ตามไปดูนิทรรศการ ‘สักสี สักศรี’ ร่องรอยของวัฒนธรรมบนเรือนร่าง

Highlights

  • นิทรรศการนี้ชื่อว่า 'สักสี สักศรี: ก่อนรอยแห่งเกียรติจะลบเลือน' นิทรรศการที่ร้อยเรียง บอกเล่า มรดกทางวัฒนธรรมในการสักของกลุ่มชาติพันธ์ุชาวไท่หย่า (Atayal), ชาวไผวัน (Paiwan) จากไต้หวัน และชาวล้านนาไทย
  • แม้จะอยู่คนละพื้นถิ่น แต่รอยสักของพวกเขากลับเล่าเรื่องราวที่มีประเด็นคล้ายคลึงกันอย่างไม่น่าเชื่อ

คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่าประเพณีการสักเป็นเสมือนอีกหนึ่งบันทึกของวัฒนธรรมทางมานุษยวิทยาที่น่าสนใจ จากหนึ่งในหลักฐานแรกๆบนเรือนร่างของมัมมี่บนเทือกเขาแอลป์เมื่อ 5,000 ปีที่แล้ว จวบจนปัจจุบัน วิธีการ ความหมาย ความเชื่อ ไปจนถึงทัศนคติต่อรอยสักในสังคมมนุษย์ ได้ถูกส่งต่อและเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและบริบทของสถานที่มาตลอด โดยเฉพาะในแถบเอเชียบ้านเรา ดังนั้นพอเราได้ข่าวเกี่ยวกับนิทรรศการใหม่แกะกล่องชื่อว่า ‘สักสี สักศรี: ก่อนรอยแห่งเกียรติจะลบเลือน’ จัดโดยสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) ร่วมกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไต้หวัน และสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป

เราจึงตัดสินใจแวะไปเยี่ยมชมเผื่อว่าจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับที่มา (และอนาคต) ของศาสตร์นี้บ้างไม่มากก็น้อย

และงานนี้ก็ไม่ทำให้เราผิดหวัง ตั้งแต่ก้าวแรกในนิทรรศการเราได้ถูกล้อมไปด้วยบรรยากาศต้องมนตร์ ทั้งตัวอักษรและสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธ์จำนวนนับไม่ถ้วนถูกห้อยระโยงด้วยสายสิญจน์สีขาว พาดไปมาบนเพดาน อีกทั้งหุ่นขนาดเท่าตัวคนและงานศิลปะอื่นๆ ถูกนำมาจัดแสดงเพื่อร้อยเรียง บอกเล่า มรดกทางวัฒนธรรมในการสักของกลุ่มชาติพันธ์ชาวไท่หย่า (Atayal), ชาวไผวัน (Paiwan) จากไต้หวัน และชาวล้านนาไทย ที่แม้จะอยู่คนละพื้นถิ่นแต่รอยสักของพวกเขากลับเล่าเรื่องราวที่มีประเด็นคล้ายคลึงกันอย่างไม่น่าเชื่อ

เริ่มจากโซนสีแดงที่พูดถึงฝั่งไต้หวันกันก่อน โซนนี้จะเปิดเรื่องอย่างชัดเจนว่า การสักในทั้ง 2 กลุ่มชาติพันธุ์ที่เลือกมานำเสนอนั้นมีความหมายเดียวกันคือ การสื่อถึง ‘ความภูมิใจและเกียรติยศ’ โดยชาวไท่หย่าซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของไต้หวันจะมีเอกลักษณ์ด้วยการสักหน้าเพื่อเป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงความสามารถ ก่อนที่จะได้รับการสักหน้านั้น เพศชายจะต้องได้รับการยอมรับว่ามีความกล้าหาญ และเพศหญิงจะต้องได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ถักทอและทำการเกษตรเก่งเสียก่อน ตามตำนานไท่หย่าเชื่อว่าผู้ที่มีรอยสักบนใบหน้าเท่านั้นที่จะข้ามสะพานแห่งสายรุ้งเพื่อไปพบบรรพบุรุษหลังความตายได้ ส่วนชาวไผวันซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของไต้หวันจะสักบริเวณลำตัวของเพศชายและมือของเพศหญิง เพื่อเป็นเครื่องแสดงออกถึงสถานะทางสังคมและความรับผิดชอบ โดยผู้ที่จะสามารถสักได้นั้นจะต้องเป็นชนชั้นสูงของเผ่าเท่านั้น

ขนบธรรมเนียมกลุ่มผนวกกับคติความเชื่อทางศาสนาของกลุ่มชาติพันธุ์ทำให้การสักไม่ใช่เพื่อสุนทรียะเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์และความสัมพันธ์ทางสังคม ที่ต้องได้รับอนุญาตหรือการยอมรับในกลุ่มก่อนจะสักลาย

นอกจากภาพถ่ายโบราณแล้ว เราจะสังเกตเห็นว่าภัณฑารักษ์ของไต้หวันเลือกที่จะใช้ศิลปะร่วมสมัยในการถ่ายทอดเรื่องราวอย่างมีนัย ทั้งเซตภาพวาดรอยสักบนใบหน้าผู้คน โดยอันลี่ เก่ยนู่ ที่ยืมมาจัดแสดงจาก National Taiwan Museum of Fine Arts, รูปวาดรอยสักที่ถูกลดทอนเป็นลายเส้นมินิมอล โดยซ่งไห่หัว, ประติมากรรมไม้แกะสลัก โดยสตูดิโอ อิคินุ, ผ้าทอรูปใบหน้าหญิงชาวเผ่าโดยโหยวหม่า ต๋าลู่, หรือแม้กระทั้งตัวแอนิเมชั่นที่เล่าเรื่องความเชื่อก็ถูกวาดออกมาเป็นกราฟิกสวยงาม เข้าใจง่าย สื่อถึงเรื่องราวการฟื้นฟูประเพณีดั้งเดิมในศตวรรษที่ 21 ได้ดีทีเดียว

ส่วนฝั่งของบ้านเราก็ไม่น้อยหน้า ในโซนสีดำของประเทศไทยนั้นเล่าย้อนไปถึงอดีตที่การสักมีเหตุมีผลมากกว่าเพียงเพื่อความสวยงามเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นทั้งสักยันต์, เมตตามหานิยม, สักเลก (หายไปจากสังคมไทยเมื่อมีการตรากฎหมายขึ้นมาทดแทน), หรือแม้กระทั้งรัฐ ส่วนกลางก็เคยจำแนกชาติพันธุ์ตามลักษณะการสัก สมัยก่อนคนสยามเรียกคนที่อยู่ทางภาคเหนือและภาคอีสานรวมกันว่า ‘ลาว’ โดย หากเป็นคนที่อยู่แถบอาณาจักรล้านช้างเดิมและภาคอีสานของไทยจะเรียกว่า ‘ลาวพุงขาว’ เพราะนิยมสักตั้งแต่โคนขาลงไป ไม่สักที่หน้าท้องหรือเอว ส่วนคนล้านนาหรือคนเมืองสักตั้งแต่ช่วงหน้าท้องยาวไปถึงขา จึงเรียกว่า ‘ลาวพุงดำ’ ซึ่งในนิทรรศการนี้จะมุ่งเน้นเรื่องราววัฒนธรรม ‘สักขาลาย’ ของชาวล้านนานี่เอง

เราจะได้เห็นลักษณะการสักที่ต่างกัน แสดงถึงความกล้าหาญ ความเป็นลูกผู้ชาย และความอดทนต่อความเจ็บปวด ผ่านลวดลายสัตว์หิมพานต์ตามคติความเชื่อจากศาสนาพุทธและฮินดู เช่น หนู นกกระจาบ แร้ง สิงโต ค้างคาว ชะมด ราชสีห์ นกกาบบัว เสือ ช้าง ลิง และหนุมาน นอกจากนี้ยังมีลวดลายที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน เช่น ลายเมฆ ตัวมอมหรือสิงโต อย่างไรก็ตาม การสักขาลายถือเป็นการสักตามจารีตประเพณีและขนบธรรมเนียมกลุ่ม ไม่มีการใช้มนตร์คาถาประกอบพิธีกรรมการสัก แต่จะใช้เป็น ‘การตั้งขันครู’ เพื่อบูชาครูที่ทำการสักลายให้ และเมื่อสักเสร็จครูสักจะผูกด้ายขาวที่ข้อมือเป็นอันจบพิธีกรรม

ถือเป็นโชคดีของเราที่ในวันเปิดตัวงานนี้ เราได้พบกับบุคคลสำคัญในวงการการสักล้านนาถึง 2 คน หนึ่งคือพระอาจารย์ศุภชัย ชยสุโภ จากวัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่  และศราวุธ แววงาม หรือ ‘ช่างอ๊อด’ โดยทั้งคู่เล่าเป็นเสียงเดียวกันว่า สำหรับชาวล้านนาแล้วการสักขาลายเคยเป็นประเพณีที่เฟื่องฟูมาก ชายหนุ่มทุกคนจะต้องสัก เริ่มตั้งแต่อายุ 13-17 ปี ใช้เวลาประมาณ 1 วัน (6 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น) ต่อหนึ่งขา บางชุมชนก็สูบฝิ่นขณะถูกสักเพื่อลดทอนความเจ็บปวด เป็นเสมือนพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ความเป็นชายอันสมบูรณ์ ขนาดที่ว่าหากไม่ได้สักก็มักจะโดนผู้ชายในกลุ่มล้อ โดนไล่ไปอาบน้ำที่อื่น หรือขอเมียแต่งงานไม่ได้ “แต่สมัยนี้เปลี่ยนไปแล้ว” ช่างอ๊อดเล่า “คนนิยมประยุกต์ ลดทอนรอยสักดั้งเดิมเพื่อความสวยงามมากกว่า” พระอาจารย์ศุภชัยเสริมอีกด้วยว่า นอกจากลายแล้ว ตัวหมึกเองก็เปลี่ยนไปเช่นกัน เพราะสมัยก่อนหมึกสักจะนิยมใช้เขม่าไฟ (หมิ่น) ผสมกับดีหมี ดีงู หรือดีวัว ซึ่งจะช่วยให้หมึกเข้มชัดและซึมเข้าผิวได้ดี แต่เดี๋ยวนี้ดีสัตว์หายากและราคาแพงจึงเปลี่ยนมาเป็นหมึกจีน หมึกเคมี แทนเสียมาก

ในห้องที่ 2 เราจะข้ามพ้นที่มาหรือประวัติศาสตร์เข้าสู่การสืบสานตำนานที่ค่อยๆ จางหายไปในโลกใหม่ ผ่านภาพยนตร์ 3 เรื่องคือ หนึ่ง ‘ความทรงจำสีรุ้ง’ สารคดีโดยฝูไน่ หว่าต้น ผู้บันทึกความทรงจำเกี่ยวกับขั้นตอนการสักบนใบหน้าของผู้เฒ่าชาวไท่หย่า สอง ‘รอยสักแห่งศักดิ์ศรี : ความทรงจำแห่งรอยสักบนมือของชาวไผวันในไหลอี้’ รวบรวมโดยอันลู่ซัน ปาหลี่ฝู่เล่อ และสาม ‘ภาพแห่งความฝัน : เรื่องราวแห่งศิลปินช่างสักซ่งไห่หัว’ เป็นเรื่องเล่าของช่างสักยุคใหม่ที่กลับไปเรียนรู้รากเหง้าของตัวเอง นอกจากนี้ถ้าใครมาเยี่ยมชมในบางวันพิเศษก็จะได้ชมการสาธิตการสักแบบโบราณในห้องนี้ด้วยเช่นกัน (ไม่เหมาะสำหรับคนขวัญอ่อนและกลัวเลือด)

ส่วนใครใจไม่ถึง (แบบเรา) ก็ขอเชิญเดินต่อไปห้องสุดท้ายที่มีกิจกรรมใบงานและเกมประกอบนิทรรศการให้เล่น โดยกิจกรรมโปรดของเราเป็นการเล่มปั๊มรอยสักชั่วคราวลงบนมือ แถมมีคู่มืออธิบายความเป็นมาของแต่ละลายให้เข้าใจมากขึ้นด้วย อย่างบนมือเรานี้เป็น ‘ลายงู’ สื่อถึงความเชื่อของชาวไผวันที่ว่างูเป็นบรรพบุรุษของพวกเขา ผสมกับ ‘ลายเลข 8’ หรือลายสากที่ข้อนิ้ว ตั้งชื่อตามครกและสากที่ใช้ในการบดข้าวฟ่าง

สรุปว่าแม้จะเป็นนิทรรศการเล็กๆ แค่ 3 ห้อง แต่สำหรับคนที่โปรดปรานรอยสักทั้งในฐานะลวดลายที่มีความสวยงามและร่องรอยของวัฒนธรรม บอกเลยว่าห้ามพลาด เพราะเราเชื่อว่าคุณจะต้องกลับบ้านไปแล้วรู้สึกอิ่มเอมมากๆ แน่นอน


อ้อ! นิทรรศการนี้จัดอยู่ที่มิวเซียมสยามถึงวันที่ 27 ตุลาคมนี้เท่านั้นนะ ใครอยากได้รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถไปดูได้ในเพจ Museum Siamเลยจ้า

AUTHOR