Paul Kenny ชายจากเมลเบิร์นผู้ได้เดินทางไปใน 60 ประเทศเพราะ ‘หนังสือ’

Highlights

  • Paul Kenny มีอาชีพขายหนังสือ อาชีพนี้พาเขาเดินทางไปกว่า 72 ประเทศ และ 60 ประเทศในนั้นคือประเทศที่เขาได้ไปเพราะหนังสือ
  • ร้านหนังสือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา พอลบอกว่าร้านหนังสือคือสถานที่รวมวัฒนธรรม การเรียนรู้ และเชื่อมโยงความสนุกสนานเข้าไว้ด้วยกัน หนังสือสร้างเขา หนังสือทำให้เขาเป็นอย่างทุกวันนี้ และดีกว่านั้นคือเขาสามารถเปลี่ยนงานอดิเรกให้เป็นอาชีพ

นิยามผ่านหู ‘ชีวิตคือการเดินทาง’ อาจฟังดูธรรมดาไปถ้าจะพูดถึงชายเจ้าของวลี ‘books make love with interior’ ชายผู้ที่ผ่านตราประทับในหนังสือเดินทางมากว่า 72 ประเทศ และกว่า 60 ประเทศในนั้นเป็นหมุดหมายที่ต้องเดินทางเพราะหนังสือ

เราได้คุยกับ Paul Kenny เขาเป็น Head of Sales ให้กับ Hachette UK (สำนักงานภาคพื้นเอเชีย) พอลดูแลทุกเรื่อง ขายหนังสือทุกเล่มที่พิมพ์โดยสำนักพิมพ์  Hachette UK และ U.S. เมื่อครั้งเขาผ่านมาเยี่ยมกรุงเทพฯ ก่อนจากกัน ผมฝากคำถามเรื่องหนังสือและร้านหนังสือที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตให้เขาได้คิดฆ่าเวลา

พอลตกลงก่อนจากไปพร้อมรอยยิ้มที่มุมปากเหมือนจะบอกเบาๆ ว่า “I love my job.”

 

พอลเกิดที่เมลเบิร์น ออสเตรเลีย อาจเป็นโชคชะตาหรือบังเอิญก็ไม่อาจทราบได้ คุณแม่ของพอลเป็นชาวอังกฤษที่เกิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่  2 และย้ายมาอยู่ออสเตรเลียในปี 1952 จากนั้น 4 ปี ก็มีความรักเกิดขึ้น เมื่อแม่ของเขาได้พบกับพ่อที่เป็นคนแทสเมเนีย ทั้งคู่พบกันในงานเต้นรำท้องถิ่น คืนนั้นเองที่พ่อของพอลคุกเข่าอ้อนวอนขอไปส่งแม่ที่บ้าน จากคำบอกเล่าของพอล แม่ของเขาเป็นคนสวยมาก และเขาเองที่บอกว่านี่คือจุดเริ่มต้นของ ‘Beauty and the Beast’

หลังจากที่แม่ตอบตกลงพ่อก็พบว่าพ่อโดนขโมยรถ สรุปว่าในคืนนั้นทั้งคู่ต้องค้างคืนที่สถานีตำรวจ และในที่สุดพ่อของเขาก็ได้ทุกอย่างที่รักไปพร้อมๆ กัน คือทั้งคน และรถ

พอลเป็นน้องชายคนเล็ก ดังนั้นเมื่ออายุได้ 6 เดือน พี่ๆ ทั้งหลายก็เข้าอนุบาลหรือเรียนชั้นประถมไปหมดแล้ว ในระหว่างวัน แม่ของเขาที่มีชีวิตวัยเด็กที่เติบโตมาพร้อมหนังสือก็เริ่มอ่านหนังสือและเล่าเรื่องต่างๆ ให้พอลฟังตลอดทั้งวัน พอลย้ำว่าแม่เขาอ่านหนังสือให้ฟังก่อนที่ตัวเขาจำความได้ด้วยซ้ำ และเมื่อพี่ๆ กลับบ้านแม่ก็จะอ่านการบ้านของพี่ๆ ให้เขาฟังอีกด้วย

ผมถามเขาถึงหนังสือเล่มแรก ว่าเขาเลือกหนังสือเองเมื่ออายุเท่าไหร่ และเลือกอ่านอะไรในตอนนั้น พอลตอบทันทีว่าเขาได้รับหนังสือเป็นของขวัญตลอดเวลาไม่ว่าวันเกิดหรือคริสต์มาส พอลบอกว่าเขาแทบไม่ได้หนังสือเลย เพราะมีคนให้ตลอดเวลา แต่หากจะให้เทียบกันระหว่างหนังสือตอนเดียวจบในเล่มหรือหนังสือซีรีส์ เขาเลือกหนังสือซีรีส์มากกว่า

พอลชอบอ่านหนังสือชุดเป็นชีวิตจิตใจ โดยเฉพาะชุดซีรีส์อย่าง The Magic Faraway Tree  ของ Enid Blyton เมื่อโตขึ้นอีกหน่อยเขาชอบอ่านหนังสือการ์ตูน Peanuts หรือ The Spirit of Adventure ในชุด Tintin กระทั่งภาษาที่สนุกสนานในซีรีส์ Asterix เหตุผลที่เขาชอบหนังสือแบบซีรีส์มากกว่าหนังสือตอนเดียวจบเพราะสามารถกลับไปอ่านตัวละครนั้นๆ ในหลากหลายบทบาทได้หลายๆ ครั้งจนตัวละครในหนังสือกลายเป็นเหมือนคนจริงๆ ในชีวิต

 

ครั้นโตขึ้นหนังสือที่เขาเลือกมีลักษณะพิเศษที่ชวนค้นหามากขึ้น และหนังสือที่อ่านบ่อยครั้งมากคือ The Phantom Tollbooth โดย Norton Juster เรียกว่าอ่านบ่อยร่วมร้อยครั้งเลยทีเดียว สำหรับพอลหนังสือเล่มนี้คือ masterpiece for kids เป็นหนังสือที่สร้างมุมมองให้เราเห็นโลกที่ต่างออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กๆ

ปัจจุบันความรับผิดชอบที่มากมาย การเดินทางที่เพิ่มมากขึ้นตามหน้าที่ ทำให้เขาเลือกหนังสืออ่านมากขึ้น พอลบอกว่าเขาทำงานให้กับสำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือมากกว่าร้อยเล่มต่อเดือน ดังนั้นเขาจะมีหนังสือผ่านเข้ามาให้ได้ลองอ่านมากมาย ครั้นจะให้อ่านทั้งหมดก็คงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นการเลือกอ่านจึงสำคัญ

 

และหนังสืออย่าง Perfume ของ Patrick Süskind เป็นเล่มที่เขากลับไปอ่านทุกๆ ปี หรือ 2 ปี พอลบอกว่าเล่มนี้ชวนให้กลัวตั้งแต่หน้าแรกจนหน้าสุดท้าย

 

เราคุยกันต่อว่าถ้าชีวิตเป็นเหมือนหนังสือสักเล่ม คำจำกัดความชีวิตคงไม่ได้หมายถึงหนังสือเพียงเล่มเดียว เช่นกัน พอลบอกว่าเมื่อชีวิตเปลี่ยนเราจะมีหนังสือที่ชื่นชอบหมุนเวียนเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตัวเขาก็เช่นกัน ตอนนี้เขาอาจจำหนังสือที่ชื่นชอบในวัยเด็กไม่ได้ และในช่วงวัยรุ่นเขาพบว่าตัวเองออกห่างจากการอ่านไป ตอนนั้นเขามุ่งเน้นเรื่องการเรียนที่หนักเอาการ พร้อมทั้งเรียนรู้ในการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเพื่อน อีกทั้งฮอร์โมนวัยรุ่นที่พลุ่งพล่าน ทำให้เขามักมีปากเสียงกับแม่และพ่ออยู่เสมอ และนี่มากพอที่จะทำให้ยุ่งและห่างจากการอ่านไปช่วงหนึ่ง แต่ความผูกพันกับการอ่านกลับมาสู่ชีวิตเขาอีกครั้งเมื่อเรียนสาขา Journalism ในมหาวิทยาลัย

ที่นั่นเองที่เขาได้รับมอบหมายให้อ่านหนังสือเปิดโลกมากขึ้น อาทิ Fire in the Lake หนังสือที่เขียนถึงความขัดแย้งในเวียดนามของ Frances Fitzgerald

ปัจจุบันพอลเดินทางมากขึ้น ทำให้เขาอยากอ่านสิ่งที่เกี่ยวกับสังคมและโลกที่ผ่านไปในแต่ละทริป อย่างหนังสือเรื่อง The Immortal Life of Henrietta Lacks ของ Rebecca Skloot หรืองานของ Alexandra Fuller เรื่อง Scribbling the Cat พอลอธิบายว่ามันเป็นเรื่องที่สะท้อนประสบการณ์มนุษย์ได้ดีทีเดียว และเรื่องที่เขาคิดว่าน่าจะดังเป็นพลุแตกเล่มต่อไปในวงการหนังสือคือ Boy Swallows Universe

 

พอลเดินทางมาเมืองไทยหลายสิบ หรืออาจเป็นร้อยครั้งเพราะเขาหมดความสนใจที่จะนับมันอีกต่อไป เมื่อผมถามว่าเขาคิดอย่างไรกับการอ่านในบ้านเรา นี่อาจเป็นคำตอบที่น่าฟังและออกนอกกรอบที่เราเคยคุ้นชิน สำหรับผมมันเป็นคำอธิบายได้ดีที่สุด

พอลบอกว่า ความเชื่อที่ว่าคนเราอ่านน้อยลงเป็นความเชื่อที่ผิด ในความเป็นจริงเราอ่านมากขึ้น อ่านมากกว่าที่เราเคยอ่านมาในอดีตเสียอีก ปัจจุบันเราส่งอีเมลหากันมากกว่าโทรศัพท์หากันเสียอีก และสิ่งเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับเด็ก และทุกๆ คน

เราส่งข้อความหากัน ส่งอีโมจิวันละหลายสิบครั้ง นี่เป็นการสื่อสารที่ผ่านการใช้ภาษารูปแบบใหม่ที่ประยุกต์ต่างไปจากรูปแบบที่เราคุ้นเคย แต่สิ่งเหล่านี้เป็นตัวแทนของรูปแบบที่ช่วยให้เราส่งข้อความสื่อสารกันมากกว่าเดิม อาจเป็นไปได้ว่าในระยะยาว การอ่านอาจจะได้รับผลกระทบ ยอดขายนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์กำลังถดถอยลงเรื่อยๆ ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของการย้ายรูปแบบจากสิ่งพิมพ์ไปสู่ดิจิทัล

ในทางกลับกันเขาแสดงให้เห็นว่าสถิติของหนังสือเล่มนั้นสวนทางกับนิตยสารและหนังสือพิมพ์ วัยรุ่นทุกวันนี้เริ่มต้นอ่านหนังสือ Harry Potter แล้วต่อไปยัง Twilight, The Hunger Games, Divergent และ The Fault in Our Stars วงการหนังสือสำหรับวัยรุ่นในตอนนี้ถือว่าใหญ่และหลากหลายมากกว่าเมื่อก่อนมากทีเดียว พอลบอกว่าเขาเชื่อมั่นว่าจุดเริ่มต้นของการกลับมาอ่านหนังสืออีกครั้งเริ่มต้นที่การอ่าน Harry Potter เพราะเป็นหนังสือที่เป็นตัวแทนของครอบครัวได้ดี จากพ่อแม่สู่ลูก และไม่ได้สิ้นสุดแค่นั้น เวทมนตร์ยังคงหมุนไปทำให้เกิดการกลับมาอ่านใหม่ได้ตลอดเวลา

 

จากหนังสือเล่มเดียวที่สร้างปรากฏการณ์การอ่านให้กลับมาอีกครั้ง และไม่ได้เป็นเพียงความเชื่อมั่นด้วยความรู้สึกเท่านั้น แต่มันแทนด้วยตัวเลขทางสถิติมากมายที่สะท้อนออกมาว่ายอดขายหนังสือเล่มกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และกำลังเกิดสิ่งที่เรียกว่า come back

ความแตกต่างของอารมณ์ในการได้สัมผัสหนังสือเล่มในมือไม่สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้กับดนตรีและภาพยนตร์ เขาจึงเชื่อว่าร้านหนังสือจะไม่มีจุดจบในทิศทางเดียวกับ HMV ร้านขายซีดี แผ่นเสียงในอังกฤษ ที่ต้องหยุดกิจการลง

เมื่อเราเห็นร้านหนังสือปิดตัวลงแล้วคิดว่าคนอ่านหนังสือน้อยลงนั้น ไม่จริงแต่อย่างใด เพียงแต่เราเริ่มต้นที่จะซื้อหนังสือในวิธีการที่เปลี่ยนไปจากเดิมต่างหาก การเติบโตของ Amazon และ Book Depository เป็นการแข่งขันที่ยากจะเอาชนะได้ เว้นแต่มีกลยุทธ์เฉพาะที่พิเศษจริงๆ และเป็นตัวขับให้คนขายหนังสือทั่วโลกต้องคิดค้นวิธีการที่เหมาะสมกับตัวเองเพื่อความอยู่รอด และสิ่งนี้เกิดขึ้นทั่วโลกไม่เว้นแต่ในประเทศไทย

พอลเล่าต่อว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือการคิดว่าจะทำยังไงที่จะสามารถดึงคนให้กลับไปสู่การอ่านเพิ่มขึ้น การสร้างฐานการอ่านเป็นดัชนีชี้วัดที่ชัดเจนถึงทิศทางของหนังสือเล่ม เขาคิดว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือการเริ่มต้นสร้างนิสัยการอ่าน

 

ตั้งแต่เด็ก แม้ยังไม่สามารถรู้คำใดๆ เสียงของพ่อแม่จะสร้างความผูกพันและเชื่อมโยงสู่เด็ก เมื่อเด็กโตพอที่จะสามารถแยกแยะรูปภาพได้ นั่นจะนำเขาไปสู่การเรียนรู้คำ และสู่ผลลัพธ์เชิงบวกกว่านั้นคือ การสร้างจินตนาการ ทักษะทางสังคม กลุ่มเพื่อน การทำงานเป็นทีม สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้จากการอ่านหนังสือให้เด็กฟัง

เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว Mem Fox นักการศึกษาชาวออสเตรเลีย เขียนหนังสือเล่มหนึ่งออกมาชื่อว่า Reading Magic และหนังสือเล่มนี้มีความยาวเพียง 60 หน้า แต่เป็น 60 หน้าที่ทุ่มเทให้กับการสร้างนิสัยการอ่านให้แก่เด็กๆ อย่างแท้จริง เรียกได้ว่าแม้กระทั่งตัวพอลเองที่ทำงานในวงการหนังสือมายาวนานก็ยังไม่เคยเห็นหนังสือเล่มใดที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อการอ่านของเด็กได้ดีเท่า Reading Magic มาก่อน

หนังสือเล่มนี้เป็นที่นิยมถึงขนาดที่ทุกโรงพยาบาลในออสเตรเลียจะรวมหนังสือเล่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของแพ็กเกจดูแลหลังคลอดให้แก่เด็กๆ ที่เกิดในออสเตรเลียทุกคน เขาเองก็อยากเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นในทุกๆ ประเทศทั่วโลก

 

ผมถามเขาว่าจะวางแผนการอ่านหนังสือให้ลูกยังไงดี พอลตอบว่า “เอาง่ายๆ สิ ก็อ่านให้ลูกฟังวันละเรื่องสั้นๆ พอครบ 3 ขวบ ลูกจะได้ฟังหนังสือไปแล้วกว่า 1,100 เล่ม”

 

พอลย้ำว่านี่เป็นเรื่องของการสร้างวินัยและการเอาใจใส่จากพ่อและแม่ ผมถามเขาต่อว่าแล้วสำหรับเด็กโตล่ะ เราควรจะวางแผนการอ่านให้เขาอย่างไร สิ่งพอลตอบชวนให้คิดอย่างมาก…

“โดยส่วนตัวผมชอบ To Kill A Mockingbird หรืองานของ Shakespeare นะ แต่ยอมรับเถอะว่าโลกมันเปลี่ยนไป ห้องสมุดต้องทำงานหนักเพียงแค่จะเอาหนังสือเหล่านี้มาใส่ไว้ในห้องสมุด เพราะมันจะไม่สร้างให้เกิดการอ่านได้ หนังสือห้องสมุดต้องใหม่และ มีการหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา คุณต้องหาหนังสือที่เด็กในปัจจุบันอยากอ่าน ต้องเข้าใจเขาว่าหนังสืออย่าง To Kill A Mockingbird หรือ Shakespeare ไม่ใช่หนังสือที่สร้างสันทนาการให้แก่เด็กยุคดิจิทัลได้ โดยเฉพาะเมื่อเขาต้องการหนังสือสักเล่มเพื่อสร้างนิสัยการอ่านให้แก่ตัวเอง ส่วนหนึ่งเราต้องขอบคุณ  Hollywood ที่ทำให้หนังสือเล่มในหมู่วัยรุ่นกลับมาได้ เพราะเลือกนำเอาเรื่องราวจากหนังสือไปทำภาพยนตร์ และมันพิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก”

 

ผมย้อนกลับไปถามเกี่ยวกับตัวเขาอีกว่าหนังสือเปลี่ยนชีวิตเขาหรือเปล่า พอลตอบว่าหนังสือสร้างเขามากกว่า หนังสือทำให้เขาเป็นอย่างทุกวันนี้ และดีกว่านั้นคือเขาสามารถเปลี่ยนงานอดิเรกเป็นอาชีพ

อาชีพขายหนังสือพาเขาเดินทางไปกว่า 72 ประเทศ และ 60 ประเทศในนั้นคือประเทศที่เขาได้ไปเพราะหนังสือ ร้านหนังสือเป็นส่วนหนึ่งของเขา พอลบอกว่าร้านหนังสือคือสถานที่รวมวัฒนธรรม การเรียนรู้ และเชื่อมโยงความสนุกสนานเข้าไว้ด้วยกัน สำหรับเขาร้านหนังสือควรส่งเสียงให้ดังกว่านี้ ดังกว่าที่จะบอกว่าตัวเองเป็นร้านหนังสือ แต่แท้จริงแล้วเป็นหัวใจของชุมชน เป็นที่ที่คนมารวมกันเพื่อกิจกรรม ไม่ว่าจะเล่นดนตรี แลกเปลี่ยนความเห็น ทดลองทำอาหาร ชิมไวน์รสใหม่ๆ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ในร้านหนังสือ

ปัจจุบันเรามีโอกาสดีแค่ไหนที่สามารถใช้โซเชียลมีเดียต่างๆให้เป็นประโยชน์ แทนที่จะนั่งกลัวว่าสิ่งเหล่านี้เข้ามาทดแทนหนังสือหรือร้านหนังสือ แต่จงใช้มันเป็นเครื่องมือ จงควบคุมมัน จะมีสมัยใดที่เรามีเครื่องมือราคาถูกใช้เพื่อประโยชน์ของร้านหนังสือได้มากเท่านี้มาก่อน

 

สัปดาห์ที่ผมคุยกับเขา พอลมาเมืองไทยพร้อมกับเพื่อนร่วมงานอีก 2 คน คนหนึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของหนังสือเด็กในสำนักพิมพ์ และอีกคนเป็นผู้อำนวยการฝ่ายขายหนังสือเด็ก พอลบอกว่าพวกเราตื่นตาตื่นใจเมื่อพบว่าร้านหนังสือในเมืองไทยสวย และมีความหลากหลายไม่แพ้ร้านหนังสือในอังกฤษ สำหรับเขาเห็นว่าร้านหนังสือในบ้านเราดีกว่าร้านหนังสือในอเมริกามากนัก ทั้งในด้านความสวยงามและความหลากหลาย

ปัจจุบันหนังสือที่วางจำหน่ายในบ้านเรานั้นอาจขึ้นป้ายได้ว่า ‘Same Day as The US’  เพราะสำนักพิมพ์จะปล่อยหนังสือออกมาให้แก่ส่วนส่งออกก่อนกำหนดวางแผงจริง นั่นทำให้เรามีเวลาส่งของออกมาวางแผงได้ในวันเดียวกับที่อเมริกา และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ขอเพียงต้องเซ็นข้อตกลงห้ามวางก่อนเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกับประเทศใดประเทศหนึ่ง

 

สุดท้ายผมโยงเขากลับมาที่คำของเขาเองที่ติดหัวผมมาตลอด 7 ปี ครั้งหนึ่งเขาเคยบอกว่า “Books make love with interior” แน่นอนว่ามันเป็นวลีที่ออกจะหวือหวาในสไตล์ พอล เคนนี่ ชายที่เป็นสีสันเสมอในงาน Frankfurt และ The London Book Fair เขาขยายความว่า

Reading manages to be stimulating, relaxing, invigorating, educational,  fun, sexy, devastating – and sometimes all of these at onceReading is also just about the only thing you can do in complete silence these days everything else beeps and buzzes and vibratesI have a watch that yells at me if I havent walked enough in the past hour, I want to smash the wretched thing to piecesBut a book waits patiently until I pick it up; it’s never complains if I fall asleep straightaway; its ready to teach me or entertain me as soon as Im readyI cant think of too many other things (and certainly no people) you can say that about….”

การอ่านเป็นการกระตุ้นทำให้เกิดการผ่อนคลาย มีความชุ่มชื่น สร้างความรู้ สนุกสนาน เซ็กซี่ หรือทำให้โศกเศร้าในบางที และสิ่งทั้งหมดนี้อาจเกิดขึ้นพร้อมๆ กันเลยก็ได้

การอ่านเป็นสิ่งเดียวที่เราสามารถทำได้ด้วยความเงียบ ทุกวันนี้ทุกอย่างรอบตัวต่างมีเสียงปี๊บ สั่น หรืออะไรก็ตามแต่เพื่อเอาไว้เตือนหรือกระทั่งสร้างความรำคาญ ผมมีนาฬิกาที่มักจะร้องเตือนให้ผมลุกขึ้นเดินอยู่ตลอดเวลา หลายครั้งที่อยากจะเขวี้ยงมันทิ้งซะ แต่หนังสือรอเราเงียบๆ รอให้เราพร้อมและหยิบมันเปิดอ่าน ไม่เคยบ่นถ้าเราจะอ่านและหลับไปกลางคัน หรือพร้อมเสมอที่จะนำเราไปสู่ความสนุก

นี่คือสิ่งที่หนังสือยังอยู่ในใจผม เว้นแต่ว่าคุณมีอะไรที่ดีกว่านี้

AUTHOR

ILLUSTRATOR

นภิษา

เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ และนักวาดภาพประกอบ สนใจในหนังสือ และสิ่งพิมพ์