การอ่านและทรงผมใครว่าไม่สำคัญ คุยกับ ‘ศุภกิจ จิตคล่องทรัพย์’ ผอ.กรุงเทพคริสเตียนฯ

Highlights

  • ศุภกิจ จิตคล่องทรัพย์’ คือผู้อำนวยการโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย มีฉายาที่ใครๆ พร้อมใจกันยกให้ว่า ‘ผู้อำนวยการเกรียน’  เจ้าของวิธีคิดแบบตีลังกา แหกทุกขนบที่เคยเป็นมา
  • สมัยยังเป็นครูผู้น้อย เขาทั้งผลักดัน ทั้งกระตุ้นเรื่องการอ่านให้แก่ครูและนักเรียนทั้งโรงเรียน เพราะเรื่องการอ่านสำหรับเขาแล้วคือวาระสำคัญวาระหนึ่ง และด้วยเชื่อว่า ‘อนาคตสร้างได้ด้วยการอ่าน
  • ศุภกิจเริ่มต้นปี 2019 ด้วยการให้เด็กนักเรียนมัธยมปลายใส่ชุดไปรเวทมาเรียนได้อาทิตย์ละหนึ่งวัน เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนที่กล้าบอกว่า “ทรงผมใครว่าไม่สำคัญ” 
  • สิ่งที่เขาได้จากการอ่านหนังสือคือเรื่องของหัวใจในการสื่อสาร ต้องไม่คิดแบบผู้ใหญ่เพื่อสื่อสารกับเด็ก เราต้องคิดแบบคนวัยเดียวกัน ต้องฟังเขา ต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน

ในอดีตมีคนเรียกเขาว่า ‘ท้วม ทระนง’ บ้างก็เรียกย่อๆ ว่า ‘พี่ท้วม’ เด็กหนุ่มร่างใหญ่กำยำแบกซูซาโฟนไว้บนไหล่ เป็นเจ้าพ่อแถวหลังสุดของวงดุริยางค์โรงเรียน ยามว่างกว่านั้นเขาจะหยิบกีตาร์เบสเข้าห้องซ้อม แล้วร่ายมนตร์เบสให้ดังตึบๆ กระแทกหัวใจเด็กหนุ่มวัยละอ่อน

สามสิบกว่าปีผ่านไปไวเหมือนโกหก วันนี้ ศุภกิจ จิตคล่องทรัพย์ คือผู้อำนวยการโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย มีฉายาที่ใครๆ พร้อมใจกันยกให้ว่า ‘ผู้อำนวยการ–เกรียน’  เจ้าของวิธีคิดแบบตีลังกา แหกทุกขนบที่เคยเป็นมา

ศุภกิจเริ่มต้นปี 2019 ด้วยการให้เด็กนักเรียนมัธยมปลายใส่ชุดไปรเวทมาเรียนได้อาทิตย์ละหนึ่งวัน เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนที่กล้าบอกว่าทรงผมใครว่าไม่สำคัญศุภกิจแนะนำสิ่งที่เขาคิดให้เราเอาไปคิดต่อว่า ‘โรงเรียนแห่งความสุขคืออะไร’

สมัยยังเป็นครูผู้น้อยกว่านี้ ศุภกิจทั้งผลักดัน ทั้งกระตุ้นเรื่องการอ่านให้แก่ครูและนักเรียนทั้งโรงเรียน ตอนนั้นเขาบอกสั้นๆ ว่าถ้าครูไม่อ่านหนังสือ ไม่มีทางที่เด็กจะอ่านแน่นอน เราต้องกระตุ้นให้ครูหันมาอ่านหนังสือก่อนให้ได้ ไม่งั้นเด็กจะมีแบบอย่างเรื่องของการอ่านจากที่ไหน และถ้าไม่อ่านเราจะไปสู่อนาคตกันได้อย่างไรผมเหลือบกลับไปมองเจ้าของคำพูดเต็มๆ ตาตอนนั้น แทบไม่อยากเชื่อหูตัวเองว่า ‘พี่ท้วม ทระนง’ อดีตมือเบสขาร็อก จะเปลี่ยนไปถึงเพียงนี้ และเป็นความคิดเรื่องการอ่านที่จี้ใจดำที่สุดที่ผมเคยได้ยินมา

หลายปีต่อมาศุภกิจยังคงเดินหน้าเรื่องการอ่านในโรงเรียน เขาเชิญนักเขียนหลายๆ ท่านไปโรงเรียน ไปคุยกับน้องๆ ไปเล่าเรื่องการอ่านให้คณะครูฟังในวันประชุมครูก่อนเปิดเทอม และทุกๆ ปีศุภกิจจัดกิจกรรมเหล่านี้แทรกไว้เสมอ แม้ว่าตัวเขาจะไม่ใช่ผู้อำนวยการก็ตาม เพราะเรื่องการอ่านสำหรับเขาแล้วคือวาระสำคัญวาระหนึ่ง และด้วยเชื่อว่า อนาคตสร้างได้ด้วยการอ่าน’

 

ไม่มานานนี้เราได้กลับมานั่งคุยกันอีกครั้ง ผมถามเขาถึงเรื่องการอ่านในมุมอื่นๆ ยิงคำถามแรกไปว่าความเห็นของเขาต่อเรื่องการอ่านยังเหมือนเดิมไหม แววตาเขาครุ่นคิดก่อนจะบอกว่าไม่มีอะไรเปลี่ยน แต่ที่เพิ่มเติมคือเรายังไม่รู้จักวิธีการนำเอาความรู้จากหนังสือไปใช้งานให้ตรงกับชีวิตเขาย้ำต่อว่าหลายปีผ่านไปการรณรงค์การอ่านเพียงอย่างเดียวอาจไม่พอ เพราะมันเหมือนข้อสอบถูก-ผิดเท่านั้น แต่คำถามที่สำคัญกว่านั้นคือ เราได้อะไรจากการอ่าน และเราเอาผลที่ได้ไปใช้งานได้อย่างไร

ศุภกิจบอกว่าหลายคนอ่านหนังสือมากมายแต่ไม่รู้จักวิธีคิดต่อ เขาบอกว่าการรณรงค์เรื่องการอ่านเป็นเพียงครึ่งเดียว แต่อีกครึ่งเราไม่เคยพูดถึงความเป็นรูปธรรมกันเลย ทั้งที่เรื่องนี้มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน นั่นคือการวิเคราะห์ คิดต่อ และนำไปใช้

ผมถามเขาต่อว่าเราสอนให้คนคิดได้เหรอ คราวนี้เขาตอบทันทีได้สิ เราต้องค่อยๆ บอกเขา ค่อยๆ แนะเขาไปเรื่อยๆศุภกิจเสริมต่อว่าสิ่งที่ดีมากทุกวันนี้คือการมีเพจหรือช่องทางที่รีวิวหนังสือมากมาย การมีหนังสือมากมายในห้องสมุดและท้องตลาด ในความเป็นจริงมันยากเกินกว่าที่เราจะเลือกเองหรือรู้จักหนังสือทุกเล่ม การมีรีวิวเป็นตัวช่วยให้เรารู้จักหนังสือได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพจรีวิวที่แนะนำหนังสือพร้อมสอดแทรกวิธีคิดหรือสิ่งที่ได้จากหนังสือเล่มนั้นๆ นี่ไงเพียงเท่านี้เราก็มีแนวทางนำความรู้จากหนังสือไปคิดต่อว่า จากนี้ถ้าเราอ่านเราจะได้อะไรจากมันไปใช้กับชีวิตจริงได้บ้าง

 

หากถามว่าคำถามสถานการณ์การอ่านหนังสือในบ้านเราน่าห่วงไหม เขาบอกว่าต้องแยกกัน เรื่องการอ่านเขามองว่าทิศทางดูดีขึ้น แต่เรื่องของการนำสิ่งที่ได้ไปคิด วิเคราะห์ แล้วปรับใช้ ยังน่าเป็นห่วง และอีกประเด็นที่เขามองว่าน่าห่วงก็คือศุภกิจคิดว่าทุกวันนี้เรามีหนังสือออกมามากมาย ปกสวยงาม ชื่อเรื่องดีๆ หนังสือดีๆ ที่นำมาแปลให้อ่านกัน ในเชิงปริมาณ แน่นอนเรามีหนังสือมากขึ้น และดูเหมือนเราก็มีคนอ่านเพิ่มขึ้นด้วย แต่เขาใช้คำว่าหนังสือที่นำพาเราไปข้างหน้ายังน้อยเกินไป ทุกวันนี้พี่เจอแต่หนังสือที่อ่านจบแล้วแต่ชีวิตไม่ได้ไปไหนต่อ เพราะมันไม่มีอะไรในหนังสือเล่มนั้นเลย ศุภกิจมองว่าเราต้องยอมรับก่อนว่า “หนังสือทุกเล่มไม่ใช่หนังสือที่ดี ในโลกแห่งความเป็นจริง เรามีทั้งหนังสือที่ดีและหนังสือที่ไม่ควรผลิตออกมาเพราะมันเปลืองกระดาษ เปลืองทรัพยากรบางทีเราเองนั่นแหละที่ไปสร้างภาพให้หนังสือ แบกภาระของการเป็น intellectual image มากเกินไป

ผมวกกลับมาที่การอ่านของเขา ตอนนี้ศุภกิจอยู่ในช่วงสุดท้ายของการทำปริญญาเอก เขาเล่าด้วยน้ำเสียงเหนื่อยๆ แต่ยังเต็มเปี่ยมด้วยพลังว่าตอนนี้อ่านหนังสือเรียนเยอะว่ะการได้กลับมาเรียนเพิ่มเติมมันให้เขาได้กลับมาตั้งหลัก think & rethink อะไรใหม่ๆ หรือทบทวนเรื่องเดิมซ้ำอีกครั้งหนึ่ง หลักคิดทางด้านการพัฒนาการศึกษาคือหมวดหนังสือที่เขาอ่าน หรือหนังสือที่อ่านเสริม เช่น หนังสือของนักสร้างสรรค์ด้านการศึกษาอย่าง Ken Robinson เรื่อง Creative Schools: The Grassroots Revolution That’s Transforming Education (เขียนร่วมกับ Lou Aronica) หรือ Out of Our Minds: Learning to be Creative ผมถามว่าเขาชอบอะไรในหนังสือของโรบินสัน ศุภกิจตอบว่า “Creativity is everything.”

แม้ว่าบุคลิกภายนอกจะเต็มเปี่ยมด้วยความมั่นใจและทำอะไรนอกกรอบเสมอๆ แต่ศุภกิจก็เป็นแฟมิลี่แมนคนหนึ่ง “มีหนังสือที่ภรรยาให้อ่านอีก เขาจะคอยหาอะไรดีๆ แล้วเอามาแนะนำให้เราอ่านเสมอๆ ไม่อ่านก็ไม่ได้ หนังสือที่คู่ชีวิตเลือกมาให้อ่านก็อย่างเช่น How Children Succeed: Grit, Curiosity, and the Hidden Power of Character (เลี้ยงให้รุ่ง : ปฏิวัติการเรียนรู้ผ่านการสร้างลักษณะนิสัยสู่ความสำเร็จ) ของ Paul Tough หรือ Dangerous Mind (แสบ) หนังสือจากนักเขียนไต้หวัน Hou Wen Yung เขาอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับหนังสือว่า เดิมเราเชื่อว่าผลลัพธ์ของการวัดผลด้วยการสอบจะนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิตอนาคต แต่ถ้าบอกว่าเราเชื่อในสิ่งที่ผิดมาตลอดล่ะ นี่คือแนวคิดที่มาของหนังสือ How Children Succeed หนึ่งในหนังสือที่ให้แนวทางแก่เขา หรืออย่างใน Dangerous Mind ที่อธิบายถึงสิ่งที่เด็กคนหนึ่งต้องเจอภายใต้คำจำกัดความว่า ‘สถานศึกษาเป็นเพียงทัณฑสถานจองจำความคิดสร้างสรรค์’

ศุภกิจให้ความสำคัญกับเรื่องความคิดสร้างสรรค์ และเขาเชื่อว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อคนนั้นมีความสุข ได้ทำในสิ่งที่เป็นตัวตน ได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่นในแนวทางของสังคมที่ไม่เปลี่ยนตัวตนของเขา

ผมถามว่าอิทธิพลของความคิดเหล่านี้ใช่ไหมที่ทำให้ทุกวันนี้เราได้เห็น ‘การแต่งไปรเวทมาโรงเรียนอาทิตย์ละวัน’ แบบที่ศุภกิจบอกว่าอยากแต่งอะไรก็แต่งมา อะไรควร-ไม่ควรให้เด็กๆ ตกลงกันเอง หรือในบทสัมภาษณ์เขาเคยบอกว่าบางคนไว้ผมสั้นมันน่าเกลียดจริงๆ นะงั้นก็ไว้ผมยาวจะได้มั่นใจในตัวเอง หรือช่วงที่กระแสเรื่องการแต่งไปรเวทดังอยู่บนทุกสื่อ เมื่อนักข่าวถามว่าตกลงจะยังแต่งอยู่ไหม ผู้อำนวยการโรงเรียนอย่างศุภกิจตอบออกมาเรียบๆ ว่าผมขอปรึกษาเด็กๆ ดูก่อนประโยคสั้นๆ แต่มันสะท้อนว่าเขาอยู่กันแบบไหน และความสุขที่ช่วยกันสร้างมันมีค่ามากเพียงใด หรือในวันเปิดเทอมที่ .อย่างเขาออกมาร้องเพลงแรปต้อนรับเด็กๆ เขาบอกว่าสิ่งที่ได้จากหนังสือเหล่านี้คือเรื่องของหัวใจในการสื่อสาร เราต้องไม่คิดแบบผู้ใหญ่เพื่อสื่อสารกับเด็ก เราต้องคิดแบบคนวัยเดียวกัน ต้องฟังเขา ต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน

ผมถามเขาว่าเรียกได้ไหมว่านี่คือ ‘หนังสือเปลี่ยนชีวิตเขา’ ศุภกิจยิ้มกว้างพร้อมตอบว่า “ไม่ปฏิเสธเขาบอกว่านี่คือหนังสือที่เขาวนเวียนใช้แทบทุกวันไม่นับพระคัมภีร์ที่ต้องอ่านทุกวัน เพราะจิตใจของเราสมควรได้รับการชำระเพื่อให้ทุกๆ วันดำเนินไปด้วยความหมาย ในเรื่องของงานและชีวิตความเป็นครู ถ้าวันไหนติดอะไรก็จะกลับมาเปิดอ่านอีกรอบ

 

หนังสือที่เขาเวียนอ่านประจำยังมีอีกหลายเล่ม เช่น Punished by Rewards โดย Alfie Kohn, Becoming an Effective Mentoring Leader โดย William J. Rothwell และ Dr. Peter Chee, Teach Like Finland โดย Timothy D. Walker, Getting to Yes หนังสือคลาสสิกโดย Roger Fisher, William Ury และ Bruce Patton

เล่มที่ยืนพื้นหลักเรื่องงานคือ Educational Planning: Strategic, Tactical, Operational โดย Roger Kaufman, Jerry Herman และ Kathi Watters, Management Principles for Christian Schools โดย James W. Deuink, Employee Training & Development โดย Raymond A. Noe

ส่วนเล่มนี้ Democratic Education: A Beginning of a Story โดย Yaacov Hecht ศุภกิจบอกว่าเขากำลังเอาแนวคิดจากหนังสือมาปรับใช้กับระบบของโรงเรียนอยู่, คนฉลาดแสร้งโง่ ของนักเขียน ไทยอย่าง อธิคม สวัสดิญาณ, Finnish Lessons 2.0 โดย Pasi Sahlberg ก็เป็นหนังสือเกี่ยวกับหลักการด้านการศึกษาที่เขาชอบมากอีกเล่ม, Are You Smart Enough to Work at Google โดย William Poundstone ก็เป็นอีกเล่มที่ทำให้เขาคิดว่าเด็กนักเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ จะเรียนอยู่แบบนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว

เขาบอกว่าแรงบันดาลใจของการเริ่มโครงการส่งดาวเทียมอวกาศของโรงเรียนก็มาจากหนังสือเล่มนี้ แม้ว่าโครงการจะมีมูลค่าหลายสิบล้านบาทแต่สิ่งที่ได้ไม่ใช่แค่งานด้านวิทยาศาสตร์ แต่เด็กจะได้เรียนรู้ถึงองค์ความรู้แขนงอื่นๆ ที่อยู่นอกห้องเรียน เด็กจะได้เข้าใจว่าการออกแบบดาวเทียมสักดวงนั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง งานออกแบบมาเกี่ยวข้องอย่างไร และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ จำเป็นแค่ไหน โครงการนี้เป็นโครงการที่กระตุ้นให้เด็กๆ เริ่มมองหาความรู้ที่ไม่มีในหลักสูตร หรือถ้ามีก็แค่ไม่กี่บรรทัด และเขาเชื่อว่าผลที่ได้จะคุ้มค่ามาก

 

เล่มสุดท้ายที่ถือว่าเป็นปฐมบทของการคิดนอกกรอบ นำพาโรงเรียนที่เขารักและตัวเขามาจุดนี้ได้คือ Creative Schools ของโรบินสัน เพราะอย่างที่บอก ความคิดสร้างสรรค์คือทุกสิ่ง และมันเกิดเองไม่ได้ หน้าที่ของโรงเรียนคือการสร้างคน เพราะฉะนั้นหน้าที่ของครูอย่างเขาคือทำอย่างไรให้ผลผลิตที่ได้มีประสิทธิภาพสูงสุดในแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของนักเรียนแต่ละคน เขาย้ำว่าโรงเรียนต้องสร้างคนและเตรียมเด็กๆ สำหรับโลกภายนอกที่กว้างขึ้น โรงเรียนต้องสอนให้เด็กรู้จักฟังและลงมือทำให้เป็น

อีกหนึ่งโครงการที่เริ่มแล้วสำหรับโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยคือ การยกเลิกการแบ่งสายการเรียนมัธยมปลายออกเป็นสายวิทย์ สายศิลป์ ศุภกิจบอกว่าเด็กไม่ได้มีความสนใจและความถนัดอยู่เพียงแค่นี้ และการเรียนแบบกว้างๆ มันไม่เพียงพอ เราต้องช่วยให้เด็กที่มีความสนใจพิเศษได้เจาะลึกในความรู้นั้นๆ มากขึ้น เราเพิ่มหลักสูตรเรียนทำอาหาร หลักสูตรเรียนการเป็นเจ้าของกิจการ หลักสูตรการออกแบบ และอื่นๆ อีกมากมาย เขาเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เด็กเข้าใจตัวเองมากขึ้นและเลือกเส้นทางแห่งอนาคตตามแบบฉบับที่เป็นเขาจริงๆ มากกว่าต้องไปเสียเวลากับสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน

ศุภกิจย้ำตอนท้ายว่าเขาได้อะไรๆ เยอะจากการอ่านและลูกสาวฝาแฝดทั้งสองคนตอนนี้ก็ทำเพจรีวิวหนังสือชื่อว่า Eng Ink รีวิวหนังสือภาษาอังกฤษ ศุภกิจบอกว่าครอบครัวเขาเลือกที่จะมีหนังสือเป็นเครื่องมือสื่อสารและเชื่อมเวลาของทุกคนเข้าด้วยกัน

สามสิบปีที่แล้วเราอาจนึกฝันอยากให้ครู John Keating แห่ง Dead Poets Society มีตัวตนจริงๆ ผมเชื่อว่าคุณครูคีตทิ่งเป็นครูในฝันของพวกเราหลายคน วันนี้ผมมองเห็นคุณครูคีตทิ่งในตัวศุภกิจ

คนหนึ่งคือตัวละคร ในขณะที่อีกคนคือครูจริงๆ แต่สิ่งที่สองคนนี้เหมือนกันคือการที่เขาบอกเด็กๆ ทุกวันว่า “Make your lives extraordinary.”

AUTHOR

ILLUSTRATOR

นภิษา

เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ และนักวาดภาพประกอบ สนใจในหนังสือ และสิ่งพิมพ์