นิทรรศการภาพถ่ายผี : จะเป็นอย่างไรเมื่อช่างภาพสตรีทถ่ายภาพติดผีที่แอบแฝงในศาสนาไว้ได้

Highlights

  • 'หนิง–อัครา นักทำนา' คือช่างภาพสตรีทไทย เจ้าของภาพถ่ายจิกกัดประเด็นสังคมอย่างตลกร้าย ผลงานของเขาที่ผ่านมาได้รับการยอมรับบนเวทีประกวดระดับนานาชาติหลากหลายเวที 
  • ในฐานะพุทธศาสนิกชนที่ศรัทธาต่อคำสอนของศาสนาอย่างมาก เขาจึงหยิบประเด็นพระทุจริตเงินวัดมานำเสนอผ่านภาพถ่ายในนิทรรศการครั้งที่สองนี้ โดยกระโดดออกจากเซฟโซนการเป็นช่างภาพสตรีท แล้วหันมาใช้แนวทางคอนเซปต์ชวลเพื่อช่วยสื่อสารประเด็นให้ได้มากที่สุด 
  • นิทรรศการภาพถ่ายผี จัดแสดงระหว่างวันที่ 6 กรกฎาคม - 31 สิงหาคม 2562 ที่คัดมันดู โฟโต้ แกลเลอรี่

ความสยองขวัญได้มาอย่างไร ด้วยฉากอนุบาลเช่นนี้?

นี่คือประโยคคำถามจากงานนิทรรศการภาพถ่ายล่าสุดของ หนิง–อัครา นักทำนา ชายที่มีอาชีพเป็นนักวิศวกรซอฟต์แวร์ควบคู่ไปกับการเป็นช่างภาพสตรีท ผลงานของเขาได้รับการยอมรับจากเวทีประกวดภาพถ่ายสตรีทนานาชาติอย่าง Miami Street Photography 2013, Singapore Photo Festival 2016, Photo Bangkok Festival 2015-2018 และเขายังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Street Photo Thailand  

ที่ผ่านมาหนิงสร้างสรรค์งานภาพถ่ายสตรีทที่บอกเล่าเรื่องราวสังคมมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ Landlords ที่พูดถึงประเด็นการวางสิ่งของตามทางเท้า หรือจะเป็นนิทรรศการภาพถ่าย Sign ซีรีส์ภาพถ่ายต้นไม้รูปร่างคล้ายปีศาจเพื่อพูดถึงปัญหาการตัดต้นไม้ และจากผลงานครั้งนั้นทำให้ซีนภาพถ่ายชุด Sign ของเขาได้รับเลือกให้อยู่ใน MoMA Library ของพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ชื่อดังแห่งนิวยอร์ก

ในปีนี้หนิงกลับมาแสดงงานภาพถ่ายอีกครั้ง โดยยังคงหยิบเรื่องสังคมมาพูดเช่นเดิม แต่กระโดดออกจากการเป็นช่างภาพสตรีทมาถ่ายทอดประเด็นศาสนาด้วยภาพถ่ายคอนเซปต์ชวล 

นิทรรศการครั้งนี้มีชื่อว่า ‘ผี’ พูดถึงประเด็นพระทุจริตเงินตามข่าวโด่งดังเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลต่อความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ รวมถึงช่างภาพสตรีทคนนี้ เมื่อความเลื่อมใสต่อศาสนากำลังถูกหลอกให้แสดงความศรัทธาผ่านเงินทอง เขาจึงตั้งคำถามว่าบุคคลที่ห่มผ้าเหลืองและกระทำความผิดเช่นนี้คือพระหรือผีกันแน่ และนั่นทำให้คอนเซปต์งานคือการที่กล้องสามารถถ่ายติดผีที่เข้ามาแอบแฝงในพุทธศาสนาได้ 

ถ้าอยากรู้ว่ากล้องของเขาจะถ่ายติดอะไรบ้าง ตามไปดูเบื้องหลังแนวคิดการถ่ายภาพผีของเขากัน

ทำไมคุณถึงเลือกหยิบประเด็นเรื่องการกระทำทุจริตของพระมาเป็นคอนเซปต์การถ่ายภาพครั้งนี้

หนิง: ผมเป็นคนดูข่าว ทั้งจากอินเทอร์เน็ตและหนังสือพิมพ์ แล้วตอนนั้นมีข่าวเงินทอนวัด ข่าวเณรคำ เราก็คิดว่าเกิดอะไรขึ้นวะ เราไหว้พระทุกวัน รู้สึกผิดหวังเหมือนโดนหลอก เพราะผมเป็นคนที่นับถือศาสนาพุทธ ชื่นชอบคำสอนของพระดีๆ หลายรูปมาก อย่างท่านพุทธทาสภิกขุ พระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) หลวงพ่อชา ท่านสร้างคำสอนที่มีประโยชน์มากๆ แต่พอมาเจอข่าวการโกงเงิน เราก็ตั้งคำถามกับพระในข่าวว่าทำไมคนเหล่านี้มาหาประโยชน์ มาหลอกเรา เลยเป็นจุดเริ่มต้นของคำถามว่า เฮ้ย นี่พระหรือผีวะ (หัวเราะ)

 

คำถามนั้นเลยเป็นที่มาของการถ่ายภาพติดผี

หนิง: ใช่ครับ ผมคิดว่าการหลอกมันเป็นหน้าที่ของผี เพราะผีมีหน้าที่ตอกบัตรเข้างานตอนกลางคืนแล้วมาหลอกเรา (หัวเราะ) แต่ครั้งนี้ผีมันเปลี่ยนวิธีมาแอบแฝงในพุทธศาสนา กลายเป็นพระแล้วหลอกเราแทน เลยรู้สึกว่ามันเป็นคอนเซปต์ที่เรียบง่าย เอามาสร้างเป็นชิ้นงานได้ และยังสามารถให้คนมาช่วยกันคิดระแวดระวัง ช่วยกันดูว่าถ้าเราจะทำบุญกับพระต้องดูดีๆ ไม่ใช่ทำบุญแล้วพระเอาไปซื้อกระเป๋าแบรนด์เนม เครื่องบินเจ็ต ซื้อเรย์แบน

แล้วผมก็เชื่อมโยงกับเรื่องจีวร คือสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าเอาผ้าห่อศพมาย้อมเป็นสีเหลืองเพื่อเป็นจีวร แต่สีคงไม่เหลืองมากเหมือนสมัยนี้ ทีนี้ในงานผมผีเลยมาทวงเอาผ้าคืนเป็นของตัวเองอีกที (หัวเราะ) 

แต่จีวรก็เป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนของศาสนา อาจทำให้คนที่ศรัทธาในพุทธศาสนาไม่สบายใจหรือเปล่า ประเด็นนี้ทำให้การทำงานยากไหม

หนิง: รู้สึกยากเหมือนกัน ตอนทำก็คิดว่าจะดีไหม เราก็มีลูกเมียที่ต้องเลี้ยงดู (หัวเราะ) ผมถามพี่มานิต (มานิต ศรีวานิชภูมิ) ว่ามันจะแรงไหม จะมีปัญหาหรือเปล่า พี่เขาบอกว่า 50/50 ผมก็บอกว่าโอเคครับ ดีนะ 50/50 (หัวเราะ) 

แต่งานนี้ทำมา 1 ปีเต็ม เราค่อยๆ ทำ การทำงานศิลปะที่ค่อยๆ ทำมันคือการยืนยันว่าเราจะต้องทำ เพราะว่าเรามีความคิดเห็นอย่างนี้ เราไม่ได้พูดถึงพุทธศาสนาโดยรวม ซึ่งส่วนใหญ่ 80-90% ดีอยู่แล้ว มีบางจำพวกเข้ามาแอบอิงทำตัวเป็นพระสงฆ์ไม่ดี

 

คุณบอกว่านับถือศาสนาพุทธอย่างมาก แล้วการนำจีวรมาถ่ายภาพอย่างนี้กลัวบาปหรือเปล่า

หนิง: ผมคิดว่ากำลังทำบุญอยู่ คือการส่งเสริมพุทธศานาไม่ได้ทำได้แค่วิธีเดียว ผมคิดว่าการที่เราบอกให้คนระมัดระวังคนที่กำลังจะมาบ่อนทำลายศาสนาก็เป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง ถ้าเราไม่ระแวดระวัง คนพวกนี้ก็จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ 

สำหรับผมจีวรคือวัตถุอย่างหนึ่ง ไม่ได้ยึดติดว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หากเรายึดติดจะกลายเป็นว่าเราสนใจสิ่งที่พระใส่อยู่ ซึ่งคนไม่ดีก็ใส่นะ แล้วเราจะไปกราบไหว้คนไม่ดีที่ใส่จีวรหรอ ดังนั้นส่วนใหญ่ผมจะเน้นคำสอนของศาสนาเป็นหลัก

ประเด็นที่คุณเลือกมานำเสนอค่อนข้างหนัก ทำไมภาพถ่ายถึงแฝงด้วยอารมณ์ขบขัน

หนิง: ผมชอบงานที่มันดูขำขัน อารมณ์ดี แล้วผมมาจากงานภาพถ่ายสตรีท ซึ่งส่วนใหญ่เนื้อหาจะเป็นการเสียดสี ผมเลยเอาจุดเด่นตรงนี้มาใช้ในงานคอนเซปต์ชวลด้วย อีกอย่างคือสตรีทจะไม่มีการจัดฉาก แต่งานครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผมเซตขึ้นมาเลย เอาของใช้ที่อยู่ในบ้าน ของเหลือใช้ของลูกมาช่วย เอามาทำให้มันเกี่ยวเนื่องกับเรื่องต่างๆ 

ตอนถ่ายก็เซตฉากด้านหลังให้เป็นผ้าลายดอก ผ้าสีต่างๆ มีความหมายถึงการยึดติดกับความสวยงามของพระบางรูป ทุกรูปก็พยายามแฝงนัย อย่างรูปฉัตรที่อยู่บนหัวก็ตีความจากเรื่องยศฐาบรรดาศักดิ์ที่พระบางรูปชอบ รูปอุ้มเด็ก หมายถึงพระที่มีความสัมพันธ์จนผู้หญิงท้อง ซึ่งตอนนั้นเป็นข่าวของเณรคำ ภาพนี้ชื่อว่า Father

แล้วในภาพผมใช้เทคนิคสาดแฟลช เป็นแนวคิดจับผิด เหมือนคนกำลังแอบทำอะไรอยู่เงียบๆ แล้วสาดแฟลชไป พรึ่บ! เฮ้ย ทำอะไรอยู่ มันคือการเปิดเผยออกมาว่าท่านแอบทำอะไร ทุกภาพเลยเหมือนจวนเผยความลับออกมา ดังนั้นสีภาพจะสดมากด้วย” 

 

การเปลี่ยนจากการทำงานสตรีทมาเป็นงานคอนเซปต์ชวลมีความแตกต่างหรือความยากหรือเปล่า

หนิง: ผมใช้งานสตรีทมาต่อยอดนะ จริงๆ ผมทำงานคอนเซปต์ชวลมาสักระยะแล้ว โดยใช้งานสตรีทเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดสิ่งต่างๆ เพราะงานสตรีททุกวันนี้มันยากในการนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ถ้าถ่ายตามถนนทั่วไป ถ่ายแก๊กมุกตลก มันจะเริ่มเกิดความแตกต่างยาก มันต้องวนไปวนมา ซึ่งมันมีรูปที่ดีแหละ แต่ก็ยังวนๆ อยู่ตรงนั้น 

ผมเลยพยายามออกมาจากเซฟโซนตลอด คิดว่าเราจะทำยังไงให้งานมันพัฒนาขึ้น งานชิ้นใหม่เลยขยับออกจากสตรีทไปเลย แต่ก็ลองเอาความเฮฮาขำขันของสตรีทมาเป็นงานคอนเซปต์ชวลที่มีการเซตขึ้นมาจนออกมาเป็นงานชิ้นนี้ ก็ยังเก็บความเหน็บแนมเล็กๆ น้อยๆ 

แล้วผมก็พยายามอย่างเต็มที่ที่จะให้คนรับสารได้เข้าใจในสิ่งที่ผมจะสื่อสาร และทำงานยังไงให้น่าสนใจมากขึ้นไปอีก ให้แตกต่างไปเลย คือมาดูงานเราแล้ว เฮ้ย งานของพี่หนิงเหรอวะ ทำไมมันดูเซตอย่างนี้ (หัวเราะ) อยากให้มันมีความเซอร์ไพรส์ตลอดเวลาด้วย”

อย่างนี้จะเลิกถ่ายงานสตรีทไปเลยหรือเปล่า

หนิง: ไม่ครับ ยังถ่ายอยู่ตลอด (ตอบทันที) แต่อาจจะน้อยลงบ้างเพราะมีลูก แต่จริงๆ ผมคิดว่าจะสื่อสารอะไรออกไป เราเอาคอนเซปต์ตั้ง แล้วก็มาดูว่าอยากถ่ายสตรีทกับคอนเซปต์นี้ไหม หรือมันถ่ายไม่ได้ อย่างคอนเซปต์คนนี้ เราพูดถึงเรื่องพุทธศาสนาแล้วใช้วิธีการถ่ายแบบสตรีทนี่ยากมาก จะถ่ายพระที่กำลังเดินอยู่เหรอ ก็ไม่ใช่มั้ง (หัวเราะ) เราก็เลยคิดว่า เออ งั้นเซตเลย 

 

ที่ผ่านมาคุณชอบสื่อสารประเด็นสังคมในงานเยอะเหมือนกัน ทำไมถึงเลือกเรื่องเหล่านี้มาถ่ายทอดผ่านภาพถ่าย

หนิง: ผมชอบดูข่าวแล้วรู้สึกว่ามันแฝงไปด้วยความตลกร้าย บางคนอาจจะมองว่าประเทศไทยสิ้นหวังแล้ว จริงๆ ผมคิดว่าเราสามารถมองให้มันดูเป็นเรื่องขำๆ ได้นะ แต่ไม่ได้ขำอย่างเดียว เราต้องเอามาช่วยกันพัฒนา ช่วยกันสะท้อนว่าเราจะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาได้อย่างไร อย่างโปรเจกต์ Sign ที่ถ่ายภาพต้นไม้เป็นปีศาจ ผมก็ใช้เป็นตัวแทนที่บอกว่า ตัดต้นไม้มากมันจะกลายเป็นปีศาจแล้วนะ และมันจะแก้แค้นคุณ

อย่างประเด็นการทุจริตของพระ เมื่อเป็นเรื่องความศรัทธาต่อศาสนา มันเลยทำให้กระบวนการทำงานของคุณใช้เวลาเป็นปีเลยหรือเปล่า

หนิง: จริงๆ คือไม่ค่อยมีเวลาด้วย (หัวเราะ) ช่วงนี้มีลูกและทำงานเยอะ ก็เลยต้องค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ ปกติงานซีรีส์ผมจะใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน พอเป็นงานนี้ใช้เวลา 1 ปีมันก็เลยลากยาว แล้วก็ต้องคิดว่าเราจะใส่อะไรเข้าไปบ้าง จริงๆ รูปที่ไม่ได้แสดงก็เยอะ ตลอดเวลาที่ทำมีการคัดออก มีการปรับปรุงแล้วเอาไปให้พี่มานิตดู บางรูปถามแฟนว่าแรงไปไหม เพราะว่าเขาไม่ได้อยู่ในแวดวงงานถ่ายภาพ แต่อยู่ใกล้ศาสนา เขาบอกว่าอันนี้แรงไปไม่ดี เราก็จะเอาออก คือผมก็เดินทางสายกลางตามพุทธศาสนา ไม่ต้องยึดติดอะไรมาก อะไรแรงไปเราก็ตบๆ มา เอาพอขำๆ คอยจิกนิดๆ หน่อยๆ (หัวเราะ) 

 

ดูเหมือนว่าคุณจะนำธรรมะในพุทธศาสนามาใช้ในการทำงานภาพถ่ายครั้งนี้

หนิง: ใช่ครับ เดินทางธรรมไปเรื่อยๆ เช่น คำสอนที่ว่าอย่ายึดติด ซึ่งเป็นคำสอนหลักๆ ของนิทรรศการครั้งนี้และเป็นแก่นของศาสนาพุทธด้วย อย่าไปยึดติดกับเงินทอง อย่าไปยึดติดกับยศฐาบรรดาศักดิ์ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ควรยึดติด อีกข้อหนึ่งคือการมีสติ ผมมีสติตลอดเวลาในการสร้างงานครั้งนี้ ทำด้วยสติ ทำให้มันไม่ร้ายแรงมาก (หัวเราะ) 

ดังนั้น เวลาดูงานต้องมีสติเช่นกัน แวบแรกของคนที่รักพุทธศาสนาอาจจะโกรธว่ามาเล่นอะไร แต่ว่าอย่าเพิ่งโกรธนะครับ (หัวเราะ) เราไม่ได้ด่าพระที่ดีว่าเป็นผี เรากำลังพูดถึงพระภิกษุบางรูปที่ยึดติดอำนาจ ยึดติดเงินเข้าวัดเยอะๆ พระองค์ไหนที่ไม่สมถะต้องดูดีๆ เช่น ดูพระองค์นี้สะสมอะไรเยอะไปหมดเลยนะ ทำไมวัดนี้ถึงดูร่ำรวยจังเลย อันนี้ก็ต้องดูดีๆ สำหรับผู้ที่จะทำบุญหรือทำอะไรก็ตาม 

ใครสนใจอยากตามไปดูภาพผีในนิทรรศการภาพถ่ายโดย อัครา นักทำนา สามารถติดตามได้ที่คัดมันดู โฟโต้ แกลเลอรี่ งานจะจัดแสดงระหว่างวันที่ 6 กรกฎาคม – 31 สิงหาคม 2562

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

กฤต วิเศษเขตการณ์

ช่างภาพผู้ชื่นชอบการถ่ายภาพตามท้องถนนอย่างบ้าคลั่งพอๆ กับการกินกาแฟ และผู้คนมักเขียนชื่อเขาผิด