ความน้อยเนื้อต่ำใจในช่วงวัยใสใส่คอซองคือ ทำไมฉันต้องตัดผมเท่าติ่งหู ทำไมชุดนักเรียนไทยไม่น่ารักเหมือนชุดนักเรียนญี่ปุ่นบ้าง
แม้โตมาจนหมดวัยใส่ยูนิฟอร์มก็ยังไม่ได้คำตอบ ทำได้แค่เอาใจช่วยน้องๆ อย่างน้อยขอให้ได้ไว้ผมทรงปกติที่โตไปเอารูปเก่าๆ มาโชว์ได้ไม่อายเพื่อน ยิ่งช่วงนี้ประเด็นใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียนกำลังฮอต ทางเราขอส่งกำลังใจอวยชัยให้โชคดี
หันมาดูชุดนักเรียนประเทศญี่ปุ่นที่ใครๆ ก็มองว่าน่ารักกันดีกว่า ที่นี่มีทั้งโรงเรียนที่บังคับใส่ชุดเครื่องแบบ โรงเรียนที่ให้ใส่ชุดไปรเวท และโรงเรียนแบบผสม คือมีเครื่องแบบแต่จะใส่หรือไม่ใส่ก็ได้
ความน่าสนใจคือ นักเรียนญี่ปุ่น (โดยเฉพาะสาวๆ) ใส่ชุดนักเรียนด้วยความยินดี
ตัวอย่างที่ชัดมากคือการใส่ชุดนักเรียนไปเที่ยวดิสนีย์แลนด์ถือเป็นแฟชั่นเก๋ เท่ และเป็นการสร้างความทรงจำสุดพิเศษกับเพื่อนที่ทำได้เฉพาะตอนยังเป็นนักเรียนมัธยมเท่านั้น
ในบรรดาเครื่องแบบหลายสไตล์ เราว่าที่น่าสนใจที่สุดคือ เครื่องแบบนักเรียนสไตล์กะลาสี
ตั้งแต่เริ่มใช้ครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน เวลาผ่านไปเกือบร้อยปี ชุดนี้เรียกได้ว่าอยู่คู่สังคมคอซองอย่างมั่นคงและเป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว ทั้งสัญลักษณ์บ่งชี้ความเป็นลูกคุณหนูไฮโซ เครื่องมือแสดงความเสมอภาคทางการศึกษา กลยุทธ์การตลาดของโรงเรียน ตัวแทนแฟชั่นคาวาอี้ ผลผลิตทางวัฒนธรรมที่สร้างอิมแพกต์ในต่างประเทศและชุดคอสเพลย์สุดฮิตในวัฒนธรรมโอตาคุ
หยั่งรากฝังลึกจนกลายเป็นชุดที่ใครเห็นก็คิดถึงญี่ปุ่นขนาดนี้ จริงๆ แล้วชุดนี้ชาวญี่ปุ่นไม่ได้คิดขึ้นมาเองนะ
การแจ้งเกิดของชุดกะลาสี
หลังจากทหารเรือประเทศอังกฤษริเริ่มเครื่องแบบ หลายประเทศทำตาม รวมไปถึงญี่ปุ่นที่เริ่มใส่ในปี 1872 พอชุดกะลาสีกลายเป็นแฟชั่นฮิตทั้งในอเมริกาและยุโรป แม้กระทั่งเครื่องแบบนักเรียนในหลายประเทศก็ปรับมาเป็นสไตล์กะลาสีด้วย แน่นอนว่าญี่ปุ่นก็นำมาใช้บ้างเช่นกัน
จุดเริ่มต้นของเครื่องแบบนักเรียนกะลาสีครั้งแรกในญี่ปุ่นยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดชี้ไปที่โรงเรียนเฮอันโจกาคุอิน ในจังหวัดเกียวโต ซึ่งเปลี่ยนเครื่องแบบจากชุดกิโมโนเป็นชุดสไตล์ตะวันตกในปี 1920 ผลคือได้รับความนิยมมากจนโรงเรียนอื่นทำตามกันเป็นแถว
ว่ากันว่า ชุดนี้ถูกนำมาใช้ในฐานะสเตปแรกของการเพิ่มหลักสูตรพลศึกษาให้นักเรียนหญิงเพื่อส่งเสริมบุคลิกและสุขภาพ นอกจากนี้อิมเมจของชุดยังเข้ากับค่านิยมสอนหญิงในสมัยนั้นที่ว่า ‘good wife, wise mother’ ด้วยความเข้มแข็งจากปกกะลาสี ความน่ารักของริบบิ้น และความพลิ้วไหวของกระโปรงพลีท
จากเสื้อผ้าไฮโซสู่ความเท่าเทียมและผลผลิตทางวัฒนธรรมประจำชาติ
สมัยก่อนสงครามโลก ผู้หญิงที่เกิดในตระกูลสูงส่งหรือมั่งคั่งเท่านั้นจึงจะได้ไปโรงเรียน ดังนั้นการได้ใส่ชุดนักเรียนสไตล์ตะวันตกแบบนี้ในยุคนั้นถือว่าเริ่ดๆ เชิ่ดๆ เพราะเป็นของแพงและเครื่องบ่งชี้สถานภาพความเป็นผู้ดี
แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ระบบการศึกษาแบบใหม่บังคับให้เด็กทุกคนต้องเรียนหนังสือ เกือบทุกโรงเรียนตัดสินใจใช้เครื่องแบบกะลาสีเรือ ในขณะที่ทางยุโรปเลิกใช้ไปแล้ว นักวิชาการตีความว่าเรื่องนี้มีนัยซ่อนเร้น การใช้เครื่องแบบที่เคยเป็นของแพงเกินเอื้อมของคนหลายชนชั้นเป็นเครื่องแบบมาตรฐาน เท่ากับเป็นการประกาศว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่เด็กทุกคนเข้าถึงได้ (อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมคือ ต้นทุนที่ถูกลงจากความก้าวหน้าในการผลิตเสื้อผ้าใยสังเคราะห์ในโรงงานด้วย)
ใส่ไปใส่มา รูปเด็กมัธยมในชุดกะลาสีไปโผล่เป็นตัวละครหลักตามการ์ตูน แอนิเมะ ละคร และภาพยนตร์นับร้อยพันเรื่อง เมื่อป๊อปคัลเจอร์นี้แพร่หลายไปทั่วโลก เกิดภาพจำว่าเด็กนักเรียนในชุดกะลาสีเท่ากับเด็กนักเรียนญี่ปุ่นไปโดยปริยาย และความคลั่งไคล้ในหลายมิติเหล่านั้นก็นำชุดนักเรียนกะลาสีเข้าสู่โลกของการคอสเพลย์ทั้งแบบหวิวและไม่หวิว
ความภาคภูมิใจในความคาวาอี้
เมื่อ 20-30 ปีก่อนเคยมีกระแสเรียกร้องให้ยกเลิกชุดนักเรียนที่ญี่ปุ่นเหมือนกัน แต่ทางโรงเรียนแก้เกมด้วยความเข้าใจวัยรุ่นที่อยากสนุกกับแฟชั่น รูปแบบชุดนักเรียนจึงไม่ได้มีแค่แบบเดียว เพิ่มออปชั่นเสื้อกั๊ก เสื้อไหมพรม กระโปรงลายสกอตต่างๆ ให้เด็กจับมิกซ์แอนด์แมตช์อย่างสนุกสนานตามฤดูกาล
ยิ่งจำนวนเด็กน้อยลง การแข่งขันระหว่างโรงเรียนสูงขึ้น เครื่องแบบคาวาอี้เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ทางการตลาดชั้นดีที่จะช่วยสร้างแบรนด์ให้กับทางโรงเรียน ซึ่งบอกเลยว่าได้ผลดีมาก บางโรงเรียนถึงกับลงทุนจ้างดีไซเนอร์ดังมาออกแบบ เลือกวัสดุที่เบาสบาย ซักง่าย ไม่ต้องรีด เอาใจพ่อแม่ไปพร้อมๆ กัน
แต่เหตุผลหลักที่เด็กสาวใส่ชุดนักเรียนด้วยความภาคภูมิใจคือ พวกนางรู้ว่าตัวเองเป็นผู้มีอิทธิพล!
ฐานะทางสังคมของเด็กนักเรียนหญิงมัธยมปลายในปัจจุบันเป็นเหมือนเทรนด์เซตเตอร์ บริษัทที่ผลิตเสื้อผ้า เครื่องประดับต่างๆ ให้ความสนใจกับพฤติกรรมการบริโภคของคนกลุ่มนี้มาก เพราะของที่น้องๆ ชอบมีโอกาสกลายเป็นสินค้ายอดฮิตซึ่งนำมาสู่รายได้มหาศาล บวกกับวัฒนธรรมโลลิคอน ความชื่นชอบในตัวเด็กสาวอย่างเห็นได้ชัดในผู้ชายหลายวัยที่นี่ น้องๆ รู้ดีว่า ‘ความเป็นนักเรียน ม.ปลาย’ นั้นเป็นแบรนด์ที่ขายได้ จึงยินดียิ่งที่จะเดินเฉิดฉายในช่วงเวลาไม่กี่ปีของชีวิตที่จะมีโอกาสใส่ชุดนี้
จาก good wife และ wise mother สู่ kawaii trendsetter แม้ดีไซน์แทบไม่มีความเปลี่ยนแปลง แต่ชุดนักเรียนกะลาสีพลิกบทบาท ปรับตามจุดยืนและค่านิยมที่มีต่อผู้หญิงแต่ละยุคสมัย ก้าวข้ามความเป็นเสื้อผ้าอิมพอร์ตจากอังกฤษสู่ผลผลิตทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่นอย่างสมบูรณ์