ยกทะเลมาไว้ที่อารีย์ ‘Summer Summer’ ร้านซีฟู้ดที่มาแล้วต้องกินหอย หมึก กุ้งจนหมด

Highlights

  • Summer Summer คือร้านอาหารย่านอารีย์ที่สะกดตาเราตั้งแต่แรกเห็น ด้วยชานบ้านให้นั่งพัก รับลม จิบเครื่องดื่มให้หายเหนื่อยจากการงาน และปลาหมึกย่างเรียงแถวสมเป็นร้านที่มีต้นกำเนิดมาจาก Summer Street ฟู้ดทรักที่เคยตั้งรับลูกค้าอยู่ที่อารีย์ซอย 2
  • ระหว่างที่นั่งลงแกะเปลือกกุ้ง กินปูดอง ซดแกงเหลืองรสปักษ์ใต้แท้ๆ ชวนฟังเรื่องราวจากสามเจ้าของร้านก่อน
  • พักจนหายเหนื่อยแล้วค่อยกลับบ้านนะ

ในคืนหนึ่งที่กายหยาบยังต้องกลับไปทำงาน แต่ใจโลดแล่นอยากกระโดดเข้าเตียงอันอบอุ่น กระโจนเข้าสู่โลกแห่งความฝัน 

แสงไฟสีเหลืองที่กระจายทั่วร้านอาหารแห่งหนึ่งในย่านอารีย์ ตัดกับสีฟ้ายามค่ำคืนและซอยที่มืดมิด ฉาบความอบอุ่นเข้ามาทาบทับทั่วจิตใจของเรา

กลิ่นอายของความเป็นญี่ปุ่น แผงปลาหมึกย่างที่ต่อแถวเรียงกันเป็นม่านบริเวณเคาน์เตอร์ปิ้งย่าง ชานหน้าร้านให้นั่งพักพิง จิบเครื่องดื่ม รับลมร้อน และเสียงเชื้อเชิญจากพนักงานสาว 

ในตอนนั้นเรานึกหวังอยากให้ตัวเองเป็นตัวละครในเรื่อง ร้านอาหารเที่ยงคืน ในเน็ตฟลิกซ์ จะได้ไม่ต้องสนใจเดดไลน์ใดๆ แล้วผลักประตูร้านเข้าไปเอนกายให้อาหารปลอบประโลมจิตใจ

ในคืนนั้น เราทำได้เพียงจดจำชื่อร้านจากป้ายที่ตั้งไว้ริมถนนด้วยฟอนต์ลายมือสวยว่า ‘Summer Summer’

พลางคิดว่าถ้าหนีเดดไลน์ได้เมื่อไหร่ จะกลับมาเยือนให้จงได้

หลังปักหมุดไว้พักใหญ่ เราจึงได้ฤกษ์กลับมาที่นี่เสียที พร้อมได้ ออย ก้าบ และวี เจ้าของร้านมานั่งร่วมโต๊ะด้วย 

ระหว่างรอหอยนางรมจากสุราษฎร์ธานี กุ้งที่คัดมาเฉพาะตัวผู้เพราะจะได้มีมันเยิ้มๆ บนหัว หอยแครงสดจากบ่อ ปลาหมึกไม่ลอกหนัง แกงเหลืองจากปักษ์ใต้ ยำไหลบัว ไปจนถึงแกงเหลืองปลากะพง ซี่โครงหมูอบ และที่พลาดไม่ได้คือเจ้าปลาหมึกย่างตัวแบนก็ได้มาเสิร์ฟ

ขอใช้เวลานี้นั่งลงฟังเรื่องราวจากปากของสามเจ้าของร้านไปพลางๆ 

ที่ Summer Summer เราจะใช้ดีไซน์นำทุกอย่าง

ย้อนกลับไปกว่าเจ็ดปีที่ผ่านมา เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นได้จากการที่ออยและก้าบเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกันสมัยเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยรังสิต หลังจากนั้นเมื่อก้าบตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโท เขาจึงได้มารู้จักและเป็นเพื่อนกับวีซึ่งเป็นแฟนของออยต่ออีกทอด ระหว่างที่ทั้งสามดำเนินชีวิตเกี่ยวข้องกับแวดวงดีไซน์ไปเรื่อยๆ คนหนึ่งทำกราฟิก คนหนึ่งทำเว็บไซต์ ส่วนอีกคนทำเกี่ยวกับอินทีเรีย วันหนึ่งวีกับออยก็ติดต่อก้าบมาว่าสนใจอยากทำธุรกิจด้วยกันหรือเปล่า 

ธุรกิจที่ว่าไม่ใช่ร้านนี้ที่เรานั่งอยู่ หากแต่เป็น Summer Street ฟู้ดทรักที่เกิดขึ้นในยุคบุกเบิก จุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดร้านนี้ในปัจจุบัน

พื้นที่ของ Summer Street อยู่ริมถนน ตรงอารีย์ซอย 2 เป็นพื้นที่ที่ออยชอบมานาน พยายามไปอุดหนุนซื้อส้มตำจากเจ้าของพื้นที่เก่าอยู่เรื่อยๆ หวังว่าถ้าเขาเซ้งไปจะได้ที่ตรงนั้นต่อ 

ถึงจะอยากได้ที่ตรงนั้นมาก แต่เธอกลับบอกว่าไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะเอาพื้นที่นั้นมาทำเป็นอะไร ไม่เคยมีความคิดอยากจะทำธุรกิจร้านอาหารมาก่อนด้วยซ้ำ แค่ชอบที่ตรงนั้น เหมือนเห็นภาพว่าถ้าที่โทรมๆ ตรงนั้น มีร้านน่ารักๆ ขึ้นมา เอาฟู้ดทรักเก๋ๆ ไปตั้ง ขายเครื่องดื่ม ขายเบียร์ก็น่าจะออกมาดูดี และคนที่สามารถทำงานดีไซน์แบบนั้นได้ตรงใจก็ไม่มีใครแล้วนอกจากก้าบ

ร้าน summer summer

“งานเลยเข้ามาถึงเรา” ก้าบรับคำต่อ พร้อมเสียงหัวเราะ “ตอนที่ออยกับพี่วีเรียกมาดูยังกล้าๆ กลัวๆ อยู่เลยว่าจะออกมาเป็นยังไง แต่เพราะภาพในหัวออยชัดมาก พวกเราเลยตัดสินใจเริ่มทำโดยใช้ดีไซน์นำ เหมือนเป็นธุรกิจที่คิดถึงแต่ดีไซน์ล้วนๆ เลยเอาดีไซน์นำอย่างเดียว”

“ใช่” ออยพยักหน้าหงึกหงัก “เราไม่ได้มองภาพว่าเราจะขายอะไร เรามองความสวยงามก่อน ได้ภาพร้านมาก่อนถึงค่อยมาคุยกันว่าเราจะขายอาหารอะไรดี ไอเดียที่ว่า ‘งั้นเราเอาสิ่งที่ทั้งสามคนชอบกิน’ ‘ขายอาหารทะเลตามพื้นเพบ้านเกิดของเรา’ จึงเริ่มต้นตอนนั้น ยิ่งเมื่อบวกรวมกับที่เคยไปกินอิซากายะแล้วสงสัยว่าทำไมเขาถึงไม่มีซีฟู้ดขาย เลยคิดคอนเซปต์ขึ้นได้ว่างั้นลองเอาวัตถุดิบของไทยมาบิดเป็นปิ้งย่างแบบอิซากายะดูดีกว่า”

ร้าน summer summer

จากปกติที่อาหารทะเลจะขายเป็นกิโลฯ ที่ Summer Street เลยตั้งเตาอั้งโล่ให้คนปิ้งกินเองแบบพอร์ชั่นน้อยๆ พอดีกิน กินอย่างละนิดแต่หลายอย่างแทน โดยที่เซตอาหารทะเลที่จัดขึ้นโต๊ะให้ก็ผ่านการคิดด้านดีไซน์มาแล้วด้วยการจับคู่สีของวัตถุดิบภายในจาน ดูว่าสีของหอยแมลงภู่จะเข้ากับสีของหอยหวานหรือเปล่า ไหนจะสีของปลาหมึกกับสีของกุ้งนั่นอีก

เท่านั้นไม่พอ การขายซีฟู้ดในร้านฟู้ดทรักก็เป็นการคิดแบบงานดีไซน์ “เป็นการเล่นกับความรู้สึกของการมองเห็น เราชอบทำอะไรที่มันคอนทราสต์กัน คิดว่าทำไมต้องทำอย่างนี้ ทำไมต้องบิดอย่างนั้น เหมือนอยากลองเล่นกับช็อกคัลเจอร์ อยากให้คนรู้สึกว่าเฮ้ย ทำไมซีฟู้ดมันมาอยู่ตรงนี้ได้ ทำไมถึงไม่ใช่เบอร์เกอร์ หรืออะไรที่กินเร็วๆ อย่างที่เขาคิด” ก้าบอธิบายให้เห็นภาพชัด 

ไม่ใช่แค่กับที่ร้านเก่า แต่ตัดกลับมาที่ร้านใหม่ที่เรานั่งอยู่ แม้จะเปลี่ยนมาเป็นร้านในอาคารแต่พวกเขาก็ยังไม่ทิ้งงานดีไซน์ไป 

“คอนเซปต์ของร้านใหม่เป็นเหมือนแคมป์คนงานที่ภายนอกอาจไม่ได้ดูสวยงาม วิธีการกิน วิธีการอยู่ของเขาเรียบง่าย ก็เหมือนกับอาหารของพวกเราที่เข้าถึงง่าย” ออยว่าพร้อมรอยยิ้ม โดยมีก้าบช่วยเติมความเห็น 

“มันเริ่มจากว่าเราไม่อยากให้คนมาร้านแล้วนั่งเกร็ง เราอยากให้เขารีแลกซ์ นั่งกินสบายๆ แหกขา ยกเท้ายังไงก็ได้ ไม่ได้อยากให้เข้ามาแล้วต้องนั่งนิ่งๆ ฟังดนตรีไปเรื่อยๆ แบบนั้น เราเลยพยายามเซตตั้งแต่ด้านหน้าร้านเข้ามาเลย ทำให้ยังมีความเป็นเอาต์ดอร์เหมือนร้านเดิมอยู่บ้าง ให้ลูกค้าสามารถสูบบุหรี่ นั่งคุยกันเสียงดังๆ หรือได้เอนจอยกับอากาศข้างนอกอยู่” 

ร้าน summer summer

“เราไม่อยากให้เขาต้องแต่งตัวประดิดประดอยมา แต่เป็นอะไรที่ลงมาจากคอนโดก็สามารถนั่งกินได้เหมือนเดิม ลากแตะมาก็ได้ ไม่ต้องขัดเขิน พยายามหาคอนเซปต์พวกนี้มาครอบว่าพอเราเข้าตึกแล้วเราจะไปทางไหนต่อ แต่พวกฟังก์ชั่นของโต๊ะ วิธีการนั่งเป็นหลืบเป็นช่อง พอร์ชั่นของอาหารเราก็ยังคงล้อไปกับอิซากายะอยู่ดี” 

หลังฟังออยพูดจบ วีเลยแทรกขึ้นบ้างว่า “ด้วยสถานที่ บรรยากาศก็เปลี่ยนไปเยอะ อย่างที่เดิม มุมที่ลูกค้าชอบมาถ่ายรูปที่สุดคือมุมท็อป เห็นเตา เห็นเซตติ้งที่เป็นตะกร้าอาหารทะเลสดๆ แต่พอย้ายมาที่นี่เตาแบบเดิมก็ไม่เอื้อแล้ว เราเลยเปลี่ยนเป็นย่างให้เลย แล้วจัดเข้าเซต ใส่จานสแตนเลสให้เข้ากับสถานที่ เข้ากับคอนเซปต์แคมป์คนงานแทน”

“เราพยายามจะคงความเฟรนด์ลี่ ความเฮฮาให้ได้เหมือนเดิม เป็นร้านใหม่ที่ยังมีกลิ่นของร้านเดิมอยู่ แต่อย่างที่บอกว่าพอมันไม่ใช่สตรีทแล้ว เรื่องอาหารการปรุงก็ต้องโตขึ้น เหมือนมาลงสนามอาหารอย่างเต็มที่ เพิ่มเมนูอาหารมาเยอะขึ้น มีคอนเซปต์ของอีสานเข้ามาเพิ่ม” ก้าบบอก ก่อนจะเล่าต่อไปถึงเรื่องราวหลังครัวบ้าง

เราจะซื่อสัตย์ต่ออาหาร 

หน้าที่ลงพื้นที่หาวัตถุดิบเป็นของก้าบ ลูกทะเลจังหวัดสมุทรสาคร เขาบอกให้ฟังว่าก่อนทำร้านก็พอมีความรู้เกี่ยวกับวัตถุดิบมาบ้างแล้วด้วยความที่อยู่กับทะเลมา แต่พอโดดมาเป็นพ่อค้า ทุกอย่างกลับไม่ง่ายอย่างที่คิด เพิ่งได้รู้ว่าวัตถุดิบที่เขาขายกัน มีตั้งแต่ระดับ a-z

“ตอนแรกๆ ต้องไปคัดกุ้งด้วยตัวเองกับคนงานพม่าเลยด้วยซ้ำ ถึงเริ่มรู้ว่ากุ้งแต่ละประเภทเป็นยังไง อย่างกุ้งตามร้านหมูกระทะ เขาเรียกกันว่า กุ้งหัวแก้ว เป็นกุ้งตัวเมีย จะไม่มีมัน เพราะว่าเอาทรัพยากรไปที่ไข่หมดแล้ว ของร้านเราเลยพยายามจะใช้กุ้งตัวผู้เพื่อที่จะให้มีมันตรงหัว หรือกุ้งโก๋ที่ตอนแรกเราก็งงว่าคืออะไร ถึงได้รู้ว่ามันคือกุ้งที่สู้เพื่อนตัวอื่นไม่ได้ ต้องไปอยู่กลางบ่อ ตัวจะเล็กๆ หัวโตๆ อยู่ในดินเลยตัวดำ เขาจะเอากุ้งพวกนั้นไปฟอกขาวให้มันสวยขึ้น พอกินเข้าไป คนก็บอก เฮ้ย เราแพ้กุ้งว่ะ จริงๆ แล้วเปล่านะ แพ้สารฟอกขาว

“เราหา คุย ลง กิน ชิม ซื้อ ลงลึกกับวัตถุดิบแต่ละตัวถึงได้รู้อะไรอย่างนี้ และเอาจริงๆ เราสามคนชอบกินซีฟู้ดแบบไม่ต้องปรุงแต่งเยอะ จิ้มน้ำจิ้มซีฟู้ดก็จบเลย เพราะพวกวัตถุดิบมันมีรสชาติของมันอยู่แล้ว ยิ่งเราย่างเตาถ่านมันก็เอื้อเรื่องกลิ่นอยู่แล้ว การหาวัตถุดิบที่กินแล้วโอเคเลยสำคัญมาก เราต้องรู้ว่าวัตถุดิบแบบไหนเหมาะกับวิธีทำอาหารยังไง กินดิบๆ กินแบบย่าง หรือกินกึ่งสุกกึ่งดิบ”

“มันค่อยๆ เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับการเปิดร้าน เรียนรู้ไปพร้อมฤดูกาล เดือนนี้เคยอยู่ราคานี้ ไม่กี่เดือนขึ้นมาอีกเท่าตัวก็มี บางช่วงฝนตก หน้าพายุ ก็ไม่มีวัตถุดิบอีก ช่วงปีแรกต้องใช้เวลาปรับตัวกันเยอะเหมือนกัน” วีเสริม ออยที่นั่งอยู่ข้างกันเลยเล่าเรื่องที่ยังจำฝังใจให้เราฟังต่อ

ร้าน summer summer

“ตอนขายอาหารวันแรกที่ร้านเก่า ลูกค้าบอกเราว่าไม่เคยกินน้ำจิ้มที่ไม่อร่อยขนาดนี้มาก่อนเลยในชีวิต เราเดินไปหลังร้านแล้วน้ำตาซึม งงว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะเรากินรสนี้มาทั้งชีวิตเหมือนกัน

“จากนั้นมาเราเลยพยายามแก้ไขโดยการทำโฟกัสกรุ๊ป ถามคอมเมนต์จากลูกค้าโดยไม่เอาอีโก้เข้าไปใส่ ถามทุกโต๊ะว่าชอบรสชาติแบบนี้ไหม อาหารเป็นยังไงบ้าง แล้วเอาคอมเมนต์พวกนั้นมาปรับ หาค่ากลางว่าแบบไหนที่ลูกค้าชอบและเรายังชอบอยู่”

“พอเป็นเรื่องอาหารเหมือนเป็นอีกสนามเลย ถ้าเจอคอมเมนต์ด้านดีไซน์เราไม่กลัวหรอก ซัดกลับได้ว่าทำไมถึงออกแบบมาอย่างนี้ แต่พอมาเป็นคอมเมนต์เรื่องรสชาติอาหาร เราจะมาบอกว่ากินไม่ได้ก็ไม่ต้องกินสิ ฉันกินแบบนี้ ฉันอร่อยแล้ว มันไม่ได้นะ เพราะเราจะทำขายเขา” ก้าบเสริมความเห็น 

“หลังๆ มันเปลี่ยนเป็นความเข้าใจมากกว่า จากที่ตอนแรกเราพยายามคาดหวังให้คนชอบเรา ตอนนี้ก็เข้าใจแล้วว่าไม่สามารถทำให้ทุกคนชอบได้จริงๆ หรอก มาสี่คน ชอบอาหารเราสักสามคนก็ดีใจแล้ว” 

ร้าน summer summer

เราจะเป็นที่สบายๆ ให้คนย่านอารีย์ พักพิงหลังเลิกงาน

ครอบครัว ร้านอาหารสบายๆ สถานที่แฮงเอาต์หลังเลิกงาน คือนิยามที่เจ้าของร้านทั้งสามคนมีต่อร้านนี้

ก้าบและออยบอกกับเราว่าเป็นเพราะความดื้อด้านที่ตัวเองมี ที่แม้ว่าต่อให้เจอปัญหาตั้งมากมาย ขาดทุนไปก็เยอะ แต่พวกเขาก็ยังเลือกจะทำต่อจนมาเปิดร้านตรงนี้ได้ในที่สุด

ส่วนวีมองว่าเหตุผลสำคัญที่ทำให้ร้านยังอยู่ คือการที่มีลูกค้าผู้น่ารักคอยมาอุดหนุนพวกเขาอยู่เสมอ จากที่เคยเป็นคนแปลกหน้า ไม่รู้จักกันมาก่อน พวกเขาเหล่านั้นมาที่ร้านเป็นประจำจนสนิทสนมกันในที่สุด ถึงกระทั่งว่าวันที่ร้านที่อารีย์ซอย 2 ต้องย้ายไปที่อื่น พวกเขาก็ยังมาเลี้ยงส่งท้ายกันด้วยความเฮฮา หรือกระทั่งวันที่ร้านกลับมาเปิดที่อารีย์อีกครั้ง พวกเขาก็ยังคงกลับมากิน สิ่งเหล่านี้คืออะไรที่วีไม่สามารถทิ้งไปได้

ร้าน summer summer

“เราเปิดมายาวนาน จนกลายเป็นว่าร้านของเราไปอยู่ในไทม์ไลน์ชีวิตของเขาแล้ว ลูกค้าบางคนเราเจอตั้งแต่เขาเรียนอยู่ มีแฟน เลิกกับแฟน มีแฟนคนใหม่ แต่งงาน มีลูก เรากลายเป็นร้านอย่างนั้นไปแล้ว เจอกันจนจำหน้ากันได้” ก้าบทิ้งท้าย ก่อนจะพูดประโยคที่ทำให้ทุกคนหัวเราะ 

“ร้านครบสิบปีเมื่อไหร่เขาคงเรียกเราว่าเฮีย” 


Summer Summer

address: 117/1 พหลโยธิน ซอย 7 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400

hours: เปิดวันจันทร์-เสาร์ (หยุดทุกวันอาทิตย์) แบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา
ช่วงแรก มื้อกลางวัน 11:00-14:00 น.
ช่วงที่สอง มื้อเย็น 16:00-22:00 น. 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย