ตึกแถวสีขาวสไตล์มินิมอล รายล้อมไปด้วยสีเขียวของต้นไม้หลากหลายชนิด ทำให้ที่นี่เป็นที่จดจำของผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาแถวราชเทวี และเป็นสถานที่ที่หลายๆ คนต้องขอแวะเข้ามาในร้านเพื่อคลายความสงสัยว่าที่นี่คืออะไรกันแน่ และเราก็เป็นหนึ่งในนั้น
‘ต้อม-กฤษฎา พลทรัพย์’ และ ‘ออม-ดร.มนสินี อรรถวานิช’ สองสถาปนิกผู้เป็นเจ้าของร้าน เล่าให้เราฟังว่าแรกเริ่มพวกเขาตั้งใจดีไซน์พื้นที่แห่งนี้ให้เป็นโฮมออฟฟิศ หลังจากสถานการณ์โควิด 19 หน้าที่ในการเป็นออฟฟิศของตึกนี้ก็ได้จบลง แต่ทั้งคู่ก็ยังอยากให้ที่นี่ได้มีประโยชน์ในแง่อื่นต่อไป และนั้นจึงกลายเป็นโรงปฏิบัติการทดลองปลูกต้นไม้ชื่อว่า Plant Workshop Cafe
ความตั้งใจของ Plant Workshop Cafe ไม่เพียงแค่ต้องการเป็นทางเลือกใหม่ของพื้นที่สีเขียวในเมือง แต่ยังเป็นสถานที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ในการปลูกต้นไม้ในพื้นที่จำกัดจากผู้ทดลองปลูกจริง
โอเอซิสแห่งราชเทวี
ตึกแถวลักษณะคล้ายป่าแห่งนี้ ก่อนหน้านี้เคยเปิดเป็นพื้นที่ co-working space ไว้สำหรับคนที่ต้องการนั่งทำงานแบบใกล้ชิดต้นไม้ แต่ด้วยวัฒนธรรมการจ่ายเงินเพื่อมานั่งทำงานอาจไม่ตอบโจทย์กับความเป็นคนไทยเท่าไหร่ ประกอบกับการที่โดนถามหาเครื่องดื่มจากผู้มาใช้งานอยู่บ่อยๆ จึงขายเครื่องดื่มและอาหารว่างให้กับคนที่มานั่งทำงาน คุณลองคิดถึงความชุบชูใจของการนั่งทำงานไปด้วย ดื่มกาแฟและโทสต์ที่ราคาเริ่มต้นแบบสบายกระเป๋า ในบรรยากาศท่ามกลางต้นไม้ที่เย็นใจดูสิ
ต้อม : หลังจากโควิดเราก็ไม่ได้ทำออฟฟิศต่อแล้ว เรามองว่าตึกนี้ควรมีประโยชน์มากกว่านั้น เริ่มแรกเราไม่ได้ทำเป็นร้านกาแฟ เราทำเป็น Co-Working แต่มันไม่เวิร์ก เพราะคนไม่ได้อยากจ่ายค่านั่ง แต่คนอยากจ่ายค่ากาแฟแล้วนั่งมากกว่า เราก็เลยเปลี่ยนเป็นขายกาแฟแทน
ออม : เราอยากมีพื้นที่สีเขียวเป็นของตัวเอง แต่ปัญหาคือเราทำงานประจำ ไม่ค่อยมีเวลาที่จะดูแลมันเท่าไหร่ จุดเปลี่ยนสำคัญคือตอนไปต่างจังหวัด กลับมาอีกทีต้นไม้ตายหมด จากนั้นเราก็มาคิดว่าจะทำยังไงให้ปลูกต้นไม้แล้วมันอยู่กับเราได้นานบ้าง เริ่มแรกเราทดลองดูว่ามีต้นไม้ประเภทไหนบ้างที่อยู่ได้นาน เราก็จะซื้อพันธุ์ที่ใกล้เคียงมา กลายเป็นว่าต้นไม้เราก็เยอะขึ้นเรื่อยๆ
ร่องรอยของการเติบโต
สิ่งที่น่าสนใจของคาเฟสีเขียวนี้คือการออกแบบของ Plant Workshop Cafe
คือการไม่ได้ออกแบบอะไรเลย…
เมื่อคุณก้าวเข้ามาในพื้นที่แห่งนี้ คุณจะรู้สึกได้ถึงไม้ใบเลื้อยที่สะกิดแขนคุณตรงทางเดิน และ การแทรกตัวของเหล่าต้นไม้ที่พยายามจะเติบโตไปตามร่องปูนบ้าง หลบทางวัตถุต่างๆ บ้าง ทำให้ต้นไม้มีรูปร่างผิดแปลกไปจากที่มันควรจะเป็น แต่สิ่งนี้ก็ทำให้เราไม่ลืมความจริงที่ว่า พวกมันมีชีวิตเหมือนอย่างเรานั่นแหละ
ต้อม : อย่างคอนโดหรือตึกแถว เป็นที่อยู่อาศัยลักษณะแบบหน้าต่างด้านเดียว ต้นไม้จะเรียนรู้เองว่าจะเลื้อยเข้าไปลึกแค่ไหน โดยที่ไม่ได้ใช้ไฟอังเลย เราไม่ได้ออกแบบอะไรใหม่เลย มีแค่ห้องโล่งๆ แล้วก็ให้ต้นไม้มันเลื้อยแทรกเข้าไปยึดพื้นที่ตามซอกตามที่ว่าง
สังเกตเห็นได้ว่าต้นไม้ที่นี่ไม่ได้โตตามแสตนดาร์ด มีเลื้อยบ้าง บิดเบี้ยวบ้าง แต่เราก็ชอบในความบิดเบี้ยวและไม่สมบูรณ์ของมันนะ เพราะการที่ปล่อยให้ต้นไม้เลื้อยไปเรื่อยๆ มันทำให้พวกเขาดูมีชีวิตชีวา เทคนิคของเราคือการทำให้มันขวางทางหรือเกะกะ ยิ่งคุณรู้สึกว่าต้นไม้ขวางทางหรือเกะกะมากเท่าไหร่ ก็แปลว่ามันยิ่งใกล้ชิดกับคุณมากเท่านั้น ถ้าไปแยกว่าตรงนี้ที่คนนั่ง ตรงนี้ที่ของต้นไม้ ก็จะยิ่งทำให้ความรู้สึกของการอยู่ร่วมกันมันน้อยลง
พื้นที่สาธารณะที่ให้คนได้นั่งพักผ่อน
ระหว่างที่ใช้เวลาอยู่ที่ Plant Workshop Cafe แห่งนี้ที่รายล้อมไปด้วยต้นไม้หลากหลายชนิด ทำให้เราได้มีเวลาดื่มด่ำและพักผ่อน แตกต่างจากพื้นที่ข้างนอก ที่หลายคนคงรู้ดีว่าตอนนี้มีปัญหาพื้นที่สีเขียวในเมืองและพื้นที่สาธารณะที่ลดน้อยลงเรื่อยๆ เราสงสัยว่าจะมีวิธีไหนไหมนะ ที่ทุกคนจะสามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ของตัวเองได้
ต้อมและออมเล่าให้เราฟังต่อว่า ตอนนี้สถาปนิกไม่ได้สนใจแค่เรื่องการสร้างตึกและอาคารเท่านั้น เพราะการที่จะออกแบบอะไรสักอย่าง สิ่งที่สถาปนิกควรใส่ใจมากที่สุดคือ เรื่องสิ่งแวดล้อมและพื้นที่รอบๆ ต่างหาก
ต้อม : แต่ก่อนเราจะคิดว่าสถาปัตยกรรม วิศวกรรมและสิ่งแวดล้อม มันอยู่แยกกัน แต่ในตอนนี้ สิ่งแวดล้อมจะเป็นอีกขานึงที่มีความสำคัญขึ้นมา
ประเด็นของพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ คือถ้ามันน้อยลงแล้วมันจะหาไม่ได้อีกแล้ว งั้นเราสามารถทำพื้นที่เท่าที่มีอยู่ให้เป็นพื้นที่สีเขียวได้ไหม พื้นที่สาธารณะมันไม่จำเป็นต้องใหญ่ แต่ต้องเป็นพื้นที่ให้คนได้นั่งพักผ่อนหรือใช้งานได้ เพราะถ้ามันจะต้องใหญ่แบบสวนสาธารณะ เหมือนสวนลุมพินีก็คงไม่มีอีกแล้ว แต่ถ้าเราทำให้มันเป็นพื้นที่สีเขียวเล็กๆ แล้วกระจายไปให้ทั่ว ก็มีความเป็นไปได้ที่เราจะมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น
ใจความสำคัญของปัญหาพื้นที่สีเขียวที่น้อยลง ส่วนนึงมาจากการสร้างตึก อาคาร ห้างร้าน ที่มากเกินความจำเป็น ทำให้ทุกวันนี้มองไปทางไหนเราก็แทบมองไม่เห็นสีเขียวแล้ว หรือต่อให้เห็นเราก็จะเห็นแต่ต้นไม้แห้งๆ ที่ถ้ามันมีหน้าตาเหมือนเราๆ ก็คงจะเป็นคนที่ดูอิดโรยมากๆ แต่แนวคิดของต้อมและออมทำให้เรากลับมาฉุกคิดถึงอีกมุมในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองได้
ดังนั้น Plant Workshop Cafe จึงเปรียบเสมือนโรงปฏิบัติการที่พวกเขาถอดร่างสถาปนิก แล้วสวมร่างนักพฤษศาสตร์ ทดลองปลูกต้นไม้นานาชนิด ในรูปแบบที่หลากหลาย และบันทึกผลว่าต้นไม้ชนิดไหนที่จะสามารถอยู่ในสถาพแวดล้อมในตึกแบบคนเมืองได้บ้าง
คอมมิวนิตีของคนเมืองที่รักต้นไม้
อีกหนึ่งความตั้งใจของต้อมและออมคือการทำให้ Plant Workshop Cafe เป็นเหมือนคอมมิวนิตีของการแลกเปลี่ยนความรู้ในการปลูกต้นไม้สำหรับทุกคน
บางโอกาสที่เราอยากจะปลูกต้นไม้สักต้นในคอนโดที่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ แสง เวลา เริ่มใหม่กี่รอบ ก็จบด้วยการที่น้องต้องเฉาตายไปเหมือนครั้งก่อนๆ แต่ถ้าคุณอยากจะหาต้นไม้ที่คุณสามารถมั่นใจได้เลยว่าปลูกได้แน่ ก็สามารถมาดูตัวอย่างต้นไม้และพูดคุยกับพวกเขาในพื้นที่แห่งนี้ได้เช่นกัน
ออม : เรารู้สึกว่าการปลูกต้นไม้ก็ยากเหมือนกันสมัยนี้ เราเองก็ไม่ใช่เกษตรกร เราไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องต้นไม้ เราก็เลยคิดว่าถ้าใครมีปัญหาก็มาแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน มีคนมาถามเราถึงปัญหาในการเลี้ยงต้นไม้แล้วตาย ทั้งๆ ที่รดน้ำปกติ แต่บางทีการรดน้ำไม่ใช่ทุกอย่าง จริงๆ แล้วมันคือความสม่ำเสมอและความพอดีในการรดน้ำต่างหากที่ทำให้ต้นไม้มีชีวิตอยู่ต่อไปได้
ช่วงแรกที่อยากปลูกต้นไม้จริงจัง เราเริ่มจากปลูกกระบองเพชรแต่ก็ไม่รอด ขนาดกระบองเพชรยังไม่รอด เราก็เรามองหาต้นไม้ที่สามารถปลูกในพื้นที่จำกัดอย่างคอนโด เลยเลือกพันธุ์ไม้ที่สามารถเติบโตในที่ๆ มีแสงน้อยมาลองเลี้ยง สุดท้ายเราก็เจอว่าตระกูลพลูเป็นพันธุ์ไม้ที่สามารถเติบโตภายใต้ข้อจำกัดแบบนี้ได้ แล้วก็ค้นพบว่าจริงๆ การรดน้ำต้นไม้ตลอดเวลามันยาก เราเลยลองเป็นวิธี self watering ที่เป็นการปลูกในน้ำได้โดยที่เราไม่ต้องไปดูแลมันเยอะ อย่างกวักมรกตก็แช่น้ำได้
ต้อม : ที่นี่เป็นเหมือนห้องทดลอง ทุกต้นที่เห็นในร้านคือเราพิสูจน์มาแล้วว่าปลูกในอาคารได้จริง เพราะต้นไม้เหล่านี้ก็อยู่ที่นี่หลายปีแล้ว คุณสามารถลองไปปลูกที่บ้านในคอนดิชันที่ใกล้เคียงกับเราได้ เพราะมันไม่ยากอย่างที่คิด คุณเห็นเราปลูกแบบไหน คุณก็สามารถปลูกแบบนี้ได้เหมือนกัน เรารู้สึกว่าการที่เราอยู่ท่ามกลางเมืองที่เต็มไปด้วยตึก การได้มองเห็นสีเขียวจากต้นไม้จะทำให้เรารู้สึกดีขึ้นได้
นอกจากนี้พวกเขายังเข้าใจคนเมืองว่าคอนโดมีพื้นที่จำกัด จึงไม่สามารถปลูกต้นไม้ในห้องได้เยอะ บางทีแค่อยากจะซื้อปุ๋ยไปดูแลต้นไม้เล็กๆ ของตัวเองไม่กี่ต้น Plant Workshop Cafe จึงมีสต็อกปุ๋ยและดินบางประเภทขายสำหรับนักปลูกฝึกหัดอีกด้วย
ความรักในต้นไม้และการอยากเห็นพื้นที่สีเขียวมากขึ้นของต้อมและออมทำให้ Plant Workshop Cafe ยังคงเปิดต่อไปด้วยใจที่หวังว่า อยากให้คนที่เข้ามาที่ห้องปฏิบัติการแห่งนี้เห็นตัวอย่างแล้วรู้สึกมีแรงบันดาลใจ อยากเริ่มปลูกต้นไม้ด้วยตัวเองดูบ้าง แค่นี้ก็ถือว่าเป็นกำไรที่จับต้องได้มากกว่าเงินสำหรับพวกเขาแล้ว
ต้อม : เราไม่ถูกผลักดันให้ต้องหาเงินกับตรงนี้ เพราะเรามีอาชีพที่ได้เงินเดือนอยู่แล้ว และการมีรายได้ไม่เท่ากับมีคนเข้ามาแล้วเขาชอบเห็นที่นี่แล้วรู้สึกดี เรามองว่าสิ่งนี้มันฮีลใจมากกว่า เราไม่ได้คิดว่าจะทำยังไงให้กาแฟมันขายดีกว่าเดิม แต่เราคิดว่าจะทำยังไงให้ต้นไม้มันแน่นกว่าเดิม ในอนาคตเราอยากจะสะสมต้นไม้ให้มากขึ้น ให้มันกลายเป็นไลบราลีของต้นไม้ เราคิดว่าถ้าต้นไม้มันโตเต็มห้องก็จะสามารถเป็นพื้นที่แบบอื่นๆ ได้อีก
ออม : เรารู้สึกแฮปปี้ที่มีคนมานั่งทำงานที่นี่ เพราะวิถีชีวิตคนสมัยใหม่มักอยู่ในที่เดิมๆ ถ้าเขาอยากมีที่เปลี่ยนบรรยากาศในการทำงาน เขาก็มานั่งที่ร้านได้ เราก็ขายของว่างให้ลูกค้ารองท้องและปล่อยให้ต้นไม้ที่เรามีทำงานของมันไป”
ช่วงเวลาทั้งหมดที่เราได้ใช้ไปกับ Plant Workshop Cafe แห่งนี้ทำให้เราอยากลองกลับไปปลูกต้นไม้ที่ห้องสักต้นไว้เป็นที่พักใจยามเหนื่อย หากขอคำแนะนำออมและต้อมในการปลูกต้นไม้ให้อยู่รอด จะทำยังไง พวกเขาตอบทิ้งท้ายว่า
“การปลูกต้นไม้มันต้องใช้เวลา และเราต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆกับมัน”
Plant Workshop Cafe
Open Hours: 10:00 – 19:00 ( ปิดทุกวันอาทิตย์ )
Facebook: Plant workshop cafe
BTS: ราชเทวี
Maps: https://maps.app.goo.gl/GH2tZuqoJQPp4nMx9