หรือการเล่าเรื่องที่เหมาะกับปัจจุบันมากที่สุด คือการกลับไปดูว่าหนังสือเด็กเล่าเรื่องราวยังไง?

Highlights

  • Mario Garcia คือผู้อยู่เบื้องหลัง และผู้ผ่านจุดปฏิวัติสิ่งพิมพ์มาหลายช่วง จากหนังสือพิมพ์ขาว-ดำเป็นภาพสี จนถึงยุคที่ยากและเหนื่อยที่สุด นั่นคืออินเทอร์เน็ต
  • ออกหนังสือชื่อว่า Storytelling ที่พูดถึงเนื้อหาบนสื่อในปัจจุบันโดยเชื่อว่า ไม่ว่าบนสื่ออะไร หากเรามีเนื้อหาที่ดีคนอ่านจะตามเรามา “People follow good contents”
  • มาริโอแนะว่าสื่อออนไลน์ให้นำเสนอให้ได้เหมือนหนังสือเด็ก นั่นคือภาพและเนื้อหามาพร้อมกัน สั้น แต่เข้าใจง่าย เพราะคุณมีเวลาเพียง 4 วินาที

หากใครสักคนบอกว่า storytelling ในยุคดิจิทัลแบบนี้คือชายอายุ 72 ปี ที่ทำงานด้านออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์มากว่า 47 ปี คุณจะรู้สึกอย่างไร

ที่เราพูดถึงคือ Mario Garcia ชายผู้อยู่เบื้องหลังการรีแบรนด์นิตยสารและหนังสือพิมพ์หลายร้อยฉบับ เช่น Washington Post, New York Times, Die  Zeit เขาผ่านจุดปฏิวัติสิ่งพิมพ์มาหลายช่วง ตั้งแต่เปลี่ยนผ่านกระบวนการผลิตจาก Hot Type มา Cold Type จากหนังสือพิมพ์ขาว-ดำมาสู่ภาพสี จวบจนการเปลี่ยนผ่านในปัจจุบันที่มาริโอบอกว่าเป็นยุคที่ยากและเหนื่อยที่สุด คือยุคของการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่อินเทอร์เน็ต

ไม่นานนี้มาริโอออกหนังสือเล่มที่สองในจำนวนตอนต่อสามเล่มชื่อว่า Storytelling ในหนังสือมาริโอบอกถึงความสำคัญต่างๆ เขาตั้งคำถามว่า What is happy medium? พร้อมกันนั้นเขาก็นำทางไปสู่คำตอบที่ว่า “People follow good contents” หมายถึงไม่ว่าจะที่ใด บนสื่ออะไร หากเรามีเนื้อหาที่ดีคนอ่านจะตามเรามา แต่ต้องเข้าใจกฎอย่างหนึ่งว่า “No One Size Fit All”

 

มาริโอบอกว่าเมื่อพูดถึงหนังสือพิมพ์เราจะมองภาพและส่วนผสมเป็นจัตุรัส การเขียน การวางตำแหน่งภาพ การจัดหน้า การอ่าน จะเป็นไปตามลักษณะสี่เหลี่ยมจัตุรัส แต่เมื่อเราคิดถึง online media เราจะมองกลับกัน สื่อออนไลน์มีเพียงคอลัมน์เดียว และเปลี่ยนมุมมองเป็นแนวตั้งแทน เพราะฉะนั้นการเขียนเนื้อหาระหว่างลงบนสื่อสิ่งพิมพ์ปกติและสื่อออนไลน์ต้องมีการนำเสนอเนื้อหาที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง นี่คือเหตุผลที่ทำไมเขาจึงบอกว่า No One Size Fit All ทั้งยังเน้นย้ำว่าคุณมีเวลาเพียง 4 วินาทีในการตอบโจทย์คนอ่านสื่อออนไลน์ ว่าเนื้อหาที่นำเสนอ การวางเลย์เอาต์และภาพเหมาะที่จะอ่านต่อหรือไม่ เพราะฉะนั้นสี่วินาทีนี้จึงเป็นเวลาทอง เป็น golden rule ที่หากใครจะทำสื่อออนไลน์ต้องรักษาคนอ่านให้ไปต่อจากตรงนี้ให้ได้

มาริโอเสริมว่ามุมมองของคนทำเนื้อหาปกติมักที่เขียนเพื่อลงบน print platform แล้วนำไปปรับเลย์เอาต์ลงบนออนไลน์ นั้นไม่ได้ผิด แต่ไม่เกิดประโยชน์ที่จะทำอย่างนี้ เขาใช้คำว่า Print is a KING of Media นั่นคือเราต้องรู้จักใช้ธรรมชาติของสื่อหนึ่งที่อีกสื่อหนึ่งทดแทนไม่ได้ สิ่งที่เขาบอกคือสื่อออนไลน์ไม่มีทางเอาชนะสื่อสิ่งพิมพ์ได้เมื่อเป็นเรื่องของการวางตำแหน่งรูปภาพ

เขาให้จินตนาการเมื่อเราขยายภาพสวยงามสักรูปลงบนหน้าคู่ของหนังสือพิมพ์เมื่อเปิดมาเราจะได้ภาพที่ดึงดูด และความพอดี แต่สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถทดแทนได้บนสื่อออนไลน์ แต่ที่มักเจอคือเราไม่ได้ใช้วิธีการเล่าเรื่องตามลักษณะจุดแข็งของสื่อให้ดีพอ

อย่างที่กล่าวมาเราไม่ได้เอาประโยชน์จากจุดแข็งด้วยการเล่าเรื่องด้วยภาพของสื่อสิ่งพิมพ์มาทำให้เป็นจุดแข็ง หรือเรายังยึดจุดเรื่องไทม์ไลน์ของเนื้อหาข่าววันนี้ พรุ่งนี้จะเป็นอดีตสิ่งนี้ยังใช้ได้สำหรับสื่อสิ่งพิมพ์ แต่ใช้ไม่ได้กับสื่อออนไลน์ที่มีขาที่ก้าวกระโดดได้ตลอดเวลา การเล่นเนื้อหาตามประเภทของสื่อแต่ละชนิดจึงต้องมีกลยุทธ์ให้เหมาะสม เราไม่สามารถเล่าเรื่องเดียวกัน มุมมองเดิมๆ ตาม sequence ปกติบนออนไลน์ได้ มุมมองให้ต่างจากคนอื่น เร็ว และตอบสนองกฎ 4 วินาที เราจะไปถึง happily print ได้อย่างไร อะไรคือคำอธิบายในเรื่องนี้ได้ดีที่สุด

การเล่าเรื่อง หรือ storytelling ปัจจุบันคือการมองทุกอย่างให้เป็น visual image storytelling ทำยังไง เขาบอกว่าวิธีที่อธิบาย visual storytelling และเหมาะกับปัจจุบันมากที่สุดคือการกลับไปดูว่าหนังสือเด็กเล่าเรื่องราวยังไง

ตัวอย่างที่เขายกให้เห็นภาพคือ นิทานเรื่องหนูน้อยหมวกแดง..

หนูน้อยหมวกแดงเดินเข้าไปในป่า…..”

ภาพในหนังสือจะเห็นเป็นภาพหนูน้อยกำลังเดินเข้าไปในป่า

ทั้งหมดเกิดขึ้นในรูปเดียว ภาพ เนื้อหา 

เจ้าหมาป่ากำลังแอบดู…..”

ภาพในหนังสือจะเห็นหมาป่าแอบดูจากต้นไม้ต้นหนึ่ง 

 

มาริโอบอกว่า storytelling ปัจจุบันของทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์คือการรวมเอาภาพ และเนื้อหาเข้ามาไว้ด้วยกัน นั่นคือวิธีที่คนทั่วไปเสพเนื้อหาต่างๆ ในปัจจุบัน โดยเฉพาะออนไลน์ไม่มีใครเอาเนื้อหาลงยาวจนจบแล้วค่อยลงภาพ ทั้งสองสิ่งควรคู่กันเสมอ เห็นภาพและเห็นเนื้อหาในคีย์วิชวลอันเดียวกัน เขาบอกว่าถ้ายังไม่เข้าใจให้กลับไปศึกษาวิธีเล่าเรื่องจากหนังสือนิทานเด็กอย่าง Little Red Riding Hood หรือ Winnie the Pooh จะอธิบายสิ่งที่เขาบอกได้ดีที่สุด

ทำไมเขาจึงดึงเอาจุดแข็งของสื่อสิ่งพิมพ์มาอธิบายธรรมชาติการนำเสนอที่รวมไปถึงการนำเสนอบนสื่อออนไลน์ เขาบอกว่าเพราะ Print is King น่ะสิ ในความเป็นจริงสื่อสิ่งพิมพ์ไม่ได้หายไปไหนหรอก แต่มันจะไม่ได้อยู่ในยุครุ่งเรืองขีดสุดแบบในอดีต แต่สื่อออนไลน์ที่มีอนาคตยังต้องอาศัยสื่อสิ่งพิมพ์เป็นยานแม่เหมือนที่ The Guardian, Washington Post และอีกมากมายกำลังทำอยู่ และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Print is King แต่ออนไลน์คือตัวที่ช่วยเสริมให้มีอนาคตที่ยาวไกล

ท้ายที่สุดสิ่งที่เขาบอกคือ แต่ละสื่อมีลักษณะเฉพาะของตัวเอง และขอให้จำไว้ว่าในโลกแห่งข้อมูลปัจจุบันไม่มี One Size Fit All อีกต่อไป เมื่อคุณต้องการจะสื่อบนแพลตฟอร์มอะไร จำต้องสร้างความเฉพาะของสื่อนั้นๆ ขึ้นมาเอง แม้ว่า backbone ของเนื้อหาจะเป็นเรื่องเดียวกันก็ตาม เพราะการมีอยู่ของสื่อไม่ได้เพียงมีเนื้อหาลงให้ครบทุกช่องทางที่มีเท่านั้น แต่ต้องมีส่วนร่วมทำงานไปด้วยกัน

สื่อสิ่งพิมพ์มีจุดแข็งของการเสนอภาพที่ขยายเท่าไหร่ก็ได้ หรือที่มาริโอใช้คำว่า “Go Big” หรือจากหน้าแรกที่พยายามใส่ทุกอย่างที่มีให้เหลือน้อยที่สุด แต่ลึกที่สุด ส่วนออนไลน์ให้นำเสนอให้ได้เหมือนหนังสือเด็ก นั่นคือภาพและเนื้อหามาพร้อมกัน สั้น แต่เข้าใจง่าย เพราะคุณมีเวลาเพียง 4 วินาที

AUTHOR

ILLUSTRATOR

นภิษา

เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ และนักวาดภาพประกอบ สนใจในหนังสือ และสิ่งพิมพ์