แสงไฟจากตะเกียงยี่ห้อ Coleman ส่องสว่างอยู่ในเงามืดของเมฆฝน กลิ่นชื้นของดินลอยตามลมที่พัดแผ่ว ป้ายไม้สลักชื่อ ‘ตะเกียงพาณิชย์’ โดดเด่นอยู่ตรงหน้าเป็นสัญญาณว่าเรามาถึงไม่ผิดที่
สารภาพตามตรงว่าก่อนหน้านี้เราจินตนาการจากชื่อร้านว่าตะเกียงพาณิชย์ต้องมีหน้าตาคล้ายร้านขายของชำยุคเก่า แต่ทาวน์โฮมขนาดสามชั้นที่ซ่อนตัวอยู่ในหมู่บ้าน Areeya Tobe ย่านลาดปลาเค้าทำให้รู้ว่าคิดผิดถนัด
เมื่อก้าวเข้ามา เราพบโต๊ะและเครื่องมือช่างที่ทำให้รู้สึกคล้ายอยู่ในอู่ซ่อมรถ แต่แทนที่จะให้บริการด้านอุปกรณ์ยานยนต์ ที่นี่กลับขายและซ่อมตะเกียงน้ำมันสำหรับแคมป์ปิ้งที่ตอนนี้วางอยู่ทั่วทุกมุมของบ้านนับร้อยดวง
อู๊ด–ชาตรี ภัทรอานันท์ ชายหนุ่มเจ้าของร้านเดินมาต้อนรับเรากับทีมด้วยรอยยิ้มพิมพ์ใจ ก่อนจะพาเราขึ้นไปทัวร์ร้านโดยรอบ ทำให้เราพบว่านอกจากตะเกียง ที่นี่ยังจำหน่ายอุปกรณ์เกี่ยวกับการแคมป์ปิ้งทุกอย่างที่ลูกค้าปรารถนา ตั้งแต่เต็นท์ โต๊ะ เก้าอี้ ชุดทำครัว ไปจนถึงที่นอนเป่าลม
“เวลาเรานึกถึงคำว่าตั้งเต็นท์ ออกแคมป์ เรามักจะนึกถึงความลำบากของการตั้งเต็นท์ในวิชาลูกเสือหรือเรียน ร.ด. แต่การออกแคมป์ตอนนี้มันไม่ได้ลำบากเหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว” ชาตรีปรับความเข้าใจ ก่อนจะเริ่มเล่าที่มาที่ไปของร้านที่สร้างขึ้นจากความชอบของเขา
แม้ไม่ได้อยู่กลางป่าเขา เรื่องเล่าท่ามกลางแสงเทียนของชายเจ้าของร้านก็ทำให้เรารู้สึกเหมือนกำลังออกแคมป์อยู่ยังไงยังงั้น
มากกว่าความลำบาก
ชาตรีเกิดที่สกลนคร เข้ามาเรียนกรุงเทพฯ จึงได้ออกแคมป์อย่างจริงจัง ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น เขารู้จักการ ‘แคมป์ปิ้ง’ ครั้งแรกจากวิชาลูกเสือตอนประถม
เหมือนกับหลายคน การเข้าค่ายไม่ได้มอบประสบการณ์ที่น่าอภิรมย์เท่าไหร่ ถึงอย่างนั้นชาตรีก็พบว่าการออกแคมป์ปิ้งมีเสน่ห์บางอย่าง จึงใช้เวลาศึกษากับนิตยสาร ‘เพื่อนเดินทาง’ ที่สอนเขาเรื่องการท่องเที่ยวและแนะนำสินค้าแคมป์ปิ้ง จนกระทั่งย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ ตอนอายุ 18 ชาตรีก็เก็บเงินซื้อเต็นท์หลังแรกของตัวเองได้
“จำได้เลยว่าเต็นท์หลังแรกราคา 1,800 บาท กระเป๋าเป้ออกแคมป์อีก 1,200 บาท แค่สองชิ้นนี้เก็บเงินเป็นปี” เขาเล่ายิ้มๆ แววตาสะท้อนเงาแห่งความหลัง “พอซื้อมาได้ก็ออกทริปแรก นั่งรถไฟกับเพื่อนไปไทรโยค กาญจนบุรี นั่นคือจุดเริ่มต้นในการเป็นนักแคมป์ปิ้งเต็มตัว”
สมัยออกแคมป์แรกๆ ชาตรีใช้เต็นท์ผ้าใบที่กันลมกันฝนไม่ค่อยจะอยู่ อุปกรณ์เครื่องครัวก็ใช้หม้อ กินอาหารแห้งเพราะทำกับข้าวไม่เก่ง บางทีไม่ได้ใช้ห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะเพราะอยู่กลางป่าเขา
ลำบาก แต่สนุกมาก อาจเพราะนิยามความสนุกของเขาในวัยนั้นคืออิสระของการได้ออกมาทำอะไรด้วยตัวเอง
“เด็กสมัยก่อนจะอยู่ภายใต้โอวาทพ่อแม่ การออกจากบ้านมาเที่ยวเองเป็นเรื่องที่บ้านต้องสนับสนุน โชคดีที่บ้านผมเข้าใจ เขาให้เที่ยวตั้งแต่อายุยังน้อย พอได้ออกไปพ่อแม่ก็เริ่มเชื่อใจว่าจะอยู่รอดได้ ผมว่าเสน่ห์ของการออกแคมป์คือคุณได้แก้ปัญหา เอาชนะอุปสรรคและขีดจำกัดของตัวเอง รับผิดชอบชีวิตตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้วัยรุ่นต้องการที่สุด”
นับตั้งแต่เดินเข้าวงการแคมป์ปิ้ง ชาตรีก็ไม่เคยได้ก้าวขาออกมา ยิ่งออกแคมป์บ่อยเท่าไหร่ เขายิ่งหลงเสน่ห์ของการใช้ชีวิตกลางธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ
หนึ่งในสิ่งที่เขาชอบคือบรรยากาศ โดยเฉพาะบรรยากาศของเต็นท์ตอนกลางคืนที่มีแสงไฟสลัว ช่วงเวลากลางคืนนั้นเองทำให้ชาตรีพบองค์ประกอบที่น่าหลงใหลของการแคมป์ปิ้ง
“วันหนึ่งผมไปตั้งแคมป์ที่ภาคเหนือ ที่ตรงนั้นมีคนอื่นมาตั้งเต็นท์อยู่ใกล้ๆ กัน พอตกดึกผมก็เดินเข้าห้องน้ำ แล้วทางไปห้องน้ำมันจะมืดหน่อยๆ ทำให้เราเห็นเต็นท์ทั้งสองได้ชัดเจน ตอนนั้นไฟในเต็นท์ของผมเป็นสีขาว แตกต่างกับอีกเต็นท์ที่เป็นแสงไฟสีส้ม ทั้งๆ ที่เต็นท์ผมดูอยู่สบายกว่า แต่ทำไมผมถึงรู้สึกว่าเต็นท์เขาน่านั่งกว่าก็ไม่รู้”
แคมเปอร์หนุ่มนำความสงสัยกลับมาครุ่นคิด ก่อนจะพบคำตอบว่า สิ่งที่ทำให้เต็นท์ข้างๆ ดู ‘น่านั่ง’ กว่าคือ ‘แสงตะเกียง’
โรแมนติก น่าจะเป็นคำนิยามที่ใกล้เคียงกับความรู้สึกของแสงนั้นได้ดีที่สุด
ชาตรีเก็บความรู้สึกพิเศษนั้นในใจ คิดไว้ว่าวันหนึ่งต้องได้ใช้ตะเกียงแบบเขา แล้ววันหนึ่งก็ไปเจอร้านขายสินค้าแคมป์ปิ้งในอินเทอร์เน็ตร้านหนึ่งที่ขายตะเกียงวินเทจ “ผมตัดสินใจซื้อมาทั้งที่ไม่มีความชำนาญในการจุด แถมผู้ขายก็ยังแนะนำวิธีการจุดที่ไม่ถูกต้องมา พอจุดแบบผิดๆ มันก็ไม่เวิร์ก เลยทิ้งไว้เป็นปี”
ตะเกียงดวงแรกของชาตรีเป็นหมันอยู่พักใหญ่ จนกระทั่งเขามีโอกาสไปเยี่ยมพี่สาวที่อเมริกาในปี 2558 “ในทริปนั้น เพื่อนสนิทคนหนึ่งที่ชอบแคมป์ปิ้งเหมือนกันก็ทักมาว่าฝากซื้อตะเกียงแคมป์ปิ้งหน่อย เขารู้ว่าเราแคมป์ปิ้งอยู่แล้ว และเขาก็อยากจะมีอุปกรณ์ใหม่ๆ ที่นำเข้าจากอเมริกา ซึ่งมีบริษัทผลิตตะเกียงแคมป์ปิ้งที่ดังมากอย่าง Coleman
“พอมาถึงเมืองไทย เพื่อนก็มาสอนวิธีจุดตะเกียงที่ถูกต้องให้ และชักชวนเราว่าไหนๆ ก็ชอบและมีความสามารถในการนำเข้า ทำไมไม่เอาเข้ามาเป็นกิจจะลักษณะเลย เพราะผมมีโอกาสได้ไปทุกปี รอบต่อมาก็เลยลองเอาเข้ามาดู”
มากกว่าอุปกรณ์ให้แสงสว่าง
ก่อนหน้าจะเปิดร้านของตัวเอง ชาตรีทำธุรกิจส่วนตัวมาหลายปี และแม้ตอนที่เขาริเริ่มทำธุรกิจในปี 2558 จะมีร้านขายสินค้าแคมป์ปิ้งหลายร้าน แต่ชาตรีก็ยังมองเห็นโอกาสใหม่ในตลาดนี้
ข้อแรก ไม่มีร้านไหนที่นำเข้าสินค้าจากอเมริการ้อยเปอร์เซ็นต์
ข้อต่อมา แม้จะมีร้านที่ขายตะเกียงสำหรับแคมป์ปิ้ง แต่ไม่ใช่ตะเกียงแบบที่ชาตรีจะนำเข้ามาขาย
ในความหมายของเขา คำว่าตะเกียงคือที่จุดไฟซึ่งมีที่บังลม แบ่งออกได้เป็นหลายประเภท ทั้งตะเกียงเทียน ตะเกียงแก๊ส และตะเกียงน้ำมัน ซึ่งอย่างหลังนี้เองที่ชาตรีเลือกนำเข้า เจาะจงลงลึกไปอีกสักหน่อยว่าเป็นตะเกียงน้ำมันที่มีแรงดัน และใช้น้ำมันเบนซินขาวของ Coleman
“ผมอยากบุกเบิกตลาดเกี่ยวกับตะเกียงน้ำมันเบนซิลขาวของยี่ห้อโคลแมน ก่อนหน้านี้เราใช้เป็นน้ำมันก๊าซ แต่ตะเกียงน้ำมันเบนซินขาวมีจุดเด่นคือจุดง่าย เหมาะกับการแคมป์ปิ้งมากกว่า เพราะสว่างกว่า ใช้งานได้ยาวนานกว่า กลิ่นดีกว่า และมีตลาดใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ที่อเมริกา”
เมื่อตัดสินใจได้ ชาตรีก็พาตัวเองไปเรียนรู้เกี่ยวกับตะเกียงแคมป์ปิ้งอย่างลงลึก เขาสมัครเข้าชมรมตะเกียงที่อเมริกาเพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์การผลิต และกลับมาไทยเพื่อให้ผู้ใหญ่ผู้เชี่ยวชาญกับตะเกียงโบราณอย่างตะเกียงเจ้าพายุ สอนเรื่องวิธีใช้ วิธีจุด และวิธีซ่อม
“บอกตรงๆ ว่าถ้าเป็นเรื่องวิธีทำ คนไทยเราชำนาญกว่าคนอเมริกันแน่นอน เราด้อยกว่าแค่เรื่องอะไหล่เท่านั้น ผมเลยเอาความรู้ 2 อย่างมาประยุกต์รวมกัน แล้วตัดสินใจนำตะเกียงน้ำมันเข้ามา ขายด้วย ใช้ด้วย ไปอเมริกาแต่ละครั้งก็ได้ทั้งเที่ยวและได้นำเข้าสินค้า จนสุดท้ายกลายเป็นร้านตะเกียงพาณิชย์ขึ้น”
เหตุผลที่ตั้งชื่อร้านว่าตะเกียงพาณิชย์นั้นเรียบง่าย เพราะชาตรีเติบโตมากับซื้อ-ขายสินค้าจากร้านขายของชำตั้งแต่เด็ก เขาชอบเสน่ห์ในชื่อแบบไทยๆ และตั้งใจว่าจะไม่ลงท้ายด้วยคำว่า ‘แคมป์ปิ้ง’ หรือ ‘เอาต์ดอร์’
“เพราะเวลาคุณเสิร์ช ชื่อร้านที่มีคำพวกนี้อาจขึ้นมาเป็นร้อย แต่ถ้าคุณเสิร์ชว่าตะเกียง มันจะต้องขึ้นชื่อเราเป็นชื่อแรก ผมชอบชื่อแบบวินเทจและคิดได้ว่ามันต้องลงท้ายด้วยพาณิชย์ ก็ตะเกียงพาณิชย์แล้วกัน จำง่าย ติดตลาดได้ เสี่ยงจะโหลแต่ก็เลือกอยู่ดี” ชายหนุ่มยิ้มอย่างมั่นใจ
มากกว่าการพักผ่อน
แม้จะจั่วหัวว่าตัดสินใจเปิดร้านเพราะตะเกียงยี่ห้อ Coleman แต่ความจริงแล้วชาตรียังขายตะเกียงยี่ห้ออื่นที่มีราคากับคุณภาพหลากหลาย ทั้งแบบ ‘ตะเกียงสำหรับใช้งาน’ และ ‘ตะเกียงสำหรับสะสม’ คละมือหนึ่งและมือสอง ในทุกเดือนจะมีตะเกียงใหม่เข้าร้านราว 150-200 ดวง และอย่างน้อยหนึ่งวันในหนึ่งเดือน จะมีแคมเปอร์นับร้อยมาชุมนุมที่ร้านเขาเพื่อแลกเปลี่ยนซื้อ-ขายกันราวตลาดนัด
นอกจากตะเกียงแล้ว ที่นี่ยังจำหน่ายสินค้าใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแคมป์ปิ้ง ซึ่งชนิดของสินค้าก็อ้างอิงมาจากว่าการออกแคมป์ในปัจจุบันไม่ต่างกับการหยิบยืมองค์ประกอบต่างๆ ของบ้านไปไว้กลางธรรมชาติ
เริ่มจากโครงสร้างบ้าน คือเต็นท์ ที่มีทั้งเต็นท์ที่ใช้เป็นที่พักพิงทั่วไป และเต็นท์แฟชั่น
ห้องนอน คือเครื่องนอน ผ้าปู ที่นอนเป่าลม หมอน หมอนข้าง และใดๆ ที่ซัพพอร์ตการนอนหลับ
ห้องครัว คือชุดครัว เสื่อ โต๊ะ เก้าอี้ เตาแก๊ส อุปกรณ์ทำครัว ตะกร้าปิกนิก ฯลฯ
แสงสว่าง คือตะเกียงน้ำมัน หลอด LED ไฟฟ้า
และหากอยากได้อะไรมากกว่านี้ ตะเกียงพาณิชย์ก็รับพรีออร์เดอร์ส่งตรงจากอเมริกาได้เหมือนกัน
“หน้าที่ของร้านเราคือการหาอะไรก็ได้ที่ออกแบบมาเพื่อแคมป์ปิ้ง ใช้ได้จริง สะดวก และสวยงาม” ชาตรีบอก “กลุ่มลูกค้าของเราคือเราเน้นกลุ่มแคมเปอร์มือใหม่เป็นหลัก เพราะแม้เราจะอยู่กับแคมป์ปิ้งมาแล้วหลายสิบปี เรายังรู้สึกอยากเรียนรู้เรื่องแคมป์ปิ้งอยู่ตลอดเวลา เราไม่อยากเป็นร้านขายของที่ซื้อแล้วจบโดยที่ลูกค้าไม่รู้เรื่องอะไรเลย เพราะนโยบายของร้านคือ ‘คุณต้องให้ความรู้ลูกค้าก่อนเพื่อให้เขาตัดสินใจว่าจะไปสายไหน’
สายที่ชาตรีพูดถึง หมายถึงรูปแบบของอุปกรณ์แคมป์ปิ้งและจุดประสงค์การใช้ที่ผู้ซื้อจำเป็นต้องรู้ เพราะบางคนซื้ออุปกรณ์ไปใช้งาน บางคนซื้อไปตกแต่งความสวยงามให้เต็นท์ บางคนซื้อไปถ่ายรูปก็มี
“ในเบื้องต้น ถ้าคุณเดินเข้ามาในร้านแล้วสนใจชิ้นไหน เราจะอธิบายประสิทธิภาพ วิธีใช้ คุณภาพ ชนิดสินค้าก่อนจะบอกราคา พูดง่ายๆ คือให้ความรู้เพื่อให้ลูกค้าเข้าใจและสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง
“แคมป์ปิ้งเมื่อก่อนอาจเป็นเรื่องของความยากลำบาก แต่สมัยนี้มันไม่ได้เป็นแบบนั้นอีกแล้ว สำหรับผม การไปกางเต็นท์ไม่จำเป็นต้องประหยัดเหมือนแต่ก่อน ผมอาจซื้อโต๊ะตัวนี้เพราะไม่ใช่โต๊ะที่คงทนที่สุดก็ได้ แต่มันเหมาะกับการถ่ายรูป สวย หรือนั่งสบายที่สุด” ชาตรีอธิบายความหมายของการแคมป์ปิ้งที่เปลี่ยนไป
“สังคมกางเต็นท์แบบ ‘อยู่สบาย’ นี้มีมานาน ตั้งแต่ยุคฮิปปี้ในอเมริกา คนญี่ปุ่นเห็นก็ก๊อปมา แล้วคนไทยก็เลียนแบบกันอีกที สมัยนี้คนไปกางเต็นท์เพราะเขาอยากพักผ่อน ไปเสพธรรมชาติ ไปทำอะไรที่อยู่ที่บ้านจะทำไม่ได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความสะดวกสบายหรืออาหารการกิน แคมป์ปิ้งเดี๋ยวนี้ไม่ใช่เรื่องมาม่าหรือปลากระป๋องอีกต่อไป คุณจะไปทำหมูกระทะ หรือสั่งพิซซ่าให้มาส่งที่เต็นท์ยังทำได้เลย
“ถามว่าทำไมแคมป์ปิ้งถึงบูม ผมคิดว่าทุกวันนี้เราก้าวข้ามปัจจัย 4 และเริ่มเข้าสู่ปัจจัย 8 คือการศึกษา ความบันเทิง การพักผ่อน ประการสุดท้ายแล้วแต่จะระบุ ซึ่งในข้อการพักผ่อนนั้นมีหลายรูปแบบ จะโยคะ กิน วิ่ง ร้องเพลง แคมป์ปิ้งก็คือหนึ่งในตัวเลือกนั้น
“แต่สิ่งที่แคมป์ปิ้งแตกต่างจากกิจกรรมเหล่านั้นคือมันเป็นกิจกรรมที่คุณสามารถพาครอบครัว ทุกเพศทุกวัยไปด้วยกันได้ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงคนที่แก่ที่นั่งรถเข็น”
ชาตรีเล่าว่า อีกหนึ่งเอกลักษณ์เฉพาะตัวของการแคมป์ปิ้งคือการเปิดให้คนในครอบครัวได้คุยกันอย่างจริงจัง “อย่างผมกับแฟน อยู่บ้านด้วยกัน 24 ชั่วโมง แต่สิ่งที่เราคุยกันมีแต่เรื่องการค้า เรื่องนอกตัวรอด แต่พออยู่เต็นท์ เราได้คุยเรื่องของเราแบบจริงๆ คุยกันกะหนุงกะหนิง คุยกันแบบไม่ต้องสระผม นุ่งผ้าถุงมาคุยกันก็ได้โดยไม่มีใครตัดสินใคร”
เหมือนว่าตอนอยู่แคมป์ปิ้ง เราได้เป็นตัวของตัวเองที่สุด ชาตรีสรุปเช่นนั้น
มากกว่าการแข่งขัน
นอกจากความรื่นรมย์จากการทำงานกับสินค้าที่ตัวเองอินทุกวัน ความสุขจากการเปิดร้านตะเกียงพาณิชย์ของชาตรีก็เกิดจากลูกค้าที่อยู่ในแวดวงเดียวกัน หรือแม้กระทั่งคู่แข่ง
“ผมทำมาหลายอาชีพ ซึ่งอาชีพขายอุปกรณ์แคมป์ปิ้งคืออาชีพที่เฟรนด์ลี่ที่สุด ไม่ว่าจะระหว่างลูกค้ากับพ่อค้า และระหว่างพ่อค้าด้วยกัน” ชายหนุ่มเล่าสิ่งที่ทำให้เราประหลาดใจ
“อาชีพอื่นเวลาคุณขายของ คุณเจอลูกค้าแค่หน้าร้านหรือทางโทรศัพท์ แต่อาชีพขายอุปกรณ์แคมป์ปิ้ง คุณเจอลูกค้าทุกครั้งที่ไปกางเต็นท์ หรือแม้กระทั่งคู่แข่งที่กลายเป็นเพื่อนในวงการ เพราะสังคมแคมป์ปิ้งมันแคบมาก มันจำกัดด้วยสถานที่ที่คุณไปกางเต็นท์ มันเลยทำให้ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันมากกว่าอาชีพอื่นๆ”
และเพราะการถ้อยทีถ้อยอาศัยที่เขาว่า บรรยากาศในการแคมป์ปิ้งจึงเต็มไปด้วยพลังงานดีๆ ของเหล่าแคมเปอร์ที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
“รู้ไหมว่าวงการแคมป์ปิ้งขโมยน้อยมาก คิดดูสิว่าช่วงเทศกาลมีคนไปกางเต็นท์ร่วมกันแตะแสนหลัง แต่แทบไม่มีมิจฉาชีพเลย พูดตรงๆ ผมออกแคมป์มา 30 ปี ของที่เคยหายจริงๆ คือมะนาวกับพริก” คำพูดของชายหนุ่มทำให้เราหัวเราะครืน “แล้วไม่ได้ขโมยไปเลยด้วยนะ เขาเขียนจดหมายแปะว่าขอยืม แล้วพรุ่งนี้จะไปจ่ายตลาดมาคืนให้ หรือบางที เต็นท์อื่นจะมาขอของที่เรามีแล้วถามว่าคิดเงินไหม เราก็ดีใจที่อุปกรณ์ของเราช่วยเหลือเขาได้ เพราะหลายครั้งผมก็ต้องขอความช่วยเหลือจากเต็นท์อื่นเหมือนกัน”
สำหรับชาตรีแล้ว การแคมป์ปิ้งต่างจากงานอดิเรกอย่างอื่นคือมันไม่ใช่การแข่งขัน ในทางกลับกัน หากคุณไปออกแคมป์แล้วมีอุปกรณ์พร้อมกว่าเต็นท์อื่น คุณก็จะถูกขอหยิบยืมมากกว่า
“การที่คุณมีอุปกรณ์พร้อมมันเป็นเรื่องลำบากนะ สมมติผมไปกางเต็นท์แล้วขนอุปกรณ์ไปเยอะ เต็นท์ที่เขาเป็นแคมเปอร์มือใหม่ มีอุปกรณ์น้อยก็อาจจะเพ่งเล็ง สักพักก็จะโดนถามว่าพี่ครับมีสมอบกไหมครับ มีมะนาวไหม มีเครื่องแปลงไฟไหมครับ” ชายหนุ่มหัวเราะ
“แน่นอนเราดีใจและให้ยืมไป แลกกับอะไร อาจจะไม่ใช่เงินหรอก แต่เราได้รอยยิ้ม มิตรภาพ ความรู้สึกภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือคน มันไม่ได้ยิ่งใหญ่หรือมีมูลค่าอะไรเลย แต่มีความสุข ซ่อนอยู่ในสิ่งเหล่านั้น”
มากกว่าร้านขายสินค้าแคมป์ปิ้ง
ชาตรีมองอนาคตร้านตะเกียงพาณิชย์ว่า นอกจากการจำหน่ายและซ่อมบำรุงตะเกียงกับอุปกรณ์ทุกอย่างเกี่ยวกับการแคมป์ปิ้ง เขาอยากสร้างร้านนี้ให้กลายเป็น one-stop service เพื่อให้ชาวแคมป์ได้ซื้อ ขาย จำหน่าย ซ่อม หรือแม้แต่สร้างสรรค์อุปกรณ์แคมป์ปิ้งของตัวเอง
“อยากให้การแคมป์ปิ้งต่อยอดไปสู่การสร้างอาชีพที่หลากหลาย บางทีอาจมีช่างไม้ ช่างเหล็ก ช่าง DIY ชุมชนมาทำให้เกิดชิ้นงานสำหรับการแคมป์ปิ้งใหม่ๆ พออาชีพต่างๆ เข้ามาช่วยกันสร้างสรรค์งาน มันเป็นการเอื้อเฟื้อแบ่งปันกันมากขึ้น ไม่ใช่การเอาตัวรอดคนเดียวอีกแล้ว” ชาตรีหวังใจ
แล้วในฐานะเจ้าของกิจการที่อยู่กับร้านมานาน 4 ปี ผลตอบรับแบบไหนที่ทำให้ชาตรีรู้สึกชื่นใจมากที่สุด เราโยนคำถามนี้ในช่วงท้ายของบทสนทนา
เขาครุ่นคิดครู่หนึ่งก่อนจะระบายยิ้มและตอบว่า การได้เห็นร้านตะเกียงเล็กๆ ของเขาได้ช่วยผลิตแคมเปอร์หน้าใหม่เข้าสู่วงการแคมป์ปิ้งเมืองไทย
“สินค้าแคมป์ปิ้งเป็นสิ่งที่ใหม่สำหรับคนไทย การได้บอกเล่าเรื่องราว วิธีใช้ แหล่งที่มาของสินค้า มันทำให้เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่ความรู้ ไลฟ์สไตล์การพักผ่อนไปสู่คนใหม่ๆ บางอย่างเราก็ต้องแนะนำเขาโดยที่ของเรายังไม่ได้ขาย แต่เราทำเพราะอยากให้เขาสนุก
“ถ้ามองในแง่การค้า ถ้าเมื่อไหร่ที่สนุก มันก็จะเกิดการขาย แต่ถ้ามองในแง่แคมเปอร์ด้วยกันคือ เมื่อไหร่ที่เขาสนุก เขาก็จะอยู่เป็นเพื่อนกางเต็นท์กับเราไปนานๆ”
ร้านตะเกียงพาณิชย์
เวลาเปิด : 10:00 น. – 22:00 น. วันเสาร์-พฤหัสบดี (ปิดทุกวันศุกร์)
ที่ตั้ง : 596/72 หมู่บ้าน Areeya Tobe ถ.ลาดปลาเค้า แขวงจรเข้บัว เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร
โทรศัพท์ : 081 933 3366
เฟซบุ๊ก : ร้านตะเกียงพาณิชย์