Garden Atlas แบรนด์กระถางหลากสไตล์ที่ออกแบบจากการใช้งานเพื่อคนรักต้นไม้ในบ้าน

Highlights

  • Garden Atlas คือชื่อแบรนด์และร้านกระถางต้นไม้ของ แพท–ธัญญารัตน์ เธียรอำนาจ และ ปุ๊ย–แพรวไพลิน ศิริชัยมนัส ที่เคยทำงานด้านดีไซน์และจัดพร็อพมาก่อน
  • เมื่อ 3-4 ปีที่แล้วพวกเธอเริ่มต้นทำแบรนด์จากการหากระถางเรียบๆ สวยๆ มาเข้าฉากไม่ได้ หลังจากลองออกแบบและฝากขายตามร้านของคนรู้จัก ทั้งสองก็ตัดสินใจเปิดร้านเป็นของตัวเองในย่านนางลิ้นจี่
  • กระถางของที่นี่ทำมาจากหลากหลาย material ทั้งยังมีรูปทรงและฟังก์ชั่นที่ตอบโจทย์คนรักการปลูกต้นไม้ในบ้าน มั่นใจได้เลยว่าหากเข้าไปในร้านนี้แล้วไม่มีทางที่คุณจะออกมามือเปล่าแน่นอน
  • ชวนฟังเคล็ดลับการออกแบบโปรดักต์และการทำงานของคู่พาร์ตเนอร์แห่งร้านเล็กๆ ที่อัดแน่นไปด้วยความน่ารักแห่งนี้ ว่าเหตุใดพวกเธอถึงได้เป็นที่รักในแวดวงคนปลูกต้นไม้นัก

ในพื้นที่หนึ่งคูหาบนถนนนางลิ้นจี่ ย่านสาทร มีร้านเล็กๆ น่ารักที่รายล้อมไปด้วยต้นไม้สีเขียวแฝงตัวอยู่

คนผ่านไปผ่านมาอาจคิดว่าที่นี่คือร้านขายต้นไม้หรือคาเฟ่แนวร่มรื่น แต่ความจริงแล้วร้านสีเขียวที่ให้บรรยากาศอบอุ่นเหมือนบ้านเล็กในป่าใหญ่แห่งนี้คือ ฐานทัพแบรนด์กระถางต้นไม้ที่มีชื่อว่า Garden Atlas ของคู่พาร์ตเนอร์ แพท–ธัญญารัตน์ เธียรอำนาจ และ ปุ๊ย–แพรวไพลิน ศิริชัยมนัส ที่เปิดมากว่า 3 ปีครึ่งแล้ว

ก่อนหน้านั้นทั้งคู่ทำงานด้านการออกแบบและการตกแต่งพร็อพมาก่อน จนเจอปัญหาเรื่องกระถางเรียบๆ สวยๆ ที่หาได้ยาก พวกเธอจึงลองออกแบบกระถางในแบบที่อยากได้และนำไปฝากขาย จนสุดท้ายก็ตัดสินใจเปิดร้านเป็นของตัวเอง

เราหยุดยืนหน้าร้านแบรนด์กระถางหน้าตาโมเดิร์นในเช้าวันหยุด ขณะที่เจ้าของร้านทั้งสองคนกำลังจัดของเตรียมเปิดร้านภายในอีกไม่กี่นาทีนี้อย่างขะมักเขม้น

ประตูร้านเปิดแล้ว ตามไปฟังแนวคิดและกระบวนการทำงานของสองคนนี้กันเลยดีกว่า

 

หลากหลายกระถางในร้านเล็กๆ

ด้วยความที่กระถางมีฟังก์ชั่นชัดเจนคือใส่ต้นไม้ และไม่ว่าใครก็สามารถเข้าถึงได้ ไม่จำเป็นต้องชอบแต่งบ้านหรืองานดีไซน์ ปุ๊ยจึงเลือกหยิบโปรดักต์ชิ้นนี้มาออกแบบใหม่ในแบบฉบับของตัวเอง ปัจจัยแรกที่เธอคำนึงถึงคือเรื่องการใช้งานง่าย ยึดจากตัวเองที่ปลูกต้นไม้ไม่ได้เก่งมากนัก

“เราแค่อยากมีกระถางที่สวมกระถางดำลงไปได้พอดี ขอบไม่เกินขึ้นมา แค่นั้นเอง ก็เริ่มดูจากไซส์ก่อน ทำให้พอดี ใช้ง่าย น้ำหนักเบา วางแล้วทำให้คนรู้สึกว่าไม่ต้องมีต้นไม้ในบ้านเยอะๆ ก็ได้ เหมือนวางชิ้นหนึ่งแล้วเป็นทั้งของแต่งบ้านและให้ความรู้สึกว่ามีสิ่งมีชีวิตในบ้านด้วย เลยเริ่มเป็นโจทย์ขึ้นมา หลังจากนั้นก็มีทำการบ้านเรื่องต้นไม้”

นอกจากความชัดเจนในการออกแบบกระถางต้นไม้อย่างเดียวแล้ว ปุ๊ยกับแพทก็ชัดเจนว่าจะออกแบบโปรดักต์เพื่อต้นไม้ในบ้านเท่านั้น หลังจากที่เริ่มรู้จักต้นไม้ว่ามีพันธุ์ใดบ้างแล้ว พวกเธอก็ค่อยๆ ออกแบบกระถางรูปแบบอื่นเพิ่มขึ้นเพื่อตอบโจทย์ลักษณะของพืชชนิดอื่นๆ

อีกความโดดเด่นของกระถางที่นี่คือความหลากหลาย ถ้าสังเกตดีๆ เราจะเห็นกระถางที่ทำมาจากหลายหลาก material

“เหมือนเราเริ่มจากซัพพลายเออร์ทำเหล็ก แล้วก็มาลองหวาย ลองเซรามิก เป็นการสะสมเรียนรู้จากซัพพลายเออร์ไปเรื่อยๆ คล้ายๆ ร่วมงานแล้วปรับกันไปมาก็เลยใช้ material ต่างกัน ด้วยความที่เราเริ่มจากการออกแบบแต่ไม่ได้เป็นผู้ผลิต ดังนั้นเราจึงไม่ต้องฟิกซ์ตัวเองว่าต้องเป็นกระถางไฟเบอร์หรือเซรามิกทั้งร้าน เราสนใจอะไรก็ลองทำไปเรื่อยๆ เลยได้ความหลากหลายตรงนี้มา ชิ้นไหนที่เราไม่ได้ออกแบบเองแต่แพทเลือกเข้ามา เราจะเป็นคนออกแบบพวกส่วนขาตั้งหรืออะไรที่เสริมให้แตกต่างจากเดิม”

เหตุนี้เองร้านกระถางเล็กๆ แห่งนี้จึงมีทั้งงานหวาย กระถางดินเผา กระถางจิ๋วจากหินแกรนิต กระถางกระจูด กระถางหินขัด กระถางโครงเหล็ก โครงเกาะพยุงไม้เลื้อยรูปทรง polygon ฯลฯ เรียกว่ามาที่นี่ยังไงก็ไม่กลับไปมือเปล่าแน่นอน แต่กว่าจะออกมาเป็นกระถางและอุปกรณ์สำหรับต้นไม้แบบที่เราเห็น ปุ๊ยกับแพทก็ปรับเปลี่ยนโปรดักต์กันมาอย่างหนักหน่วงอยู่เหมือนกัน

“มีบางอย่างที่เราออกแบบกันแล้วคิดว่าใช้งานได้แหละ น่าจะเป็นฟังก์ชั่นที่คนต้องการ แต่จริงๆ แล้วกลับไม่ได้รับการตอบรับดีเท่าที่ควร อาจจะยากเกินไป แต่ก็จะได้ไอเดียจากลูกค้าว่าต้องอย่างนั้นสิอย่างนี้สิ อย่างสมัยที่เพิ่งเปิดร้านก็เป็นช่วงเวลาที่สนุกสนานมาก ลูกค้าทุกคนที่เข้ามาจะสื่อสารเยอะ บอกว่าโอเคตรงไหน ตรงไหนที่อยากได้ เราก็ปรับไปตามลูกค้า เพราะช่วงนั้นไม่มีร้านแบบนี้เลย ทุกคนเลยว้าวมากที่มาเปิดตรงนี้ มีคุณน้าคุณป้ามาชวนคุย มีคุณป้าที่ปลูกต้นไม้เยอะๆ เอาต้นไม้มาแนะนำกับมาฝาก ได้ความโลคอล ลูกค้าก็น่ารัก” แพทเล่าด้วยรอยยิ้ม

 

ร้านกระถางต้นไม้ที่ให้อารมณ์เหมือนอยู่บ้าน

“ตอนนั้นเราคิดชื่อเพื่อให้สื่อถึงร้านต้นไม้ที่ไม่ไทยหรือฝรั่งเกินไป คำว่า atlas คือแผนที่โลก เราอยากสื่อถึงการได้อิทธิพลมาจากหลายๆ ที่หรือสิ่งต่างๆ ที่รวมเป็นสวนของเรา เป็นธีมแนวๆ ความหลากหลาย บางทีเอาของสานๆ เอากระติ๊บมาดัดแปลง มีทองเหลือง เหล็ก เยอะแยะไปหมด มีความทวิสต์ของไทยและฝรั่ง ส่วน garden ก็สื่อถึงการมีต้นไม้ในบ้าน” ปุ๊ยเล่าถึงที่มาของชื่อร้าน ซึ่งเราคิดว่ามันช่างน่ารักและเหมาะสม

“ต่อเนื่องไปอีกคือบ้านของคนในกรุงเทพฯ มีไซส์เล็กลง ทั้งคนที่มาอยู่ทาวน์เฮาส์และแก๊งคอนโด ก็เลยไม่มีดิน ไม่มีพื้นที่ อาจมีระเบียงเล็กๆ ในบ้านไปเลย เราจึงสร้างสรรค์ทั้งหมดนี้เพื่อให้คนอยากเอาต้นไม้เข้ามาอยู่ในบ้าน เพราะการที่อยู่ในบ้านที่มีสีเขียวบ้างจะช่วยให้มีความสุขเล็กๆ จรรโลงจิตใจ” หญิงสาวพาร์ตเนอร์อีกคนช่วยเสริม

จากความตั้งใจนี้เองที่ทำให้ Garden Atlas มีสีเขียวหลายเฉดเพื่อสื่อถึงความเป็นสวน ทั้งยังประกอบด้วยเฟอร์นิเจอร์มือสองผสมผสานกับเฟอร์นิเจอร์ที่สั่งทำ รวมถึงชั้นวางจากช่างที่สนิทและตู้ไม้เก่าใบเขื่องที่เป็นสมบัติตกทอดจากพ่อ ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกปรับเปลี่ยนมาหลายครั้งเช่นเดียวกัน เพราะการวางของใหญ่ๆ ในที่แคบถือว่าปราบเซียนมาก แม้ว่าพวกเธอจะทำงานด้านการดีไซน์และการจัดวางมาก็ตาม

แต่สุดท้ายการอยู่กันไปเรื่อยๆ และมีกันอยู่สองคนก็ทำให้ทิศทางของร้านเป็นไปอย่างถูกใจและใช้งานได้จริง บรรยากาศสบายๆ เหมือนอยู่บ้านอีกหลัง แต่ก็หยิบจับของได้อย่างไม่ลำบาก “เราต้องอยู่ที่นี่ทุกวันอยู่แล้วเลยต้องจัดให้เป็นสิ่งที่เราชอบ ไม่งั้นคงไม่อยากอยู่ บวกกับเวลาลูกค้าเข้ามาก็จะได้เห็นภาพจริงด้วยว่า ถ้าเอาอันนี้ไปวางในบ้านเขาตรงชั้นนี้โต๊ะตัวนี้ของเขาคงจะมีหน้าตาประมาณนี้ ซึ่งนี่อาจเป็นความแตกต่างจากการไปร้านต้นไม้ทั่วไป เพราะเราทำให้เห็นภาพไปเลยว่ากระถางใบนี้อยู่กับต้นไม้ต้นนี้ แล้ววางบนโต๊ะนี้ ชั้นนี้ พื้นความสูงนี้ เป็นการทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น”

 

รู้เรื่องกระถางแล้วต้องชำนาญเรื่องต้นไม้ด้วย

แม้จะเป็นเจ้าของร้านร่วมกัน แต่ปุ๊ยกับแพทต่างแบ่งหน้าที่ทำงานรับผิดชอบกันชัดเจน เนื่องจากช่วงแรกที่ยังไม่แยกงานกันแน่ชัดค่อนข้างสร้างปัญหาและความสับสนให้ทั้งคู่ไม่น้อย พวกเธอจึงกำหนดเลยว่าปุ๊ยเป็นฝั่งออกแบบและคุยกับซัพพลายเออร์ ส่วนแพทจะดูเรื่องการสั่งของหรือต้นไม้เข้ามาในร้าน

“บางอย่างตอนแรกๆ จะมีเรื่องที่คนหนึ่งชอบแล้วอีกคนไม่ชอบ หรืออย่างน้อยก็ชอบน้อยกว่า เลยทำให้เกิดการฮึ่มๆ กัน แต่พอหลังๆ ก็รู้ว่าเราดูแลทุกอย่างคนเดียวไม่ได้อยู่แล้ว ด้วยความที่ยังชอบอะไรเหมือนกันเยอะเลยทำให้ไปต่อได้โดยที่ไม่ต้องบีบกันมาก” แพทเล่า

“แต่โดยหลักที่ทำให้ร่วมงานมาจนถึงวันนี้ได้เพราะเวลาปุ๊ยออกแบบเราเห็นทุกอย่างสวยอยู่แล้ว เราแค่ช่วยเสนอแนะอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่พอเสริมได้อย่างพวกฟังก์ชั่น แต่ทั้งหมดในการจบงาน ทั้งสี เทกซ์เจอร์ และซัพพลายเออร์ ก็ต้องเป็นเขา” ปุ๊ยเสริม

นอกจากเรื่องการออกแบบกระถางที่สำคัญกับธุรกิจแล้ว ความรู้เรื่องต้นไม้ก็เป็นสิ่งที่ทั้งสองคนมองข้ามไม่ได้ จากตอนแรกที่เป็นคนปลูกต้นไม้ในบ้านประมาณหนึ่งและทำงานจัดพร็อพ เลือกต้นไม้สวยๆ มาเข้าฉากแล้วจบไป แต่เมื่อสวมบทบาทเป็นเจ้าของร้านกระถางต้นไม้แล้ว พวกเธอย่อมต้องศึกษาหาความรู้เรื่องต้นไม้ไปด้วยโดยปริยาย

“คราวนี้เราต้องรู้ว่าต้นนี้อยู่ในไหน แสงแบบไหน รดน้ำยังไงถึงไม่ตาย และการบุกไปซื้อต้นไม้บ่อยๆ มันเหมือนเรียนหนังสือใหม่ ต้องไปเรียนกับพี่คนสวนทั้งหลายแล้วค่อยเลือกสิ่งที่คิดว่าลูกค้าจะเอามาขายในร้าน โดยเน้นความสวยงามและความเป็นไปได้ว่าจะรอด”

แล้วระหว่างการศึกษาเรื่องต้นไม้กับการทำธุรกิจอันไหนยากกว่ากัน เราตั้งคำถาม 

แพทตอบทันทีว่าอย่างที่สองยากกว่า เพราะแม้พวกเธอจะมีจิตวิญญาณแม่ค้าอยู่ในตัว แต่งานฝั่งตัวเลขและสต็อกที่เป็นงานหลังบ้านพวกเธอล้วนไม่ถนัดเอาเสียเลย

“ถ้าเป็นเรื่องการเปลี่ยนตัวตนจากการออกแบบอย่างเดียว เราต้องพยายามถึงขีดสุดในการหันเหมาสนใจเรื่องตัวเลขของงานขายหรือบัญชีบ้าง ต้องมีพาร์ตหนึ่งในตัวเองที่ต้องเรียนรู้ แต่อะไรที่ยากมากจริงๆ ก็ไปขอความช่วยเหลือหรือจ้างคนอื่นมาช่วย เพราะถ้าให้จัดของเหนื่อยแค่ไหนเราก็จัดได้ หรือพี่ปุ๊ยที่ออกแบบเหนื่อยมากก็ทำได้ แต่พอเป็นพาร์ตหลังบ้านที่ซับซ้อนเราจะไปไม่ค่อยเป็น ยิ่งมีหน้าร้านต้องเปิดทุกวันก็ยิ่งไม่มีเวลาให้มาตั้งต้นใหม่ ก็ค่อยๆ รับมือไป”

 

พัฒนาโปรดักต์และหากลุ่มลูกค้าใหม่ๆ

โปรดักต์กว่าครึ่งภายใน Garden Atlas เป็นสิ่งที่ปุ๊ยกับแพทออกแบบเองและไม่มีวางขายที่ไหนแน่นอน ส่วนใหญ่ลูกค้าที่เข้ามาจะบอกเลยว่าอยากได้ต้นไม้แบบไหน หรือบางคนที่มีต้นไม้อยู่แล้วพวกเธอก็จะแนะนำเรื่องกระถางโดยอิงกับอารมณ์ของพื้นที่ที่จะนำไปตั้ง เรียกว่าเป็นการนำความรู้เก่ามาใช้เต็มที่ แถมยังเป็นบริการช่วยออกแบบจัดวางให้ลูกค้าไปในตัวด้วย

“ส่วนใหญ่เริ่มจากปรึกษาเรื่องต้นไม้ก่อนแล้วค่อยมาเรื่องกระถาง เพราะกระถางของพวกเราครอบคลุมจริงๆ มี material เยอะมาก ลูกค้าสามารถมาปุ๊บแล้วเลือกได้ คิดว่าน่าจะมีสิ่งที่ชอบบ้างแหละ ตั้งแต่เซรามิกเรียบๆ แนวธรรมชาติ มางานเหล็กเรียบเท่ จนถึงงานไฟเบอร์ที่โมเดิร์นเข้าได้กับทุกบ้าน”

นอกจากนี้พวกเธอยังมีโปรดักต์เซตสำคัญที่เป็นจุดขายในช่วง 2 ปีหลัง นั่นคือ Bao Collection

“ช่วงปีแรกเราได้ลองขายกระถางใหญ่ที่เป็นปูนหรือดินเผาที่ค่อนข้างหาได้ทั่วไป ทีนี้มันหนักมาก เราสองคนก็ตัวเท่านี้เลยถือไม่ไหว พยายามหาทางสุดฤทธิ์ว่าผู้หญิงที่อยู่คอนโดคนเดียวจะทำยังไง จะแบกกระถางปูนขึ้นไปได้ไง บางทีบาดมืออีก เราเลยพยายามค้นหา material ใหม่เป็นไฟเบอร์ที่หน้าตาเรียบง่าย สวยงาม และที่สำคัญคือน้ำหนักเบา สามารถรับกระถางได้ตั้งแต่ 10-17 นิ้ว ผู้หญิงคนเดียวถือขึ้นลิฟต์หรือเดินขึ้นบันไดระยะสั้นๆ หรือถือมือเดียวก็ยังได้ เราเลยเริ่มพัฒนารุ่นนี้เป็นทางเลือกของคนปลูกต้นไม้ที่ต้องยกออกไปเปลี่ยนจุดวางบ้าง เป็นเซกชั่นกระถางใหญ่ที่มีน้ำหนักเบา มากับขาตั้งหลายๆ แบบ”

ส่วนในฝั่งธุรกิจ จุดสำคัญที่ทำให้ Garden Atlas เป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงกว้างและดำเนินการมาได้อย่างดีจนถึงทุกวันนี้คือ การคิดหาโมเดลธุรกิจอื่นๆ อย่างการพาตัวเองออกไปสู่ภายนอกตั้งแต่ช่วงปีแรก เช่น การจำหน่ายกระถางต้นไม้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และการนำโปรดักต์ไปฝากขายกับห้างสรรพสินค้าใจกลางเมือง เพื่อขยายฐานลูกค้าชาวต่างชาติ ทว่าส่วนที่ทำให้ทั้งสองรู้จุดยืนของตัวเองอย่างแจ่มชัดและเห็นเส้นทางที่ไปต่อได้ คือโครงการ Designers’ Room & Talent Thai ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ที่พวกเธอสมัครเข้าร่วม

“นี่เป็นจุดใหญ่ที่ทำให้เรามีจุดยืนที่ชัดเจนว่าจะเน้นออกแบบกระถางต้นไม้ไปเลย ได้เวิร์กช็อปและเรียนรู้อะไรเยอะ พอจบหลักสูตรก็ไปออกบูทงาน BIG+BIH ที่ทางกรมส่งเสริมฯ จัดขึ้น เจอลูกค้าต่างชาติ ได้ทราบรายละเอียดการส่งออก รวมถึงได้ไปออกอีเวนต์ STYLE Bangkok Fair ร่วมกับดีไซเนอร์คนอื่นๆ ทำให้ได้เพื่อนและขยายกลุ่มลูกค้าให้ใหญ่ขึ้น นอกจากนี้ก็มีอีเวนต์ Made By Legacy ที่ทำให้ได้เจอกลุ่มคนที่น่ารักมาก งานบ้านและสวน และอีเวนต์ต่างๆ ที่เป็นแนวใกล้เคียงกัน”

“การไปออกอีเวนต์จะขมวดให้เรารู้ว่าลูกค้าเราจะเป็นคนนี้ เหมือนทำให้คนมาหาเราเอง ซึ่งการได้เจอคนที่หลากหลายทำให้เรากลายเป็นตัวเราที่ชัดเจนมากขึ้น เลยคิดว่าถ้าใครเริ่มทำแบรนด์ การออกงานให้คนรู้จักเยอะๆ ก่อนน่าจะดีกว่าการอยู่แต่ในโลกของตัวเอง”

ในอนาคตทั้งสองตั้งใจว่าจะพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ให้แข็งแรงขึ้นเพื่อเสริมฐานช่องทางการขายโปรดักต์ให้ไปไกลกว่าการขายหน้าร้าน รวมถึงวางแผนดีไซน์โปรดักต์แนวไลฟ์สไตล์ที่เกี่ยวกับการปลูกและการดูแลต้นไม้ในบ้านให้ครอบคลุมความต้องการของ plant lover ใครที่เป็นแฟนร้านนี้เตรียมตัวสร้างอาณาจักรสวนในบ้านได้เลย

ส่วนใครที่กล้าๆ กลัวๆ ว่าตัวเองจะปลูกต้นไม้ได้จริงไหม จะดูแลให้มันไม่ตายตลอดรอดฝั่งหรือเปล่า ปุ๊ยกับแพทบอกว่าพวกเธอพร้อมให้คำปรึกษาและคำแนะนำเต็มที่

บ้านน้อยในป่าใหญ่หลังนี้พร้อมต้อนรับทุกคนเสมอ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย