กลางเดือนตุลาคมปี 2561 สื่อในโลกออนไลน์ต่างรายงานข่าวการล้มป่วยด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลันของ ป๋าเต็ด–ยุทธนา บุญอ้อม โชคยังดีที่คู่ชีวิตพาเขาส่งถึงมือหมอได้ทันท่วงที เขากลับมาใช้ชีวิตปกติอีกครั้งหลังผ่านประสบการณ์เฉียดตาย
เหมือนได้ชีวิตใหม่–เขาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อไว้อย่างนั้น
ด้วยวัยและสุขภาพ ผมเดาว่าเขาคงวางมือจากงานที่ทำไปพักใหญ่ คงใช้ชีวิตใหม่ที่ได้มาไปกับการพักผ่อน แต่ความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เดือนธันวาคมปีเดียวกันเขายังพาตัวเองไปอยู่ที่ Big Mountain Music Festival เทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่เขาเป็นผู้จัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2553
นอกจากไม่หายไป เขายังคงมีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง ปลายปี 2562 รายการ ป๋าเต็ดทอล์ก Season 2 ที่เขาตระเวนพูดคุยกับวงดนตรีที่สมาชิกแยกย้ายอย่าง Silly Fools กับ Big Ass กลายเป็นกระแสในโลกออนไลน์ ส่วน Big Mountain Music Festival ครั้งที่ 10 ก็ผ่านพ้นไปด้วยดี เป็นอีกปีที่เขาบอกว่ามีหลายสิ่งน่าจดจำ
เรานัดพบกันก่อนวันข้ามปีที่ ‘บริษัท แก่น 555 จำกัด’ บริษัทที่เขาก่อตั้งขึ้นมาเพื่อรับจัดงานคอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรีโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาจัดการได้อย่างอยู่มือมากว่า 30 ปีที่อยู่ในวงการ
บทสนทนาในวันนั้นมีวัตถุประสงค์คล้ายเหตุผลที่เขาลุกขึ้นมาทำรายการ ป๋าเต็ดทอล์ก ส่วนเหตุผลนั้นคืออะไร คำตอบอยู่ในบทสนทนา
หลังจากหัวใจวายเฉียบพลันเมื่อปลายปี 2561 คุณยังทำงานหนักเหมือนเดิมไหม
น้อยลงกว่าเดิม แต่โดยธรรมชาติของงานที่ผมทำมันไม่เป็นเวลา อย่างสมมติช่วงที่ทำ Big Mountain มันก็ต้องอยู่กันทั้งวันทั้งคืน แต่ว่าช่วงเตรียมงานก็ไม่ได้มีอะไรหนักขนาดนั้น ถ้าวันไหนไปถ่ายรายการดึกก็เลิกดึกหน่อย แต่เดี๋ยวนี้เขาก็จะรู้ สมมติรายการทีวีที่มีผมอยู่ด้วยเขาก็จะพยายามจัดคิวไม่ให้เลิกดึกมาก
แต่ที่ผ่านมาผมก็ไม่ได้เป็นคนทำงานหนักแบบหามรุ่งหามค่ำนะครับ ช่วงที่เลิกจัดรายการวิทยุผมดำเนินชีวิตค่อนข้างเหมือนมนุษย์ทั่วไปอยู่พอสมควร มีแค่ช่วงที่จัดรายการวิทยุที่ผมจัดถึงตีสาม กว่าจะนอนก็เช้า อาจจะพิสดารหน่อย แต่ตอนนั้นเรายังหนุ่มอยู่มันก็ไม่มีปัญหาอะไร
จริงๆ ปัญหาสุขภาพของผมมาจากเรื่องอื่นมากกว่าเรื่องงาน มันเป็นเรื่องการกิน เรื่องไม่ออกกำลังกาย คือมีคนที่ทำงานหนักกว่าผมแต่เขาดูแลสุขภาพได้ดีกว่าผมเพราะเขาออกกำลังกายเป็นประจำ เขาทานอาหารที่เหมาะสม
สิ่งที่เปลี่ยนไปในชีวิตช่วงหลังคือผมเริ่มออกกำลังกายเป็นประจำ ทานอาหารที่เหมาะสม เลิกสูบบุหรี่ ส่วนเรื่องดื่มผมดื่มไม่เยอะอยู่แล้ว ทุกวันนี้ก็ใช้วิธีเลิกดื่มเบียร์มาดื่มไวน์ แต่ก็นานๆ ที ชีวิตมันเปลี่ยนไปในเรื่องอื่นมากกว่าเรื่องงาน
การผ่านประสบการณ์เฉียดตายมาทำให้คุณมองงานหรือชีวิตเปลี่ยนไปไหม
โอ้โห คือทุกคำที่คุณเคยได้ยินเกี่ยวกับคนที่เขาผ่านประสบการณ์เฉียดตายมา ที่เขาบอกว่าชีวิตทั้งชีวิตมันหมุนผ่านคุณไปต่อหน้าต่อตามันจริงเลยนะ ตอนนั้นเราเริ่มนึกว่าตอนเด็กๆ เราเป็นยังไง เรานึกย้อนอดีตไปอย่างรวดเร็ว เราค่อยๆ ทบทวนสิ่งที่ผิดพลาด เราคิดว่าถ้าเกิดสมมติเราเป็นอะไรไป เราทำอะไรกับใครไว้บ้าง เรายังไม่ได้ขอโทษใคร เราคิดนู่นนี่นั่นเต็มไปหมดเลย มันทำให้เรารู้ว่าอะไรที่สำคัญต่อชีวิต มันทำให้เรารู้ว่า เราให้ความสำคัญกับเรื่องผิดๆ มาโดยตลอด
สิ่งสำคัญในชีวิตที่ว่าคืออะไร
ณ วันที่เรานอนพักฟื้นอยู่ เรามองไปรอบๆ เราเห็นภรรยาเรานั่งอยู่ตรงนี้ เราเห็นลูกเรานั่งอยู่ตรงนี้ เขาอยู่กับเราตลอดเวลา เราเห็นเพื่อนที่คนไหนมาไหวเขาก็มาเยี่ยม บางคนมาไม่ไหวก็ส่งกระเช้ามา เห็นข้อความที่คนส่งเข้ามา เราเลยรู้ว่า จริงๆ แล้วนี่คือเรื่องที่สำคัญที่สุด มันคือความสัมพันธ์กับครอบครัว กับเพื่อน ความห่วงใยที่อยู่รอบๆ ตัว มันไม่ใช่เรื่องการทำเทศกาลดนตรีที่มีคนดูเยอะที่สุด มันไม่ใช่การพยายามเก็บกระเป๋า Freitag สีดำให้เยอะที่สุด มันไม่ใช่การจะต้องไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ให้ได้ จริงๆ แล้วมันคือเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวมาก
แต่เรามักลืม
ใช่ ตอนที่เราไม่ได้เป็นแบบนี้เราจะนึกแต่เรื่องอื่น หลายครั้งเวลาเราทำงานเรามักลืมเรื่องความสัมพันธ์กับทีมงาน เราลืมเรื่องความสัมพันธ์กับผู้ร่วมงาน ผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะเรามุ่งแต่จะเอางานให้มันดีที่สุด เราลืมไปว่า เฮ้ย เขาทำดีที่สุดแล้วหรือเปล่าวะ เขาได้แค่นี้แหละ เราช่วยอะไรได้มากกว่านี้อีกไหม หรือได้เวลาที่เขาจะกลับไปนอนได้แล้ว
ผมเคยเป็นเจ้านายที่เลวมากนะ ผมเคยนั่งเฝ้าลูกน้องไม่ให้กลับบ้าน เพราะว่างานยังไม่เสร็จ ณ วันนั้นเข้าใจว่าตัวเองทำถูกด้วยนะ และหลังจากนั้นลูกน้องคนนั้นเดินมาลาออกกับผม ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีคนเดินมาลาออกกับผมแล้วผมรู้สึกได้ว่าเขาโกรธผม นั่นแปลว่าผมทำอะไรที่แย่มาก
เรื่องพวกนี้พอเรานึกย้อนกลับไปแล้วก็คิดได้ว่า เออว่ะ เรามีปัญหาเรื่องการบาลานซ์ มันทำให้เราเข้าใจคำว่าสมดุล ความพอดีมันคือตรงไหน คำว่าเดินสายกลางคือยังไง ระยะหลังมานี้ผมค่อนข้างเชื่อเรื่องเดินสายกลางในการทำงานมาโดยตลอด แต่ว่าวันนั้นมันทำให้ผมคิดได้ว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องงานที่มึงต้องเดินสายกลาง การใช้ชีวิตของมึงก็ต้องมีตรงกลางด้วย มันสอนเราเรื่องนี้ หลังจากนั้นความคิดเราก็เปลี่ยนไป ถ้ามีเวลาเราจะพาครอบครัวไปเที่ยวให้มากขึ้น ถ้ามีเวลาเราจะให้ลูกน้องพักผ่อนมากขึ้น เราจะห่วงใยเขามากขึ้น เราจะให้เขาได้ทำในสิ่งที่เขาชอบ ในสิ่งที่เขาอยากทำมากขึ้น เราจะเข้าใจโลกมากขึ้น มันคือเรื่องบาลานซ์
แล้วงานล่าสุดอย่างการจัด Big Mountain ครั้งที่ 10 คุณยังรู้สึกตื่นเต้นหรือกระหายอย่างตอนจัดงานครั้งแรกไหม
โชคดีที่ผมเป็นคนขี้ลืมครับ อันนี้คือเรื่องจริง ผมเป็นคนจำรายละเอียดอะไรไม่ค่อยได้ ผมสามารถดูหนังเรื่องเดียวกันต่อเนื่องกันสองรอบซ้อนโดยยังสนุกเท่าเดิม เพราะว่าผมขี้ลืม ผมจะจำได้เฉพาะความรู้สึกบางอย่าง ซึ่งผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าสมองมันเลือกยังไง คนเราพออายุเท่านี้แล้วบางทีสมองมันไม่ยอมให้เราเลือกด้วยนะว่าเราจะจำอะไร มันเลือกของมันเอง เดี๋ยวคุณอายุมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วคุณจะเข้าใจว่าเรากลับจำเรื่องอะไรที่มันบ้าๆ บอๆ บางทีเราอ่านหนังสือเล่มหนาเนื้อหาสาระดีมาก เราอยากจำมันได้ แต่ไม่ เราดันไปจำความรู้สึกตอนซดก๋วยเตี๋ยวที่ร้านนี้เป็นครั้งแรกได้ อะไรแบบนั้น
แทนที่จำได้น้อยแล้วจะจำแต่เรื่องสำคัญ
ประเด็นมันคืออย่างนี้ บางเรื่องเราคิดว่ามันเป็นเรื่องปลีกย่อยมาก ไม่สำคัญ แต่บางทีนั่นแหละคือเรื่องสำคัญ ซึ่งเราไม่ได้เป็นคนเลือกเองนะ บางทีมันเป็นเรื่องแค่แบบความรู้สึกเมื่อได้ฟังเพลงเพลงนี้
ดังนั้นไอ้ความขี้ลืมของผมทำให้ผมตื่นเต้นทุกครั้งกับการทำอะไรก็ตามที อย่าว่าแต่ Big Mountain เลย ทุกครั้งที่เราเริ่มเตรียมงานคอนเสิร์ตทุกคอนเสิร์ต อีเวนต์ทุกอีเวนต์ งานทุกงาน ผมจะรู้สึกเหมือนกับว่า ผมทำมันเป็นครั้งแรกเสมอ ดังนั้นมันก็เลยทำให้เรายังตื่นเต้นอยู่ วันที่เราเตรียมงานทุกอย่างพร้อมแล้ว เดี๋ยวพรุ่งนี้ประตูจะเปิด คนจะเข้ามา แล้วเขาจะชอบไหม สิ่งใหม่ที่เราเตรียมไว้เขาจะตื่นเต้นเหมือนกับที่เราตื่นเต้นหรือเปล่า ความรู้สึกเหล่านี้ยังคงเหมือนเดิมทุกประการ
แล้วกับ Big Mountain ครั้งล่าสุดคุณพึงพอใจกับมันแค่ไหน
ในวันที่ผมเริ่มต้นทำ Big Mountain ฝันที่ฝันไว้เมื่อถึงปีที่ 10 มันไม่ใช่อย่างนี้ ผมฝันไว้อีกแบบหนึ่ง
ตอนแรกผมตั้งใจว่า Big Mountain เมื่อผ่านไปสิบปีมันจะเป็น International Music festival มันจะเป็นเทศกาลดนตรีที่เฮดไลน์เนอร์มันจะเป็นศิลปินระดับโลก เพราะว่าเป้าหมายตอนนั้นเราอยากมีงานแบบ Glastonbury ที่เป็นของคนไทย แต่สิ่งที่เรียนรู้ระหว่างทางก็คือการที่จะทำงานแบบ International Music Festival มันอาจจะต้องแยกไปทำงานอีกงาน เพราะคนที่เป็นฐานแฟนเพลงของ Big Mountain กับคนที่จะเป็นฐานแฟนเพลงของ International Music Festival จริงๆ แล้วคนละกลุ่มกัน แล้วยังมีอีกหลายเหตุผลที่ทำให้มันอยู่ด้วยกันไม่ได้ ทั้งเรื่องราคาบัตร เรื่องของรสนิยมของคนสองกลุ่มนี้ในการที่จะมาเชื่อมกัน รวมถึงต้นทุนที่จะเกิดขึ้นในการคิดงานลักษณะนี้ในบ้านเรา
ดังนั้นถ้าตอบคำถามนี้ก็ต้องตอบว่า ผมพอใจกับ Big Mountain ครั้งที่ผ่านมา พอใจและเข้าใจว่าบางอย่างที่เมื่อสิบปีก่อนตั้งฝันไว้มันอาจจะไม่เหมาะกับ Big Mountain พอใจกับการ evolve ของ Big Mountain มาสู่เทศกาลดนตรีที่มันเป็น Local Music Festival และมันคงเติบโตไปในทางนี้แหละ มันจะเป็นเทศกาลดนตรีหลักของคนไทยต่อไป
เมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว คุณเคยบอกว่า “โชว์บิซเป็นหนทางที่อาจจะสำคัญที่สุดที่จะทำให้วงการเพลงเติบโตไปได้” ทุกวันนี้ยังเชื่ออย่างนั้นไหม
ยังเชื่ออย่างนั้นอยู่ครับ เรื่องของอีเวนต์มันจะเป็นธุรกิจที่เติบโตแน่ๆ ซึ่งเราอย่าเพิ่งไปพูดเรื่องดนตรี เพราะบางทีคนอาจจะเถียงได้ว่า เดี๋ยวนี้เขาต้องฟังผ่าน Spotify ผ่าน Joox ผ่าน Youtube นู่นนี่นั่น ผมยกตัวอย่างหนึ่งที่ง่ายที่สุดก็คือ e-Sport
e-Sport มันเกิดขึ้นโดยที่เราเล่นเกมอะไรก็ตาม แม้อยู่คนละซีกโลกเราก็แข่งกันได้ แล้วทำไมนัดชิงเขาต้องนัดมาเจอกันในสนามกีฬา แล้วคนก็ซื้อตั๋วเข้าไปดู ซึ่งความจริงนั่งดูอยู่บ้านก็ได้ แล้วทำไมคนต้องไป เพราะมันไม่เหมือนกัน
คือในที่สุดแล้วมนุษย์เกิดมาเพื่อที่จะไป celebrate อะไรร่วมกันสักอย่างหนึ่ง มันเหมือนการนั่งดูบอลที่บ้านกับการไปเชียร์ในสนาม ทุกคนพูดเหมือนกันหมดว่า คุณจะเชียร์ใคร สักครั้งหนึ่งในชีวิตคุณต้องไปเชียร์ในสนาม แล้วทุกคนที่ไปก็จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามันไม่เหมือนดูอยู่กับบ้านว่ะ
ผมว่ามันเป็นธรรมชาติที่สร้างให้เราต้องมีโมเมนต์นั้น ซึ่งการดูคอนเสิร์ตก็เหมือนกัน อย่าง Big Mountain เองมันทั้งลำบาก ทั้งรถติด คิวห้องน้ำก็ยาว ฝุ่นก็เยอะ แต่ทุกคนที่ไปก็จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ปีหน้ามาอีก ประทับใจมาก เพราะว่าความรู้สึกที่เขายืนอยู่ตรงนั้นท่ามกลางผู้คนมันไม่เหมือนนั่งฟังเพลงอยู่บ้าน ผมเห็นภาพคนกอดคอกันร้องไห้ กอดคอกันร้องเพลง กอดคอกันกระโดด หรืออะไรก็ตามที่ มันทำที่บ้านไม่ได้ มันไม่เหมือนกัน ดังนั้นอันนี้แหละคือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจโชว์บิซมันจะไม่ตาย มันไม่มีอะไรแทนได้ เพียงแต่ปีที่ผ่านมาผมรู้สึกว่ามันก้าวกระโดดไปหน่อย ซัพพลายมันมากกว่าดีมานด์ ซึ่งอะไรที่เยอะไปมันก็ไม่ดี มันจะเติบโตแต่มันต้องเติบโตแบบที่เหมาะสม
แล้วคุณคิดว่าอะไรทำให้ปีที่ผ่านมาคอนเสิร์ตในบ้านเราจึงเกิดขึ้นมากมาย
ผมว่าอันนี้มันเป็นเรื่องปกติ ผมไม่รู้ประเทศอื่นเป็นหรือเปล่า แต่คนไทยเป็น คือเวลาเจออะไรที่มันดูน่าทำแล้วจะแห่ทำตามกัน ทุกวันนี้ลองดูสิ มีชานมไข่มุกทุกมุมถนน มันจะเยอะไปไหน ผมว่าที่ผ่านมาคนคงเห็นว่ามันจัดได้นี่หว่า คอนเสิร์ตมันไม่ได้ยากขนาดนั้น แค่จ้างศิลปินมา เช่าไฟ เช่าเวที ก็ทำได้แล้วนี่ แล้วก็ขายบัตร คนก็อยากมาดู แล้วก็ไปขายสปอนเซอร์
มันดูเหมือนง่าย แต่ว่าปีสองปีที่ผ่านมาที่มันมีผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามาเยอะ และเขาคงได้เรียนรู้แล้วว่ามันไม่ง่ายนี่หว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยรู้แล้วไม่เคยมีใครไปบอกเขามาก่อน
ความยากของการจัดคอนเสิร์ตคืออะไร
จริงๆ แล้วธุรกิจคอนเสิร์ตเป็นธุรกิจที่ margin ต่ำมาก มันมีความเสี่ยงสูง เรากำลังลงทุนมหาศาล แล้วลุ้นว่าจะมีคนมาซื้อบัตรแล้วไปดูคอนเสิร์ตหรือเปล่า ซึ่งบางครั้งก็จัดแค่วันเดียว ถ้าขายไม่ทันก็จบ ไม่มีโอกาสแก้ตัว มันไม่เหมือนทำอาหารขาย วันนี้ไม่เวิร์กพรุ่งนี้ก็ทำโปรโมชั่นสักหน่อย เพิ่มเมนูใหม่ ยังมีเวลาแก้ตัว แต่ว่าคอนเสิร์ตไม่มี
ถ้าเราดูย้อนหลังไปสักปีสองปีเราจะเห็นบริษัทจัดคอนเสิร์ตที่เป็นผู้เล่นหน้าใหม่มากมาย แต่ผมมั่นใจว่าปีหน้าลองดูอีกทีเราจะเห็นว่าจะมีผู้เล่นที่เคยเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมาหายไปเพียบเลย มันจะเหลือแค่ตัวจริง เหลือแค่คนที่เขาตั้งใจทำสิ่งนี้จริงๆ เขามีโนว์ฮาว เขาอยู่ในธุรกิจนี้เพราะว่ามันเป็นงานที่เขารักจริงๆ มันไม่ใช่แค่มีโอกาสรวยเลยทำ ผมยังมั่นใจว่ามันยังโตต่อไปได้ แต่โตอีกแบบหนึ่ง ไม่ใช่โตแบบฟองสบู่อย่างช่วงสองปีที่ผ่านมา
ปีสองปีที่ผ่านมามีคนมาปรึกษาเรื่องการจัดคอนเสิร์ตกับคุณเยอะไหม
ก็เยอะนะครับ เป็นเรื่องปกติเลยแหละ มีทั้งน้องๆ ที่เป็นมือสมัครเล่นและผู้คนในแวดวง จะมีพวกที่โทรมาบอกว่า “พี่เต็ด ผมอยากจะทำคอนเสิร์ตการกุศล” ซึ่งผมก็จะบอกว่า “ถ้ามึงจะทำคอนเสิร์ตการกุศลมึงเอาเงินที่จะทำคอนเสิร์ตให้การกุศลไปเลย มึงจะเสียเวลามาทำคอนเสิร์ตการกุศลทำไม” สำหรับผมการทำคอนเสิร์ตการกุศลเป็นการทำงานการกุศลที่เสี่ยงที่สุดแล้ว คุณอาจจะเจ๊งตั้งแต่ยังไม่ได้เงินไปทำการกุศลเลย เพราะว่ามันลงทุนเยอะ ถ้าเป็นพวกนี้ผมจะบอกไปว่าอย่าทำ
แต่สมมติว่าเป็นน้องๆ ที่อยากจะเข้ามาสู่ธุรกิจนี้จริงๆ ผมก็จะพยายามแนะนำให้เขาเห็นภาพให้ชัดเจนที่สุด ถ้าเป็นเด็กใหม่ๆ ผมก็จะพูดให้เขาเห็นภาพเชิงขู่นิดๆ ว่า รู้ไหมว่าคอนเสิร์ตศิลปินต่างประเทศปีนี้แคนเซิลงานไปเป็นสิบเลยนะ ลองย้อนกลับไปดูสิ มีคอนเสิร์ตศิลปินต่างประเทศที่ประกาศว่าจะมาแล้วหายเงียบเยอะแยะเลย คุณคิดว่าเพราะอะไร เขาขายบัตรไม่ได้ไง เขาก็ต้องแคนเซิลไป หรือคุณรู้ไหมว่าค่าเช่าที่เท่าไหร่ จัดที่อิมแพ็ครอบหนึ่งเตรียมเงินไว้เลย 5 ล้าน ที่นั่งอิมแพ็คมี 8,000 ที่ หารออกมาก็จะรู้ต้นทุนต่อใบในราคาบัตร เฉพาะค่าที่อย่างเดียวหมดไปเกือบพันแล้วนะ แล้วคุณรู้ไหม ค่าตัวศิลปินเท่าไหร่ รู้หรือเปล่าว่าค่าลิขสิทธิ์เพลงเท่าไหร่ เคยมีเพลงที่แพงที่สุดที่ผมเคยได้ยินมาคือครั้งละห้าแสนบาทต่อรอบ ไม่รวมลิขสิทธิ์เผยแพร่ทางมีเดียอื่นๆ ถ้าคุณเล่นสองรอบเสียไปแล้วล้านหนึ่งเพื่อจะเล่นเพลงเพลงเดียว แปลว่าถ้าคุณจะให้ศิลปินร้องเพลงนี้ในคอนเสิร์ต คุณกำลังเสียค่าลิขสิทธิ์ เผลอๆ แพงหรือราคาเท่ากับค่าตัวศิลปินคนนั้นแล้ว แล้วเพลงอื่นๆ พวกเพลงดังๆ ทั้งหลาย ไม่รวมเพลงที่เป็นของศิลปินเขาเอง คุณต้องเตรียมไว้หลักแสนต่อเพลงต่อรอบ ในการทำคอนเสิร์ตสเกลแบบอิมแพ็คหรือพารากอนฮอลล์ คอนเสิร์ตหนึ่งเฉลี่ย 20 เพลง โดนไปแล้วรอบละ 2 ล้าน ค่าเช่าที่อีก 5 ล้าน เป็น 7 ล้านแล้ว มันเสี่ยงมากครับ
นี่เป็นเหตุผลที่คุณโพสต์สเตตัสในเฟซบุ๊กว่า ‘ถ้าเกลียดใครให้ชวนไปจัดคอนเสิร์ต’
(หัวเราะ) คือมันเริ่มจากสำนวนที่ผมมักใช้พูดกับผู้คนในวงการมาหลายปีแล้ว
ครั้งหนึ่งผมเคยพูดกับพี่นิค Genie (วิเชียร ฤกษ์ไพศาล) ช่วงนั้นคือช่วงที่ผมทำงานอยู่ที่แกรมมี่ แล้วผมก็รู้ว่าการทำค่ายเพลงมันเหนื่อยมาก ผมชื่นชมคนทำค่ายเพลงมากเลยนะ ซึ่งคำว่าคนทำค่ายเพลงนี่ไม่ใช่เจ้าของค่ายเพลงแต่หมายถึงคนที่ทำงานอยู่ในค่าย แล้วผลตอบแทนมันไม่คุ้มค่ากับความเหนื่อยนั้นหรอกถ้าเขาไม่รักมันจริง ดังนั้นผมก็เลยจะแซวกับพี่นิคเล่นๆ ว่า “ถ้าเกลียดใครก็ชวนมาทำค่ายเพลง” เพราะมันเหนื่อย มันสาหัส ถ้าคุณไม่รักคุณจะทุกข์ทรมานกับมันมาก
หรือก่อนหน้านั้นมียุคหนึ่งที่ผมคลุกคลีกับผู้คนในวงการหนัง เพราะว่าผมมีเพื่อนๆ ทำหนังหลายคน ผมก็จะรู้ว่า โอ้โห คนที่ทำงานอยู่ในวงการหนังมันทุกข์ทรมานมาก ถ้าไม่รักจริงไม่มีทางทำต่อ มันมีแต่เรื่องที่เหนื่อย เสี่ยง ทำแล้วไม่คุ้มเหนื่อยเต็มไปหมดเลย ตอนนั้นผมสนิทกับพี่ปรัชญา ปิ่นแก้ว ผมก็จะคุยด้วยสำนวนนี้ว่า “ถ้าเกลียดใครก็ให้ชวนไปทำหนัง”
พอมาถึงปีนี้ซึ่งมันเป็นปีที่คนที่มองเข้ามาที่แวดวงการทำคอนเสิร์ตแบบไม่รู้ไม่เข้าใจก็จะคิดว่า โอ้โห คนที่ทำคอนเสิร์ตนี่มันรวยเหลือเกิน ขายบัตรก็แพง มีงานเกิดขึ้นมากมาย แต่คุณไม่รู้หรอกว่ามันทุกข์ทรมานแค่ไหน คนที่ทำคอนเสิร์ตมันต้องดีลกับอะไรมากมาย ค่าลิขสิทธิ์เพลง ค่าสถานที่ที่คิดจะขึ้นราคาก็ขึ้น พอจะขายบัตรคนก็อยากได้ราคาถูก สปอนเซอร์หรือคนที่ได้บัตรฟรีไปก็เอาบัตรไปขายอีก มันเต็มไปด้วยความเหน็ดเหนื่อย ถ้าคนที่ยังทำคอนเสิร์ตอยู่แปลว่าเขารักมันจริงๆ ถ้าไม่รักมันจริงๆ เขาคงไม่ทำ ดังนั้นผมก็เลยใช้สำนวนเดิม ถ้าเกลียดใครให้ชวนไปจัดคอนเสิร์ต เพราะว่ามันโคตรเหนื่อยเลย
เหนื่อยขนาดนั้น ทำไมยังทำอยู่
เหมือนกันกับความสัมพันธ์กับเพื่อน กับแฟน ก็คือในที่สุดแล้วถ้าเรารักมันจริงๆ เราจะมองข้ามข้อเสียมันไป หรือไม่เราก็จะรู้สึกว่ามันคุ้มที่เราจะเหนื่อย มันคุ้มที่เราต้องทน สมมติไอ้คนนี้มันขี้บ่น มันเลือกร้านอาหารไม่ค่อยถูกใจ แต่เรารักมันฉิบเป๋งเลย แล้วถึงเวลาที่เราลำบากมันก็ช่วยเราจริงๆ หรือบางโมเมนต์ที่ได้ทำอะไรที่มันถูกใจร่วมกัน โอ้โห มันทำให้เราลืมทุกอย่างที่เราไม่ชอบเลย
เหมือนกัน เวลาที่ผมทำคอนเสิร์ต อย่าง Big Mountain ครั้งล่าสุดโมเมนต์ที่มีคนจุดพลุขึ้นไปตอนโชว์สุดท้ายของงาน แล้วเราได้ยินเสียงกรีดร้องของผู้คนที่เขาตื่นเต้น เห็นเขายกมือถือยกกล้องขึ้นมาถ่ายรูป เขากอดคอเพื่อน มันทำให้หายเหนื่อยหมดเลย มันจบเลย มันลืมสิ่งที่เราเซ็งทุกอย่าง เรารู้เพียงแค่ว่านี่แหละ เพราะโมเมนต์แบบนี้ คนทำงานกับมวลชนทุกแขนง อย่างคุณทำหนังสือ เวลาที่มีคนเขาอ่านหนังสือเราแล้วเขาบอกว่า “พี่ บทความนี้เปลี่ยนชีวิตหนูเลยว่ะ” มันจบเลยใช่ไหม เราลืมไปเลยว่า เงินเดือนแม่งไม่คุ้มเลยกับความเหนื่อยของกูหรืออะไรก็ตามที ที่เรายังทำก็เพราะไอ้โมเมนต์แบบนี้
เป็นเหมือน love-hate relationship
จะเรียกอย่างนั้นก็ได้ แต่ความจริงแล้วมันไม่ใช่ love-hate ด้วยซ้ำไป มันก็คือ love นั่นแหละ ความรักมันเป็นอย่างนี้ ไม่ว่าเราจะรักใครก็ตาม สมมติเรารักแม่เรามาก มันก็ต้องมีโมเมนต์ที่เรารู้สึกว่าแม่ไม่เข้าใจเราเลย เราเถียงแม่ ผมว่าทั้งหมดนี้มันคือสิ่งที่เรียกว่าความรักนั่นแหละ เราจึงอยู่กับสิ่งนั้นได้แม้ว่ามันจะสร้างทุกข์ให้เราบ้าง แต่มันไม่มีอะไรที่สุขตลอดเวลาอยู่แล้ว
แล้วอยู่ดีๆ ทำไมคุณลุกขึ้นมาทำรายการ ป๋าเต็ดทอล์ก
ผมยังมองเรื่องการทำงานที่สนุก ที่เหมาะกับตัวเรา ที่ทำให้เราไม่รู้สึกว่าต้องมาทำงาน ผมยังอยากได้ความรู้สึกที่ตอนเช้าตื่นขึ้นมา ไปที่ทำงานหรือที่ไซต์งาน แล้วยังตื่นเต้นอยู่ทุกวัน ซึ่งตอนนี้ผมยังเป็นอย่างนั้นอยู่ สมมติถ้ามันมีช่วงไหนที่เราเริ่มไม่สนุกแล้ว วิธีคิดของผมก็คือเราก็ต้องหาเรื่องทำให้มันสนุก การทำ ป๋าเต็ดทอล์ก ก็เป็นวิธีหนึ่ง
ช่วงหลังเวลาผมทำ Big Mountain เทียบกับตอนที่ผมทำ Fat Fest สิ่งที่มันแตกต่างกันมากเลยก็คือว่า ตอนทำ Fat Fest ผมแทบจะโปรแกรมการแสดงของแต่ละเวทีด้วยตัวเอง ผมบอกเลยว่าเวทีนี้ต้องเอาศิลปินคนนี้ เวทีนั้นต้องเอาคนนั้น แล้วก็แค่ให้ลูกทีมไปติดต่อให้ได้ตามนี้ กับ Big Mountain ครั้งแรกผมอาจจะยังโปรแกรมเองอยู่ แต่ผ่านไปสัก 2-3 ครั้ง ผมเริ่มให้ทีมงานเป็นคนโปรแกรมแล้วมาเสนอ เพราะว่าผมรู้จักศิลปินน้อยลง แต่ก่อนเราจัดรายการวิทยุ เราได้เจอศิลปินตลอดเวลา เราเปิดเพลงทุกวัน เราได้ฟังเพลงใหม่ๆ ที่ส่งเข้ามา เราสัมภาษณ์ศิลปิน เรารู้จัก เราอิน แล้ววิธีคิดของเราเวลาที่เราครีเอตงานขึ้นมาแต่ละงานเราจะคิดในมุมมองเดียวกันกับศิลปิน เพราะเราใกล้ชิดคลุกคลีกับศิลปินมาก แต่พอมาช่วงหลัง ผมห่างไกลกับศิลปินมาก มันเหมือนมุมมองศิลปินที่มีต่อเรามันจะมี 2 แบบ แบบหนึ่งคือเป็นปูชนียบุคคล ไม่กล้าคุยด้วย เห็นแล้วไหว้ อีกมุมหนึ่งก็คือ ไอ้นี่เป็นคือใคร ไม่รู้จักเลย ซึ่งไม่ดีทั้ง 2 แบบ
ผมอยากใกล้ชิดศิลปินอีกครั้ง ผมอยากเข้าใจ ผมอยากรู้จัก ก็เลยตัดสินใจทำ ป๋าเต็ดทอล์ก เพื่อที่จะได้พูดคุยกับศิลปินอีกครั้งหนึ่ง แล้วพูดคุยแบบทำความเข้าใจด้วย เพราะว่าผมอยากส่งเสริมให้สังคมพยายามทำความเข้าใจกันและกันให้มากขึ้น ผมอยากโปรโมตสิ่งนี้
การทำความเข้าใจสำคัญยังไง
คือทุกวันนี้คนจำนวนมากสับสนระหว่างคำว่าเข้าใจกับคำว่าเข้าข้าง คนจำนวนมากคิดไปว่า ถ้าฉันเข้าใจใครแปลว่าฉันเข้าข้างเขา ถ้าฉันไม่เข้าใจใครแปลว่าฉันไม่เข้าข้างเขา และคนที่ฉันไม่เข้าข้าง ฉันไม่จำเป็นต้องไปเข้าใจเขา ซึ่งมันผิด คุณเข้าใจได้โดยที่คุณอาจจะไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย แต่คุณควรจะเข้าใจไม่ใช่เหรอ ว่าทำไมเขาถึงคิดอย่างนั้น
ความไม่เข้าใจมันก่อให้เกิดความกลัว อันนี้มันเป็นเบสิกของมนุษย์เลยนะ คนเรากลัวผีเพราะไม่เข้าใจว่าผีคืออะไร หรือคนสมัยก่อนกลัวไฟด้วยซ้ำ เพราะไม่เข้าใจว่าไฟคืออะไร นับถือไฟเป็นเทพเจ้า ดังนั้นทุกวันนี้ความไม่เข้าใจกันมันทำให้เกิดความกลัว ความกลัวนำไปสู่ความเกลียด ความเกลียดก็นำไปสู่ความแตกแยก ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ว่าจะเรื่องอะไร ทั้งเรื่องรสนิยมการฟังเพลง รสนิยมการดูหนัง รสนิยมการแต่งกาย รสนิยมการเมืองหรือการนับถือศาสนา มันล้วนแล้วแต่ควรทำความเข้าใจ ส่วนจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย นั่นเป็นอีกเรื่อง
ดังนั้น ป๋าเต็ดทอล์ก ผมทำขึ้นมาด้วยแนวคิดนี้เลย แล้วในรายการก็จะคุยกันด้วยลักษณะการสัมภาษณ์แบบที่เรียกกันว่า deep conversation เราคุยกันแบบลงลึกมาก ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วหลายคนมองการสัมภาษณ์ศิลปินโดยเฉพาะเวลาที่อยู่ในรายการที่ไม่ใช่หนังสือ แต่เป็นมีเดียอื่นอย่างวิทยุ ทีวี โซเชียลมีเดีย มันมักจะสัมภาษณ์กันสนุกสนานเฮฮา เพราะเชื่อว่าคนดูแค่สั้นๆ เขาไม่ดูอะไรยาวๆ หรอก ซึ่งไอ้ความที่ผมไม่ค่อยรู้อิโหน่อิเหน่เกี่ยวกับโซเชียลมีเดียด้วย เราก็มีความดื้ออยู่ ไม่เชื่อว่ะ เราเชื่อเรื่อง deep conversation
เชื่ออะไรใน deep conversation
ผมเชื่อว่านั่นคือสิ่งที่เราทำได้ดี เพราะว่าเราทำอย่างนี้มาตลอดชีวิตการทำงาน สมัยเราเป็นดีเจเรานั่งสัมภาษณ์กันเป็นชั่วโมงเลย สนุกจะตาย ถ้าการพูดคุยมันนำมาซึ่งเรื่องราวที่มันน่าสนใจ ก็เลยเลือกทำ ป๋าเต็ดทอล์ก แบบนี้ ความยาวประมาณตอนละ 40-50 นาที ทุกคนเตือนหมดเลยว่า “พี่ มันยาวไปว่ะ” แต่มันสั้นไม่ได้ ผมทำไม่เป็น คนอื่นอาจจะทำได้แต่เราทำไม่เป็น เราทำในแบบที่เราถนัดดีกว่า
แล้วผมเชื่อในพลังของคำถาม ไม่ว่ามันจะนำมาซึ่งคำตอบที่จริงหรือไม่จริง ทำให้เราเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็ตามที แต่ถ้าเราไม่ยิงคำถามเราจะไม่ได้คำตอบนั้นมา แล้วบางทีต่อให้คำตอบมันไม่จริง มันก็ทำให้เราเข้าใจอะไรบางอย่าง เคยไหม เวลาที่เราถามอะไรบางอย่างจากใครไปแล้วรู้เลยว่าเขาพูดไม่จริง แต่บางทีมันทำให้เราเข้าใจ เช่น เข้าใจว่าเขาเกรงใจเรา หรือเขากลัว หรือเรื่องนี้มันเป็นเรื่องซีเรียส เขาไม่สามารถพูดความจริงได้ มันมีอะไรตั้งหลายอย่างที่ทำให้เราเข้าใจได้ แม้กับการโกหก ดังนั้นผมเชื่อเรื่องนี้มาก
ป๋าเต็ดทอล์ก Season 2 เลือกสัมภาษณ์วงดนตรีที่สมาชิกแยกย้าย คุณสนใจอะไรในเขาเหล่านั้น
หลังจากจบซีซั่น 1 ซีซั่นแรกที่เป็นเหมือนซีซั่นทดลองของเรา เราก็มาลิสต์กันบนกระดานว่าเราอยากคุยกับใครบ้าง จริงๆ มีรายชื่อขึ้นมาเต็มกระดานไปหมดเลย ส่วนใหญ่ผมจะลิสต์เอง ผมจะเลือกจากคนที่ผมอยากคุยด้วยโดยอยู่บนพื้นฐานที่ว่าผมอยากทำความเข้าใจเรื่องที่ผมยังไม่เข้าใจ หนึ่งในนั้นก็คือเรื่องของศิลปินที่แยกย้ายกัน ความจริงก็ลิสต์ไว้หลายวง แต่ก็ต้องยอมรับว่าในบรรดาศิลปินที่แยกย้ายกันในประวัติศาสตร์วงการเพลงไทย Silly Fools กับ Big Ass ถือว่าเป็นเคสที่เป็นที่สนใจมากที่สุด เป็นข่าวดังมากที่สุด แล้วก็ทั้งคู่ถือเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จอันดับต้นๆ ของวงการ
แล้วทั้งสองวงมีประเด็นเรื่องการเปลี่ยนนักร้อง ซึ่งผมถือว่าในวงการเพลงระดับโลก น้อยครั้งมากที่เปลี่ยนนักร้องแล้วสำเร็จ การเปลี่ยนนักร้องเป็นเรื่องใหญ่มาก มันก็เลยมีเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจเยอะ ซึ่ง Silly Fools คือวงแรกที่นี่เรากาไว้เลยว่าต้องคุย โดยเฉพาะกับคุณโต (วีรชน ศรัทธายิ่ง)
สนใจอะไรใน Silly Fools หรือตัวคุณโต
มันมีเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจเยอะมาก จากศิลปินที่เป็นซูเปอร์สตาร์ แล้วก็แยกจากวง แล้วทุกวันนี้ผันตัวมาเป็นผู้ที่คร่ำเคร่งในเรื่องศาสนา ในขณะเดียวกันก็ทำธุรกิจเป็นพ่อค้าขายเนื้อ ซึ่งมันเป็นคนละเรื่องเลยกับภาพที่เรารู้จักคุณโตแต่ก่อน มันมีเรื่องที่เราสนใจ อยากรู้จัก อยากเข้าใจมาก โดยเฉพาะช่วงที่แยกกัน ในขณะเดียวกันอีกฝั่งหนึ่ง คุณหรั่ง (เทวฤทธิ์ ศรีสุข) กับคุณต้น (จักรินทร์ จูประเสริฐ) จากวันที่ Silly Fools คือวงร็อกอันดับต้นๆ ของไทย แล้ววันหนึ่งขาดนักร้องนำซึ่งถือเป็นหน้าตาของวงเขาอยู่ต่อได้ยังไง ซึ่งเขาก็อยู่ของเขามาเรื่อย ขึ้นๆ ลงๆ ลุ่มๆ ดอนๆ จนทุกวันนี้ก็ยังเป็น Silly Fools อยู่ แต่เป็นนักร้องใหม่ แล้วเขาคิดยังไงบ้างกับวันนั้น ส่วน Big Ass ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะความสนิทสนมเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกับกบและอ๊อฟ เพราะว่าทำงานด้วยกันบ่อย ส่วนกับแด๊กซ์ไม่สนิทเท่าแต่ก็มีเรื่องน่าสนใจ
เราเริ่มสัมภาษณ์คุณโตก่อน เริ่มจากยากที่สุดก่อน ซึ่งมันกลายเป็นว่าดีแล้วที่สัมภาษณ์คุณโตก่อน เพราะว่าหลังจากนั้นไม่ว่าจะไปคุยกับใครมันเป็นเรื่องง่ายสำหรับผม แล้ววันแรกที่สัมภาษณ์คุณโตเสร็จ พวกเราก็มองหน้ากันแบบรู้เลยว่าสิ่งที่เราสัมภาษณ์ไปมันสำคัญมากว่ะ เนื้อหาที่กำลังจะเผยแพร่ไป มันไม่ธรรมดา มันน่าจะทำให้คนเข้าใจมากขึ้น มันเป็นคอนเทนต์ที่พิเศษมาก มันคุ้มค่ากับการที่เราพยายามทำสิ่งที่เรียกว่า deep conversation
โดยเฉพาะวันที่สัมภาษณ์กบกับอ๊อฟซึ่งเป็นคู่สุดท้ายที่สัมภาษณ์ในซีซั่น กบเขาตอบมามากกว่าที่ผมถาม จนผมรู้สึกได้ว่า เฮ้ย ในที่สุดเขาอยากพูด เขามีเรื่องที่เขาก็อยากให้คนเข้าใจ โดยที่เรากลายเป็นเหมือนสื่อกลางให้ ตอนนี้ผมเริ่มทำซีซั่น 3 แล้ว แล้วผมก็จะเจอเหตุการณ์นี้เหมือนกัน คือศิลปินพูดมากกว่าที่ผมถาม คล้ายๆ กับว่าซีซั่น 2 มันสร้างสิ่งที่เรียกว่าความไว้ใจ เขาไว้ใจผมว่า ไม่ว่าผมจะถามเขาด้วยคำถามที่ยากแค่ไหนก็ตามที ผมถามด้วยจิตใจที่ไม่ได้คิดร้ายกับเขา แล้วผมถามด้วยความรู้สึกที่ว่าผมเองอยากเข้าใจและอยากให้คนอื่นเข้าใจด้วย แล้วหลายครั้ง ไอ้ตัวคนตอบเขาเข้าใจเองด้วย
เรียนรู้อะไรจากการคุยกับวงดนตรีที่แยกย้ายบ้าง
มันค่อนข้างให้ข้อสรุปถึงความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าวงดนตรีได้อย่างดีเลย ผมเคยมีทฤษฎีหนึ่ง เป็นความเชื่อส่วนตัวเลยว่า สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าวงดนตรีมันถูกออกแบบมาให้แตก โดยเฉพาะวงดนตรีที่ดีมันถูกออกแบบมาให้แตก เพราะว่าวงดนตรีที่ดีมันเกิดจากคนที่มีอีโก้มากๆ มีความสามารถมากๆ หลายๆ คนมารวมตัวกัน คือถ้าคนไม่มีอีโก้มารวมตัวกัน แบบเอาไงก็ได้ มันไม่มีทางได้วงดนตรีที่ดีเลย มันจะได้วงธรรมดามาวงหนึ่ง ตัวอย่างที่ชัดเจนนะ อย่าง The Beatles ที่มี John Lennon ที่เป็นอัจฉริยะกับ Paul McCartney ที่โคตรอัจฉริยะ สองคนนี้เป็นเทพมาเจอกัน และแน่นอนมันทะเลาะกันตลอดทาง จนในที่สุดแล้วช่วงที่บาลานซ์กันไม่อยู่แล้วก็ต้องแยกย้ายกันไป แต่ว่าก่อนที่จะแยกย้ายกันไป มันได้โคตรวงดนตรีที่ชื่อว่า The Beatles แล้วอีกหลายๆ วงคุณไปดูได้เลย ซึ่งถ้าวงไหนเอาอีโก้มาชนกันแล้วยังบาลานซ์กันได้ มันก็จะได้วงดนตรีที่ดีมากๆ สร้างงานที่มหัศจรรย์ แต่ถ้าบาลานซ์ไม่อยู่มันก็แตกโพละ
เรื่องที่คุณคุยเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีอะไรต้องระวังไหม
อันนี้เป็นความเชื่อส่วนตัวผมมากๆ เลยคือ สิ่งที่ทำมันอยู่บนพื้นฐานของความตั้งใจดี และความตรงไปตรงมา เช่น เราจะบอกเขาก่อนสัมภาษณ์ว่าเราจะคุยเรื่องอะไรบ้าง เราจะลิสต์คำถามหลักๆ ให้เขาดูว่าจะถามเรื่องอะไร มีเรื่องไหนไม่สบายใจหรือไม่ ศิลปินบางคนอาจจะบอกว่า ไม่เป็นไร พี่ถามมาเลย ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเขาไว้ใจเรา แต่ต่อให้เขาพูดแบบนี้กับผม ผมก็จะบอกว่า “ถึงยังไงก็ตาม ถ้าคำถามไหนที่ผมถามไปไม่สบายใจ ไม่ต้องตอบนะครับ” เพื่อให้ผมรู้สึกได้ว่าเขาสบายใจที่สุด ผมเชื่อว่าความสบายใจจะทำให้เขาผ่อนคลาย พูดในสิ่งที่อยู่ข้างในมากที่สุดออกมา เราต้องทำลายกำแพงข้อนี้ก่อน แล้วหลังสัมภาษณ์เสร็จ ตัดต่อเสร็จ ผมจะส่งกลับไปให้เขาดูอีก ให้เขาเห็นเลยนะว่าตัดแล้วมันเป็นอย่างนี้นะ มีอะไรไม่สบายใจยังเปลี่ยนแปลงได้อีก ก่อนที่จะออกอากาศ แล้วผมทำอย่างนี้กับทุกคนทั้งศิลปินหน้าใหม่หรือศิลปินรุ่นใหญ่
ผมถือว่ามันคือการยืนยันความจริงใจ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก คือผมไม่ได้พยายามหาเรื่องที่มันดราม่าเพื่อที่จะสร้างกระแสเรียกไลก์อะไรพวกนี้เลยนะ ยอดไลก์เป็นเรื่องสุดท้ายที่ผมอยากได้ คือมีคนกดไลก์เยอะๆ มันดีอยู่แล้ว แต่มันต้องไม่ได้มาด้วยวิธีการที่ผมไม่ชอบ
ผมไม่ชอบวิธีการแบบจี้ถามในเรื่องที่เขาอึดอัด เพื่อที่จะเอาความอึดอัดนั้นมันมาใช้เพราะมันเป็นภาพที่ขายได้ หรือการที่เห็นเขาประหม่าตอบไม่ออก เพราะถ้ามันเกิดขึ้นกับผมเองผมก็จะหงุดหงิดและจะไม่พอใจมาก
คุณคิดว่าอะไรทำให้ ป๋าเต็ดทอล์ก ซีซั่น 2 ประสบความสำเร็จ
ผมว่ามีหลายองค์ประกอบ องค์ประกอบแรกคือตัวซับเจกต์มันแข็งแรงมาก คือเรื่อง Silly Fools กับ Big Ass มันเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของผู้คนจำนวนมาก แล้วพอเป็นผมสัมภาษณ์ ด้วยช่วงวัยระหว่างเราบวกกับระยะเวลาที่ทิ้งห่างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาในระยะเวลาที่เหมาะสม มันทำให้ทุกคนตอบคำถามกับผมในแบบที่อาจจะไม่เหมือนกับที่เคยตอบคนอื่นไว้ ระยะเวลาที่ห่างพอมันทำให้บางเรื่องที่เขาไม่อยากพูดตอนนี้เขาพร้อมที่จะพูดแล้ว แล้วยิ่งเป็นผมก็ยิ่งพูดได้ง่ายขึ้นหรืออะไรก็ตาม อีกเรื่องคือต้องให้เครดิตกับทีมงานโดยเฉพาะทีมตัดต่อ ทีมเรียบเรียงสคริปต์ เพราะจริงๆ แล้วการสัมภาษณ์จริงไม่ได้เรียงลำดับตามที่เห็น มันมีการตัดสลับกัน มีการถอดคำถามบางคำถามออก แทรกบางคำถามเข้าไปซึ่งอันนี้เป็นศิลปะการเล่าเรื่องของทีมงาน
กับอีกเรื่องที่ผมได้รับแรงบันดาลใจมาจากตอนที่คุณสุทธิชัย หยุ่น มาสัมภาษณ์ผม คือวิธีการจัดมุมกล้อง เวลาจัดมุมสัมภาษณ์ ความคิดแรกของคนทำรายการเขาจะนึกถึงวิธีเซตฉากแบบตัววี ก็คือแขกกับผู้สัมภาษณ์นั่งเฉียงกัน 45 องศา แล้วก็มีกล้องจับครอสกันสองข้าง ซึ่งอันนี้คือท่ามาตรฐาน แต่ว่าวันที่คุณสุทธิชัยมาสัมภาษณ์ผม เขาจัดท่านั่งแบบคุณสุทธิชัยกับผมนั่งประจันหน้ากันเลย แล้วก็เอากล้องครอสกันมาจากข้างหลังของทั้งคู่ แล้วผมพบว่ามันได้มุมกล้องที่ใกล้เคียงการที่ผู้ให้สัมภาษณ์คุยกับคนดูมากที่สุด ซึ่งผมชอบมาก แล้วยิ่งเราตั้งใจให้มันเป็น deep conversation มันยิ่งต้องให้ความรู้สึกเหมือนกับเรากำลังคุยกับคนดูอยู่มากๆ ซึ่งอันนี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อว่ามันกลายเป็นมุมกล้องที่เป็นเอกลักษณ์ของ ป๋าเต็ดทอล์ก ไปแล้ว ผมจะบอกกับตากล้องเลยว่าผมจะใช้มุมที่เห็นสองคนน้อยมากนะ ใช้ตอนเปิดนิดเดียว เพราะฉะนั้นคุณสามารถถอดเอากล้องตัวนั้นมาคอยจับหน้าแขก จับให้มันลึกเข้าไป หรือจับมือของแขกตอนที่แขกครุ่นคิด เพื่อที่จะทำให้เราสัมผัสได้ถึงอวัจนภาษาด้วย หลายคนที่ดูรายการ ป๋าเต็ดทอล์ก ก็จะพูดเรื่องนี้ว่ามันมีเรื่องของภาษากายอยู่ ดังนั้นมันจะทำให้คำตอบบางคำตอบ ซึ่งดูเหมือนคำตอบธรรมดา แต่พอบวกภาษากายเข้าไป เฮ้ย ไม่ใช่ว่ะ เขาเครียดอยู่ว่ะ
แล้วมีอีกอย่าง ซึ่งอันนี้เกิดจากตอนสัมภาษณ์คุณโตเลย สิ่งหนึ่งที่คุณโตขอไว้ก็คือห้ามใช้ดนตรีประกอบเป็นอันขาดในรายการ เพราะเขาไม่เห็นด้วยกับการใช้ดนตรี ซึ่งเราก็โอเค ไม่มีปัญหาเลย ดังนั้นในเทปแรกเราเลยตัดต่อโดยไม่ใช้ดนตรีประกอบเลย แล้วปรากฏว่ามันยิ่งดีเข้าไปใหญ่ พอมันเป็น deep conversation มันยิ่งทำให้เราจดจ่อกับคำตอบ กับภาษากาย มันไม่มีอะไรมาบิลด์อีกแล้ว พอตอนสามที่เป็นหรั่งกับต้น ตอนแรกทีมงานก็ตัดต่อมาแล้วใส่ดนตรี แล้วพอมานั่งดูกันผมก็บอกว่า ลองเอาดนตรีออกดูซิ พอเอาออกก็รู้ทันทีว่า เออ นี่แหละ ป๋าเต็ดทอล์ก มันคือรายการสนทนาที่ไม่มีดนตรีประกอบ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเราก็ไม่ใช้ดนตรีประกอบอีกเลย จนกลายเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งผมเชื่อว่าทั้งหมดนี้ที่พูดมา ประกอบกันเข้า มันก็เลยกลายเป็นเสน่ห์บางอย่าง แล้วก็ทำให้รายการความยาว 40-50 นาที มีคนดูจบอยู่เยอะมาก
แล้วมีฟีดแบ็กไหนไหมที่ช่วยยืนยันว่าสิ่งที่คุณเชื่อมาถูกทางแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำความเข้าใจหรือ deep conversation
ที่ชัดเจนก็มาจากตอนที่ผมส่งคลิปสัมภาษณ์แด๊กซ์ที่ตัดต่อแล้วไปให้กบและอ๊อฟฟัง ข้อความของกบที่ส่งกลับมาถึงผมมันพิเศษมาก เขาส่งมาว่า หลังจากตรวจเทปที่ผมส่งไปให้เขาดูหลังการตัดต่อแล้วเขากลับไปฟังเพลงเก่าๆ ของ Big Ass ได้อย่างเต็มหัวใจและภูมิใจอีกครั้งหนึ่ง
ผมไม่ได้ถามเขาหรอกว่า อะไรที่มันปลดล็อก ผมไม่ได้ถามละเอียด เพราะผมถือว่าบางทีมันเป็นเรื่องส่วนตัวแล้ว แต่ว่าข้อความนั้นของกบทำให้รู้ว่า บางทีความเข้าใจมันไม่ได้เกิดจากผมที่ได้รับฟังข้อมูลจากเขานะ แต่เกิดจากการที่เขาได้พูดอะไรบางอย่างออกมา แล้วมันทำให้เขาเองปลดล็อกได้ ซึ่งมันอาจจะเกิดจากการสนทนากันในวันนั้น
อย่างอ๊อฟเองก็พูดขึ้นมาประโยคหนึ่งระหว่างสนทนาว่า “เออ พี่ ผมคิดออกแล้วว่ะ Big Ass มันแยกกันเพราะเราไม่ทะเลาะกัน” เขาคิดออกเพราะการพูดคุยกันในวันนั้น พอได้แลกเปลี่ยนกันแล้วเขาก็เลยคิดได้ เออใช่ ถ้าเราทะเลาะกันสักหน่อยมันอาจจะดีกว่านี้ การไม่ทะเลาะกันบางทีมันก็ไม่ดี การทะเลาะกันหรือการถกเถียงกันเป็นการทำความเข้าใจกันอย่างหนึ่งนะ การทะเลาะกันคือการสนทนาในอารมณ์ที่เกรี้ยวกราด ซึ่งแม้มันอาจจะไม่เคลียร์เท่าการสนทนาด้วยอารมณ์ที่เงียบสงบ แต่ถ้าไม่เกรี้ยวกราด เราก็อาจจะไม่พูดอะไรบางอย่างออกมาก็ได้นะ ตอนสงบเราอาจจะไม่พูดบางเรื่องออกมา ดังนั้นถ้าทะเลาะกันมันอาจจะดีกว่านี้
โมเมนต์แบบนี้ที่ผมรู้สึกว่าพิเศษมาก เราอาจจะไม่ได้ทำอะไรถูกทั้งหมดหรอก แต่อย่างน้อยมันก็มีเรื่องที่ถูกบ้างแหละวะ