SWING : ที่พักพิงของคนขายบริการโดยคนขายบริการเพื่อคนขายบริการในไทย

Highlights

  • มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ หรือ SWING (Service Workers in Group Foundation) เกิดขึ้นเมื่อปี 2004 ภายใต้การนำของ สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิในปัจจุบัน โดยเป้าหมายของพวกเขาคือการเป็นที่พักพิงให้กับคนขายบริการทั้งเพศชายและเพศหญิง 
  • ที่นี่ให้ความช่วยเหลือทั้งในเรื่องสุขภาพอย่างการตรวจโรคทางเพศสัมพันธ์ การศึกษานอกสถานที่ ข้อกฎหมาย และเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย โดยผู้ให้บริการส่วนใหญ่ในมูลนิธิเป็นคนขายบริการมาก่อนเช่นกัน
  • ปัจจุบันสถานการณ์ของคนขายบริการในไทยยังอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง สังคมยังคงไม่ยอมรับทั้งในแง่ของกฎหมายและทัศนคติ SWING พยายามเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้โดยเน้นการให้คนขายบริการสามารถยืนหยัดด้วยตัวเองได้มากกว่าไปขอความช่วยเหลือจากใคร

มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ หรือ SWING (Service Workers in Group Foundation) เกิดขึ้นเมื่อปี 2004 ภายใต้การนำของ สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการมูลนิธิในปัจจุบัน

เป้าหมายของ SWING คือการเป็นที่พักพิงให้กับคนขายบริการ (sex worker) ทั้งชายและหญิงในด้านสุขภาพอย่างการตรวจโรคทางเพศสัมพันธ์ การศึกษานอกสถานที่ ข้อกฎหมาย และเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย สุรางค์สร้างที่นี่ให้เป็นเหมือนบ้านหลังที่สองที่พร้อมดูแลเหล่าดอกไม้กลางคืนเพื่อให้พวกเธอและพวกเขาได้เจอที่ที่ปลอดภัย เว้นว่างจากโลกอันโหดร้ายภายนอก รวมถึงเป้าหมายใหญ่กว่านั้นของมูลนิธิคือการทำให้สังคมยอมรับคนที่ทำอาชีพนี้ว่าเขาและเธอก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง

มูลนิธิ SWING จะเปิดบริการในตอนกลางวันและปิดก่อนพลบค่ำ เพราะน้องๆ ส่วนใหญ่ที่มาเป็นสตาฟหรือมาใช้บริการคือคนที่ปัจจุบันยังคงทำอาชีพขายบริการอยู่ ดังนั้นก่อนพระอาทิตย์จะตกดิน เราเชิญสุรางค์มานั่งคุยกันถึงสิ่งที่เธอทำและความเป็นไปของโลกอีกใบที่หมุนไปข้างหน้าในความมืดที่กำลังจะมาถึง บางเรื่องเล่าจากเธอทำให้เราตกใจ บางเรื่องทำให้เราเศร้าใจ แต่ทุกเรื่องที่เธอถ่ายทอดคือเรื่องจริงที่น้อยคนจะรู้

ท่ามกลางแสงจันทร์ที่ปะปนกับแสงนีออนบนท้องถนน ดอกไม้เหล่านี้อาจไม่มีเสียง

แต่ถ้ามีใครสักคนที่พูดแทนพวกเธอได้ เราอยากจะลองฟัง

ส่วนใหญ่คนขายบริการมาหาเราด้วยปัญหาอะไร

ภาพรวมของ SWING คือเป็นทั้งโรงเรียนและคลินิก ดังนั้นน้องๆ ที่มาส่วนหนึ่งคือมาเรียนหนังสือ รู้ไหมว่าความฝันส่วนใหญ่ของคนขายบริการคืออยากเรียนหนังสือนะ พวกเขาอยากมีโอกาสได้รับปริญญา อยากทำงาน ที่นี่จึงมีการสอนภาษาและเรายังได้รับอนุญาตจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนให้เปิดศูนย์การสอนที่น่ีได้ ดังนั้นน้องๆ สามารถมาเรียนที่นี่โดยไม่รู้สึกว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม ไม่มีใครถามว่าทำงานอะไร เพราะเรารู้กันว่าที่นี่คือโรงเรียนของพวกเรา อีกเหตุผลที่น้องจำนวนมากมาที่นี่คือมาตรวจ HIV เรามีคลินิกของเราเองที่คนให้บริการคือเจ้าหน้าที่ขององค์กรที่ถูกเทรนมา โดยรวมแล้วที่นี่มีน้องๆ เข้า-ออกตลอดทั้งวัน

ปัจจุบันมีคนขายบริการเยอะไหม

เราเคยเก็บสถิติเมื่อไม่นานนี้แล้วพบว่าผู้ชายที่ขายบริการตามผับบาร์ในกรุงเทพฯ จะมีอยู่ประมาณ 3,000 คน แต่ถ้าเป็นผู้หญิงขายบริการ เราจะเก็บข้อมูลเฉพาะพื้นที่ที่เราทำงานอยู่อย่างซอยพัฒน์พงษ์ ซอยคาวบอย และซอยนานา ซึ่งมีอยู่ประมาณ 5,000 คน แต่ถ้าเอาทั่วประเทศ เราคิดว่ามีประมาณหลายหมื่นคน ซึ่งโดยรวมถือว่าจำนวนเยอะขึ้น อาจเพราะสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นแบบนี้ มีน้องๆ ที่ปกติทำงานประจำแต่ตอนกลางคืนผันตัวเองมาทำงานนี้เยอะเหมือนกัน บางงานเราคิดไม่ถึงด้วยซ้ำนะ เช่น รับราชการหรือเป็นนักศึกษาแล้วหันมาทำงานไซด์ไลน์เพื่อหารายได้เสริมก็มีเยอะแยะ ยิ่งปัจจุบันมีโซเชียลมีเดีย มันไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวเองแต่ก็สามารถหาลูกค้าได้ มันเลยเป็นช่องทางหนึ่งที่หลายคนใช้ช่วยเหลือตัวเองกับค่าครองชีพแบบนี้ คนที่เข้ามาเลยมีความหลากหลาย

นอกจากให้บริการ SWING เคยคุยกับน้องๆ เรื่องชีวิตพวกเขาไหม

เราจะมีการพูดคุยกับน้องๆ อยู่แล้วเพื่อให้น้องๆ รู้สึกว่าที่นี่เป็นบ้าน อย่างช่วงนี้ที่น้องบ่นมากเลยก็คือสภาพเศรษฐกิจที่มันตก จริงๆ ช่วงปลายปีเป็นช่วง high season ของน้องๆ นะ แต่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในสถานบริการมันน้อยมาก คือตามปกติชีวิตของเขาจะรอช่วง high season เพราะตอน low season เขาแทบไม่มีรายได้ ทีนี้พอช่วงนี้ไม่มีคนอีก บางคนมาบอกเราว่าอยากฆ่าตัวตาย เพราะเขาไม่รู้จะไปทางไหนแล้ว อีกอย่างหนึ่งคือตอนนี้รูปแบบธุรกิจก็เปลี่ยนไป ผับบาร์เริ่มปิดตัว น้องๆ เลยต้องหันไปทำงานออนไลน์ ถ้าเขาพอมีทักษะด้านโซเชียลมีเดียก็พอหาลูกค้าได้ แต่ถ้าไม่ได้เป็นคนไฮเทค เขาก็ไม่รู้จะไปหาลูกค้ายังไง เราว่าตรงนี้น่าเป็นห่วงเพราะปกติเราจะเห็นคนที่ตกงานจากที่ต่างๆ มาขายบริการ แต่นี่คนขายบริการกำลังตกงาน มีน้องหลายคนที่อยากไปทำอย่างอื่น แต่สุดท้ายพอเขาก้าวขาออกไปก็ถูกตั้งคำถามว่าทำอะไรมาก่อน สุดท้ายเขาก็อยู่ตรงนั้นไม่ได้เพราะสังคมตั้งคำถามและไม่ยอมรับ เขาก็ต้องกลับมาที่เดิม

ทำไมการขายบริการถึงควรเป็นเรื่องปกติในสังคมไทย

เรามองว่า sex work is work พวกเขาคือกลุ่มคนที่ทำงานบริการ ทั้งขายเครื่องดื่มให้ลูกค้า พูดคุยปรึกษา รู้ไหมว่าลูกค้าบางคนไม่ได้มาเพราะเซ็กซ์เลยนะ เขาแค่ต้องการเพื่อนคุยหรือมีเรื่องเครียดจากทางบ้าน โอเค คนที่เข้ามาเพราะเซ็กซ์ก็มี แต่จริงๆ ทั้งหมดนั้นก็จะมีเรื่องเซ็กซ์อยู่แค่ประมาณครึ่งชั่วโมงเท่านั้น ดังนั้นเราจึงมองว่างานเหล่านี้คืองานบริการ เพราะเซ็กซ์มันเป็นเรื่องของทุกคน อีกอย่างคือคนขายบริการเขาก็แค่พยายามจะไม่เป็นภาระของสังคม พยายามจะหารายได้เลี้ยงตัวเอง แต่สังคมกลับมองว่างานของพวกเขาไม่ถูกกฎหมายและไม่มีโอกาสได้สวัสดิการทางสังคมเลย ในขณะที่เขาต้องจ่ายภาษีเหมือนคนอื่นแต่เขากลับไม่ได้สิทธิที่ควรจะได้ในฐานะประชาชนเลย สิ่งที่เขาได้อย่างเดียวคือสิทธิประกันสุขภาพซึ่งตามกฎคือต้องไปรักษาที่บ้าน ในขณะที่ความเป็นจริงคือไม่มีคนขายบริการคนไหนหรอกที่ทำงานที่บ้านตัวเอง ดังนั้นถ้าเจ็บป่วยเขาก็ไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลืออะไรได้เลย

เหมือนสังคมพยายามจะปิดและมองไม่เห็นพวกเขา

เราว่ามันปากว่าตาขยิบเหมือนกัน เราบอกว่าประเทศเราไม่มีการค้าประเวณี มันจริงเหรอ ก็เห็นผับบาร์เต็มไปหมด รายได้หลักเรามาจากไหน เรากล้ายอมรับไหมว่ามันมาจากการท่องเที่ยวอะไร หรืออย่างภาษีเหล้าบุหรี่ ถามจริงๆ ว่าใครเป็นคนขายในที่เหล่านี้ ถามกลับไปว่าแล้วเราดูแลอะไรเขาบ้าง เราไม่ได้ดูแลอะไรเขาเลย เราปล่อยเขาไปตามยถากรรม เราพูดเสมอนะว่าพวกเขาไม่ใช่ใบไม้ที่อยากจะกวาดแล้วเอาไปใส่ถังขยะเมื่อไหร่ก็ได้ พวกเขาเป็นคน มีชีวิตจิตใจ แถมเป็นคนมีชีวิตจิตใจที่หารายได้เข้าประเทศ อันนี้คือสิ่งที่เจ็บ นี่คือสิ่งที่พวกเขาได้จากสังคม

น้องๆ เคยบ่นให้ฟังหรือเปล่า

บ่นเยอะ (ตอบทันที) เขายังมีพูดเล่นๆ กันเลยว่าถ้าพวกเขานัดหยุดงานกันเนี่ย หลายๆ อย่างคงกระเทือน ไม่ดูแลพวกเขาเลยแต่เล่นงานพวกเขาจัง อยากทำความสะอาดบ้านทีก็มากวาด มาจับพวกเขา ทำเหมือนเขาอยู่นอกกรอบสังคม

เคยมีคนที่ไม่ไหวไหม

(นิ่งคิดนาน) มูลนิธิเราจัดงานศพให้น้องมาเยอะแล้ว ส่วนใหญ่เป็นเรื่อง HIV มันใกล้ตัวพวกเขานะ เพราะการเป็นผู้ถูกซื้อมันจะไม่มีอำนาจเหลืออยู่ในตัว เขาไม่มีอำนาจต่อรองให้ลูกค้าใช้ถุงยางอนามัย ดังนั้นสิ่งที่ตามมาคือน้องเราจำนวนหนึ่งติดเชื้อ พอติดเชื้อปุ๊บ นายจ้างเขาก็ไม่เอาไว้ทำงานเพราะถือว่าทำประโยชน์ให้เขาไม่ได้แล้ว นึกออกไหมว่าอาชีพนี้คืออาชีพท้ายๆ แล้วที่เขาเลือกมาทำ ดังนั้นถ้าติดเชื้อเขาก็ไม่รู้จะไปทางไหน หลายคนอยากกลับบ้านแต่ถึงจุดนี้ครอบครัวเขาก็ไม่รับ เราเคยส่งน้องคนหนึ่งกลับบ้านเพราะน้องป่วย เราติดต่อครอบครัวให้มารับน้อง แต่หนึ่งสัปดาห์ผ่านไปครอบครัวก็ติดต่อกลับมาบอกเราว่าเอาอะไรมาคืนเขา 
เอากลับไป (นิ่งคิด) สุดท้ายน้องก็เสียชีวิต บางเคสแม้แต่ศพ ครอบครัวก็ไม่รับ บางเคสแม้แต่กระดูกก็ไม่รับ นี่คือสิ่งที่น้องๆ ต้องเผชิญ ดังนั้นชีวิตเหล่านี้มันยิ่งกว่าใบไม้อีกนะ กับสังคมภายนอกมันไม่มีใครสนใจ ไม่มีใครดูแล เพราะทุกคนรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องของฉันที่จะต้องไปช่วยเหลือ อยากแส่มาขายตัวเอง ถ้าติดเชื้อหรือโดนทำร้ายก็เรื่องของเธอ แต่ถามกลับหน่อยว่าเขาเป็นคนไหม เขาก็เป็นคนเหมือนเรานะ เพียงแต่ว่าเขาไม่มีโอกาส พวกเขาอยากจะได้โอกาสทั้งนั้นแหละ พวกเขาอยากมีชีวิตที่ดี แต่สิ่งที่เจ็บปวดคือเขาอยู่ได้แต่ในโลกของเขา เพราะถ้าก้าวขาออกมา เขาก็จะถูกต่อว่าและไม่ได้รับการยอมรับอยู่ดี

คิดว่าการรับรู้เหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงได้ไหม

สิ่งที่เราทำคือเราไม่รอหรอก แน่นอนว่าธงของเราคือการทำให้น้องๆ อยู่ภายใต้กฎหมายแรงงาน แต่พอดูความเป็นจริงแล้วมันไม่มีทางเป็นไปได้เลย เกือบ 30 ปีแล้วที่เราสู้ตรงนี้มาจนรู้สึกว่ามันเป็นไปไม่ได้หรอก ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้คือให้พลังน้องๆ ถึงแม้จะเป็นคนขายบริการแต่น้องก็ต้องยืนอยู่ได้ นี่เป็นเหตุผลที่สตาฟองค์กรของเราคือคนที่ขายบริการมาก่อน เราอยากให้พวกเขารู้ว่าตัวเองทำอะไรได้ คุณสามารถลุกขึ้นมาทำอะไรหลายอย่างด้วยตัวเองได้ สังคมของเราเอง เพื่อนของเราเอง พวกเรามีคลินิกเป็นของตัวเอง มีโรงเรียนเป็นของตัวเอง ไม่รอใคร นี่คือสิ่งที่เป็นจริงแล้วมันได้กับน้องๆ จริงๆ เรามีที่ของเรา ถ้าไปตรงไหนแล้วไม่สบายใจเราก็ไม่ไป เรามาตรงที่ของเรา ตรงนี้จะไม่ตั้งคำถามว่าทำไมคุณถึงมาทำอาชีพนี้ เราจะไม่ตั้งคำถามใส่กันเพราะคนตั้งคำถามกับเราเยอะแล้ว


กีตาร์ อายุ 29 ปี
อดีตพนักงานขายบริการชาย ปัจจุบันเป็นรองผู้จัดการมูลนิธิ SWING

“เราเป็นเด็กเชียงใหม่ที่ย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ ตอน ป.6 เพราะหนีหนี้ ตอนนั้นครอบครัวเราไม่ค่อยมีเงิน พอมาอยู่กรุงเทพฯ เราก็พยายามหางานช่วยครอบครัวแต่ไม่มีใครรับ

“จุดเปลี่ยนจริงๆ คือวันหนึ่งที่เราบอกแม่ว่าอยากกินก๋วยเตี๋ยว แม่หายไป 20 นาทีแล้วกลับมาพร้อมก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชาม เรามารู้ทีหลังว่าแม่ไปรับจ้างล้างจานที่ร้านก๋วยเตี๋ยวทั้งวันเพื่อแลกกับก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชามมาให้เรากิน ตอนนั้นเรารู้สึกว่าไม่ใช่แล้ว เราต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้บ้านเราหนีรอดจากสภาพที่เป็นอยู่นี้ พอดีกับที่ตอนนั้นเราเริ่มมีเพื่อนที่กรุงเทพฯ และเพื่อนก็แนะนำว่ามันมีงานหนึ่งที่ใครจะทำก็ได้ เงินดีมาก ใช้แค่รูปร่างหน้าตาและปฏิสัมพันธ์เก่งๆ ก็พอ เรารู้สึกว่าถ้ามันได้เงินเราก็อยากทำ เราเลยตัดสินใจสมัครเข้าไปทำงานในบาร์

“พอเข้าไปทำงาน ทุกอย่างในนั้นทำให้เราตกใจมาก เราได้เห็นผู้ชายอยู่ด้วยกัน มีการต่อรองราคา มีโชว์โป๊ต่างๆ ตอนแรกเราลำบากใจที่ต้องทำงานในที่แบบนี้เหมือนกัน แต่เราก็คิดว่าถ้าเรายอม เราจะสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ เรารู้สึกว่าเราโอเค

“ทีนี้พออยู่ไป สิ่งที่เราได้เห็นคือเพื่อนหลายคนได้เงิน ‘พิเศษ’ ซึ่งมากกว่าเรา เป็นธรรมดาที่เราจะรู้สึกอยากได้เงินแบบนั้นบ้าง เพื่อนก็เลยแนะนำให้เราลองออกไปกับลูกค้าบ้าง แรกๆ ก็เขิน แต่โชคดีที่ลูกค้าคนแรกของเราเป็นคนดี เราเลยรู้สึกว่าเราทำได้ ก็เลยเปลี่ยนจากเด็กเสิร์ฟมาเป็นเด็กขายบริการโดยตรงตั้งแต่ตอนนั้น

“จำได้ว่าเซ็กซ์ครั้งแรกของเราแลกมาด้วยเงิน 45,000 บาท เรากล้าพูดว่าเราภูมิใจกับเงินก้อนนี้มาก รู้สึกว่าสามารถหาเงินเลี้ยงครอบครัวได้จริงๆ เราอยากทำอะไรก็ได้ทำ กินอะไรก็ได้กิน จากที่แม่ใส่เสื้อขาดๆ ก็หาเสื้อผ้าที่เขาอยากได้มาให้ เรารู้สึกว่าเงินก้อนนี้ทำให้เรามีแรงหายใจ

“ตามประสาเด็ก เราคิดว่าถ้าเอาเงินก้อนนี้มาให้พ่อแม่เขาต้องดีใจแน่ แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือคำถามที่ว่าเอาเงินมาจากไหน ไปขายยาหรือไปปล้นเขามาเหรอ เราก็พยายามตอบเลี่ยงๆ ว่าไปทำงานหนึ่งมาแล้วมีคนเขาเอ็นดู แต่พ่อแม่ก็รู้ว่าเราโกหก เพราะหลังจากนั้นชีวิตเราเปลี่ยน เราเริ่มกลับบ้านดึกๆ เริ่มมีสังคมกลางคืน หลับตอนกลางวัน สุดท้ายเราก็ปิดบังไม่ได้และตัดสินใจบอกเขาว่าเราทำงานขายบริการ

“พ่อแม่รับไม่ได้เลย แม่ไม่คุยด้วยและขอให้เราหยุดทำงานนี้ เราก็พยายามอธิบายว่าถ้าหยุดไปแล้วครอบครัวจะอยู่ยังไง พ่อก็ไม่สบาย แม่ก็เงินเดือนแค่ 5,000 น้องสาวก็กำลังเรียนต่อ มันไม่พอ ให้หยุดทำงานตอนนี้มันเป็นไปไม่ได้ แต่อธิบายยังไงสุดท้ายพ่อกับแม่ก็ไม่ได้มองว่ามันเป็นงาน เขาคิดว่าทำไมต้องขายศักดิ์ศรี ทำไมต้องขายตัว เขายังมีทัศนคติว่าคนขายบริการมันไม่ดี เราคุยกับเขาแบบมีปัญหาอยู่ช่วงหนึ่งเลย กดดันแต่ก็ต้องทำ เราเหมือนเป็นช้างเท้าหน้าไปแล้ว

“เหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนจริงๆ คือการเข้ามาของ SWING ตั้งแต่เริ่มทำงาน เราก็เห็น SWING เข้ามาลงพื้นที่ให้ความรู้และแจกถุงยางอยู่แล้ว แต่ช่วงแรกเราไม่ได้สนใจเพราะไม่รู้สึกภูมิใจกับงานนี้เลยไม่กล้าเข้าไปหา แต่วันหนึ่งเพื่อนเราป่วยเป็นหนองในและมาขอคำปรึกษา เราเลยเดินเข้าไปถามข้อมูลจาก SWING จนเพื่อนคนนั้นได้รับการดูแลและรักษาจากหมอ ครั้งนั้นเป็นจุดพลิกผันเลย เป็นครั้งแรกที่เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันมีคุณค่า หลังจากนั้นเราได้เจอกับพี่สุรางค์และถูกทาบทามเข้ามาทำงานที่องค์กร จนถึงตอนนี้ก็เข้าสู่ปีที่ 11 แล้วที่เราทำงานอยู่ที่นี่

“ถ้ามองย้อนกลับไปตั้งแต่ก๋วยเตี๋ยวชามนั้นที่แม่เราลำบากกว่าจะได้มา มันยากมากกว่าเราจะมาถึงจุดนี้ได้ ดังนั้นในตอนนี้ที่เรามีโอกาส เรารู้สึกอยากใช้โอกาสนี้ทำอะไรเพื่อเพื่อนและสังคมกลุ่มนี้บ้าง เราจึงอยู่ที่นี่ คอยให้ความรู้น้องๆ ที่เข้ามาใหม่ เราจะชวนน้องคุยว่าไม่มีช่องทางอื่นแล้วใช่ไหม ถ้าไม่มีแล้วอยากจะเดินทางนี้ น้องควรจะทำยังไงถึงจะป้องกันตัวเองได้ ไม่ใช่จากโรค แต่จากสังคมที่ยังให้คุณค่าด้านลบกับงานของเรา

“มันส่งผลต่อพวกเรามากๆ ถ้าคนอื่นหันมาเข้าใจพวกเรา การที่เรายังไม่เข้าใจกันอยู่แบบนี้มันเหมือนเรากำลังสร้างแผลให้กันอยู่ตลอดเวลา ยกตัวอย่างครอบครัวเราเอง สิ่งที่เราทำก็สร้างบาดแผลให้เขา ความไม่เข้าใจของเขาก็สร้างบาดแผลให้เรา ดังนั้นถ้าเราเข้าใจกันมันคงดีกว่านี้ พวกเราจะได้ไม่รู้สึกว่ามีบาดแผลอยู่ตลอดเวลา และไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนผิด ดังนั้นสิ่งสำคัญคือจะคงศรัทธาในตัวเองให้อยู่ในสังคมได้ยังไงก็เท่านั้นเอง”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

กฤต วิเศษเขตการณ์

ช่างภาพผู้ชื่นชอบการถ่ายภาพตามท้องถนนอย่างบ้าคลั่งพอๆ กับการกินกาแฟ และผู้คนมักเขียนชื่อเขาผิด