Under the mango tree นิทรรศการ ‘ความเจ็บปวด เคว้งคว้าง แต่งดงาม’ ของแหลม 25hours

Highlights

  • คุยกับ แหลมสมพล รุ่งพาณิชย์ ถึงเบื้องลึกเบื้องหลัง Under the mango tree นิทรรศการศิลปะครั้งแรกในชีวิตที่จัดแสดงตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม ยาวไปจนถึงวันพฤหัสที่ 29 สิงหาคมนี้ ที่ Yelo House
  • หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่านักร้องเจ้าของเสียงแหลมทรงพลังคนนี้เป็นอดีตนักศึกษาจิตรกรรม เขาหลงใหลการถ่ายทอดอารมณ์ผ่านชิ้นงานศิลปะ (abstract expressionism) นิทรรศการนี้คือการเติมเต็มความฝันในวันวานของแหลมอย่างไม่ต้องสงสัย
  • เขาใช้เวลา 1 ปีเต็มในการสร้างสรรค์ผลงาน 179 ชิ้น การใช้ศิลปะเพื่อบำบัดจิตใจที่เคยวุ่นวาย กระทั่งเขากลับมาภาคภูมิใจกับตัวเองได้อีกครั้งหนึ่ง แถมยังได้กลับไปทบทวนชีวิตสิบกว่าปีในวงการดนตรี นำไปสู่การค้นพบความหมายของคำว่าอิสรภาพ ที่หมายถึงการปล่อยวางนั่นเอง

เราบอกคนรอบข้างเสมอว่าข้อดีที่เจ๋งและสนุกที่สุดของการปักฐานทำงานในแวดวงสื่อคือการมีโอกาสพบเจอคนที่ตัวเองชื่นชอบโดยเอาการงานมาเป็นเครื่องมือ 

บ้างชื่นชอบเพราะผลงาน บ้างชื่นชอบเพราะตัวตนและความคิด กับ แหลม–สมพล รุ่งพาณิชย์ นักร้องและนักแต่งเพลงจากวงดนตรีอย่าง 25hours แทบไม่ต้องสงสัยว่าเราชื่นชมชายที่ยืนเบื้องหน้าตอนนี้เพราะอะไร

แต่โมงยามนี้ เราไม่ได้นัดกับเจ้าตัวเพื่อคุยเรื่องบทเพลงหลากความหมายที่ทำเอาเราบ้างยิ้มบ้างเสียน้ำตาเหล่านั้นหรอก เพราะในวินาทีแห่งการโปรโมต Night In Heaven อัลบั้มเต็มลำดับที่ 4 ของวง แหลมทุ่มเทแรงกายแรงใจที่เหลือจากการทัวร์คอนเสิร์ต เล่าเรื่องของตัวเองผ่านสีสัน พู่กัน และแผ่นกระดาษ จนออกมาเป็นนิทรรศการศิลปะเล็กๆ ครั้งแรกของชีวิต ตั้งชื่อน่ารักๆ ที่ชวนนึกถึงต้นไม้หน้าบ้านตัวเองว่า Under the mango tree

อะไรคือเรื่องราวที่อยู่ใต้ต้นมะม่วง นี่คือความสงสัยที่เราพกมาถามแหลมในวันนี้

“คุณจะเรียกมันว่าเป็นงานแอ็บสแตรกท์ งานเพนต์ติ้ง หรืองานคอลลาจก็ได้ แต่เราเรียกมันว่าบันทึก เป็นไดอารีส่วนตัวของเรา”

ได้ยินแบบนี้แล้วน่าตื่นเต้นยิ่งกว่าฟังเจ้าตัวร้องเพลงให้ฟังใกล้ๆ เสียอีก คุณว่าไหม

 

01

ภาพการขึ้นเวทีคอนเสิร์ต เสียงร้องแหลมๆ ที่ทรงพลัง การแต่งตัวที่เป็นเอกลักษณ์ เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้คงทำให้ใครหลายคนรู้จักแหลมในฐานะฟรอนต์แมนวงดนตรีแนวหน้า แต่กับแฟนคลับ เรารู้ดีว่านักร้องผู้เป็นขวัญใจเราคนนี้คืออดีตนักเรียนศิลปะ สาขาจิตรกรรม

“คนไม่ค่อยรู้ว่าเราจบศิลปะ หลังจากทำทีสิสจบก็แทบไม่ได้ทำงานศิลปะเลย เวลาที่ผ่านมาเราคิดถึงและอยากกลับมาเขียนรูปตลอดแหละ แต่เพราะการร้องเพลงมันเป็นอีกความรักความชอบหนึ่งที่เราตั้งใจอยากจะทำมันให้ได้ มันมีความจำเป็น แล้วมันก็เรียกร้องการใช้พลังและเวลาพอสมควร 

“จริงๆ ก็มีวาดเป๊าะๆ แป๊ะๆ บ้าง แต่พอจะกลับมาวาดจริงจังกลายเป็นว่าเรากลัว เหมือนเราทิ้งมันไปนานแล้ว จะลงมือวาดก็คิดมากอีกว่าวาดอะไรดีวะ มันต้องมีแนวคิดอะไรหรือเปล่า ไม่ทำสักทีเพราะกลัวโง่มั้ง กลัวผลงานตัวเองไม่มีอะไรเลย ไม่อยากเห็นงานตัวเองเป็นแบบนั้น”

เราแอบมองลิสต์รายชื่อภาพวาดบนแผ่นกระดาษที่เจ้าตัวถือ 179 คือจำนวนงานที่เขาหยิบมาจัดแสดง เทียบกับระยะเวลาหนึ่งปีที่ใช้ไปกับการวาดขึ้นมา อะไรกันที่ทำให้เขาลุกขึ้นมาวาดมันอย่างบ้าคลั่งได้ขนาดนี้

“มันมีช่วงหนึ่งที่เราเคว้งคว้าง ชีวิตเต็มไปด้วยความผิดหวัง เพราะเราเอาชีวิตตัวเองไปเชื่อมโยงกับคนนั้นคนนี้ เอาใจไปฝากกับสิ่งนู้นสิ่งนี้ พอเวลาผ่านไป บางอย่างมันไม่เหมือนเดิม ความทุกข์มันก็เข้ามาในใจเรา มีช่วงหนึ่งที่เรารู้สึกว่าไม่ไหว เราเปิดสมุดเล่มหนึ่ง วาดวงกลมวนๆๆ อยู่อย่างนั้น กลายเป็นว่า เฮ้ย โอเคว่ะ วนๆๆ อีก รู้สึกดีขึ้น เลยเริ่มลงมือวาดบนกระดาษออกมาเป็นภาพกลุ่มนั้น” เราเดินตามแหลมไปดูภาพที่ว่า

 

02

เขาค้นพบความรู้สึกมั่นคงในช่วงเวลาที่ตัวเองวาดภาพ และเรียกมันว่าโมงยามของการได้อยู่กับปัจจุบัน หลังจากนั้นเขาก็เริ่มทำมันทุกวัน นานวันเข้าชิ้นงานก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น จากหลักหน่วยเป็นหลักสิบ จากหลักสิบเป็นหลักร้อย 

ในทางเดียวกันเทคนิคการแต่งแต้มสีสันก็แพรวพราวและได้ทดลองสิ่งใหม่ๆ มากขึ้น วิธีการเล่าเรื่องก็เปลี่ยนจากการระบายอารมณ์อย่างโดดๆ แต่เป็นการใส่ไอเดีย ใส่ความประทับใจที่เกิดจากสิ่งรอบตัว ใส่ความสนใจส่วนตัวที่เปลี่ยนไปตามช่วงเวลาต่างๆ 

“จากที่เคยรู้สึกแย่ รู้สึกว่าตัวเองไม่เหลืออะไรเลย พอเราทำงานด้วยมือตัวเองมาถึงจุดหนึ่ง มันทำให้เรารู้สึกภาคภูมิใจกับตัวเองได้อีกครั้งว่าคนคนหนึ่งทำอะไรได้มากขนาดนี้เลยเหรอ เรารู้สึกว่าภายในเราดีขึ้น งานสวยขึ้น มีจังหวะจะโคน มีการเรียบเรียงที่ดี อาจเพราะว่าเราทำงานมาเรื่อยๆ งานมันเลยพัฒนา ตัวเราเองก็ได้เรียนรู้ไปด้วย” 

การเรียนรู้ที่เขาพูดถึงไม่ได้หมายความเพียงแต่การสร้างสรรค์ชิ้นงานเท่านั้น “เป็นหนึ่งปีแห่งการทบทวนตัวเอง ทำนองนี้ไหม” เรายิงความสงสัยไปยังคนตรงหน้า

“ใช่ มันคือการกลับไปทบทวนตัวเอง กลับไปมองตัวเองทุกวัน ทุกวัน แล้วก็เติมเต็มสิ่งที่มันแหว่งหรือขาดหายไป แล้วมันทำให้เราค้นพบคำว่าอิสรภาพ” เราขมวดคิ้ว ชายตรงหน้าไม่ปล่อยให้เราสงสัยถึงที่มาที่ไปของมัน

“มีอยู่วันหนึ่ง เรานอนจมๆ อยู่บนโซฟา ตอนนั้นเราทุกข์เหลือเกิน จู่ๆ มันมีภาพหนึ่งเกิดขึ้นในหัว” เขาเปิดโทรศัพท์มือถือ ค้นหาภาพลายเส้นภาพนั้น ก่อนจะยื่นภาพที่คล้ายกับคนยืนกางแขนให้เราดู แล้วเล่าต่อว่าวินาทีนั้นเขารีบลนบันทึกมันลงกระดาษเหมือนนักแต่งเพลงที่จู่ๆ ท่อนฮุกท่อนฮิตลอยเข้ามาในหัวยังไงยังงั้น

“จงใช้ชีวิตให้เป็นอิสระดั่งต้นไม้ใหญ่ที่นิ่งสงบต่อการจากมาและจากไปของนกน้อยผู้ผ่านทาง” เขาพูดขึ้นมาเหมือนอ่านบทกวี “ตอนค้นพบความรู้สึกนี้มันเหมือนเราตื่น อิสระคือการไม่ยึดติด มันไม่ใช่การไปไหนมาไหน แต่มันคือการไม่ยึดกับอะไรเลย เหมือนต้นมะม่วงหน้าบ้านที่เรามองมันทุกวัน นกจะมา นกจะไป ใครจะมาหลบแดดก็ได้ เขาก็ไม่ว่าอะไร เป็นผู้ให้อย่างเดียว

“ถ้าเราเป็นความสุขของเขา เขาก็อยู่กับเรา แต่ถ้าเราไม่ได้เป็นความสุขของเขาแล้ว เขาก็อยู่กับต้นใหม่ไป ที่เราทุกข์อาจเป็นเพราะเราหรือเปล่าที่ยังอาลัยอาวรณ์กับสิ่งเหล่านั้น ทุกวันนี้เรายังเป็นมนุษย์ที่เรียนรู้กับมันอยู่นะ อิสระที่แท้จริงคงเป็นแบบนี้ล่ะมั้ง”

“ในที่สุดก็ได้รู้สักทีว่าทำไมต้องเป็นต้นมะม่วง” เราสารภาพกับแหลมเมื่อความสงสัยแรกถูกคลี่คลาย

“เวลาที่ย้อนกลับไปมองงานทุกชิ้น เราเรียกมันว่าเป็นบันทึกห้วงอารมณ์ของคนคนหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง ใต้ต้นมะม่วงต้นหนึ่ง จริงๆ ต้นมะม่วงเป็นสัญลักษณ์ของการกลับบ้านของเรานะ กลับไปอยู่กับคนที่รัก กลับไปสู่การพินิจพิเคราะห์ธรรมชาติ ชีวิตของต้นไม้ต้นนี้สอนอะไรเรามาตลอด มันมีเกิด มีผลิดอก มีเบ่งบาน มีเหี่ยว มีความสุขความทุกข์ เหมือนชีวิตคนเลย”

เขาตั้งใจให้ผลงานลำดับสุดท้ายใช้ชื่อที่ล้อเลียนกับนิทรรศการว่า It’s not a mango tree แหลมเล่าพลางหัวเราะ

 

03

เขาเชื่อว่าหนึ่งในหน้าที่ของงานศิลปะคือการถูกนำเสนอสู่ผู้คน นี่คือเหตุผลที่เขายอมเปลือยความคิดและความรู้สึกของตัวเองต่อหน้าคนอื่น บางชิ้นเข้าใจได้ไม่ยาก บางชิ้นก็ยากเหลือเกินที่จะหยั่งถึงเพราะมันเริ่มจากสิ่งที่เป็นนามธรรมมากๆ อดีตนักเรียนศิลปะเลือกคำว่า abstract expression ให้กับงานทั้งหมดนี้

“เราไม่ได้ยึดติดว่างานมันต้องเป็นอะไร เรารู้แค่ว่าเราซื่อตรง ณ วันนั้น ณ ขณะนั้น ตอนวาดไม่ได้มีภาพอะไรในหัวเลยนะ มันมีแค่อารมณ์ที่เราอยากระบายมันออกไป เพื่อให้มีงานให้ตัวเองทำ ภาษาพระคงหมายถึงหางานให้จิตทำ ฟุ้งซ่านก็ทำ อะไรอย่างนั้น

“ตอนนั้นเราสิ้นหวังกับการอยู่กับทุกเรื่อง อยู่ตรงไหนเราก็ไม่โอเค แต่ขณะเดียวกันเราก็ออกไปเล่นดนตรีทุกคืนเลยนะ ไม่มีใครรู้ว่าเราแย่ เพราะงั้นชีวิตตอนกลางวันเราก็คือไอ้นี่แหละ เรารู้สึกดีขึ้นเพราะได้ทำงานพวกนี้ จริงๆ แล้วตัวงานไม่ใช่ผลลัพธ์ที่สูงสุดสำหรับเรา แต่มันเป็นผลลัพธ์ทางใจที่เกิดขึ้นเพราะงานต่างหาก”

แหลมเล่าต่อว่าเขาอยากให้ตัวเองเป็นคนคนเดียวกับคนที่ร้องเพลงบนเวที คนที่ไม่ยึดติดและปล่อยทุกอย่าง go on ให้ได้ งานศิลปะร้อยกว่าชิ้นที่ใช้เวลาเกือบหนึ่งปีในการสร้างสรรค์ช่วยให้เขาเข้าใกล้ความตั้งใจที่ว่า

“จริงๆ ที่ทำนิทรรศการนี้ขึ้นมามันเหมือนการทำตามความฝันสมัยเรียนที่เคยฝันว่าสักวันหนึ่งเราอยากทำงานอาร์ต อยากเป็นจิตรกร”

แหลมเดินนำหน้า พาดูชิ้นงานคอลลาจสีสะดุดตา มันคือภาพปลาตัวใหญ่ที่ถูดตัดแปะด้วยเศษกระดาษน้อยใหญ่ พร้อมกับลายเส้นวาดยึกยักที่เป็นสัญลักษณ์ของร่องรอยความเจ็บปวด

Scarface คือชื่อผลงานคอลลาจที่ว่า

“เราตัดกระดาษปลาตัวนี้ให้หลานเพราะหลานบอกว่าอยากได้ปลาไปลอยกระทง” เขายิ้มเมื่อพูดถึงคำขอของเด็กตัวเล็กๆ “แต่หลานบอก เจ๊กแหลม ปลามันตัวใหญ่ไป เราเลยตัดปลาตัวเล็กตัวใหม่เพื่อให้ใส่ในกระทงได้ พอลอยกระทงเสร็จก็กลับมาดู เราทำอะไรกับปลาตัวนี้ดี พอดีตอนนั้นเราหัวแตก ก็เลยคิดว่ามันคงเป็นปลาที่หัวแตก เป็นปลาที่บาดแผลเต็มไปหมดเหมือนตัวเรา นั่นเป็นรูปเรากับแฟนเก่าเราแหละ เขาเองก็มีบาดแผลเหมือนกัน” เขาชวนเราสังเกตมุมบนของชิ้นงาน หลังพูดถึงรักครั้งเก่า เขาเงียบไปพักใหญ่ “จุดร่วมของทุกๆ งานคือเรื่องความรัก” เขาเอ่ยประโยคที่เพิ่งนึกขึ้นได้

“อารมณ์หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นมันคือผลกระทบที่เกิดขึ้นจากคำว่าความรัก ไม่ใช่ความรักแบบคนรักอย่างเดียว มันคือความรักที่เรามีอยู่ในทุกอย่างในทุกความสัมพันธ์ ทุกสิ่งในมันเฮิร์ตเราหมดเลย ยกเว้นคนในครอบครัวเรา”

งานหลายชิ้นของแหลมเกิดขึ้นบนกระดาษวาดรูปเก่าเก็บที่มีอายุมากกว่ายี่สิบปี เฉกเช่นเดียวกัน เขาเรียกมันว่าเป็นกระดาษที่มาจากความรัก เพราะมันถูกส่งต่อมาจากอาจารย์ศิลปะที่เขานับถือ และสิ่งที่ชัดเจนในงานลำดับหลังๆ คือเขาถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับคนที่ตัวเองอยากขอบคุณ เห็นได้จากเซตพอร์เทรตเหล่าสมาชิกในครอบครัว หรือชิ้นงาน Element of love ที่เขาเอาภาพวาดฝีมือของหลานๆ มาผสมกับฝีมือของตัวเอง เป็นความตั้งใจที่อยากเก็บบันทึกช่วงเวลาแห่งความสุขที่ได้เล่นกับหลานๆ เขาย้ำอย่างนั้น

 

04

“ทุกวันนี้ยังมีความสุขกับการร้องเพลงดีอยู่ใช่ไหม” เราทิ้งคำถามสุดท้ายต่อหน้ารูปวาดใบใหญ่สีสันสดใส

“สุขเหมือนเดิม” เขานิ่งเหมือนกำลังใช้ความคิด

“จริงๆ ความสุขของการเป็นนักดนตรีคือการเล่นดนตรี การทำเพลง แต่ว่าปัจจัยอย่างอื่น เช่น คนที่เขาอาจจะไม่ได้เข้าใจเรามากพอ หรือกระบวนการนู่นนี่นั่นที่มีปัญหาบ้าง แต่ลำพังการทำงานเพลงเราแทบไม่มีปัญหาเลย เราอยากไปเล่นทุกวันเท่าที่ร่างกายไหว เล่นอะไรยี่สิบวันต่อๆ กันแบบนี้ เมื่อก่อนสบายนะ แต่เดี๋ยวนี้เรารู้สึกว่าไม่ต้องขนาดนั้นก็ได้มั้ง” เขายิ้มให้วัยสามสิบกว่าของตัวเอง

“ชีวิตของแหลมไม่ได้มีแค่บนเวที เราอยากอยู่บ้านมากขึ้น อยากมีชีวิตธรรมดาๆ ง่ายๆ ชีวิตที่จัดการได้ อยู่กับหลาน อยู่กับครอบครัว ปลูกต้นไม้ ไปกินข้าว ดูหนังกับแฟนบ้างไหม ถ้ามีนะ (หัวเราะ) ชีวิตมันต้องบาลานซ์ระหว่างงานและชีวิตปกตินะ”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

อารมณ์นิยม

ผู้หญิงห้าวที่รักการเดินทางไปในที่ลำบากๆ ชอบมองดูภูเขาหิมะเพราะเดินขึ้นเขาไม่ไหว รักการถ่ายภาพผู้คน กำลังอินกับฟิล์มและการดูนิทรรศการดีๆ