in Blooom : แบรนด์ผ้าพิมพ์แบรนด์แรกของไต้หวันที่เบ่งบานท่ามกลางย่านขายผ้าเก่าของไทเป

Highlights

  • นี่คือแบรนด์ผ้าพิมพ์แบรนด์แรกของไต้หวัน! ก่อนหน้านี้ไต้หวันไม่เคยมีแบรนด์ผ้าที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์มาก่อนเลย กระทั่งในปี 2008 สามสาวนักออกแบบ Ama Shen, Chiu Chung-yu และ Hana Tsai ลุกขึ้นมาเปิดแบรนด์ผ้าพิมพ์เป็นของตัวเองในชื่อ in Blooom
  • พวกเขาตั้งใจเล่าเรื่องเกี่ยวกับไต้หวันลงบนลายผ้าโดยเฉพาะไม่ใช่ลายดั้งเดิมที่เห็นบ่อยๆ จนไปเจอนกเอี้ยงหงอนก้นลาย ซับสปีชีส์ที่มีเฉพาะไต้หวันเท่านั้น และแทบจะสูญพันธุ์ไปหมดแล้ว ก่อนจะทำซีรีส์สัตว์ต่างๆ
  • in Blooom ค่อยๆ หยั่งรากลึกจนแบรนด์แข็งแรงด้วยการนำผ้าและแพตเทิร์นที่มีอยู่แปลงเป็นสินค้าอีกมาก ทั้งกระเป๋าสะพาย หมวก โปสต์การ์ดผ้า ไปจนถึงเคสโทรศัพท์มือถือ พวกเขามีหน้าร้านถึง 8 สาขาในไต้หวัน
  • พวกเขามีแผนจะขยายตลาดออกไปในภูมิภาคเอเชียและอยากจะพัฒนา e-commerce ไม่ใช่แค่ในไต้หวัน แต่รวมถึงประเทศอื่นด้วย

ร้านขายผ้าในตึกแถวเก่าแก่สองข้างทางเป็นสัญลักษณ์บอกว่าพวกเรามาไม่ผิดที่แน่นอน in Blooom

เปล่า วันนี้เราไม่ได้จะมาเยือนร้านขายผ้าเก่าแก่ของไทเปแต่อย่างใด กลับกัน จุดหมายของเราคือ in Blooom แบรนด์ผ้าพิมพ์ของคนรุ่นใหม่ที่อาจหาญเปิดร้านท่ามกลางร้านขายผ้าอายุเหยียบร้อยปีในย่านต้าเต้าเฉิงแห่งนี้

แม้จะมาทีหลัง แต่คุณอาจแปลกใจที่พวกเขามีสถานะเป็นแบรนด์ผ้าพิมพ์แบรนด์แรกของไต้หวัน!

เราเพิ่งรู้ว่าก่อนหน้านี้ไต้หวันไม่เคยมีแบรนด์ผ้าที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์มาก่อนเลย กระทั่งในปี 2008 ที่สามสาวนักออกแบบ Ama Shen, Chiu Chung-yu และ Hana Tsai ลุกขึ้นมาเปิดแบรนด์ผ้าพิมพ์เป็นของตัวเองในชื่อ in Blooom โดยตั้งใจเล่าเรื่องเกี่ยวกับไต้หวันลงบนลายผ้าโดยเฉพาะ

in Blooom
in Blooom

ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น พวกเขาออกแบบลายผ้าแรกเป็นแพตเทิร์น ‘นกเอี้ยงหงอนก้นลาย’ ซับสปีชีส์ที่พบได้ในไต้หวันเท่านั้น ซึ่งกลายมาเป็นซิกเนเจอร์ของแบรนด์​ ตามมาด้วยลายอื่นๆ ที่แสดงถึงความเป็นเกาะไต้หวัน ทั้งกิจกรรมเดินเขา อาหาร หรือเทศกาลไต้หวัน

ผ่านมาสิบกว่าปี in Blooom ค่อยๆ หยั่งรากลึกจนแบรนด์แข็งแรงด้วยการนำผ้าและแพตเทิร์นที่มีอยู่แปลงเป็นสินค้าอีกมาก ทั้งกระเป๋าสะพาย หมวก โปสต์การ์ดผ้า ไปจนถึงเคสโทรศัพท์มือถือ พวกเขามีหน้าร้านถึง 8 สาขาในไต้หวัน ได้ร่วมงานกับศิลปินและแบรนด์ใหญ่มากมาย และผลิดอกออกผลจนเป็นที่จับตาในแวดวงดีไซน์ทั้งในและนอกประเทศ

พวกเขาทำได้อย่างไร?

เอม่า อาร์ตไดเรกเตอร์ของแบรนด์รอเราอยู่ที่ร้านพร้อมคำตอบ

in Blooom

ในเมื่อมีโปรดักต์ต่างๆ ให้ดีไซน์มากมาย ทำไมพวกคุณถึงเลือกดีไซน์ผ้า

ฉันคิดว่าผ้าเป็นวัสดุที่ใช้งานง่าย จะเอาไปทำเสื้อผ้า เครื่องประดับ หรืออะไรก็ได้ อีกอย่างคือในฐานะที่พวกเราเป็นนักเรียนศิลปะ เรารู้สึกว่างานศิลปะเป็นของไกลตัวสำหรับคนทั่วไป ดังนั้นถ้าเราอยากให้คนเข้าถึงศิลปะได้มากขึ้นก็น่าจะเลือกดีไซน์ของที่ใกล้ตัวอย่างผ้านี่แหละ

in Blooom เป็นแบรนด์ผ้าของคนรุ่นใหม่ ทำไมถึงเลือกเปิดร้านสาขาแรกที่ย่านขายผ้าเก่าแก่อย่างต้าเต้าเฉิง

ประมาณปี 2011 เราเปิดร้านแห่งแรกขึ้นมาที่ต้าเต้าเฉิง เหตุผลคือเพราะที่นี่เป็นย่านขายผ้าดั้งเดิม เราเลยคิดว่าถ้าจะเปิดแบรนด์ผ้าดีไซเนอร์สมัยใหม่ขึ้นมาก็น่าจะต้องเป็นที่นี่แหละ ตอนนั้นย่านนี้เริ่มมีคนรุ่นใหม่เข้ามามากขึ้นด้วย และเราก็โชคดีมากเพราะเทรนด์ความนิยมศิลปะกำลังเริ่มมาในไต้หวัน ของเก่าๆ ก็เริ่มกลายเป็นเทรนด์ เลยมีคนรุ่นใหม่และดีไซเนอร์ใหม่ๆ เข้ามาที่นี่มากขึ้น ทำให้ธุรกิจของเราไปได้ดีขึ้นเรื่อยๆ

in Blooom

ความยากของการทำสิ่งที่ไม่มีคนเคยทำมาก่อนคืออะไร

ช่วงที่ยากคือช่วงแรกที่เราลาออกจากงานประจำมาทำร้าน แต่ก็ต้องทำงานอื่นควบคู่ไปด้วยเพื่อให้มีเงินเข้ามา ตอนแรกๆ ร้านก็มีคนเข้ามาไม่เยอะ แต่พอเจ้าของร้านหลายๆ คนเห็นเด็กผู้หญิง 3 คนมาเปิดร้านในย่านนี้เขาก็เห็นใจ เข้ามาหาเรา และให้คำแนะนำมากมาย เช่น ควรจัดแสดงสินค้ายังไง จะแนะนำแบรนด์เราให้เป็นที่รู้จักยังไง การพูดคุยกับลูกค้า แล้วก็แนะนำลูกค้าให้มาที่ร้านเรา ชุมชนนี้เป็นที่ที่พิเศษมาก เราเลยทำได้ดีขึ้น

ฉันคิดว่าเพราะแถวนี้ไม่มีร้านของคนรุ่นเด็กๆ มาก่อนเลย (หัวเราะ) มีแต่คนรุ่นแก่กว่าเราไป 3-4 เจเนอเรชั่น แล้วธุรกิจค้าขายผ้าก็แก่ตัวลงเรื่อยๆ เขาเลยรู้สึกว่าพวกเราแตกต่างและอยากช่วยเหลือ

ทำไมคุณถึงเลือกเล่าเรื่องราวของไต้หวันลงบนลายผ้า

ฉันเป็นคนไต้หวัน ก็เลยอยากออกแบบอะไรที่มีความเป็นไต้หวัน แต่ไม่ใช่ลายดั้งเดิมที่เห็นบ่อยๆ เพราะฉันเป็นคนรักสัตว์ก็เลยหาข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์ก่อน จนไปเจอนกเอี้ยงหงอนก้นลาย ซับสปีชีส์ที่มีเฉพาะที่นี่เท่านั้นและแทบจะสูญพันธุ์ไปหมดแล้ว ฉันเลยรู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง เลยเลือกทำซีรีส์นกเอี้ยงหงอนก้นลายก่อนจะทำซีรีส์สัตว์ต่างๆ ตามมา

ทุกแพตเทิร์นที่ฉันออกแบบจะมีเรื่องราวอยู่ เช่น สิ่งแวดล้อม สัตว์ สิ่งที่เราไม่รู้ว่ากำลังจะสูญพันธุ์ไปจากโลก ฉันคิดว่านั่นเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องเล่าเรื่องราวออกไป เพราะคนโดยเฉพาะคนเมืองไม่ได้รับรู้เรื่องราวแบบนี้เลย เราไม่เห็นธรรมชาติ ไม่เห็นสัตว์ป่า แต่ในฐานะดีไซเนอร์เราสามารถวาดรูป ดีไซน์ สร้างโปรดักต์ที่เล่าเรื่องเหล่านั้นได้

ต่อมาเราก็ไม่ได้ออกแบบแค่ลายสัตว์ แต่รวมไปถึงสถาปัตยกรรมไต้หวันด้วย เช่น กระเบื้องต่างๆ เพราะตึกเก่าๆ ถูกทำลายลงเรื่อยๆ ฉันเลยพยายามบันทึกความทรงจำเก่าๆ ไว้ในลวดลายผ้าเพื่อที่เวลาเรามองเห็นสิ่งใหม่ๆ จะได้ไม่ลืมว่าที่มาในอดีตของเราเป็นอย่างไร

ไม่กี่ปีมานี้ฉันเริ่มชอบกิจกรรมเอาต์ดอร์ แคมป์ปิ้ง มันทำให้ฉันยิ่งคิดว่าธรรมชาติสวยงามมาก ทั้งภูเขาและมหาสมุทร ฉันคิดว่าฉันต้องบอกให้คนรู้ถึงความสวยงามเหล่านี้ คงพูดได้ว่าแรงบันดาลใจในการออกแบบของฉันมาจากโลกใบนี้แหละ

ในเชิงดีไซน์ ตัวตนของ in Blooom คืออะไร

สังเกตไหมคะว่าสีของเราจะไม่จัด จะดูซอฟต์ๆ อ่อนโยน นั่นเพราะเราอยากให้งานออกแบบของเราทำให้คนรู้สึกได้รับการบำบัด ผ่อนคลาย สมมติเขากำลังมีวันที่ไม่ดี พอได้เห็นสีของผ้าก็จะรู้สึกสบายใจขึ้น สีของเรายังเป็นสีของธรรมชาติ เป็นสีของช่วงเช้า ไม่ใช่สีของเวลาบ่ายที่ร้อนแรง และไม่ใช่สีเข้มแบบตอนกลางคืน

เราเห็นว่าคุณออกแบบสินค้าเป็นคอลเลกชั่นเสมอ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น

นั่นเป็นเพราะฉันคิดว่าการทำโปรดักต์เป็นคอลเลกชั่นจะทำให้คอนเซปต์ของแบรนด์แข็งแรงขึ้น คนจะเห็นว่าเราไม่ได้มีแค่โปรดักต์เดียว แต่เห็นว่าแบรนด์ของเราคือสินค้าไลฟ์สไตล์ที่มีคอนเซปต์เกี่ยวกับไต้หวัน

เราเคยอ่านบทสัมภาษณ์ที่คุณบอกว่า คุณตอบไม่ได้ว่า ‘สไตล์ไต้หวัน’ ต้องเป็นอย่างไร ตอนนี้คุณได้คำตอบหรือยัง

ฉันก็สงสัยนะว่าคนอื่นคิดอย่างไร แต่สำหรับฉัน ดีไซน์หรือสไตล์ไม่ใช่เรื่องที่คนไต้หวันในอดีตให้ความสำคัญ เลยไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าสไตล์ไต้หวันเป็นอย่างไร ฉันมองว่านั่นคือโอกาสของคนรุ่นเรา เพราะเราสามารถกลับไปคิดถึงอดีตของเรา เอามาผสมกับไอเดียต่างๆ จากทั่วโลกได้ ฉันเลยคิดว่าสไตล์ไต้หวันอาจจะเป็นการหลอมรวม ฟิวชั่น ไม่มีใครตอบได้ว่าแบบไหนที่เป็นไต้หวัน ฉันอาจจะบอกได้ว่างานออกแบบได้แรงบันดาลใจจากแผ่นดินนี้ แต่สไตล์การออกแบบมันเป็นสไตล์ที่มีทั่วโลก

คนไต้หวันชอบลวดลายผ้าแบบไหน

ฉันคิดว่าคนไต้หวันไม่ชอบลวดลายหรือแพตเทิร์นเท่าไหร่ แต่จะชอบโปรดักต์เรียบๆ ที่ใช้งานง่ายอย่างสีขาว สีกรมท่า สีดำ ตอนแรกที่เราทำสินค้าที่มีแพตเทิร์นก็เลยเข้าถึงพวกเขายาก แต่เราก็ค่อยๆ แนะนำเขาว่าจะใช้แพตเทิร์นในชีวิตประจำวันได้อย่างไรบ้าง เช่น การตกแต่งบ้านด้วยแพตเทิร์นนิดๆ หน่อยๆ อาจจะทำให้เขามีความสุขได้ เขาก็รับฟัง ตอนนี้ก็มีคนสนใจแพตเทิร์นมากขึ้นเรื่อยๆ

in Blooom

แล้วลูกค้าชาติอื่นล่ะ

ลูกค้าของที่นี่มาจากทั่วโลก 30% มาจากญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง และไทย ฉันคิดว่าคนจากแต่ละประเทศก็ชอบแพตเทิร์นที่แตกต่างกัน อย่างคนไทยจะชอบสีสดๆ สีส้ม สีแดง คนญี่ปุ่นจะชอบสีที่ดูซอฟต์ลงมาและชอบซื้อผ้าเป็นเมตร ส่วนคนฮ่องกงจะชอบสินค้าแฟชั่นอย่างกระเป๋า หมวก สายคาดผม เป็นสิ่งที่น่าสนใจดี

คุณประสบความสำเร็จในไต้หวันมากแล้ว เป้าหมายต่อไปคืออะไร

เรามีหลายแผนการเลย เป้าหมายระยะสั้นคือเรากำลังเปิดสาขาที่ 3 ในย่านต้าเต้าเฉิง เหตุผลคือที่นี่เป็นย่านที่ใหญ่มาก แต่ละร้านบรรยากาศจะแตกต่างกัน ซึ่งร้านใหม่จะใหญ่ขึ้น เราชวนเพื่อนให้มาเปิดร้านอาหาร และมีพื้นที่เวิร์กช็อปด้วย

อีกอย่างคือเราอยากจะขยายตลาดออกไปในภูมิภาคเอเชียและอยากจะพัฒนา e-commerce ไม่ใช่แค่ในไต้หวัน แต่รวมถึงประเทศอื่นด้วย

ในส่วนของโปรดักต์ เราอยากใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะเราเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมออกไปมากแล้ว ถ้าเราเปลี่ยนมาใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยก็จะยิ่งดีขึ้น ตอนนี้โปรดักต์ส่วนใหญ่ใช้ฝ้ายและลินินเป็นหลัก ต่อไปเราก็อาจจะใช้ฝ้ายออร์แกนิก เส้นใยรีไซเคิล หรือหมึกพิมพ์ออร์แกนิก ซึ่งมันไม่ง่ายเพราะวัตถุดิบออร์แกนิกมีราคาแพงกว่าของทั่วไปและมีผู้ผลิตน้อยกว่า แต่ฉันเชื่อว่านี่คือทางที่เราอยากจะไป

in Blooom

ติดตามผลงานและสินค้าของ in Blooom ได้ที่ inblooom.com

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย