Patchouli.scent.design แบรนด์ที่รับออกแบบกลิ่นเฉพาะตัวให้ทุกสิ่งอัน

Highlights

  • Patchouli.scent.design แบรนด์น้ำหอมที่ทำงานกับกลิ่นในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการจัดเวิร์กช็อปปรุงกลิ่นให้คนทั่วไปหรือการปรุงกลิ่นสำหรับแบรนด์ต่างๆ โดยเฉพาะ
  • จุดเด่นของ Patchouli.scent.design คือการใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปในผลงาน เช่น ในเวิร์กช็อปปรุงกลิ่นที่เธอมักให้ผู้เข้าร่วมตีความกลิ่นออกมาเป็นภาพ และตีความภาพ ตัวละคร หรือเรื่องราวส่วนตัวออกมาเป็นกลิ่นของตัวเอง
  • นอกจากเวิร์กช็อปจะกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการแล้ว กลิ่นยังช่วยเยียวยาร่างกายและจิตใจได้ด้วย การปรุงกลิ่นหอมของตัวเองจึงเป็นกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายผู้เข้าร่วมไปในตัว

“ลองดมดูนะคะ กลิ่นนี้ทำให้คิดถึงอะไร”

เราค่อยๆ สูดกลิ่นน้ำหอมจากขวดปริศนาในมือ พลางปิดตา ปิดหู ปิดทุกผัสสะอื่นๆ เพื่อให้จมูกส่งข้อมูลไปสู่สมองอย่างชัดเจนที่สุด น่าฉงนที่น้ำหอมไม่กี่หยดกลับสามารถสร้างโลกเสมือนในความนึกคิดของเราได้ทั้งใบ มันปรุงแต่งผู้หญิงคนหนึ่งขึ้นในความทรงจำ ผู้หญิงที่โอบอ้อมอารีแต่ก็มีเสน่ห์ เธออยู่ในคฤหาสน์โอ่อ่าหลังเก่า ล้อมรอบไปด้วยต้นไม้สูงใหญ่ เธออาจจะกำลังนั่งรออะไรบางอย่างหรือใครสักคน

เมื่อลืมตาขึ้นเราพบว่าตัวเองนั่งอยู่ที่เดิม อยู่บนชั้นสองของคาเฟ่ย่านทองหล่อ เบื้องหน้าเรามีรอยยิ้มของ ต๋อม–ศิริรัตน์ เหล่าทัพ นักปรุงกลิ่นสุดเท่ในชุดยูนิฟอร์มสีดำประจำตัว เธอเป็นเจ้าของ Patchouli.scent.design แบรนด์น้ำหอมที่ทำงานกับกลิ่นในหลายรูปแบบ ตั้งแต่การจัดเวิร์กช็อปปรุงกลิ่นไปจนถึงการออกแบบกลิ่นเฉพาะตัวให้แบรนด์ต่างๆ ตั้งแต่ร้านชาไปจนถึงแบรนด์รถยนต์ BMW

ในช่วงที่รู้สึกถูกรุมล้อมด้วยความเครียดจากหลากหลายปัจจัย เราจึงพยายามขวนขวายหาสิ่งที่ ‘ดีต่อใจ’ มาบำบัดตัวเองมากมาย สุคนธบำบัดหรือการบำบัดด้วยกลิ่น (อโรม่าเทอราพี) ถือเป็นหนึ่งในสิ่งต้นๆ ที่เราเลือกลองด้วยความที่เริ่มต้นได้ง่ายและใกล้ตัว โชคดีที่เราได้รับเชิญมาเปิดประตูเข้าสู่โลกของกลิ่นในเวิร์กช็อปการปรุงน้ำหอมของ Patchouli.scent.design พอดี ซึ่งเอกลักษณ์ของการสอนที่นี้นั้น นอกจากจะสอนให้ใช้จมูกแล้วยังให้ใช้หัวใจในการดมด้วย

วันเวิร์กช็อปต๋อมสอนเราเรื่องความแตกต่างของกลุ่มในกลิ่นแต่ละชนิดจากน้ำมันหอมระเหยหลายสิบขวดที่เรียงรายอยู่บนโต๊ะ เธอขอให้ผู้เข้าร่วมแต่ละคนอธิบายภาพซึ่งโผล่ขึ้นมาในหัวจากกลิ่นที่เพิ่งดมไป เราอดตกใจไม่ได้ที่หลายๆ คนพรรณนาถึง ‘ผู้หญิง’ ในลักษณะที่คล้ายกันโดยไม่ได้นัดหมาย “นี่แหละความน่าอัศจรรย์ของกลิ่น มันทำงานกับความทรงจำของเราที่ยึดโยงอยู่กับมันอย่างรวดเร็ว เร็วกว่าความนึกคิด เกือบจะเป็นสัญชาตญาณ” ต๋อมกล่าวแล้วเฉลยว่ากลิ่นที่เราเพิ่งดมไปคือ Ylang Ylang หรือ กระดังงา 

“พวกเราอาจถูกหล่อหลอมมาด้วยความทรงจำที่คล้ายกันมากกว่าที่คิด”   

ความทรงจำที่ทำให้ปัจจุบันต๋อมใช้ชีวิตอยู่กับกลิ่นหอมคืออะไร สูดเมล็ดกาแฟสักหนึ่งฟอดเพื่อรีเซตประสาทการรับกลิ่น แล้วเชิญรับฟังเรื่องราวจากนักปรุงกลิ่นมืออาชีพได้เลย

 

คุณเริ่มสนใจเรื่องกลิ่นได้ยังไง

ชีวิตการทำงานที่ผ่านมาพาเราไปค่ะ โดยพื้นฐานเราเป็นนักออกแบบ ทำงานด้านออกแบบบรรจุภัณฑ์และแบรนดิ้งซึ่งโปรดักต์เกือบทั้งหมดที่เราร่วมงานอยู่ในกลุ่มจำพวกสกินแคร์ สปา และโรงแรม ทำให้งานทั้งหมดเชื่อมโยงกับกลิ่นมาตลอด คล้ายๆ ว่าหน้าที่ของเราเหมือนคนแต่งตัวให้กับ ‘ของที่มีกลิ่นหอม’ 

พอโตขึ้นเรื่อยๆ เราก็เริ่มรู้สึกว่าควรศึกษาเรื่องกลิ่นไว้บ้างนะ เราจึงเริ่มต้นด้วยการเรียนปรุงน้ำหอมที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ภายใต้การสอนของสถาบัน PerfumersWorld บอกตามตรงตอนแรกเรามองในมุมการเรียนเพื่อส่งเสริมการขาย แต่พอได้เรียนเท่านั้นแหละ โอ้โห มันเข้าไม้เข้ามือเหมือนเจอเพื่อนที่จะสนิทด้วยง่ายๆ ตั้งแต่วันนั้นมาเราก็อยู่กับงานกลิ่นมาตลอด ตอนนี้เลยทำแบรนด์ของตัวเองชื่อ Patchouli.scent.design และกำลังเรียนเรื่องสุคนธบำบัดเพิ่มเติม

 

กลิ่นในโลกนี้มีมากมาย ทำไมคุณถึงเลือกใช้กลิ่น Patchouli หรือพิมเสนมาตั้งชื่อแบรนด์

ในส่วนของชื่อแบรนด์มันเกิดขึ้นเองจากความสุขระหว่างทางที่เราฝึกฝนงานกลิ่น เราชอบรูปถ่ายของในหลวงรัชกาลที่ 9 ช่วงที่ท่านมีพระชนมพรรษาสัก 18-19 พรรษามากๆ เช่น รูปท่านทรงเรือใบ รูปเหล่านั้นมักมีความรู้สึกของ ‘ลม’ ปลิวอยู่ในรูป ซึ่งเป็นลมแบบในอดีตด้วยนะ การตามหากลิ่นลมนี่แหละทำให้เราได้เจอกับกลิ่น Patchouli ที่ประจวบพอดีกับลมของวันวานในจินตนาการ เราจึงรักกลิ่นนี้มาตลอด 

พอเริ่มศึกษาคาแร็กเตอร์ของกลิ่นนี้มากขึ้น เราก็ค้นพบว่าความเป็น base note (กลิ่นน้ำหอมที่จมูกรับรู้เป็นกลิ่นสุดท้ายหลังกลิ่นอื่นๆ ก่อนหน้าจางไปแล้ว) มีคุณสมบัติตรึงกลิ่นอื่นได้ ความไม่แสดงตัวแบบโฉ่งฉ่างมันตรงประเด็นกับแบรนด์ที่เราอยากทำจึงเกิดเป็นชื่อนี้ขึ้นมา

แบรนด์ Patchouli.scent.design เกี่ยวข้องกับกลิ่นในแง่มุมไหนบ้าง

ก่อนทำ Patchouli.scent.design เราเป็นผู้สอนเวิร์กช็อปปรุงกลิ่นที่ชามเริญ สตูดิโอ ช่วงเวลานั้นทำให้ได้เรียนรู้ว่าการสอนเป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ที่ดีมากๆ โดยเฉพาะเรื่องกลิ่นที่เชื่อมโยงกับความทรงจำของคนแต่ละคน ประสบการณ์ที่ชามเริญ สตูดิโอ ทำให้คำสอนของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี พุ่งเข้ามาในหัว เป็นคำกล่าวที่ว่า “ทุกคนมีความงาม นายต้องค้นให้พบ แม้แต่คนขี้ริ้วขี้เหร่ที่สุดก็อาจจะมีความงามซ่อนอยู่”

จากนั้นเรามีความตั้งใจอยากให้กลิ่นเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวทุกคน งานหลักของเราจึงเป็นคลาสเวิร์กช็อปชื่อว่า Perfume Language สอนคนให้รังสรรค์กลิ่นขึ้นเองโดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานมาก่อน วิธีการคือเราใช้หลัก design thinking สอนให้คนดีไซน์การถ่ายทอดความทรงจำ ความรู้สึก และความอยากผ่านกลิ่น นอกจากนี้เรายังมีเวิร์กช็อปย่อยๆ อีกด้วย พอเราเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ขาอีกข้างของแบรนด์ก็เริ่มรับงานออกแบบ signature scent และ customized product ให้แบรนด์ต่างๆ พูดง่ายๆ คืองานทุกอย่างที่ว่าด้วยเรื่องกลิ่น

 

เล่าให้ฟังได้ไหมว่าเวิร์กช็อปการปรุงกลิ่นของ Patchouli.scent.design เป็นยังไง

วัตถุประสงค์หลักของเวิร์กช็อปคือสอนให้คนปรุงกลิ่นได้เอง พร้อมๆ กับการมอบความรู้เรื่องกลิ่นหอมและการสร้างประสบการณ์เฉพาะคน คลาสจึงถูกแบ่งเป็น 3 ส่วน

ส่วนแรกคือการพาให้ทุกคนรู้จักกลุ่มกลิ่นและเรียนรู้ตนเองผ่านกลิ่น การเรียนส่วนนี้สำคัญมาก ขาดไม่ได้ เพราะจะเกิดการแชร์ระหว่างผู้ที่นั่งเรียนอยู่ด้วยกัน หลายครั้งที่เราได้ฟังคำตอบที่เหมือนเราหรือต่างจากเราโดยสิ้นเชิง กลุ่มกลิ่นในคลาสจะมีอยู่ 14 กลุ่ม ยกตัวอย่างเช่น กลุ่ม woody กลิ่นหอมจากไม้ต่างๆ ที่มักพาให้เราคิดถึงความห้าวหาญแต่อบอุ่น พึ่งพาได้ เหมือนไม้ยืนต้น กลุ่ม citrus กลิ่นหอมแกมเปรี้ยวที่ปลุกความสดชื่น ถ้าเปรียบกับธรรมชาติหลายคนก็มักจะคิดถึงแดดอ่อนๆ จากแสงอาทิตย์ในยามเช้า หรือกลุ่ม smoky ท็อปปิ้งอย่างหนึ่งของงานกลิ่นที่มักจะพาให้สาวๆ นึกถึงภาพชายหนุ่มที่มีเสน่ห์แต่ซับซ้อนและเข้าถึงยาก

จากนั้นขั้นตอนที่สองคือแบบฝึกหัดปรุงกลิ่นเพื่อให้คนได้ลองควบคุมการดีไซน์กลิ่นผ่านโจทย์ที่เราไม่ได้บอกล่วงหน้า ในแต่ละครั้งจะมีโจทย์ที่แตกต่างกันไป เช่น ปรุงกลิ่นห้องสักห้อง เพลงสักท่อน ปรุงกลิ่นที่เล่าคาแร็กเตอร์ในเรื่องแต่ง หรือตีความกลิ่นจากไพ่ทาโรต์สักใบ

สุดท้ายคือการปรุงกลิ่นเฉพาะตัวตามที่ต้องการ (personal scent) ซึ่งแต่ละคนจะผสมขึ้นจากกลุ่มกลิ่นที่ทำงานกับความรู้สึกของตัวเองจริงๆ แล้วนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ง่ายๆ อย่างน้ำหอมส่วนตัว สเปรย์ฉีดห้อง หรือก้านหอมปรับอากาศ 

เห็นว่าคุณเคยต่อยอดการปรุงกลิ่นไปเชื่อมโยงกับหลายสิ่งตั้งแต่ชายันรถ BMW ทำไมถึงเริ่มผสมผสานกลิ่นกับศาสตร์อื่นๆ

เรามองกลิ่นเป็นงานออกแบบประสบการณ์แบบหนึ่งบวกกับมีคนหยิบยื่นโอกาสดีๆ​ มาให้เลยได้นำงานกลิ่นไปเชื่อมโยงกับโปรดักต์อื่นๆ เช่น ร้าน TE Time and Space ซึ่งสอนปรุงชาทั้งเพื่อเป็นสินค้าและเพื่อสื่อสารความรู้สึกผ่านกลิ่น กลุ่มลูกค้าของเราค่อนข้างตรงกันเลยได้ร่วมงานกันบ่อย ที่ผ่านมาเราปรุงกลิ่นสถานที่จากกลิ่นชาของเขา หรือไปหยิบชาของเขามาทำเป็นเซตของขวัญที่มีเฉพาะที่นี่ หรือการได้โอกาสร่วมงานกับ BMW Millennium Auto ทำเวิร์กช็อปสเปรย์ฉีดในห้องที่ออกแบบและปรุงกลิ่นเอง 

ต้องอย่าลืมว่าจมูกของเราทำงานและหายใจเอากลิ่นเข้าไปตลอดเวลา ดังนั้นการทำงานกับกลิ่นสามารถทำได้กับทุกอย่างรอบตัวเลย

 

ความรู้อะไรคือสิ่งจำเป็นสำหรับการปรุงกลิ่นด้วยตนเอง 

โดยพื้นฐานแล้วจะมีเรื่องของ top note, middle note และ base note ซึ่งคือการเปลี่ยนกลิ่นของน้ำหอมที่เรารับรู้ได้ (top คือกลิ่นแรกที่ร่างกายรับรู้เมื่อดมและมักจะจางไปอย่างรวดเร็ว ส่วน base คือกลิ่นที่ติดทนนานสุด บางกลิ่นสามารถติดนานถึง 24 ชั่วโมง มักจะเป็นกลิ่นที่ไม่ฉูดฉาดและเปลี่ยนแปลงไปตามกลิ่นธรรมชาติของร่างกายแต่ละคน) แต่สำหรับเราสิ่งสำคัญคือความสร้างสรรค์ ตามมาด้วยความเป็นไปได้และความถูกต้อง เช่น สัดส่วนที่เหมาะสมสำหรับการผลิตทั้งกลิ่นหัวเชื้อและการสร้างเป็นผลิตภัณฑ์

พูดถึงหัวเชื้อ หัวเชื้อกลิ่นที่สกัดจากวัตถุดิบในเมืองไทยมีความแตกต่างหรือจำเพาะมากกว่ากลิ่นจากเมืองนอกไหม

เมืองไทยเรามีวัตถุดิบดีๆ เยอะมาก โดยเฉพาะดอกไม้ แต่พอสกัดเป็นกลิ่นแล้วต้องยอมรับว่าเรานิยมใช้ของนำเข้ามากกว่า 

เมื่อนำวัตถุดิบแต่ละพื้นที่มาสกัดกลิ่น แม้จะเป็นกลิ่นชนิดเดียวกันก็ให้คาแร็กเตอร์และคุณสมบัติบางตัวที่แตกต่างกันได้ สองข้อมูลนี้ทำให้เห็นว่า ถ้าเราจริงจังเรื่องเพาะปลูกและการสกัดให้เกิดเป็นกลิ่นเฉพาะตัวที่ได้จากการผลิตในไทยอุตสาหกรรมนี้คงไปได้ไกลมากๆ ในอนาคต ส่วนตอนนี้ที่สตูดิโอใช้จากการผลิตในไทยแน่ๆ คือกลิ่นจำพวกตะไคร้ ขิง และมะกรูด

 

จากที่ทำเวิร์กช็อปมา เสียงตอบรับเป็นยังไง ช่วยเล่าเรื่องที่ประทับใจให้ฟังหน่อย

พอรู้ตัวว่าทุกๆ เช้าที่ตื่นมาเรายังได้จับงานกลิ่นขึ้นมาทำทุกวันเราก็มีความสุข นี่คือเสียงตอบรับจากตัวเราเองว่าจะจูงมือมันและไปต่อ ยิ่งรวมกับการได้เห็นคนอื่นภูมิใจและเพลิดเพลินกับงานกลิ่นที่เราสอนและออกแบบก็รู้สึกดีเข้าไปใหญ่ 

ส่วนในเวิร์กช็อปเราเจอเรื่องประทับใจหลายอย่าง อย่างมีครั้งหนึ่งนักเรียนปรุงกลิ่นจากความสับสนของบ้านเมืองด้วยการทดลองเอากลิ่นที่ออกฤทธิ์ตรงข้ามกันมาใช้ร่วมกัน เราชอบมาก ทำให้เห็นเลยว่าการสอนครั้งนี้สามารถเปิดความคิดสร้างสรรค์ของคนจริงๆ หรือผลงาน interactive showcase ที่ Chiang Mai Design Week เมื่อปลายปี 2562 มีชาวต่างชาติคนหนึ่งดมกลิ่นที่ปรุงจากความทรงจำในการปลูกสวนกุหลาบแล้วเขาร้องไห้ ร้องเยอะมาก บอกว่าคิดถึงคุณย่าที่เพิ่งเสียไป กลิ่นมันทำงานข้ามวัฒนธรรมเลยทีเดียว

เคยอ่านหนังสือว่าด้วยน้ำหอม เขาบอกว่าผัสสะการดมนั้นแตกต่างจากผัสสะอื่นๆ เพราะการดมเป็นมากกว่าการกระทบของสารต่อประสาทสัมผัส (เช่น สายตาคือการกระทบของแสง รสชาติคืออาหารที่กระทบต่อมรับรส) แต่การดมคือการหายใจเอามวลของสารนั้นเข้าไปในตัว เป็นเพราะสิ่งนี้หรือเปล่าที่ทำให้กลิ่นมีพลังและความฉับไวต่อตัวเรามาก

ใช่ ฉับไวและปลุกความรู้สึกอย่างโกหกไม่ได้ กลิ่นวิ่งแซงความคิดของเราด้วยซ้ำ มันดึงความทรงจำที่ซ่อนอยู่ที่ไหนสักแห่งในตัวเราออกมาทักทายแบบที่เราไม่ทันตั้งตัว นี่แหละคือพลังของมัน

กลิ่นเป็นเครื่องมือที่ทำหน้าที่ได้หลากหลาย ทั้งรื้อความทรงจำที่เราเองลืมไปแล้วหรือระบายไอเดียในหัวออกมา ระหว่างปรุงกลิ่นจึงมีกิจกรรมบำบัดเกิดขึ้นด้วยตัวมันเอง เราจึงรู้สึกดีขึ้นด้วยการได้ระบายออก เหมือนได้เจอเครื่องมือถ่ายทอด สร้างพื้นที่ให้เราได้ทำความเข้าใจกับความทรงจำหรือความรู้สึกนั้นๆ

 

กลิ่นอะไรที่คนมักจะมีปฏิกิริยากับมันมากที่สุด

ถ้าตอบให้โดนหยิกก็ตอบว่ากลิ่นเหม็น (หัวเราะ) ที่เหลือคือหลากหลายมาก ไร้ขอบเขตจริงๆ เพราะกลิ่นมันเชื่อมโยงกับความทรงจำ ซึ่งมันส่วนตัวมาก

 

กลิ่นอะไรที่หอมที่สุดสำหรับคุณ

สำหรับเราไม่มีกลิ่นที่คิดว่าหอมที่สุด แต่กลิ่นที่ชอบเสมอคือกลิ่นเปลือกส้ม กลิ่นพิมเสน กลิ่นไอน้ำ กลิ่นการหุงข้าว และกลิ่นผิวของคนที่หลากหลาย

 

มีกลิ่นไหนที่ช่วยป้องกันโควิด-19 ไหม

ยังไม่มีกลิ่นที่ถูกเคลมว่าฆ่าเชื้อโควิดได้​ (หัวเราะ) แต่ถ้าพูดว่ากลิ่นไหนเหมาะกับการทำความสะอาด ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย น้ำมันหอมระเหยหลายตัวทำหน้าที่นี้ได้ดี เช่น กานพลู อบเชย ไม้จันทน์ หรือการบูร

ตอนนี้คุณศึกษาเรื่องสุคนธบำบัดอยู่ด้วย กลิ่นทำงานยังไงถึงเยียวยาร่างกายได้

ถ้าเราลองนึกให้ลึกลงไปอีกนิด จะเห็นได้เลยว่าเราได้รับน้ำมันหอมระเหยเข้าไปในร่างกายอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ง่ายๆ คือผ่านทางอาหาร ทุกพืชพันธุ์ที่มีกลิ่นแปลว่ามีน้ำมันหอมระเหย เมื่อเราทานเข้าไปย่อมได้รับประโยชน์จาก aromatic substance (สารที่มีกลิ่นหอม) ที่อยู่ในน้ำมันหอมระเหยนั้นๆ ฉะนั้นถ้าร่างกายรับอาหารที่ดีเข้าไปเราก็แข็งแรง

มองกลับมาที่อโรม่าเทอราพี ศาสตร์นี้ก็เป็นการนำพืชพันธุ์มาสกัดให้ได้น้ำมันหอมระเหยโดยเฉพาะ แปลง่ายๆ ก็คือเมื่อใช้น้ำมันหอมระเหยเราก็จะได้ aromatic substance มากขึ้น ร่างกายรับได้โดยตรงไม่ต้องไปทำหน้าที่แยกน้ำมันหอมระเหยออกจากกากใย และเราควบคุมปริมาณได้ เพราะฉะนั้นอโรม่าเทอราพีหรือการบำบัดด้วยกลิ่นมีผลต่อการเยียวยาร่างกายแน่นอน 

อโรม่าเทอราพีอาจถูกมองว่าเป็นการใช้กลิ่นในการรักษาร่างกายผ่านอารมณ์เพียงอย่างเดียว แต่ในความเป็นจริงแล้วน้ำมันหอมระเหยแต่ละชนิดมีองค์ประกอบของสารสำคัญที่สามารถทำปฏิกิริยากับองค์ประกอบทางเคมีของร่างกาย มีผลต่ออวัยวะและระบบต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น การใช้น้ำมันหอมระเหยทาหรือนวดร่างกาย น้ำมันหอมระเหยจะซึมผ่านผิวหนังและระเหยผ่านการหายใจเข้าสู่เยื่อโพรงจมูกและกระแสเลือด ทำให้เกิดปฏิกิริยากับฮอร์โมน เอนไซม์ และอื่นๆ ซึ่งย่อมมีผลต่อการทำงานของอวัยวะในร่างกาย

ดังนั้นจริงๆ แล้วสรรพคุณของน้ำมันหอมระเหยมี 3 ทาง คือ ทางเภสัชวิทยา ทางกายภาพ และทางจิตวิทยา

 

ในช่วงนี้ที่คนมีความเครียดกันมาก เราสามารถบำบัดตัวเองด้วยกลิ่นแบบง่ายๆ ได้ไหม

เราแนะนำการสร้างบรรยากาศใหม่ๆ ตามหากลิ่นหอมใหม่ๆ ให้บ้าน ห้อง หรือออฟฟิศ มันช่วยปรับอารมณ์ได้ดีเยี่ยมเลย

เทคนิคการคลายเครียดของเราช่วงนี้คือการปรุงกลิ่นคลายร้อนและคลายใจในเวลาเดียวกันมาใช้ในห้อง เราลองแหกคอกโดยใช้แค่ top note กับ middle note มาปรุงกลิ่นเพื่อให้เกิดคาแร็กเตอร์ที่เบา รู้สึกสบายใจ และมีอิสระ เราแนะนำ top note กลิ่นโทนเย็น เช่น คาโมมายล์หรือการบูร ผสมกับ middle note มาดเท่ปนขี้เล่นนิดๆ อย่าง Juniper แล้วตบด้วยความเฟรนด์ลี่จากชาเขียว ให้กลิ่นที่ลอยๆ เป็นลูกโป่งพาเราลอยหลบความวุ่นวายระหว่างวันสักพักก่อนกลับมาลุยงานต่อ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ปัณณทัต เอ้งฉ้วน

เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา