Mano Handcraft Cafe ร้านที่จะใช้งานถักนิตติ้งส่งความอบอุ่นโอบกอดหัวใจคุณกลับบ้านไปด้วยพลังงานแห่งความสุข

“มโน คือ มโนจิตหรือมโนภาพ ส่วนตัวเป็นคนชอบจินตนาการ สำหรับเรามองว่าจินตนาการของเด็กเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ที่สุดแล้ว เพราะฉะนั้นก้าวต่อไปในชีวิตของเราก็ควรเริ่มต้นจากจินตนาการของเราด้วยว่าเห็นภาพชัดเจนมากน้อยแค่ไหน นี่แหละเป็นที่มาของชื่อ Mano Handcraft Cafe”

น้ำมนต์-พัสมนตร์ สุภณเดชพงศ์ เจ้าของคาเฟ่แห่งนี้ เธอบอกกับเราว่าอยากต้อนรับผู้มาเยือนด้วยคำว่า “ยินดีต้อนรับกลับบ้านค่ะ” นั่นก็เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาคาเฟ่แห่งนี้เป็นลูกค้าประจำที่แวะมาเยี่ยมที่แห่งนี้เสมอ เมื่อใดที่ต้องการการโอบกอดทางจิตใจท่ามกลางบรรยากาศอบอุ่นฟีลไลก์โฮมที่เป็นความตั้งใจของเธอตั้งแต่ต้น ด้วยการใช้นิตติ้งและการถักโครเชต์ที่เธอเชี่ยวชาญเป็นตัวกลางในการสื่อสารกับผู้คน รวมถึงได้พูดคุยกับตัวเองในขณะที่สอดเส้นด้ายขึ้น-ลง และแม้จะสะดุดกับปมจนไปต่อไม่ได้ก็เป็นช่วงเวลาที่พิเศษที่เราจะได้ทบทวนชีวิตและแก้ไขกันต่อไป

คาเฟ่แห่งนี้ต้องการเป็นพื้นที่สำหรับคนรักกาแฟ ผู้ที่ชื่นชอบศิลปะและงานคราฟต์ รวมถึงเป็นห้องที่ได้ช่วยฮีลใจให้กันและกันสำหรับผู้อยู่อาศัยหรือได้มาเยือนบริเวณจังหวัดนครปฐม บทบาทหลากหลายของการเป็น Textile Designer นักแสดงอิสระ และเจ้าของร้าน Mano Handcraft Cafe ที่ น้ำมนต์ พัสมนตร์ ทำไปด้วยควบคู่กันนั้นเธอเล่าว่าต่างเป็นพาร์ต์ที่ช่วยเติมเต็มและให้พลังงานซึ่งกันและกันให้กับชีวิต

วางจุดประสงค์ของการเปิดร้านนี้ไว้ยังไง

คอนเซ็ปต์คือร้านสำหรับงานคราฟต์ เริ่มตั้งแต่เครื่องดื่ม ขนม และงานฝีมือ เพื่อส่งต่อให้กับผู้คน น้องๆ ที่เดินเข้ามาสามารถหาซื้อของขวัญกลับไปได้ ปกติร้านขายงานคราฟต์แบบนี้จะไม่มีของเป็นชิ้นๆ เพื่อไปซัพพอร์ตกับผู้คน ส่วนใหญ่จะมีขายเสื้อ แก้ว หรือขายของทั่วไป แต่ร้านคาเฟ่งานถักของเราสามารถหางานนิตติ้งหรือโครเชต์ถักมือเป็นของขวัญให้กับคนที่พวกเขาอยากซื้อไปฝากได้ด้วย

คิดว่าใครเป็นกลุ่มเป้าหมายของคาเฟ่แห่งนี้

กลุ่มคนที่ต้องการการฮีลใจโดยไม่มีเพศหรืออายุ ถึงแม้เราอาจไม่ได้จดจำชื่อกันและกันแต่เรามองเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เคยมีน้องผู้ชายโทรมาหาอยากสั่งดอกไม้แบบนี้ไปฉลองวันครบรอบกับแฟน ถ้าที่ร้านทำให้ได้ก็จะถักให้ 

เรามีความสุขมากเวลาที่ได้เห็นลูกค้าเข้ามาเลือกดูของในร้าน ตอนนี้คิดไว้ว่าอยากมีตัวเลือกของขวัญเพิ่มเติม เช่น การ์ดดอกไม้วางให้เลือกซื้อคู่ไปกับงานถักที่ร้านทำไว้ให้แล้ว เพื่อให้เขาเขียนข้อความเองได้เลยหรือทำเป็นกิฟต์เซตงานคราฟต์ให้กับลูกค้าที่มาสามารถนั่งเรียนวิธีการถักกับเราได้เลย นี่ก็เป็นไอเดียที่วางแผนไว้ว่าอยากจะทำในอนาคต

แล้วอะไรที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกสบายใจเหมือนได้อยู่บ้าน

สำหรับเราเหรอ (นิ่งคิด) นิตติ้งเป็นส่วนประกอบหนึ่ง แต่อีกใจหนึ่งก็รู้สึกว่าเป็นเพราะตัวเราด้วยเหมือนกันนะ (ขำแบบเขินๆ) งานถักเป็นตัวส่งสารให้ลูกค้าได้รับ ถ้าให้ตกตะกอนจากคำถามนี้ในตอนนี้ก็จะบอกว่าสิ่งที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกสบายใจเป็นเพราะตัวเราที่เป็นเจ้าของดูแลร้านนี้ด้วยตัวเอง แต่สิ่งที่เรามอบให้เขาคืองานถักที่สื่อสารกับลูกค้าส่งความรู้สึกให้แก่เขา รวมถึงอาหารและเครื่องดื่มที่ตั้งใจทำขึ้นทุกแก้ว ทุกจาน

ตั้งแต่เปิดร้านมาหลายครั้งที่ลูกค้าช่วยคิดเมนูใหม่ๆ มันก็เลยทำให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมกับร้านนี้ ตัวเราเองก็รู้สึกดีด้วยที่ลูกค้าได้มาแบ่งปันโมเมนต์แบบนี้ด้วยกัน บางครั้งมีลูกค้าน้ำตาคลอเดินเข้ามาในคาเฟ่ แม้เราไม่รู้ว่าเขาไปเจออะไรมา แค่เราเห็นก็สัมผัสได้ถึงความเศร้าภายในแผ่ออกมา เราจะไม่ปล่อยให้เขาเดินกลับออกไปด้วยความรู้สึกนี้แน่นอน สิ่งที่เราทำคือให้กำลังใจเขาเพื่อที่ดึงพลังงานดีๆ กลับคืนมา เพราะเรารู้ว่าภายนอกมันมีเรื่องหนักหนาให้รับมือมากมายแล้ว 

ชีวิตคนเราก็อาจจะต้องการแค่โมเมนต์ฮีลใจกันและกันง่ายๆ แบบนี้แหละ รวมถึงตัวเราเองก็เช่นกันที่ได้รับการซัพพอร์ตความรู้สึกจากลูกน้องในร้านที่ไม่ได้เป็นความสัมพันธ์แบบเจ้านายลูกน้อง แต่เป็นความรู้สึกแบบพี่กับน้อง เวลาที่คนเราจะให้ของขวัญกับใครก็อยากได้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย แม้จะเป็นส่วนเล็กน้อยไม่ได้ทำเองทั้งหมด ก็อยากมีส่วนหนึ่งที่ได้ลงมือทำสิ่งของที่จะซื้อไปให้ด้วยเช่นกัน 

บางครั้งตัวเองเมื่อไปเจอสิ่งแวดล้อมหรือเหตุการณ์ภายนอกที่รับมือได้ยากมากผ่านเข้ามา เราก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่โถมเหล่านี้จะทำให้ตัวเองดาวน์และท็อกซิกอยู่หรือเปล่า แต่การที่เราได้กลับมาที่คาเฟ่ลงมือทำงานถักให้กับลูกค้า มันเหมือนได้ส่งมอบความรู้สึกที่ดีให้กับพวกเขาก็เหมือนได้ช่วยพวกเขา 

ในทางกลับกันก็เป็นการช่วยฮีลตัวเองด้วยเช่นกัน มันเลยทำให้คาเฟ่นี้เป็นมากว่าร้านแต่เป็นบ้านที่คนผ่านเข้ามาแล้วก็อยากกลับมาอีกเป็นเหมือนครอบครัว เพียงไม่กี่เดือนตั้งแต่สิงหาคมที่เปิดคาเฟ่นี้ขึ้นมา ลูกค้าที่เป็นเด็กนักเรียน นักศึกษาสามารถเข้ามานอนที่โซฟาได้เหมือนอยู่บ้านได้แล้ว (Make yourself at home) ทำให้เราสุขใจ ถึงโต๊ะในร้านไม่ได้มีมากมาย แต่ลูกค้าก็สามารถนั่งแชร์ร่วมโต๊ะและพูดคุยสร้างบทสนทนาระหว่างกันได้ สิ่งนี้ทำให้เรารู้สึกอบอุ่น  

จากออนไลน์มาเปิดเป็นหน้าร้านได้อย่างไร

หลังจากช่วงโควิดก็เริ่มต้นโพสต์ผลงานลงในอินสตาแกรม เพื่อนจึงได้รู้ว่าเราสามารถถักงานนิตติ้งและงานโครเชต์ได้นะ เลยทำให้มีคนเริ่มทักเข้ามาสั่งนิตติ้งเพื่อเอาไปให้แฟนเป็นของขวัญ จากนั้นก็ทำเรื่อยมาจนเปิดเพจเป็นอีกช่องทางในโซเชียลมีเดียสำหรับเปิดขายงานถักของกระจุกกระจิก งานผลไม้ ดอกไม้ ผ้าโพกหัว ตุ้มหู จอยๆ ไม่ต้องเครียด 

แต่กลายเป็นว่าผลตอบรับดี เริ่มมีออเดอร์เข้ามาเรื่อยๆ นอกเหนือไปจากคนรู้จักรอบตัว ทำให้สร้างคุณค่าให้ตัวเองเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากงานแสดง อีกทั้งยังเป็นการผ่อนแรงจากเดิมที่เคยตระเวนหาตลาดงานฝีมือ งานคราฟต์ต่างๆ เพื่อไปเปิดร้าน จึงผันมาจับตลาดออนไลน์แทน 

พอฟีดแบ็กในออนไลน์เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มทำไม่ทัน โดยเฉพาะช่วงพฤศจิกายน-ธันวาคมที่มีพิธีรับปริญญาของมหาลัยฯ ต่างๆ ทำให้มีออเดอร์เข้ามาจำนวนมาก จากที่เริ่มด้วยการทำคนเดียวเป็นงานอดิเรก จนรับมือด้วยตัวเองคนเดียวไม่ไหวต้องหาลูกมือมาช่วยเพิ่มเติม จึงเกิดไอเดียที่อยากทำให้สิ่งนี้สามารถซัพพอร์ตตัวเองและคนอื่นไปด้วย

จากที่เราเคยลงเรียนเสริมด้านงานวิชาชีพกับคุณแม่ซึ่งอยากไปเข้าสังคมกับคนอื่น สำหรับเราเลือกลงเรียนด้านงานปั้นดอกไม้น่ารักๆ ทำให้ได้รู้จักกับคุณป้าที่ทำงานฝีมือแบบนี้เป็นกิจวัตรประจำวันอยู่แล้ว จึงมีคอนแทคกลุ่มแม่บ้านเหล่านี้แล้วก็สบโอกาสชวนมาร่วมงานด้วยกัน ทั้งนี้เป็นการได้ซัพพอร์ตอาชีพและกิจกรรมยามว่างของพวกเขาอีกทางหนึ่ง ซึ่งด้วยอายุทำให้การหาลู่ทางทำเงินในโลกออนไลน์หรือการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ช้ากว่าคนรุ่นเราเพราะไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาถนัด

สิ่งที่เราทำคือการติดต่อกันผ่านไลน์กับป้าเขียว (จากกลุ่มแม่บ้าน) ขอให้ส่งผลงานที่คุณป้าเคยทำมาให้เราดู เราก็ส่งแบบแพทเทิร์นดอกไม้ที่เคยทำให้กับลูกค้าไปให้ลองทำ ซึ่งคุณป้าก็สามารถทำได้ตามแบบ แต่ปัญหาอย่างหนึ่งของคนที่เป็นนักดีไซน์เนอร์งาน Textile คือทำแพตเทิร์นไม่ได้ ส่วนใหญ่เวลาที่คนคิดไอเดียจะฟุ้งไปกับตัวเอง แต่พอต้องลงมือทำจริงๆ ร่วมกันกับช่างที่มารับทำต่อกลายเป็นว่าไม่มีรูปแบบการทำแพตเทิร์นให้เขาเห็นก่อนเริ่มทำงานจึงเกิดปัญหา ทำให้ต้องหาวิธีการสื่อสารที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจกันและกันเพื่อทำงานออกมาได้ตรงตามที่ดีไซน์เนอร์ออกแบบไว้แต่แรก จุดนี้แหละคือความยากของฝั่งดีไซน์เนอร์ด้าน Textile สายทอผ้าและย้อมผ้าที่ก็ยังเป็นปัญหากันอยู่ เราแก้ปัญหาโดยการลงพื้นที่จริงเพื่อเข้าไปคุยในจุดที่ติดขัดและช่วยเหลือคุณป้าแต่ละคน

เรามองว่าตรงนี้เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้เราหาคุณค่าให้กับตัวเองเพิ่มขึ้นด้วย จากที่รับงานมาทำคนเดียวจนรับไม่ไหวแล้ว จึงหาช่องทางกระจายงานให้คุณป้ากลุ่มแม่บ้านไปทำต่อ โดยที่เราเป็นคนออกแบบแพตเทิร์นให้พวกเขาซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางการหารายได้อีกทางหนึ่ง

ปัจจุบันร้านนี้ไม่ได้มีเพียงแค่เราคนเดียวเหมือนตอนแรกที่ตั้งใจเปิด เราเริ่มต้นทำร้านจากสิ่งที่ตัวเองรักก่อนโดยไม่ได้คิดถึงคนอื่นเลย แต่พอทำไประยะนึงเห็นช่องทางที่สามารถให้คนอื่นมาร่วมด้วยกันจากนี้ไปเราก็ทิ้งพวกเขาไม่ได้แล้ว เพราะคุณป้าแต่ละคนก็มีเทคนิคและความสามารถเฉพาะตัวของเขาเช่นนั้นเราควรมาซัพพอร์ตกันและกันดีกว่า

วิธีการแจกจ่ายงานให้กลุ่มคุณป้าแม่บ้านแต่ละคนจัดการยังไง 

เราจะแยกคุณป้าตามประเภทของงาน กลุ่มงานกิฟต์ กลุ่มผ้าโพกหัว หรือกลุ่มดอกไม้สายพันธุ์ตามแต่ละชนิด เช่น ดอกลิลลี่ ดอกทิวลิป หรือดอกกุหลาบ เป็นต้น เพราะผู้สูงอายุการจดจำจะเริ่มสั้นลง พวกเขาจะเน้นความเคยชินที่เป็นงานทำซ้ำๆ อยู่ในกรอบเซฟโซนของเขา วิธีการทำงานของเรากับพวกเขาจึงไม่ใช่การบังคับให้คุณป้าเปลี่ยน แต่ใช้การสังเกตวิธีการใช้ชีวิตของเขาและการทำงานของพวกเขาว่าทำมาแบบไหน ชอบทำแบบไหน 

เราจะเปลี่ยนสีและรูปแบบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่เราจะให้อิสระโดยไม่คำนึงถึงความสมบูรณ์แบบเพราะมันจะไม่เรียกว่าเป็นงานศิลปะ ใช้วิธีการกระจายงานไปตามความถนัดของแต่ละบุคคล ตอนนี้มีกลุ่มแม่บ้านที่รับงานไปช่วยทำอยู่ประมาณสิบคนที่อยู่ในพื้นที่แตกต่างกัน ในต่างจังหวัดคนทั่วไปอาจจะไม่มองเห็นคุณค่างานฝีมือแบบนี้ แต่พวกเขามีทักษะที่ดี ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้คือการช่วยดึงศักยภาพออกมาเพื่อให้คุณป้าเหล่านี้ได้ทำในสิ่งที่รักเหมือนเดิมและมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย

ส่วนวิธีการรับซื้องานแต่ละชิ้น เราจะถามก่อนพวกเขาว่าคิดราคาชิ้นนี้เท่าไหร่ ถ้ารับได้เหมาะกับการนำไปขายต่อ เราสามารถทำกำไรจากผลงานได้อีกนิดหน่อยก็ยินดีที่จะรับมาขาย ถ้ามากเกินไปก็จะไม่กดราคา แต่จะรอให้มีงานอื่นที่เหมาะกับคุณค่าของผลงานที่พวกเขาคิดว่าควรจะได้รับมาจ้างให้ทำแทน นี่เป็นวิธีการทำงานของเราเพราะทุกคนมีราคาฝีมือของตัวเอง ที่ทำแบบนี้เพราะเราเองก็เคยมีประสบการณ์โดนกดราคามาก่อน

ตอนนี้คนที่ดูแลคาเฟ่ประจำมีใครบ้าง

ที่ร้านจะมีพนักงานประจำ 1 คน ถ้าเราไม่ได้มีงานแสดงต่อเนื่องอย่างเช่นซีรีส์ที่ต้องถ่ายทำระยะยาว หลักๆ แล้วจะมาอยู่ที่ร้าน เพื่อนๆ สงสัยว่าทำไมเราถึงอยู่ร้านแทบทุกวันเลยไม่ให้เด็กที่ร้านดูแล เราแค่คิดว่าเราจะรู้ไม่รู้จุดบอดต่างๆ ในคาเฟ่เลยถ้าไม่ได้ดูแลด้วยตัวเอง รวมถึงการได้เข้ามาที่ร้านช่วยให้ซึมซับความรู้สึกของผู้คนที่เดินเข้ามาที่คาเฟ่นี้ด้วยเช่นกัน 

เราได้ให้กำลังใจคนที่เดินเข้ามาในคาเฟ่ ที่แต่ละวันก็ไม่รู้ว่าจะมีใครบ้างเข้ามาที่ร้าน นี่เป็นความพิเศษอย่างหนึ่งที่ทำให้ต้องเข้ามาที่นี่ เคยคุยกับน้องพนักงานว่าปกติแล้วร้านทั่วไปจะทักทายด้วยคำว่า สวัสดีค่ะยินดีต้อนรับ แต่เราคิดกันว่าอยากเปลี่ยนเป็นคำว่า “ยินดีต้อนรับกลับบ้านค่ะ” แทน สิ่งที่ทำให้อยากพูดคำนี้ก็เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ที่เปิดประตูเข้ามาเป็นคนที่เคยมาแล้วแวะเวียนกลับมาอีกครั้งเสมอ 

มองมโนภาพขวบปีต่อไปของคาเฟ่แห่งนี้ไว้อย่างไร 

ในปีต่อไปเราอยากให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมมากขึ้น แม้จะไม่ได้กำหนดอายุของกลุ่มลูกค้าแต่ด้วยความที่อยู่ใกล้กับสถานศึกษาจึงเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของเรา แต่เราอยากทำให้พื้นที่แห่งนี้เปิดรับลูกค้านอกเหนือจากเด็กนักเรียน นักศึกษาไว้ด้วย ซึ่งความตั้งใจของเราอยากทำให้เมืองนี้น่าอยู่มากขึ้นเพราะคาเฟ่นี้ก็ไม่ได้อยากเติบโตอย่างเพียงลำพัง 

วางแผนต่อไปของ Mano Handcraft Cafe ไว้อย่างไร

ปลายๆ ปีนี้ไปจนถึงต้นปีหน้าคิดว่าจะมีเวิร์กช็อปเพิ่มเข้ามา โดยชักชวนเพื่อนๆ น้องๆ ศิลปินที่มีความตั้งใจที่จะสอนงานคราฟต์มาร่วมกันจัดกิจกรรมกันที่นี่ด้วยกัน 

อะไรคือสิ่งที่ได้ระหว่างถักนิตติ้งนอกจากชิ้นงาน

เวลานั่งลงถักนิตติ้งทำให้เราได้เรียนรู้ชีวิต พอเราเหนื่อยกับงานหรือมีเรื่องราวมากมายเข้ามาในชีวิต การถักจึงเป็นการทบทวนชีวิตไปด้วย การได้ลองผิดลองถูกแล้วปรากฎผลออกมาให้เห็น ยกตัวอย่าง การถักผ้าพันสักผืนลวดลายที่เราถักจะเป็นลายที่ไม่เหมือนคนอื่น ผ้าพันคอผืนเดียวแต่ลวดลายที่ไม่สม่ำเสมอกันทั้งผืนนั้นก็เหมือนกับชีวิตคนที่มีช่วงเวลาขึ้นลง มีหลุมมีรูบ้างเหมือนชีวิตที่เดินมาผิดทาง แต่เราสามารถผ่านมันไปได้นะเพราะเราก็ยังถักต่อไป ถ้าไม่ไหวก็แค่วางมันลงแล้วไปพักก่อน 

แต่นิตติ้งสามารถกลับไปแก้ไขได้ แล้วชีวิตล่ะ

เราคิดว่าทั้งสองอย่างแก้ไขได้ สำหรับชีวิตเราก็ไปแก้ไขครั้งต่อไปได้เช่นกัน ไม่ได้จบแค่วันนี้ 

สำหรับใครที่อยากไปรับความอบอุ่นและทบทวนชีวิตผ่านการถักนิตติ้งพบกันได้ที่

Mano handcraft cafe

เปิดทุกวัน 11:00 – 20:00

แผนที่ https://maps.app.goo.gl/5wg15QMkRLoe3gLM6 

Facebook: Manohandcraft  

Instagram: manohandcraft


 ภาพ: วิทย์ อิสระศักดิ์

AUTHOR