สามย่าน แหล่งครบเครื่องความอร่อย

คนที่ผ่านไปมาแถวสามย่าน น่าจะพอคุ้นตากับผลงานศิลปะที่ติดอยู่บนรั้วโครงการก่อสร้างสามย่านมิตรทาวน์ (Samyan Mitrtown) กันบ้าง นี่คือโปรเจกต์ Artist Collaboration ของสามย่านมิตรทาวน์ที่ดำเนินมาถึงปีที่ 3 แล้ว ด้วยคอนเซปต์ของโครงการ ‘Urban Life Library’ ที่ตั้งใจเป็นพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์ จึงเนรมิตรรั้วของโครงการระหว่างการก่อสร้างเป็นพื้นที่ถ่ายทอดตัวตนของสามย่านมิตรทาวน์และชุมชนโดยรอบ ผ่านผลงานของศิลปินหลากแขนงและหลายคน ในปีนี้เป็นคราวของ 4 ช่างภาพที่มีแนวทางเฉพาะตัวจะมาอวดผลงานภาพถ่ายของพวกเขาบนรั้วนี้กัน

สำหรับช่างภาพคนแรกที่เราจะชวนให้ทุกคนเปิดตารับรู้สามย่านในความหมายใหม่คือคเชนทร์ วงศ์แหลมทอง บรรณาธิการภาพของนิตยสาร a day นี่เอง กับผลงานชื่อ ‘สามย่าน แหล่งครบเครื่องความอร่อย’ ที่คเชนทร์เลือกหยิบเสน่ห์ของสามย่านที่ใครหลายคนก็ติดใจอย่าง ‘อาหาร’ มาถ่ายทอด ชุมชนที่มีของกินทั้งคาวหวานคึกคักตลอดวันถูกนำเสนอผ่านสไตล์ภาพแอ็บสแตรกท์ที่คเชนทร์สะท้อนกับวัตถุมันวาวและความเงาของพื้นผิวต่างๆ ในร้านอาหาร ออกมาเป็นภาพแปลกตาที่ชวนให้หยุดมอง

เบื้องหลังไอเดียของภาพถ่ายเซตนี้คืออะไร เราชวนคเชนทร์มาเล่าให้ฟังแล้ว

ชุมชนสามย่านมีหลายมิติให้เลือกถ่ายทอดในงาน ทำไมครั้งนี้ถึงเลือกจะสื่อสารเรื่องอาหารออกมา

สามย่านมีร้านอาหารเยอะมากและเราก็เคยชินกับย่านนี้อยู่แล้ว รู้สึกว่าที่นี่เหมือนโรงอาหารขนาดใหญ่ที่ไม่ว่าจะพนักงานออฟฟิศหรือเด็กก็จะมากินกันช่วงพักกลางวัน ราคาหลากหลาย เลยรู้สึกในมุมมองเรื่องของอาหารในสามย่าน

การเลือกร้านอาหารที่ถ่ายครั้งนี้มีหลักเกณฑ์ยังไงบ้าง

เราเลือกจากความเก๋า ขลัง และมีเสน่ห์ของร้าน อย่างที่บอกว่าย่านนี้มีร้านอาหารค่อนข้างหลากหลาย เช่น ร้านเก่าที่อยู่มานาน ร้านใหม่ก็มี การตกแต่งร้านของแต่ละร้านก็มียุคสมัยที่แตกต่างกัน ร้านข้าวที่อยู่มานานก็จะมีกลิ่นอายของความเก๋า ความน่าอร่อยอยู่ในนั้น ส่วนร้านใหม่ๆ ก็จะมีความโมเดิร์นเพื่อเป็นทางเลือกให้กับคนที่เข้ามา สามย่านเลยมีทุกอย่าง แล้วที่นี่ยังเป็นแหล่งผลิตข้าวกล่องที่ค่อนข้างใหญ่ด้วยเหมือนกัน

พอพูดถึงการเล่าเรื่องอาหารในย่านอาจฟังดูธรรมดา คุณมีวิธียังไงทำให้ภาพถ่ายเซตนี้พิเศษขึ้นมา

เราหาเรื่องสีมาช่วยเรื่องจุดเด่น จุดด้อย ทำให้เอฟเฟกต์การสะท้อนน่าสนใจขึ้น วัสดุที่นำมาใช้ก็เน้นเป็นวัสดุที่ผิวมันวาวที่มีหลากหลายแบบ เช่น ฟิล์มติดรถยนต์ ฟอยล์ อะคริลิค พลาสติก เพื่อให้เกิดเอฟเฟกต์ต่างๆ อย่างที่ตั้งใจไว้ สำหรับภาพถ่ายเซตนี้ แบบของเราเลยเป็น object ซึ่งก็รวมถึงร้านอาหารต่างๆ ในย่านด้วย

ทำไมถึงเลือกที่จะใช้องค์ประกอบที่มีพื้นผิวมันวาวมาเป็นเทคนิคหลักในการถ่ายภาพเซตนี้

เราอยากพูดถึงมุมของการสะท้อนอาหารและร้านในย่านนี้ ตอนที่มาสำรวจ เราเห็นว่าในย่านจะมีรถจอดอยู่ มีการสะท้อนของกระจกรถที่จอดอยู่ด้านหน้าร้านอาหาร การสะท้อนจากหน้าร้าน มันคือเอฟเฟกต์หนึ่งทำให้เราไม่อยากสื่อสารตรงๆ แบบที่เคยทำ เราอยากพูดถึงการสะท้อนและความแอ็บสแตรกท์ แรงบันดาลใจมาจากการที่มาสำรวจสามย่านในช่วงฤดูฝน ได้พบรีเฟล็คน้ำ รีเฟลกต์กระจกที่มันเลอะ เลยอยากจะนำเสนอในมุมนั้นออกมา

การถ่ายภาพสไตล์แอ็บสแตรกท์จะทำให้คนตีความหรือได้รับสารเรื่อง ‘แหล่งรวบรวมของกิน’ ของสามย่านอย่างไร

มันคือมุมมองใหม่ที่เรามองร้านรวงในย่านนี้ อยากให้คนดูเกิดคำถามว่านี่คือภาพจากร้านในย่านนี้จริงเหรอ คืออะไร อยู่ตรงไหน แล้วเราใช้เอฟเฟกต์อะไรในการสะท้อนภาพ เราตั้งใจที่จะไม่บอกตรงๆ ว่าร้านนี้ชื่ออะไร เราไม่ได้อยากพรีเซนต์ว่าร้านนี้เด่น ร้านนี้ดัง เพราะเราไม่ได้ถ่ายภาพเพื่อรีวิวร้าน ไม่ได้อยากบอกว่าอาหารนี้น่ากิน เราจึงไม่มุ่งเน้นถ่ายภาพอาหารให้สวย แต่เน้นนำเสนอเรื่องของเซนส์ด้านอาหารของสามย่านอย่างมีชั้นเชิงว่า สามย่านเป็นย่านที่มีของกินเยอะ เปรียบเหมือนโรงอาหารขนาดใหญ่ของนิสิต นักศึกษา หรือคนทำงาน

งานครั้งนี้มีความท้าทายอย่างไรบ้าง

ปกติเราไม่ได้ทำงานในมุมของ still life งานครั้งนี้เลยเป็นการทดลอง ก็เริ่มทดลองตั้งแต่เราจะหาวัสดุอะไรมาสะท้อนกับวัตถุนั้นๆ แล้วจะให้เอฟเฟกต์ที่ดูบิดเบือนอย่างไร และถึงแม้จะให้ภาพที่ดูบิดเบือน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ยังเป็นเรื่องราวที่อยู่รอบๆ สามย่านที่จริงแท้อยู่ การทำงานครั้งนี้ก็เหมือนกับว่าเป็นสิ่งที่เราทำไปด้วย ทดลองไปด้วย และในระหว่างทางก็ทำให้เราจับทางอะไรได้ในหลายๆ อย่าง


Street View คือคอลัมน์เล่าคอนเซปต์ แรงบันดาลใจ และวิธีคิดเบื้องหลังผลงาน Photographic Art ของ 4 ช่างภาพในโปรเจกต์ Samyan Mitrtown Artist Collaboration ในปีที่ 3 ติดตามบทสัมภาษณ์ของศิลปินคนต่อไปได้ในสัปดาห์หน้า และอย่าลืมแวะไปชมผลงานจริงของศิลปินได้ที่โครงการ Samyan Mitrtown (MRT สามย่าน ทางออก 2)

samyan-mitrtown.com

 

AUTHOR