Tai Soon Bar คราฟต์เบียร์บาร์ย่านประตูผีที่จะไม่ยอมให้ใครมาดูถูกว่าทำแบบกระจอกๆ

Highlights

  • Tai Soon Bar เป็นคราฟต์เบียร์บาร์ที่ต่อยอดมาจาก Well Shop ร้านโชห่วยย่านประตูผีที่จำหน่ายคราฟต์เบียร์ชั้นดีจากหลายค่ายเบียร์ทั่วโลก
  • ในอดีต ตึกแถวห้องนี้เคยเป็นร้านขายยานาม ไท้ ซุ่น ตึ๊ง ปัจจุบัน ผ่านการรีโนเวตให้เป็นคราฟต์เบียร์บาร์ที่ยังคงกลิ่นอายร้านยาจีนโบราณเอาไว้ เช่น เคาน์เตอร์บาร์กลางร้านที่จำลองจากเก๊ะยาจีนโบราณ เพื่อบอกเล่าถึงการใช้งานในอดีตของสถานที่แห่งนี้   
  • Tai Soon Bar มีทั้งคราฟต์เบียร์ไทยและคราฟต์เบียร์นอกในระบบจัดเก็บที่ดีที่สุดเพื่อให้เย็นทุกหยดรสชาติดีทุกจิบ

ย่านประตูผีดูจะมีชีวิตในยามค่ำสมชื่อ ยามที่สีดำโรยตัวทั่วทั้งฟ้า เจ๊ไฝยังคงจับกระทะตั้งบนเตาถ่านที่ไฟกำลังลุกท่วม ขณะที่ผัดไทยทิพย์สมัยมีลูกค้าทั้งไทยและเทศต่อแถวหน้าร้านยาวเหยียด และหากคุณมองมายังฝั่งตรงข้าม จะเห็นห้องแถวหนึ่งคูหาในตึกเก่าแก่สลัวอยู่ในดวงไฟและโคมจีนสีแดงสด ป้ายจีนหน้าร้านระบุนาม ไท้ ซุ่น ตึ๊ง ที่ทางอันเคยเป็นร้านขายยาจีน อยู่คู่กับย่านนี้มานานหลายสิบปี

คำว่า ไท้ ในภาษาจีนแปลว่า ไทย คำว่า ซุ่น แปลว่า สถานที่ที่ดี ส่วนคำว่า ตึ๊ง ก็คือร้านขายยา แต่ไม่ใช่อีกแล้วในวันนี้

จาก ‘ร้านขายยา’ ได้กลายร่างเป็น ‘บาร์’ จาก ‘ไท้ ซุ่น ตึ๊ง’ สู่ Tai Soon Bar’ คราฟต์เบียร์บาร์ที่ต่อยอดมาจาก Well Shop ร้านโชห่วยของ เคน–สิทธิพันธ์ ปลื้มธีระธรรม ที่จำหน่ายคราฟต์เบียร์ชั้นดีหลากยี่ห้อ ตั้งอยู่ในละแวกเดียวกัน

“Well Shop ไม่มีที่ให้ลูกค้านั่งดื่มเป็นหลักแหล่ง เราอยากอำนวยความสะดวกตรงนี้” ฟลุ๊ค–ชัญญาพัชร์ ปลื้มธีระธรรม ผู้เป็นน้องสาว กล่าวถึงที่มาของ Tai Soon Bar ซึ่งเธอมีหน้าที่ดูแลภาพรวมของร้าน “และพอดีเรามีห้องแถวคูหานี้ที่เมื่อก่อนเป็นร้านขายยาของอากงและคุณพ่อ พอไม่มีผู้สืบทอดกิจการต่อ ก็ปิดห้องไว้เฉยๆ 11 ปีได้ เราจึงตัดสินใจเปิดเป็นบาร์ และยังขายในราคาย่อมเยาพอๆ กับที่ Well Shop ”

และแล้ว ประตูร้านขายยาก็ถูกเปิดอีกครั้งในฐานะใหม่

อดีต ร้านยา, ปัจจุบัน คราฟต์เบียร์บาร์

ด้วยอาศัยอยู่ห้องแถวนี้มาตั้งแต่เด็กจนโต เมื่อถึงคราวรีโนเวตบ้านและร้านเป็นบาร์ ฟลุ๊คจึงพยายามรักษากลิ่นอายเดิมไว้ให้มากที่สุด ทั้งโครงสร้างที่อยู่อาศัยจากยุคเก่าก่อนที่เธอเห็นจนชินตา กำแพงปูนบางจุดที่ผุกร่อนเห็นอิฐเรียงตัว รวมถึงผนังที่สีลอกล่อน เพียงทุบฝ้าเพดานออกให้มีส่วนโปร่งโล่งเชื่อมกันทั้ง 3 ชั้น ชั้นล่างตั้งเคาน์เตอร์บาร์ที่จำลองเก๊ะยาจีนโบราณ เก็บป้ายร้านยาเก่าหน้าร้านไว้ในตำแหน่งเดิม เพื่อบอกเล่าถึงการใช้งานในอดีตของสถานที่แห่งนี้

“พอเปิดเป็นบาร์ ตอนนี้ที่นี่จึงไม่ใช่แค่บ้านเราแล้ว” ฟลุ๊คกล่าวต่อ “เมื่อก่อนเราอยู่เอง จะอยู่ยังไงก็ได้ แต่วันนี้เราต้องคำนึงถึงคนที่เขาจะเข้ามาที่บ้านเรา อย่างบันได เราวิ่งขึ้นวิ่งลงสบายมากเพราะคุ้นเคย ไม่ต้องมีไฟก็ได้ แต่พอมีลูกค้ามาที่ร้าน ด้วยบันไดเป็นโครงสร้างของบ้านเก่า บางคนเขาก็ขึ้นจังหวะไม่ถูก เสี่ยงกับการตก มีหลายเรื่องที่เราต้องคำนึงถึง หมายความว่าเราต้องดูแลมากขึ้นเพื่อต้อนรับคนอื่นด้วย”

​Tai Soon Bar จัดที่ทางให้นั่งดื่มได้ตลอด 3 ชั้น ชั้น 2 เทียบได้กับชั้นลอยที่ชะโงกมองเคาน์เตอร์บาร์และความเคลื่อนไหวชั้นล่างได้ ส่วนชั้น 3 จัดเป็นโซนโอเพ่นแอร์ ทุกชั้นเชื่อมโยงกันด้วยโคมแดงระย้าลงมาจากเพดานของชั้นบนสุด ห้อยลดหลั่นเล่นไปกับแนวกระเทาะของระเบียงปูนเปลือย

ความหลงใหลในพรายฟอง

ยิ่งเวลาล่วงสู่มืดค่ำ ไฟแดงฉานยิ่งสว่างชัดตัดกับความขรึมขลังของเก๊ะยาจีนจำลอง มองผ่านหลังของเหล่านักดื่มที่ห้อมล้อมรอบเคาน์เตอร์เข้าไป แทปคราฟต์เบียร์สดเรียงตัวบนผนังปูนแหว่งเว้า เหนือขึ้นไปคือป้ายไม้ระบุประเภทเบียร์ในแต่ละแทปของคืนนั้นๆ ขณะที่ฟลุ๊คกำลังกดเบียร์ใส่แก้วให้ลูกค้า พรายฟองขาวเนียนค่อยๆ ไต่ขึ้นหาขอบแก้ว เคนนั่งลงตรงหน้าฉันเพื่อสนทนาถึงคราฟต์เบียร์ใน Tai Soon Bar

“คราฟต์เบียร์สดของร้านเรามี 12+1 แทป” ฉันร้องถามขึ้นมาทันที 12+1 แทปของเขาหมายถึงอะไรกัน

“คือร้านเราตั้งอยู่ย่านประตูผี 13 คือ Unlucky Number เราจึงตั้งใจทำให้เป็นกิมมิก ใน 12 แทป เราบอกเลยว่าเป็นคราฟต์เบียร์อะไร แต่เจ้า 1 แทปที่เพิ่มเข้ามาเป็นตัวพิเศษ เราใส่เป็นเควสชันมาร์กเอาไว้ ไม่จำหน่าย แต่จะทำเป็นกล่องโดเนต คุณดื่มแล้วคุณชอบ คุณใส่เท่าไหร่ก็ได้ คุณไม่ชอบ ไม่ต้องใส่ เราจะซัพพอร์ตค่าเบียร์ตัวนั้นเอง แล้วเราจะมีกระดาษโน้ตเล็กๆ ให้คุณเขียนว่าดื่มเบียร์ตัวนี้คุณรู้สึกยังไงกับมัน ที่เราไม่อยากให้รู้ว่าเป็นเบียร์อะไรหรือของใคร เพราะถ้าคุณรู้ตัวตนว่าเขาคือใคร คุณอาจจะอวยเขาหรืออาจจะเกลียดเขา คุณไม่ได้ดื่มอย่างเป็นกลาง แต่ถ้าคุณไม่รู้ว่าเขาคือใคร คุณก็จะคอมเมนต์อย่างเป็นกลางออกมา”

“เราก็จะเอาข้อมูลที่ได้จากคนดื่มไปบอกกับบริวเวอร์ จะพัฒนาหรือปรับอะไรไหม แต่ผมต้องสกรีนทุกความคิดเห็นก่อน เพราะรสนิยมคนแตกต่างกัน เช่นลูกค้าคนนั้นชอบ IPA (India Pale Ale) แต่เบียร์พิเศษที่เราเอามาลงตอนนั้นเป็น Weizen ซึ่งอาจไม่ตรงกับคอหรือลิ้นของเขา เขาอาจจะเขียนแรงๆ เช่นว่า ไม่เห็นขมเลย ฮอปส์ก็ไม่มา ก็ Weizen มันไม่ได้ใช้ฮอปส์ มันใช้ยีสต์”

แทปที่ 13 เคนตั้งใจซ่อนไว้ให้เป็นเซอร์ไพร์สแก่ลูกค้า แต่ที่เซอร์ไพร์สฉันยิ่งกว่า คือคนที่หลงใหลในคราฟต์เบียร์กระทั่งเปิดคราฟต์เบียร์บาร์อย่างเคน กลับไม่ใช่นักดื่มตัวยง ก่อนจะนำคราฟต์เบียร์มาขายในโชห่วยของตนเองเมื่อ 2 ปีก่อน เขาไม่เคยแตะต้องแอลกอฮอล์เลยด้วยซ้ำ

“ผมมองว่าคราฟต์เบียร์เหมือนงานศิลปะ ถ้าคุณเข้าใจคราฟต์เบียร์ก็เหมือนคุณเสพงานศิลปะ เพราะคราฟต์เบียร์ไม่ว่าจะเป็น IPA ที่คนชอบ ก็แยกย่อยออกไปอีกมาก เช่น American IPA ถ้ามีคำว่า American เมื่อไร ให้รู้เลยว่าสายพันธุ์ฮอปส์ที่ใช้มีความ juicy ฉ่ำๆ หอมๆ ไม่หนักแน่น หรือบางคนเรียกว่า East Coast IPA (ฝั่งตะวันออกของอเมริกา) แต่ถ้าเจอ West Coast IPA รู้เลยว่ารสชาติจะออกขมๆ หนักๆ เหมาะสำหรับคนที่ชอบอาฟเตอร์เทสต์ ขมๆ ลากยาวติดโคนลิ้น เขาจะรู้สึกฟินกับความเขียวๆ ของมัน”

การดื่มคราฟต์เบียร์ไม่ได้ดื่มเพื่อเมา แต่ดื่มเพื่อเข้าใจอรรถรสของเบียร์ และการมีบาร์ สิ่งที่ลูกค้าต้องการคือบรรยากาศ เจ้าของร้าน ประเภทเบียร์

เคนสรุปว่าทุกวันนี้ แม้ดื่ม ก็ดื่มเพียงน้อยให้รู้รส ความลุ่มหลงของเขาไม่ใช่การดื่ม แต่เป็นรายละเอียดสลับซับซ้อนของคราฟต์เบียร์แต่ละประเภทที่ศึกษาไปได้ไม่รู้จบ

“วันนี้เรามีคราฟต์เบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 5% ไปจนถึง 14% เราพยายามมีเบียร์ให้หลากหลาย เพราะกลุ่มลูกค้าที่ Well Shop เป็นคราฟต์เบียร์สายแข็ง เขาจะดื่มตัวค่อนข้างแรงๆ ว้าวๆ ต้องเข้าใจก่อนว่า คราฟต์เบียร์คือการผลิตเบียร์ในปริมาณที่ไม่มาก และทำด้วยมือเป็นหลัก ใช้การต้มเอง ไม่ใช่เครื่องจักรอุตสาหกรรม ผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ เรียกภาษาบ้านคือเขาติสท์มาก ไม่ใช่ว่าคุณมีเงินแล้วเขาจะส่งเบียร์ให้คุณ เขาจะบอกว่าปีหนึ่งเขาต้มเท่าไหร่ ตัวนี้เหลือ 5 ถัง ตัวนี้เหลือ 2 ถัง มีแค่นี้ เอาไหม เอาก็เอา ไม่เอาก็รอปีหน้า”

“ค่ายเบียร์บ้างค่าย เขาติสท์ขนาดที่ว่าเขาไม่ส่งออก คุณอยากดื่มคุณต้องไปบินไปที่ของเขาเท่านั้น คุณไม่ดื่มก็เรื่องของคุณ บางค่ายเราต้องไปยืนต่อคิวหน้าโรงต้มเบียร์เขา คนหนึ่งซื้อได้ไม่เกิน 2-4 กระป๋อง แต่พอมีบางค่ายที่นำเบียร์ตัวนี้เข้ามา คนในวงการเขาถึงรู้สึกว่าโคตรดีเลย เราไม่ต้องบินไปถึงอเมริกา เราไม่ต้องไปต่อแถว”

และเมื่อคราฟต์เบียร์ตัวนั้นเดินทางมาถึงเมืองไทย มันจึงว้าว!

คราฟต์เบียร์ไทยมีเสน่ห์และสนุกไม่แพ้ใคร

Tai Soon Bar มีทั้งคราฟต์เบียร์ของค่ายผู้ผลิตจากเมืองนอก และแน่นอนว่าต้องมีคราฟต์เบียร์จากผู้ผลิตไทย (ด้วยข้อจำกัดทางกฏหมายบ้านเรา บางค่ายต้องไปผลิตที่ต่างประเทศ แล้วค่อยนำกลับมาเข้ามาในไทย) เคนบอกว่าคราฟต์เบียร์ไทยก็มีเสน่ห์เหลือล้นและมีความสนุกอยู่ในนั้นไม่แพ้คราฟต์เบียร์นอก

“อย่างชื่อคราฟต์เบียร์ไทยแต่ละแบรนด์เขามีที่มา เช่น Sandport คือกลุ่มคนที่ทำแบรนด์นี้เขาอยู่ที่ท่าทราย (Sand = ทราย , Port = ท่า) ที่นนทบุรี หรือ Stone Head ก็คือคนทำอยู่หัวหิน ส่วน Triple Pearl…” ชายหนุ่มชี้ไปที่ป้ายไม้หมายเลข 10

‘คนทำอยู่สามมุข’ ฉันต่อประโยคทันควัน เคนยิ้ม พยักหน้ารับ

“เห็นไหมว่าค่ายคราฟต์เบียร์ไทยมีเสน่ห์ที่น่ารักของมันอยู่ เรารู้เลยว่ามาจากไหน Triple Pearl เป็นบริวเวอร์ของไทยอันดับต้นๆ เบสเป็น Witbier เป็นแขนงที่ใกล้เคียงกับ Weizen ซึ่งในภาษาเยอรมันแปลว่าสีขาว มีต้นตำรับจากเยอรมนี การทำเบียร์ Weizen คือหลังจากเขาปลูกข้าวสาลีแล้วมันเหลือ เขาก็เอามาทำเบียร์ เนื้อเบียร์เป็นสีขาวขุ่น Witbier ก็คือ White Beer เป็นเบียร์สีขาว เบาๆ แต่ถ้าเป็น Weizen ฝั่งเยอรมนีจะค่อนข้างเคร่ง ต้องมีข้าวสาลีเป็นส่วนประกอบอย่างน้อย 50% แต่การเป็น Witbier ยืดหยุ่นกว่า คุณอาจใช้ข้าวสาลี 20-30% ก็ได้นะ ให้บอดี้มีสีขาวขุ่น แต่ไม่จำเป็นต้องข้าวสาลีจ๋า เขามีสูตรของเขา”

แล้วชายหนุ่มผู้ลุ่มหลงในคราฟต์เบียร์ก็เดินนำฉันไปยังตู้แช่คราฟต์เบียร์ขวดและกระป๋อง หลายแบรนด์ในหลากดีไซน์รายเรียง

“ถ้าเป็นฝรั่งหรือชาวต่างชาติมาที่ร้านเรา ผมก็อยากให้เขารู้จักคราฟต์เบียร์ไทย เพราะถ้าเป็นคราฟต์นอก เขาดื่มที่บ้านเขาจะดีกว่า ตัวแรกที่ผมอยากแนะนำกับฝรั่งคือชาละวัน (Chalawan Pale ALe) แต่ด้วยความที่ผมเรียนมาน้อย ภาษาอังกฤษของผมอาจไม่ดีมากนะ ผมก็จะแนะนำว่า This is a Thai local craft beer. It’s name Chalawan. Chalawan means crocodile in Thai legend. ฝรั่งเขาก็จะ หือ คืออะไร This is the best of Thai pale ale, Australia International Beer Award. It got a gold medal. เบสของตัวนี้คือ pale ale ความขมใกล้เคียงกับ lager แต่สิ่งพิเศษที่เขาจะได้คือเซนส์ของลิ้นจี่ ตอนนี้เบียร์ค่าย Full Moon ที่ผลิตชาละวันสามารถต้มในไทยได้แล้ว เป็นคราฟต์เบียร์ไทยที่ถูกกฎหมาย”

“ส่วนถ้าเป็นคราฟต์เบียร์ไทยที่มีความเบาหน่อย ผู้หญิงดื่ม ผมจะแนะนำบุษบา เป็น Flower Flavor ยิ่งตัวนี้ที่ได้ต้มในไทย สิ่งที่แตกต่างจากตอนที่ต้มในออสเตรเลียคือ กลิ่นฟอรัลจะหอมชัดขึ้น เพราะมันไม่ต้องเดินทางมาทางเรือเหมือนเมื่อก่อน ที่กว่าจะเข้าไทย แล้วต้องไปติดที่ศุลกากรอีก 3-5 วัน แต่วันนี้เขาต้มแล้วสามารถจำหน่ายได้เลย กลิ่นและรสชาติจึงดีกว่า หอมกลิ่นละมุน เบสเป็น Weizen ซึ่งมีข้าวสาลีเป็นหลัก และด้วยบอดี้ที่ละมุนๆ สีขาว แอลกอฮอล์ที่ไม่สูงมาก อยู่ที่ 4.7% ทำให้สามารถดื่มได้เรื่อยๆ จะดื่มเปิดหรือดื่มปิดก็จบได้อย่างสวยงาม”

“ผมจะไม่ยอมให้ใครมาดูถูกว่าเราทำบาร์แบบกระจอกๆ”

สองพี่น้อง เคนและฟลุ๊คคุ้นเคยกับร้านขายของชำมาตลอดก็จริง แต่เมื่อตัดสินใจเปิด Tai Soon Bar หนึ่งความตั้งใจของทั้งคู่คือการทำคราฟต์เบียร์บาร์ที่มีระบบจัดเก็บที่ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ เคนถึงกับประกาศว่าเขาจะไม่ยอมให้ใครมาดูถูกว่าตนทำบาร์แบบกระจอกๆ เด็ดขาด

“เราอยากให้ลูกค้ารู้จักคราฟต์เบียร์ว่ามันดีจริงๆ นะ มันต่างจากลาเกอร์ในบ้านเราที่คุณเคยดื่มมา ตั้งแต่วัตถุดิบ วิธีการทำ รสชาติ เพราะฉะนั้น ถ้าเบียร์มาดีแต่ระบบเก็บเราไม่ดี ความเย็นไม่ถึง จะทำให้รสชาติของเบียร์ตัวนั้นไม่ดีทันที ถ้าลูกค้ามาขอเทสต์ ตัวที่เทสต์นี่น่ากลัวที่สุด เพราะมันจะค้างในสาย ถ้าความเย็นไม่ถึง จะทำให้เบียร์ดรอป เสียรสชาติ หรือมีกลิ่นอะไรก็ตาม พอเขาชิมแล้วรู้สึกว่าไม่ดี เขาอาจจะมองว่าคราฟต์เบียร์มันไม่ดีอย่างที่เราบอกไว้นี่”

“คราฟต์เบียร์เหมาะกับอุณหภูมิ 2-8 องศาฯ แล้วแต่ชนิดของเบียร์ เราเลยทำห้องเย็นขึ้นมา ร้านทั่วไปอาจใช้แค่ตู้แช่ แล้วนำระบบเบียร์สดเข้าไป แต่สำหรับเรา ห้องเย็นดีที่สุดสำหรับการเก็บเบียร์สด เพราะเบียร์สดหนึ่งลูกไม่เหมือนเบียร์ขวดหรือกระป๋องซึ่งมีขนาดผ่าศูนย์กลางแค่ไม่กี่เซนติเมตร แต่เบียร์สดเหมือนถังแก๊สลูกหนึ่งเลย เวลาใช้งานจริงๆ เราจะต้องจัมป์เบียร์จากตรงกลาง พอเส้นผ่าศูนย์กลางหนา ความเย็นในตู้ธรรมดาตั้งไว้ที่ 3-7 องศาฯ ต้องบวกเข้าไปอีก 4 องศาฯ เพราะฉะนั้นเบียร์จะอยู่ที่ประมาณ 7-10 องศาฯ ซึ่งมันไม่โอเคกับรสชาติเบียร์ เราจึงตัดสินใจว่าเราต้องทำห้องเย็น”

“ห้องเย็นของเราแม้ไม่ใหญ่มาก แต่ใส่ถึงสองคอมเพรสเซอร์ การทำงานของคอมเพรสเซอร์หนึ่งตัวคือแปดชั่วโมง ทำงานสลับ ถ้าตัวใดตัวหนึ่งน็อก ยังมีอีกตัวที่คอยซัพพอร์ต เพราะฉะนั้นเบียร์ของเราจะต้องเย็นในอุณหภูมิที่เซตไว้ และผมการันตีว่าร้านของเรามีระบบเบียร์ที่ดีที่สุด ณ ปัจจุบันนี้ เราคำนึงถึงว่าเบียร์ทุกหยดที่ออกมาจนถึงปากของลูกค้า ต้องเย็นทุกหยดจากระบบเบียร์ของเรา”

ระบบการจัดเก็บนั่นเพียงหนึ่งตัวอย่าง ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากที่ Tai Soon Bar ลงทุนและลงแรงเต็มที่เพื่อให้ลูกค้าได้ดื่มคราฟต์เบียร์ที่ดีที่สุด เคนบอกว่าหากเขาทำบาร์แห่งนี้อย่างเต็มกำลังแล้ว ใช้ระบบเบียร์ที่เยี่ยมที่สุดแล้ว หากแม้ไม่ประสบความสำเร็จ เขาก็จะไม่เสียใจแม้แต่น้อย ตรงกันข้าม หากเขาทำร้านอย่างขอไปที เบียร์ไม่เย็น รสชาติไม่ดี ลูกค้าไปแฮปปี้ นั่นต่างหากที่จะทำให้เขาเสียใจยิ่งกว่า

“ร้านเราให้ลูกค้าเทสต์เบียร์ฟรีก่อนได้นะคะ” ฟลุ๊คเสริม ด้วยต้องการให้ลูกค้าได้ลิ้มรสชาติเบียร์ที่ต้องตามรสนิยมของตน “เพราะรสชาติของเบียร์ ต่อให้แก้วเดียวกัน สองคนดื่มก็อาจรู้สึกไม่เหมือนกัน เราจึงให้ลูกค้าเทสต์เบียร์แก้วเล็กๆ ได้ เพื่อเปิดโอกาสให้เขาทำความรู้จักเบียร์ตัวนั้นๆ ลิ้นแต่ละคนไม่เหมือนกันอยู่แล้ว แก้วเดียว บางคนบอกว่าได้กลิ่นลิ้นจี่ บางคนบอกนี่มันเสาวรส อีกคนบอก ไม่ใช่ เป็นมะพร้าว บางคนบอกกล้วยก็มี แต่สุดท้ายแล้วการหมักเบียร์เกิดจากหลายส่วนผสมผสานรวมกันในถังเดียว อยู่ที่แต่ละคนแล้วว่าลิ้นของเขาจะไวกับรสชาติของอะไรที่ชูขึ้นมา”

และนั่นอาจเป็นหนึ่งเสน่ห์มัดใจที่ทำให้ใครหลายคนหลงเข้าสู่โลกของคราฟต์เบียร์อย่างหาทางออกได้ยาก

แม้เปิดบาร์เป็นเรื่องเป็นราว แต่ Well Shop อันเป็นจุดเริ่มต้นของคราฟต์เบียร์บาร์แห่งนี้ก็ยังคงมีอยู่ สำหรับลูกค้าที่อยากซื้อคราฟต์เบียร์แบบหิ้วกลับ แต่ถ้าอยากนั่งดื่มเคล้าบรรยากาศ ฟลุ๊คกล่าวปิดท้ายว่า Tai Soon Bar จะทำให้คุณรู้สึกเหมือนนั่งดื่มที่บ้าน

“เหมือนเป็นบ้านหลังที่สองน่ะค่ะ คุณเหนื่อยจากการทำงานมา หรือเหนื่อยจากอะไรมา คุณมาดรอปที่นี่ เราเสิร์ฟเบียร์ให้คุณดื่ม ให้คุณได้พักผ่อนเต็มที่ และในอนาคต เราก็จะเพิ่มค็อกเทลเข้ามา ให้มีกลิ่นอายจีนให้เข้ากับสถานที่ด้วย”   

บทเพลงโมเดิร์นไชนีสดังคลอไปกับเสียงสนทนาของเหล่านักดื่ม เอาล่ะ ฉันจะเลือกคราฟต์เบียร์ตัวไหนดื่มในค่ำคืนนี้ดี และแล้ว Triple Pearl Witbier 5.5% ก็มาอยู่ตรงหน้า เย็นเจี๊ยบ สดชื่น ชุ่มคอ หอมเปลือกส้ม ซ่าเม็ดผักชี ก้มมองนาฬิกา ค่ำคืนนี้ของฉันเพิ่มเริ่มต้นและคงไม่จบแค่แก้วแรกนี้


Tai Soon Bar

address : 188 ถ.มหาไชย แยกสำราญราษฎร์ (ย่านประตูผี) กรุงเทพฯ
tel. : 091 463 6465
hours : เปิดทุกวัน 17:00-24:00 น.
facebook : Tai Soon Bar

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

กฤต วิเศษเขตการณ์

ช่างภาพผู้ชื่นชอบการถ่ายภาพตามท้องถนนอย่างบ้าคลั่งพอๆ กับการกินกาแฟ และผู้คนมักเขียนชื่อเขาผิด