“เป็นนักอ่านเพราะความว้าเหว่” เอกวิทย์ สุดานิช นักเขียนผู้เริ่มเขียนด้วยความเดียวดาย

เอกวิทย์ สุดานิช ถือกำเนิดในดินแดนที่ราบสูง สมัยที่หลักสูตรยังมีเรียน ป. 7 สู่นักเรียนรัฐศาสตร์ที่ชีวิตระหกระเหินไปหลายถิ่น คาแร็กเตอร์ที่นุ่มลึก แต่สวิงสวายยามจับปากกา เขาคือเจ้าของหนังสือ ‘หิมาลัยไปทางนี้’ กับ ‘สักการะมาตา’ และที่เราไม่รู้คือ เขามีผลงานแปลด้านวิชาการ และเป็น ghost writer ที่ไม่เปิดเผยนามอีกหลายเรื่อง

เรื่องราวของเขาหากได้ยินแล้วอาจไม่เชื่อว่าวันหนึ่งจะมาเป็นนักเขียน และแน่นอนเอกวิทย์คือนักอ่านตัวยง และอาจเป็นฮิปสเตอร์รุ่นแรกของเมืองไทย

 

เอกวิทย์ไปเรียนเป็น brew master ในยุคที่ยังไม่มีใครคุ้นชินกับศัพท์คำนี้ที่กรุงเบอร์ลิน ผันตัวเองจากนักรัฐศาสตร์สู่พนักงานธนาคาร เพราะอกหักอีกจึงย้ายมาเป็น brew master ให้กับค่ายเบียร์ใหญ่ของเมืองไทย เรียกได้ว่าเกิดที่นครพนม โตที่นนทบุรี เป็นฮิปสเตอร์ที่เยอรมนี ไปพบรัก (อีกครั้ง) ที่พม่า และเขียนหนังสือสองเล่มแรกจากแรงบันดาลใจของการใช้ชีวิตในฐานะครอบครัวนักการทูตที่เนปาลอยู่หลายปี

เอกวิทย์อ่านหนังสือแบบลงลึก หากเขาได้สนใจอะไรแล้ว เขามักจะเจาะลึกและดำดิ่งจนถึงแก่นเรื่องนั้นๆ ด้วยทักษะด้านภาษาที่ไม่เป็นอุปสรรค เขาจึงเหมือนมีบัตรผ่านสำหรับหลายๆ เรื่อง หลังจากเขาย้ายไปอยู่ที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย เรามีโอกาสได้พบกันในเช้าวันหนึ่ง และได้นั่งคุยกันถึงที่มาของการอ่านของเขา

ถามเอกวิทย์ สุดานิช หรือพี่เอกว่ามาเป็นนักเขียนได้อย่างไร เขาเริ่มต้นขอเปลี่ยนคำถามเป็น “มาเป็นนักอ่านได้อย่างไร” เขาหลับตาบอกมาเบาๆ ตามความรู้สึกว่า “เพราะความว้าเหว่”

 

เอกบอกว่าเขาเริ่มต้นชีวิตที่นครพนม ไม่ใช่เพราะว่าครอบครัวมีพื้นเพที่นั่น แต่เพราะพ่อและแม่เป็นข้าราชการไปประจำ และให้กำเนิดเขาที่นั่น การถูกระบุในใบเกิดว่าเกิดที่นครพนมเป็นเรื่องที่เขามักเล่ามาตลอดว่า “ผมเป็นเด็กที่ถูกทำคลอดโดยรัฐมนตรี” เพราะหมอคนที่ทำคลอดเขาตอนนั้นคือ นายแพทย์ประสงค์ บูรณ์พงศ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

จุดเริ่มต้นของความว้าเหว่เกิดขึ้นเมื่อพ่อต้องย้ายไปเป็นศึกษาธิการอำเภอนาแก พื้นที่สีแดงเขตสู้รบกันอย่างรุนแรงระหว่างทหารกับคอมมิวนิสต์ เขานิยามตัวเองว่าเป็นเด็กลูกแหง่ที่ติดแม่ยิ่งกว่าอะไรทั้งปวง แม่คือโลกของเขาทั้งหมด เขาแหกปากร้องไห้จนแม่ต้องเอาขึ้นรถ ทำทีว่าจะเอาไปด้วย กล่อมเขาจนหลับ จากนั้นก็เลี้ยวรถกลับเข้าจังหวัดอุ้มเขาไปฝากไว้กับญาติ  เมื่อตื่นมาไม่เห็นหน้าแม่ ไม่ต้องเดาว่าเสียงร้องไห้ของเขาจะโหยหวนขนาดไหน

สมัยนั้นมีรายการเล่าเรื่องตลกทางวิทยุ พอเล่ามุกตลกจบก็จะมีเสียงหัวเราะ ฮา ฮา ฮา เป็นเอกลักษณ์ คนอื่นได้ยินก็จะหัวเราะตามด้วยความขำ แต่สำหรับเขามันคืออาการทรอม่าของเด็กที่สูญเสียแม่ และแน่นอน เขาร้องไห้ทุกครั้งที่ได้ยินเสียงหัวเราะของรายการนี้ เป็นอยู่หลายปีจนผู้ใหญ่ล้อว่า “มันขำจนน้ำตาแตก”

 

ตั้งแต่นั้นมาเขาจึงเริ่มสร้างโลกของตัวเอง มีความเงียบเป็นเพื่อนสนิทและอ่านทุกอย่างในบ้าน โชคดีที่ญาติบอกรับนิตยสาร บางกอก เขาอ่านตั้งแต่หน้าปกแรกยันปกท้ายไม่เว้นแม้แต่ชื่อสำนักพิมพ์ เมื่อถึงวัยเข้าเรียน ด้วยความที่ตัวเล็กมากก็โดนเด็กโตไล่เตะก้น ไม่รู้จะให้ใครคุ้มครองจึงหลบเข้าห้องสมุดโรงเรียนอ่านทุกเล่มที่มี แล้วก็ไปต่อที่ห้องสมุดประชาชน เด็กที่ไม่มีพ่อแม่ให้เลียนแบบก็จะหาต้นแบบจากในหนังสือ หาบุคลิกและตัวตนจากตัวละครในนิยาย

ยุคนั้นเขาจึงเป็นลี้น้อยมีดบิน ที่ใช้มีดสั้นแกะสลักท่อนไม้เป็นรูปหญิงที่รักแต่ไม่อาจอยู่ร่วม ต้องร่อนเร่ใช้สุราราดรดแผลในใจ เวลาที่ต้องต่อสู้เขาจะจินตนาการว่าตัวเองคือ เอี้ยเจ็ง ผู้ไม่มีวรยุทธสูงส่ง แต่ใช้อาวุธอัปลักษณ์ชื่อ ‘ตะขอจำพราก’ เมื่อเกี่ยวมือ มือก็จำพรากจากข้อมือ ที่ใช้อาวุธเช่นนี้เพราะไม่อยากพรากจากสิ่งที่ตนรัก

พอเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ในยุคของการแสวงหาเขาก็อ่านงานของ ‘พี่เสก’ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล แล้วก็หลอมบุคลิกของเขาเข้าเป็นตัวเอง พูดแบบพี่เสก ตัดสินใจแบบพี่เสก แค้นแบบพี่เสก และรักผู้หญิงผมยาวแบบพี่จี๊ด (จิระนันท์  พิตรปรีชา) จนเมื่อได้มาเจอพี่จี๊ดที่เนปาล พี่เอกบอกว่าเขาดีใจมาก ไปนั่งทานข้าวกับพี่จี๊ด เอาต้นฉบับ เอาหนังสือที่เขียนให้พี่จี๊ดอ่าน แกบอกว่าสำนวนคล้ายพี่เสกจัง เขายิ้มหน้าบาน แล้วค่อย ๆ หุบลงอย่างช้า ๆ เมื่อพี่จี๊ดบอกว่า “พี่ไม่ได้อยู่กับพี่เสกแล้ว”

ตอนนั้นเขาอายุสี่สิบกว่า เป็นผู้ใหญ่ทั้งวัย ทั้งวุฒิภาวะ แต่รู้สึก ‘เคว้ง’ เพราะ ‘ต้นแบบ’ ไม่เป็นไปอย่างที่เขาอยากให้เป็น  ทำไมมันไม่จบอย่างแฮปปี้เอนดิ้ง ถึงตัวเขาเองจะเข้าใจ แต่ก็ยังรู้สึกแกว่งและอกหัก สุดท้ายเขาตกลงใจสร้างความเป็นตัวเองขึ้นมาจากสิ่งที่อ่าน ทำให้บางครั้งสุดโต่งในบางเรื่อง แต่กลับปล่อยวางและไม่จริงจังกับหลายเรื่องที่คนคาดหวังว่าควรจริงจังกว่านี้

 

ส่วนงานเขียนของเขานั้นก็มาจากความว้าเหว่เช่นกัน ออกแนวนักเขียนผู้มีความเศร้าเป็นเจ้าเรือน เขาเริ่มงานเป็นพนักงานธนาคารแห่งหนึ่ง ทำงานเก็บเงินเก็บทองอยากมีบ้าน มีรถ มีเมียเป็นของตัวเอง เก็บเงินอยู่หลายปีแล้วผู้หญิงก็ไปแต่งกับคนอื่น เขาอกหักรุนแรงจนอยู่เมืองไทยไม่ได้ พอเบียร์สิงห์เสนองานให้ที่พม่า ไม่ต้องเดา เขารับในทันที ไปเป็นผู้จัดการที่ย่างกุ้งเมื่อปี 1993 นั่งกินเหล้าคนเดียวจนเริ่มจะบ้า แล้วทางโค้งแห่งชีวิตก็มาถึง มื่อได้เจอกับหนังสือของ ‘อุดม แต้พานิช’

เขาบอกว่าจุดกระแทกใจคือในหนังสือบอกว่า ‘ทำไมอุดมจึงเขียนหนังสือ’ และมันช่างตรงกับสิ่งที่พี่เขากำลังต้องการ อุดมบอกว่าเขาจะเขียนทุกวันเพื่อ ‘เยียวยาตัวเอง’ เอกก็เริ่มจากตรงนั้น เขาเขียนบันทึกทุกวัน เขียนทุกอย่างที่ใจรู้สึก อย่างซื่อสัตย์ เขียนบันทึกอยู่ 8 ปี มีไดอารีกว่า 30 เล่ม ตอนปีที่น้ำท่วมใหญ่สมุดไปกับน้ำทุกเล่ม เขาเสียใจมากและเริ่มรู้แล้วว่าตัวเองเสพติดการเขียนหนังสือ วันไหนไม่ได้เขียนจะลงแดง นั่นจึงเป็นที่มาของ ‘หิมาลัยไปทางนี้’ หนังสือเล่มแรกที่เขาเขียนที่เนปาล

ส่วน ‘สักการะมาตา’ เป็นการ ‘ริอ่าน’ เขียนนิยายครั้งแรกของเขา และเนื่องจากทำธุรกิจมาตลอด จะทำอะไรต้องมีแผนธุรกิจ  เอกบอกว่าตัวเขาไม่ใช่นักเขียนที่ใช้พรสวรรค์และจิตวิญญาณภายในที่ระเบิดออกมาเป็นตัวอักษร แต่เขาไปศึกษาขั้นตอนการทำหนังสือตั้งแต่เริ่มเขียนจนออกมาเป็นหนังสือหนึ่งเล่ม จากนั้นก็ศึกษาตลาดว่าเขาขายกันยังไง มีมาร์จิ้นเท่าไหร่ สายส่งเป็นยังไง เล่มแรกที่เขียนเขาใช้การวิจัยตลาด สร้างฐานคนอ่าน พองานออกมาก็เลยไม่เปรี้ยงปร้างนัก แต่ก็ห่างไกลความล้มเหลวพอสมควร

พอมาเขียนนิยายเขาก็ทำแบบเดียวกัน คือไปหานักเขียนที่เด่นทางด้านพล็อต เด่นในการใช้ถ้อยคำ เด่นทางด้านดราม่าและการสร้างความสะเทือนใจ จากนั้นก็ไปขอให้เขาสอน เรียนไปก็เขียนไป ส่งการบ้านกันไป ตอนนั้นระดับครูตรวจแล้วว่าผ่าน พอวางจำหน่ายก็ห่างไกลความล้มเหลวพอสมควรเช่นกัน

 

ปัจจุบัน เขาย้ายไปอยู่ที่จาการ์ตา กำลังสนุกกับการตระเวนเมือง เอกบอกว่าเขาออกหาวัตถุดิบทุกวัน เขียนเรื่องนั้นเรื่องนี้ ในเฟซบุ๊กเป็นการสะสมไปเรื่อยๆ สิ้นปีก็คงรวมเล่ม กำลังหลงเสน่ห์ลายผ้าบาติกกับตำนานของสัญชัย, ไศเลนทร์, ศรีวิชัย, มัชปาหิต ฯลฯ 

เขาสรุปเรื่องราวของตัวเองว่า ชีวิตของเขาก็คล้ายๆ แบบนี้ เริ่มต้นด้วยความเดียวดาย และคงจะจากไปสู่ความว่างเปล่าในวันหนึ่ง 

เมื่อเริ่มเขียนเขาตั้งเป้าไว้แค่มีหนังสือของตัวเองสักเล่มในชีวิต ถามว่าประสบความสำเร็จหรือยัง สำหรับคนที่มีบุคลิกเป็นน้ำ เยือกเย็นแต่อบอุ่นอย่างเขาคิดว่า เขาประสบความสำเร็จแล้ว ที่เหลือจากนี้คือกำไรทั้งนั้น

AUTHOR

ILLUSTRATOR

นภิษา

เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ และนักวาดภาพประกอบ สนใจในหนังสือ และสิ่งพิมพ์