TJ Luthier : ร้านทำกีตาร์หนึ่งเดียวในเอเชียผู้สานต่อการทำกีตาร์ Kasha จากช่างระดับโลก

ใครอยู่ในแวดวงกีตาร์คลาสสิกคงต้องคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับชื่อ
Bangkok Guitar Society ซึ่งตั้งอยู่ที่ทาวน์เฮาส์ในซอยสุขุมวิท 71 ย่านพระโขนงใจกลางเมือง
โดยมี อ.กมล อัจฉริยะศาสตร์ ครูใหญ่ในวงการ และยังเป็นสุดยอดนักกีตาร์คลาสสิกมืออันดับต้นๆ เป็นผู้บุกเบิกก่อตั้งขึ้นกว่า
20 ปีมาแล้ว

ที่โรงเรียนแห่งนี้เองที่พาให้เราได้มารู้จักกับช่างทำกีตาร์ที่คนในวงการเรียกเขาว่า
‘ช่างเอ็ม’ หรือ ทศพล จันทโรทัย คนหนุ่มไฟแรงที่ยังคงต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความฝันของตนเองอยู่ทุกวัน
กับอาชีพที่ใครๆ อาจมองว่าน่าอิจฉาที่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก แต่ความจริงนั้นช่างเอ็มบอกเราว่าไม่มีอะไรที่ได้มาง่ายๆ เลย

ชีวิตที่ต้องฝ่าฟัน

แรกเริ่มเดิมที เอ็มไม่เคยมีความคิดจะเป็นช่างทำกีตาร์มาก่อน
รู้แค่เพียงว่าชอบและอยากเล่นได้ เลยหัดกีตาร์มาตั้งแต่เด็ก
และเลือกเรียนคณะดนตรีอย่างที่ใจรัก แม้จะขัดกับสิ่งที่ครอบครัวต้องการก็ตาม
ถึงที่สุดเขาจึงออกจากบ้านมาใช้ชีวิตด้วยตัวเอง

“ผมเรียนเอแบค
เพราะฉะนั้นสำหรับคนที่ต้องทำงานหาเงินเรียนเองอย่างผมจึงยากลำบากมากๆ
ผมสอนกีตาร์ทุกวัน เล่นดนตรีดึกๆ แทบทุกคืน
แถมเคยต้องหยุดเรียนเพราะไม่มีเงินกินข้าวด้วยซ้ำ เห็นไหมว่าเด็กที่นี่ไม่ได้ฐานะดีไปเสียทั้งหมด บางคนอาจจะคิดว่าทำไมไม่เลือกเรียนที่อื่นที่ค่าเทอมถูกกว่าล่ะ
คือการเรียนเอแบคสำหรับผมถือเป็นโอกาสดีครับ การได้ใช้ภาษาอังกฤษ
รวมถึงหลายๆ วิชาที่ได้เรียนที่นี่ คือประสบการณ์ที่ช่วยเปิดประตูหลายๆ บานให้ชีวิตผม
ถึงจะจบช้ากว่าคนอื่นไปหลายปี
แต่ถ้าย้อนกลับไปได้ผมก็ยังเลือกที่จะเรียนที่นี่อยู่ดีนะ”

จากความสงสัย จุดประกายสู่ความฝัน

ช่วงชีวิตตอนเรียนมหาวิทยาลัยของเอ็มไม่มีความทรงจำอะไรมากนัก
นอกจากการเล่นดนตรีกลางคืนและรับสอนกีตาร์ตามบ้านและสถาบันดนตรีต่างๆ
เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าหน่วยกิตสูงลิ่ว กระทั่งอยู่มาวันหนึ่ง เอ็มเกิดความสงสัยว่ากีตาร์ที่เล่นอยู่ทุกวันออกมาเป็นตัวแบบนี้ได้ยังไง

“เอาจริงๆ ไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่านั้นเลย
แค่สงสัยเฉยๆ ว่าทำยังไงให้ออกมาเป็นตัวแบบนี้ ผมก็ไปถามจากอาจารย์กมล
อาจารย์เองก็เล่นอย่างเดียว ตอบไม่ได้เหมือนกัน แล้วก็หาหนังสือภาษาอังกฤษเล่มหนึ่งเกี่ยวกับการทำกีตาร์มาให้ผมอ่าน
อ่านอยู่หลายรอบก็ไม่เข้าใจ เพราะมันมีศัพท์ของช่างไม้เยอะมาก
แล้วเราเองก็ไม่ได้มีทักษะพวกนี้มาก่อนด้วย แต่เพราะความที่เราอยากรู้จริงๆ สุดท้ายก็เลยมองหาครูสอนแล้วตัดสินใจเรียนทำกีตาร์แบบจริงจัง”

พยายามเท่านั้น เพื่อจุดมุ่งหมาย

เอ็มเริ่มต้นเรียนทำกีตาร์กับ พันแสง จันทรางกูร หรือที่รู้จักกันในนาม ‘ช่างแด๋ง’ โดยไม่มีทักษะงานไม้มาก่อน เขาจึงต้องเริ่มทุกอย่างจากศูนย์
คือฝึกลับมีด ใบกบ สิ่ว และอุปกรณ์ต่างๆ
เรียกได้ว่าฉีกแนวจากเดิมที่เป็นครูสอนกีตาร์และเล่นดนตรีอาชีพ เพื่อมาหัดเป็นช่างไม้เต็มตัว

“จากเมื่อก่อนที่เคยไว้ผมยาวถึงเอวตอนเล่นดนตรี
แต่พอมาเป็นช่างทำกีตาร์คือตัดสั้น แล้วก็ดรอปเรียนที่มหา’ลัยเพื่อมาฝึกทำกีตาร์
ก็ไม่คิดมาก่อนเหมือนกันว่าแค่เพราะความอยากรู้ อยู่ๆ จะจริงจังได้ขนาดนี้
ตอนนั้นผมยังเช่าห้องอยู่ เงินเก็บก็ไม่มี แต่พี่แด๋งใจดีมากที่ให้ผมผ่อนค่าเรียนได้
คือต้องขอบคุณพี่เขาจริงๆ ครับ”

ห้องพักขนาดไม่กี่ตารางเมตรที่เช่าอยู่แถบพัฒนาการถูกดัดแปลงเป็นห้องทำกีตาร์
แต่อุปสรรคใหญ่คือเรื่องทุนทรัพย์สำหรับการซื้ออุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ
ดังนั้นกีตาร์ตัวแรกของเขาจึงเป็นการทำมือทุกขั้นตอนอย่างแท้จริง
และใช้เวลาถึง 1 ปีเต็มจึงเสร็จสมบูรณ์

“ผมเริ่มทำกีตาร์แบบไม่มีอะไรเลย
ง่ายๆ ว่ายังมองไม่เห็นอนาคตในอาชีพ แต่ก็ไม่เคยท้อนะ ผมถือว่าผมเลือกแล้ว อะไรที่ผมเลือกผมจะตั้งใจทำให้ดีที่สุดเสมอ อย่างโลโก้ชื่อผมด้านในกีตาร์ที่เห็นเป็นล้อมกรอบลายไทย
ผมก็ไปซื้อหนังสือเกี่ยวกับการวาดรูปลายไทยมาอ่านเพิ่มเติมหลายเล่ม
เพื่อศึกษาวิธีขึ้นลายแล้วออกแบบให้เป็นสไตล์ของผมเอง
ในขณะที่ยังคงเอกลักษณ์แบบไทยๆ ไว้ด้วย สิ่งเดียวที่ทำให้ท้อและบั่นทอนกำลังใจน่าจะเป็นคำพูดดูถูกจากคนรอบข้างมากกว่า
เช่นว่าทำแล้วจะขายใคร ใครเขาจะซื้อ หรือทำดียังไงก็ไม่มีทางสู้ของมียี่ห้อได้หรอก
คงต้องขอบคุณความดื้อของตัวเองด้วยล่ะมั้งครับ
ที่คำพูดพวกนั้นมันกลับทำให้ผมยิ่งอยากพิสูจน์ฝีมือตัวเอง
และประสบความสำเร็จให้คนพวกนั้นเห็นให้ได้”

เพราะการเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด

แม้ว่าจะทำกีตาร์มาแล้วหลายตัว
แต่เอ็มก็ยังคงศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ เขาสั่งหนังสือกีตาร์ทุกเล่มที่มีในเว็บไซต์ต่างประเทศมาอ่าน
บางเล่มก็อ่านซ้ำไปซ้ำมาอยู่หลายรอบ
ด้วยความที่อยากจะพัฒนาทักษะการทำกีตาร์ที่มีอยู่ให้เพิ่มมากขึ้น
แล้วก็เป็นโชคดีที่เขาได้มีโอกาสเรียนกับช่างทำกีตาร์ฝีมือระดับโลกถึง 2 คนด้วยกันคือ Boaz
Elkayam และ Yuichi Imai

“พอมาถึงจุดหนึ่งที่กีตาร์ผมเสียงเริ่มนิ่ง
คือได้มาตรฐานเท่ากันทุกตัว ผมก็อยากจะให้มันเสียงดียิ่งกว่านี้อีก
เพราะเราเองเคยได้ลองเล่นกีตาร์ที่ราคาสูงๆ มา เรารู้ว่างานเรายังมีอะไรต้องพัฒนามากกว่านี้เพื่อให้เทียบเท่ากับช่างระดับโลก
คือผมเป็นคนที่อ่านหนังสือเยอะมากๆ ค่อนข้างมั่นใจด้วยว่าอ่านเยอะกว่าใคร
เพราะเราไม่มีปัญญาไปเรียนต่างประเทศ เลยต้องศึกษาเอาเองจากหนังสือ
แต่บังเอิญมีอยู่ปีนึง ผมมีโอกาสเจอช่างทำกีตาร์ที่ผมชอบมากๆ ชื่อ Boaz Elkayam คือจำเค้าได้จากหนังสือที่อ่าน
เค้ามาดูงานกีตาร์ที่ประเทศไทยก็เลยได้คุยกัน”

Boaz Elkayam คือช่างทำกีตาร์ชาวอิสราเอลที่มีชื่อเสียงเป็นอันดับต้นๆ
และยังเป็นผู้ร่วมวิจัยและพัฒนากีตาร์ Kasha ร่วมกับ Dr.Kasha นักฟิสิกส์ผู้คิดค้นกีตาร์ชนิดนี้ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมาโดยใช้หลักฟิสิกส์การทำงานของคลื่นเสียง
โดยลักษณะของกีตาร์จะต่างจากกีตาร์ทั่วไปทั้งรูปลักษณ์ภายนอก และระบบ Bracing
ด้านในซึ่งมีผลต่อเสียงกีตาร์โดยตรง

“ผมถามอาจารย์ไปตรงๆ เลยว่าเขารับสอนรึเปล่า
ผมอยากจะเรียนทำกีตาร์กับเขา ซึ่งเขาก็ตอบตกลง ตอนที่ถามผมก็ยังไม่รู้ว่าจะเอาเงินที่ไหนไปเรียน
เพราะรายได้จากการทำกีตาร์ก่อนหน้านั้น ผมก็เอาไปซื้ออุปกรณ์
แล้วก็ลงทุนซื้อไม้มาเก็บ เพราะไม้ทำกีตาร์ยิ่งเก่ายิ่งเสียงดี ก็เลยเหลือแค่พอกินพอใช้เท่านั้นเอง
แต่โอกาสมาแล้ว จะปล่อยไปก็ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสแบบนี้อีกเมื่อไหร่
ไม่ทำตอนนี้อาจจะไม่มีวันได้ทำแล้วก็ได้ it’s now or never”

ท้ายที่สุด เอ็มก็ได้เดินทางไปเรียนทำกีตาร์ที่อิสราเอลแบบมีเงินติดตัวไม่กี่พันบาทโดยได้รับการสนับสนุนจากแม่ที่เห็นถึงความตั้งใจ ซึ่งเขาก็กลับมาทำงานผ่อนคืนให้เพราะไม่อยากรบกวนเงินที่แม่เก็บไว้ใช้ตอนเกษียณราชการครู

ช่างทำกีตาร์ Kasha หนึ่งเดียวในเอเชีย

เอ็มใช้เวลาเรียนทำกีตาร์ราว 1 เดือนแล้วจึงกลับมาประเทศไทย
เสียงกีตาร์ของเขาพัฒนาขึ้นมากสมความตั้งใจ ทำให้มีออร์เดอร์เข้ามาไม่ขาดสาย แต่ก็จังหวะไม่ดีที่ช่วงนั้นเศรษฐกิจอยู่ระหว่างขาลง
ลูกค้าจำเป็นต้องทิ้งเงินมัดจำยกเลิกออร์เดอร์ไปหลายราย
เขาอาศัยช่วงเวลานั้นทดลองทำกีตาร์ Kasha ที่ไปร่ำเรียนมา
โดยกว่าจะเสร็จสมบูรณ์พร้อมออกงานโชว์ได้ก็กินเวลาหลายปี

“กีตาร์ Kasha มีความพิเศษในตัวมันครับ คือไม่ใช่ว่าพอกลับมาผมจะทำเลียนแบบสิ่งที่อาจารย์สอนแล้วก็จบ
ทำขายได้เลย เพราะผมต้องมาศึกษาทำความเข้าใจเพิ่มเติมด้วยตัวเองด้วย ระบบ Bracing
ด้านในที่เห็นไม่ได้เป็นการวางมั่วๆ ให้ดูแปลกโดยไม่มีเหตุผล
ทุกตำแหน่ง ความหนาบางของไม้ ต้องผ่านการคำนวณตามหลักฟิสิกส์ ตัว Sound
hole ที่ย้ายมาอยู่ด้านบนก็เช่นกัน ไม่ได้ย้ายมาเพื่อความสวยงาม
แต่เป็นเหตุผลเรื่องเสียง ผมก็เพิ่งจะเข้าใจมันอย่างถ่องแท้ปีสองปีมานี้เอง
ถึงได้มั่นใจและพูดได้อย่างเต็มปากว่านี่แหละ กีตาร์ Kasha ของจริง”

เอ็มเป็นช่างทำกีตาร์ชาวเอเชียคนแรกที่มีโอกาสได้เรียนทำกีตาร์
Kasha กับอาจารย์ Boaz
และยังถือเป็นนักเรียนคนสุดท้ายที่อาจารย์ Boaz ถ่ายทอดความรู้ให้
เนื่องจากปัจจุบันอาจารย์ไม่ได้ทำกีตาร์ชนิดนี้แล้วเพราะต้องใช้เวลาทำนานมากกว่ากีตาร์ปกติ
2 – 3 เท่า ในขณะที่อาจารย์เองก็มีอายุมากแล้ว
จึงเลือกที่จะทำกีตาร์แบบเทรดิชันเป็นหลักเพื่อผลิตผลงานออกมาให้ได้มากที่สุด

อีกหนึ่งโอกาสชีวิต กับตำนานแห่งแดนอาทิตย์อุทัย

เอ็มได้มีโอกาสรู้จักกับ Yuichi Imai ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนดนตรี
เขาชื่นชอบกีตาร์ของอาจารย์อิไมมากเป็นพิเศษขนาดมีไว้ในครอบครองถึง 2 ตัว แต่ก็ต้องตัดใจขาย เพราะอยากนำเงินที่ได้มาคืนแม่ที่เคยให้เขายืมตอนไปอิสราเอล
บวกกับเป็นช่วงที่เจอพิษเศรษฐกิจทำร้ายเข้าอย่างจัง

“Yuichi Imai เป็นช่างทำกีตาร์ระดับตำนาน คนในแวดวงกีตาร์คลาสสิกจะรู้จักดี กีตาร์อาจารย์ราคาสูงถึง 6 หลักทีเดียว แต่หลายคนก็ยังขวนขวายอยากได้มาครอบครอง ตัวผมเองได้เจอและพูดคุยกับอาจารย์อิไมในงานกีตาร์ตลอด
ผมรู้มาว่ารุ่นพี่หลายคนมีโอกาสได้ไปดูอาจารย์ทำงานที่ญี่ปุ่นด้วย คืออาจารย์ไม่ได้รับสอนเป็นกิจจะนะครับ
แต่จะอนุญาตให้เข้าไปสังเกตการณ์ แล้วก็ซักถามในสิ่งที่สงสัย แต่ถึงอย่างนั้นผมก็ยังรวบรวมความกล้าลองเลียบๆ เคียงๆ ถามอาจารย์ดูว่าถ้าผมอยากจะเรียนทำกีตาร์กับอาจารย์แบบจริงจัง
คือสอนผมทำทุกขั้นตอนจนเสร็จสมบูรณ์เป็นกีตาร์ตัวนึงเลย อาจารย์จะโอเคไหม อาจารย์เค้านิ่งไปนิดนึง
แล้วก็ตอบ ‘โอเค’ ง่ายๆ เลย
ผมทั้งอึ้งทั้งดีใจสุดๆ
ถึงวันนี้ก็ยังไม่รู้เหตุผลเลยครับว่าทำไมอาจารย์ถึงยอมสอนให้”

เอ็มเพิ่งบินไปเรียนทำกีตาร์ที่ญี่ปุ่นเมื่อตุลาคมที่ผ่านมานี้เอง
อีกครั้งที่เขาเริ่มต้นทำทุกอย่างจากศูนย์ ตั้งแต่ต่อโต๊ะทำงานเอง เรียนวิธีลับมีด
และเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ การไสไม้เพื่อทำกีตาร์ เรียกได้ว่าทำทุกอย่างตามวิถีของอาจารย์อิไมในทุกขั้นตอนอย่างแท้จริง

“ไม่ใช่แค่การทำกีตาร์อย่างเดียวครับ
แต่อาจารย์ยังสอนอะไรผมอีกหลายอย่าง ทัศนคติในการทำงาน การใช้ชีวิต
คือประสบการณ์การทำกีตาร์กว่า
50 ปีทำให้อาจารย์มีอะไรให้ผมได้เรียนรู้เยอะแยะเต็มไปหมด
ถือเป็นโชคดีอีกครั้งของชีวิตผมครับ”

ท้อได้ แต่ไม่ยอมถอย

อีกหนึ่งอุปสรรคของอาชีพการทำกีตาร์ที่ทำให้เอ็ม
หรือแม้แต่ช่างทำกีตาร์ไทยคนอื่นๆ รู้สึกท้อในการสร้างสรรค์ผลงาน
ก็คือทัศนคติของคนไทยด้วยกันเองที่มีต่องานฝีมือของคนไทย

“คนไทยยังยึดติดกับแบรนด์นอกครับ ทั้งที่บางครั้งไม้สเปกเดียวกัน
คุณสามารถซื้อได้จากช่างไทยในราคาที่ถูกกว่าครึ่งด้วยซ้ำ ซึ่งมันก็นำไปสู่ปัญหาอื่นต่อไปอีก คือกีตาร์ช่างไทยขายราคาสูงมากไม่ได้
คนซื้อมักจะเสียดายเงิน แล้วก็หนีไปซื้อแบรนด์นอกที่ให้ความรู้สึกว่าคุ้มค่ากว่า
เป็นวัฏจักรอยู่อย่างนี้ ผมเองยอมรับนะว่ากีตาร์ผมราคาไม่ถูก
แต่หากให้เทียบคุณภาพกับกีตาร์แบรนด์นอกดังๆ ผมก็มั่นใจว่างานผมเนี้ยบ
แล้วเสียงก็ดีไม่แพ้ใครแน่นอน”

“ทุกวันนี้ผมทำกีตาร์ได้ปีละ 6 ตัวเท่านั้น
เพราะทำทุกอย่างด้วยมือผมเอง คุณอยากให้ผลงานออกมาดี
คุณก็ต้องใส่ใจและให้เวลากับมันด้วย ที่ต้องใช้เวลานานก็ด้วยหลายปัจจัย ฝนตก
อากาศชื้นหน่อยก็ทำสีไม่ได้แล้ว ทากาวก็ต้องให้เวลารอจนกว่าจะแห้ง ทุกอย่างมีผลกับเสียงกีตาร์ทั้งนั้น งานแฮนด์เมดไม่ว่าจะเป็นประเภทไหนถึงได้มีราคาสูง
เพราะผู้ผลิตเค้าต้องใส่ใจกับมันเป็นพิเศษแบบตัวต่อตัว ชิ้นต่อชิ้น”

‘ต้องไปให้ถึงระดับโลก’ เอ็มบอกตัวเองตั้งแต่วันแรกที่เริ่มหัดทำกีตาร์
ไม่ว่าจะยังไงทำเนียบช่างทำกีตาร์ดังๆ จะต้องมีชื่อเขาปรากฏเป็นหนึ่งในนั้นให้ได้

“กีตาร์เป็นเพื่อนแท้ของผม
มันอยู่กับผมในทุกช่วงเวลาของชีวิตแม้ตอนที่แย่ที่สุด กีตาร์ส่งผมเรียนจนจบ
ทำให้ผมมีกินมีใช้ไม่ต้องอดเหมือนเมื่อก่อน
ถ้าจะบอกว่ามีทุกวันนี้ได้เพราะกีตาร์ก็คงไม่ผิดครับ
เพราะงั้นในอนาคตผมก็อยากจะพากีตาร์ของผมไปแนะนำให้คนทั่วโลกได้รู้จัก หยุดฟังเสียงกีตาร์ของผมอย่างตั้งใจ
และยอมรับฝีมือผมในฐานะช่างทำกีตาร์คนไทยครับ”

TJ Luthier

ประเภทธุรกิจ:
รับสอนและรับทำกีตาร์แฮนด์เมด ซ่อม จูน ปรับแต่งกีตาร์ทุกชนิด
คอนเซปต์:
กีตาร์แฮนด์เมดทั้งตัว สเปกตามใจลูกค้า
เจ้าของ: ทศพล
จันทโรทัย (32 ปี)
Facebook: TJ Luthier

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

AUTHOR