ใครๆ ก็อยากแก่ตายในบ้านของตัวเอง ว่าด้วย Aging in Place และสังคมผู้สูงอายุ

Highlights

  • Aging in Place หมายถึงความสามารถที่คนใดคนหนึ่งจะอาศัยอยู่ในบ้านของตัวเองและชุมชนอย่างปลอดภัย ไม่ต้องพึ่งพาและสะดวกสบาย ไม่ว่าจะมีอายุ รายได้ หรือความสามารถระดับไหน
  • Aging in Place คือเทรนด์ที่ทำให้คนแก่สามารถมีชีวิตอยู่ในบ้านตัวเองได้นานที่สุดจวบจนวาระสุดท้าย โดยมีความช่วยเหลือจากระบบจัดการหรือเทคโนโลยีที่จะช่วยให้คนแก่มีคุณภาพชีวิตที่ดีในบ้านของตัวเองได้
  • คำถาม 3 ข้อง่ายๆ ที่จะช่วยเราประเมินคุณภาพชีวิตวัยแก่ของเรา โดยให้ลองจินตนาการถึงวัยแก่ที่ยังมาไม่ถึงเพื่อจะได้เตรียมพร้อมและเห็นภาพตัวเองชัดขึ้น

คุณจินตนาการถึงชีวิตวัยเกษียณของตัวเองออกไหม คุณคิดว่าจะมีชีวิตตอนแก่เหมือนพ่อแม่ของคุณหรือเปล่า ในเมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ

เหล่านี้เกิดเป็นปรากฏการณ์คลื่นสูงวัยหรือเรียกว่าคลื่นยักษ์สีเทา grey tsunami หรือคลื่นยักษ์สีเงิน silver tsunami ค่อยๆ คืบคลานพัดเข้ามาสู่ประเทศต่างๆ คนวัย baby boomers ซึ่งมีจำนวนมากค่อยๆ เคลื่อนตัวสู่อายุ 65 ปี หรือเข้าสู่วัยสูงอายุอย่างเป็นทางการ

เมื่อผู้สูงอายุเริ่มใช้ชีวิตด้วยตัวเองลำบาก บางคนไม่มีลูก หรือลูกอยู่ในวัยทำงานไม่สะดวกดูแลได้เต็มที่ การจ้างผู้ดูแลก็อาจมีค่าใช้จ่ายสูง เดิมทีการส่งผู้สูงอายุไปอยู่บ้านพักคนชรา (nursing home) เลยกลายเป็นวิถีปกติของประเทศพัฒนาแล้วหลายๆ ประเทศ ซึ่งจริงๆ แล้วผู้สูงอายุจำนวนมากก็ไม่อยากจากบ้านไปอยู่ที่ใหม่เพียงเพราะแก่เกินไป รวมทั้งยังต้องเสียค่าบริการที่ค่อนข้างสูงและอาจสูงกว่าการอยู่บ้านของตัวเองเสียอีก จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘Aging in Place’ 

Aging in Place การแก่ เจ็บ ตายได้ในบ้านของเราเองอย่างมีคุณภาพ

ในอนาคตมีแนวโน้มจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า Aging in Place แปลว่า ความสามารถที่คนใดคนหนึ่งจะอาศัยอยู่ในบ้านของตัวเองและชุมชนอย่างปลอดภัย ไม่ต้องพึ่งพาและสะดวกสบาย ไม่ว่าจะมีอายุ รายได้ หรือความสามารถระดับไหน (the ability to live in one’s own home and community safely, independently, and comfortably, regardless of age, income, or ability level) คำนี้ถูกกำหนดขึ้นโดย Centers for Disease Control and Prevention เพื่อตอบรับสังคมผู้สูงอายุที่กำลังจะมาถึง 

สรุป Aging in Place ก็คือเทรนด์ที่ทำให้คนแก่สามารถมีชีวิตอยู่ในบ้านตัวเองได้นานที่สุดจวบจนวาระสุดท้าย โดยมีความช่วยเหลือจากระบบจัดการหรือเทคโนโลยีที่จะช่วยให้คนแก่มีคุณภาพชีวิตที่ดีในบ้านของตัวเองได้ 

ในสังคมแบบเอเชียอย่างประเทศไทย การที่ผู้สูงอายุจะอยู่ในบ้านกับครอบครัวอาจดูเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว เนื่องจากปัจจุบันมีเทคโนโลยีมากมายที่ทำให้เราแก่ชราในบ้านของเราโดยเสี่ยงต่ออุบัติเหตุน้อยลงและเข้าถึงการรักษาได้ทันท่วงที Aging in Place เลยมาพร้อมกับการเตรียมตัวด้านต่างๆ ด้วย เช่น

  • ใครจะเป็นคนที่ช่วยเหลือเราในบางเรื่อง ต่อให้เราไม่ต้องการตอนนี้
  • บ้านของเราพร้อมไหมสำหรับการอยู่อาศัย มีความเสี่ยงอะไรบ้าง ต้องปรับปรุงบ้านไหม
  • งานบ้านใครจะทำ ใครจะซักผ้าหรือตากผ้าให้เรา
  • อาหารแต่ละมื้อเราจะกินคนเดียวไหม จะปรุงอาหารเองหรือเปล่า
  • การจัดการเรื่องการเงิน การใช้จ่าย ค่าประกัน ค่าน้ำ ค่าไฟ ไปทำธุระที่ธนาคาร หรือเราอาจจะทำผ่านระบบออนไลน์ได้สะดวกทั้งหมดแล้ว
  • การดูแลเรื่องสุขภาพ การไปหาหมอตามนัดหรือตามวาระ เราสามารถไปเองได้ไหม หรือต้องมีคนช่วยเหลือ หากไม่มีลูกหลานต้องจ้างผู้ช่วยตามวาระไหม
  • หากเราอยากจะทำงาน เราจะทำงานอะไรได้บ้าง ทำกี่ชั่วโมงต่อวัน และทำที่​บ้านได้ไหม
  • หากเราอยู่คนเดียว ระบบการเตือนและเซนเซอร์เพื่อความปลอดภัยจะช่วยเราในภาวะฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุได้ไหม

เชื่อว่าคำนี้คงจะคุ้นหูเรามากขึ้นเรื่อยๆ Aging in Place จึงเกี่ยวข้องกับการจัดการชีวิต ปรับปรุงบ้าน เตรียมพร้อมให้เหมาะสมกับร่างกายที่เปลี่ยนไปโดยที่เรายังอาศัยอยู่ที่บ้าน เมื่อเราแก่ขึ้น การขึ้น-ลงบันไดก็ยากขึ้นเรื่อยๆ กิจวัตรประจำวันที่เราทำกลายเป็นกิจกรรมที่เสี่ยงบาดเจ็บ เช่น การทำอาหารหรือเข้าห้องน้ำ กิจกรรมเดิมๆ ที่เราทำได้สบายก็อาจเสี่ยงต่อการหกล้มและนำไปสู่โรคภัยหรือการทุพพลภาพอื่นๆ ในวันที่ร่างกายเราไม่ได้ฟื้นฟูโดยไวเหมือนสมัยหนุ่มสาว

คลิปวิดีโอ Charlie and Marie: A tale of Ageing  (2011) โดยมูลนิธิ The Young Foundation พาให้เราได้สัมผัสประสบการณ์วัยแก่ (แต่ก็เป็นมุมมองแบบคนแก่ที่สหราชอาณาจักร) แต่การ walk through ช่วยเราจินตนาการประสบการณ์ของชีวิตหลังเกษียณ ต้องผ่านช่วงทรานสิชั่นของชีวิต อันได้แก่

  • การเปลี่ยนแปลงชีวิตหลังวัยทำงาน
  • การเปลี่ยนแปลงหลังโรคภัยไข้เจ็บที่อาจเกิดขึ้น
  • การเปลี่ยนแปลงหลังสูญเสียคนที่รัก

 

วิดีโอทำให้เห็นชีวิตของตายายที่เลือกอยู่บ้านของตัวเองในบั้นปลายชีวิต แต่ในสภาพร่างกายที่ชราลงไป การขึ้นบันไดอาจทำได้ยาก อาจทำอาหารไม่ไหว จนกระทั่งตายจากกันไป และความเจ็บปวดหลังสูญเสียคนที่รัก บ้านที่ขาดการดูแลไม่มีใครมาซ่อมแซม

นอกจากนี้ยังมีคำศัพท์มากมายที่ใช้นิยามสำหรับสังคมผู้สูงอายุ เช่น silver economy ใช้เรียกตลาดผู้สูงอายุ (senior market) ซึ่งครอบคลุมผลิตภัณฑ์และบริการเฉพาะกลุ่มเป้าหมายอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป นำไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต ไม่ว่าจะเป็นบริการทางการเงิน สุขภาพ ที่อยู่อาศัย เทคโนโลยี การขนส่ง ที่จะช่วยทำให้ผู้สูงอายุพึ่งตัวเองได้มากที่สุดและนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บจนกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง อำนวยความสะดวกในการดูแลผู้สูงอายุในชีวิตประจำวัน หรือกระทั่งการเรียกปรากฏการณ์สังคมผู้สูงอายุว่าคือ demographic time-bomb หรือระเบิดเวลาทางประชากร ซึ่งฟังดูเป็นแง่ลบ เป็นเรื่องร้าย เสมือนว่าคนแก่เป็นภาระของลูกหลาน คนวัยทำงาน และประเทศ

3 คำถามสั้นๆ ที่ช่วยเราจินตนาการถึงชีวิตตัวเองยามแก่และเข้าใจวัยชรามากขึ้น

เวลาพูดถึงผู้สูงอายุเราอาจคิดถึงพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย อากง อาม่า ของเรา แต่หากเราอยากทำความเข้าใจ ให้ลองนึกถึงตัวเองในอนาคต เราอาจเริ่มเข้าใจความต้องการของผู้สูงอายุมากขึ้น

Joseph F. Coughlin คือผู้อำนวยการ MIT AgeLab ที่เชื่อว่าการที่คนมีอายุขัยยืนขึ้นนั้นส่งผลต่อการประมวลผลชีวิตใหม่ ทั้งอายุขัยและความคิดสร้างสรรค์จะช่วยให้เรามองเห็นช่องทางใหม่ๆ อายุขัยที่ยาวนานไม่ใช่แค่ช่วงวัยแก่อันน่าเบื่อเจ็บปวดที่นานขึ้นเท่านั้น เขาได้เขียนหนังสือ The Longevity Economy: Unlocking the World’s Fastest-Growing, Most Misunderstood Market เพื่อให้เราลองสำรวจความเป็นไปได้ที่ตามมาจากสังคมผู้สูงอายุ

Coughlin จึงตั้งคำถาม 3 ข้อง่ายๆ ที่จะช่วยเราประเมินคุณภาพชีวิตวัยแก่ของเรา โดยให้ลองจินตนาการถึงวัยแก่ที่ยังมาไม่ถึงเพื่อจะได้เตรียมพร้อมและเห็นภาพตัวเองชัดขึ้น

  1. ถึงเวลานั้น ใครจะเปลี่ยนหลอดไฟ คำตอบจะระบุลักษณะการอยู่อาศัย เราต้องพึ่งพาใครในภาระงานที่เราทำเองไม่ไหว แม้ทุกวันนี้เราจะทำเองได้สบายมาก แต่เมื่อเราแก่ตัวลง งานอย่างการเปลี่ยนหลอดไฟนั้นเสี่ยงต่อการล้มหรือบาดเจ็บ เราอาจจะมีลูกหลาน หรือถ้าไม่มีใครเราจะจ้างได้ไหม? เราจะอยู่บ้านเราหรืออยู่บ้านพักคนชราที่มีผู้ดูแลคอยทำให้ หรือไฟที่เราใช้จะไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนหลอดไฟ
  2. ถ้าอยากกินไอศครีม ทำยังไง การสามารถเข้าถึงสิ่งที่เราต้องการในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ขนม หรือความบันเทิง ใครจะพาเราไปซื้อไอศครีม หรือเราจะสั่งเดลิเวอรี่ให้มาส่ง หรือเราจะเปิดแอพฯ บริการเรียกรถพาไป ในวันนั้นเราจะมีสิทธิเลือกกินไอศครีมรสที่ชอบไหม หรือกินตามที่ผู้ดูแลสะดวกจัดหาให้
  3. เราจะกินข้าวกลางวันกับใคร เราจะยังเชื่อมต่อกับใครอยู่บ้าง จะรักษาความสัมพันธ์และมิตรภาพที่ดีไว้ได้ไหมในช่วงบั้นปลายชีวิต เราจะแฮงเอาต์กับใคร และสังสรรค์เชื่อมต่อกับเพื่อนเราหรือครอบครัวยังไงในวันที่เราเคลื่อนไหวร่างกายลำบาก

หลายคนในวันนี้อาจจะตอบว่าตัวเองเป็นที่พึ่งของตน แต่อย่าลืมว่าเมื่อเราแก่ไป ร่างกายหรือสภาพการเงินอาจไม่เหมือนวันนี้ เราอาจมีโรคประจำตัวและร่างกายที่เคลื่อนไหวไม่สะดวก

สำหรับผู้อ่านวัยหนุ่มสาว วันนี้เรายังแข็งแรง หาเงินได้เอง พึ่งพาตัวเองได้ อย่าลืมว่าไม่มีใครอยากพึ่งพาคนอื่น โดยเฉพาะในกิจวัตรประจำวันที่แสนธรรมดา แต่หากถึงจุดที่เราเคลื่อนย้ายร่างกายลำบาก มีโรคภัย หรือแก่ชราลง คำตอบเหล่านี้อาจตอบได้ยากกว่าเดิม คนแก่ในอนาคตคงไม่ตัดขาดออกจากสังคมโดยสิ้นเชิงอีกแล้ว กิจกรรมที่ทำในยามแก่ให้คลายเหงาและทำให้รู้สึกเชื่อมต่อกับสังคมจะช่วยให้รู้สึกมีส่วนร่วมและมีความหมาย ช่วยให้มีกำลังใจในการมีชีวิตต่อไป

คำถามชุดนี้อาจทำให้เราเห็นภาพตัวเองยามแก่ชรา ช่วยให้เราเริ่มคิดวางแผนการเกษียณ เริ่มสงสัยว่าจะใช้เวลาในช่วงที่เหลือยังไง เงินเก็บเรามีพอไหมกับการสั่งอาหารมาส่งทุกวันในวันที่เราไม่ได้ทำงานแล้ว หรือในอนาคตบริการใดจะมาตอบโจทย์สิ่งเหล่านี้ เราอาจจะผลักดันนโยบายรัฐให้ช่วยเหลือเรา หรือรัฐจะช่วยผลักดันให้เกิดธุรกิจที่จำเป็น นอกไปจากการเตรียมตัวเรื่องเงิน ที่อยู่อาศัย หรือเราอาจลงทุนกับความสัมพันธ์ที่ยืนยาว 

เมื่ออายุยืนยาวขึ้น ร่างกายในวัยชราของเราที่ยังแข็งแรงและทำอะไรได้อีกมาก มีความเป็นไปได้ใหม่มากมายหลังวัยเกษียณ ลองนึกว่าถ้าเราอายุ 65 ปี เรามีโอกาส 50 เปอร์เซ็นต์ที่จะอยู่ถึงอายุ 85 นั่นคือเวลา 8,000 วัน เราจะใช้เวลาช่วงนั้นทำอะไรได้บ้าง และเราจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ยังไง

เมื่อเราแก่ตัว เราอาจจะยังทำงานเล็กๆ น้อยๆ ยังแอ็กทีฟเคลื่อนไหว ติดตามข่าวสารข้อมูล เล่นทวิตเตอร์ และอยากมีชีวิตที่ไม่ต้องพึ่งพาใครไม่ต่างจากคนวัยหนุ่มสาว วัยชราในอนาคตอาจเป็นการเริ่มชีวิตใหม่อีกครั้ง เช่น กลับไปเรียนหนังสือ เรียนออนไลน์ เดทกับคนใหม่ๆ หาเพื่อนใหม่จากความสนใจร่วมกัน หากเรายังโสดอยู่หรือคู่สมรสเสียชีวิต เริ่มทำอาชีพใหม่ๆ หรือหากมีเวลาและมีแรงเหลือ มีสุขภาพที่ดี เราอาจสละเวลาและเงินเพื่อช่วยเหลือสังคมหรือเป็นอาสาสมัคร

หากเรายังติดภาพจำวัยชราแบบเก่าๆ ในขณะที่โลกได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เราอาจมีภาพจำชีวิตคนแก่ที่ผิดเพี้ยนไปเพราะติดกับภาพคนรุ่นก่อนหน้า การพยายามเข้าใจความรู้สึกและจินตนาการความปรารถนาโดยมองผ่านประสบการณ์ที่จะเกิดจากเราในวันข้างหน้า อาจช่วยให้เราสร้างระบบหรือบริการอย่างมี empathy ร่วมกันผลักดันนโยบายที่มาตอบรับสังคมผู้สูงอายุได้ อาจเกิดบริการและนวัตกรรมใหม่ๆ มาตอบสนองโครงสร้างประชากรแบบนี้ และทำเสียตั้งแต่ตอนที่สังคมยังไม่เข้าวัยชรา

ประเทศไทยกำลังวิ่งตามประเทศอื่นสู่สังคมผู้สูงอายุในไม่ช้า โครงสร้างประชากรที่จะมีสัดส่วนคนแก่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ วันหนึ่งผู้อ่านและผู้เขียนจะค่อยๆ กลายเป็นคนแก่และมีโอกาสสูงที่จะมีอายุยืนกว่าคนรุ่นก่อนหน้า การเริ่มเข้าใจสังคมผู้สูงอายุทำให้เราเตรียมตัวและสนใจแต่เนิ่นๆ อย่ามองสังคมผู้สูงอายุเป็นเพียงระเบิดเวลาของงบประมาณที่รัฐต้องดูแลหรือเป็นภาระของชาติที่น่ากลัว

การมีชีวิตยืนยาวนั้นไม่สำคัญเท่าการมีชีวิตยืนยาวโดยที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข มีศักดิ์ศรี และสามารถเลือกตัวเลือกในชีวิตได้

อ้างอิง

Aging in Place: A Resource for Health Centers
ece.hsdm.harvard.edu

Three Questions That Can Predict Future Quality Of Life, Joseph F. Coughlin,  MIT AgeLab
Three Questions That Can Predict Future Quality Of Life

MIT AgeLab
agelab.mit.edu

The Longevity Economy: Unlocking the World’s Fastest-Growing, Most Misunderstood Market
amazon.com

What is “aging in place?” BY AMANDA GABARDA EDD, MPH
upmcmyhealthmatters.com

AUTHOR

ILLUSTRATOR

erdy

นักวาดภาพประกอบคนหนึ่งที่มีความใฝ่ฝันว่าจะรวย จะรวย จะรวย