ที่ใหม่หัวใจดวงเดิม คุยกับทีมผู้ออกแบบ House Samyan ผ่านคอนเซปต์ ‘บ้านในบ้าน’

Highlights

  • ก่อนที่โรงหนัง House Samyan จะเผยโฉมสู่สายตาสาธารณชนครั้งแรก เราอยากชวนทุกคนมาฟังแนวคิดการออกแบบจากทีมผู้ออกแบบ ได้แก่ คมสัน นันทจิต, บอย–ตรัย ภูมิรัตน, ตั้ม–สถาปัตย์ ธีรนิตยภาพ และ ออส–สุเมธ ฐิตาริยกุล
  • การรวมตัวของพวกเขาเกิดขึ้นจากการที่ จ๋อง–พงศ์นรินทร์ อุลิศ ผู้บริหารโรงหนัง House อยากได้โรงหนังที่หน้าตาไม่เหมือนใคร ไม่อิงกับยุคสมัย เขาจึงมองหากลุ่มคนที่มีพื้นฐานด้านการออกแบบ แต่ไม่ได้คลุกคลีทำเป็นงานประจำ ทั้งยังเป็นแฟนโรงหนังมาช่วยสร้างภาพใหม่ของโรงหนังให้
  • บรีฟสำคัญในการออกแบบครั้งนี้คือ 'น่ารัก' ซึ่งหน้าตาของ House Samyan จะออกมาน่ารักจริงไหม ก็ต้องไปพิสูจน์กัน

สำหรับคอหนังสายอินดี้ House คือโรงภาพยนตร์อันดับหนึ่งในดวงใจอย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยความที่ฉายหนังนอกกระแส หลากหลาย และหาดูไม่ได้จากที่ไหน ทำให้ตรงนี้เองที่เป็นจุดแข็งและเอกลักษณ์เฉพาะตัวของโรงหนังแห่งนี้

ย้อนไปเมื่อ 15 ปีก่อนที่โรงหนัง House ได้ถือกำเนิดขึ้น ในแวดวงคนดูหนังคงถือเป็นโชคดีที่มีคนกล้าคิด กล้าทำ และกล้าเปิดโรงหนังทางเลือกท่ามกลางโรงหนังกระแสหลัก และกาลเวลาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าหนังนอกกระแสยังมีที่ยืน ยิ่งไปกว่านั้นยังดูมีที่ทางมากขึ้นในยุคที่ใครๆ ก็ใช้โซเชียลมีเดียแชร์ข่าว ความชอบ และรสนิยม อะไรที่เคยอยู่ในวงคุยแคบๆ แสนจำกัดก็เริ่มกระจายวงกว้างมากขึ้น

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โรงหนัง House หรือ House RCA ที่เราเรียกติดปากได้ประกาศย้ายไปอยู่ที่ใหม่ ณ โครงการสามย่านมิตรทาวน์ สร้างความเซอร์ไพรส์ให้คอหนังไม่น้อย

และ 20 กันยายนนี้จะเป็นวันที่ห้างสรรพสินค้าแห่งนี้เปิดให้ใช้บริการ ถือเป็นการเผยโฉมโรงหนัง House Samyan สู่สายตาสาธารณชนครั้งแรก โดยได้ทีมนักออกแบบผู้จบสถาปัตย์ที่ชื่อคุ้นหูคนฟังเพลงไทยอย่าง คมสัน นันทจิต, บอย–ตรัย ภูมิรัตน, ตั้ม–สถาปัตย์ ธีรนิตยภาพ และเสริมทัพด้วยสถาปนิกมืออาชีพ ออส–สุเมธ ฐิตาริยกุล มาร่วมกันออกแบบ รังสรรค์ หน้าตาใหม่ของโรงหนังอันเป็นที่รักของใครหลายคน

ดังนั้น ก่อนจะหัดพูดชื่อ House Samyan ให้ติดปาก เราอยากชวนทุกคนมาฟังที่มาที่ไปในการออกแบบ รวมถึงเหตุผลที่ จ๋อง–พงศ์นรินทร์ อุลิศ ผู้บริหารโรงหนัง House เลือกพวกทั้ง 4 คนเขามาทำงานร่วมกัน เพื่อที่เวลาไปดูหนังที่นั่น เราจะได้ซึมซับความเป็น House ได้ทุกอณูอย่างแท้จริง

ทำไมถึงเลือก 4 คนนี้มาออกแบบโรงหนังใหม่ให้

จ๋อง : เราทำโรงหนังมาแค่ครั้งเดียวที่ House RCA และได้โรงหนังที่หน้าตาเป็นอย่างใจหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่อย่างน้อยที่รู้ๆ คือ เราอยากได้โรงหนังที่หน้าตาไม่เหมือนโรงหนังทั่วไป และก็ได้จริงๆ ด้วย มันสำเร็จถึงขั้นคนตั้งใจมาดูหนัง แต่เดินเข้ามาถึงหน้าประตูแล้วไม่แน่ใจว่าใช่ที่นี่หรือเปล่า จนเดินกลับกันไปหลายคนเหมือนกัน แสดงว่ามันถูกต้องแน่ๆ เลย

ทีนี้พอมีโอกาสที่ได้ทำใหม่ที่สามย่านก็ต่างจากครั้งแรกมากเหมือนกันตรงที่เรารู้แล้วล่ะว่า เราอยากได้โรงหนังหน้าตา บรรยากาศ ไม่เหมือนใครแน่ๆ แต่จะหาคนออกแบบจากไหนดี ทุกวันนี้งานออกแบบเจริญงอกงามมากเหลือเกิน มีสถาปนิกที่มีชื่อเสียงมากมายจนไม่รู้ว่าจะเลือกใครที่เข้าใจเราเท่าที่เราอยากให้มันเป็น ก็เลยคิดว่าน่าจะเอาคนที่เป็นแฟนโรงหนังมา เป็นคนที่ทำงานออกแบบได้ และรู้จัก House ดีพอ มันน่าจะเป็นงานที่ทำจากหลายๆ คน เราก็กวาดตามองไปทั่ว สถาปนิกก็มีเยอะจนเลือกไม่ถูก สงสัยต้องหาจากวงการอื่น เอาคนที่พอจะมีความรู้ความสามารถด้านสถาปัตยกรรม แต่ปัจจุบันไม่ได้อยู่กับงานสถาปนิก

 

เพราะต้องการความแปลกใหม่ด้วยหรือเปล่า

จ๋อง : ผมเดาเอาเองนะว่าโอกาสที่เลือกคนทำงานสถาปัตย์เป็นงานประจำในปัจจุบันจะได้งานที่เป็นเทรนด์หรือเปล่า จะเป็นสไตล์ที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบันหรืออนาคตอันใกล้ไหม เพราะเราอยากได้โรงหนังที่อยู่ไปนานๆ โดยหน้าตาไม่มีผล อย่าง House RCA ที่อยู่ของมันมา 15 ปี พูดไม่ได้ว่าใหม่หรือเก่า มันหน้าตาเหมือนเดิม ไม่มีคำว่ายุคสมัยมาเกี่ยวข้องตั้งแต่แรก แล้วเราไม่มีความรู้ด้วยว่าอันไหนคือยุคสมัยหรือไม่ใช่ เลยคิดว่าเริ่มจากคนที่ไม่ค่อยรู้เรื่องดีกว่า

เนื่องจากเป็นสามย่านเลยอยากใช้สัก 3 คน เราก็กวาดตาไปทั่ววงการแล้วก็เห็น 3 คนนั้น นั่นคือ คมสัน สถาปนิกที่ปัจจุบันเป็นนักแสดงและดีเจ บอย ตรัย ครูเพลงที่จบสถาปัตย์และแต่งเพลงไป 300 กว่าเพลง อีกคนคือ ตั้ม ซึ่งชื่อจริงคือสถาปัตย์ว่ะ มันต้องทำได้ แต่พักเดียวก็ทราบแล้วว่าเราจะได้ไอเดียที่แตกต่างและหลากหลายมาก แต่คงไม่ได้แบบออกมา ทั้ง 3 คนนี้เลยไปเชิญออสมา ซึ่งสามารถทำสิ่งที่พูดให้ออกมาอยู่ในกระดาษวาดแบบได้ เลยกลายเป็นโปรเจกต์พระราม 4 แทนโปรเจกต์ 3 ย่าน

ความรู้สึกของแต่ละคนตอนที่จ๋องชวนมาออกแบบโรงหนังใหม่

คมสัน : ตอนจ๋องชวนทีแรกก็ตกใจ เพราะไม่ได้ทำงานออกแบบมานานมาก ความจริงตอนผมจบมาก็ทำงานสถาปัตย์อยู่ 5 ปี พอจ๋องบอกว่าทำกับตั้มกับบอย ตอนนั้นออสยังไม่มา ก็มองว่าน่าสนุกดี ได้ทำงานกับเพื่อน เป็นโรงภาพยนตร์ที่เราชอบ เพราะรู้สึกผูกพัน อยู่มาตั้งแต่เริ่มสร้างใหม่จน 15 ปี คิดว่าถ้าครั้งหนึ่งในชีวิตได้มีส่วนร่วมในการสร้าง House ขึ้นมาก็น่าสนใจดี

บอย : เราไม่มีความสงสัยเลย เพราะเป็นคนที่ศรัทธาในตัวพี่จ๋องมาตลอด ชอบชวนไปทำอะไรดีๆ อย่างเล่นละครเวทีและจัดรายการวิทยุ อันนี้เป็นอีกโจทย์หนึ่งที่น่าสนุก แล้วมีพี่คมสันกับตั้มมาด้วย และเราก็จะได้มีโปรไฟล์ว่าเป็นดีไซเนอร์ของโรงหนังที่เรารัก

ตั้ม : ตอนแรกพี่จ๋องบอกว่าไม่อยากได้สถาปนิกที่เก่งฉกาจ เราก็เฮ้ย! เข้าเค้าแล้ว พอบอกว่าไม่ต้องรู้เรื่องก็ได้ ก็เอ้า! ผมเลยสิ อันนี้คือการสร้างความมั่นใจที่ถูกทางมากๆ แล้วก็รู้ว่าไม่ได้ทำคนเดียวนะ แต่มีทีมที่มีคาแร็กเตอร์พิเศษที่พี่จ๋องมองว่าส่วนผสมสำคัญกว่าปลายทาง เลยคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีมากๆ

 

บรีฟการออกแบบของโรงหนังแห่งใหม่คืออะไร

จ๋อง : House มันเป็นนามธรรมเนอะ หน้าตาจะเป็นแบบไหนยังไง เราก็พูดกันตลอดว่า House คือบรรยากาศที่เกิดขึ้นจากหนังที่เราฉายและคนที่มาดู ตัวกายภาพที่จับต้องได้มันไม่เกี่ยวเลยว่ะ จริงๆ โรงหนังหน้าตาเป็นอะไรก็ได้ แต่คนที่มากับหนังที่ฉายนั่นแหละที่จะสร้างให้เป็น House ก็บอกพวกนี้ไปอย่างเดียวว่าหวังว่ามันจะออกมาหน้าตาน่ารัก ซึ่งเป็นบรีฟที่ทุเรศมาก แล้วมันก็มีผลต่อมาคือพอเขาเสนอแบบมา เราก็ตอบไม่ค่อยได้ว่าใช่หรือไม่ใช่ เพราะเราไม่รู้ว่าอะไรคือใช่ไง จะไปตอบว่าไม่ใช่ก็ตอบไม่ได้ โชคดีที่พวกเขาคิดคอนเซปต์ที่น่าสนใจออกมาได้

คมสัน : ตอนที่ได้รายละเอียดมาครั้งแรก นอกจากบรีฟของจ๋อง มันมีตำแหน่งโรงหนังแล้ว เลยเริ่มจากตรงนั้นเป็นพื้นฐาน เราก็ไปดูไซต์กัน รู้สึกว่าห้างมันใหญ่ เพดานสูงมาก ที่เจ๋งคือตำแหน่งสวย ขึ้นบันไดเลื่อนมาก็เห็น House เลย เลยมานั่งคุยกันว่าในความรู้สึกของพวกเรา House คืออะไร ได้คำตอบว่ามันคือบรรยากาศ เป็นบรรยากาศที่ไม่เหมือนโรงหนังที่ไหน เดินเข้ามาแล้วรู้สึกว่าเป็นโรงหนังที่ไม่เหมือนโรงหนัง แล้วมันเป็นยังไงอีกนะ พอเข้ามาแล้วอบอุ่น มันดูเป็นบ้าน ตรงกับชื่อ House เป็นบ้านเพื่อนที่ฉายหนังดีๆ ให้เราดู เลยเริ่มจากไอเดียแรกที่ว่ามันเป็นบ้านที่อยู่ในบ้าน เป็นตึกที่อยู่ในตึก

คอนเซปต์แรกเลยคือบ้านที่อยู่ในสามย่านมิตรทาวน์ มาที่นี่เหมือนมีบ้านของเพื่อนเราแอบแฝงอยู่ในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ซึ่งบ้านหลังนี้คือโรงหนัง

จ๋อง : สิ่งหนึ่งที่ทำให้หน้าตาโรงหนังใหม่ไม่เหมือนที่นี่อยู่แล้วคือลักษณะพื้นที่ด้วย ที่ House RCA เรารีโนเวตจากโรงหนังเก่า ซึ่งเป็นพื้นที่ปิด เดินเข้ามาก็เจอสภาพโถงยาวๆ ไปสู่โรงหนังข้างใน ไม่มีแสงสว่างส่องเข้ามา แต่ที่สามย่านมิตรทาวน์อยู่ชั้น 5 แล้วพื้นที่สว่างมาก เป็นกระจกยาวๆ รับแสงต่างจากที่นี่โดยสิ้นเชิง ความวอร์มของไฟที่นี่จะไม่เหมือนที่นั่นเลย แสงธรรมชาติมากๆ เป็นโถงกระจก ทำให้ภาพดูเป็นอีกแบบ บ้านที่เคยดูเป็นภายในหน่อยจะมีความเป็นบ้านภายนอกมากขึ้น กลายเป็นที่มาของการออกแบบต่อไป

บรรยากาศการทำงานเป็นยังไงบ้าง

ตั้ม : มันเป็นการพูดคุยกันในเรื่องเก่ากับใหม่ ไม่ใช่เชิงแข่งกันว่าใครดีกว่า ทุกคนที่ออกแบบมีความผูกพันกับที่ RCA อยู่แล้ว ผมว่าทุกคนแวบมาดูหนังที่ House กันบ่อยมากและมีความผูกพันอยู่แล้ว พอทุกคนมีแบ็กกราวนด์ร่วมกัน เวลาคุยกันเรื่องดีไซน์เลยไม่ต้องมานั่งดูว่าอะไรที่อยากยกไป เพราะถ้าเป็นสถาปนิกคนอื่นที่ไม่เคยมาที่นี่หรือชอบดูหนัง หรือไม่ได้มีพฤติกรรมที่มา House บ่อยๆ ก็จะต้องใช้เวลามาสังเกต แต่ทั้งสามคนและพี่ออสก็คุ้นเคยอยู่แล้ว เลยคิดว่ามันเป็นวิธีการออกแบบที่คลุกวงในได้ตั้งแต่วันแรก และจากบรีฟพี่จ๋องที่กว้างๆ ก็กลับกลายเป็นเปิดจินตนาการ

 

แล้วพอตั้งต้นจากพื้นที่ มีวิธีการคิดออกแบบยังไงต่อ

คมสัน : พอสเปซเป็นแบบนั้น มันเอื้อให้เราสามารถสร้างบ้านในบ้านได้

บอย : มีการถอดฟังก์ชั่นทั้งหลายออกเป็นฟังก์ชั่นในบ้านด้วย

คมสัน : โถงบ้านเป็นนอกชาน เดินขึ้นมาจากบันไดเลื่อนและลิฟต์ เจอห้องรับแขกรอต้อนรับ ความน่าสนใจอีกอย่างคือ ทางสัญจรมันคล้ายๆ House RCA มีอะไรบางอย่างที่ทำให้นึกถึงกัน เพราะที่นี่เดินมาเจอโถง จะเข้าโรงหนังต้องเดินมาทางนี้ มีที่นั่งข้างใน ส่วนที่ใหม่ก็ไม่รู้ว่ามีสิ่งศักด์สิทธ์อะไรดลบันดาลหรือเปล่า เจอโถง เดินเข้าโรงหนัง แล้วไปเจอโถงมหึมาที่ลักษณะคล้ายๆ กัน เป็นของใหม่กับของเก่าที่ปนอยู่ได้ในฟังก์ชั่นโดยบังเอิญ

ตั้ม : ผมว่าภาพรวมที่คนรับรู้ House มาตลอดคือ เข้ามาปุ๊บเหมือนอยู่ในบ้าน พอที่นู่นโอกาสมันเอื้อให้เราสามารถคลี่มันออก และเห็นข้างนอก-ข้างใน มีในบ้าน-นอกบ้านสลับกันไป

คมสัน : สเกตช์แรกเลยเหมือนบ้าน ซึ่งมันจริงไป ก็ลดทอนกันเรื่อยๆ มีนอกชาน เสาไฟ อะไรเต็มไปหมด

ตั้ม : แล้วเพดานสูงมาก เราก็เล่นอะไรกับสเปซพวกนี้ ช่วยทำให้ไม่ใหญ่จนเกินไป ลดทอนสเปซลงมา สุดท้ายแล้วแบบมันก็ยังอยู่ในคอนเซปต์เดิม บางมุมเหมือนเราเห็นข้างในหรือบางทีเรารู้สึกว่าอยู่ข้างใน บางพาร์ตเหมือนเราอยู่ข้างนอกแล้วเราเห็นเปลือกมัน

ในฐานะที่ออสเป็นสถาปนิกมืออาชีพ เราจัดการกับไอเดียทั้งหมดยังไงต่อ

ออส : เราก็จับคอนเซปต์นี้ไปลงแต่ละพื้นที่และแปลงแต่ละอันให้เป็นความหมายอย่างที่พี่คมสันบอก ลองเปลี่ยนหลายแบบมาก จนมาดูเรื่องความรู้สึกที่ทำยังไงให้มีความเป็น House ซึ่งแตกต่างจากโรงหนังทั่วไปที่เรารู้จัก และไม่ใช่อาร์ตเฮาส์ฉายหนังประหลาดๆ และต้องเท่มากๆ เราต้องการทำบรรยากาศให้รู้สึกว่าเป็นบ้าน

คมสัน : มีอยู่ครั้งหนึ่งที่รู้สึกว่ามันจริงไป เกร็งไป ออกมาแล้วเท่ไป ผมต้องบอกทุกคนให้เขียนติดข้างฝาว่า ‘cozy’ มันคือบ้านที่อบอุ่น ต้อนรับมนุษย์ เราทิ้งตรงนี้ไปไม่ได้

 

แล้วพอมาทำงานร่วมกันจริงๆ อาชีพ ความสนิท และความเป็นเพื่อน มันส่งผลอะไรถึงกันบ้าง

บอย : ต้องรู้จักเป็นโซ่ข้อกลาง เพราะถึงเวลาจริงๆ ทุกคนมีความคิดและเหตุผลของตัวเองที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าบางทีมันทำให้เกิดความขัดแย้ง ต้องมีคนหนึ่งที่ทำหน้าที่นี้ รวมถึงการได้เรียนรู้ว่าบางทีต้องหยุดรอกันหรือใช้การประสานเพื่อให้เดินต่อได้

ตั้ม : ผมนึกถึงวันแรกที่พี่จ๋องมาชวน มองย้อนกลับไปว่าถ้าเราจะคิดนอกกรอบแต่ไปหาคนที่อยู่ในกรอบคิด มันก็อาจทำได้ยาก ผมว่ามันเป็นความท้าทายที่เปิดโลกผมดี

คมสัน : เวลาทำงานร่วมกันมันก็มีคนนี้คิดอย่าง อีกคนคิดอย่าง แต่ผมชอบเวลาที่มีความคิดบางอย่างออกมาแล้วทุกคนเห็นด้วย

ออส : สำหรับผมคล้ายเป็นเรื่องใหม่ เพราะวิธีคิดงานชิ้นนี้ไม่เหมือนวิธีคิดสถาปัตย์ทั่วไป เป็นเรื่องยากในการที่จะเขย่าวัตถุดิบทั้งหมดให้เป็นก้อนใดก้อนหนึ่ง ทำให้มันกลมกลืนเข้ากัน แต่ผมใช้วิธีคล้ายๆ นี้กับบ้านตั้มมาก่อน เพราะเราเริ่มดีไซน์จากสิ่งที่ไม่ใช่ความคิดของเราให้งานเป็นความคิดของทุกคน และสามารถเปลี่ยนได้ตลอดเวลา มันเหมือนกับการดีไซน์โดยไม่ต้องดีไซน์

จ๋องเห็นอะไรจากการให้พวกเขามาร่วมงานกัน

จ๋อง : เขาเป็นเพื่อนกัน ปกติก็คุยกันฮิฮะ แต่ไม่เคยคุยเรื่องการออกแบบ ใครชอบอะไรก็สปอยล์กันอย่างเดียว พอวันหนึ่งต้องมีการนำเสนอความคิดหรือมีการต่อสู้กันทางความคิดก็กลายเป็นบรรยากาศที่เขาไม่เคยเจอ แล้วเขาจะเห็นตัวเองและตัวตนของเพื่อนในมุมมองใหม่

บอย : ผมชอบความคิดหนึ่งที่คิดเสมอว่าในวันที่มันเสร็จ เราจะไปนั่งดูหนังด้วยกัน

คมสัน : มีรูปที่เราถ่ายตอนไปดูไซต์ครั้งแรกด้วยกันทั้งหมด มีอุ๋ย–ชมศจี เตชะรัตนประเสริฐ อีกคน เราก็ไปยืนถ่ายด้วยกัน ไว้รอเสร็จนะแล้วจะมาถ่ายมุมนี้ด้วยกัน

ตกลงแล้ว House สำหรับทุกคนคืออะไร

ออส : House เหมือนเป็นหนังสือหรือหนังที่เราดูแล้วตีความได้ไม่เหมือนคนอื่น มันมีพล็อตที่เขาวางมาเป็นแบบนี้ ความตั้งใจของผู้กำกับหรือคนเขียนบทเป็นแบบนี้ แต่พอเราไปดู ไปอ่านปุ๊บ มันมีมิติใหม่เกิดขึ้น เป็นหนังหรือหนังสือที่รู้สึกว่าเรารักหรือผูกพันกับมันได้

บอย : สำหรับผม House เหมือนเพลงแล้วกัน เป็นเพลงที่คนดูร้องด้วยกัน พวกเราร้องด้วยกัน

คมสัน : ผมว่าการดูหนังที่ House เหมือนไปบ้านเพื่อน เพื่อนสนิทที่เข้าใจเรา คอยเลือกหนังที่เราชอบมาฉายให้เราดูเสมอ

ตั้ม : เวลาเราไปดูหนังที่ไหน มันคือการไปอีกที่หนึ่ง พอเราไปนั่งแล้วไฟดับ สองชั่วโมงนั้นเราไปอยู่ที่อื่น แล้วเราก็เดินออกมา ถ้าเป็นประสบการณ์ของตัวผมจากการดูหนังหลายๆ ที่ เทียบกับโรงหนังแห่งอื่นผมจะจำอะไรไม่ค่อยได้ แต่ผมจำบรรยากาศก่อนดูกับหลังดูที่นี่ได้ House คืออันนั้น ซึ่งกลายเป็นที่มาของเวลาออกแบบด้วย ในใจก็พยายามระลึกถึงสิ่งนี้ และคิดว่าเป็นสิ่งที่ควรคงไว้

คมสัน : พูดถึงตรงนี้แล้วขอเสริมคอนเซปต์ในการออกแบบอีกหน่อย พอได้ไอเดียต่างๆ นานาที่เป็นอาคารแล้ว เราก็มีจุดหนึ่งที่คิดว่า House คือสิ่งที่อยู่ในใจทุกคน เราเลยพยายามมานั่งที่นี่ เพื่อดูและถอดอะไรบางอย่างไปใช้ในโรงหนังใหม่ด้วย อยากให้มีบางจุดที่เดินไปแล้วมันคือ House ที่เราจำได้ เป็น nostalgia ผสมทั้งใหม่และเก่า เราพยายามให้มีองค์ประกอบพวกนี้ซึ่งเราใส่ไว้หลายอย่างเลย ใครที่เป็นแฟนเจอแล้วจะดีใจ ถึงแม้จะเป็นที่ใหม่แต่ก็รำลึกถึง House ที่นี่เสมอ พวกผมทุกคนผูกพันก็เลยพยายามเอาความผูกพันนี้ไปใส่ในที่ใหม่ด้วย

นอกจากการเปลี่ยนแปลงหน้าตาโรงหนัง โลโก้ใหม่ที่ออกแบบโดย เกรซ–นวรัตน์ เตชะรัตนประเสริฐ และทำเลที่เดินทางสะดวกขึ้น เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดใหญ่ของ House RCA แล้ว โรงหนังแห่งใหม่จะฉายหนังได้มากขึ้นจากโรงฉายที่เพิ่มจำนวนเป็น 3 โรง ทั้งยังเปิดให้บริการระบบจองตั๋วออนไลน์รองรับคอหนังหน้าเก่าและหน้าใหม่ นี่ยังไม่นับรวมเทศกาลหนังต่างๆ ที่ทาง House Samyan จัดเต็มมาเอาใจคนชอบดูหนังเก่า หนังหายาก และหนังประเทศอื่นๆ ที่ไม่อยู่ในกระแสหลักตลอดทั้งปี

เตรียมตัวสัมผัสประสบการณ์โรงหนังใหม่ หัวใจดวงเดิม ได้ที่โครงการสามย่านมิตรทาวน์ วันที่ 26 กันยายนนี้


ติดตามข้อมูลของ House Samyan ได้ ที่นี่

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!