่าที่ให้สัมภาษณ์กับจอห์น นักข่าวผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ด้วยวิธีสกปรก

แทบทุกบทมีเหตุการณ์เดือดๆ ที่อ่านไปก็หัวร้อนไป แต่ในความหัวร้อนนั้นก็สนุกจนไม่อยากวาง ส่วนนี้ฉันยกเครดิตให้จอห์นที่สามารถหยิบเล็กผสมน้อยจากฟุตเทจสัมภาษณ์กับหลักฐานอื่นและร้อยเรียงให้คนอ่านเข้าใจง่าย เช่นเดียวกับการบรรยายเนื้อหาเนิร์ดๆ ว่าด้วยหลักการทางไอที ธุรกิจ และกฎหมาย อย่างเป็นขั้นเป็นตอน แสดงถึงการทำการบ้านหนักของเขาเป็นอย่างดี

เลือดชั่ว

ฉากที่ฉันชอบมากที่สุดคือการเจอกันครั้งแรกของทีมนักข่าว The Wall Street Journal กับทีมจาก Theranos หลังจากที่ทาง The Wall Street Journal ออกตัวอย่างชัดเจนว่าอยากขุดคุ้ยความลับในบริษัท เราจะได้เห็นการโต้แย้งกันของฝ่ายนักข่าวที่อยากซักถามข้อเท็จจริงเพื่อนำไปเขียนข่าว ในขณะที่อีกฝ่ายพยายามแก้ต่างมากที่สุด ฉันชอบเอเนอร์จี้ของการมาเพื่อทุบ ทุบ ทุบ กับบทสนทนาที่ค่อยๆ เดือดขึ้นเหมือนน้ำร้อนในกา อ่านไปแล้วได้ฟีลกินป๊อปคอร์นดูคนทะเลาะกัน

อีกหนึ่งจุดที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือตัวละคร แม้จะมีจำนวนมากแต่ทุกตัวก็ล้วนเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ทำให้เราเห็นภาพใหญ่ของเรื่องราวได้สมบูรณ์ขึ้น ตัวละครที่น่าสนใจที่สุดคงหนีไม่พ้นเอลิซาเบท โฮล์มส์ ผู้ทำให้เรานึกถึงส่วนผสมของสตีฟ จ็อบส์ กับตัวละคร Jasmine ผู้ชอบโกหกตัวเองในหนังเรื่อง Blue Jasmine 

อันที่จริงการที่สื่อต่างๆ บอกว่าโฮล์มส์คือจ็อบส์เวอร์ชั่นผู้หญิงก็ไม่ผิดเสียทีเดียวเพราะเธอคลั่งไคล้จ็อบส์มาก ในวันที่เขาตายเธอสั่งให้พนักงานออกไปหาธงรูปแอปเปิลมาทำพิธีลดธงครึ่งเสาเพื่อเป็นเกียรติให้กับเขา เธอยังชอบแต่งตัวด้วยเสื้อคอเต่าสีดำแบบเขา ใช้เอเจนซีเจ้าเดียวกับที่เคยทำโฆษณาให้แอปเปิล และว่ากันว่าเสียงทุ้มต่ำเหมือนผู้ชายของเธอมาจากการดัด ไม่ใช่เสียงจริงของเธอด้วย

ความแตกต่างระหว่างเธอกับเขา คือจ็อบส์ทำบริษัทผลิตเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่ให้ความสำคัญกับสินค้าอย่างยิ่ง ในขณะที่โฮล์มส์มุ่งเน้นเรื่องการผลิตเทคโนโลยีที่ดูแลสุขภาพซึ่งกำหนดความเป็นความตายของคนได้จริงๆ แต่กลับทำในทางตรงกันข้าม

เลือดชั่ว

หากย้อนกลับไปดูที่จุดประสงค์ เอลิซาเบท โฮล์มส์ ไม่ใช่คนเลวเลย เธอเป็นแค่ผู้หญิงคนหนึ่งที่ใฝ่ฝันอยากเปลี่ยนแปลงโลก อยากผลิตเครื่องมือที่ทำให้ผู้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น เพียงแค่เธอไม่เคยฉุกคิดว่าความฝันของเธอไม่อาจเป็นจริง หรือหากจะเป็นจริงได้มันก็ต้องใช้เวลา ใช้การลงมือแก้ไขในรากของปัญหาอย่างจริงจัง ซึ่งเธอละเลยจุดนั้นและโกหกคนทั้งโลกมาตลอด

ไม่แน่ว่าหากเธอทำในสิ่งที่ควรจะทำ เธออาจไม่ได้เป็นแค่สตีฟ จ็อบส์ เวอร์ชั่นผู้หญิง แต่เป็นเอลิซาเบท โฮล์มส์ คนที่สามารถ fake it ‘til she makes it อย่างแท้จริง

เป็น fake ที่หมายถึงการทำจนเก่ง (frequently) ไม่ใช่การโกหก


อ้างอิง

Theranos, Elizabeth Holmes, and the Cult of Silicon Valley
Erika Cheung: Blowing the Whistle on Theranos | Inspirefest 2019
prhspeakers.com
techcrunch.com

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน