ไทยสากล จากเพลงปลุกใจของรัฐสู่เพลงกระแสหลักของประชาชน

หลายคนคงเคยได้ยินคำพูดทำนองว่า ย้อนกลับไปฟังเพลงไทยเก่าๆ ทีไรก็หวนคิดถึงความทรงจำในช่วงเวลานั้น

คงเป็นเพราะดนตรีเป็นสื่อที่เข้าถึงทุกคน อยู่กับเราทุกช่วงเวลาของชีวิต ไม่แปลกถ้าเพลงเหล่านี้เป็นเหมือนเครื่องย้อนเวลาพาเรากลับไปหาความทรงจำเก่าๆ ที่ซุกซ่อนอยู่ ในขณะเดียวกันก็อาจทำหน้าที่เป็นเครื่องบันทึกประวัติศาสตร์ด้วยเช่นกัน

เพลงไทยสากลหรือเพลงที่เรามักได้ฟังกันบ่อยๆ ในทุกวันนี้ก็เป็นหนึ่งในเพลงที่ทำหน้าที่บันทึกความทรงจำและบอกเล่าเหตุการณ์สำคัญของไทยในช่วงเวลานั้นไปด้วย น้อยคนนักที่จะรู้ว่ามรดกเพลงเหล่านี้มีจุดเริ่มต้นมาอย่างไร

ที่มาที่ไปของเพลงไทยสากลจึงถูกหยิบมาบอกเล่าในงานเสวนา เสียงเพลงแห่งศตวรรษ ตอนที่ 3 ใช้ชื่อว่า ไทย x สากล หลังจากที่เราได้ทำความรู้จักดนตรีแจ๊ซและดนตรีร็อกแอนด์โรลในฟากฝั่งตะวันตกไปแล้ว กลับมาคราวนี้ OKMD และวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ชวนเราย้อนกลับมาสำรวจดนตรีไทยสากลในช่วงปี พ.ศ. 2500-2540  ช่วงเวลาหลังความรุ่งเรืองของละครเวที ละครวิทยุ และภาพยนตร์ของไทย โดย อ.กิตติ ศรีเปารยะ อ.สนอง คลังพระศรี และ ผศ. ดร.ธนพล เศตะพราหมณ์ พร้อมวงดนตรีจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล ที่มาบอกเล่าเรื่องราวสลับกับการสาธิตการแสดงสดของวงดนตรีผ่านบทเพลงในยุคสมัยนั้น

ย้อนกลับยุคทองของเพลงไทยสากลช่วงปี พ.ศ. 2500 หรือประมาณ 60 ปีก่อน ตั้งแต่ที่ไทยเริ่มเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา เพลงไทยสากลก็เริ่มเข้ามาอยู่ในชีวิตของคนไทยมากขึ้น ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 สาย คือเพลงลูกกรุงและเพลงลูกทุ่ง พร้อมกับเหตุการณ์ทางสังคมที่ส่งผลต่อทิศทางของวงการเพลงไทยสากลจนถึงปัจจุบัน

เพลงที่มีความเป็นมายาวนานนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ แล้วทำไมจึงกลายเป็นที่นิยมของคนได้จนถึงปัจจุบัน บทความนี้จะพาทุกคนย้อนเวลาไปสำรวจเหตุการณ์ยุคนั้นผ่านบทเพลงลูกกรุงและลูกทุ่งไปพร้อมๆ กัน

เสียงใหม่ที่ไม่คุ้นเคย

งานเสวนาสลับการสาธิตการแสดงดนตรีสด เริ่มต้นด้วยการพาเราย้อนกลับไปถึงครั้งแรกที่ดนตรีสากลเข้ามาในสยามตั้งแต่สมัยอยุธยา

ทันทีที่โลกเข้าสู่ยุคแห่งการรู้แจ้ง ผลักดันให้ชาวตะวันตกออกเดินทางเพื่อค้นหาทรัพยากรใหม่ๆ กองเรือรบฝรั่งเข้ามาเทียบท่าในสยาม ไม่เพียงแต่เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีเท่านั้น แต่ยังพาเสียงเครื่องดนตรีที่ชาวบ้านแถบคุ้งน้ำไม่เคยได้ยินมาก่อนเข้ามาด้วย 

การเข้ามาของชาติตะวันตกทั้งเพื่อทางการทูตและความเชื่อที่เริ่มหลั่งไหลเข้ามาในสยาม เช่นพราหมณ์อินเดียหรือคริสตศาสนา ทำให้คนไทยได้รู้จักเสียงเครื่องดนตรีใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น แตรสังข์ แตรงอน แตรวิลันดา และแตรทรัมเป็ต 

จากบันทึกบอกว่าเสียงที่กองเรือพามาขณะล่องเรือผ่านไปตามลำน้ำ คือเสียงแตรวง การเข้ามาของชาติตะวันตกมีส่วนทำให้สยามรับเอาวัฒนธรรมใหม่ๆ อย่างการแต่งเพลงเข้ามาด้วย เพลงสากลจากชาวตะวันตกถูกนำมาใช้เพื่อสรรเสริญพระบารมีและฝึกทหารเดินแบบฝรั่ง อย่างเพลง God Save the Queen ซึ่งเป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงชาติของอังกฤษ

นับแต่นั้นเพลงไทยสากลก็ถูกเริ่มต้นใช้ในด้านการทหาร โดยเฉพาะสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยการมีแตรวงกองเรือ โดยมีกัปตัน เอม.ฟูศโก (Michael Fusco) เป็นผู้เขียนคำร้องภาษาไทยกับทำนองเพลงตะวันตก รวมถึงมิสเตอร์ จาคอบ ไฟต์ (Jacob Feit) ชาวเยอรมัน สัญชาติอเมริกา ที่เป็นครูฝึกประจำวังหน้า ก่อนที่ต่อมาวงดนตรีเหล่านี้จะถูกเรียกว่าวงโยธวาทิต (Military Band) 

การเข้ามาของชาวตะวันตกได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนไทยรู้จักการประพันธ์เนื้อเพลงไทยด้วยดนตรีแบบสากลมากขึ้น โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต หรือพระบิดาแห่งเพลงไทยสากล ทรงเป็นผู้นำการแต่งทำนองเพลงตามมาตรฐานสากล สำหรับบรรเลงด้วยแตรวง โดยเฉพาะเพลงวอลซ์ปลื้มจิตในช่วงต้นรัตนโกสินทร์

ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

เพลงไทยสากลยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องจากชนชั้นสูง ทั้งการเริ่มมีละครร้องและวงเครื่องสายฝรั่งหลวง ก่อนค่อยๆ เข้ามาสู่ชีวิตประจำวันของประชาชนมากขึ้นในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 

เพลงไทยสากลในช่วงนี้ มักใช้โครงสร้างแบบเพลงฝรั่งทั้งเพลง แต่ยังคงลีลาอ่อนหวานแบบไทย เช่น เพลงบัวขาว เพลง ในฝัน และเพลง ลมหวน ที่แต่งโดยคุณหญิงพวงสร้อย อภัยวงศ์ และพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล

จนกระทั่งการเข้ามาของภาพยนตร์และแนวดนตรีจากต่างชาติ อย่างวงดนตรีมาเลย์สตริง ของชาวมลายู และเพลงคาวบอยที่มีการโห่เป็นเอกลักษณ์ ดำเนินไปพร้อมๆ กับความไม่ปกติสุขในบ้านเมือง สิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลอย่างมากในการแต่งเพลงไทยสากล 

ช่วงเวลาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง สังคมไทยต้องเจอกับปัญหาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้เพลงปลุกใจเริ่มเข้ามาอยู่ในชีวิตของประชาชนมากขึ้น ถึงขนาดมีการเปิดเพลงประเภทนี้ก่อนชมภาพยนตร์ ผ่านบทเพลงที่หลวงวิจิตรวาทการประพันธ์ไว้จำนวนมาก เช่น รักเมืองไทย แหลมทอง แดนอีสาน ฯลฯ 

เพลงปลุกใจมีบทบาทมากขึ้นเมื่อถึงยุคสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพลงประเภทรัฐนิยมเกิดขึ้นตามนโยบายเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย วงดนตรีส่วนใหญ่จึงเป็นวงของหน่วยงานราชการเกือบทั้งสิ้น

หนึ่งในนั้นคือวงดนตรีลูกกรุง ซึ่งเริ่มก่อตัวขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง จากวิลาส โอสถานนท์ อธิบดีกรมโฆษณาการ ที่ต้องการจัดตั้งวงดนตรีสำหรับวิทยุกระจายเสียงของกรมโดยเฉพาะ จนได้นักดนตรีจากวงไทยฟิล์มหรือจากบริษัทภาพยนตร์ที่ปิดตัวลงไปแล้วมาเล่นเป็นวงดนตรีโฆษณาการ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อวงสุนทราภรณ์

วงดนตรีของกรมโฆษณาการโด่งดังเนื่องจากเป็นวงดนตรีวงเดียวที่ผูกขาดการออกอากาศทางสถานี ทั้งยังไม่สนับสนุนให้ประชาชนบรรเลงเพลงไทย ทำให้วงดนตรีของสุนทราภรณ์ โดยมีเอื้อ สุนทรสนาน เป็นหัวหน้าวงมีชื่อเสียงโด่งดังอย่างมาก

นับจากนั้นครูเพลงในยุคนั้นอย่าง เอื้อ สุนทรสนาน เวศ สุนทรจามร และแก้ว อัจฉริยกุล ก็ได้นำดนตรีสากลมาเปลี่ยนแนวให้เพลงไทยเดิมมีจังหวะสนุกสนานแบบดนตรีสากล ทำให้เข้าสู่ยุคเพลงไทยสากลอย่างสมบูรณ์แบบ

ช่วงเวลาคาบเกี่ยวกัน ฟากฝั่งเพลงลูกทุ่งช่วงต้นเริ่มก่อตัวขึ้นจากการหลอมรวมอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์คาวบอย การเล่นดนตรีแบบวงแจ๊ซแบนด์ซึ่งเลียนแบบมาจากชาวมาเลเซีย นอกจากนี้ความเฟื่องฟูของการเล่นละครที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 มาสู่ละครวิทยุ ทำให้เกิดเป็นเพลงลูกทุ่งที่แตกต่างไปจากเพลงลูกกรุงอย่างมาก

ในยุคนั้นเพลงลูกทุ่งเกิดขึ้นด้วยการนำเพลงไทยเดิมหรือเพลงพื้นบ้านมาผสมกับดนตรีสากล กลายเป็นแบบฉบับของเพลงลูกทุ่งที่มีการร้องเต็มเสียง การเอื้อนจากสำเนียงท้องถิ่น มักกล่าวถึงธรรมชาติที่สวยงามและชีวิตของชาวชนบท รวมถึงความรักของหนุ่มสาวที่ยึดมั่นในศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณี นักร้องผู้ริเริ่มเสนอผลงานในยุคนี้ เช่น คำรณ สัมบุญณานนท์ ชาญ เย็นแข ส่วนนักร้องหญิง เช่น ผ่องศรี วรนุช หรือศรีสอางค์ ตรีเนตร เป็นต้น

ยุคเฟื่องฟูของดนตรีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

จากอิทธิพลของภาพยนตร์และดนตรีจากต่างชาติ หล่อหลอมให้วงการเพลงไทยมีทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่ชัดขึ้น ช่วงเวลานี้มีความพยายามแบ่งประเภทเพลงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เพลงเพื่อชีวิต เพลงผู้ดี เพลงตลาด โดยนักจัดรายการวิทยุ

ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เหล่าดนตรีและเพลงไทยได้ไปอยู่กับประชาชนทั่วไปตามงานวัด โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ มีการประกวดร้องเพลงกันเกือบทุกวัด มีนักร้องเกิดขึ้นมากมาย มีการประกวดรำวงอย่างครึกครื้นตามการสนับสนุนของรัฐ ขณะเดียวกันกรมศิลปากรก็สร้างเพลงรำวงประกอบท่ารำวงมาตรฐานเพื่อเป็นต้นแบบจนถึงปัจจุบัน หรือแม้แต่การมีเพลงพระราชนิพนธ์จากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ออกเผยแพร่ให้แก่ประชาชน เช่นเพลง ใกล้รุ่ง เพลง แสงเทียน เพลง ชะตาชีวิต ฯลฯ ยิ่งตอกย้ำความเฟื่องฟูของเพลงไทยสากลได้อย่างดี

ในปี พ.ศ. 2490 เพลงไทยสากลได้ขยับมาสู่ขอบเขตใหม่อีกครั้ง โดยเป็นส่วนหนึ่งในภาพยนตร์และละครเวที เพลงที่ได้รับความนิยมในยุคนั้น เช่น ชายสามโบสถ์ แม่ศรีเรือน สามหัวใจ จนมีการสร้างโรงละครถึง 6 แห่งทั่วกรุง

ความนิยมจากสื่อบันเทิงอย่างการละครและภาพยนตร์ ทำให้ดนตรีพลอยได้รับความนิยมไปด้วย จนเกิดเป็นอาชีพที่ชัดเจนขึ้นมากกว่าเดิม มีทั้งวงดนตรีเกิดขึ้นมากมาย รวมถึงนักจัดรายการเพลงทางสถานีวิทยุเกิดขึ้นในยุคนี้

ในเวลาต่อมาประเทศไทยมีโทรทัศน์เป็นครั้งแรกถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ ทำให้ไทยรับความนิยมแบบชาวตะวันตก เกิดเป็นการเต้นรำเพลงลีลาศ และทำให้ไทยมีบาร์และไนต์คลับเกิดขึ้นจำนวนมากในยุคนี้

ช่วงเวลานี้วงดนตรีได้พัฒนาขึ้นเป็นวงดนตรีขนาดใหญ่ ออกไปแสดงไปตามสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ วงดนตรีบางวงเริ่มปรับเปลี่ยนการแสดงให้อลังการขึ้น เช่นมีหางเครื่อง ซึ่งได้รับอิทธิพลจากวงดนตรีแบบลาตินอเมริกัน ซาเวียร์ คูกัต (Xavier Cugat) มีคณะตลก มีการจัดการวงที่ซับซ้อนขึ้น รวมถึงมีการถ่ายทอดวิชาชีพกันอย่างเห็นได้ชัด

ความเป็นระบบและมีแบบแผนส่งผลให้เกิดการก่อตั้งสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย มีการประกวดเพลงยอดเยี่ยมหลายรูปแบบ โดยมีรางวัลเป็นแผ่นเสียงทองคำพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ช่วงเวลานี้นับว่าดนตรีไทยสากลมีความเข้มข้นสูงสุด เพราะศิลปินมีความประณีตและแข่งขันกันสร้างผลงานเพื่อชื่อเสียงและเกียรติยศ 

ไม่ต่างไปจากวงการเพลงลูกทุ่งที่ถือว่าเป็นยุคทองเช่นกัน เพลงกลุ่มนี้ได้รับความนิยมจากผู้ฟังไปทั่ว นอกจากมีการจัดงานแผ่นเสียงทองคำพระราชทานแล้ว ยังมีการตั้งวงลูกทุ่งของมหาวิทยาลัย ทำให้กลุ่มคนเมืองที่ฟังแต่เพลงลูกกรุงหันมาสนใจเพลงลูกทุ่งมากขึ้น

ยุคภาพยนตร์เพลง

การแข่งขันระหว่างเพลงลูกกรุงและเพลงลูกทุ่งยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ยุคนี้เพลงลูกทุ่งเริ่มถูกนำไปประกอบในภาพยนตร์ มนต์รักลูกทุ่ง ซึ่งถือเป็นเรื่องแรกที่มีความโด่งดังมากที่สุด เนื่องจากเพลงมีความไพเราะ ท่วงทำนอง และเนื้อหาที่จับใจผู้ชม ส่งผลให้เรื่องต่อๆ มา กลายเป็นภาพยนตร์เพลงส่วนใหญ่ นอกจากจะพูดถึงชาวชนบทท้องทุ่งแล้วยังแทรกอารมณ์ขันและคารมเสียดสีด้วย

ขณะเดียวกันช่วงเวลานี้อิทธิพลทางดนตรีจากต่างประเทศก็ได้รับความนิยมอย่างสูสี โดยเฉพาะช่วงของดนตรีร็อกของ เอลวิส เพรสลี่ คลิฟ ริชาร์ด และวงเดอะบีเทิลส์ กำลังโด่งดังไปทั่วโลก จนเป็นที่คลั่งไคล้ของวัยรุ่นไทยในสมัยนั้น ทำให้ที่ไทยเองก็มีวงดนตรีแนวร็อกเกิดขึ้นหลายวง เรียกว่า วงชาโดว์ ในระยะหลังวงดนตรีชาโดว์มีจำนวนมากนับร้อยๆ วง จนในปัจจุบันดนตรีไทยสากลกลายเป็นผลพวงมาจากวงชาโดว์เกือบทั้งสิ้น

เมื่อฟังจนถึงตอนนี้ เพลง หยาดเพชร ที่แต่งโดยชาลี อินทรวิจิตร ก็ถูกขับร้องขึ้น โดยวงดนตรีดุริยางคศิลป์ สลับกับเพลง เป็นไปไม่ได้ ของวงดิ อิมพอสสิเบิล และเพลง รักในซีเมเจอร์ ของแกรนด์เอ็กซ์ ทันทีที่บรรเลงก็เรียกเสียงฮือฮาของผู้ชมในงานได้อย่างดี เนื่องด้วยเป็นเพลงอมตะที่เกิดขึ้นในยุคสมัยนั้นและยังอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน

วิกฤตทางการเมืองกับเพลงเพื่อชีวิต

ในช่วงปลายยุคของเพลงลูกกรุงและเพลงลูกทุ่งเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตทางการเมือง อย่างเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ได้ผลักดันให้เพลงไทยสากลมีบทบาทอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน คือการกลายเป็นเพลงเพื่อชีวิต โดยนักร้องที่เราคุ้นหูถึงปัจจุบัน อย่าง พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ คาราวาน คาราบาว หรือโฮป 

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นของค่ายเพลงน้อยใหญ่เกิดขึ้นมากมาย ทำให้มีศิลปินยุคนี้โด่งดังอย่างมาก อย่างเพลง รักคือฝันไป ของ สาว สาว สาว ที่นำมาแสดงสด และทำให้หลายคนโยกไปตามจังหวะเพลงอย่างสนุกสนาน

เหตุการณ์ทางการเมืองไม่เพียงแต่ส่งผลต่อวงสตริงเท่านั้น แต่ยังมีผลไปถึงวงการเพลงลูกทุ่งเช่นกัน เนื้อหาเพลงก็เปลี่ยนไปเกี่ยวกับความทุกข์ยากของชาวนา กรรมกร ก่อนที่ต่อมาแนวเพื่อชีวิตจะมีน้อยลงจากการปิดกั้นของรัฐ ทำให้เพลงกลับมานิยมความรักของหนุ่มสาวอีกครั้ง ขณะเดียวกันเนื้อเพลงลูกทุ่งช่วงนี้ก็สะท้อนไปที่ปัญหาใหม่ๆ เช่น การขายแรงงานในต่างประเทศ การย้ายถิ่นฐาน การประกอบอาชีพของชาวชนบทเข้าสู่เมืองหลวง 

อิทธิพลจากดนตรีแนวสตริงและแนวร็อกจากต่างประเทศส่งผลมาถึงเพลงลูกทุ่งที่เริ่มปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยเช่นกัน ยุคนี้มีพุ่มพวง ดวงจันทร์ เป็นนักร้องลูกทุ่งหญิงที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก เธอเป็นคนแรกที่บุกเบิกมิวสิกวิดีโอของวงการเพลงไทย และยังสามารถทำลายเส้นแบ่งรสนิยมของผู้ชมให้ทุกคนหันมาฟังเพลงลูกทุ่งมากขึ้น เนื้อเพลงเปลี่ยนบทบาทของผู้หญิงให้กลายเป็นคนกล้าเปิดเผยความรู้สึกของตัวเอง กลายเป็นมิติใหม่ของวงการเพลงลูกทุ่งไทยที่ทำให้กลายเป็นเพลงจังหวะสนุกสนานได้

ทันทีที่เพลง ตั๊กแตนผูกโบว์ ของพุ่มพวง ดวงจันทร์ ถูกบรรเลงขึ้น ก็ทำให้ทุกคนเข้าใจว่าทำไมเธอจึงกลายเป็นราชินีเพลงลูกทุ่งไทย และได้รับความนิยมอย่างมากในยุคนั้น

ช่วงสุดท้ายของการเสวนาค่อยๆ พาเรามาถึงความนิยมของเพลงไทยสากลในยุคที่ใกล้เคียงกับปัจจุบันมากขึ้น ในยุคที่กลุ่มวัยรุ่นหันมาชื่นชอบเพลงสตริง ทำให้ช่องว่างระหว่างผู้ฟังกลุ่มผู้ใหญ่ถ่างกว้าง จึงมีความพยายามนำเพลงเก่าแก่อย่างเพลงสุนทราภรณ์มาเรียบเรียงใหม่เพื่อปลุกกระแสความนิยมอีกครั้ง 

กระแสการอนุรักษ์เพลงเก่าได้แพร่เข้ามาไม่เว้นแม้แต่ฝั่งเพลงลูกทุ่ง หลังจากการเสียชีวิตอย่างกะทันหันของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ก็ยิ่งทำให้ความหวังที่จะฟื้นฟูเพลงลูกทุ่งลดน้อยลง จนได้นำนักร้องสตริงมาร้องเพลงลูกทุ่ง หรือการนำภาพยนตร์ มนต์รักลูกทุ่ง มาสร้างใหม่อีกครั้ง ทำให้เพลงลูกทุ่งได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่เพลงลูกกรุงค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยเพลงสตริงหรือเพลงที่เราคุ้นเคยอย่างทุกวันนี้

AUTHOR