จิบชาดอกไม้เคล้าเสียงกลองยาวโบราณ ที่ ‘สีชา Craft and Tea’ คาเฟ่ลับในคลองบางหลวง

หากร้านลับในความคิดของคุณหมายถึง ร้านที่ตั้งอยู่ห่างไกลผู้คนสักหน่อย การเดินทางอาจดูซับซ้อน และที่สำคัญยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก 

ถ้าใช่ ‘สีชา Craft and Tea’ คงสามารถติ๊กถูก ผ่านเกณฑ์ร้านลับได้ทุกข้อ

ร้านนี้เกิดจากความชอบและตัวตนของ กุ๊ก-ชุติมา กัณหานนท์ และ จร-ขจรศักดิ์ ศิลารักษ์ สองคู่รักสายอาร์ตที่อยากสร้างคาเฟ่ที่ให้บรรยากาศเหมือนได้นั่งอยู่บ้านเพื่อน นั่งจิบชาเพลินๆ พร้อมชวนทุกคนมาสร้างงานศิลปะแบบใกล้ชิดธรรมชาติริมคลองบางหลวง 

บางวันเราถ้าโชคดีพออาจได้ยินเสียงกลองยาวที่ชาวคณะกลองยาวไผ่ทองคำ ศิลปะการแสดงที่สืบทอดมาจากกรมศิลป์ซึ่งตั้งอยู่ในละแวกเดียวกันมาฝึกซ้อมกันในวันเสาร์-อาทิตย์ จนลืมไปชั่วขณะว่าเรากำลังอยู่ในกรุงเทพฯ 

ในวันที่แดดจ้ากำลังดี a day ชวนทุกคนไปลัดเลาะริมคลอง เดินเข้าตรอกเล็กๆ เพื่อไปเจอกับคาเฟ่ลับที่ซ่อนตัวอยู่เงียบๆ ในชุมชนที่กำลังรอทุกคนไปค้นพบ

แต่งแต้มร้านด้วยงานศิลปะ 

ร้านสีชา Craft and Tea แม้วิธีเดินทางอาจดูซับซ้อน แต่ไม่ได้เข้าถึงยากอย่างที่คิด เพราะมีทางตัดผ่านให้เดินได้สบายๆ สามารถเดินทางได้ทั้งทางน้ำและทางบก ถ้ายึดความสะดวกเป็นหลักสามารถเดินจาก MRT สถานีบางไผ่ แล้วข้ามสะพานข้ามคลองบางหลวง ก่อนเลี้ยวซ้ายเข้าซอยดงกล้วย จากนั้นเดินต่ออีกหน่อยจะเจอบ้านหลังน้อยรั้วสีฟ้า ที่มีป้ายร้าน ‘สีชา’ บ่งบอกว่าเรามาถึงที่หมายแล้ว 

ไม่นานกุ๊กและจรเจ้าของร้านก็ต้อนรับเราด้วยเวลคัมดริงก์ ชามินต์สีฟ้าสดใสทั้งแบบร้อนและเย็นชื่นใจให้เรานั่งพักคลายร้อนจากการเดินทาง พร้อม ‘หมีพูห์’ กับ ‘กระเป๋า’ เจ้าพูเดิลน้อย 2 ตัวที่กระโดดไปมาคอยต้อนรับเราอย่างน่ารัก

ร้านนี้เกิดจากอดีตคนเคยทำงานสายอาร์ต ลูกหลานชาวริมคลองที่ผันตัวมาเปิดร้านคาเฟ่ของตัวเองอย่าง กุ๊ก ซึ่งเคยเป็นอดีตคอสตูมดีไซเนอร์ให้กับ ภัทราวดี มีชูธน ศิลปินแห่งชาติ รวมทั้งทีมทำหนังสั้นของ อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร กับค่ายกันตนา และ จร กราฟิกดีไซเนอร์ผู้หลงใหลในการถ่ายภาพและวาดรูป

ร้านสีชา มาจากการผสมคำว่า ‘สี’ ซึ่งมาจากการที่ทั้งคู่เป็นคนเรียนศิลปะ บวกกับ ‘ชา’ เครื่องดื่มที่พวกเขาชื่นชอบ จนถึงขนาดไปร่ำเรียนวิธีเบลนด์ชา จนได้ชาดอกไม้และชาผลไม้เป็นซิกเนเจอร์ของร้าน

พวกเขาช่วยกันรีโนเวตบ้านหลังนี้และตกแต่งเองทั้งหมด ในร้านเราจะเห็นงานศิลปะทั้งภาพวาดลายเส้น โปสการ์ด งานถัก และงานฝีมืออื่นๆ ตกแต่งอยู่ทั่วทั้งร้าน ภายในตัวบ้านที่มีผนังสีเหลืองสดใส รวมทั้งมุมโปรดทั้งในตัวบ้านและนอกบ้าน

กุ๊กเล่าว่าเดิมทีเคยเปิดคาเฟ่ในชื่อร้านเดียวกันที่จังหวัดอุทัยธานี ก่อนย้ายกลับมาที่คลองบางหลวงเพื่อดูแลแม่ที่แก่ชราลงทุกวัน ทั้งคู่เลือกบ้านของลุงกับป้าที่เพิ่งเสียไปมาเป็นทำเป็นคาเฟ่ ด้วยความตั้งใจว่าอยากทำให้บ้านนี้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

“ร้านนี้เป็นบ้านของลุงกับป้า เขามีความรักและความผูกพันกันมานานแล้ว วันหนึ่งป้าเสียไป ลุงที่เป็นอัลไซเมอร์คิดว่าป้าไม่เสีย คิดว่าหนีไป สุดท้ายลุงก็ตรอมใจ จนเสียไปเข้าเดือนที่สองแล้ว เราเลยอยากทำให้บ้านมีความรักเหมือนเดิม”

ทั้งคู่ตั้งใจให้ร้านนี้เป็นคาเฟ่สไตล์โฮมมี่ บรรยากาศเหมือนห้องรับแขกต้อนรับเพื่อนฝูง เหมาะกับการอ่านหนังสือ วาดรูป หรือนั่งทำงาน

“มีลูกค้านั่งตั้งแต่บ่ายโมงถึงสี่โมงครึ่ง คือน้องทำงานเพลินลืมเวลาไปเลย แล้วยิ่งบางคนได้ยินเสียงกลองยาว เขาบอกว่าเหมือนหลุดไปอีกโลก เขาไม่เคยเห็นแบบนี้ คาเฟ่ส่วนใหญ่มีแอร์ แต่เราดึงความเป็นบ้าน ความเป็นท้องถิ่น รวมทั้งสีร้านเราก็ทำให้มันใกล้เคียงข้างนอกให้กลายเป็นจุดเด่นของร้านเรา”

“เราอยากให้เป็นคาเฟ่ที่ไม่เหมือนคาเฟ่ทั่วไป ไม่ได้เพอร์เฟกต์ แต่ต้องเป็นคนต้องการธรรมชาติ รักความสงบ เพราะร้านเราจะไม่พลุกพล่าน”

ศิลปะบำบัดใจ 

นอกจากชาดอกไม้และผลไม้ที่เจ้าของร้านเบลนด์เองแล้ว ในร้านยังมีไอศกรีมโฮมเมด เบเกอรีที่หมุนเปลี่ยนไปทุกวัน และอาหารจานหลักที่ทำจานต่อจาน กับเมนูน่าลอง เช่น พิซซ่าแป้งโรตี และผัดกะเพราเบคอน ร้านตั้งใจดึงรสชาติจากวัตถุดิบออกมาโดยไม่ใส่ผงชูรส

“เราอยากให้เขาเสพบรรยากาศ ฝรั่งที่เป็นเชฟอยู่ต่างประเทศ เขามาแล้วก็ชื่นชอบมากเลย เกาหลีก็มา ร้านเราไม่ใส่น้ำตาล เวลาปรุงอาหารก็ไม่ใส่ผงชูรส ความอร่อยมันอยู่ที่เรามิกซ์กับวัตถุดิบ”

“ไม่ว่าจะเป็นจากอาหารหรือเครื่องดื่ม บางคนถามว่าไปเรียนที่ไหนมา เราก็บอกไม่ได้เรียนหรอก ก็เรียนศิลปะนี่แหละ เอาสิ่งที่เป็นตัวเรามาใส่ในนี้ ไม่ว่าเราจะชิมอะไรก็เป็นสิ่งที่เราชอบ เพราะฉะนั้นอาจจะไม่ค่อยเหมือนที่อื่น ศึกษาจากพี่ๆ หรือเพื่อนที่เป็นเชฟบ้างนิดหน่อย แต่ทุกอย่างเอาความเป็นตัวตนของเราใส่เข้ามาในร้านนี้ทั้งหมด”

ไหนๆ ก็มาคาเฟ่ของศิลปินทั้งที กิจกรรมที่เราไม่อยากให้พลาดคืองานศิลปะหลากหลายกิจกรรมที่ร้านตั้งใจจัดไว้ให้ผู้มาเยือน

“กิจกรรมในร้านเยอะมากเลย มีตั้งแต่ชริงก์พลาสติก มีเพนต์แคนวาส เพนต์กระเป๋าผ้า ปั๊มไม้ ชิโบริ เดคูพาจ ร้อยสร้อย ร้อยกำไล ทำหนัง โปสการ์ด จิปาถะ เยอะมาก เวลาคุณมาที่นี่คุณต้องใช้เวลาทั้งวันเพื่อซึมซับบรรยากาศ”

 “ที่นี่มันคือศิลปะบำบัด บางคนสมาธิสั้นมาก็มาอยู่ตรงนี้ เขารับได้แค่นี้ก็ต้องปล่อยเขา บางทีพ่อแม่ผู้ปกครองไม่รู้ก็เลยต้องบอกเขา บางคนบอกว่าทำไมลูกวาดรูปไม่มีหัวเลย เขาเป็นแนวแอ็บสแตร็ก เป็นอาร์ตอีกแขนงหนึ่ง งานศิลป์ไม่ได้บอกว่าภาพเหมือน แต่ให้เราสามารถพลิกแพลง ไม่มีถูกไม่มีผิด เราสามารถลองได้ทุกอย่าง” 

ฟังเสียงกลองยาวโบราณจากคณะไผ่ทองคำ

ระหว่างที่นั่งอยู่ในร้านบางทีเราอาจได้ยินเสียงกลองยาว ดัง ปุบๆ ปับๆ อยู่ไม่ไกล เป็นเสียงฝึกซ้อมการแสดงของคณะไผ่ทองคำ คณะกลองยาวที่สืบทอดศิลปะการแสดงจากกรมศิลป์เกือบ 60 ปี ซึ่งเคยชนะเลิศการประกวดกลองยาวทั่วประเทศ โดยมี อี๊ด-ชัยวัฒน์ นิลานุช เป็นหัวหน้าคณะ และ ตี๋-สรวิชญ์ นาคผ่อง รองหัวหน้าคณะ ซึ่งเป็นญาติกับ กุ๊ก เจ้าของคาเฟ่สีชาที่อยู่ในละแวกเดียวกันนี่เอง

“น้ามีคณะกลองยาว เราคิดว่ามันสมควรอนุรักษ์ไว้ เลยขายเป็นแพ็กเกจคู่ ถ้ามาร้านสีชาแล้วอาจจะได้ดูโชว์ เพราะว่าเขามีการละเล่นเยอะและเป็นของกรมศิลป์ แล้วพอดีรู้จักกับซัน (ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์ เจ้าของทัวร์เรือไฟฟ้า) ก็ช่วยกันเต็มที่ ตรงนี้มันมีอะไรมากกว่าว่าเป็นชุมชน”

จุดเด่นของคณะกลองยาวนี้คือการนำภาษาเพลงปี่พาทย์ ทั้งลาว จีน มอญ มาดัดแปลงให้มีกลองยาวเป็นเครื่องดนตรีประกอบ โดยเสียงดนตรีที่ได้จะเป็นเสียงกลองยาวแท้ๆ แบบดั้งเดิม หาฟังได้ยาก เนื่องจากคณะไผ่ทองคำต้องการอนุรักษ์เสียงนี้ไว้ให้คนรุ่นหลัง

“ไปคาเฟ่ที่ไหนมีกลองยาวบ้าง แล้วเยาวชนที่เข้ามาสืบสานต่อเริ่มน้อยลง เราคุยกับน้าว่าถ้าให้เล่นโชว์ หรือมี Tip Box ดีไหม น้าก็แสดงเจตนารมณ์ว่าเรายังอนุรักษ์ความเป็นไทย สีชาก็ยังมีความเป็นไทยอยู่ เอื้อกับชุมชนอยู่

เป็นเวลา 4 เดือนแล้วนับตั้งแต่ร้านเปิด แม้ว่าภารกิจหลักคือการประคับประคองคาเฟ่ที่เพิ่งเปิดให้อยู่รอด ในขณะเดียวกันทั้งกุ๊กและจรก็อยากให้ทั้งร้านและชุมชนเติบโตไปพร้อมกัน

“ความยากของการทำคาเฟ่ในชุมชนคือการเข้าถึง อย่างร้านเราเข้ามาลึก ไม่มีใครกล้าเข้า ผู้หญิงก็กลัวความปลอดภัย แต่จริงๆ เข้ามาแล้วมันไม่มีอะไร 

“สิ่งที่กังวลคืออยากให้มีคนรู้จักเราหน่อย เพราะฉะนั้นเรายังช่วยคนอื่นไม่ได้ แต่ ณ ตอนนี้หลังจากเปิดได้ 4 เดือน ยอดกดไลก์เพิ่มขึ้น ก็ดีใจ คลองบางหลวงเริ่มมีนักท่องเที่ยวมากขึ้น แม้แต่เด็กวัยรุ่นรู้จักบ้านศิลปิน รู้จักสีชา จะมีบางกลุ่มชอบนั่งเรือล่องก็มี ดูสถาปัตยกรรม แต่ก่อนไม่มีใครรู้จัก ตอนนี้มีวัยรุ่น TikTok ทำให้คนอื่นๆ รู้จักคลองบางหลวงมากขึ้น”

เจ้าของร้านเล่าถึงแพลนในอนาคตว่าร้านสีชาจะมีการจัดกิจกรรมศิลปะ เชิญพี่ศิลปินมาร่วมแสดงงานกับชุมชน แล้วก็หาน้องๆ ที่สนใจศิลปะเข้ามาล่องเรือและวาดภาพธรรมชาติของสองฝั่งคลองบางหลวง 

“เราอยากให้ชุมชนมันมีอะไรมากกว่าการอยู่อาศัยธรรมดา มันมีของดีของมันอยู่” กุ๊กทิ้งท้าย

ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ


ร้านสีชา Craft and Tea
เปิด ศุกร์-อาทิตย์ 10.00-18.30 น.
สถานที่: https://goo.gl/maps/RHHDj2c28UWRTAFC8
MRT บางไผ่ ทางออก 4 เดินตรงมา 400 เมตร ข้ามสะพานข้ามคลองบางหลวง แล้วเข้าซอยดงกล้วยซ้ายมือ

AUTHOR