Inside จิระพล SweetSound คน กีตาร์ หมา

Highlights

  • SweetSound คือร้านขายและนำเข้าเครื่องดนตรีบูทีคของจิระพล เสียงสุคนธ์ หรือ ‘พี่พล’ สำหรับคนในวงการดนตรี ร้านแห่งนี้มีนักดนตรีระดับประเทศแวะเวียนมาไม่ขาดสายเพราะของที่ขายและความรู้เกี่ยวกับเครื่องดนตรีที่พลมี
  • พลเชื่อว่าเหนือการขาย สิ่งที่สำคัญสำหรับการเป็นพ่อค้าที่สุดคือการสื่อสารและทำความเข้าใจกับลูกค้า เพราะเมื่อไหร่ที่เราเข้าใจว่าลูกค้าต้องการอะไร พ่อค้าก็จะสามารถแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องให้แก่ลูกค้าได้
  • ความสุขในการทำงานทุกวันนี้ของพลคือสิ่งนั้นนั่นเอง และถ้าในภาพใหญ่ ร้าน SweetSound คือสิ่งที่ทำให้เขามีชีวิตอย่างที่ตัวเองหวังและตั้งใจ

บ้านหลังนี้สีชมพู

ไม่สิ, จะบอกว่าบ้านก็ไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะสิ่งปลูกสร้างที่อยู่เบื้องหน้า ผมทำหน้าที่เป็นทั้งบ้านและร้านชื่อว่า SweetSound ร้านขายและนำเข้าเครื่องดนตรีบูทีคของ จิระพล เสียงสุคนธ์ หรือ ‘พี่พล’ สำหรับคนในวงการดนตรี

ท่ามกลางอากาศร้อนของบ่ายวันหนึ่ง ผมถือวิสาสะพาตัวเองเข้าไปสัมผัสอากาศเย็นภายในบ้านและร้านของพล พร้อมเล่นกับเจ้าเม็ดและก้อน หมาพันธุ์เฟรนช์บูลด็อกของเขา นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับเขาเท่าไหร่ เพราะภายใต้ที่อยู่อาศัยขนาดไม่กี่ตารางเมตร ร้าน SweetSound แห่งนี้ต้อนรับนักดนตรีระดับประเทศเข้ามาลองและซื้อเครื่องดนตรีแทบทุกวัน การขายและความรู้ที่พลมี ดึงดูดคนรักดนตรีจากทั่วทุกสารทิศ หรือแม้กระทั่งลูกค้าบางคนที่มาไม่ได้ ก็เลือกจะโทรมาเพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับเครื่องดนตรีจากเขาอยู่เสมอ หนึ่งในนักดนตรีที่ผมรู้จักถึงกับเคยพูดว่า ขอแค่คุณลองมา SweetSound และพูดคุยกับพลดูสักครั้ง คุณจะเข้าใจว่าทำไมร้านเล็กๆ แห่งนี้ถึงมีคนแวะเวียนกันมาหามากมายไม่เคยขาด

หลังจากกล่าวทักทายกันในส่วนหน้าร้าน การพูดคุยกันของผมและพลเกิดขึ้นในห้องซ้อมกีตาร์ รอบๆเรามีกีตาร์ไฟฟ้าจากการนับด้วยสายตาประมาณกว่า 20 ตัว ที่ว่างเล็กๆ กลางห้องที่เรานั่งคุยกันจริงๆ เป็นที่สำหรับนั่งซ้อมเล่น เอฟเฟกต์ ลำโพงหรือแอมป์กีตาร์กระจายตัวอยู่ตามจุดต่างๆ บทสนทนาระหว่างเราก็เกี่ยวข้องกับเครื่องดนตรีเหล่านี้ รวมถึงพล และบ้านสีชมพูที่พวกเรากำลังนั่งอยู่

ทำไมร้านขายเครื่องดนตรีบูทีคร้านหนึ่งจึงเป็นที่พูดถึงในวงการและมีคนเชื่อถือมากมาย – บางทีคำตอบอาจจะอยู่ในเสียงดนตรีและเสียงพูดคุยภายในร้าน SweetSound แห่งนี้

และเสียงที่ว่าเริ่มต้นด้วยคำถาม

การขายเครื่องดนตรีต่างกับการขายของแบบอื่นอย่างไร

มันเหมือนกับการขายของทั่วไป คุณต้องเข้าใจว่าปัญหาของเขาคืออะไร ลูกค้าต้องการอะไร สิ่งที่ขัดใจเขาคืออะไร เครื่องดนตรีก็เหมือนสิ่งเหล่านั้น ยิ่งเราสื่อสารกับลูกค้าให้เข้าใจได้เร็วมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งดีมากเท่านั้น เพราะลูกค้าบางคนเขาก็จะพูดออกมาเป็นภาษาไม่ได้ว่าจริงๆ เขาต้องการสิ่งนี้ บางทีมันเป็นเสียงในหัว ออกมาเป็นคำพูดไม่ได้ เราจึงมีหน้าที่สื่อสาร ถามเขา เพื่อให้ได้ข้อมูลมากที่สุด

การรู้ข้อมูลมากที่สุดช่วยอะไรบ้างในการขายเครื่องดนตรี

เราต้องรู้เพื่อที่จะแก้ปัญหาให้กับเขา มีหลายครั้งเหมือนกันที่ลูกค้าโทรเข้ามาแล้วบอกว่าอยากได้ของชิ้นหนึ่งทันที พอเราถามเขากลับไป เขาก็จะเริ่มกางเกราะป้องกันตัวเอง แต่เราก็มีหน้าที่ต้องถามและพูดเพื่อให้เขาเข้าใจว่าข้อมูลที่เราอยากรู้มันจำเป็น สุดท้ายถ้าเขาเปิดใจกับเราได้ เราอาจจะพบว่าของที่เราขายอยู่ อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ แต่เราก็จะได้ขายหรือแนะนำของที่ใช้แล้วดีที่สุดกับเขาไป

แม้จะมีโอกาสขายของตัวเอง ทำไมถึงไม่พยายามขาย

สำหรับผมมันไม่ใช่เรื่องของเงินแล้ว เครื่องดนตรีเป็นเรื่องของการที่ใช้ได้และใช้ไม่ได้ นั่นก็เป็นอย่างหนึ่งที่เราต้องทลายเกราะของคนที่สื่อสารกับเรา ผมไม่ได้อยากจะเอาท่าเดียว แต่ผมจำเป็นต้องรู้ข้อมูลเพื่อช่วยเขาให้ได้ดีที่สุด กลัวเหมือนกันว่าลูกค้าจะหาว่าเยอะ แต่ผมก็ยอมรับว่าผมเป็นคนขายที่เยอะนะ เพราะว่าถ้าเราน้อยเมื่อไหร่ มันคงมีปัญหา และมีโอกาสที่เขาจะไม่พอใจของที่ซื้อจากเราไปในภายหลัง มันสะท้อนไปถึงตอนเราเป็นลูกค้า เวลาเราซื้อของที่พอเอากลับมาแล้วใช้ไม่ได้ เราก็คงเซ็งคนขายว่าทำไมไม่บอก ดังนั้นมันก็เหมือนกัน พอเรามาเป็นพ่อค้า เราก็อยากให้ลูกค้าซื้อของจากเราไปใช้ได้ และถ้าเขาอยากลองก็ต้องดึงดันที่จะบอกเขาด้วยว่าไม่ได้ เพราะเรารู้ว่าสุดท้ายมันจะเกิดอะไรขึ้น

อะไรทำให้มีความเชื่อแบบนี้

ผมคิดว่ามันคือความยุติธรรมของพ่อค้ากับลูกค้า บางคนอาจจะบอกว่าเครื่องดนตรีอย่างกีตาร์เป็นเรื่องของรสนิยม ไม่มีถูกผิด แต่ผมเป็นคนที่ไม่คิดแบบนั้น ผมคิดว่ามันมีถูกผิด ไม่ใช่อะไรก็ได้ มันมี range ที่เหมาะสมอยู่ของแต่ละคน และผมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ยกตัวอย่างกีตาร์ตัวหนึ่ง คนหนึ่งอาจจะอยากได้ แต่ผมอาจจะไม่แนะนำ แต่ถ้าอีกคนอยากได้ ผมก็อาจจะเชียร์ เพราะแต่ละคนบริบทต่างกัน

ลูกค้าสามารถลองกีตาร์ได้ไหม

ที่นี่เรายินดีให้ลอง เรายึดถือจากหลักการพื้นฐานว่าทุกคนแฟร์เท่ากัน ไม่มีใครเจ๋งกว่าใคร ไม่มีใครถูกผิด เราให้ลูกค้าลองได้ทุกตัว บางคนอาจจะบอกว่ากีตาร์ที่ถูกแตะแล้วไม่ใช่กีตาร์ใหม่ แต่ผมเชื่อว่าไม่ว่ากีตาร์ตัวไหนมันก็มีธรรมชาติต่างกัน ต่อให้เป็น mass products กีตาร์ทุกตัวก็ไม่เหมือนกัน ต่อให้ผู้สร้างจะดีแค่ไหนก็ตาม แต่เรากำลังคุยถึงวัตถุดิบที่เป็นธรรมชาติ ทุกชิ้นมันมีความต่างกันเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งใหญ่พอสำหรับผม ยกตัวอย่างเช่นถ้ามีกีตาร์ 10 ตัวที่หน้าตาเหมือนกัน ถ้าลูกค้าอยากลอง 10 ตัว ผมก็จะให้ลอง 10 ตัว หรือถ้าใครอยากขอลองเอาแอมป์ที่บ้านมาเล่น ผมก็ยินดีเพราะเราก็จะสบายใจว่าเขาได้สินค้าที่ถูกต้องจริงๆ

ความรู้ที่นำมาแนะนำคนอื่นเหล่านี้เริ่มต้นจากตอนไหน

ทุกอย่างต้องเริ่มจากการชอบฟังเพลงก่อน ถึงจุดหนึ่งผมก็ซื้อเทปม้วนแรกของตัวเอง เริ่มฟังเพลงต่างประเทศและอ่านแมกาซีนดนตรี แต่ตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วที่ผมกลับไม่ค่อยสนใจวิธีเล่น และค่อนข้างแย่เกี่ยวกับเรื่องทฤษฎีทั้งหมด ผมจะสนใจเรื่องการสัมภาษณ์วง วงนี้ใช้กีตาร์อะไร เอฟเฟกต์อะไร เวลาซื้อซีดีเพลงก็ชอบเอากระดาษมากางอ่านว่าวงนี้ใช้กีตาร์อะไร เขาขอบคุณใครบ้างที่ไปยืมเครื่องดนตรีมา เวลาไปร้านกีตาร์ก็ชอบหยิบโบรชัวร์ฟรีมาอ่าน ผมเริ่มมีจินตนาการเกี่ยวกับเครื่องดนตรี จะบอกว่าคล้ายๆ เสพติดอุปกรณ์ก็ได้ อาจเป็นโดยสันดานก็ได้ คือผมเป็นคนชอบในรายละเอียด ชอบอ่านประวัติ เราก็ค่อยๆ สะสมความรู้มาเรื่อยๆ อย่างกีตาร์ในห้องนี้ผมก็ชี้ได้เกือบหมดว่าทำไมบริษัทนี้ถึงผลิตกีตาร์ตัวนี้ออกมา

จากความชอบกลายมาเป็นร้าน SweetSound ได้อย่างไร

ช่วงหนึ่งของชีวิตผมไปเรียนต่อที่อเมริกา ตอนนั้นช่อง MTV เป็นหลักยึดของชีวิตผมเลย ช่วงนั้นมีรายการที่เขาจะพาไปดูบ้านของศิลปินว่าใช้ชีวิตกันอย่างไร บวกกับการที่ผมเรียนเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ จึงเริ่มมองเห็นว่าในการขายของ เราไม่จำเป็นต้องขายจำนวนเยอะๆ ให้คนเยอะๆ ก็ได้นี่ มันยังมีของที่เฉพาะเจาะจงกับคนบางกลุ่ม เช่น ตลาดเครื่องดนตรีบูทีคในยุคนั้น ถ้าเราขายของให้คนที่น้อยลง แต่เน้นคุณค่าให้เยอะขึ้น ผมว่ามันน่าจะดีกว่า เพราะถ้าคนเยอะ ปัญหาก็เยอะ แต่ถ้าคนน้อย เราก็สามารถสื่อสารกับลูกค้าและเข้าไปอยู่ในใจเขาได้จริงๆ ว่าเขาต้องการอะไร พอเห็นโอกาสตรงนี้ หลังกลับมาเมืองไทยและทำงานเกี่ยวกับรถยนต์ได้สักพัก ผมก็ลาออกและมาเริ่มต้นกับร้าน SweetSound อย่างจริงจัง

ทำไมถึงมั่นใจว่าการขายเครื่องดนตรีที่เฉพาะเจาะจงจะไปรอดได้ในตอนนั้น

(คิด) บอกไม่ถูกเหมือนกันนะว่าทำไม แต่สภาพแวดล้อมตลาดเครื่องดนตรียุคนั้น ผมรู้สึกว่ามันยังมีความเป็น mainstream อยู่ ผมเห็นว่าเครื่องดนตรีบูทีคคือทางที่เราสามารถจะไปได้ มันสะท้อนถึงสิ่งที่ผมเชื่อด้วย ผมคิดว่าสิ่งที่ทุกคนเรียนหรือผ่านหูผ่านตามา มันเอามาประยุกต์กับชีวิตเราได้ตลอด อย่างการเริ่มต้นของร้านก็เกิดจากการที่ผมเรียนเศรษฐศาสตร์และเห็นความเป็นไปได้ของตลาด รวมถึงการเรียนบาสเก็ตบอลตอนม.ปลาย อาจารย์ที่สอนบอกผมว่าถ้าอยากได้ลูก ก็ต้องหาที่ว่าง เหมือนกับสถานการณ์ที่เริ่มต้นในตอนนั้น ผมก็หาที่ว่างในตลาดเครื่องดนตรี และพาตัวเองไปอยู่ตรงนั้น

ผลตอบรับในตอนแรกเป็นอย่างที่คิดไหม

ไม่ครับ (ตอบทันที) เหนื่อยพอสมควรเลย จำได้ว่าตอนแรกผมเอาเอฟเฟกต์บูทีคชื่อว่า ZVEX มาขาย มันเป็นเอฟเฟกต์คัสตอมเมดแบบเพนต์ ตอนนั้นเป็นอะไรที่แปลกใหม่มากและสั่งยากมาก ฟีดแบ็กเกิดขึ้นสารพัด ทั้งชื่นชมว่ากล้าเอามาขายได้ไง ไม่กลัวเจ๊งเหรอ หรือบางคนที่โทรมาเกือบๆ จะด่าว่าบ้าหรือเปล่าวะ ไอ้นี่ก้อนหนึ่งซื้ออีกยี่ห้อหนึ่งได้ตั้ง 3-4 ก้อน ก็กระทบเราพอสมควร แต่พอเราชัดเจนตรงนี้ไปเรื่อยๆ คนก็เริ่มหันมามอง

ทำไมต้องเป็นเครื่องดนตรีบูทีค

เพราะความชอบของเรา ยกตัวอย่าง ZVEX ก็เกิดจากการที่ผมเคยซื้อแอมป์เขามาก่อนจากเว็บไซต์ eBay มันเล่นยากมาก แต่ผมรู้สึกถึงความป่าเถื่อนบ้าคลั่งในตัว ผมเลยชอบมันมาก และอย่างที่บอกว่าผมกำลังหาช่องว่าง ถ้าเอาเอฟเฟกต์คุณภาพทั่วไปมาขายคงสู้คนอื่นไม่ได้ แต่พอผมเอาแบบ ZVEX มา คนก็เริ่มเข้ามาขอลอง พอมีคนเล่นได้ เราก็เริ่มมีความหวังมากขึ้น จนวันหนึ่งที่ไปงาน Cat T-Shirt และไปซื้อเสื้อวงอพาร์ตเมนต์คุณป้า ผมนึกอะไรไม่รู้ยื่นนามบัตรให้เขาดื้อๆ เลยว่าผมขายเอฟเฟกต์อยู่ สนใจไหม ปรากฏว่าพี่บอล (กันต์ รุจิณรงค์ – มือกีตาร์) เขารู้จักยี่ห้อนี้อยู่แล้ว ผมก็เริ่มเอาไปให้เขาดู หลังจากนั้นก็เริ่มมีการบอกต่อ สิ่งที่เราขายก็เริ่มเข้าสู่กลุ่มเป้าหมายมากขึ้นจนถึงทุกวันนี้

สามารถพูดได้ไหมว่าจากทั้งหมดที่ผ่านมา นี่เป็นงานที่รัก

ใช่ครับ แต่สำหรับผม คำนี้ก็อันตรายเหมือนกัน จากการที่อยู่ตรงนี้มานานพอสมควร ผมได้ข้อสรุปว่าคนเราไม่ได้เหมาะกับทุกอย่างที่ตัวเองฝันหรอก เราเกิดมาเพื่อมีเป้าหมายบางอย่าง อย่างการเป็นนักดนตรี ผมก็ทำไม่ได้ดีไปตลอดชีวิต ผมก็ไม่ควรเป็นนักดนตรี ถึงแม้จะชอบจะรักก็ตาม แต่ผมเชื่อว่าผมเหมาะกับตรงนี้ มันไม่ได้ง่ายมากแต่เราสะดวกใจและพร้อมเรียนรู้มันไปเรื่อยๆ หลายๆคนก็เข้ามาคุยกับผมนะว่าอยากทำแบบผมบ้าง แต่ผมก็จะตอบเขาแบบไม่ได้ตั้งใจจะสกัดดาวรุ่งว่ามันไม่ได้ง่าย มันไม่ได้มีความสุขอย่างที่เขาคาดฝันว่าจะได้เล่นของที่ชอบทั้งวันทั้งคืน เราได้อยู่ท่ามกลางของที่เราชอบแหละ แต่มันก็เจ็บปวดเหมือนกันที่เราต้องขายของที่เราชอบออกไป อย่างกีตาร์ด้านหลังที่เห็นอยู่นั่นคือผมชอบมาก แต่ก็เป็นหน้าที่ที่ผมต้องขาย เราเก็บของทุกอย่างที่ชอบไม่ได้

ไม่ขายได้ไหม

มันเป็นระเบียบวินัยที่ผมตั้งไว้กับตัวเองว่าต้องมีการหมุนเวียน เราจะซื้ออย่างเดียว สะสมอย่างเดียวไม่ได้ เพราะความสนุกของการอยู่ตรงนี้คือการหมุนเวียน ของใหม่มาก็แฮปปี้ ของเก่าที่ต้องขายก็ต้องขาย หรือซื้อเพื่อเก็งกำไรอย่างเดียวก็ไม่ได้เหมือนกัน ถ้าจะซื้อของต้องบอกตัวเองว่าต้องชอบก่อน ถ้าไม่ชอบ อย่าซื้อ ผมต้องเข้าใจก่อนว่าที่จะซื้อคืออะไร พอการเลือกซื้อมีแนวคิดที่ดีขึ้น มันก็มีโอกาสที่เราจะมีความสุขกับมันได้นานขึ้น

ถ้าอย่างนั้นความสุขของการขายคืออะไร

ผมบอกทุกคนตั้งแต่ทำร้านใหม่ๆ จนถึงตอนนี้ว่าการขายของเหมือนการเอาลูกสาวไปแต่งงานกับคนอื่น เวลาเขากลับมาชื่นชม มันก็ดีใจ แต่เวลามีปัญหา เราก็เครียด งานพ่อค้าไม่ได้มีโบนัสน่ะครับ ดังนั้นเวลาลูกค้ากลับมาบอกว่าเอาของที่ซื้อจากเราไปใช้แล้วดีมากเลย มันช่วยแก้ปัญหาชีวิตเขาได้ นั่นคือโบนัสของผม

สุดท้ายความสุขในภาพรวมของการทำอาชีพนี้คือการอยู่กับสิ่งที่รักหรือการทำให้คนอื่นได้เจอสิ่งที่รักกันแน่

(คิด) จริงๆ มันเห็นแก่ตัวกว่านั้นนะ สิ่งที่มีความสุขที่สุดคือวิถีชีวิต มีคนเคยบอกว่าผมโชคดีที่ได้ทำสิ่งที่รัก ผมก็จะบอกว่าผมไม่ได้โชคดี ผมจงใจให้การทำร้านเป็นส่วนหนึ่งในแผนของผมที่อยากมีบ้านที่ตัวเราอยู่ งานที่เราทำทำให้เราอยู่บ้านและรักษาสมดุลบางอย่างได้ การหาเลี้ยงชีวิตกับใช้ชีวิตไม่เหมือนกัน เราอยากใช้ชีวิตน่ะ เราอยากอยู่กับมันอย่างมีความสุข และงานนี้ก็เกิดจากการที่เราอยากใช้ชีวิตแบบนี้ ดังนั้นสิ่งนี้คือสิ่งที่ดีที่สุดในอาชีพขายเครื่องดนตรี คือมันทำให้เราใช้ชีวิตในแบบที่เราคิดได้ ดูแลครอบครัว บ้าน ตัวเราเอง ทีมงาน และลูกค้าได้ทุกคน หน้าตาและทั้งหมดของ SweetSound เลยออกมาเป็นแบบในปัจจุบันนี้ครับ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!