มนุษย์เรามีเหตุผลมากมายในการดื่ม Dmitry Bykov นักเขียนชาวรัสเซียกล่าวว่า “วอดก้าเป็นน้ำวิเศษช่วยลดความตึงเครียดในสังคม” ส่วนชาวเช็กก็มีสำนวนโบราณว่า “ที่ไหนต้มเบียร์ ที่นั่นควรค่าอยู่อาศัย” เมื่อการดื่มไม่ได้จบแค่การดับกระหาย แต่มีเรื่องราวมากมายซ่อนอยู่ แล้วเครื่องดื่มโปรดของแต่ละชาติบอกอะไรเราบ้างในทางประวัติศาสตร์?
“จงดื่มเบียร์” นักบุญ Hildegard von Bingen กล่าวไว้ในศตวรรษที่ 11
แต่ไหนแต่ไรมา เบียร์นับว่าเป็นเครื่องดื่มพื้นฐานตลอดกาลของชาวยุโรป ใครเคยไปแถบนี้อาจคิดเสียด้วยซ้ำว่าเบียร์ทั้งถูกและหาง่ายกว่าน้ำธรรมดาเป็นไหนๆ เรื่องนี้เป็นความจริงในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคกลาง เพราะแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นของอันตรายไม่แพ้ยาพิษ
ในยุคนั้นการจัดการน้ำของชาวยุโรปยังไม่พัฒนา ของเสียจากเมืองส่วนใหญ่มักถูกปล่อยให้ไหลลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ กว่าปัญหานี้จะแก้ไขได้เป็นที่พอใจก็ต้องรอไปถึงศตวรรษที่ 20 ในระหว่างนั้นโบสถ์ทั้งหลายที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของชุมชนจึงออกมารณรงค์ให้คนทั่วไปตั้งแต่เด็กน้อยไปจนถึงคนเฒ่าคนชรา ลดละเลิกการดื่มน้ำตามธรรมชาติ แต่มาดื่มเบียร์กันดีกว่าเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง
เบียร์ยุคแรกถูกผลิตโดยนักบวชในศาสนา มีชื่อเรียกแบบตรงตัวว่า ‘ของเหลวจากขนมปัง (liquid bread)’ โรงผลิตเบียร์แห่งแรกของโลกเชื่อกันว่ามาจากแคว้นบาวาเรีย เริ่มผลิตเบียร์มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 และแพร่กระจายกันไปในเมืองตามลุ่มแม่น้ำไรน์
เมื่อเวลาผ่านไป การผลิตเบียร์เปลี่ยนสภาพจากเครื่องดื่มธรรมดามาเป็นความภาคภูมิใจของชาติ เพราะเป็นการสนับสนุนสินค้าท้องถิ่นที่ให้ผลทั้งทางเศรษฐกิจและแนวคิดชาตินิยม
คนที่จริงจังกับความคิดนี้คงต้องยกเครดิตให้พระเจ้าฟรีดริชมหาราช กษัตริย์ปรัสเซียผู้เกรียงไกรที่เล่นใหญ่ขนาดออกประกาศห้ามขายกาแฟในรัฐของพระองค์ในปี 1777
“ช่างเป็นเรื่องน่ารังเกียจที่กาแฟเริ่มกลายเป็นที่นิยม กษัตริย์ของประชาชนเติบโตมาด้วยเบียร์เช่นเดียวกับบรรพบุรุษ ดังนั้นประชาชนของพระองค์จะต้องดื่มเบียร์เช่นเดียวกัน”
ตั้งแต่นั้นมาเบียร์จึงกลายเป็นสินค้าท้องถิ่นที่ได้รับการสนับสนุนเรื่อยมา ปัจจุบันเยอรมนีเป็นบ้านเกิดของเบียร์กว่า 5,000 แบรนด์ ว่ากันว่าคนประเทศนี้สามารถดื่มเบียร์ไม่ซ้ำแบบกันได้ต่อกันทุกวันเป็นเวลานานถึง 15 ปีก็ไม่มีวันหมด
“เบียร์เป็นของมนุษย์ ไวน์เป็นของพระเจ้า”
คำกล่าวของ Martin Luther หนึ่งในผู้ปฏิรูปศาสนาคริสต์และผู้ก่อตั้งนิกายโปรเตสแตนต์ บอกให้เรารู้ว่า ไวน์เป็นเครื่องดื่มที่ผูกโยงกับสถานะทางสังคมที่สูงกว่า ที่เป็นแบบนี้เพราะไวน์ผลิตได้เฉพาะแถบประเทศอบอุ่น เช่น บริเวณเมดิเตอร์เรเนียนไปจนถึงตอนใต้ของฝรั่งเศส กว่าไวน์จะเดินทางมาถึงยุโปเหนือ ราคาก็ปาไปมากโขจนกลายเป็นคำพูดตลกร้ายว่า “คนจนดื่มเบียร์ คนรวยดื่มไวน์ คนคุกดื่มน้ำเปล่า”
ในทางตรงกันข้าม ไวน์เป็นเครื่องดื่มธรรมดาและราคาไม่สูงมากในฝรั่งเศส ต้องขอบคุณดินฟ้าอากาศและความรักในการผลิตไวน์ของชาวฝรั่งเศสที่พัฒนาต่อยอดแนวทางเดิมจากชาวกรีกโบราณและชนชาติโรมัน ไวน์ยังถูกใช้ในการประกอบอาหารและเป็นเครื่องดื่มเสิร์ฟให้เด็กจนถึงปี 1959
มีคำกล่าวติดปากว่าการดื่มไวน์วันละแก้วจะช่วยให้สุขภาพแข็งแรง แม้ในทางวิทยาศาสตร์ แอลกอฮอล์จากไวน์จะมีผลกระทบทางสมองมากกว่าเบียร์ น่าสนใจว่าไวน์เป็นเครื่องดื่มสร้างแรงบันดาลใจในหมู่ศิลปินและนักคิด ในขณะที่เบียร์เป็นเครื่องดื่มราคาย่อมเยาที่มีภาพจำกับชนชั้นแรงงาน
“ไม่ว่าจะถูกหรือแพง คนฝรั่งเศสรักและเคารพไวน์ของพวกเขา นั่นอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมไวน์ถึงมีมารยาทมากมายในแบบที่หาไม่ได้ในเครื่องดื่มชนิดอื่น” จูเลีย บาร์ดอส ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ชาวฝรั่งเศสให้ความเห็น
“ในโลกนี้มีคนสองแบบ คนที่พูดรัสเซียและดื่มเยอะกว่า กับคนที่ดื่มน้อยกว่าและไม่พูดรัสเซีย”
‘มาทีหลังดังกว่า’ เป็นคำที่เหมาะกับวอดก้ามากที่สุด ในขณะที่เบียร์และไวน์มีที่มาย้อนไปไกล วอดก้าเพิ่งถูกค้นพบใหม่ในศตวรรษที่ 16 โดยมีโปแลนด์เป็นเจ้าของสูตร เครื่องดื่มชนิดนี้เข้ามาถึงรัสเซียในอีก 25 ปีต่อมาโดยมีชื่อแรกว่า ‘ไวน์ขนมปัง (bread wine)’
วอดก้าเอาชนะเบียร์และไวน์จนกลายเป็นเครื่องดื่มอันดับหนึ่งได้ด้วยหลายปัจจัย อย่างแรกคือวอดก้าให้แอลกอฮอล์สูงกว่าและผลิตง่ายกว่าทั้งเบียร์และไวน์ (วอดก้าอย่างถูกสามารถหมักได้จากมันฝรั่ง – ผักไม่กี่ชนิดที่ปลูกในรัสเซียได้ตลอดปี)
อย่างหลังคือพระเจ้าซาร์สนับสนุนให้ราษฎรของพระองค์ดื่มวอดก้ากันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 โดยใช้ระบบสัมปทานการขาย เฉพาะเจ้าขุนมูลนายเท่านั้นที่มีโอกาสผลิตและจำหน่ายวอดก้า ส่วนกำไรที่ได้มาจะต้องส่งคืนให้ราชสำนักตามสัดส่วน
การสนับสนุนวอดก้ามีช่วงสะดุดสมัยซาร์นิโคลัสที่ 2 กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์โรมานอฟ ไปจนถึงยุคสหภาพโซเวียต พรรคบอลเชวิคเคยออกนโยบายต่อต้านการดื่มเพราะอยากให้ประชาชนเอาเวลามาช่วยการผลิตมากกว่า
ถึงอย่างนั้นรัฐบาลโซเวียตก็ยังผูกขาดการขายวอดก้าในประเทศเพราะเป็นหนึ่งในรายได้หลัก Josef Stalin มองว่า การสร้างรัฐสังคมนิยมในอุดมคติจำเป็นต้องต้องอาศัยเงินจำนวนมากที่ได้มาจากการขายวอดก้า (แม้ว่าสังคมนิยมในอุดมคติหมายถึงสังคมปลอดแอลกอฮอล์ก็ตาม)
ระบบผูกขาดการขายวอดก้าเพิ่งมาล่มสลายลงพร้อมสหภาพโซเวียตในปี 1991
ใครดื่มอะไรและใครดื่มมากที่สุด
Dalia Research บริษัทวิจัยสัญชาติเยอรมนีตีพิมพ์บทความที่เปลี่ยนภาพจำของการดื่มในปัจจุบันโดยกล่าวว่าประเทศที่ดื่มไวน์มากที่สุดที่จริงแล้วไม่ใช่ฝรั่งเศส แต่เป็นอิตาลี ในขณะที่ชาวเยอรมันก็ไม่ได้ดื่มเบียร์กันหนักอย่างที่เข้าใจ เพราะเป็นแค่อันดับสี่รองจากโปแลนด์ สเปน และอิตาลี ที่เป็นแบบนี้เพราะคนรุ่นใหม่ดื่มเบียร์และไวน์น้อยลง เครื่องดื่มที่เป็นที่นิยมที่สุดในหมู่วัยรุ่นวัย 20 กว่า กลายเป็นวอดก้า
สำหรับรัสเซีย แม้วอดก้าจะครองแชมป์อยู่ แต่ WHO (World Health Organization – องค์การอนามัยโลก) ก็ออกมาเตือนว่าชาวหมีขาวดื่มกันมากไป เพราะดื่มหนักมากถึง 10 ลิตรต่อปีต่อคน (ผลสำรวจในปี 2017) ขณะที่ปริมาณแอลกอฮอล์แนะนำ ไม่ควรเกิน 8 ลิตรต่อปีต่อคน
อ้างอิง