‘ปันกันกรีน’ แบรนด์น้ำยาทำความสะอาดที่ทำให้รู้ว่าความสุขที่แท้จริงเกิดจากการแบ่งปัน

Highlights

  • 'ปันกันกรีน' คือแบรนด์น้ำยาทำความสะอาดสูตรธรรมชาติของ เก๋ชัฏศิญาณ์ พรหมมงคลกุล
  • เก๋เริ่มลงมือทำน้ำยาธรรมชาติใช้เอง เนื่องจากลูกสาวแพ้สารเคมีในน้ำยาทำความสะอาด จากนั้นก็แบ่งปันไปให้เพื่อนๆ ลูกในโรงเรียนใช้ และผลิตเป็นสินค้าออกสู่ท้องตลาด
  • เมื่อธุรกิจเจริญเติบโตไปได้ด้วยดี เก๋จึงสร้างโอกาสให้คนในชุมชนช่วยผลิต พร้อมกับรับซื้อวัตถุดิบอย่างผลไม้อินทรีย์ที่ปราศจากยาฆ่าแมลงจากชาวบ้านด้วย

‘ปันกันกรีน’ คือแบรนด์น้ำยาทำความสะอาดธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นน้ำยาล้างจานสูตรมะกรูด น้ำยาซักผ้าสูตรน้ำสับปะรด น้ำยาปรับผ้านุ่มสูตรมะละกอ น้ำยาถูพื้นสูตรขมิ้นชัน และอื่นๆ แต่คงไม่น่าแปลกใจที่คุณอาจยังไม่คุ้นเคยกับแบรนด์นี้ เพราะ เก๋–ชัฏศิญาณ์ พรหมมงคลกุล คุณแม่ลูกสามผู้เป็นเจ้าของแบรนด์ยืนยันเสียงแข็งว่า จะยังไม่เอาสินค้าขึ้นห้างอย่างเด็ดขาดเพราะเธออยากทำความรู้จักกับลูกค้าด้วยตัวเธอเองก่อน

วันนี้ฉันเดินทางมาหาเก๋ แม่ค้าอารมณ์ดีที่ Jai Talad ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์โดยผู้ประกอบการ เก๋กำลังง่วนอยู่กับการอธิบายลูกค้าด้วยความยิ้มแย้มเช่นเคย แม่ค้าขายน้ำยาทำความสะอาดคนนี้มีพลังงานบวกเหลือล้น จนฉันอดไม่ได้ที่จะชวนเธอคุยเบื้องหลังสินค้ารักษ์โลกและความสุขนี้

เงินทองของมายา ข้าวปลาคือของจริง

“ตอนน้ำท่วมปี 2554 ทำให้เราพบความจริงว่ามีเงินก็ช่วยอะไรไม่ได้ ตอนนั้นซื้อของอะไรไม่ได้เลย เราเลยหนีน้ำท่วมไปอยู่ที่มาบเอื้องของอาจารย์ยักษ์และได้เรียนรู้ศาสตร์พระราชาเกี่ยวกับการอยู่อย่างยั่งยืน เราเข้าใจเลยว่าเงินทองเป็นของนอกกาย ข้าวปลาคือเรื่องจริง” เก๋ซึ่งเป็นอดีตนักเรียนนอกเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเกษตรกรรมธรรมชาติและหันมาพึ่งพาธรรมชาติมากกว่าเงินตราในกระเป๋า

แม้ว่าเธอจะมีความรู้เรื่องการหมักน้ำยาธรรมชาติใช้เองเป็นทุน แต่ก็ยังไม่ได้มุ่งมั่นตั้งใจทำสินค้าออกมาขายตั้งแต่แรก จนกระทั่งลูกๆ ของเธอแพ้สารเคมี

“โรงเรียนของลูกให้ทำการบ้านผ่านการลงมือทำ เด็กๆ จะทำงานบ้านแทนการบ้าน พวกเขาต้องกวาดบ้าน ล้างจาน เป็นงานประจำ พอทำไปนานๆ สารเคมีก็กัดมือทำให้ลูกเป็นผื่น คัน เราก็เลยซื้อน้ำยาออร์แกนิกมาให้ลูกใช้ แต่ก็ซื้อได้แค่สองครั้งเพราะราคาแพง เลยตัดสินใจทำเองเลยแล้วกัน”

หลังจากนั้นเก๋จึงเริ่มลงมือทำน้ำยาธรรมชาติใช้เองและแบ่งปันไปให้เพื่อนๆ ลูกในโรงเรียนด้วย เด็กอีกหลายคนที่เจอปัญหาเดียวกันก็อาการดีขึ้นจนแม่ๆ ต่างก็ชื่นชมคุณสมบัติของสิ่งที่เธอทำ ด้วยการสนับสนุนจากกลุ่มผู้ปกครองนี่เองทำให้เก๋มีความมั่นใจและกล้าผลิตเป็นสินค้าออกสู่ท้องตลาดมากขึ้น

“บางคนช่วยเรื่องการพัฒนาสูตร กลิ่น บางคนช่วยออกแบบโลโก้และแนะนำการตลาดด้วย” เก๋เล่าถึงการเติบโตทีละนิดด้วยการช่วยเหลือจากคนรอบตัว จนทำให้น้ำยาล้างจานสูตรสับปะรดและมะกรูดกลายเป็น ‘ปันกันกรีน’ ในที่สุด

ยิ่งทำยิ่งแบ่งปัน

แรกๆ คุณแม่ก็ผลิตน้ำยาจากผลไม้ที่ได้ในท้องตลาดทั่วไป แต่เพราะอยากให้เด็กๆ ได้ใช้สินค้าที่ปลอดภัยที่สุดจึงหันมาผลิตน้ำยาจากผลไม้อินทรีย์ที่ปราศจากยาฆ่าแมลงแทน แต่ก็ใช่ว่าจะเอาผลไม้อินทรีย์จากไร่ใดหรือที่ไหนก็ได้ เก๋เลือกที่จะให้ธุรกิจของเธอสร้างโอกาสให้กับคุณตาคุณยายในต่างจังหวัดด้วย

“เราเอามะกรูดมาจากชาวบ้าน คุณตาคุณยายตามต่างจังหวัดเขาปลูกไม่เยอะ เราก็ไปช่วยซื้อ เวลาไปเอาเราจะรับรู้ได้เลยว่าเขามีความสุขกับการเก็บมะกรูด เขารู้สึกมีคุณค่ามากขึ้น บางทีคุณยายก็โทรมาถามว่าจะเอามะกรูดหรือยัง เอาเมื่อไหร่ เพราะต้องเตรียมเก็บล่วงหน้า คนแก่ไม่มีแรงเก็บทีละเยอะๆ ก็ต้องให้เวลาเขาเก็บ และเราจะใช้มะกรูดที่อยู่บนต้น ไม่ใช้มะกรูดที่ร่วงแล้ว เพราะมันไม่มีพลังชีวิต” เก๋เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างซัพพลายเออร์ที่น่ารักของเธอ ซึ่งพลอยทำให้ฉันอมยิ้มไปด้วย

เมื่อเธอขายดีขึ้นก็ยิ่งต้องการแรงงานมากขึ้น แทนที่จะเปิดโรงงานหรือจ้างคน เก๋เลือกวิ่งออกไปหาชุมชนแทน ด้วยชีวิตประจำวันที่ต้องส่งลูกไปโรงเรียน เธอเลือกถามไถ่และว่าจ้างคนในชุมชนระหว่างทางให้หั่นผลไม้ให้เธอ ก่อนที่เธอจะมารับสินค้าในตอนเย็นช่วงที่รับเด็กๆ กลับจากโรงเรียน

แม้กระบวนการและธุรกิจจะเจริญเติบโตไปได้ด้วยดี แต่เก๋ก็เจอกับปัญหาใหญ่เพราะธรรมชาติเป็นไปตามฤดูกาล แต่ความต้องการกลับมีต่อเนื่องตลอดทั้งปี

“ปัญหาคือผลไม้แต่ละฤดูจะแตกต่างกัน อย่างฤดูฝนจะได้ผล juicy ที่ดีมาก ส่วนฤดูแล้งก็ไม่มีเลย มันแห้งกร้านไปหมด มันเป็นธรรมชาติของต้นไม้ไม่ใช่เคมี เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจธรรมชาติฤดูแล้งเราจะไม่ทำผลิตภัณฑ์ใดๆ เราจะไปทำการตลาด ทำโฆษณาประชาสัมพันธ์แทน และเราจะเริ่มรับผลไม้มาในฤดูฝน ซึ่งต้นทุนผลไม้ในฤดูฝนจะถูกกว่าด้วย ถ้าเรายังยืนหยัดอยู่กับการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ เราก็จำเป็นต้องสื่อสารกับลูกค้าว่ามันหมดแล้วนะ ไม่ใช่ว่าจะขายอย่างเดียว”

เสียงตอบรับของความสุข

“เรามาออกบูท ไม่ใช่มาเอาเงินอย่างเดียวนะ” เก๋บอก แต่เป้าหมายของเธอคือการได้ใช้โอกาสนี้ส่งมอบความรู้ที่เธอมีให้กับชุมชน มาพบปะลูกค้าและอุดหนุนเพื่อนๆ ผู้ค้าไปพร้อมกัน

“อ๋อ ทำแบบนั้นได้ด้วยเหรอ” หลายครั้งลูกค้าจะอุทานเช่นนี้ เก๋เล่าว่าคนส่วนใหญ่ยังยึดติดกับภาพโฆษณาว่าน้ำยาทำความสะอาดที่ดีต้องมีกลิ่นหอมๆ หรือฟองเยอะๆ ซึ่งในความจริงแล้วความสะอาดกับสิ่งเหล่านั้นอาจไม่ได้เกี่ยวพันกัน “มันไม่ต้องสะอาดเวอร์วังแบบใช้เคมีก็สะอาดแบบธรรมชาติได้นะ น้ำยาถูพื้นก่อนที่คุณจะถูพื้นก็เช็ดโต๊ะ เช็ดตู้ก่อนแล้วก็เอาไปถูพื้น พอถูพื้นเสร็จก็แช่พรมเช็ดเท้าได้อีก หรือถ้าซักผ้าเวลาซักเสื้อชั้นในเสร็จก็เอาถุงเท้ามาแช่ต่อได้ น้ำที่ซักก็จะมีจุลินทรีย์ที่ดีต่อแหล่งน้ำชุมชนด้วย”

เมื่อเป็นผู้ให้ที่ดี เธอก็กลายเป็นผู้รับได้เหมือนกัน

“มีลูกค้าชาวต่างชาติคนหนึ่งมาเล่าให้ฟังว่า เขาประชุมมาทั้งวันและเครียดมาก แต่พอกลับมาบ้านอาบน้ำแล้วได้กลิ่นมะกรูดเขารู้สึกผ่อนคลายมาก เหมือนกลิ่นมันเปิดประสาทและปลดล็อกให้เขาไม่เครียด เราเลยรู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งเล็กๆ ที่ทำให้เขารู้สึกผ่อนคลายนะ เราก็รู้สึกขอบคุณด้วย” เก๋เล่าถึงอีกหลายๆ กรณีที่ลูกค้าหวนกลับมาขอบคุณเธอ

ส่วนเรื่องที่เธอประทับใจที่สุดคือเรื่องของลูกค้าที่เป็นนักวิ่ง เคสนี้ชวนให้ฉันเห็นภาพคล้ายตามโฆษณา เธอเล่าว่านักวิ่งคนนี้มักจะมี lucky shirt หรือเสื้อตัวเก่งที่ใส่ประจำสำหรับการแข่งขัน เมื่อเขาเข้าสู่เส้นชัยก็จะมีผู้คนมาห้อมล้อมแสดงความยินดี แต่เขาต้องผงะและไม่กล้าให้ใครมากอดเพราะเสื้อเขามีกลิ่นเหม็น เขาจึงตามหาน้ำยาซักผ้าที่จะแก้ปัญหานี้มานานแล้วแต่ก็ยังไม่เจอสักที

“ผมหามาเยอะแล้ว น้ำยาพี่จะช่วยผมได้เหรอ” หนุ่มนักวิ่งพูดกับเก๋ เธอจึงยินดีมอบน้ำยาซักผ้าเอนไซม์สับปะรดให้เขาไปใช้ฟรีๆ สัปดาห์ต่อมาเขากลับมาจริงๆ เขาตั้งใจมากเลยนะ เราก็ลุ้นว่าผลจะเป็นยังไงบ้าง แล้วเขาก็บอกว่า พี่ครับ ขอบคุณมากเลยครับ เสื้อที่เป็นความทรงจำของเขาได้เอามาใส่อีกครั้งพร้อมความมั่นใจ” 

เก๋เล่าเรื่องประทับใจนี้ให้กับนักวิ่งอีกหลายคน และก็น่าแปลกใจที่หลายคนมีปัญหาคล้ายๆ กัน

“จริงครับ แต่ผมก็ไม่กล้าไปบอกใคร ตอนซักเสร็จน้ำยาซักผ้าทุกยี่ห้อมันก็หอมดี แต่เวลาโดนเหงื่อผมเท่านั้นแหละมันก็ดึงกลิ่นเก่าๆ ขึ้นมาเหมือนกับเป็นน้ำหอมที่ฉาบเอาไว้เฉยๆ” ลูกค้าเคยเล่าให้เธอฟัง

ฉันนึกถึง ‘อิคิไก’ ความสุขจากการทำงาน การส่งต่อสิ่งที่ดีให้กับคนอื่น ฟังดูอาจเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อว่าแค่น้ำยาทำความสะอาดจะมอบความสุขให้กับใครได้มากขนาดนี้

ความสุขที่เติมได้

แม้เราจะไม่เห็นปันกันกรีนในห้างร้าน แต่ปันกันกรีนแทบจะเป็นน้ำยาทำความสะอาดที่มีอยู่ในร้านค้าแบบเติมหรือ bulk store ทุกสาขา เก๋ได้พบเจอกับ Refill Station โดยบังเอิญและได้แนะนำสินค้าของเธอด้วยความกระตือรือร้นเช่นเคย จนน้องๆ สนใจนำไปขายให้คนมาเติม

“ตอนที่จะส่งให้ Refill Station เราดีใจมากที่เขาทำแบบนี้ เพราะเราเคยเห็นตอนอยู่เมืองนอกมาแล้ว แต่ก็แอบคิดนะว่าเขาจะไปกรอกขายเองไหม แล้วจะมาขายตีกับเราหรือเปล่า แฟนบอกเธอคิดให้ดีนะ แต่เราเชื่อว่าเขาต้องทำได้ แล้วเขาต้องไปได้ดี ลูกค้าอาจไม่ต้องรู้ว่าเป็นยี่ห้อเราก็ได้ แต่คนที่ใช้บ่อยๆ จะรู้ว่านี่ของใคร” เก๋เล่าถึงแนวคิดตอนที่เธอตัดสินใจเอาไปวางที่ Refill Station แม้เธอจะรักสินค้าที่เธอทำมาก แต่เธอเลือกที่จะส่งเสริมสิ่งแวดล้อมมากกว่าหวงแหนแบรนด์ของเธอเอง

ทุกวันนี้ปันกันกรีนเติบโตขึ้นมาก เคียงคู่ไปกับการเกิดขึ้นของร้านค้าแบบเติม ไม่ว่าจะเป็นร้านในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต และอีกหลายจังหวัด ใครสนใจผลิตภัณฑ์ที่ดีมีคุณภาพของปันกันกรีนสามารถเจอเก๋ได้ตามอีเวนต์ตลาดอินทรีย์ต่างๆ เอาขวดไปเติมเองได้ในร้านค้าแบบเติม หรือสั่งซื้อได้ทางเพจ ปันกันกรีน

แล้วมาแบ่งปันความกรีนและความสุขในการทำความสะอาดบ้านช่วงต้นปีไปด้วยกัน

AUTHOR