สัมผัสวิถีชีวิตริมคลองบางหลวงในสายตานักรณรงค์ ซัน-ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์ เจ้าของเรือไฟฟ้าสุขสำราญ

“ตรงนี้คือโซนชุมชนที่นักประวัติศาสตร์เชื่อกันว่าเป็นใจกลางเมืองบางกอก นี่คือบ้านตระกูลรักสำรวจ ทุกวันนี้ถูกเรียกว่าบ้านศิลปิน”

ไม่ต้องบอกหลายคนก็น่าจะเดาออกว่าตอนนี้เราอยู่ที่คลองบางหลวง เสียงบรรยายของ ซัน-ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์ ลอยเข้ามาเป็นระยะระหว่างทีเรานั่งอยู่บน เรือไฟฟ้าสุขสำราญ Sun-powered Boat เรือไฟฟ้าที่อาศัยพลังงานจากแสงอาทิตย์ให้เรือเคลื่อนตัวอย่างเงียบสงบ โดยมีซันเป็นนักขับเรือควบตำแหน่งไกด์นำเที่ยวในคลองบางกอกใหญ่ หรือหากเอ่ยชื่อ คลองบางหลวง น่าจะทำให้หลายคนคุ้นเคยมากขึ้น เพราะทุกวันนี้คลองบางหลวงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตของเหล่าวัยรุ่นที่แวะเวียนเข้ามาเยือนทุกสุดสัปดาห์  

ซันถูกรู้จักในฐานะของนักขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมที่ทำงานอยู่ในมูลนิธิโลกสีเขียว ที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงสิ่งแวดล้อมกว่า 10 ปี ก่อนลาออกมาเป็นคุณพ่อฟูลไทม์ นอกเหนือจากนั้นเขายังเป็นลูกหลานของคนริมคลองที่ชื่นชอบการพายเรือเป็นชีวิตจิตใจ 

เมื่อถึงคราวที่ต้องออกมาประกอบอาชีพ เขาจึงมองหาสิ่งที่อยู่ในวิถีของตัวเองขณะเดียวกันก็ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย นั่นคือธุรกิจเรือไฟฟ้าเช่าเหมาลำ ชวนนักท่องเที่ยวมาเที่ยวด้วยเรือไฟฟ้าตามสองริมฝั่งคลองและทดลองใช้ชีวิตแบบไม่สร้างขยะใน 1 วัน ด้วยเหตุผลว่าการชวนคนมาเที่ยวจนเกิดความรักคลองง่ายกว่าการชวนมาเก็บขยะ 

วิธีการของเขาเรียบง่ายด้วยการจัดทัวร์คุณภาพ ผสานกับเรื่องเล่าที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อนของริมสองฝั่งคลองในบรรยากาศเงียบสงบ แม้จะดูไม่มีอะไรซับซ้อน แต่ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเรือยนต์ทั่วไป เพราะส่วนใหญ่มักทำความเร็วจนเราแทบไม่ทันได้สังเกตทิวทัศน์รอบๆ หรือแม้แต่การส่งเสียงดังจากเครื่องยนต์จนไกด์จนต้องใช้ไมโครโฟน ยังไม่นับว่าหลายครั้งก็ปล่อยควันดำสร้างมลพิษสู่อากาศ

การรณรงค์ให้คนหันมาปรับตัวอยู่ร่วมกับธรรมชาติแม้หลายคนจะรู้ว่าสำคัญ แต่หลายปีที่ผ่านมาซันพบว่ายังเป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยนใจคนได้อยู่ดี ทำไมการขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อมจึงยังไม่คืบหน้าไปไหน ในสายตาของนักรณรงค์เกือบทั้งชีวิตจนถึงลงมือทำด้วยตัวเอง เขาเรียนรู้อะไร ลงเรือและตามไปคุยกับเขาผ่านเรื่องราวของสองริมฝั่งคลองบางหลวงอย่างสุขสำราญไปพร้อมกัน

พลิกเกมการรณรงค์ให้คนมารักคลองด้วยเรือไฟฟ้า

เรานัดแนะกับซันในเช้าตรู่วันหนึ่ง นอกจากเพื่อพูดคุยแล้วเขายังพาเราทัวร์ลัดเลาะไปตามริมคลอง เราเริ่มต้นวันด้วยการใส่บาตรพระ ซึ่งยังคงใช้วิธีการพายเรือแทนการเดิน ซันบอกว่านี่ก็เป็นวิถีชีวิตริมน้ำแถมยังช่วยลดการใช้ถุงพลาสติกด้วย

ระหว่างทาง นอกจากจะขับเรือแล้ว ซันยังรับหน้าที่เป็นไกด์บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ในริมคลองบางกอกใหญ่ให้เราฟัง ไม่ใช่เพียงเพราะตอนเช้าบรรยากาศเลยเงียบสงบ แต่เพราะเรือไฟฟ้าที่พาเรานั่งมาก็เงียบมากจนได้ยินเสียงของไกด์ได้อย่างชัดเจน 

“คลองบางหลวงจริงๆ ชื่อบางกอกใหญ่ บางหลวงมาจากบางข้าหลวง คือมีขุนนางมีอาศัยอยู่เยอะ” 

หลังจากใส่บาตรพระแล้ว ซันคอยให้ข้อมูลเกี่ยวกับคลองสายนี้เป็นระยะๆ ไม่แปลกใจเลยเป็นย่านที่อยู่อาศัยของขุนนางแต่เก่าก่อน เพราะซันไล่เรียงตระกูลชื่อดังเจ้าของที่อยู่ในคลองสายนี้ได้จนแทบนับนิ้วไม่หมด ไม่ว่าจะเป็น ตระกูลติณสูลานนท์ ตระกูลชูโต ตระกูลศรุตานนท์ ตระกูลกอวิวัฒน์ หรือตระกูลวัชโรทัย 

นอกจากเรือจะขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์แล้ว ภายในเรือของซันยังเต็มไปด้วยอุปกรณ์และเครื่องใช้ที่ลดการใช้พลาสติก ไม่ว่าจะเป็นถังน้ำสีขาวพร้อมสายยางสำหรับล้างมือ ตู้เย็นเล็กๆ สำหรับแช่น้ำดื่ม จนถึงอุปกรณ์ส่วนตัวทั้งปิ่นโต ช้อนส้อม ในตะกร้าสานของเขาเอง รวมถึงอุปกรณ์ที่จำเป็นในเรือทั้งเสื้อชูชีพและพัดลมใช้สำหรับเปิดในช่วงที่อากาศอบอ้าว

ซันเริ่มต้นขับเรือไฟฟ้าหลังจากลาออกจากงานเพื่อเลี้ยงดูลูกสาว เดิมทีเขาขับเรือรับส่งนักท่องเที่ยวในระบบวินทั่วไป แต่เพราะระบบหักหัวคิวและที่สำคัญเรือยนต์ดีเซลเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมทั้งน้ำและอากาศ เขาจึงล้มเลิกไปและหันมาศึกษาเกี่ยวกับการดัดแปลงเรือไฟฟ้าแทน

“ตอนแรกเราไม่เคยทำก็ต้องทำตามเขาไปก่อน เอาเรือเข้าระบบวินเรือไปรับนักท่องเที่ยวแบบเรือลำใหญ่แบบนี้ลูกค้านั่งกัน 2-3 คนเท่านั้นเอง ก็วิ่งวนไป ไม่แวะ ไม่เล่าอะไรเลย เพราะเรือเสียงดัง ก็เร่งเครื่อง จบ 1 ชั่วโมง 2,500 เงินมาถึงผม 500 บาท อีก 2,000 หายไปตั้งแต่เบี้ยบ้ายรายทาง”

หลายคนอาจมองว่าเหตุผลที่ต้องวิ่งเรือให้เร็วเพื่อรับส่งผู้โดยสารให้ได้รอบจำนวนมากๆ เพื่อเงินที่มากขึ้น แต่ซันบอกว่าการวิ่งเรือช้าของเขาก็สามารถสร้างรายได้มากกว่า 3 เท่า และได้กำไรมากกว่า 6 เท่า เนื่องจากเป็นการขายทัวร์คุณภาพที่ทำให้มูลค่าเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน

เรือไฟฟ้าที่เรากำลังนั่งอยู่ลำนี้วิ่งได้ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จากโซลาร์เซลล์บนหลังคาเรือ นอกจากนี้ยังมีแบตเตอรี่สำหรับวิ่งตอนกลางคืนและตอนฝนตก ซันบอกว่าหลังจากที่ดัดแปลงเป็นเรือไฟฟ้าแล้วแทบไม่มีค่าใช้จ่ายตามมา เพราะต้นทุนถูกคำนวนแล้วตั้งแต่การดัดแปลงเรือไฟฟ้า รวมค่าใช้จ่ายเบ็ดเสร็จแล้วประมาณ 250,000 บาท สิ่งที่ต้องทำอย่างเดียวคือรักษาความสะอาดเท่านั้น

“บ้านเราอยู่ริมคลอง เรามีความทรงจำ ความประทับใจ ความหลังเกี่ยวกับคลองค่อนข้างดี แล้วเราก็อยากเล่าเรื่องนี้ให้คนอื่นได้เห็นคลองในแบบที่เราเคยเห็น และรู้สึกผูกพันแบบที่เราผูกพัน เราเชื่อว่านี่เป็นต้นธารของการรักษา คือถ้าไม่รู้จักเราจะรักได้ยังไง เรามองว่าอยู่ดีๆ จะไปชวนคนมาดูแลแม่น้ำลำคลองสิได้อย่างไร ถ้าเกิดคุณไม่เคยมีประสบการณ์ร่วมเลย โอกาสที่เขาจะรู้สึกอินแล้วก็พร้อมที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างมันเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นเราเลยชวนคนมาเที่ยวคลอง ทัวร์ในรูปแบบของเรา เป็นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ให้เขาได้รู้จักแบบที่เราเคยรู้จัก หวังว่าพอเขามีประสบการณ์ที่ดี แล้วเขาจะช่วยเราอนุรักษ์”

“แฟนผมก็มักจะพูดว่าซันไม่ได้ไปขับเรือทัวร์หรอก กำลังทำงานอนุรักษ์อยู่” หนุ่มนักรณรงค์พูดติดตลก แม้ว่าจะลาออกจากงานเอ็นจีโอแล้วก็ตาม แต่เขาก็ยังคงชักชวนคนมาลดการสร้างขยะ ด้วยการเปิดทัวร์ชวนนักท่องเที่ยวมานั่งเรือแบบที่เขาชื่นชอบ ไปพร้อมๆ กับการเล่าเรื่องเกี่ยวกับคลองสายนี้ 

ระหว่างทางเราเจอนกหลากหลายสายพันธุ์รวมทั้งสัตว์น้ำในลำคลอง ทั้ง นกยางกรอก นกยางเปีย นกกาน้ำเล็ก หากินอยู่ในพื้นสีเขียวริมคลอง ก่อนที่เราจะตั้งคำถามในใจว่าหากไม่ใช่เรือไฟฟ้าจะสามารถเห็นสัตว์เหล่านี้หรือไม่ เพราะนอกจากจะต้องคอยสังเกตดีๆ แล้ว พวกมันอาจตกใจเสียงเครื่องยนต์จนบินหนีไปซะก่อน

“หลังจากที่เปลี่ยนจากเรือยนต์ดีเซลมาเป็นเรือไฟฟ้าคุณได้อะไรกลับมาบ้าง” เราถาม

“ดีมากๆ ครับ เสียงตอบรับจากภายในตัวเอง สิ่งที่มันเคยเป็นปัญหามาก่อนว่าเราชวนคนมาอนุรักษ์ ชวนคนมาชมคลองเพื่อที่จะรักษาคลองแต่ทุกครั้งที่เรือเราพ่นควันพิษออกไป ทิ้งน้ำเสียไป เรือเราเป็นส่วนหนึ่งของการทำลาย ยิ่งเรามีลูกค้าเยอะ เรากำลังทำลายสิ่งแวดล้อมที่เรากำลังทำการรักษาอยู่นะ มันก็ย้อนแย้งกับตัวเอง

“ดังนั้นพอเราเปลี่ยนสำเร็จ เราพร้อมจะก้าวไปข้างหน้า เรือของเราเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เราไม่เดินเรือเร็ว เราไม่สร้างคลื่นแรง เราไม่สร้างเสียงดัง ไม่ปล่อยมลพิษทั้งเสียง น้ำ อากาศ เรือของเราพยายามจะกระจายรายได้ช่วยเหลือชุมชน ให้เขารู้สึกเห็นคุณค่าของตัวเองมากขึ้น พาไปบ้านเก่า ให้คนที่เขาเป็นเจ้าของบ้านเก่าเห็นโอกาส สามารถพัฒนาได้ และมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่เขาอาจจะลืมไปแล้ว ลุกขึ้นมาเก็บรักษากัน”

‘คลื่นใหญ่ เสียงดัง ควันเหม็น’ สิ่งที่คนริมน้ำต้องเจอ

สิ่งหนึ่งที่มาพร้อมกับการพัฒนาคือการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เจ้าของกิจการหลายแห่งในคลองบางหลวงพยายามปรับตัวด้วยการรองรับนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น เช่นเดียวกับเรือโดยสารที่ขับเร็วและแรงเพื่อให้เพียงพอกับนักท่องเที่ยวที่เข้ามา กลายเป็น Pain Point สำหรับคนในคลองคือ ‘คลื่นใหญ่ เสียงดัง ควันเหม็น’ ระหว่างทางซันเล่าให้เราฟัง มีบ้านหลังหนึ่งที่ปกติมักเปิดบ้านรับลมเย็นๆ เข้ามา แต่เมื่อมีการแล่นเรือมากขึ้นจนฝุ่นควันเข้าบ้าน ทำให้ต้องปิดบ้านอยู่ตลอด ขณะเดียวกันคลื่นใหญ่ก็ยิ่งทำให้ตลิ่งพังเร็วขึ้น 

“ทุกวันนี้คลองพวกนี้เป็นที่นิยมสำหรับการท่องเที่ยวมากๆ เรือใหญ่ๆ เข้ามาเยอะ สร้างคลื่นแรง ถ้าจอดเรือไม้แบบนี้เรือพัง” ซันเล่า

เรือยังคงแล่นไปเรื่อยๆ ซันแนะนำสถานที่ทั้งสองข้างทางมีทั้งบ้านไม้ เรือนไทยโบราณ โรงเรียน และวัด นอกจากนี้ยังเห็นความรุ่งเรืองด้านการค้าขายเนื่องจากเป็นเมืองท่าตั้งแต่อดีต ทั้งการมีโรงสี ทำให้ผู้คนจากทั่วสารทิศมุ่งหน้ามาสู่ย่านนี้ จนเกิดการแลกเปลี่ยนสินค้า เกิดโรงเต้าเจี้ยว อู่ต่อเรือ และโรงเลื่อยไม้ตามมา

“ถามว่าชุมชนคลองบางหลวงแบบเดิมๆ เป็นอย่างไร เป็นชุมชนย่านการค้า ไม่ได้คิดเรื่องศิลปะอะไรเท่าไหร่หรอก ที่เกิดศิลปะเยอะแยะเกิดจากศิลปินที่มาจากคณะโจหลุยส์ ตอนนั้นสวนลุมไนท์บาซาร์เขาปิดกิจการ ทำให้คณะต่างๆ แยกย้ายไปหาที่ไปใหม่ คณะศิลปินกลุ่มหนึ่งก็มาลงหลักปักฐานที่นี่ จากย่านการค้าเก่าที่มีแต่คนแก่กำลังโรยรา มันก็ได้รับการชุบชีวิตใหม่ที่มาเติมเต็มด้วยงานศิลปะ”

ความรักในแม่น้ำสายนี้ก่อตัวขึ้นตั้งแต่เมื่อเขายังเป็นเด็ก วันที่เขาแอบผู้ใหญ่มาพายเรือจนถึงบ้านศิลปิน และได้เห็นวิถีชีวิตชุมชนริมน้ำที่เรียบง่ายกับตาตัวเอง ฉากที่ประทับใจมากที่สุดคือการเห็นผู้คนใช้เรือพายที่เคยคิดว่ายุคของเขาไม่มีอีกแล้ว หลังจากที่พายเรือกลับในตอนค่ำยังเห็นแสงระยิบระยับจากหิ่งห้อยริมคลองที่ยังคงตราตรึงใจเขาจนถึงทุกวันนี้ 

อีกหนึ่งแรงผลักดันที่ทำให้เขาอยากลุกขึ้นมาสร้างประโยชน์ให้กับคนรอบข้าง สังคม จนถึงธรรมชาติ ตั้งแต่สมัยเรียนจนถึงปัจจุบัน คือเหตุการณ์การสูญเสียพ่อและแม่จากอุบัติเหตุในคราวเดียวกัน ทำให้ซันเริ่มมองหาเป้าหมายใหม่ในชีวิตอีกครั้ง

“พ่อแม่ก็เลี้ยงดูเราอย่างดีประมาณหนึ่งเลย แต่ว่าทำให้เราเองไม่ได้สนใจมองโลกภายนอก จนวันหนึ่งพ่อแม่เสียไปอย่างกระทันหันอายุ 11 ขวบ เราก็เหมือนหมดเป้าหมายในชีวิต เราเติบโตมาพ่อแม่ก็จะบอกว่า โตมาเป็นคนดีของสังคม แนวคิดแบบนี้มันก็ถูกกรอกใส่หัวเรามาตลอด แล้วพอพ่อแม่เราไม่อยู่ปุ๊บ เราก็รู้สึกว่าหมดแล้วเป้าหมาย อยากตายเหมือนกัน มันก็เลยทำให้เราต้องมาทบทวนกับชีวิตว่า เอาไงดีเนี่ย ชีวิตจะตายดีไหม จนวันหนึ่งเราก็มีครูที่โรงเรียนมาชวนให้ไปทำงานบำเพ็ญประโยชน์ ประกาศหน้าเสาธง เขาต้องการคนเยอะ 20-30 คน แต่คนไม่ครบสักที เราก็นั่งฟังตากแดดไปเรื่อยๆ ในเมื่อเราไม่มีเป้าหมายในชีวิต งั้นอย่างน้อยวันนี้เราลุกขึ้นไปคนหนึ่ง เพื่อนๆ จะได้เข้าโรงเรียนได้เร็วขึ้น ไม่ต้องตากแดดต่อไปดีมั้ย ก็เลยลุกไปทำ ได้ช่วยงานโรงเรียน ยกของให้ครู โบกรถให้ผู้ปกครองที่มาประชุม งานง่ายๆ อย่างนี้แหละ เราทำไปแล้วก็เลยยิ่งรู้สึกดีกับตัวเอง

“เราเริ่มมองไกลกว่าตัวเราเอง มองไกลกว่าปัญหาข้างใน เราได้ไปช่วยคนอื่นแล้วมีรอยยิ้ม มีคำขอบคุณกลับมา ซึ่งจริงๆ เราก็ไม่ได้ต้องการคำขอบคุณ รอยยิ้ม หรือเม็ดเงินนะ แต่ไปๆ มาๆ เรารู้สึกว่าชีวิตเรามีความหมาย สิ่งนี้เป็นก้าวแรกที่เราเขยิบออกจากการมองแค่ตัวเราเอง แล้วเราก็ค่อยๆ ขยายขอบเขตการมองของเราไปเรื่อยๆ จากสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน ออกไปบริบทข้างนอก ทำไปทำมาเนี่ยขอบเขตมันไปไกลมากเกินกว่าแค่มนุษย์ เราเห็นปัญหาของโลกใบนี้มันเกิดอะไรขึ้น แล้วมันกำลังจะพาให้โลกบิดเบี้ยว สิ่งมีชีวิตต่างๆ สูญพันธุ์ไปไม่รู้กี่ชนิดแล้วเพราะน้ำมือมนุษย์ เราก็เลยรู้สึกว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องใหญ่”

ความประทับใจวิถีชีวิตริมคลองตั้งแต่เด็กและความมุ่งมั่นอยากทำให้ชุมชนดีขึ้น จึงเป็นหนึ่งเหตุผลที่เขาตั้งใจศึกษาและดัดแปลงเป็นเรือไฟฟ้าที่แล่นด้วยความเงียบ ไม่สร้างคลื่นแรง ไม่ปล่อยควันพิษและเสียงรบกวน แต่แม้จะมีข้อดี แต่น่าเสียดายที่ยังจูงใจให้คนหันมาใช้เรือไฟฟ้าไม่ได้เพราะยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้ ทุกวันนี้การทำให้คนหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมจึงทำได้เพียงแค่ระดับเชิญชวนเท่านั้น

“กฎหมายบ้านเมืองมันยังไม่มีอะไรมาซัพพอร์ตเราเลยสักอย่าง เราอยากทำทัวร์ช้ามีคุณภาพ ถามว่าทุกวันนี้เราต้องทำยังไง เราก็ต้องเลี่ยงคลองเส้นทางหลัก ตอนกลางวันเราวิ่งไม่ได้ เพราะเรือมันเยอะมาก จะมาวิ่งช้าๆ เล่าเรื่องบ้านนู่นบ้านนี้ ทำไม่ได้ เรือเข้ามา ซัดคลื่น ซัดควัน น้ำกระเซ็นใส่แขกเรา นี่คือสิ่งที่มันไม่เอื้อเรา”

“เรื่องนี้สำหรับเมืองไทยมันอยู่แค่ระดับจิตสำนึก ถ้าเมืองอื่นมันมีกฎหมายมาควบคุม คุณทำผิดกฎ คุณโดนนะ เมืองไทยถามว่ามีกฎไหม มี แต่เป็นกฎซูเปอร์หย่อนยาน เรามีช่องทางในการละเว้นได้ ดุลยพินิจเจ้าหน้าที่บ้างละ กฎหมายล้าหลังบ้างละ ทำให้การทำลายสิ่งแวดล้อมมันทำได้อย่างเอิกเกริก พยายามมาเน้นว่าคุณต้องมีจิตสำนึกสิ ถึงจะเปลี่ยนแปลง 

“การทำงานรณรงค์ที่ผ่านมา สิ่งที่เราต้องทำและทำได้ดีที่สุดคือต้องไปชักชวนคนที่เขามีใจอยู่แล้ว ไปช่วยสนับสนุนซัพพอร์ตให้เขามีความมั่นใจมากขึ้นแล้วมาช่วยคนอื่นต่อ มันยากมากที่เราจะไปชวนคนที่ไม่เห็นด้วยมาทำ มันก็ทำให้ไปโฟกัสที่กลุ่มคนที่อยากอนุรักษ์ เขาสามารถที่จะจับตัวเป็นกลุ่ม เครือข่าย แบบนี้สำคัญ เพราะจำนวนคนที่สนใจเรื่องนี้มันก็มีอยู่พอสมควรนะ แต่มันกระจัดกระจาย”

ต่อสู้กับความผิดหวังเพื่ออนาคตที่อยากเห็น

“ต่อสู้กับความผิดหวัง” คือสิ่งที่ยากที่สุดที่ซันบอกเราในฐานะคนขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อม

“คิดถึงเวลาคนขายประกัน พูดไปร้อยหนึ่งอาจจะได้สัก 1 เขาจะเจอการปฏิเสธเละเทะอยู่ตลอดเวลา ไล่เฉดหัวส่ง เราทำงานแบบนี้ก็คล้ายๆ กัน เราต้องมีอุดมการณ์ที่แน่วแน่ ตัวตนเราต้องชัดแล้วก็มั่นคง ไม่งั้นเราก็จะเจอแรงเสียดทานต่างๆ แล้วสุดท้ายอาจจะทำให้เราเป๋ หรือถ้าไม่ทำให้เราเป๋ก็ทำให้เราหงุดหงิดมาก 

“เราต้องเผชิญกับความคิดหวังหลายร้อยหลายพันครั้ง ทำยังไงให้เรายังเดินหน้าทำงานต่อไปได้ ทำให้เรายังสามารถที่จะดูเป็นแรงบันดาลใจของคนอื่นได้ เรื่องพวกนี้ต้องทำงานภายในจิตใจเยอะนะ เราจะทำจิตใจให้มันเบิกบาน นึกออกไหม นักรณรงค์มานั่งหน้าเครียด ใครจะอยากทำตามใช่ไหม ก็ต้องทำให้มันมีเสน่ห์ให้คนรู้สึกว่า เฮ้ย เจ๋งว่ะ เฮ้ย มันมีวิธีนี้ อยากทำบ้าง มันต้องสร้างบรรยากาศอย่างนี้ให้ได้ ดังนั้นการทำงานแบบจิตใจข้างในเนี่ยเราต้องต้องต่อสู้กับความผิดหวังที่เราจะเผชิญอยู่เรื่อยๆ แหละ”

ด้านการจัดทัวร์เขาก็ยังต้องชักชวนทั้งผู้ประกอบการในพื้นที่และลูกทัวร์ให้หันมาลองใช้วิถีชีวิตแบบไร้พลาสติกใน 1 วันให้ได้ ตามคำบอกเล่าของคนรักของซันว่าเขากำลังทำงานรณรงค์อยู่ เพียงแต่สอดแทรกเข้ามาในทัวร์ของเขาเอง เช่น การชักชวนให้คนในชุมชนเปิดบ้านรับนักท่องเที่ยว หรือแม้แต่การชวนร้านค้าต่างๆ ให้หันมาใช้ภาชนะที่สามารถใช้ซ้ำได้

ขณะเดียวกันซันก็ตั้งใจแก้ปัญหาการทิ้งขยะลงแม่น้ำด้วยการเก็บข้อมูลของบ้านที่ทิ้งขยะอย่างละเอียด ด้วยเหตุผลที่ว่า “มันสำคัญกว่าเพราะนี่คือต้นตอของปัญหาขยะในคลอง”

“งานเก็บขยะเราเคยทำทุ่นดักขยะ เคยทำ AI สำหรับกล้องวงจรปิดให้ตรวจจับและนับจำนวนขยะ แยกประเภททั้งหมด เพื่อที่จะ Mapping มาว่าชุมชนไหนสร้างขยะเยอะ ทำตัวชี้วัดให้เห็นสภาพความเป็นจริง ณ ปัจจุบัน และเป้าอนาคต การสามารถตรวจวัดได้มันถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ถ้าไปรณรงค์ติดป้ายเชิญชวนตามสะพานลอย ‘ช่วยกันรักษาแม่น้ำลำคลองเป็นเหมือนหน้าบ้านของท่าน’ เขียนอย่างนี้มันใช้วัดอะไรไม่ได้ แต่ว่าถ้าเกิดเราสร้างตัวชี้วัดขึ้นมามันนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน”

ซันบอกว่าวิธีที่เปลี่ยนใจให้คนเลิกทิ้งได้จริงคือ กิจกรรม ‘ชวนคิดส์ ไม่ทิ้งคลอง’ ขบวนเดินรณรงค์ควบคู่ไปกับการเก็บขยะในคลอง ด้วยการเดินเคาะประตูคุยกับบ้านที่ทิ้งขยะตามข้อมูลที่ซันเก็บมาได้ เริ่มต้นจากการให้เด็กนักเรียนชักชวนผู้ใหญ่มาสัญญาว่าจะไม่ทิ้งขยะลงคลอง เมื่อชาวบ้านเห็นเด็กๆ ก็เกิดความเอ็นดูและให้คำมั่นสัญญา ต่อด้วยนักศึกษากฎหมายมาประชาสัมพันธ์กฎหมายและบทลงโทษการทิ้งขยะลงแม่น้ำ ก่อนปิดท้ายด้วยเทศกิจเข้าไปกระซิบบอกเจ้าของบ้านว่ามีคลิปจากพลเมืองดีถ่ายมาว่าบ้านหลังนี้ทิ้งขยะ เป้าหมายคืออยากเตือนบ้านที่ทิ้งขยะให้เกิดความตระหนัก และรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับเด็กๆ ผลลัพธ์คือบ้านทั้ง 10 หลังเลิกทิ้งขยะจริงๆ

ระหว่างทางเรามักเห็นซันทักทายคนที่ผ่านไปผ่านมา ไม่ใช่แค่คนที่อยู่อาศัยในละแวกเดียวกันเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงคนทำงานและเจ้าหน้าที่รักษาความสะอาดในคลองด้วย แน่นอนว่าการทำงานขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องง่ายและมีแต่ด้านที่สวยงาม แต่สิ่งที่ซันเรียนรู้คือการปรับวิธีการและมองความร่วมมือจากคนอื่นๆ 

“การเข้าปะทะโดยตรง เรามีบทเรียนมาแล้วว่าทำไปไม่เวิร์ก สุดท้ายกลายเป็นเรากับเขามองหน้ากันไม่ติดเปล่าๆ ต้องหาวิธีการเข้าหาอีกรูปแบบหนึ่งที่เขาจะพึงใจมากกว่า อย่างบ้านเมื่อกี้” ซันเล่าถึงบ้านหลังหนึ่งที่ทิ้งขยะลงแม่น้ำขณะที่เราขับเรือผ่าน “ถ้าเรามาถึงโวยวาย สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือคงจะทะเลาะกัน แต่พอเราไปด้วยท่าทีเป็นมิตร เขาก็จะขอโทษ อย่างน้อยที่สุดเขารู้ว่าสิ่งที่เขาทำมันไม่ดีทำงานกับใจเขา พวกนี้เราต้องเหมือนบำเพ็ญตบะ เวลาเกิดเหตุตรงหน้ามันจี๊ดง่ายเลย”

สุดท้ายแม้งานรณรงค์จะเป็นเรื่องยากในการทำงานร่วมกับผู้คนให้เห็นภาพร่วมกัน แต่ซันก็ยังคงทำสิ่งที่เชื่อต่อไปให้เข้าไปสู่วิถีชีวิตของผู้คน และหวังว่าจะมีใครได้รับแรงบันดาลใจและเกิดการส่งต่อพลังต่อไป ไม่ใช่เพียงแค่การเปลี่ยนแปลงในวันนี้ แต่หมายถึงโลกที่ลูกเขาจะใช้ชีวิตในอนาคต

“ตอนนี้เรากำลังทำเรือหางยาวไฟฟ้า ตั้งใจว่าจะหาช่องทางให้มันใช้ได้จริง ในราคาที่ไม่สูงมาก ให้คนที่มีความพร้อมสามารถเข้ามาทดลองได้ ถ้าเกิดเป็นนักประดิษฐ์แบบอื่นเขาก็อาจจะมองว่า เฮ้ย เขาอุตส่าห์ดั้นด้นมา ทำเสร็จแล้วมันต้องขายกำไรสิ แต่เราคงไม่ได้ทำแบบนั้น เราพยายามที่จะคิดถึงคนอื่นว่าถ้าเขาจะเปลี่ยน ก็ให้มันอยู่ในระดับที่เขาเอื้อมถึง และเราก็ต้องอยู่ได้เหมือนกัน ตอนนี้ทำเสร็จมา 2 เครื่องแล้วนะมีแผนจะทำอีก 3 เครื่องในเร็วๆ นี้ แล้วก็ให้คนอื่นยืมฟรีและยืมไปทดลองใช้ แล้วก็มีเรือข้ามฟากที่คนเข้ามาปรึกษาเราก็ยินดีช่วย”

ก่อนจากกัน เราถามซันในฐานะพ่อว่าเขาอยากส่งต่อสังคมแบบไหนให้กับลูกสาววัย 4 ขวบที่ต้องใช้ชีวิตบนโลกนี้ต่อไป

“เราคอนโทรลสังคมไม่ได้หรอก เราก็เคยคิดนะ ตอนเป็นวัยรุ่นห้าวๆ เราก็คิดว่าเราต้องใช้ชีวิตเปลี่ยนสังคม แต่ความเป็นจริงมันก็คงเป็นอย่างนี้แหละ เราก็ทำเท่าที่วงจำกัดที่เราทำได้ เราก็พยายามทำของเราให้ดี เตรียมทัศนคติ เตรียมทักษะชีวิตให้เขาพร้อมที่จะปรับตัวเข้ากันสังคมในภายภาคหน้าที่มันจะเกิดขึ้น เราก็คงไม่ได้คาดหวังว่าจะเป็นไข่ในหินที่จะตามไปคุ้มครองได้ตลอดเวลา อนาคตข้างหน้ามันก็จะมีสิ่งที่เขาต้องเผชิญแล้วเขาก็ต้องตัดสินใจ แล้วเขาก็ต้องได้เลือกเอง ที่เราทำได้คือเตรียมความพร้อมให้เขา” 


ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ

AUTHOR