ในนามแห่งความรัก เรากำลังตัดสินใครอยู่รึเปล่า iSHARE ธุรกิจเพื่อนรับฟัง ให้การฟังพาคุณเป็นอิสระ

Highlights

  • ชัย–อรุณชัย นิติสุพรรัตน์ คือหนึ่งในผู้ก่อตั้ง iSHARE ธุรกิจเพื่อนรับฟังที่เล่าถึงหัวใจสำคัญของการดำเนินชีวิต
  • iSHARE ไม่ใช่จิตแพทย์ แต่เหมือนเป็นพี่เป็นน้องที่คอยรับฟังสำหรับคนที่มีเรื่องไม่สบายใจ โดยคิดค่าบริการเป็นชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเล็กหรือใหญ่
  • กว่า iSHARE จะก้าวขึ้นมาทำธุรกิจการรับฟังพวกเขามีการเดินทางและประสบการณ์ที่ยาวนานถึง 5 ปี

“อย่าคิดมากแก ปล่อยวางบ้าง”

“ลองหาเวลาไปออกกำลังกายสิ”

“พักแล้วเอาเวลาไปเที่ยวบ้างเหอะ”

“ดูดวงที่นี่เปล่า เผื่อจะช่วยได้”

คุณเคยปลอบประโลมใครด้วยคำพูดเหล่านี้ไหม ในนามของความรัก เราแนะนำคนรอบตัวด้วยความหวังดีเสมอ ฉันเองก็เป็นคนหนึ่งที่เคยให้คำแนะนำเหล่านี้ จนวันนี้ที่ได้มาคุยกับ ชัย–อรุณชัย นิติสุพรรัตน์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง iSHARE ธุรกิจเพื่อนรับฟังที่เล่าถึงหัวใจสำคัญของการดำเนินชีวิตที่เราอาจจะหลงลืมไป

“เราจะไปรู้ได้ยังไงว่าเงื่อนไขในชีวิตของเขามันทำได้มากน้อยแค่ไหน เขาชอบมันรึเปล่า บางทียิ่งเราแนะนำเขา ยิ่งทำให้เราเหินห่างจากกัน มันเหมือนกับว่าเธอไม่เข้าใจฉันเลย เธอกำลังบอกให้ฉันไปทำในสิ่งที่ฉันทำไม่ได้ ฉะนั้นวิธีของ iSHARE คือวิธีที่เราจะสอนให้คนรู้จักฟังอย่างแท้จริง” ชัย ชายวัยกลางคนค่อย ๆ เล่าจากประสบการณ์ที่เขาผ่านมา

iSHARE เปิดให้บริการรับฟังสำหรับคนที่ไม่สบายใจโดยคิดค่าบริการเป็นชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเล็กปัญหาใหญ่ แต่กว่า iSHARE จะก้าวขึ้นมาทำธุรกิจการรับฟังพวกเขามีการเดินทางและประสบการณ์ที่ยาวนานถึง 5 ปี โดยเริ่มจากการทำโครงการ I SEE U อาสาเพื่อนรับฟังสำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาล

“ตอนเราไปเยี่ยมคนป่วยคือแค่เราไปยืนข้างๆ สบตาเขาโดยที่ไม่พูดอะไร เราก็ได้มากมายมหาศาลแล้วนะ คนที่เขานอนเฉย ๆ เขารู้สึกถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่มีคนมาใส่ใจ พอเราเริ่มถามว่าเป็นยังไงบ้าง เมื่อคืนนอนหลับไหม แค่นี้แหละเรื่องราวต่างๆ ก็จะออกมา เราได้เรียนรู้ว่าความทุกข์ของเขาจริง ๆ แล้วไม่ได้เกิดจากโรคเลย แต่ว่าเกิดจากความรู้สึกในใจและความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนมากกว่า” ณิชา–ณิชาภา ลี้เลิศกิจ อดีตอาสาสมัคร I SEE U ที่ปัจจุบันกลายมาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญของ iSHARE เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นในการเป็นนักฟัง

“พอทำที่โรงพยาบาลมาเรื่อยๆ เราพบว่าเราแก้ที่ปลายเหตุอย่างเดียวไม่พอ เราควรจะมาทำแนวป้องกันเพื่อให้ความสัมพันธ์มันไม่สะสมและซับซ้อนจนถึงวันที่เขาต้องจากกันน่าจะดีกว่า และ I SEE U เป็นงานเชิงจิตอาสาที่อยู่ได้เพราะมันมีตัวหลักที่ค่อนข้างมั่นคง แต่ถ้าตัวหลักไม่อยู่แล้วกิจกรรมนี้อาจจะจบลง” ชัย ผู้นำกลุ่มที่คาดหวังจะปูทางกิจกรรมอาสาสมัคร I SEE U ให้เดินหน้าได้อย่างต่อเนื่องแม้ในวันที่เขาไม่อยู่แล้ว กิจการเพื่อสังคม iSHARE จึงเริ่มต้นขึ้น

 

ร้องตะโกนในความโดดเดี่ยว

ทุกวันนี้เราติดต่อกันผ่านทางไลน์แทบจะ 24 ชั่วโมง อัพเดตข่าวสารกันทางเฟซบุ๊ก หรืออาจจะคุยกันด้วยเครือข่ายโทรศัพท์ที่คมชัดและเห็นหน้ากันได้ด้วย แต่ทำไมเราถึงต้องเสียเงินเพื่อพูดคุยกับใครสักคน ฉันเหลือบมองข้อความในมือถือที่เพื่อนทักเข้ามาก่อนจะยิงคำถามออกไป

“ปัญหาคือเขาไม่รู้เขาจะคุยกับใคร” อ้อ–พิมพ์พร ผลปราชญ์ อีกหนึ่งผู้ก่อตั้งยิ้มน้อยๆ ก่อนที่จะเล่าต่อว่า “บางทีถ้าเป็นเพื่อนเราก็ไม่รู้ว่าจะเอาปัญหาไปเพิ่มให้เขาไหม บางคนก็ไม่อยากให้ใครรู้ว่าเขามีปัญหา มีความรู้สึกแบบนี้ หรือเวลาคุยกับคนรู้จักอาจจะเป็นความจริงแค่บางส่วนที่มันจะพอเปิดเผยได้ และหลายครั้งพอคุยไปแล้วแต่สิ่งที่ได้รับกลับมามันก็จะมีคำแนะนำ อคติ หรือความเห็นอยู่ แต่กับเราซึ่งเป็นใครไม่รู้และไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอาจจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเขา”

อ้อยกตัวอย่างกรณีลูกชายของเธอให้ฟัง “แต่ก่อนเราถามลูกว่าวันนี้ทำอะไรมา เขาก็จะบอกว่าไม่รู้ เราก็งงว่าจะไม่รู้ได้ยังไงเพราะว่าใช้ชีวิตมาทั้งวัน แต่พอวันหนึ่งเรามีทักษะแล้วเราเริ่มเข้าใจที่เขาบอกว่าไม่รู้ เพราะเขารู้ว่าถ้าเขาพูดไปแล้วแม่จะบ่น ตำหนิ หรือโต้ตอบใส่เขา เขาเลยเลือกที่จะไม่พูดดีกว่า แต่พอเราเปลี่ยนท่าทีบอกว่าเป็นยังไงบ้าง เกิดอะไรขึ้นมีอะไรบอกแม่ได้นะโดยที่ไม่คาดคั้นคำตอบ ถึงเวลาเขามีเรื่องอะไรเขาจะเข้ามาเล่าให้เราฟังเอง”

การใช้โซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กที่มีทั้งปุ่ม Like, Love หรือ Wow กลับทำให้เรามีความทุกข์มากขึ้นด้วย มีงานวิจัยในหลายประเทศทดลองให้ผู้เข้าร่วมงดใช้โซเชียลมีเดียและพบว่าทำให้ผู้คนมีความสุขและโฟกัสกับปัจจุบันได้มากยิ่งขึ้น ชัยเล่าว่ามีลูกค้าหลายคนที่ได้รับผลจากการใช้โซเชียลมีเดียเช่นกัน โดยทั่วไปเราจะโพสต์แต่เรื่องดีๆ เรื่องกินหรือเที่ยว แต่พอถึงเวลาที่ชีวิตมีปัญหากลับไม่กล้าบอกใคร ทำให้คิดว่าเป็นเราคนเดียวในโลกหรือเปล่าที่ชีวิตแย่ และยิ่งทำให้รู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้นอีกท่ามกลางเพื่อนหลายร้อยคนบนเฟซบุ๊ก

 

คนแปลกหน้าที่รัก

บางคนอาจสงสัย ทำไมการอบรมเป็นผู้ฟังของ iSHARE ใช้เวลานานถึง 4 วัน

“ที่มันยากเพราะมันคือความเคยชินของทุกคนที่คิดว่าฉันก็ฟังแล้วนะ แต่จริงๆ แล้วถ้าเรามาลงลึกเรื่องการฟัง เราจะเห็นชัดมากว่าบางครั้ง บ่อยครั้ง หรือเกือบทุกครั้ง เราฟังไปคิดไป เราฟังไปตัดสินไป ว่าอย่างนู้นอย่างนี้ทำไม ไม่ควรจะทำอย่างนั้น มันแสดงออกทางสีหน้าท่าทางและคำถามที่เราตอบกลับไป” ชัยเล่าอย่างออกรสชาติ ในขณะที่หัวของฉันกลับหยุดคิดไม่ได้เลยว่าจะถามคำถามอะไรเป็นคำถามถัดไป จริงไหม ที่เราเองไม่เคยหยุดคิดเลย

อ่านมาถึงตรงนี้คุณคิดอะไรอยู่

“การฟังอย่างลึกซึ้งคือสิ่งที่เปิดหัวใจที่จะให้เราเดินเข้าไปในหัวใจของเขาได้ มันคือการเปิดหัวใจให้กันและกันให้เดินเข้า-ออกกันได้อย่างปลอดภัย” ชัยอธิบายต่อถึงกระบวนการที่ต้องฝึกและฝึก “หลังจากนั้นเขาก็พรั่งพรูสิ่งที่เขาเก็บกดและซ่อนเอาไว้หลายๆ ชั้น เราก็ค่อยๆ ทำการเล่า รื้อ สิ่งเหล่านั้นออกมา และพาเขาไปดูแง่มุมอื่นๆ ในชีวิตที่เขาไม่เคยใส่ใจ เราจะไม่ตัดสินใจให้เขาแก้ไขปัญหาเพราะเราเชื่อว่าทุกคนมีปัญญาและสามารถแก้ไขปัญหาของตัวเองได้ แต่อาจจะถูกกดทับด้วยเหตุการณ์อะไรบางอย่าง”

ปัจจุบันนี้หลายอาชีพต่างค่อย ๆ หายไปเพราะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีการบริหารงานด้วยระบบความคิดอัจฉริยะ ทุ่นแรงด้วยหุ่นยนต์ แต่การเป็นผู้ฟัง การเข้าอกเข้าใจ และรับรู้ถึงความเป็นมนุษย์เช่นนี้ คงไม่มีเทคโนโลยีใดที่จะมาเทียบได้

ไม่แน่ว่าในอนาคตที่ทันสมัยเราอาจจะต้องการอาชีพนักฟังมากขึ้นก็เป็นได้

 

ครอบครัว ด่านที่ยากที่สุดแต่สำคัญที่สุด

นักฟังแต่ละคนต่างย้ำว่าพวกเขาเองก็ไม่ได้มีชีวิตที่เพอร์เฟกต์ เพราะแต่ละคนก็มีปัญหาแตกต่างกันออกไป

“คนที่บ้านพี่บอกว่าจะฆ่าตัวตาย” อ้อ หญิงสาวที่มีดูมีความสุขเล่าประสบการณ์ของเธอ “ตอนนั้นในใจจริงๆ ก็ต้องยอมรับว่าเสียใจมาก แต่คิดว่ากว่าที่เขาจะมาพูดกับเราได้เขาก็ต้องทำการบ้านภายในใจตัวเองมาเยอะพอสมควร

“พี่เลยบอกเขาว่าเราเข้าใจนะ ถ้าคิดว่าการจากโลกใบนี้คือทางออกที่สุดในชีวิตเธอแล้ว เราก็โอเค แน่นอนว่ามันก็คงเป็นบาดแผลในใจเรา แต่เราเชื่อว่าเราจะผ่านมันไปได้ แต่อยากขอให้รู้ว่าเราพร้อมที่จะอยู่เคียงข้างเขาเสมอ” เธอได้ยุติเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้ได้โดยไม่ได้เอ่ยปากห้ามเสียด้วยซ้ำ

ส่วนณิชาเล่าถึงปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวของเธอเองว่า “ครอบครัวเราอยู่ด้วยกันแต่เหมือนกับว่าไม่มีใครคุยกันได้เลย พอพูดหรือเสนอความคิดเห็นก็จะถูกขวางด้วยความห่วงใยของอีกฝ่ายตลอดจนขัดแย้งกัน พอเรามาทำงานตรงนี้เราก็ลองให้น้องชายใช้ทักษะการฟังมากขึ้น ในที่สุดสถานการณ์ที่บ้านก็ค่อยๆ คลี่คลาย แม้สุดท้ายจะสูญเสียหลายๆ สิ่งที่เคยช่วยกันพยายามรักษาไว้อยู่ดี แต่เราคุยกันมากขึ้นและยอมรับกันมากขึ้น แม่เองก็อยู่ในช่วงช็อกกับความจริงหลายๆ อย่างที่ลูกกล้าพูดมากขึ้น มันเป็นช่วงเวลาที่แต่ละคนจะได้ค่อยๆ เรียนรู้ปรับจูนกัน”

 

หัวใจมีหู

ผู้อ่านหลายคนที่มีปัญหาหรือคำถามในชีวิตอีกมากมายที่อยากได้รับคำปรึกษาหรือแก้ไข สามารถติดต่อ iSHARE ได้ทางเฟซบุ๊ก ISEEUSHARE โดยจะมีผู้สอบถามข้อมูลเบื้องต้น ราวกับพยาบาลซักอาการและวัดความดัน ก่อนที่จะส่งต่อให้คุณหมอที่ตรงกับอาการของเรา

“แต่ iSHARE ไม่ใช่จิตแพทย์” ชัยย้ำ “คนที่จะไปหาจิตแพทย์เขาจะต้องทำงานกับตัวเองมากขนาดไหน มันจะต้องปิดบังไม่อยากบอกใครว่าฉันจะต้องไปหาจิตแพทย์ และเวลาที่ไปหาจิตแพทย์เขาก็จะทำงานแบบหมอ ให้คุยและให้ยาตามอาการ แต่ iSHARE เหมือนเป็นพี่ เป็นน้อง เป็นป้า เป็นอา ที่อาจจะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่มันเป็นส่วนผสมที่ดีมากเลย เพราะเขารู้สึกปลอดภัย”

ซึ่งการฟังที่มีประสิทธิภาพจะเน้นการได้พบปะเจอหน้ากัน เพื่อที่จะได้รับรู้ถึงท่าทาง น้ำเสียง แววตา และที่สำคัญคือมีเวลาให้กันอย่างเต็มที่ แต่มีเคสหนึ่งที่คุยผ่านการแชตที่ณิชาประทับใจมาก เธอเล่าว่าเป็นเด็กที่เสิร์ชมาเจอ iSHARE ทางเฟซบุ๊กและเข้ามาปรึกษาว่าโดนพ่อเลี้ยงทำร้ายร่างกายมา 6 ปีแล้วแต่น้องไม่กล้าทำอะไร น้องเคยไปฟ้องตำรวจแต่ก็ไม่รับเรื่องราวทะเลาะภายในครอบครัวทำให้น้องฝังใจมาก

“เราให้ข้อมูลน้องว่าต้องติดต่อที่ไหนบ้าง ถามสะท้อนความรู้สึกเขาไปเรื่อยๆ ให้เขามีความมั่นใจมากขึ้น จนเมื่อเขาถูกทำร้ายร่างกายอีกครั้งเขาก็รู้สึกกล้าที่จะลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหานี้โดยที่เขาเองเป็นคนโทรไปศูนย์ประชาบดีให้คนมาจัดการพ่อเลี้ยงไป”

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายกรณีที่ iSHARE ได้แบ่งปันประสบการณ์ให้ฟัง มันสะท้อนให้เราได้นึกย้อนถึงปัญหาของตัวเอง แม้จะไม่ได้เป็นลูกค้าที่ใช้บริการก็ยังได้รับคำแนะนำดีๆ มากมายและยังได้กลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้งว่าเรากำลังเอาความรักไปทำร้ายใครอยู่รึเปล่า

วันนี้เป็นอีกวันที่ฉันกลับบ้านช้าและแม่ยังคงรออยู่เหมือนเคย ฉันมักจะบอกแม่ว่าไม่ต้องรอ ให้พักผ่อนไปได้เลยด้วยความห่วงใยที่เราคิดขึ้นมาเอง แต่วันนี้ฉันไปนั่งดูโทรทัศน์เงียบๆ ข้างแม่ ก่อนจะถามว่า

“ช่วงนี้แม่ทำอะไรบ้าง แม่มีอะไรอยากเล่าให้ฟังไหม”

 

*ในช่วงวิกฤติการระบาดของโรคโควิด 19 เชื่อว่าหลายคนคงอยู่ในภาวะเครียดกับความไม่แน่นอนในอนาคตที่จะมาถึง iSHARE ได้เปิดให้บริการรับฟังในช่วงเดือนเมษายนนี้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย