ความจริงของผู้ลี้ภัยในไทยที่ถูกซ่อนไว้ภายใต้ความเป็นชาตินิยมของเราเอง

Highlights

  • โต้ง-ศักดิ์ดา แก้วบัวดี เป็นนักแสดงที่ใครหลายคนอาจจะคุ้นหน้าค่าตากับบทบาทในหนังหลายเรื่องของเจ้ย อภิชาติพงศ์ แต่บทบาทการเป็นนักสังคมสงเคราะห์ผู้ลี้ภัยของเขาเริ่มขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้วจากการได้ไปเห็นผู้ต้องกักใน ตม.
  • ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่คือคนที่หนีความขัดแย้งจากประเทศตัวเองเข้ามาในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย โต้งบอกว่าคนที่อยู่นอกการกักของ ตม.มีถึงประมาณแปดพันคนในกรุงเทพฯ คนที่ถูกกักอยู่ใน ตม.มีกว่าพันคน ทุกคนมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบากและต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
  • โต้งให้ความช่วยเหลือส่งผู้ลี้ภัยไปประเทศที่สามมาแล้วหลายราย แต่กำลังของเขายังไม่พอในการแก้ปัญหาทั้งหมด ดังนั้นเขาจึงต้องการความช่วยเหลือและคนที่จะมารับช่วงต่อในอนาคต

ผมนัดพบกับโต้ง-ศักดิ์ดา แก้วบัวดี ที่บ้านของเขาย่านพหลโยธิน

ถ้าจะให้อธิบายให้ชัดกว่านั้น ที่นี่เป็นคอนโดขนาด 2 ห้องนอนที่มีห้องแยกทั้งห้องครัว ห้องทำงานและห้องรับแขกส่วนกลางที่เรากำลังนั่งคุยกัน สิ่งอำนวยความสะดวกมีอยู่อย่างครบครันพร้อมบรรยากาศนอกหน้าต่างที่ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ นอกจากความสะดวกสบายทั้งหมดแล้ว ผมยังสังเกตเห็นโปสเตอร์และภาพถ่ายจากภาพยนตร์ของเจ้ย อภิชาติพงศ์ที่เขาเคยร่วมแสดงติดอยู่ตามจุดต่างๆ ผลงานเหล่านี้เองที่ทำให้ผมและใครหลายคนรู้จักโต้งในฐานะนักแสดงคนไทยคนหนึ่งที่เดินพรมแดงในงานเทศกาลหนังเมืองคานส์มามากกว่าใครในประเทศนี้

เปล่าเลย วันนี้เราไม่ได้มาคุยกับเขาถึงความสำเร็จที่ว่า แต่เรามาคุยกับโต้งถึงที่บ้านเพราะอีกบทบาทที่เขาทำต่างหาก นั่นคือบทบาทที่เขานิยามตัวเองว่าเป็น ‘นักสังคมสงเคราะห์ผู้ลี้ภัยในประเทศไทย’

โต้งกำลังช่วยเหลือและหา ‘บ้าน’ ให้กับเพื่อนมนุษย์ที่เจอเรื่องโหดร้ายเกินกว่าเราจะคาดเดา

ถ้านับจากวันแรก เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้วที่โต้งเข้ามาทำเรื่องนี้ การออกมาเล่าหรือเชิญชวนให้คนบริจาคในเฟซบุ๊กส่วนตัวของเขาเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ใครหลายคนรับรู้การมีอยู่ของสิ่งที่เขาทำ บางเรื่องราวของผู้ลี้ภัยที่เขาเล่าทำเอาใครหลายคนหดหู่จนตั้งคำถามว่าเรื่องโหดร้ายขนาดนี้เกิดขึ้นใกล้ตัวเราโดยที่เราไม่รู้ได้อย่างไร คำถามที่เกิดขึ้นคือแรงกระตุ้นที่พาเรามานั่งคุยกับโต้งในบ้านของเขาหลังจากเพิ่งกลับมาจากการทำภารกิจเรื่องนี้ที่ประเทศฝรั่งเศสได้ไม่นาน

แปลกดีที่ความหรูหราในบ้านที่ผมเพิ่งได้สัมผัส วิวต้นไม้นอกหน้าต่างในเมืองกรุงเทพฯ และเราสองคนที่นั่งคุยกันกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปเลยเมื่อบทสนทนาของเราเริ่มต้น

เพราะเรากำลังพูดถึงกลุ่มคนที่ไม่มีบ้านให้กลับ ไม่มีวิวสวยงามใดๆ ให้เห็น และพวกเขาต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนแต่กลับไม่มีใครรู้

คุณไปทำอะไรที่ฝรั่งเศส

ผมพาครอบครัวชาวม้งเวียดนามไปประเทศที่สามเพื่อลี้ภัยจากเหตุประหารชีวิต เท้าความก่อนว่าครอบครัวนี้เป็นชนกลุ่มน้อย มีสามี ภรรยา และลูกสาว 5 คน ตอนที่อยู่เวียดนามเขาเป็นชนกลุ่มน้อยที่ไม่มีสัญชาติและนับถือศาสนาคริสต์ ทีนี้ตำรวจเวียดนามเขาไม่เข้าใจว่าทำไมไม่นับถือศาสนาพุทธเลยจับคนเป็นพ่อไปขังคุกและทำร้ายร่างกาย เขาหนีออกมาและพาครอบครัวเข้ามาประเทศไทยเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วแบบผิดกฎหมาย อยู่กรุงเทพฯ ได้ 7 เดือนคนเป็นพ่อก็ถูกจับและถูกกักตัวอยู่ที่ ตม. ตั้งแต่นั้นมาลูกทั้ง 5 คนและภรรยาก็ไม่ได้พบเขาอีกเลยเป็นเวลา 10 ปี ตามปกติผมจะไปเยี่ยมผู้ต้องกักที่ ตม.อยู่แล้ว ผมก็ไปพบเขาและได้รู้ความจริงว่าเขาติดอยู่ที่นี่มา 10 ปีแล้ว

ผมเร่งให้การช่วยเหลือเป็นการด่วน เพราะไม่อย่างนั้นเขาจะถูกขังอยู่ใน ตม.แบบไม่สิ้นสุด ตม.ไม่สามารถปล่อยเขาออกมาได้เพราะผิดหลักกฎหมาย จะผลักดันกลับประเทศก็ไม่ได้เพราะเขาจะต้องซื้อตั๋วเครื่องบินด้วยตัวเอง ถึงจะมีเงินซื้อตั๋วเขาก็ไม่กลับเพราะกลับไปก็ตาย ดังนั้นผมเลยเริ่มช่วยเหลือเขา ไปเยี่ยม เอาอาหารไปให้ครอบครัวเขาข้างนอก เห็นเด็กๆ แล้วรู้สึกสงสารเลยนะเพราะเขาไม่มีอนาคตในเมืองไทยเลย ผมเลยติดต่อสถานทูตฝรั่งเศสเรื่องลี้ภัยตั้งแต่เดือนกุมภาฯ จนรัฐบาลเขาส่งเรื่องมาบอกว่าโอเค ให้ทั้งครอบครัวลี้ภัยไปฝรั่งเศสได้ ทีนี้มันมีปัญหาหนักกว่านั้นคือรัฐบาลไทยไม่ยอมให้ทั้ง 7 คนออกนอกประเทศเพราะพวกเขาเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายและต้องรับโทษก่อน ผมเลยบอกครอบครัวนี้ว่าพวกเขาต้องเข้าคุกนะ ผมต้องส่งฟ้องศาล แต่เชื่อไหม วันที่ผมพาไปเนี่ยเป็นวันแรกเลยที่ลูกๆ ได้เจอหน้าพ่อ ภรรยาได้เจอสามีในรอบ 10 ปี น้ำตาท่วมเลย หลังจากทุกคนรับโทษเสร็จ ผมก็ตัดสินใจบินไปกับพวกเขาด้วยเพราะพวกเขาไม่เคยขึ้นเครื่องบินเลย พอไปถึงฝรั่งเศส ส่งเขาเข้าบ้านโฮสต์เสร็จก็เหมือนยกภูเขาออกจากอกเลยนะ เรียบร้อยสักที

ครั้งแรกที่รู้เรื่องราวของผู้ต้องกักเหล่านี้ รู้สึกอย่างไร

เมื่อก่อนผมก็เหมือนคนอื่นที่ไม่รู้เรื่องนี้ แต่เพื่อนผมที่เป็นคนฝรั่งเศสชวนไปเยี่ยมเพื่อนของเขาที่ชื่อว่า Eric เขาเป็นคนคองโกและติดอยู่ใน ตม.ที่ไทย ผมเห็นว่าคนใน ตม.ที่โดนขังอยู่ไม่ได้มีแค่ Eric คนเดียว เท่าที่เห็นตอนนั้นคิดว่ามีหลายร้อย มารู้ทีหลังว่าจริงๆ มีเป็นพันคน มาจากหลายเชื้อชาติ หลายศาสนา เกือบทั้งหมดจะถูกขังเพราะเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายและไม่มีวีซ่า ร้อยเปอร์เซ็นต์ของคนเหล่านั้นคือหนีเอาชีวิตรอดมาและยังไงก็ไม่กลับ กลับไปเขาก็ตาย อีกอย่างคือเขาถูกขังอยู่แบบนี้ เขาจะหาเงินที่ไหนมาซื้อตั๋วเครื่องบินไปประเทศที่สาม รัฐบาลไทยก็ไม่มีงบตรงนี้ให้ ดังนั้นแปลว่าพวกเขาจะต้องอยู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ จริงๆ ผมเลยเริ่มช่วย Eric ก่อน และอีกหลายคนในเวลาต่อมา

 

ทำไมถึงช่วยขนาดนี้

มันเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ หลังจากเราไปเยี่ยม Eric เราก็ออกมาถามเจ้าหน้าที่เลยว่าผมเยี่ยมคนอื่นได้ไหม เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่ได้ เพราะการที่อยู่ดีๆ จะเข้าไปเยี่ยมได้เราต้องรู้ชื่อ หมายเลขนักโทษ ห้องขัง และสัญชาติก่อน กฎมันเป็นอย่างนี้ ผมเลยใช้วิธีบอก Eric ว่าเอาคนที่อยู่ในห้องขังเดียวกับเขานั่นแหละ เอารายชื่อมาให้ผม ผมจะกลับมาเยี่ยมคนอื่น ก็เริ่มจากตรงนั้นเป็นต้นมา

จากที่ได้คลุกคลี สิ่งที่ผู้ลี้ภัยต้องเจอเมื่อเข้ามาในประเทศไทยมีอะไรบ้าง

ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่าจริงๆ ผมใช้คำว่า ‘ผู้ลี้ภัย’ เพราะคนไทยหลายคนเข้าใจคำนี้  แต่ในความเป็นจริงคือในประเทศไทยไม่มีกฎหมายรองรับผู้ลี้ภัยนะ ดังนั้นคำว่าผู้ลี้ภัยในเมืองไทยจะไม่มีวันเกิดขึ้นจริง บ้านเราจะใช้คำว่า Asylum Seeker คือผู้แสวงหาที่ลี้ภัย ดังนั้นไม่ว่าจะได้สถานะผู้ลี้ภัยมาจากที่ไหน พอเข้ามาเมืองไทยคือไม่ได้ ผิดกฎหมายหมด ปกติเวลาชาวต่างชาติเข้ามา ทุกคนจะมีวีซ่าอยู่แค่ 3 เดือนแรก หลังจากนั้นถ้าไม่ได้ต่อก็จะโดนตำรวจ ตม.จับมาขังไว้เพื่อรอผลักดันออกนอกประเทศ เพียงแต่ว่าในกรณีนี้คือเขาไม่อยากกลับเพราะเกือบทั้งหมดเขาหนีความตายมาและก็ไม่มีเงินกลับด้วย สองเหตุผลนี้ทำให้ผู้ลี้ภัยจะถูกกักไปเรื่อยๆ ไม่สามารถออกไปไหนได้เลย การที่ผมช่วยครอบครัว 7 คนให้ออกมา มันไม่ได้ลดที่ใน ตม.เลยนะ เพราะในนั้นมีเป็นพัน เขาจับคนเพิ่มขึ้นทุกวันและสภาพข้างในก็ค่อนข้างโหดนิดนึง ห้องหนึ่งจะมีผู้ต้องกักอยู่ประมาณร้อยกว่าคน แต่ห้องมีขนาดเท่าห้องทำงานของผมเอง (ประมาณ 15 ตารางเมตร) เขาไม่มีที่นอน ต้องยืนนอนกัน ใครที่ลุกไปเข้าห้องน้ำคนที่ยืนก็จะเข้าไปนอนแทน แล้วไม่ใช่มีแค่ผู้ใหญ่ เด็ก 2-3 ขวบอยู่ในนั้นก็มี โหดร้ายมาก นี่คือสภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์ที่แย่ที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา

ทำไมพวกเขาต้องหนีมาเมืองไทยด้วย เพราะถ้าว่ากันตามตรง ที่นี่ก็ไม่ได้น่าอภิรมย์เท่าไหร่

ผมถามนะ ทุกคนให้เหตุผลเดียวกันคือตอนที่กำลังจะตายเนี่ย คุณคิดอะไรไม่ออกหรอก และประเทศไทยเป็นประเทศที่พวกเขาเข้ามากันได้ง่ายอยู่แล้ว ไม่มีขั้นตอนยุ่งยากเหมือนแคนาดาหรืออเมริกา ผมจะเล่าเรื่องของคุณลุงคนนึงให้ฟัง เขาเป็นคนปากีสถาน เป็นนักมวยชื่อดังของประเทศ มีภรรยาที่เป็นอาจารย์และลูกชายอีก 3 คน บ้านร่ำรวยเป็นเศรษฐี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือพวกเขานับถือคริสต์ ทางมุสลิมหัวรุนแรงเขาก็มาบอกให้ลุงเปลี่ยนศาสนา ลุงไม่ยอม ครอบครัวไม่ยอม สุดท้ายพวกหนีแต่ก็ยังถูกตาม ภรรยาถูกจับหักนิ้ว ลูกชายเขาโดนตัดลิ้น เขาเลยหลบหนีมาเมืองไทย ทรัพย์สินทั้งหมดถูกยึด จากเศรษฐีกลายเป็นยาจก ลูกชายเขาจากเด็กที่เรียนโรงเรียนนานาชาติกลายเป็นเด็กข้างถนน ทีนี้ตอนที่พวกเขามาถึงเมืองไทย พวกเขาเห็นว่ามีเด็กผู้ลี้ภัยอีกหลายคนที่อยู่ตรงนั้น ภรรยาเลยเปิดห้องเช่าเล็กๆ และสอนหนังสือให้เด็กมาเรียนฟรี ระหว่างที่สอนอยู่เมื่อ 4 ปีก่อนก็โดนตำรวจบุกเข้ามาจับภรรยาไป จนถึงทุกวันนี้ก็ 4 ปีแล้วที่ลูกไม่ได้เจอหน้าแม่ เคสนี้คือเคสที่ผมจะช่วยเหลือเป็นเคสต่อไป แต่นี่แหละคือเหตุผลอ้างอิงว่าทำไมพวกเขาถึงมาเมืองไทย ที่นี่เหมาะสมสำหรับการเอาชีวิตรอด

คุณไม่กลัวการช่วยเหลือคนที่ผิดกฎหมายแล้วตัวเองจะผิดกฎหมายไปด้วยเหรอ

ผมไม่ทันคิดถึงตรงนั้นเหมือนกันว่าเราจะเกิดอันตราย เราแค่อยากช่วยให้เขาพ้นทุกข์จากตรงนั้น เขาทุกข์มากเลยนะและเราอยู่ในจุดที่สามารถช่วยเขาได้ อาจไม่ได้ช่วยที่ต้นเหตุ แต่ช่วยที่ปลายเหตุก็ยังดี ช่วงแรกๆ พวกเขาไม่มีอาหารกันนะ ข้างในอาหารก็ไม่ค่อยดี ข้างนอกที่หลบหนีอย่างผิดฎหมายก็ไม่มี พวกเขาทำงานไม่ได้ไง ทำงานก็โดนจับเพราะผิดกฎหมาย ผมเลยต้องตระเวนเอาอาหารใส่ท้ายรถแล้วเอาไปแจกทั่วกรุงเทพฯ เลย ช่วง 6 เดือนแรกที่ผมทำ ผมไม่เคยพูดให้ใครฟังเลย ใช้เงินส่วนตัวกับค่าอาหารและค่าตั๋วเครื่องบิน พูดจริงๆ นะว่าเงินที่สะสมมาเกือบทั้งชีวิตน่ะเกือบหมดเลย ผมไม่คิดว่ามันจะเยอะขนาดนี้ ก็เลยเริ่มพูดในเฟซบุ๊กว่าต้องการอาหาร คนก็ส่งอาหารมาที่บ้าน บางคนสะดวกเป็นเรื่องเงิน ผมก็เลยไปเปิดบัญชีธนาคารอีกบัญชีสำหรับคนที่อยากบริจาค เอาเงินส่วนนี้ไปช่วยคนที่อยู่ข้างนอกด้วย ใน ตม.ด้วยและส่งคนไปต่างประเทศด้วย

ในเมื่อเขาทำอาชีพไม่ได้แล้วเขาอยู่กันยังไง

ขอข้าววัด ขอข้าวโบสถ์ ประมาณนั้น

เขาไว้ใจให้เราช่วยเลยหรือเปล่า

เขางงเหมือนกัน แต่ถ้าใน ตม.เนี่ย ใครจะมาเยี่ยมเขาก็ดีใจหมด เพราะถ้าไม่มีใครมาเยี่ยม เขาจะถูกกักอยู่ในห้องเล็กๆ ไม่ได้ออกไปไหนเลย แต่ถ้ามีคนมาเยี่ยม เขาจะถูกปล่อยออกมา แค่วันละชั่วโมงก็ดีมากแล้ว นอกจากนั้นยังมีอาหารด้วย ผมไปทุกครั้งก็จะเอาอาหารไป แต่ทุกคนที่อยู่ในนั้นมักจะมีครอบครัวที่หลบหนีอยู่ข้างนอกทั้งนั้น ผมจะถามว่าครอบครัวอยู่ไหนและไปเยี่ยมพวกเขาข้างนอก ผมทำแบบนี้ทุกวันเลยช่วงแรกๆ แต่หลังๆ เริ่มไม่ไหว จำเป็นต้องปฏิเสธบางคนไปเพราะผมไม่สามารถช่วยทั้งหมดได้ ผมทำคนเดียวแต่ผู้ลี้ภัยที่อยู่ข้างนอกในกรุงเทพฯ ที่หลบอยู่มีประมาณแปดพันกว่าคน หรืออย่างกรณีที่ทั้งครอบครัวติดอยู่ใน ตม.ก็มี พ่อจะถูกแยกไปฝ่ายกักกันชาย แม่ไปฝ่ายกักกันหญิง ลูกถูกแยกไปในส่วนเยาวชน พวกเขาจะถูกแยกห้องทันที และไม่ได้เจอหน้ากันเลยจนกว่าจะมีคนไปเยี่ยม แล้วการจะปล่อยออกมาได้คนหนึ่งคือต้องมีคนไปเยี่ยมหนึ่งคน เป็นแบบหนึ่งต่อหนึ่ง ดังนั้นถ้าอยากให้ครอบครัว 4 คนออกมาเจอหน้ากัน ผมต้องพาคนไปกับผมอีก 3 คน ซึ่งตรงนี้บางทีผมก็หาคนไม่ได้ ผมต้องการสิ่งนี้มากที่สุดเลย มากกว่าสิ่งใดคือผมต้องการคนไปช่วยผมเยี่ยม

แต่คนไทยหลายคนมองคำว่า ‘ผู้ลี้ภัย’ เป็นเรื่องไกลตัวเหมือนกัน

(นิ่งคิด) คนไทยมีความเป็นชาตินิยมมาก มันก็มีข้อดี แต่มากแล้วก็ไม่ดีกับเรื่องนี้เหมือนกัน ที่ผมโพสต์เฟซบุ๊กไปไม่ได้มีแต่คนชมนะ ครึ่งต่อครึ่งเลยที่มาด่าผม โจมตี หาเบอร์ผมจากไหนไม่รู้แล้วโทรมาด่าก็มี คำถามหนึ่งที่ทุกคนจะถามเหมือนกันคือทำไมคุณต้องไปช่วยคนพวกนี้ด้วย คนไทยส่วนใหญ่ในประเทศนี้ต้องการความช่วยเหลือ ทำไมคุณไม่ช่วยคนไทย ผมก็ไม่รู้จะตอบยังไง ในความเป็นจริงที่ผมช่วยพวกเขาไม่ใช่เพราะเขาเป็นคนไทยหรือไม่ หรือเขาเป็นคนประเทศอะไร แต่สำหรับผม เขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เขามีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือเหมือนกัน แต่ถึงผมจะตอบยังไง คนที่มีทัศนคติลบต่อเรื่องนี้เขาก็ไม่ฟังอยู่แล้ว ขนาดที่ว่าครั้งหนึ่งผมเคยพาผู้ลี้ภัยไปโรงพยาบาลเพราะเขาป่วยและไม่มีสิทธิ์รักษา พยาบาลเขายังตกใจเลยว่าผมเป็นใคร ทำไมพาพวกนี้มา ทำไมต้องช่วยพวกเขา ปล่อยเขาไปสิ เขาอยากเข้ามาผิดกฎหมายเอง (นิ่งเงียบนานมาก) ทำยังไงถึงจะเปลี่ยนความคิดนี้ได้นะ

เหมือนหนีกรอบสังคมที่บ้านเขา มาเจอกรอบสังคมที่บ้านเราเหมือนกันนะ

ใช่ๆ

แล้วคนธรรมดาอย่างเราช่วยอะไรเรื่องนี้ได้บ้าง

ง่ายๆ คือการไปช่วยผมเยี่ยมหรือส่งอาหารมาให้ก็ได้ ตู้ที่เห็นข้างหลังนี่ก็เต็มไปด้วยของบริจาค และอีกสิ่งที่ผมอยากได้ คือพูดตรงๆ ว่าอีก 2 ปีผมจะไม่อยู่เมืองไทยแล้ว ผมต้องย้ายถิ่นฐานไปฝรั่งเศสตลอดชีวิต สิ่งที่ผมทำมาตั้งแต่ต้นจนถึงทุกวันนี้ก็จะไม่อยู่แล้ว ทุกอย่างจะหายไปหมดเหมือนไม่เคยเกิดขึ้นในไทย ดังนั้นสิ่งที่ผมต้องการคือคนที่มาสานต่อจากผม อย่างน้อยก็จะได้มีคอนเนกชั่นที่จะทำงานได้ง่ายขึ้น มันดีกว่าที่จะมาเริ่มต้นทำใหม่ แต่พอผมเอาเรื่องนี้ไปพูดกับคนอื่นก็ (นิ่งเงียบ) มันยาก ผมเข้าใจ เวลากับเงินเป็นปัจจัยสำคัญ ผมโชคดีตรงที่ผมมีเวลา ถ่ายหนังครั้งหนึ่งกินเวลา 4-5 เดือน แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้ทำอะไร นั่นแหละข้อดีที่ทำให้ผมสามารถทำตรงนี้ได้

 

ท้อไหม

เคยนะ ผมเคยหยุดทำไปเลยหนึ่งเดือนเพราะมีปัญหาเรื่องกฎหมาย ตอนนั้นท้อมาก ไม่ทำแล้ว เหนื่อยจนตั้งคำถามว่าทำไมกูต้องมาทำอะไรอย่างนี้ด้วยวะ เงินก็ไม่ได้แถมยังเสียเงิน เสียเวลา แต่เราก็มาคิดได้ว่าเฮ้ย มันไม่มีใครทำแล้วนี่หว่า มันมีแค่เราคนเดียวจริงๆ และคนที่เราจำเป็นต้องช่วยมันก็ต้องช่วยจริงๆ เราเลยกลับมาทำ หลังจากนั้นก็ทำไม่หยุดเลยจนกระทั่งตอนนี้

ตัวละครอื่นที่ช่วยเหลือเรื่องนี้ไม่มีเลยเหรอ

น้อยมากเพราะกฎหมายไทยนี่แหละ องค์กรต่างๆ ที่ช่วยอยู่อย่าง UNHCR (The UN Refugee Agency) หรือ BRC (Bankok Refugee Center) ก็ทำได้แบบจำกัด ถ้าเขาออกตัวมากว่าช่วยผู้ลี้ภัยก็จะโดนกฎหมายไทยเล่นงาน แต่อย่างผมไม่ได้ทำในนามองค์กรใดๆ ทำตัวคนเดียวเลยอิสระกว่า

ไม่เคยมีความพยายามเปลี่ยนแปลงเรื่องผู้ลี้ภัยในภาพรวมเลยเหรอ

ถ้าจะแก้ปัญหาตรงนี้จริงๆ ต้องแก้ที่ต้นเหตุนั่นคือกฎหมายไทย สิ่งที่ผมทำมันเป็นแค่ปลายเหตุ เป็นแค่ฝุ่นบนโต๊ะ เป่าไปก็หาย แต่ถ้าจะแก้ที่ต้นเหตุจริงๆ มันยากนะ คนไทยหลายคนอาจจะไม่พอใจและไม่เห็นด้วยว่าทำไมต้องช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ทำไมไม่ช่วยคนไทยก่อน ทั้งที่ในความเป็นจริงพวกเขาไม่รู้เลยว่าถ้าแก้กฎหมายตรงนี้ได้ คนไทยไม่ต้องเจียดภาษีตัวเองไปช่วยเลย UNHCR พร้อมที่จะให้เงินทั้งหมดในการสนับสนุน

ดังนั้นปัญหามันคือการที่คนยังไม่รู้ หรือรู้แล้วแต่ไม่เห็นความสำคัญกันแน่

เท่าที่ผมพยายามอธิบายเรื่องนี้มา ผมคิดว่าพวกเขาเข้าใจแจ่มแจ้งแล้วแต่เขายังเหมือนเดิม ดังนั้นมันยาก แต่ถ้าเปลี่ยนความคิดเหล่านี้ได้ ผมคิดว่าก็ไม่แน่เหมือนกัน เราอาจเปลี่ยนกฎหมายได้

ยังมีความหวังว่ามันจะเปลี่ยนอยู่ไหม

หวังมากนะ แต่คิดว่ายากมากเหมือนกัน  ถ้าจะมีกฎหมายหรืออะไรในประเทศที่เปลี่ยนแปลง ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันต้องเป็นสิ่งที่มีผลกระทบกับคนไทยก่อนแล้วค่อยไปถึงชาวต่างชาติได้

ฟังดูโคตรยากเลย

อีกไกลมาก ผมว่ามันเป็นเรื่องของทัศนคติไปจนถึงการศึกษาด้วย

แต่คุณเองก็อยู่ในสังคมไทย อะไรที่หล่อหลอมให้คุณเป็นคนแบบนี้

ชีวิตในอดีตกับการเล่นหนังพี่เจ้ยก็ช่วยเยอะเหมือนกัน ผมเป็นเด็กชาวไร่อ้อยที่พอจบ ม.6 ก็ไม่มีเงินเรียน ต้องมาหางานทำเพื่อหาเงินเรียนที่กรุงเทพฯ ทำงานก่อสร้าง ขายพวงมาลัย ทำงาน KFC อาศัยนอนตามป้ายรถเมล์ ลำบากสุดๆ จนถึงขนาดที่ว่านอนกลางดินกินกลางทราย บางครั้งกินข้าวในถังขยะ ผมลำบากจนถึงขนาดนั้นจนได้มาเล่นหนังพี่เจ้ยเมื่อปี 2002 วงการหนังมันเปลี่ยนชีวิตผมเยอะมาก แต่พอมาเจอผู้ลี้ภัย ผมมองเห็นตัวเอง ถ้าเป็นตอนนั้น ผมคงต้องการความช่วยเหลือมากเลยนะ ผมจะดีใจมากถ้ามีคนยื่นมือมาช่วยผม ดังนั้นผมไม่คิดว่าช่วยเขาเพื่อทำบุญหรืออะไร ผมไม่อยากได้อะไรกลับมาเลย ผมแค่อยากให้เขาพ้นทุกข์จากตรงนี้ไป แค่นั้นผมก็ดีใจมากแล้ว

ถ้ามีใครสักคนที่ไม่รู้เรื่องผู้ลี้ภัยแล้วเพิ่งทราบจากบทสัมภาษณ์นี้ คุณอยากใช้พื้นที่ตรงนี้สื่อสารอะไรกับเขาไหม

(นิ่งคิดนาน) จริงๆ หลายสื่อก่อนหน้า ผมก็ชวนนะ แต่ไม่มีคนมา เวลาผมไปบรรยายที่มหาวิทยาลัย หลังจากบรรยายก็จะมีคนมาถามเหมือนจะสนใจ ขอเบอร์ติดต่อแต่หลังจากนั้นก็จะเงียบหาย ผมก็คิดว่าสุดท้ายคนที่อ่านบทความนี้ เขาอาจจะกำลังตื่นเต้นว่าทำไมมีเรื่องนี้เกิดขึ้นในเมืองไทย แต่พอเขาอ่านจบแล้ว เขาอาจจะไม่ได้ต่อเนื่องกับเรื่องนี้อีกแล้ว มันมีหลายเหตุผลที่ประกอบกันแล้วทำให้คนไม่กล้าเข้ามาทำตรงนี้ ผมเข้าใจนะ (นิ่งคิด) แต่คนที่อยู่ใน ตม.ก็ยังอยู่ ดังนั้นผมคงทำเท่าที่ทำได้ คนที่จะมาช่วยก็ขอให้ได้มากที่สุดก็แล้วกัน

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!