ในเวลานี้ โลกวุ่นวายเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน หากเราเผลอใจเอาเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นตรงหน้าไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่ควรจะเป็นในอุดมคติที่เราหวัง เราย่อมเจ็บปวดและหม่นหมอง
ในภาวะโรคระบาดทั่วโลกที่เราติดตามรับรู้กันมานานตั้งแต่ต้นปี ควรจัดการได้ดีกว่านี้แต่กลับเมินเฉย เป็นช่วงเวลาที่ยิ่งอ่านข่าวก็ยิ่งเครียด รู้สึกเหนื่อยล้าจากข่าวสารข้อมูล แต่ก็เมินเฉยไม่ได้
ขณะนี้เราประชาชนทั้งโลกตกอยู่ในสภาวะอันไม่ปกติที่ไม่น่าจะคลี่คลายได้โดยง่ายเพียงสวดมนต์และขอให้เราโชคดีรอดพ้น หลายคนรู้สึกกังวลและสิ้นหวังด้วยสถานการณ์โรคระบาดและสิ่งต่างๆ ที่กำลังจะตามมา เนื่องด้วยความทุกข์ที่เรามีร่วมกันนี้ ทำให้วันนี้เราอยากชวนให้รู้จักกับคำว่า Weltschmerz
ความรู้สึกเศร้าหมองเมื่อพบว่าโลกความจริงนั้นน่าหดหู่ ไม่สวยงามตามอุดมคติ
Weltschmerz เป็นคำในภาษาเยอรมัน แปลตรงตัวว่า world-pain หรือ world-weariness ภาวะโลกเจ็บปวด หรือความเหนื่อยล้าเจ็บปวดจากการมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ที่ไม่สวยงามตามอุดมคติ เกิดจากการเผลอเอาความจริงของโลกไปเทียบเทียมกับสิ่งที่เราคาดหวังว่าจะเป็น
คำนี้ไม่ใช่คำใหม่ และสัมพันธ์เชื่อมโยงกับแนวคิดแบบ romanticism ในช่วงปี 1830s Jean Paul นักเขียนเยอรมันได้ใช้คำนี้เพื่อบรรยายความไม่พอใจในโลกของ Lord Byron กวีแสนโศกในนิยายเรื่อง Selina โดยพอลได้นิยามไว้ว่า
“Weltschmerz คือความรู้สึกที่ว่าตัวเรานั้นยังไม่ดีพอ และความไม่ดีพอของเรานั้นสะท้อนความไม่ดีพอของโลกที่เป็นอยู่”
ช่างฟังดูโศกสลดสิ้นดี บรรยายจนเรารู้สึกถึงความหม่นหมองได้อย่างเจ็บปวดแต่สวยงาม คำนี้เลยช่วยขยายและขยี้ความเศร้าหมองในสถานการณ์ร้ายให้ลึกซึ้งลงไปอีกขั้น ภาษาเยอรมันเป็นแหล่งรวมคำบรรยายความรู้สึกที่อธิบายได้ยากได้อย่างงดงาม
Weltschmerz ไม่ใช่เพียงความเศร้าจากเหตุการณ์ส่วนบุคคลแต่คือความหม่นหมองเมื่อเราเชื่อมโยงกับสภาวะของโลก ความเหนื่อยล้า สิ้นหวัง ด้านชา ความเศร้าสลดเมื่อเราตระหนักว่าตัวเรานั้นเชื่อมต่อกับโลกอย่างแยกไม่ออก และเหตุการณ์ร้ายในโลกทั้งหลายทำให้เราผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า
Google Ngram พบว่าคำนี้ถูกใช้เพิ่มขึ้นหลังจากช่วงภาวะหลังสงครามทั้งสองครั้ง จากนั้นก็ในช่วงปี 1970s ที่คำนี้ถูกเชื่อมโยงกับความสิ้นหวังหลังสงคราม ถูกใช้เยอะในช่วงสงครามเย็นหรือช่วงโรคเอดส์ระบาด ในภาวะวิกฤตนี้ คำนี้เลยอาจถูกปัดฝุ่นหยิบนำมาพูดถึงใหม่อีกหน
อนึ่ง Weltschmerz นั้นไม่ใช่การมองโลกในแง่ร้าย (pessimism) เพราะ pessimism คือการมองโลกผ่านแว่นของเหตุผลอันเยือกเย็นที่เห็นว่าโลกนี้มี ‘สิ่งแย่’ มากกว่า ‘สิ่งดี’ แต่ Weltschmerz คือมวลอารมณ์ซึมหมองที่เกิดจากการระลึกได้ว่าโลกแม่งห่วย เป็นการตอบสนองเชิงอารมณ์ต่อความร้ายของโลก การที่เรารู้สึกก็เพราะเราเป็นมนุษย์ที่ขับเคลื่อนอารมณ์และเราแคร์
เมื่อเราระลึกได้ เราจึงเจ็บปวดบอบช้ำเพราะโลก ย่อมทำให้เรามองเห็นว่า ตัวเราซึ่งเป็นปัจเจกต่างเป็นเพียงจุดน้อยวางอยู่บนระนาบที่ผวนผัน และเราก็หลีกหนีให้พ้นไปไม่ได้ ต้องยอมรับและอยู่กับความไม่สมบูรณ์แบบนี้
ในภาวะวิกฤต การพบเจอสักคำที่ช่วยอธิบายความรู้สึกที่เรากำลังมีอย่างลึกซึ้ง แม้ไม่ทำให้ปัญหาหมดไปแต่อาจช่วยทำให้เราไม่รู้สึกเดียวดายในโลก มีใครบางคนในประวัติศาสตร์ได้สร้างความหมายนี้ เพราะนี่คือความทุกข์และความกังวลที่เราจะมีร่วมกันไปอีกยาวๆ เราแค่ต้องการให้คนอื่นบอกเราว่าเขาก็ทุกข์และกังวลไม่ต่างจากเรา
ในความทุกข์ยาก มีการตื่นรู้ ปรับตัว และเติบโต
เมื่อ Angela Merkel นายกรัฐมนตรีเยอรมนีประกาศภาวะฉุกเฉินว่า “โรคระบาดครั้งนี้คือความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2” เธอย้ำว่าสถานการณ์นี้จริงจังและคุณต้องจริงจังกับมัน สถิติที่เราเห็น ยอดผู้ป่วย ผู้เสียชีวิต ไม่ใช่ตัวเลขนามธรรมในสถิติ แต่คือพ่อหรือคุณปู่ แม่หรือคุณย่า คู่ชีวิตของใครสักคน ล้วนคือชีวิตคน และเราคือชุมชนที่ทุกชีวิตและทุกบุคคลนั้นสำคัญ เราอาจแค่ต้องการใครสักคนมาบอกเราว่านี่มันไม่โอเค แต่อย่าแตกตื่นและเห็นแก่ตัวในภาวะวิกฤต จงมีมนุษยธรรมและตัดสินใจโดยคิดถึงชุมชนและคนอื่น
หากเราขยับจากการมองเลขหุ้นที่ร่วงกราว หลายธุรกิจกำลังลำบาก วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่กำลังจะตามมาในไม่ช้า จะมีคนต้องออกจากงานที่ได้รับผลกระทบและกำลังสั่นคลอนชีวิตอย่างรุนแรง โลกที่เรารู้จักอาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และเราคงไม่กลับไปเหมือนเดิมได้โดยง่ายแค่เพียงสวดมนต์หรือเต้นร้องเพลงเพื่อไล่ไวรัสลมๆ แล้งๆ เพื่อหนีการแก้ปัญหาเชิงนโยบาย ปรับระบบโครงสร้างที่ไม่อำนวยต่อภาวะฉุกเฉิน การพึ่งพาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในช่วงเวลาที่แย่ที่สุด
ในความลำบาก ได้เวลาขอบคุณคนที่ทำงานยากลำบากและเหนื่อยแทนเรา ชวนให้เราหลุดออกจากห้วงแห่งความทุกข์และนรกส่วนตัว ตระหนักถึงความโชคดีที่เรามีบุคลากรทางการแพทย์ที่คอยทุ่มเท นักวิชาการ สื่อมวลชนคุณภาพที่ทำงานอย่างแข็งขัน ตั้งใจรายงานข่าวและช่วยให้เรื่องเข้าใจยากให้ง่ายขึ้น ในภาวะผู้คนแตกตื่นและสิ้นหวัง โดยสิ่งที่เราทำได้คือการอยู่บ้านและไม่เพิ่มความเสี่ยง
มีหลายเหตุการณ์ที่น่ายกย่องและเป็นตัวอย่างที่ดี เช่น มองดูประเทศอย่างฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ ที่รัฐและประชาชนพร้อมใจรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเคยผ่านเหตุโรคระบาดร้ายครั้งก่อนอย่าง SARS และ MERS เห็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชน ความรับผิดชอบต่อสังคมโดยการแยกจากคนอื่นในสังคมทางกายภาพหรือ (social distancing / physical distancing) ไม่เพิ่มความเสี่ยงและเพิ่มภาระให้เจ้าหน้าที่ เห็นการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาแก้ปัญหาและการอัพเดตตัวเลขถ้วนหน้า
เราได้พบเรื่องเบาๆ อย่างเห็นการร้องเพลงและเล่นดนตรีไปด้วยกันจากระเบียงในอิตาลีในช่วงเวลากักตัว สายธารมุกตลกไม่ขาดสายที่โผล่มาในยามวิกฤตที่ชวนให้เราทุกข์แบบอมยิ้มไปด้วยกันแบบห่างๆ การตื่นรู้พบว่าหลายการประชุมในชีวิตสามารถสรุปเป็นอีเมลได้ ความเป็นมนุษย์คือการการพยายามปรับตัวอย่างสุดความสามารถเพื่ออยู่รอด
ในประวัติศาสตร์ มนุษย์ผ่านเหตุโรคระบาดมาหลายครั้ง ดูจากการคาดการณ์ทางสถิติและคณิตศาสตร์ช่างน่าหวาดหวั่น สิ่งนี้ยังอยู่กับเราอีกนานและบั่นทอนสุขภาพจิตของทุกคน เราอาจจะไม่ได้กลับไปชีวิตประจำวันแบบที่เคยทำปกติกันเร็วๆ นี้ อาจต้องปรับตัว เปลี่ยนวิธีการทำงาน การออกกำลังกาย การพบปะ การซื้อของ จัดการเรื่องการดูแลสุขภาพ การดูแลคนใกล้ชิด เช็กอัพสภาพจิตใจคนรอบข้าง
โรคระบาดครั้งนี้อาจเปลี่ยนวิถีชีวิตเราตลอดไป เราอาจได้รับผลกระทบกันยาวๆ อาจเป็นช่วงเวลาที่ดีที่เราและสังคมได้ลำดับความสำคัญและเห็นว่าสิ่งใดจำเป็นและสำคัญกับชีวิต ระบบแบบไหนที่ควรปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง ทำให้หลายคนได้ตื่นรู้ว่าความบอบบางเน่าเฟะของระบบอยู่ตรงไหน โรคระบาดช่วยส่องไฟฉายท้าทายระบบของโลกที่เป็นอยู่
คำว่า Weltschmerz นี้น่าจะช่วยย้ำเตือนว่าความทุกข์ของโลกเชื่อมต่อกับความทุกข์ของเราอย่างแยกได้ยาก แม้โลกความเป็นจริงไม่สวยงามตามอุดมคติ เราไม่ควรตัดขาดจากโลกเพียงเพราะโลกมันแย่แล้วก็จบ เราต้องพึ่งพาช่วยเหลือกัน แม้ดูเหมือนเราประชาชนช่างไร้อำนาจจะแก้ไขจัดการสิ่งนี้ที่ร้ายแรงระดับชาติ แต่มีคนที่ลงมือลงแรง ช่วยเหลือกันและกัน สร้าง awareness แก่คนรอบตัว ความหวังอาจมีท่ามกลางความสั่นคลอนไม่แน่นอนของโลก
ในสถานการณ์คับขันน่าหวั่นใจ ไม่ผิดเลยที่เราจะเครียด กังวล ไม่สบายใจ แต่ทุกคนก็กังวลอยู่เหมือนกัน หากคุณมีทุกข์นี่คือทุกข์ที่เรามีร่วมกัน แม้ไม่ช่วยบรรเทาแต่อาจผ่อนคลายและหวังว่าเราจะผ่านมันไปด้วยกัน
อ้างอิง
Angela Merkel’s speech about the Corona virus in full
general-anzeiger-bonn.de
There’s a German word people use in times of despair, and it’s as apt today as it was in the 19th century
qz.com
We’re not going back to normal
technologyreview.com