‘จันท์เจ้า’ ร้านเก๋ที่รวมเมนูเด็ดจากจันทบุรี และสารพัดของดีภาคตะวันออกมาให้ชาวกรุง

บ่ายวันเสาร์ของสัปดาห์หนึ่ง เราตั้งใจออกเดินทางไปจิบกาแฟรสดีแถวเอกมัย ซอย 2 แต่เมื่อสาวเท้าไปถึงที่หมาย คนจันทบุรีในเมืองกรุงอย่างเรากลับถูกมนตร์สะกดจากอาคารไม้สีเขียว ติดป้ายว่า ‘CHANCHAO’ หรือจันท์เจ้า ร้านอาหารและมาร์เก็ตรวมของดีภาคตะวันออกที่ตั้งเด่นเป็นสง่ากลางกรุง จันท์เจ้า

ทันทีที่อ่านชื่อร้านและลองชิมน้ำมะปี๊ดโซดา ไอศครีมมะปี๊ดน้ำผึ้ง และน้ำสละปั่นที่ร้าน คนจันท์โดยกำเนิดอย่างเราจึงมั่นใจว่าเจ้าของร้านจะต้องเป็นคนจันทบุรีแน่ๆ แล้วก็จริงตามนั้น จันท์เจ้า

เราจึงไม่รอช้า ติดต่อไปยังสามเพื่อนซี้ผู้ก่อตั้ง อย่าง สี่รัก–สี่รัก คุณประภากร, ทิพย์–สุนิสา อรรถการวงศ์ และ บุส–บุสรา มหาผลเจริญ เพื่อพูดคุยถึงที่มาที่ไป ว่าทำไมร้านอาหารและของดีภาคตะวันออกอันแสนเก๋นี้จึงมาตั้งอยู่ ณ เอกมัย ซอย 2 และนอกจากขายอาหารจันทบุรี ทำไมจันท์เจ้าต้องรวบรวมของดีภาคตะวันออกมาให้คนกรุงเลือกสรรด้วย

ไม่ต้องพูดให้มากความ ขอเชิญสูดกลิ่นทะเลและวัฒนธรรมการกินของภาคตะวันออกในร้านจันท์เจ้า ณ บัดนี้ จันท์เจ้า

สามทหารเสือที่ผูกพันกับจันทบุรีตั้งแต่เด็ก

หลังผลักประตูเข้าไปในร้าน จัดแจงข้าวของ และดื่มน้ำมะปี๊ดพอชื่นใจ สี่รักผู้ซึ่งเป็นคนจันทบุรีแต่กำเนิดจึงย้อนให้ฟังถึงมิตรภาพครั้งวัยเยาว์ของทั้งสาม อันนำมาสู่การสร้างร้านจันท์เจ้าแห่งนี้

“เราสามคนเรียนโรงเรียนเดียวกันตั้งแต่อนุบาล บ้านที่กรุงเทพฯ ก็อยู่ใกล้ๆ กัน เดินกลับบ้านด้วยกันตลอด วันธรรมดาหลังเลิกเรียนและวันเสาร์-อาทิตย์เราก็จะต้องไปนั่งเล่นหรือนอนพักที่บ้านใครคนใดคนหนึ่งเสมอ”

ขณะที่หลายๆ คนอาจมองว่าจันทบุรีเป็นเมืองทางผ่านที่ดูไม่มีอะไรให้เที่ยว หรือบางคนก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเมืองจันท์นั้นมีทั้งน้ำตก ภูเขา และทะเล แต่สำหรับทิพย์กับบุส จันทบุรีเป็นเมืองที่มีเสน่ห์กว่าที่หลายคนเข้าใจ

“ทุกปิดเทอมเราจะไปเที่ยวจันทบุรีและนอนพักที่บ้านสี่รัก ได้ไปเดินเที่ยวชุมชนริมน้ำ แพปลา และอีกหลายที่ แต่สิ่งที่จำได้ขึ้นใจคือการเข้าไปอยู่ในครัวกับคุณแม่สี่รัก เห็นเขาคว้านระกำลงไปทำเป็นต้มยำ ได้ลองชิมยำมังคุดและอาหารจากผลไม้อีกหลายเมนู ซึ่งเปิดโลกเรามากว่าเอาผลไม้มาทำอาหารคาวได้ด้วยเหรอ” ทิพย์เอ่ยให้ฟังด้วยความตื่นเต้น

“เราไปเที่ยวหลายที่และได้กินอาหารจันท์หลายร้าน ตอนกลางคืนกินอาหารทะเล ตอนเช้าตื่นมากินก๋วยเตี๋ยวหมูเลียงซึ่งเป็นก๋วยเตี๋ยวพื้นเมืองจากสมุนไพรป่า เรากินเยอะมากจนป่วยไปเลย” บุสเล่าอย่างขำๆ อธิบายให้ฟังถึงความชอบอาหารจันท์ได้อย่างดีเยี่ยม

เพราะความผูกพันตั้งแต่วัยเยาว์ครั้งนั้น นอกจากจันทบุรีจะเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของทิพย์และบุส ที่นี่ยังเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองที่เมื่อมีเวลาก็ต้องไปแล้วไปอีก

“เรามองว่าจันทบุรีเป็นบ้านหลังหนึ่งของเราเลยด้วยซ้ำ มันจะมีที่ไหนบนโลกนี้อีกที่เราอยากไปบ่อยๆ โดยไม่เบื่อเลย ทุกวันนี้เวลาเห็นสี่รักพาใครไปเที่ยวที่ที่เราไม่เคยไปก็จะบอกเสมอว่าแอบมุบมิบอีกแล้วนะ ทำไมไม่เคยพาเราไปเลย” ทิพย์พูดพลางหัวเราะ

ใส่ใจในทุกการเดินทางของผลิตภัณฑ์

เมื่อกาลเวลาผันผ่าน สามสหายต่างแยกย้ายกันไปเรียนมหาวิทยาลัยและมีเส้นทางของตนเอง ทั้งสี่รัก ทิพย์ และบุส จึงไม่ค่อยได้เจอกันบ่อยเช่นเมื่อก่อน โดยเฉพาะบุสที่ไปเรียนต่อและทำงานที่อเมริกาก็ยิ่งไม่ค่อยได้เจอใครเข้าไปใหญ่ แต่ทุกกลางปีและสิ้นปี ทิพย์และเพื่อนๆ อีกหลายคนจะต้องแวะเวียนไปจันทบุรีและพักที่โรงแรมมณีจันท์รีสอร์ท ธุรกิจของครอบครัวสี่รักที่เธอเข้าไปรับช่วงต่อ และด้วยความผูกพันกับอาหาร สถานที่ และวัฒนธรรม เมืองทางผ่านนี้จึงยังคงอยู่ในใจทิพย์และเพื่อนๆ

“เราคุยเล่นๆ กับสี่รักมาหลายปีแล้วว่าน่าจะมีร้านอาหารจันท์ที่กรุงเทพฯ นะ เพราะบางครั้งเราและเพื่อนคนอื่นๆ ไม่ได้ไปจันท์ ก็ต้องรบกวนสี่รักส่งอาหารและผลไม้มาให้ตลอดจนรู้สึกเกรงใจ” ทิพย์พาเรากลับมาที่จุดตั้งต้นของจันท์เจ้า ณ เอกมัย ซอย 2

“แต่เราก็คิดว่าเราจะเปิดร้านอาหารจันทบุรีไม่ได้เลยถ้ายังขาดจิ๊กซอว์ตัวสำคัญไป ซึ่งคือบุสที่ไปเรียนและทำงานในร้านอาหารที่อเมริกาตั้งแต่เรียนจบ ถ้าเขาพร้อมเมื่อไหร่เราจะเปิด ซึ่งเขาก็กลับมาในช่วงที่โควิด-19 เริ่มเข้ามาในประเทศไทยพอดี” สี่รักเสริมความตั้งใจต่อจากทิพย์

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง โรงแรมของสี่รักถูกสั่งปิดจากมาตรการป้องกันโควิด-19 เพื่อนๆ ของเธอจึงไม่สามารถเดินทางมาทานอาหารทะเลและผลไม้ที่จันทบุรีได้ กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สี่รักค่อยๆ เรียนรู้การขนส่งของอร่อยเหล่านั้น พร้อมกับพยายามคงความสดอร่อยหอมหวานดังเดิม ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากแสนยาก แต่ความยากนี้เองที่กลายเป็นตัวเร่งทำให้การคุยเล่นๆ ของทิพย์และสี่รักเกิดขึ้นจริง 

เมื่อบุสเอาด้วย ไฉนเลยสี่รักและทิพย์จะไม่เดินหน้าต่อ ทั้งสามจึงจัดแจงแบ่งหน้าที่ให้บุสผู้มีความรู้เรื่องการจัดการร้านอาหารมาดูแลความเป็นไปหน้าร้าน ทิพย์ผู้เรียนทางด้านศิลปะมาจึงรับผิดชอบภาพลักษณ์ของร้าน ส่วนสี่รักผู้รู้จักจันทบุรีดีกว่าใครจึงรับอาสาคัดสรรของและขนส่งสินค้ามาจัดวางที่กรุงเทพฯ

จากครั้งแรกที่โยนไอเดียในเดือนพฤษภาคม ร้านอาหารและมาร์เก็ตเล็กๆ รวมของดีภาคตะวันออกนามจันท์เจ้าก็พร้อมเปิดบริการในเดือนธันวาคม 2563 ในสโลแกนที่ว่า ‘delicacy from the east’

“การส่งอาหารและผลไม้ต้องใช้ความเอาใจใส่เป็นอย่างมาก เราต้องรู้ระยะเวลาของเขา รู้จังหวะการเก็บและส่งที่ดีเพื่อควบคุมคุณภาพให้ได้ นี่คือนิยามคำว่า delicacy from the east ของเรา” สี่รักผู้คุ้นเคยกับอาหารทะเลสดๆ และผลไม้หอมหวานที่เพิ่งเด็ดจากต้นว่า

เมนูพื้นถิ่นที่น้อยคนจะรู้จัก

จากคอนเซปต์หลักของร้าน ทั้งสามคนแตกแยกย่อยบริการของจันท์เจ้าเป็น 3 อย่าง คือ หมวดหมู่อาหาร เครื่องดื่ม และของฝากจากคนพื้นถิ่น สี่รักซึ่งเป็นเจ้าของครัวมณีจันท์ ครัวอาหารจันท์เลื่องชื่อจากโรงแรมชื่อเดียวกัน จึงอาสาเล่าให้ฟังถึงวัฒนธรรมการกินอาหารของจันทบุรีที่จันท์เจ้าหยิบมานำเสนอ

“อาหารของจันท์เจ้าจะมีทั้งอาหารทะเล อาหารที่ทำจากสมุนไพร และอาหารที่ทำจากผลไม้ ซึ่งนำมาจากพื้นฐานการกินของคนจันท์ที่ทำกินวนเวียนอยู่แค่นี้”

เมนูจากวัฒนธรรมการกินของคนจันท์ที่ว่าจึงมีทั้งไก่ต้มระกำกระวาน ปลาผัดกระวาน ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรจากป่า หรือจะเป็นเมนูหมูชะมวงจากใบชะมวงรสเปรี้ยวที่ปลูกตามสวนผลไม้ของชาวจันท์

หมูชะมวง

ไหนจะมีข้าวทะเลจันท์เจ้าที่เสิร์ฟข้าวคลุกพริกเกลือพร้อมหมูแดง น้ำพริกปูไข่ น้ำพริกกะปิ ที่คัดสรรกุ้ง หอย ปู ปลา จากท้องทะเลจันทบุรีและตราดที่มีระบบนิเวศอย่างป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ ทำให้ได้วัตถุดิบที่ทั้งกรอบทั้งหวาน

ข้าวทะเลจันท์เจ้า
น้ำจิ้มพริกเกลือ

และที่ขาดไม่ได้คือเส้นจันท์ผัดปูที่รังสรรค์ขึ้นจากเส้นก๋วยเตี๋ยวเหนียวนุ่มจากจันทบุรี คลุกเคล้ากับน้ำพริกแกงรสเปรี้ยวหวาน เสิร์ฟพร้อมปูเนื้อดีที่บอกเลยว่าไม่เหมือนผัดไทยภาคกลางแน่นอน

เส้นจันท์ผัดปู

ส่วนเมนูผลไม้ในร้าน ทั้งสามนำเสนอผ่านยำผลไม้เมืองร้อน ที่แม้จะไม่ดังเท่าเมนูอาหารที่ร่ายมาด้านบน แต่คนภาคตะวันออกก็ทำกินกันเองในครัวเรือนอยู่บ่อยๆ อย่างยำสละลอยแก้ว ตำมะยงชิดกะปิกุ้งสด และยำมังคุด รับประกันความแซ่บนัวด้วยน้ำยำเฉพาะของจันท์เจ้าที่มีความหอมและเค็มนิดๆ จากกุ้งแห้งประมงพื้นถิ่น ซึ่งสี่รักบอกว่าเป็นการนำเสนออาหารที่แซ่บอยู่แล้วให้แซ่บและเก๋ขึ้นกว่าเก่า

ยำมังคุด

“แม้บุสกับทิพย์จะเป็นคนกรุงเทพฯ แต่ก็คุ้นเคยกับอาหารจันท์ตั้งแต่เด็ก การเลือกเมนูอาหารมาใส่ในร้านนี้จึงไม่ได้ยากมาก แต่เพราะคนจันทบุรีทานหวานมาก เราจึงต้องปรับรสชาติให้หวานน้อยลง ให้คนกรุงเทพฯ และคนจังหวัดอื่นทานได้” ทิพย์เสริมแล้วแอบกระซิบเพิ่มเติมว่าไม่ต้องห่วงว่าจะทำให้รสชาติจันท์ๆ นั้นจางหาย เพราะพ่อครัวของจันท์เจ้าส่งตรงจากครัวมณีจันท์ของสี่รัก และการันตีโดยคนจันท์อย่างเราว่าแม้จะหวานน้อยลงหน่อย แต่เมนูของจันท์เจ้าก็ยังถูกต้องเสมือนได้กินที่บ้านจนต้องร้องว่าอร่อยฮิ!

หยิบของดีในพื้นที่มาห่อหุ้มใหม่ให้ไฉไลกว่าเดิม

หากใครแวะมาเยี่ยมเยียนร้านจันท์เจ้า เมื่อเปิดประตูเข้าไป เราจะพบกับส่วนมาร์เก็ตสินค้าพื้นถิ่นเล็กๆ ที่ทั้งสามคนคัดสรรมาจากจันทบุรีและจังหวัดภาคตะวันออกโดยเฉพาะ ซึ่งนอกจากจะคงความสดใหม่และอร่อยได้ดังเดิมตามคอนเซปต์ delicacy from the east ทั้งสามก็ยังแปลงโฉมสินค้าเหล่านั้นให้น่าสนใจยิ่งขึ้น ผ่านแพ็กเกจจิ้งสุดไฉไลที่ทำให้จัดเก็บง่ายและสวยจนซื้อไปเป็นของฝากคนรู้ใจก็ได้

“แม้จะมีความทรงจำเกี่ยวกับจันทบุรีร่วมกัน แต่ภาพที่พวกเรามองก็อาจจะไปคนละทิศคนละทาง ยกเว้นแค่อย่างเดียวคือสินค้าท้องถิ่นซึ่งเป็นเสน่ห์ของจันทบุรีที่ไม่ได้มีดีแค่เรื่องอาหารการกิน เพราะที่นั่นยังมีของท้องถิ่นจากชุมชนริมน้ำจันทบูร ชุมชนหนองบัว ชุมชนขลุง และอีกหลายๆ ชุมชนที่พวกเราจะหยิบซื้อกลับมาทุกครั้งเวลาไปเยือน ซึ่งเราอยากให้มีความรู้สึกนี้เกิดขึ้นในร้านจันท์เจ้าด้วย” ทิพย์บอก

ขนมไข่สูตรโบราณของป้าไต๊จากชุมชนริมน้ำจันทบูร ทอฟฟี่เนื้อสละและมังคุด น้ำผึ้งเขาคิชฌกูฏ พริกไทยจันท์ และผลไม้เมืองร้อนอย่างทุเรียน มังคุด เงาะ ฯลฯ ที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามฤดูกาล เหล่านี้คือตัวอย่างสินค้าที่คัดสรรมาแล้ว และได้คะแนนสามผ่านจากเพื่อนซี้เช่นเดียวกันกับทุกเมนูในร้าน

แต่มากกว่าการส่งต่อความรู้สึกของการได้เที่ยวจันทบุรีแล้ว การมีโซนของดีของเด็ดจากจังหวัดภาคตะวันออกอื่นๆ เอาไว้ในร้านยังเพื่อสนับสนุนชาวบ้านและชาวสวนให้มีตลาดกระจายสินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่ทำให้นักท่องเที่ยวบางตาและเศรษฐกิจในจังหวัดพังไม่เป็นท่า

“ชาวบ้านและชาวสวนหลายคนเจอวิกฤตหนักจากโควิด-19 แต่ด้วยความที่เขาไม่รู้เรื่องแพ็กเกจจิ้ง การติดต่อวางขาย และการตลาด ทำให้พวกเขาลำบากมาก” สี่รักเกริ่น ก่อนจะยกตัวอย่าง

“อย่างคุณลุงที่เป็นเจ้าของสวนมะม่วงอกร่องเสม็ดงาม ตอนแรกเราติดต่อขอรับมะม่วงเขามาขาย แต่เขาบอกว่าไม่มีแล้ว จากนั้นไม่นานเขาก็โทรกลับมาว่าโดนคนที่รับซื้อยกเลิก คิดดูสิว่าชาวสวนที่เฝ้าบำรุงต้นไม้มาตลอดปีเพื่อหวังเงินในช่วงเดียวเท่านั้น แต่กลับถูกยกเลิกทั้งหมด เขาจะอยู่ได้ยังไง

“หรืออย่างขนมปังกรอบจากชุมชนขนมแปลกหนองบัวที่อร่อยมาก เราก็นำมาต่อยอดใส่แพ็กเกจจิ้งให้เก็บรักษาง่าย สวย และเข้ากับจันท์เจ้า ทำเป็นเซตของขวัญวันปีใหม่บ้าง ขายเดี่ยวๆ บ้าง ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับดีมาก จนคุณป้าเจ้าของเขาบอกว่าโควิด-19 ทำให้ร้านอื่นเงียบมากจนไม่รู้ว่าจะรอดไหม แต่เขารอดแล้ว เราจึงยิ่งรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำอยู่นั้นมาถูกทางแล้ว” สี่รักสรุป

“คำว่าถูกทางยังคือการที่ลูกค้าคนจันท์เดินเข้ามาในร้านแล้วถามว่าเจ้าของร้านเป็นคนจันทบุรีหรือเปล่า หรือเวลาลูกค้าตื่นเต้นที่ได้เห็นร้านอาหารภาคตะวันออกมาตั้งอยู่ตรงนี้ มันยิ่งยืนยันว่าสิ่งที่ทำอยู่มันใช่” บุสผู้รับหน้าที่ดูแลส่วนครัวเสริม แล้วส่งต่อให้ทิพย์ทิ้งท้ายถึงความตั้งใจ

“หลายคนถามว่าเราไม่ใช่คนจันทบุรีแต่ทำไมมาทำร้านอาหารจันทบุรี เรากลับมาตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนกัน และพบว่ามันน่าจะมาจากความผูกพันนั่นแหละ เราเลยอยากให้คนอื่นๆ รู้จักจันทบุรีแบบที่เราได้สัมผัสมา ช่องทางโซเชียลของเราจึงไม่ได้มีไว้ขายของเท่านั้น แต่ยังเล่าเรื่องวัฒนธรรมการกินและการอยู่อาศัยของคนจันทบุรีแบบที่เราคุ้นเคยด้วย”

ของดีของเด็ดจากจันท์เจ้ามาร์เก็ต

ทอฟฟี่กะทิ

เคยกินทอฟฟี่กะทิ 3 เม็ด 5 บาท ที่ม้วนเป็นเม็ดสวยงามในกระดาษสีสันสดใสหรือเปล่า

นี่คือขนมที่บุสโปรดปรานที่สุดยามไปเที่ยวจันทบุรี ผ่านทีไรก็ต้องแวะซื้อ และต้องเป็นทอฟฟี่ร้านที่คัดสรรมาเท่านั้น เพราะเนื้อที่นุ่มหนึบพอดี ไม่ติดทั้งกระดาษ ไม่ติดทั้งฟัน แกะกินเพลินเกินห้ามใจ!

“ตอนแรกเราไม่ได้จะขาย แค่นำมาใส่ขวดโหลเพิ่มสีสันให้ร้าน แต่มีลูกค้าคนหนึ่งจ้องโหลทอฟฟี่อยู่นานมากแล้วถามว่า ‘ใช่สิ่งที่ผมคิดไหมครับ’ เหมือนเขาตามหามันมานานมากแต่ไม่มีใครขาย เขาเลยซื้อไปทั้งหมด 30 เม็ดเลย” ทิพย์บอกอย่างมีความสุข

“หรือลูกค้าอีกคนที่ซื้อให้คุณยาย เขาเล่าว่าคุณยายเป็นเบาหวาน จึงจำกัดให้กินวันละ 2 เม็ดเท่านั้น แต่คุณยายก็แอบเอาไปซ่อนแล้วบอกว่าหมดแล้ว เขาจึงต้องมาซื้อให้เรื่อยๆ” บุสเล่าบ้างด้วยเสียงหัวเราะ

น้ำมะปี๊ดและน้ำผลไม้เมืองร้อน

มะปี๊ดคือส่วนประกอบหลักของอาหารและเครื่องดื่มจันทบุรีหลายชนิด เป็นผลไม้ที่ให้กลิ่นและรสคล้ายส้มผสมมะนาว ทั้งสามจึงคัดสรรเครื่องดื่มมะปี๊ดแบบใส่ขวดพร้อมทานมาขาย นอกจากนั้นยังเสิร์ฟเครื่องดื่มที่ทำขึ้นสดๆ ในร้านอย่างมะปี๊ดโซดาและมะปี๊ดรวงผึ้งด้วย เพื่อส่งความรู้สึกเสมือนได้เดินเที่ยวเมืองจันท์ให้ทุกคน

ซึ่งขอบอกว่าอร่อยมากๆ และคนจันท์อย่างเราขอการันตีว่านี่คือมะปี๊ดแท้ๆ แน่นอน

“เราจะเจอคนขายน้ำมะปี๊ดตลอดสายชุมชนริมน้ำจันทบูร การได้ดื่มน้ำมะปี๊ดที่จันท์เจ้าก็เหมือนได้ความรู้สึกสดชื่นเวลาเดินเที่ยวจันท์” สี่รักว่า และนอกจากน้ำมะปี๊ดชื่นใจแล้ว จันท์เจ้ายังมีน้ำผลไม้และสมุนไพรท้องถิ่นจันท์เสิร์ฟด้วย ทั้งน้ำสละปั่นและชามะตูมสำรอง ชามะตูมแสนหอมที่ผสมผสานกับสมุนไพรพื้นถิ่นอย่างสำรอง ที่ไม่เพียงอร่อย แต่ยังดีต่อสุขภาพ

ไอศครีมรสผลไม้และขนมโบราณ

อีกทีเด็ดหนึ่งที่เราว่าต้องชิมเมื่อมาเยือนจันท์เจ้าคือไอศครีมหลากรสที่ทั้งสามคิดค้นขึ้นมา ซึ่งมีทั้งรสมะปี๊ด มะปี๊ดน้ำผึ้ง มะปี๊ดโยเกิร์ต สละ มะม่วงอกร่อง มะยงชิดชีสเค้ก ทอฟฟี่กะทิ และถั่วตัด

“เรามานั่งคิดกันว่ามีสินค้าไหนบ้างที่เราสามคนชอบกิน เพื่อนำเสนอความเป็นชุมชนจันทบุรีให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่และกลุ่มลูกค้าในเมืองได้ ซึ่งไอศครีมคือคำตอบนั้น เลยมาดูกันว่าสินค้าในชุมชนตัวไหนบ้างที่จะนำมาทำเป็นไอศครีมได้ เช่นถั่วตัดหรือทอฟฟี่กะทิที่บุสชอบมาก

“จนได้มาทั้งหมด 8 รสชาติ ซึ่งที่มีรสมะปี๊ดถึง 3 แบบก็เพราะเราสามคนชอบแต่ละรสไม่เหมือนกัน” ทิพย์เล่าถึงไอเดียไอศครีมรสอร่อย ซึ่งเมื่อลองทานแล้วก็สัมผัสได้ถึงรสชาตินั้นจริงๆ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย