VS Gallery แกลเลอรีทางเลือกที่เปิดพื้นที่ให้งานศิลปะของคนชายขอบและนักเขียน

Highlights

  • VS Gallery คือแกลเลอรีทางเลือกที่ตั้งอยู่ในเวิ้งศิลปะ N22 ซอยนราธิวาส 22 โดยมีเป้าหมายเพื่อแสดงงานศิลปะของคนชายขอบและนักเขียนโดยเฉพาะ
  • ผู้ก่อตั้งที่แห่งนี้คือ บี–วรวุฒิ สัจจะปรเมษฐ หรือ 'หนุ่มโรงงานน้ำตา' นักเขียนผู้มีผลงานรวมเล่มสเตตัสกึ่งบทกวีกว่า 10 เล่มซึ่งใช้จังหวะที่วงการหนังสือซบเซาลงผันตัวมาบริหารแกลเลอรีและเป็นคิวเรเตอร์ด้วยตัวเอง
  • เหตุผลที่บีเลือกเล่าเรื่องของคนชายขอบและนักเขียน คือเพื่อเปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนที่ยังไม่ค่อยมีพื้นที่แสดงงานศิลปะเพื่อเล่าเรื่องของตัวเอง ซึ่งเขาหวังว่าจะนำมาสู่ความเข้าใจกันมากขึ้นระหว่างคนในสังคม

นี่เป็นครั้งแรกที่เรามาเยือนโกดัง N22 ในซอยนราธิวาส 22

มองจากภายนอก ที่นี่คือโกดังหน้าตาแสนธรรมดาที่มีรถขนของวิ่งสวนกันเป็นระยะ แต่น้อยคนนักจะรู้ว่าภายใต้โครงสร้างที่เห็นแอบซ่อนโอเอซิสทางศิลปะเอาไว้ คือกลุ่มแกลเลอรีถึง 7 แกลเลอรีที่รวมตัวกันเป็นชุมชนศิลปะขึ้นมา

จุดหมายของเราในวันนี้คือ VS Gallery แกลเลอรีเปิดใหม่ในส่วนลึกสุดของโกดัง โดย บี–วรวุฒิ สัจจะปรเมษฐ หรือที่นักอ่านรู้จักกันในนาม ‘หนุ่มโรงงานน้ำตา’ นักเขียนที่ออกหนังสือรวมสเตตัสกึ่งบทกวีแนวรักปนโศกมาแล้วเกือบสิบเล่ม โดยนอกจากน้ำตาที่เหมือนจะบรรจุอยู่ในตัวอักษร บียังซุกซ่อนสารมากมายเอาไว้ให้ตีความไปได้ไกลถึงเรื่องปากท้อง ความสิ้นหวังของสังคม กระทั่งเรื่องการเมือง 

ล่าสุด บีวางมือจากโรงงานน้ำตาและวงการหนังสือ และผันตัวมาเปิดแกลเลอรีศิลปะขนาด 2 ห้อง ห้องหนึ่งตั้งใจเล่าเรื่องของ ‘คนชายขอบ’ โดยเฉพาะ ขณะที่อีกห้องเน้นแสดงงานศิลปะของ ‘นักเขียน’ อาชีพที่เขาคุ้นเคยเป็นอย่างยิ่ง

ทำไมนักเขียนคนหนึ่งถึงวางมือจากปากกาแล้วหันมาจับงานศิลปะเป็นอาชีพ–หลายคนสงสัย

ถ้าไม่รีบร้อนเกินไป บีชวนเราย้อนกลับไปยังโรงงานน้ำตากันก่อน

 

วางมือจากงานเขียนเพื่อเรียนรู้การเล่าเรื่องแบบใหม่

อย่างที่หลายคนรู้ ก่อนหน้า VS Gallery จะเกิดขึ้น บีคือนักเขียนคนขยันที่ผลิตงานเขียนออกสู่สายตานักอ่านอย่างสม่ำเสมอ กระทั่งช่วงหลังที่ตลาดหนังสือซบเซาลง เขาจึงตัดสินใจหันหลังให้งานหนังสือและหันไปปั้นธุรกิจอื่นๆ แทน โดยสวมหมวกเป็นครูใหญ่เปิดโรงเรียนรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนสอนภาษาสำหรับเด็ก

ถึงอย่างนั้น ‘การเล่าเรื่อง’ ก็ยังเป็นความรักที่ไหลเวียนอยู่ในตัวและเป็นเชื้อไฟชั้นดีที่ทำให้วันหนึ่งบีตัดสินใจลองเปิดแกลเลอรีเพื่อเล่าเรื่องผ่านช่องทางใหม่ๆ บ้าง

“การเล่าเรื่องเป็นความชอบของเรา เราคิดว่าถ้าเราไม่ได้เขียนหนังสือแล้วเราก็น่าจะหาทางพูดคุยหรือเล่าเรื่องสะท้อนยุคสมัยที่ดำเนินอยู่ ซึ่งศิลปะเป็นสิ่งที่สื่อสารได้ง่ายและมีคนติดตามมากในเวลานี้

“อีกอย่างคือวิธีการอ่านของคนสั้นลงเรื่อยๆ กลายเป็นข้อจำกัดว่าเราไม่สามารถเขียนอธิบายอะไรได้มากมาย ฉะนั้นการถ่ายทอดเรื่องราวในรูปแบบของงานศิลปะน่าจะตอบโจทย์กว่า ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ งานวาด งานปั้น งานวิดีโอ มันสามารถเล่าเรื่องได้เต็มที่ เราเลยลองทำแกลเลอรีศิลปะเพราะมันทำให้เรายังได้เล่าเรื่องอยู่ แค่เปลี่ยนแพลตฟอร์มไป”

ถึงก่อนหน้านี้เราจะคุ้นชินกับเขาในฐานะนักเขียน แต่บีเล่าต่อว่าตนสนใจแวดวงศิลปะเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และเมื่อคิดคำนวณดู ต้นทุนที่เขาใช้ในการจัดแสดงงานศิลปะก็ไม่ได้สูงไปกว่าทุนในการพิมพ์หนังสือสักเท่าไหร่ แถมงานศิลปะยังได้เปรียบเรื่องการจัดการและวัดผลที่ง่ายกว่าด้วย

“เวลาคนมาดูงานศิลปะเสร็จเขาจะให้ฟีดแบ็กทันทีว่ารู้สึกยังไง ชอบหรือไม่ชอบ” เขาอธิบายเพิ่ม “เราสามารถสร้างอิมแพกต์กับผู้ชมได้อย่างทันทีทันใด และคนทำแกลเลอรีก็สามารถจัดศิลปินให้หมุนเวียนมาแสดงผลงานได้ถึง 7-8 งานในหนึ่งปี ต่างจากงานหนังสือที่กว่านักเขียนจะตกผลึกและเขียนออกมาได้สักเล่มหนึ่งต้องใช้เวลานานกว่ามาก”

 

แกลเลอรีศิลปะในโกดัง

ด้วยโครงสร้างที่เป็นโกดัง ทำให้หลายคนมองว่าเวิ้งศิลปะ N22 ดูลึกลับกว่าแกลเลอรีที่ไหนๆ กลายเป็นคำถามว่าทำไม VS Gallery ถึงเลือกเปิดตัวที่นี่ แทนที่จะเป็นบริเวณอื่นที่ดูเข้าถึงง่ายกว่า

คำตอบของบีเรียบง่าย เขาเลือกที่นี่เพราะผู้คน

จุดเริ่มต้นของ N22 เกิดจากผองเพื่อนศิลปินจาก 7 แกลเลอรีที่ร่วมแรงกันทำให้โกดังเก่าแห่งนี้กลายเป็นคอมมิวนิตี้ศิลปะสุดเข้มแข็ง ซึ่งบีมองว่าชุมชนที่เข้มแข็งนี่แหละจะทำให้แกลเลอรียืนระยะได้โดยไม่ล้มหายตายจากไปเสียก่อน และนั่นหมายถึงโอกาสที่ศิลปินทางเลือกจะได้มีสเปซในการแสดงงานและเล่าสิ่งที่อยากสื่อสารต่อไป

“เราไม่ต้องการไปเช่าที่แพงๆ แล้วอยู่อย่างโดดเดี่ยว อย่างในสิงคโปร์จะมีย่านบ้านพักทหารบกเก่าที่แกลเลอรีกระจุกตัวกันอยู่เป็นสิบแกลเลอรี หรืองานแสดงศิลปะ Hotel Art Fair ที่จัดแสดงงานศิลปะในห้องพักของโรมแรมก็มีคอนเซปต์คล้ายๆ กัน คือผู้ชมก็สามารถเดินทางมาดูแกลเลอรีหลายๆ เจ้าได้สะดวก

“นั่นคือเหตุผลที่เราสนใจเปิดแกลเลอรีที่นี่ ข้อดีคือโกดังมีที่จอดรถพร้อม ค่าเช่าไม่แพง ค่าน้ำค่าไฟก็ช่วยกันจ่าย และไม่ไกลจากขนส่งสาธารณะนัก”

 

พื้นที่แสดงออกของคนชายขอบ

เมื่อจะเปิดแกลเลอรี สิ่งแรกที่บีทำคือการนั่งลงนึกถึงความสนใจของตัวเองก่อนตกผลึกว่าตนสนใจเรื่องราวที่สะท้อนยุคสมัย รวมถึงประเด็นที่คนในสังคมกำลังให้ความสนใจ เป็นที่มาของการชวนศิลปินทางเลือกที่น่าสนใจมาแสดงงาน โดยเฉพาะศิลปินชายขอบและนักเขียนจากแวดวงวรรณกรรมที่อยากลองเล่าเรื่องผ่านงานศิลปะ fine art เป็นหลัก

แต่ทำไมถึงต้องเป็นงานศิลปะของคนชายขอบและนักเขียนเป็นหลัก บีเท้าความให้ฟังว่า

“เราสนใจเรื่องคนชายขอบจากการที่เล่นเฟซบุ๊กมานานหลายปีและมี friend list ที่หลากหลาย มันทำให้เรารู้ว่าตัวเองชอบมองเห็นสิ่งที่ขาดหรือคนที่ถูกตัดโอกาส แต่จะให้เราลุกขึ้นมาบริจาคหรือทำงานการกุศลเราก็ไม่ถนัด เมื่อมีโอกาสทำงานศิลปะเราเลยสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ

“ในฐานะผู้ชมงานศิลปะ ความสุขของเราคือการเห็นงานศิลปะที่เล่าเรื่องที่น่าสนใจและสะท้อนชีวิตจริง เมื่อชมงานศิลปะมานานขึ้นเรื่อยๆ เราคิดว่าปัญหาหนึ่งที่ได้เห็นคือบางครั้งเรื่องราวของคนชายขอบถูกคนอื่นพูดแทน และเมื่อคนอื่นมาเล่าเรื่องของพวกเขา บางครั้งเรื่องที่เล่าจึงไม่ใช่ประเด็นสำคัญของพวกเขาจริงๆ 

“ยกตัวอย่างเช่น ศิลปะที่คนนอกพูดถึง LGBTQ บางครั้งจะใช้การวาดสายรุ้ง พูดถึงความกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวในกลุ่มแบบอุดมคติ เป็นความเห็นแบบฉันอยากเห็นพวกเธอเป็นแบบนี้จัง แต่ถ้าคนในมาเล่าเขาจะพูดถึงการถูกรังแกโดยคนรอบข้าง ประสบการณ์วัยเด็กที่ไม่ดี หรือประเด็นส่วนตัวในแบบใกล้ชิดลึกซึ้ง หรือถ้าได้ดูงานเพนต์ติ้งของบางคนแค่จริตลายเส้นและสีที่ใช้ก็อธิบายตัวตนได้มากแล้ว เราคิดว่าศิลปินแต่ละคนมีเสียง มีปัญหาและมีเรื่องเล่าเฉพาะตัว ซึ่งการเสนอเสียงแบบนี้ย่อมทำให้ผู้ชมรู้สึกร่วมและเชื่อได้มากกว่า

“ในชีวิตจริงศิลปินส่วนมากต่างก็มีแผลข้างในใจ แต่ละคนก็หาวิธีเยียวยาแผลในใจด้วยศิลปะที่เขาคิดค้นขึ้นเอง เวลาชมศิลปะของคนชายขอบส่วนใหญ่เราจะเห็นการเยียวยาของเขา บางครั้งก็เป็นการหลบหนี บางทีก็เผชิญหน้า บางทีขอความช่วยเหลือ ขอแนวร่วม อย่างเช่นผลงานของศิลปิน LGBTQ ที่เราเห็นอยู่นี้ก็เป็นผลงานที่สะท้อนความบีบคั้นกดดันเรื่องเพศสภาพในจังหวัดชายแดนใต้”

เขายกตัวอย่างงานศิลปะชุด ‘Disguise’ ที่กำลังแสดงอยู่ตอนนี้ว่าเป็นตัวอย่างของงานจากสายตาคนชายขอบ เริ่มจากงานศิลปะรูปนู้ดผู้ชายที่แขวนเรียงรายอยู่บนผนัง

“ในงานชุดนี้ ศิลปินต้องการสื่อถึงประเด็น LGBTQ ในปัตตานีว่าก่อนที่ความเชื่อตะวันตกจะเผยแพร่แนวคิดการแบ่งอดัมกับอีฟและกำหนดบทบาทเพศชาย-หญิง ชาย-หญิงในพื้นที่ปัตตานีก็ไม่ได้เคร่งครัดเรื่องบทบาททางเพศ ศิลปินเลยวาดรูปดัดแปลงงานศิลปะหลายๆ งานที่เกี่ยวกับศาสนาคริสต์ เช่น รูปปั้น Pietà ของ Michelangelo ที่ต้นฉบับเป็นพระแม่มารีกับพระเยซู ซึ่งเป็นเพศหญิงและชาย ให้ทั้งคู่เป็นเพศกลาง

“หรืองานชิ้นหนึ่งที่ติดทองคำเปลว เขียนกำกับว่า ‘The real gold is not real gold.’ ศิลปินต้องการสื่อว่าถ้ามนุษย์ไม่ให้คุณค่ากับทองคำ ทองคำก็เป็นเพียงแร่ธาตุหนึ่งเท่านั้น แปลว่าความหมายของทองเกิดขึ้นจากนัยสมมติที่มนุษย์สร้างเปรียบเทียบได้กับคนที่ไม่ได้ถูกจัดหมวดหมู่ให้เป็นเพศใดเพศหนึ่งหรือถูกกำหนดบทบาท ว่าเขาอยู่ตรงไหนของสังคม” 

เช่นเดียวกับงานเขียนของหนุ่มโรงงานน้ำตาที่กระตุกให้คนฉุกคิดเรื่องสังคม นิทรรศการที่บีเลือกมาจัดแสดงก็มักตั้งคำถามกับสังคม เหมือนงานชุด Disguise ที่ศิลปินลงมือวาดภาพนู้ดผู้ชายเพียงเท่านั้น และถ้าใครไม่สบายใจละก็ นั่นแหละคือจุดประสงค์ของเขา

“ความสำเร็จของการทำนิทรรศการศิลปะของผมคือเมื่อผู้ชมได้ดูงานและออกจากแกลอรีไป เขาเปลี่ยนความรู้สึกและมุมมองที่มีต่อคน กลุ่ม หรือปรากฏการณ์ต่างๆ ในทางที่เข้าใจหรือเห็นอกเห็นใจมากขึ้น การทำสิ่งนี้ต้องอาศัยงานที่เล่าเรื่องที่คนเชื่อ คนรู้สึก ถ้าคุณมาดูงานแล้วรู้สึกไม่สบายใจ คุณน่าจะได้ถามตัวเองว่าคุณยังติดอยู่ในคอมฟอร์ตโซนหรือเปล่า หรือถ้าดูแล้วรู้สึกเข้าอกเข้าใจ ความไม่สบายใจก็อาจจะลดลง

“วิธีคิดงานนี้เป็นแบบมนุษยนิยม คือถ้าเมื่อไหร่ที่เราทำให้คนมองผลงานในฐานะความเป็นมนุษย์และความเชื่อของมนุษย์ คนดูก็น่าจะมีแนวโน้มไม่หันหน้าปฏิเสธแต่จะยอมรับได้ เราถือว่าเราประสบความสำเร็จถ้าคนมาดูงานแล้วรู้สึกแบบนี้”

อีกนัยหนึ่ง บีต้องการจะสื่อว่าศิลปะสามารถเปลี่ยนสังคมได้ไม่มากก็น้อย อย่างน้อยที่สุดคือสะกิดให้รู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับเรื่องรอบตัว และเป็นแว่นขยายให้ผู้คนมองเห็นปัญหา ส่วนที่เหลือ บีบอกว่าเป็นสิทธิของผู้ชมว่าพวกเขาอยากจะเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้นไหม ด้วยวิธีใด

 

ชวนนักเขียนมาปล่อยของ

นอกจากห้องจัดแสดงงานศิลปะของคนชายขอบ บีพาเราเดินต่อไปยังห้องจัดแสดงข้างๆ กันเพื่อดูนิทรรศการ ‘พิพิธภัณฑ์แสง’ ที่รวบรวมงานศิลปะที่ตีความจากเรื่องสั้นเรื่อง ‘พิพิธภัณฑ์แสง’ ของกิตติพล สรัคคานนท์ พร้อมบอกว่านี่คือตัวอย่างความตั้งใจเปิดพื้นที่ให้นักเขียนแสดงออกผ่านงานศิลปะ

ในแกลเลอรีห้องนี้จัดแสดงงานศิลปะโดยล้อไปกับเนื้อหาของเรื่องสั้น ทั้งศิลปะภาพลวงตา ทั้งงานเหล็กหล่อเป็นแท่งอินโฟกราฟิกหัวทิ่มลงดินที่สื่อถึงพื้นที่ที่มีความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน ภาพวาดแลนด์สเคปที่สะท้อนความเหงาในสังคมเมืองใหญ่ ปิดท้ายด้วยห้องที่มีทัศนวิสัยเหมือนมองออกไปจากในกะลา เพื่อจำลองบรรยากาศห้องมืดในตอนท้ายเรื่องสั้น

บีเล่าว่าเหตุที่ชักชวนกลุ่มนักเขียนมาทำงานศิลปะเพราะเห็นว่าเพื่อนพ้องในแวดวงหนังสือหลายคนมีพื้นฐานเป็นคนทำงานศิลปะมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนซีไรต์อย่างอุทิศ เหมะมูล หรือกวีสายโพสต์โมเดิร์นอย่างอุเทน มหามิตร ที่ร่ำเรียนมาทางด้านจิตรกรรมโดยตรงและทำงานศิลปะควบคู่ไปกับการเขียนหนังสืออยู่แล้ว รวมถึงนักเขียนหลายๆ คนที่อยากกระโดดข้ามศาสตร์ข้ามศิลป์จากงานเขียนมาสู่งานศิลปะเต็มตัวดูสักครั้ง แต่ไม่รู้จะไปแสดงงานที่ไหน ก็ให้มาปล่อยของกันที่แกลเลอรีแห่งนี้เสียเลย

“นอกจากงานศิลปะของคนชายขอบแล้ว เราอยากชวนคนในแวดวงนักเขียนมาสร้างงานศิลปะหรือคัดเลือกงานมาจัดแสดงเพื่อให้นักเขียนได้สื่อสารในสิ่งที่เขาอยากพูด ถ้าเทียบกับศิลปิน เราคิดว่านักเขียนก็มีเรื่องอยากจะเล่าให้ผู้ชมฟังผ่านงานศิลปะเหมือนกันแต่เราเห็นว่าวงการหนังสือยังไม่มีพื้นที่ให้พวกเขาโชว์งานมากนักเราเลยอยากเปิดพื้นที่ชวนเขามาเล่า

บีเล่าถึงฟีดแบ็กของคนที่มาชมงานว่าส่วนใหญ่จะแปลกใจในความใหม่ ส่วนแฟนคลับนักเขียนที่มาดูก็ตื่นเต้นในการตีความจากตัวอักษรเป็นผลงานศิลปะ ซึ่งงานต่อๆ ไป บีตั้งใจจะนำคอนเทนต์ใหม่เอี่ยมที่ยังไม่เคยตีพิมพ์มาก่อนมาร่วมสร้างสรรค์และตีความใหม่ที่นี่ ทั้งยังมีการวางแผนชวนนักเขียนมาวาดภาพและทำงานศิลปะที่นักเขียนอยากจะเล่าอีกด้วย

ว่าแต่เรื่องเล่าเรื่องต่อๆ ไปจากคนชายขอบและนักเขียนจะเป็นเรื่องแบบไหน

บีขออุบไว้ ให้คุณมาเจอที่ VS Gallery ด้วยตัวเองดีกว่า

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

นิติพงษ์ การดี

ช่างภาพเจ้าของเพจ Rename. ที่ลงงานปีละครั้ง และมีความคิดว่า ถ้าได้กินกาแฟในตอนเช้าหนึ่งแก้ว ถือว่าวันนั้นเป็นวันที่ดี