เลือกตั้งไต้หวัน เสียงของประชาธิปไตยที่ชาวไต้หวันอยากให้ทั่วโลกได้ยิน

Highlights

  • ผลการเลือกตั้งครั้งนี้คือเสียงของชาวไต้หวัน คือเสียงของประชาธิปไตย ทั่วโลกล้วนได้ยินแล้ว และฉันเชื่อว่าอีกฝั่งหนึ่ง (จีนแผ่นดินใหญ่) ก็ได้ยินแล้วเช่นกัน” ไช่อิงเหวิน กล่าวหลังได้รับชัยชนะเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ของไต้หวัน ด้วยคะแนนเสียงทั้งหมด 8 ล้านเสียง
  • ปกติแล้วการเลือกตั้งในประเทศคือผลสะท้อนจากการเมืองในประเทศ แต่กับไต้หวันอาจจะต่างกันออกไป สำหรับประเทศเกาะที่มีการปกครองและการเลือกตั้งของตัวเอง แต่ไม่ได้รับการยอมรับจากองค์การสหประชาชาติและหลายประเทศทั่วโลก
  • วรรษมน โฆษะวิวัฒน์จากคอลัมน์ made in taiwan ชวนไปดูเสียงเสียงที่คนไต้หวันอยากให้ทั่วโลกได้ยินจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันเสาร์ที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา

การเลือกตั้งประธานาธิบดีของไต้หวันผ่านไปแล้วเมื่อวันเสาร์ที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา และหลังจากปิดหีบเลือกตั้งตอน 4 โมงเย็น ชาวไต้หวันก็ได้รู้ผลการนับคะแนนสดๆ ทุกช่วงเวลา จนเวลาประมาณ 3 ทุ่มก็ได้รู้ผลที่คาดคะเนจากผลส่วนใหญ่

นายหานกั๋วอวี๋ ผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคก๊กมินตั๋ง แถลงยอมรับความพ่ายแพ้ ส่วนนางไช่อิงเหวิน แถลงข่าวชัยชนะได้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 หลังจากนั้นไม่นาน โดยไช่อิงเหวินได้คะแนนเสียงไปทั้งหมด 8 ล้านเสียง ส่วนหานกั๋วอวี๋ได้ไป 5.5 ล้านเสียง

ที่น่าสนใจคือในการเลือกตั้งผู้ว่าการแต่ละเมืองเมื่อปลายปี 2018 พรรค DPP ของไช่อิงเหวินเสียเก้าอี้ให้พรรคก๊กมินตั๋งมากมาย รวมถึงเก้าอี้ผู้ว่าการเมืองเกาสง ฐานเสียงสำคัญของ DPP ที่ตกไปเป็นของนายหานกั๋วอวี๋ คู่แข่งของเธอในสนามใหญ่ครั้งนี้ แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ DPP ได้คะแนนกลับมาอย่างล้นหลาม รวมไปถึงเมืองไทเป เถาหยวน และหนานโถว ที่แม้ผลการเลือกตั้ง ส.ส.จะปรากฏว่าประชาชนเลือกพรรคก๊กมินตั๋งให้ดูแลภูมิภาคของตัวเองมากกว่า แต่ผลการเลือกประธานาธิบดีปรากฏว่าประชาชนโหวตให้ไช่อิงเหวินมากกว่า

ปกติแล้วการเลือกตั้งในประเทศคือผลสะท้อนจากการเมืองในประเทศ แต่กับไต้หวันอาจจะต่างกันออกไป สำหรับประเทศเกาะที่มีการปกครองและการเลือกตั้งของตัวเอง แต่ไม่ได้รับการยอมรับจากองค์การสหประชาชาติและหลายประเทศทั่วโลก การเลือกตั้งไต้หวันนอกจากจะสะท้อนการเมืองภายในแล้วยังสะท้อนการเมืองระหว่างช่องแคบไต้หวันอีกอย่างหนึ่ง

นโยบายหลักของรัฐบาลพรรค DPP นำโดยไช่อิงเหวิน คือการไม่ยอมรับนโยบาย 1 ประเทศ 2 ระบบ โดยไม่ประนีประนอมใดๆ ไต้หวันก็คือไต้หวันที่มีอัตลักษณ์ของตัวเอง ไม่ต้องการผูกโยงประวัติศาสตร์กับจีนแผ่นดินใหญ่ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาล DPP พยายามโปรโมตภาพลักษณ์ของไต้หวันที่เน้นความหลากหลายทั้งกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองในฐานะเจ้าของประเทศที่อาศัยบนเกาะนี้มาก่อนใคร ชาวฮั่นที่อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ทั้งที่มาตั้งแต่หลายร้อยปีก่อนและที่เพิ่งมาพร้อมกับพรรคก๊กมินตั๋ง และผู้อยู่อาศัยใหม่ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวอาเซียนที่อพยพมาด้วยเรื่องงานและต่อมาได้ตั้งรกรากสร้างครอบครัวอยู่ที่ไต้หวันอย่างถาวร รวมถึงนโยบาย ‘มุ่งใต้ใหม่’ ที่เน้นพัฒนาความสัมพันธ์อย่างรอบด้านกับประเทศในกลุ่มอาเซียนและเอเชียแปซิฟิค

พรรคก๊กมินตั๋งนั้นจะประนีประนอมกับจีนมากกว่า โดยให้เหตุผลว่าเพื่อสันติภาพระหว่างไต้หวันและจีน และเพื่อการเกื้อกูลทางเศรษฐกิจ แม้ว่านายหานกั๋วอวี๋ ตัวแทนพรรคจะออกตัวว่าไม่เห็นด้วยกับ 1 ประเทศ 2 ระบบเช่นกัน แต่ก็ชูนโยบายฟื้นฟูความสัมพันธ์กับจีน ผู้สนับสนุนหานกั๋วอวี๋หลายคนมองว่าเศรษฐกิจในยุครัฐบาล DPP ไม่ดี แม้จะไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลจีน แต่เศรษฐกิจไต้หวันก็ยังต้องพึ่งพาเศรษฐกิจจีนที่มีขนาดใหญ่กว่าและโอกาสที่มากกว่า

ประเด็นนี้เองที่เป็นข้อโต้แย้งสำคัญระหว่าง 2 ฝ่าย โดยเฉพาะเมื่อมีเหตุการณ์ที่ฮ่องกงก็ยิ่งทำให้ชาวไต้หวันหลายคนไม่ต้องการเปิดช่องว่างให้จีนเข้ามามีโอกาสสร้างอำนาจในไต้หวัน ที่ที่ทำการพรรค DPP ประชาชนที่มารอฟังผลคะแนนบางคนนอกจากจะตะโกนสนับสนุนพรรคและไช่อิงเหวิน ก็ยังตะโกนและโบกธงดำสนับสนุนฮ่องกงด้วย เสมือนว่าการสนับสนุน DPP ของพวกเขาก็เพื่อแสดงจุดยืนต่อจีนอย่างหนึ่ง

ในสปีชประกาศชัยชนะของไช่อิงเหวินตอนหนึ่ง ระบุว่า “การเลือกตั้งครั้งนี้ได้แสดงออกว่าชาวไต้หวันหวังว่านานาชาติจะเห็นถึงความมุ่งมั่นต่อคุณค่าของประชาธิปไตย และจะเคารพต่ออัตลักษณ์ของชาติของพวกเรา พวกเรายังหวังด้วยว่าไต้หวันจะได้รับโอกาสเข้าร่วมกับกิจการระหว่างประเทศ… ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ยังแสดงด้วยว่าเมื่ออธิปไตยและประชาธิปไตยของพวกเราถูกคุกคาม ชาวไต้หวันจะยิ่งส่งเสียงแห่งความมุ่งมั่นกลับไปดังยิ่งกว่าเดิม”

เธอเน้นย้ำประเด็นนี้ในสปีชภาษาจีนเช่นเดียวกัน โดยพูดว่า “ผลการเลือกตั้งครั้งนี้คือเสียงของชาวไต้หวัน คือเสียงของประชาธิปไตย ทั่วโลกล้วนได้ยินแล้ว และฉันเชื่อว่าอีกฝั่งหนึ่ง (จีนแผ่นดินใหญ่) ก็ได้ยินแล้วเช่นกัน”

หลังการเลือกตั้ง ทุกฝ่ายต่างพูดเหมือนกันว่าการเห็นต่าง การออกมาแสดงความเห็น และยอมรับต่อเสียงส่วนใหญ่นี่แหละที่เป็นคุณค่าของประชาธิปไตย

แม้ว่าจะมีฝ่ายแพ้และชนะ มีชอบใจและไม่ชอบใจ แต่ทุกฝ่ายก็เดินหน้าไปในเส้นทางที่คนส่วนใหญ่เลือก

และนี่คือเสียงที่คนไต้หวันอยากให้ทั่วโลกได้ยิน

 

อ่านสปีชของไช่อิงเหวินฉบับเต็มได้ที่

ocac.gov.tw

AUTHOR

ILLUSTRATOR

Jen.two

เจินเจิน นักออกแบบกราฟิกเเละนักวาดภาพประกอบ