ญี่ปุ่นอาจจะติดอันดับโลกในหลายวงการ เช่น ค่าครองชีพ ความปลอดภัยในชีวิต อายุเฉลี่ยของประชากร ฯลฯ แต่ที่คนไม่ค่อยรู้คือญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีจำนวนวันฝนตกเป็นอันดับ 13 และใช้ร่มมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เฉลี่ยปีละประมาณ 120-130 ล้านคัน!
ในจำนวนร้อยกว่าล้านคันนั้นเป็นร่มพลาสติก หรือร่มใสๆ ที่เราเห็นกันคุ้นตา ประมาณ 80 ล้านคัน ซึ่งนำเข้ามาจากประเทศจีนถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ร่มใสจึงราคาถูก ซื้อง่าย ซื้อได้แบบไม่ต้องคิดมาก เวลาเจอฝนตกกะทันหันเพียงแวะเข้าร้านสะดวกซื้อ จ่ายเงินเพียง 500-600 เยนก็ได้น้องร่มใสมาไว้ในครอบครอง
ในวันที่ฝนตก บางครั้งร้านสะดวกซื้อในเมืองใหญ่ขายร่มได้ถึง 30,000 คัน (รวมยอดจาก 1,700 สาขา) Lawson เคยเปิดเผยว่ายอดขายร่มพลาสติกต่อปีเฉลี่ยประมาณ 4,000,000 คัน เราคิดว่ายอดส่วนมากน่าจะได้จากชาวโตเกียว เพราะผลสำรวจพบว่าที่นี่เป็นจังหวัดที่ฝนตกนิดหน่อยก็กางร่มเป็นอันดับ 1 ของประเทศ เฉลี่ยแล้วคนแถวนี้มีร่มคนละ 4.1 คัน
ร่มใสหาซื้อก็ง่าย ราคาไม่แพง ทุกคนก็มีนี่นา แต่กระนั้นสิ่งเดียวที่เราโดนขโมยเป็นประจำต่อเนื่องทุกปีตั้งแต่มาอยู่ญี่ปุ่นคือ ‘คุณร่มพลาสติก’ นี่แหละ
จะในมหาวิทยาลัย หน้าร้านอาหาร หน้าร้านสะดวกซื้อ เราโดนมาครบ จะทำสัญลักษณ์แสดงความเป็นเจ้าของยังไงก็ไม่รอด เรื่องโจรขโมยร่มนี่โดนกันอย่างเท่าเทียมถ้วนหน้าทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติ เคยลองส่องทวิตเตอร์ดูเขาแชร์วิธีป้องกันคนจิ๊กร่มกันอย่างสนุกสนาน บางอย่างก็ดูเหมือนจะเน้นฮามากกว่านำมาใช้จริง เช่นทำเป็นแปะชิพหลอกๆ ให้นึกว่ามีเครื่องติดตาม สุดท้ายสิ่งที่ทุกคนสรุปตรงกันคือ ถ้าใช้ร่มที่ดูแพงหน่อยจะไม่ค่อยหาย
ย้อนแย้งจังเลย
มีคนวิเคราะห์ไว้ว่า ร่มใสดูเป็นของราคาถูก คนใช้แล้วก็ทิ้ง เวลาขโมยจึงไม่รู้สึกผิดเท่าการขโมยร่มดีๆ เราเองก็เคยอ่านเจอเรื่องคนแขวนร่มไว้กับจักรยานแล้วเดินไปซื้อของในซูเปอร์ฯ ปรากฏว่าตอนเดินออกมาเจอหนุ่มคว้าร่มเดินเฉิบๆ ชิลล์ๆ ไปต่อหน้า นางจึงวิ่งไปแจ้งตำรวจให้มาจับขโมย เมื่อถูกบอกว่าขโมยของมันผิดกฎหมายนะ หนุ่มวัย 23 ปีกลับบอกว่า
“แค่ร่มพลาสติกเอง ไม่เห็นใช่เรื่องใหญ่เลย”
ในทางกลับกัน เมื่อฝนหยุดตก ลองมองไปรอบๆ เมืองจะเห็นร่มใสถูกทิ้งอยู่เพียบ ทั้งแบบพังแล้วเพราะโดนลมพัดกระเจิงและแบบที่พับเก็บเรียบร้อยแต่แขวนทิ้งไว้เพราะไม่ต้องการแล้ว คนที่เคยไปญี่ปุ่นน่าจะพอนึกออกว่าประเทศนี้หาถังขยะยากมาก ดังนั้นสถานที่ที่คนเนียนเอาร่มไปทิ้งไว้มากที่สุดแห่งหนึ่งก็คือ ที่เสียบร่มหน้าร้านสะดวกซื้อที่โดนขโมยกันบ่อยๆ นั่นเอง
ในความย้อนแย้งยังย้อนแย้งได้อีก เมื่อร่มก็เป็นสิ่งที่คนลืมไว้บนรถไฟเยอะที่สุดด้วยเหมือนกัน เฉลี่ยปีละประมาณ 300,000 คัน พนักงานเล่าว่าทำงานมา 20 ปี ไม่เคยมีใครมาตามหาร่ม หรือมาเอาคืนเลย
ทิ้งกันรัวๆ แบบนี้ เมื่อฝนหยุดแล้ว ร่มไปไหน?
ย้อนแย้งกันอีกรอบ เพราะคำตอบคือน้องร่มใสถูกส่งกลับไปประเทศจีนบ้านเกิดนั่นแหละ
แต่กลับไปในฐานะขยะพลาสติกที่ญี่ปุ่นจัดการไม่ไหวเพราะปีหนึ่งมีมากมายเหลือเกิน จุดทิ้งขยะบางแห่งพบร่มถึง 50 คัน บางที่ทะลุ 500 คันก็มี เฉลี่ยน้ำหนักขยะร่มพลาสติกที่ถูกทิ้งแต่ละเดือนมากถึง 20-30 ตัน ร่มพวกนี้ส่วนมากไม่ถูกนำไปใช้ใหม่แต่จะโดนกำจัดเรียบ เพราะตัวร่มอาจจะราคาถูก แต่ค่าจัดการ ค่ารีไซเคิล แพงมากจ้า
ปัญหาคือตอนนี้พี่จีนก็ห่วงใยสิ่งแวดล้อมของประเทศเขาและปฏิเสธไม่รับขยะพลาสติกจากญี่ปุ่นตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ปีนี้เราจึงได้เห็นความพยายามจะลดการใช้ร่มอย่างสิ้นเปลือง (และการถูกขโมยร่มอันน่าละเหี่ยใจ) ชัดเจนขึ้น เช่น การเพิ่มจุดวางร่มให้ยืมใช้ฟรี (หลักการเดียวกับพวกจักรยานปั่นชมเมือง หยิบร่มจากจุด a จะไปวางคืนที่จุด b, c หรือ d ก็ได้) แต่ก็กลับมาเจอปัญหาเดิมคือคนยืมไปแล้วไม่คืน มีบริษัท DyDo ที่ทำแล้วได้คืนเยอะหน่อยประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ เพราะใช้กลยุทธ์หลายอย่าง เช่น ไม่ใช้ร่มใสที่ดูเป็นของใช้แล้วทิ้ง ติดโลโก้ให้คนเอาไปใช้ต่อยาก แถมยังนำร่มที่คนลืมไว้บนรถไฟกลับมาใช้ใหม่
ยังมีอีกหนึ่งโมเดลที่น่าสนใจ แถมอัตราการได้คืนยังสูงถึงเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์นั่นคือ iKasa (kasa แปลว่าร่ม) บริการน้องใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นได้ครึ่งปีกว่าๆ เริ่มต้นเล็กๆ ที่ชิบูย่าด้วยจุดยืม-คืนร่ม 50 แห่งกับร่ม 1,000 คัน โดยคิดค่ายืมแค่วันละ 70 เยนหรือจะจ่ายรายเดือน 420 เยน ยืมกี่ครั้งก็ได้ คืนที่สาขาไหนก็ได้ ตอนนี้มีคนลงทะเบียนใช้งานเกือบ 30,000 คน และขยายจุดยืม-คืนไปทั่วโตเกียวตามสถานีรถไฟ ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ธนาคาร และมหาวิทยาลัย จนตอนนี้มีประมาณ 200 แห่งพร้อมร่ม 3,000-4,000 คัน
ความสะดวกราคาประหยัดนี้ไม่ได้ถูกใจแค่ผู้ใช้ เพราะไม่ต้องหอบหิ้วร่มเปียกๆ ไปเป็นภาระ ออฟฟิศต่างๆ ให้ความสนใจติดต่อขอไปวางไว้หน้าตึกตัวเองด้วยแม้จะต้องเสียเงินเพิ่มก็ตาม ทางบริษัทรถไฟ JR ก็เต็มใจให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เพราะในหนึ่งปีต้องใช้งบจำนวนมากในการกำจัดร่มที่คนลืมไว้ปีละหลายแสนคันอยู่แล้ว ถ้ามีบริการนี้ที่สถานีและบริเวณใกล้เคียงน่าจะช่วยทำให้ตัวเลขลดลง
ส่วนสิ่งที่ทำให้คนกระวีกระวาดเอาร่มมาคืนอย่างน่ามหัศจรรย์คือ การใช้บริการนี้ต้องลงทะเบียนในแอพฯ กรอกบัตรเครดิตให้เรียบร้อย ถึงจะได้รหัสมาปลดล็อกนำร่มไปใช้ได้ หรือจะแอดเฟรนด์ใน LINE จ่ายด้วย LINE Pay เสิร์ชหาจุดยืม-คืนหรือจองร่มก็ได้เช่นกัน
พอระบุตัวคนยืมได้ เรื่องที่เคยมองว่าเล็กน้อยก็ไม่เล็กน้อยอีกต่อไป
ถ้าจะมองว่าร่มเป็นของสาธารณะที่หยิบของใครไปใช้ก็ได้ เปลี่ยนมาเป็นแบ่งกันใช้แบบนี้ดีกว่าเนอะ