Sunny Side Up เกือบสุข : ละครชีวิตที่มีทั้งสุขและทุกข์ของผู้พิการทางสายตาและผู้ป่วยจิตเวช

Highlights

  • Sunny Side Up คือละครเวทีที่สร้างสรรค์จากเรื่องราวของ พลอย–สโรชา กิตติสิริพันธุ์ นักเขียนและนักจิตวิทยาที่ปรึกษาผู้พิการทางสายตา และ ซันนี่–โรฬา วรกุลสันติ นักแสดงอิสระผู้ป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ กำกับการแสดงโดย สตางค์–ภัทรียา พัวพงศกร คอลัมนิสต์และนักเขียนบทละครมือรางวัล
  • นอกจากเนื้อหาที่ว่าด้วยผู้พิการและผู้ป่วยจิตเวชแล้ว การแสดงครั้งนี้ยังออกแบบให้ผู้พิการเสพศิลปะการแสดงผ่านสัมผัสต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการลิ้มรสชาติความอร่อยของหมูแผ่นและปลาหมึกจากบ้านนักแสดงทั้งสอง และการสูดกลิ่นที่ออกแบบโดย ก้อย–ชลิดา คุณาลัย นักออกแบบกลิ่นมืออาชีพ อีกด้วย
  • การแสดงครั้งนี้ยังได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล Performative Art Festival 2019 โดยจะจัดแสดงในวันที่ 12-15 และ 20-22 กันยายน 2562 ณ สตูดิโอชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
 

ชีวิตก็อย่างนี้ มีสุข มีทุกข์

ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร เป็นผู้พิการ เป็นผู้ป่วยจิตเวช ชีวิตก็อย่างนี้ มีสุข มีทุกข์

Sunny Side Up: เกือบสุข คือละครเวทีที่เล่าเรื่องนี้

Sunny Side Up สร้างสรรค์มาจากบทสนทนาและเรื่องราวในชีวิตจริงของผู้พิการทางสายตาและผู้ป่วยจิตเวช นำแสดงโดย พลอย–สโรชา กิตติสิริพันธุ์ นักเขียนและนักจิตวิทยาที่ปรึกษาฝึกหัดผู้พิการทางสายตา เจ้าของผลงานหนังสือ จนกว่า เด็กปิดตา จะโต และ ซันนี่–โรฬา วรกุลสันติ นักแสดงอิสระผู้ป่วยเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว (bipolar disorder) โดยมี สตางค์–ภัทรียา พัวพงศกร คอลัมนิสต์และนักเขียนบทละคร ผู้คว้ารางวัล IATC Thailand Awards 2015 สาขาบทละครดั้งเดิมยอดเยี่ยม จากละครเวทีเรื่อง Ceci n’est pas la politique: นี่ไม่ใช่การเมือง รับหน้าที่เป็นผู้กำกับ

ลำพังเรื่องราวของนักแสดงทั้งสองก็ดึงดูดเราแล้ว แต่เรายังตื่นเต้นไปอีกระดับที่ละครเวทีเรื่องนี้ออกแบบให้ผู้พิการสามารถรับชมได้ผ่านประสาทสัมผัสอื่นๆ ที่นอกเหนือจากสายตา ไม่ว่าจะเป็นการลิ้มรส การได้ยิน และการดมกลิ่น ซึ่งอย่างหลังได้ ก้อย–ชลิดา คุณาลัย นักออกแบบกลิ่นผู้มีประสบการณ์ออกแบบกลิ่นในการแสดงละครเวทีให้กับผู้พิการทางสายตา มาร่วมสร้างสรรค์กลิ่นสำหรับ Sunny Side Up ด้วย

เพียงข้อมูลคร่าวๆ ข้างต้นก็กระตุ้นให้เราต่อสายถึงทีมงานขอนัดวันเข้ามาเปิดบทสนทนาว่าด้วยเบื้องหลังการจัดการแสดงละครที่มีผู้พิการร่วมด้วย 

ไหนๆ ก็ไหนๆ มาร่วมฟังบทสนทนานี้ไปพร้อมกัน

ตั้งวงคุย

เรื่องทั้งหมดเริ่มจากสตางค์ ผู้เป็นบัณฑิตสาขาวิชาศิลปการละคร จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ยินข่าวว่าหอศิลปกรุงเทพฯ มีโครงการสนับสนุนพื้นที่การแสดงสำหรับศิลปินสาขาศิลปะการแสดง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลศิลปะการแสดง (Performative Arts Festival) ประจำปี 2562 โดยมีข้อแม้ว่าการยื่น project proposal นั้นๆ จะต้องเป็นการแสดงร่วมสมัยที่เกี่ยวข้องกับความพิการ (art for disability) มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับคนพิการ จะจัดการแสดงให้คนพิการดู หรือทีมงานและนักแสดงเป็นคนพิการก็ได้ 

“พอรู้ว่าหอศิลป์มีโครงการนี้ เราก็เลยอยากทำละครมากเพราะตั้งแต่เรียนจบมายังไม่ได้ทำละครของตัวเองเลย เราก็เลยเก็บไปนอนคิดแล้วก็นึกได้ว่าเรารู้จักคนพิการคนหนึ่งก็คือพลอย ซึ่งเป็นน้องที่คณะอักษรฯ แล้วเราก็คิดว่าเขาเขียนหนังสือดีมาก เดี๋ยวให้เขาช่วยเขียนเกี่ยวกับคนพิการมาให้

“แต่เราก็คิดนะ ถ้าจะทำละครโดยให้พลอยเป็นที่ปรึกษาอย่างเดียวมันก็ไม่ได้ เพราะเราก็ไม่ได้รู้เรื่องความพิการ ไปพูดแทนเขาไม่ได้หรอก เราเลยโทรไปหาพลอยในเดือนมกราคม จีบพลอยว่ามาเขียนบทด้วยกันหน่อย” 

“ซึ่งจีบง่ายมาก” พลอยตอบรับ เรียกเสียงหัวเราะของทุกคนพร้อมกัน ก่อนเธอจะเล่าเรื่องในมุมของตัวเอง

“ตอนแรกพลอยนึกภาพไม่ค่อยออก คือไม่ได้มีภาพละครอยู่ในหัว เพราะว่าพี่สตางค์บอกแค่ว่ามันมีโปรเจกต์เกี่ยวกับคนพิการนะ ต้องทำละคร แล้วเราก็นึกไม่ออกว่ามันจะเป็นละครยังไง แต่พลอยเชื่อในตัวพี่สตางค์ เชื่อในละครของอักษรฯ แล้วตอนนั้นก็ไม่ได้คิดว่าจะมาเล่น คิดว่าเขาแค่จะเอาบทเราไปดู แล้วก็เอาไปทำอะไรสักอย่างให้มันเป็นละคร เราเลยตอบตกลงไปง่ายมากเพราะคิดว่ายังไงมันก็ต้องดี”

 

คุยไป-คุยมา

เรื่องราวที่เกิดขึ้นใน Sunny Side Up คือซันนี่กำลังจะเล่นละครเป็นพลอย ทั้งคู่มาอยู่ในห้องซ้อมเพื่อปรึกษา กินข้าว พูดคุยเรื่องชีวิตกัน จะว่าไปก็เหมือนเลือกหยิบฉากชีวิตของคน 2 คนมากดเพลย์ให้ดู

เล่าแค่นี้อาจจะดูเรียบง่ายแต่กว่าจะกลั่นออกมาได้แบบนี้ไม่ง่ายสักนิด แม้กระทั่งนักเขียนบทมือรางวัลอย่างสตางค์ยังออกปากว่าบทเป็นส่วนที่ยากที่สุดในการทำละครเรื่องนี้ โดยพวกเขาใช้เวลาในการพัฒนาบทกว่าครึ่งปี ผ่านการพูดคุยและโต้ตอบไอเดียกันไปมาระหว่างสตางค์​ พลอย และซันนี่ ไอเดียหลากหลายถูกโยนเข้าในวงสนทนา บ้างหายไปด้วยข้อจำกัด บ้างถูกพัฒนาต่อจนมาอยู่ในบทละคร

ไอเดียแรกสุดของสตางค์คือละครว่าด้วยชีวิตนักเขียน เพราะตัวเธอเองเป็นนักเขียนและพลอยก็เป็นนักเขียนที่เธอยอมรับในความสามารถตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย 

“เราเคยเรียนวิชาเดียวกันคือวิชาบรรณาธิการศึกษา พลอยเป็นนักเรียนดีเด่น เจิดจรัสมากทั้งในแง่การเขียนหรือแนวคิด เขาโดดเด่นกว่าเพื่อนๆ ในห้อง เราเลยคิดว่าหลังเรียนจบแล้วเส้นทางของพลอยจะเป็นยังไงต่อ เพราะอย่างเราเรียนจบก็ได้รับโอกาสมากมายในการทำงาน ได้เดินทาง ได้ไปเจอคน ได้รับประสบการณ์มากขึ้นเรื่อยๆ แล้วพลอยล่ะ เส้นทางงานเขียนของพลอยจะเป็นยังไง ถ้าอย่างนั้นเราเอาเรื่องของเรา 2 คนมาคุยกันในฐานะนักเขียนที่เส้นทางมันแยกไปคนละทาง

“แต่พอเราไปคุย พลอยบอกว่าไม่ได้จะเป็นนักเขียน ตอนนี้สิ่งที่เขาสนใจคือจิตวิทยาและกำลังเรียนจิตวิทยาอยู่ เราก็อ้าว ทำไงต่อดีวะ” สตางค์เล่าเรื่องหักมุมด้วยเสียงเจือหัวเราะ

เมื่อกลับมาตั้งต้นใหม่โดยมีประเด็นเรื่องจิตวิทยาเป็นหางเสือ นักเขียนบทสาวจึงนึกถึงซันนี่ นักแสดงผู้ป่วยเป็นไบโพลาร์ 

แม้ซันนี่จะตอบตกลงทันทีที่สตางค์ชวน แต่เธอก็กังวลว่าการมีส่วนร่วมกับโปรเจกต์นี้จะทำให้คนรู้จักเธอในฐานะผู้ป่วยไบโพลาร์ ซึ่งที่ผ่านมามีหลายครั้งที่เธอถูกปฏิเสธงานเมื่อผู้ว่าจ้างรู้ว่าเธอเป็นผู้ป่วยจิตเวช ทั้งยังมีความกังวลในแง่อาการของโรคอีกด้วย

“เราไปปรึกษาหมอก่อนจะเล่นเรื่องนี้ หมอก็กังวลว่าแล้วเราจะไหวเหรอ แต่สุดท้ายเขาก็พูดประโยคหนึ่งว่า จริงๆ คุณโรฬาเป็นคนไข้ที่หมอไว้ใจที่สุดแล้วนะ เพราะคุณดูแลตัวเองดีมาก ถ้าคุณอยากเล่นหมอก็ไม่ห้ามหรอก เราก็เลยรู้สึกว่าโอเค ลองเล่นก็ได้ เพราะถึงจะถอดใจยังไง ใจเราก็อยากเล่นละครตลอดเวลาอยู่ดีแหละ”

เมื่อนำพาพลอยและซันนี่มาเจอกันได้ในที่สุด สตางค์จึงออกไอเดียให้ทั้งสองคนมานั่งบำบัดกัน ในฐานะที่พลอยเป็นนักจิตวิทยาที่ปรึกษา ส่วนซันนี่เป็นผู้ป่วยไบโพลาร์ แต่ไอเดียนั้นก็ถูกเบรกโดยพลอยเสียก่อน ด้วยการบำบัดเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและอาจรบกวนกระบวนการรักษาของซันนี่ได้ 

“เราคิดว่ามันมีเรื่องของจริยธรรมทางวิชาชีพของนักจิตวิทยาเข้ามาเกี่ยวข้อง และไม่แน่ใจว่ามันจะเซฟสำหรับตัวพี่ซันนี่หรือเปล่า” พลอยเล่าย้อนถึงความกังวลในเวลานั้น

ไอเดียนี้จึงยกเลิกไป แต่ยังคงเรื่องของบทสนทนาไว้ โดยเปลี่ยนสถานะจากนักจิตวิทยาและคนไข้เป็นการพูดคุยในฐานะเพื่อนแทน

“เรารู้สึกว่าด้วยงานเรา ต้องไปสัมภาษณ์คน เลยคิดว่าแค่คนมานั่งคุยกัน 2 คนมันก็สนุกได้ถ้าบทสนทนามันสนุก ตอนเรานั่งให้ 2 คนนี้คุยกันแล้วมันสนุก มันดีพอแล้ว” สตางค์เล่า 

ผู้กำกับบอกว่าบทละครนี้ประกอบสร้างจาก 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งคือบทสนทนา ไม่ว่าจะเป็นบทสนทนาระหว่างนักแสดงทั้งสองหรือบทสนทนาระหว่างผู้กำกับและนักแสดงแต่ละคน ซึ่งรวมเป็นเทปเสียงถึง 10 ชั่วโมง และส่วนที่สองคือการคัดเลือกบทความที่พลอยเคยเขียนเอาไว้

“เราจะเลือกแต่บทความดาร์กๆ ที่พูดเรื่องความเศร้าของพลอย ไม่ค่อยเลือกอะไรที่สดใส เพราะเคยไปเสิร์ชชื่อพลอยในกูเกิลแล้วทุกคนจะชอบพูดเหมือนกันว่า พลอยเป็นนักเขียนตาบอดที่เข้มแข็ง ถึงตาบอดแต่ใจเธอแกร่ง แต่พลอยที่เรารู้จักไม่ใช่แบบนี้ พลอยพูดในเฟซบุ๊กด้วยซ้ำว่า เฮ้ย มันก็มีวันที่ดาวน์ วันที่แย่ มีหลายสิ่งที่เขาไม่โอเค 

“พอคัดมาแล้วเราก็จะเอาบทความนั้นๆ มาถามพลอยว่าตอนนั้นรู้สึกยังไง คิดอะไรอยู่ ประสบการณ์เป็นยังไง จนกระทั่งข้อมูลมันมหาศาลมาก” สตางค์แจกแจง

เพราะข้อมูลเยอะขนาดนี้ พลอยจึงรับอีกหน้าที่เป็นการช่วยสตางค์คัดสรรข้อมูล คั้นเฉพาะส่วนสำคัญออกมาเป็นบทละคร สตางค์บอกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของบทละครเป็นบทสนทนาที่นักแสดงเคยพูดมาแล้ว เธอแค่ช่วยเชื่อมให้เรื่องต่อกัน และก่อนจะเป็นบทที่ใช้จริงนักแสดงทั้งสองจะอ่านเพื่อตรวจดูว่าเรื่องเหล่านี้สามารถเปิดเผยต่อหน้าสาธารณชนได้ 

“เรารู้สึกว่าทั้งสองก็มี 2 อย่างที่เกี่ยวข้องคือ คนหนึ่งเป็นเรื่องร่างกาย สิ่งที่คนอื่นเห็นได้จากภายนอก แต่อีกคนคือข้างนอกไม่รู้แต่ข้างในมี แล้วมันก็เป็นตามมาตรฐานทั่วไปที่คนมองว่ามันพร่อง พร่องกาย หรือพร่องใจ  

“แต่ตอนที่รู้จัก 2 คนนี้เราไม่ได้รู้สึกแบบนั้น เรารู้จักพลอยครั้งแรกก็รู้สึกว่า มันเก่งว่ะ หรือรู้จักพี่ซันนี่ เราก็ไม่ได้คิดถึงเรื่องไบโพลาร์ เราคิดว่าเขาเป็นนักแสดงที่มีเสน่ห์บนเวที แต่ด้วยโจทย์เรารู้สึกว่าคุณสมบัติในตัวพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งที่น่าจับพวกเขามาเจอกัน คุยกัน”

สตางค์ย้ำว่าละครเวทีเรื่องนี้ไม่ได้พูดแทนคนพิการหรือผู้ป่วยจิตเวชทุกคน เพราะนี่คือความเห็นของคนตาบอดหนึ่งคนและผู้ป่วยจิตเวชหนึ่งคนเท่านั้น อย่างพลอยมีความเชื่อว่าเขาทำอะไรได้มากมาย แต่คนตาบอดหลายคนอาจจะไม่ได้เชื่อแบบเดียวกัน ด้วยประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกัน เช่นว่าอาจจะถูกจำกัดในแง่โอกาสหรืออาชีพ 

“เราคิดว่าละครเรื่องนี้มันก็อาจจะช่วยชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับคนตาบอดได้” สตางค์เชื่ออย่างนั้น

Sunny Side Up

ดีไซน์พื้นที่ให้กันและกัน

ระหว่างการพัฒนาบทร่วมกับพลอย มีคำถามหนึ่งค่อยๆ ก่อตัวขึ้นในใจของสตางค์

“ในเมื่อเราเลือกพี่ซันนี่ที่เล่าเรื่องตัวเองและแสดงเองด้วย ทำไมคนที่เล่นเป็นพลอยถึงไม่ใช่พลอยล่ะ เราก็เลยมาคุยกับพลอยว่า เล่นเถอะ” 

“ตอนแรกรู้ว่าต้องเล่นเองก็ช็อก ช็อกไปหลายรอบมาก” พลอยย้อนความว่า เธอคิดมาตั้งแต่เด็กว่าสิ่งหนึ่งที่จะไม่ทำคือทำละคร เพราะเคยเล่นเปียโนแล้วรู้สึกว่าตัวเองทำได้ไม่ดีเมื่อมีสายตาจับจ้อง

“ที่มาทำพี่สตางค์ก็ไม่ได้บังคับ พลอยสนุกกับการได้ทดลองอะไรใหม่ๆ ซึ่งพี่สตางค์เขามีไอเดียใหม่ๆ มาให้เราคิดได้ตลอด จนเราเริ่มสนุกกับละคร สนุกที่จะคิด สนุกที่จะตอบคำถามพี่สตางค์ จนเรายอมมาเล่นละครเรื่องนี้”

เมื่อพลอยตกลงที่จะรับบทบาทนักแสดงในเรื่อง ทุกคนจึงออกแบบการทำงานและเวทีร่วมกันเพื่อให้พลอยและซันนี่ทำงานและสื่อสารกันได้อย่างเข้าใจ แม้ว่าช่วงแรกซันนี่ยอมรับว่าเธอแอบกังวลระหว่างแสดง เพราะเธอไม่รู้ว่าพลอยรู้ได้ยังไงว่าซันนี่ยืนอยู่ตรงจุดไหน

“เราถามน้องตรงๆ ไปเลยว่า น้องรู้ได้ยังไงว่าพี่อยู่ตรงไหน น้องตามเสียงเหรอ แล้วพี่เดินประมาณนี้น้องได้ยินใช่ไหม อย่างนี้รู้ไหมว่าห้องมันขนาดแค่ไหน แล้วพลอยก็ให้ความร่วมมือดีมาก เรารู้สึกว่าเราทำงานกับเขาง่ายมาก

“หรือบางกรณีเราก็ต้องเทกแคร์น้องด้วย เช่น เรื่องการเคลื่อนไหว การเต้น ไม่ใช่ว่าน้องมีปัญหา แต่ว่าน้องไม่ชินกับการใช้ร่างกายมากกว่า ภาพที่ออกมาเลยอาจยังไม่ถูกใจ เราก็คอยช่วยติวน้อง ซึ่งกลายเป็นว่าติวไปติวมามันเก่งว่ะ แบบ โอ้ย มันจะมาแย่งงานกูปะเนี่ย” ซันนี่เล่าจบ วงสนทนาของเราเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะอีกครั้ง

ส่วนอีกสิ่งที่ทีมงานต้องคำนึงถึงคือ การออกแบบสถานที่ที่เอื้อต่อพลอย สตางค์เล่าว่าละครเรื่องนี้จะมีฉากเดียว ซึ่งจะต้องอธิบายให้พลอยฟังว่าจะมีอุปกรณ์ประกอบฉากอะไรบ้าง โต๊ะและเก้าอี้จะวางอยู่ตรงไหน และจะมาร์กจุดเป็นตุ่มนูนบนเวทีเพื่อให้พลอยเดินได้แม้จะไม่มีไม้เท้าก็ตาม 

ฟังบทสนทนา ลิ้มรสชาติแสนอร่อย แล้วค่อยๆ สูดกลิ่นหอมสบาย

นอกจากละครเรื่องนี้จะถ่ายทอดบทสนทนาเพื่อสื่อสารความรู้สึกของนักแสดงทั้งสองแล้ว ความตั้งใจอีกอย่างของผู้กำกับคือการเปิดพื้นที่ให้ผู้พิการเข้ามาสัมผัสการแสดงศิลปะ เธอจึงปรึกษาพลอยเพื่อหาวิธีการสร้างประสาทสัมผัสร่วมอื่นๆ ในการแสดงครั้งนี้ด้วย 

“เราปรึกษาพลอยว่าอยากสื่อสารเมสเซจถึงคนพิการ จะทำยังไงที่ดูโอเคและเป็นการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่ดูเป็นการสงสารหรือการดูถูกเขา เพราะเป้าหมายของการทำละครครั้งนี้เราไม่ได้อยากให้ใครรู้สึกสงสาร เราก็เลยคุยกันว่าทำยังไงดี ตรงไหนที่คนตาบอดไม่เข้าใจ เราจะทำยังไง เช่น ต้องพูดไหม สมมติว่าพี่ซันนี่จะเดินไปหยิบน้ำก็ต้องพูดว่าพี่เดินไปหยิบขวดน้ำนะ คือต้องมีนิดหน่อยแต่ไม่ได้เยอะมากจนเสียอรรถรสของการแสดง ซึ่งเดี๋ยวพลอยจะชวนเพื่อนมาลองดูละครและคอมเมนต์ว่าเข้าใจไหม”  

สตางค์อธิบายอีกว่าข้อดีของการทำ performance art คือสามารถสร้างประสาทสัมผัสอื่นๆ และตอบโต้กับคนดูได้โดยตรง ซึ่งแตกต่างจากภาพยนตร์หรือละครที่จะถ่ายทอดให้เราดูอย่างเดียว นั่นทำให้เกิดเป็นไอเดียที่จะสร้างประสาทสัมผัสอื่นๆ ให้ผู้พิการร่วมรับชมได้ 

อีกทั้งก่อนหน้านี้เธอเคยดูละครเวทีต่างประเทศ แล้วทีมงานให้ผู้ชมกินข้าวระหว่างการแสดง เธอจึงคิดว่าหากได้ทำละครก็อยากให้ผู้ชมมีประสบการณ์ร่วมกันแบบนี้บ้าง ประกอบกับบ้านของนักแสดงทั้งสองขายหมูแผ่นและปลาหมึกด้วย เธอจึงอยากให้ผู้ชมได้ลิ้มรสความอร่อยๆ ไปพร้อมกัน

แต่จะให้ผู้ชมกินอย่างเดียวไม่ได้ ต้องได้กลิ่นไปด้วย

“เราบังเอิญไปเจอพี่ก้อยด้วยโชคชะตาก็เลยคุยกัน แล้วพี่ก้อยก็เล่าให้ฟังว่าได้ทำโปรเจกต์กับคนตาบอด เคยรู้จักกับพลอยอยู่แล้ว เราเลยรู้สึกว่าดีจัง เขาเข้าใจเรื่องนี้เลย”

ก้อยเล่าว่าเธอตอบตกลงทันทีหลังจากสตางค์เข้ามาชวน ด้วยเคยทำงานร่วมกับผู้พิการใน The Nose Thailand โปรเจกต์ทำให้กลิ่นมีสีเพื่อให้คนตาบอดสร้างสรรค์งานศิลปะได้ และเคยออกแบบกลิ่นในการแสดงให้กับคณะละครเวที Blind experience โดยเน้นออกแบบกลิ่นเพื่อให้คนรับรู้ถึงการเปลี่ยนฉาก เช่น จากป่าไปโรงพยาบาล 

ครั้งนี้เมื่อต้องออกแบบกลิ่นในเรื่อง Sunny Side Up ซึ่งมีเพียงฉากเดียว เธอและสตางค์จึงเห็นตรงกันว่าอยากจะใช้กลิ่นเพื่อเน้นจุดที่สำคัญในละครเรื่องนี้มากกว่า 

“มันเหมือนเราอ่านหนังสือแล้วไฮไลต์ เพราะจะมาปล่อยกลิ่นทุกฉากไม่ได้ มันไม่เหมือนไฟหรือเสียงที่มีสวิตช์ปิดได้เลย แต่กลิ่นจะลอยอยู่” 

นักออกแบบกลิ่นบอกกับเราว่า โดยปกติเธอมักจะชอบออกแบบกลิ่นที่ไม่หอมด้วย เพราะสนุกกับการทำให้คนตั้งคำถามว่านี่คือกลิ่นอะไร แต่เมื่อต้องออกแบบกลิ่นละครเรื่องนี้ เธอคิดว่าต้องเป็นละครที่มีกลิ่นหอมเท่านั้น 

“เพราะพี่อยากให้กลิ่นหอมได้ lift up ละครทั้งเรื่อง เมื่อคนเดินออกไปแล้วรู้สึกอิ่ม สบาย เพราะฉะนั้นการออกแบบครั้งนี้อาจจะไม่ได้เป็นพี่ก้อยสักเท่าไหร่” ก้อยเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ

Sunny Side Up

ทุกคนมีสิทธิรู้สึกในสิ่งที่รู้สึก

ตลอดการพูดคุยราวชั่วโมงกว่าๆ นอกจากเบื้องหลังสนุกๆ ที่ทำให้บทสนทนาของพวกเราคละเคล้าไปด้วยเสียงหัวเราะแล้ว หลายครั้งพวกเราแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ที่เกี่ยวกับคนพิการและผู้ป่วยจิตเวช การคุยครั้งนี้ทำให้เรารู้ว่ายังมีอีกหลายคนในสังคมที่มีภาพจำต่อคนทั้งสองในมุมมองที่หลายครั้งก็ลืมนึกถึงความรู้สึกจริงๆ ของพวกเขา

“หลายครั้งคนไม่เชื่อว่าเราเป็นไบโพลาร์เพราะทุกคนเข้าใจว่าเราเป็นคนร่าเริง ตลก เฮฮา” ซันนี่เริ่มเล่า

“บวกกับความที่ชื่อซันนี่อีก ก่อนหน้านี้ชื่อจริงคือ ‘สุรีพร’ ที่แปลว่าพระอาทิตย์ด้วยนะ แต่พอบอกว่าเป็นไบโพลาร์ คำตอบแรกที่เรามักได้คือ ‘ก็อย่าเศร้าดิ คนอย่างมึง ร่าเริงจะตาย สู้ดิวะ’ ในเสียงหัวเราจะบอกตัวเองเลยนะ ‘ใช่ เพราะมึงมันไม่สู้ไง เพราะมึงมันกระจอก อย่างมึงควรจะไปตาย’ แล้วเราก็ร้องไห้ แต่ทุกคนกลับมองแค่ว่า เออ สงสัยเศร้าเพราะแฟนทิ้ง โอ้ย มันยิ่งกว่าแฟนทิ้งอีก เพราะทุกคนบอกว่าเข้าใจเรา แต่เรารู้ว่าเขาไม่เข้าใจ แล้วที่เศร้ากว่าคือเราเข้าใจเขา เรารู้ด้วยว่าต้องปฏิบัติยังไงกับเขา”

ส่วนเรื่องเล่าจากพลอย หลายครั้งคนมีภาพจำว่าเธอเป็นคนบกพร่องทางกายที่ทำเรื่องเล็กน้อยได้ยิ่งใหญ่น่าชื่นชมและปฏิบัติต่อกันด้วยความรู้สึกสงสาร ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิดเบื้องหลังที่มองว่าผู้พิการเป็นคนที่บกพร่องกว่าตัวเอง

“วันหนึ่งเราซ้อมอยู่แล้วมีพี่ผู้หญิงแก่คนหนึ่งทำท่าจะหยิกแก้มพลอย โอ้ย น่ารักจังเลย เราคิดว่าถ้าเป็นคนปกติใครจะมากล้าทำแบบนี้กับเรา ต่อให้รู้สึกว่าคนนี้น่ารัก เราจะไม่รู้สึกว่าต้องเดินเข้าไปเอ็นดู หยิกแก้ม ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกบวกหรือลบ แต่นี่มันเป็นความรู้สึกที่ฉันอยู่เหนือกว่า เราคิดว่าเราไม่ค่อยโอเคเท่าไหร่ แล้วคิดว่าพลอยก็ไม่ได้โอเคทุกครั้งที่มีคนมาเข้าถึง” สตางค์เล่า

“พลอยว่าเรื่องพวกนี้มันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน มันเป็นเรื่องของแต่ละคนมองยังไง แต่ละคนคิดยังไง แล้วแต่ละสถานการณ์มันก็ไม่เหมือนกัน ครั้งนี้ฉันโอเค แต่ครั้งถัดไปฉันเริ่มจะไม่โอเคแล้ว ด้วยอารมณ์อะไรสักอย่างหนึ่งของฉันด้วย ซึ่งบางทีมันก็ตอบยาก หรือว่าอะไรอย่างนี้ หรือว่าด้วยความเป็นเขา ที่มันเข้ามามีอิทธิพลต่อความโอเคหรือไม่โอเค 

“แต่พลอยรู้สึกว่าสิ่งหนึ่งที่อยากจะให้ละครเรื่องนี้สื่อสารออกไปก็คือ ทัศนคติที่เรามองทุกคนว่าเขาเป็นมนุษย์เท่ากัน ที่พลอยบอกว่าเป็นมนุษย์เท่ากัน ไม่ได้หมายถึงแค่ที่เราบอกว่า รวยหรือจนก็เท่ากัน การศึกษามาก-น้อยก็เท่ากัน พลอยรู้สึกว่ามันไม่ใช่แค่นั้น แต่มันเป็นเรื่องของการที่เรายอมรับว่าทุกคนมีความรู้สึกที่มันเป็นได้ทั้งบวกทั้งลบ มันเป็นยังไงก็ได้ ทุกคนมีสิทธิที่จะโอเคกับไม่โอเคในบางสถานการณ์ ซึ่งพลอยรู้สึกว่าตรงนี้มันกินความของคำว่าเท่ากันที่กว้างขึ้น แล้วพลอยอยากให้คนได้รับสารตรงนี้ออกไป”

 


การแสดงละคร  Sunny Side Up: เกือบสุข จะจัดแสดงในวันที่ 12-15 และ 20-22 กันยายน 2562 ที่สตูดิโอชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยผู้สนใจสามารถซื้อบัตรได้ที่นี่ หรือสามารถร่วมระดมทุนสนับสนุนการแสดงพร้อมรับของที่ระลึกเป็นน้ำหอมกลิ่นดอกไม้นานาชนิดจากก้อย ชลิดา และภาพวาดตัวคุณเองโดยฝีมือของพลอย สโรชา ได้

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรม และศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อย รวบรวมผลงานไว้ที่ pathipolr.myportfolio.com