เล่าเรื่อง 3 พื้นที่ในตลาดน้อยกับ ‘กลุ่มปั้นเมือง’ ที่อยากดีไซน์เมืองให้คนอยู่ทน มากกว่าทนอยู่

ตึกแถวย่านตลาดน้อย ถ้าแวะมาตอนสายๆ จะเจอแก๊งคุณลุงแฮงเอาต์กัน

คุณคิดว่า ‘ตลาดน้อย’ เป็นย่านแบบไหน?

ถ้าเสิร์ชคำว่า ตลาดน้อย ใน Google Maps เราจะเห็นว่า มันเป็นย่านเมืองเก่าเล็กๆ ที่อยู่ติดกับเยาวราช–ย่านไชน่าทาวน์ที่ทุกคนต้องไปกินสตรีทฟู้ดตอนกลางคืน และเจริญกรุง–เส้นตึกเก่าที่กำลังพัฒนาเป็นย่านสร้างสรรค์ เดินถัดไปอีกสักนิดจะเจอกับสยาม ย่านที่รายล้อมไปด้วยตึกสูงมากมาย แถมยังเดินทางสะดวกด้วยรถไฟฟ้าเชื่อมต่อได้ทุกที่ หากมองภาพรวมของพื้นที่ตลาดน้อย มันก็เปรียบเหมือนพื้นที่ทำเลไข่แดง ที่อยู่ท่ามกลางแหล่งสำคัญ ระหว่างย่านเมืองเก่าและย่านเมืองใหม่ ซึ่งมีน้อยแห่งจะมีโลเคชันตั้งอยู่ท่ามกลางความแตกต่างทั้งสองแห่งนี้

ในมุมมองของคนชอบเที่ยวที่เคยไปเยี่ยมเยือนตลาดน้อย บ้างก็บอกว่า เป็นย่านวัฒนธรรมเก่าแก่เต็มไปด้วยสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ต่างๆ เช่น วัดแม่พระลูกประคำ โบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในย่านจีน หรือศาลเจ้าโจวซือกง-ศาลเจ้าเก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาอายุกว่า 200 ปีที่ยังคงอยู่ บางคนอาจบอกว่าเป็นย่านท่องเที่ยวชุมชน เพราะมีคนในท้องถิ่นอาศัยอยู่ ประกอบด้วยอาคารสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์แบบไทย–จีน หรือย่านสตรีทอาร์ตน่าถ่ายรูปเล่นตามตรอกซอกซอยของอาคาร

แต่ในมุมของ ‘โจ-จุฤทธิ์ กังวานภูมิ’ คนที่อยู่อาศัยในย่านตลาดน้อยตั้งแต่เด็ก จนทุกวันนี้เป็นนักวิชาชีพด้านสถาปนิกชุมชน และก่อตั้ง ‘กลุ่มปั้นเมือง’ ฟื้นฟูและพัฒนาเมืองตลาดน้อยบอกกับเราว่า ตลาดน้อยสำหรับเขาคือ…

“เหมือนย่านที่อยู่อาศัยอยู่ต่างจังหวัด มันมีอนุมูลความชิลลอยอยู่ในอากาศ ตื่นขึ้นมาจะได้ยินเสียงนกร้อง ตอนเย็นๆ จะเจอเสียงเรือวิ่ง และถ้าตอนกลางคืนอาจได้ยินเสียงแมวกัดกัน (หัวเราะ) ถ้าเปรียบเป็นคนคือ คนนั่งชิลๆ อยู่หน้าบ้าน สามารถใส่ชุดนอนเดินเล่นได้ คุยกับเพื่อนเสียงดังได้เต็มที่ ดูภายนอกอาจจะเหมือนคนโมโหหรือเปล่า จริงๆ ไม่มีอะไรหรอก แค่คุยกันชิลๆ” 

ทุกคำตอบและภาพจำของทุกคนไม่มีถูกไม่มีผิด ทุกคนต่างมีความรู้สึกต่อย่านตลาดน้อยแตกต่างกันออกไป แต่เชื่อว่าสิ่งที่หลายคนคิดเหมือนกันคือ อยากให้พื้นที่แห่งนี้ยังคงเก็บความเป็นตลาดน้อยต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งคำว่า ‘ความเป็นตลาดน้อย’ แน่นอนว่า กว่าจะเป็นพื้นที่ที่ทุกคนได้เข้ามาทำความรู้จัก ต้องผ่านเบื้องหลังการทำงานและออกแบบมากมายกว่าจะมาถึงทุกวันนี้

ปัญหาเมืองแบบ ‘ทนอยู่’ มากกว่า ‘อยู่ทน’

คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่า การออกแบบเมืองคือ ต้องทำอย่างไรให้ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะๆ แต่ความเป็นจริงแล้ว การออกแบบต้องคิดถึงคนที่ใช้พื้นที่นั้นเป็นหลัก เพราะพวกเขาเป็นคนใช้งาน 24 ชั่วโมง ซึ่งโจก็เป็นหนึ่งคนที่อยู่อาศัยในตลาดน้อยตั้งแต่เด็ก เห็นถึงความต้องการ ปัญหา และการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่นี้มาโดยตลอด

ในสมัยโจเด็กๆ ย่านตลาดน้อยเคยมีพื้นที่สาธารณะที่คนเข้ามาทำกิจกรรมสังคมร่วมกันมากมาย จนวันหนึ่งพื้นที่เหล่านั้นค่อยๆ เลือนหายไปจากการพัฒนาสิ่งรอบข้างตามกาลเวลา รวมแม้กระทั่งความสัมพันธ์ของชุมชนก็ห่างหายตามไปด้วย สังเกตจากจำนวนประชากรและอาคารที่ถูกปล่อยทิ้งร้างเพิ่มมากกว่าเคย

เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ครอบครัวของโจเองก็เคยมีความคิดอยากจะขายบ้านในตลาดน้อยแล้วย้ายไปอยู่ที่อื่นเช่นเดียวกัน ตอนนั้นโจตอบพ่อกับแม่ว่า ไม่อยากให้ขาย และตั้งคำถามว่าทำไมต้องย้ายไปพื้นที่ห่างไกล ในเมื่อพื้นที่ตลาดน้อยเป็นทำเลที่มีความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต แต่ขาดเรื่องสภาพแวดล้อมที่ต้องฟื้นฟูให้น่าอยู่มากขึ้น บวกกับเขาเองเรียนจบปริญญาโทเกี่ยวกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม จึงมีความคิดอยากฟื้นฟูบ้านของตัวเองในย่านให้ดีขึ้นกว่าเดิม

ภาพรูทการเชื่อมต่อพื้นที่สำคัญย่านตลาดน้อย จากหนังสือไชน่าทาวน์ย่านน่าเดิน จัดทำโดยกลุ่มปั้นเมือง

“เดิมทีเราสนใจเรื่องการฟื้นฟูเมืองและพื้นที่ย่านตลาดน้อย เพราะเราเป็นคนที่นี่ เราก็อยากมีสภาพแวดล้อมที่ดี อยากทำอะไรสักอย่างที่มีคุณค่ากับตัวเราเอง เช่น เราใช้ชีวิต ทำงาน และนอนอย่างสบายใจ ตื่นมาพบกับวันใหม่ ก้าวเท้าออกจากบ้านแล้วรู้สึกดี”

 “เพราะฉะนั้นการที่เราจะมีสภาพแวดล้อมที่ดี ก็เหมือนกับคนที่จัดห้องนอนให้ตัวเองหลับอย่างมีความสุข กวาดหน้าบ้านตัวเองให้สะอาด มันคือการสร้างสภาพแวดล้อมในที่ๆ ควบคุมได้ ดังนั้นการออกแบบย่านก็คล้ายๆ กัน เพื่อที่ว่าเราจะได้ไม่หงุดหงิดตอนออกจากบ้าน ‘เฮ้ย เจอปัญหานี้อีกแล้วเหรอ เห็นแล้วรำคาญลูกตาจัง’ ไปทุกวัน”

“ปัญหาของพื้นที่ตลาดน้อย มันเป็นพื้นที่ที่คนใช้งานอยู่เต็มศักยภาพ ไม่มีจังหวะได้หยุดเคลียร์ตัวเองเลย อย่างการฟื้นฟูหรือปรับปรุงให้ดีขึ้น เช่น คุณภาพของชีวิต ถนน ทางเท้า ไฟฟ้า พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ หรือเกิดพื้นที่เปลี่ยวไม่มีความปลอดภัย รวมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมตามมา พวกนี้ก็เลยเป็นปมที่เกาะอยู่กับย่านมาตลอด”

“สิ่งที่กล่าวมามันเป็นเหมือนข้อเสียที่คนอาจไม่ได้ใส่ใจ คนในพื้นที่ก็ไม่รู้ว่า อยู่ทน หรือ ทนอยู่ ในการใช้ชีวิตกันแน่ เพราะยังจำเป็นต้องใช้พื้นที่นี้ ก็เลยยังต้องทนอยู่จนรู้สึกคุ้นชินและมีความรู้สึกอยู่ก็ได้ มันไม่ได้แย่หรอก แต่ถ้ามองในคนอีกรุ่นหนึ่ง เขาก็อาจจะตั้งคำถามว่า ทำไมเราต้องทนอยู่กับอะไรแบบนี้ด้วย”

สตรีทอาร์ตบนฝาผนัง ได้แรงบันใจจากวิถีชีวิตและวัฒนธรรมจีนสมัยก่อน

การฟื้นฟูตลาดน้อย ไม่ใช่ ‘สถานที่’ แต่คือ ‘ผู้คน’

แค่ฟังประเด็นและปัญหาของพื้นที่สุดท้าทาย ก็ชวนตั้งคำถามต่อว่า แล้วการออกแบบย่านตลาดน้อยต้องเริ่มอย่างไรให้คนอยากอยู่ต่อ

เขาตอบว่ามีเป้าหมายมี 3 อย่างคือ 1) อยากให้คนรุ่นใหม่อยากอยู่อาศัยต่อ 2) อยากให้พื้นที่มีคนเข้ามาคึกคักมากขึ้น และ 3) วัฒนธรรมของพื้นที่ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อมา ซึ่งทั้งหมดนี้องค์ประกอบเรื่อง ‘คน’ สำคัญที่สุดในการออกแบบย่านตลาดน้อย เพราะเป็นสิ่งสร้างเสน่ห์ของพื้นที่ให้เกิดขึ้น

“คนส่วนมากมักจะมองว่า การออกแบบเมืองคือการดีไซน์อาคาร ซึ่งก็เป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่ความเป็นตลาดน้อย ด้วยบรรยากาศและการใช้ชีวิต มันคือ ‘คน’ ที่ช่วยขับเคลื่อนให้เมืองมีสภาพแวดล้อมที่มีเอกลักษณ์ หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ‘สถานที่’ อย่างตึก อาคาร บ้านช่อง มันเป็นเหมือนที่สิงสถิตของจิตวิญญาณ (Spirit) ซึ่งก็คือคน เพราะคนมีสกิลหรือความรู้อยู่อาศัยในชุมชน แล้วพอเขาย้ายออกไป อาคารมันก็จะเหมือนภาชนะเปล่าๆ ที่สวยงาม แต่ว่าเสน่ห์ที่อยู่ข้างในมันหายไป”

“ดังนั้นอาคารจะเปลี่ยนอย่างไรก็แล้วแต่ แต่คนมีจิตวิญญาณของความเป็นเจ้าของในพื้นที่ ผมคิดว่า เรื่องอาคารมันคือกรอบนอก ยังไม่ใช่แก่นสาระสำคัญเท่าไหร่ แต่ปัจจุบันมีอาคารเปล่ามากขึ้น ก็เป็นสัญญาณอันตรายมากที่กำลังบอกว่า ย่านนี้กำลังสูญเสียตัวตน หรือว่าอาจจะมีคนสนใจอยากเข้ามาอยู่ในพื้นที่ แต่ก็ต้องใช้เวลาในการปรับตัวหรือมีจิตสำนึกร่วมในการอยากเป็นเจ้าของพื้นที่จริงๆ ซึ่งต้องใช้เวลาสะสมเชื่อมต่อกับผู้คนยาวนาน”

“เพราะฉะนั้นงานของเราต้องให้เวลาคนผูกพันกับพื้นที่ สร้างสภาพแวดล้อมที่สร้างการเชื่อมต่อหรือมีกิจกรรมที่ให้พวกเขาเข้ามาทำอะไรร่วมกัน เขาก็อาจจะใส่ใจคนในพื้นที่มากขึ้น ซึ่งต้องออกแบบสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชน สอบถามความคิดเห็นว่า พวกเขาต้องการอะไร”

“เมื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับชุมชน ก็พบคำตอบว่า พื้นที่ตลาดน้อยมีสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรม ที่นี่เป็นชุมชนติดน้ำ เวลาทำกิจกรรมทุกคนจะชอบใช้พื้นที่ส่วนกลางจากท่าน้ำ เพราะมันเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งตอนเด็กๆ ผมสามารถเตะฟุตบอลได้ทุกที่เลย (หัวเราะ) แต่พอถึงจุดหนึ่งมันก็หายไปไม่รู้ตัว เพราะด้วยความเจ้าของพื้นที่เปลี่ยนรุ่นมา 20 ปี การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ริมน้ำก็ถูกบล็อกไม่รู้ตัว และมีพื้นที่สาธารณะน้อยลง จึงเป็นโจทย์ของปัญหาชุมชนร่วมกัน นั่นคือ พวกเราขาดพื้นที่สาธารณะ”

ศาลเจ้าโรงเกือก ตอนเช้าคนมาสักการะ ตอนเย็นเด็กๆ วิ่งไล่จับ

สร้างพื้นที่สาธารณะใหม่ จากสิ่งที่มีอยู่เดิม

1. ศาลเจ้าโรงเกือก พื้นที่ริมน้ำแห่งแรก

เมื่อสรุปได้ว่าย่านตลาดน้อยขาดพื้นที่สังคมในการพบปะกัน พวกเขาจึงมองหาพื้นที่ในย่านที่มีอยู่และพัฒนาตามบริบทที่ควรจะเป็น โดยโจยกตัวอย่างโปรเจกต์ให้เราฟัง 3 แห่ง แรกเริ่มคือ ‘ศาลเจ้าโรงเกือก’ ผลงานที่ชุมชนเรียกร้องอยากให้ทำพื้นที่สาธารณะริมน้ำแห่งแรก

ก่อนที่จะเลือกว่าเป็นสถานที่ไหน เราไปทำการศึกษาเรื่องคุณค่าของอาคารในพื้นที่ แล้วพบว่าพื้นที่บริเวณริมน้ำมีความหนาแน่นของมรดกทางวัฒนธรรมค่อนข้างเยอะ เป็นจุดที่เคยเป็นท่าเรือ แหล่งงานของคนในสมัยก่อน รวมถึงเป็นศูนย์รวมความเชื่อของคน แถวนั้นก็มีศาลเจ้าโรงเกือก ศาลเจ้าโจวซือกง โบสถ์กาลหว่าร์ อะไรแรกๆ มักจะเกิดขึ้นบริเวณริมน้ำถ้าดูในแผนที่เก่า มากไปกว่านั้นยังมีถนนที่เชื่อมต่อกันเป็นรูทอยู่ด้วยเช่นกัน”

“สาเหตุที่เลือกศาลเจ้าโรงเกือก เพราะเป็นศาลเจ้าจีนแคระที่เรียกได้ว่าเก่าที่สุดในฝั่งพระนคร ถ้ามองในพื้นที่ตลาดน้อยทั้งหมด นี่เป็นอาคารที่มีความดั้งเดิมที่สุด แต่มีการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด เราว่าน่าอนุรักษ์ รวมถึงทางสมาคมและชุมชนก็สนใจอนุรักษ์และปรับปรุงด้วย ก็เลยมีการปรับปรุงพื้นที่รอบๆ ศาลเจ้าโรงเกือกให้เชื่อมต่อกับพื้นที่สาธารณะของกรมท่าเรือ และพื้นที่ริมน้ำตรงเขื่อนรอบๆ ศาลเจ้าโรงเกือกให้คนมานั่งพักผ่อนได้”

ถนนสตรีทอาร์ตในซอยโรงเกือก ใครเดินผ่านต้องถ่ายรูป

2. ซอยโรงเกือก สตรีทอาร์ตแก้แหล่งซ่องสุม

เดินออกจากศาลเจ้าโรงเกือกไปสักนิดจะเจอกับ ‘ซอยโรงเกือก’ เป็นโปรเจกต์สตรีทอาร์ตที่ทำเร็วที่สุดในบรรดาโครงการอื่น เพราะไม่ได้เข้าไปเปลี่ยนแปลงชุมชนมากมาย แต่แก้ปัญหาทัศนียภาพให้น่ามอง เพราะเมื่อก่อนเส้นโรงเกือกนี้ คนนอกไม่กล้าเดินเพราะน่ากลัวและมีแต่กองขยะเกลื่อนกลาด

“เดิมทีซอยโรงเกือกเป็นพื้นที่ยาวๆ รอบข้างเป็นหน้าอาคารที่ไม่มีช่องเปิด ไม่มีหน้าต่าง ไม่มีประตู และไม่มีบ้านคน เหมือนกับเราเดินผ่านกำแพงสูงยาว 30 เมตร ซึ่งคนก็จะรู้สึกว่าไม่น่าเดินแล้ว แต่ถ้ามันมีช่องเปิดหน้าต่างเข้ามาบ้าง ก็จะสร้างปฏิสัมพันธ์ให้กับคนเดินมากกว่า”

“ด้วยความที่เป็นกำแพงยาวทั้งสองข้างและไม่มีหน้าบ้านคน มันเลยไม่มีเจ้าภาพมาดูแล บางทีก็มีขยะเอาไปกองเอาไว้ แมวหมามาขี้หรือคนมาพ่นกำแพงคำเสียๆ หายๆ ตอนนั้นสภาพซอยนี้เสื่อมโทรม ดูอับชื้น และมืดเปลี่ยว เป็นเส้นที่คนไม่อยากเดินผ่าน”

“แต่ถ้าเราดูเรื่องคุณค่ามรดกวัฒนธรรมของพื้นที่ เราจะเห็นว่ามันเป็นเส้นเชื่อมต่อสถานที่ประวัติศาสตร์สำคัญ ทุกคนต้องเดินผ่านเส้นนี้ บวกกับสมัยนั้นเทรนด์การถ่ายรูปพอร์เทรต ไปเที่ยวสถานที่ต่างๆ กำลังมาแรง ในกระทู้ Pantip จำได้ว่า คนชอบทำคอนเทนต์พาแฟนมาเที่ยวที่ต่างๆ และที่นี่ก็เป็นย่านที่มีมุมวินเทจเก๋ๆ ซุกซ่อนอยู่อย่างไม่ได้ตั้งใจ เลยคิดว่าน่าจะทำเป็นสตรีทอาร์ตได้นะ”

“ช่วงแรกๆ เราก็เริ่มเพนต์เอง วาดอะไรที่สื่อถึงประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ตอนแรกชาวบ้านก็นึกไม่ออก เราก็ลองวาดต้นแบบทำไปให้ หลังจากนั้นก็เริ่มมีงานเทศกาลต่างๆ มีชุมชนมาดำเนินการเอง เราก็เลือกศิลปินมาวาดให้เกี่ยวข้องกับพื้นที่ จากนั้นก็พัฒนามาเรื่อยๆ ตอนนี้มี 7 โรงเรียนรอบๆ ย่านให้เด็กมาวาด มีสปอนเซอร์เข้ามาสมทบทุนมากขึ้น ถนนเส้นนี้ก็คึกคักขึ้น”

พิพิธตลาดน้อยในท่าน้ำภาณุรังษี
ท่าน้ำภานุรังษีตอนจัดกิจกรรมตะลักเกี้ยะ
(ที่มา: ตะลักเกี้ยะ Friendly Market)

3. ท่าน้ำภานุรังษี พื้นที่สาธารณะของชุมชน

โปรเจกต์สุดท้าย โจพาเราไปเที่ยวที่ ‘ท่าน้ำภานุรังษี’ เป็นพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาของย่านตลาดน้อย เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่สีเขียวสาธารณะหลักไว้ทำกิจกรรมของชุมชน เพราะแต่ก่อนจัดงานในซอยมีรถวิ่งไปมาไม่ค่อยสะดวกสบายมากนัก

“เมื่อก่อนตรงนี้ยังมีพื้นที่ที่คนเข้าถึงริมน้ำได้อยู่ พอพื้นที่นี้เลิกกิจการและปิดไป ก็กลายเป็นพื้นที่ร้าง ไม่มีใครเข้าถึงริมแม่น้ำเลย ซึ่งตรงนี้เป็นพื้นที่เช่าของกรมธนารักษ์ เมื่อปิดกิจการและประกาศเปิดขาย เราก็คิดว่ามันน่าจะเอาไปทำประโยชน์ในเชิงสาธารณะได้ไหม เลยลองยื่นข้อเสนอทำพื้นที่สาธารณะริมน้ำ และขอเจรจาคนเช่าพื้นที่จนแบ่งมาได้ครึ่งหนึ่ง เพื่อมาทำเป็นพื้นที่ส่วนกลางของชุมชน จะเห็นว่า พื้นที่นี้มีคนใช้งานตลอด คนมาออกกำลังกาย เด็กมาวิ่งเล่นกัน หรือคนมานั่งพักผ่อน”

ตลอดการเดินเที่ยวตลาดน้อย โจเล่าเบื้องหลังการทำงานร่วมกับชุมชนให้ฟังมากมาย แต่ละโครงการใช้เวลายาวนานก็จริง แต่ก็ทำให้ทุกคนรู้สึกเห็นความสำคัญของพื้นที่ที่ตัวเองอยู่มากยิ่งขึ้นและช่วยกันดูแลรักษาไปด้วยกัน 

เราชวนถามต่อว่า ในมุมคนออกแบบย่าน ในอนาคตอยากให้ตลาดน้อยเติบโตไปในทิศทางไหน

โจเล่าให้ฟังว่า เวลาคนมองถึงการออกแบบมักคิดว่า ต้องมีสิ่งใหม่ๆ เข้ามาในพื้นที่ให้ทันสมัยก็จบแล้ว ความเป็นจริงการออกแบบเมืองต้องใช้เวลาออกแบบไปเรื่อยๆ เพราะมีหลายปัจจัยทั้งผู้คน อาคารและสถานที่ รวมถึงแต่ละพื้นที่ต่างก็มีข้อจำกัดไม่เหมือนกัน ดังนั้นการออกแบบก็จะแตกต่างกันไปด้วย

“การออกแบบพื้นที่สาธาณะ มันเหมือนกับการออกแบบเสื้อผ้าแบบ Tailor-made เราต้องสั่งตัดและออกแบบให้พอดีกับผู้ใช้งาน ผ่านการศึกษา สังเกตการใช้พฤติกรรมในพื้นที่เหล่านี้ อะไรคือปัญหา และเป้าหมายร่วมกัน แล้วออกแบบให้พอดีกับพวกเขา”

“หากถามว่าระยะยาวมันจะไปทางไหน มันก็มาถูกทางของมันแล้วล่ะ ที่เกิดขึ้นตอนนี้ไม่มีอะไรผิดหรอก ก็เป็นไปตามเงื่อนไขสังคม เราแค่ออกแบบสภาพแวดล้อมให้คนมาแล้วก็อยากอยู่พื้นที่นี้ต่อ แล้วเห็นคุณค่าของพื้นที่มากยิ่งขึ้น ไม่คิดที่จะขายออกไป ผมว่ามันก็มาถูกทางแล้วล่ะ” โจกล่าวทิ้งท้าย

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชัชชัญญา หาญอุดมลาภ

ช่างภาพสายกิน ที่ถ่ายรูปได้นิดหน่อย แต่กินได้เยอะมาก