ยืนเดี่ยว กลุ่มคนรัก Stand-up Comedy ที่ฝันอยากสร้างโชว์ให้เติบโตในประเทศไทย

ที่มาที่ไปของ ยืนเดี่ยวไม่ได้เกิดจากหนึ่งคนโดดเดี่ยว แต่มีถึงสอง

สองที่ว่าประกอบไปด้วย แก๊ป–คณีณัฐ เรืองรุจิระ จาก G-village Co-Creation Hub นอกจากนี้เขายังมีอีกอาชีพเป็นโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์อิสระอย่าง อนธการ และ มะลิลา อีกหนึ่งคนคือ ยู–กตัญญู สว่างศรี Founder ทั้งบริษัท Katanyu86, Katanyu Coffee , A Katanyu ส่วนในยืนเดี่ยว นอกจากจะเป็น Co-founder กตัญญูยังเป็นนักแสดง Stand-up Comedy ที่มักจะมาร่วมแจมบนเวทีเป็นประจำ

ยืนเดี่ยว คือการรวมตัวกันของคนตัวเล็กที่รักการเล่าเรื่องแนว Stand-up Comedy ความน่าสนใจของยืนเดี่ยวคือเป็นกิจกรรมที่สร้างนักเล่าเรื่องรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่องและโตเร็วมาก จากครั้งแรกที่เริ่มเล่นกันบนเวทีเล็กๆ ก็ขยับขยายไปโชว์ในพื้นที่ใหญ่ขึ้น มีแบรนด์สนใจ กลายเป็นคอมมูนิตี้ที่คนรัก Stand-up Comedy รุ่นใหม่ไร้สังกัดจะนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ

ก่อนอ่าน โปรดทำความเข้าใจกันก่อนว่า ถึงแม้จะเป็นคอมมูนิตี้ที่ชื่อว่า ‘ยืนเดี่ยว’ แต่การสัมภาษณ์ในครั้งนี้เป็นวิธีการ ‘นั่งคู่’ เราไม่จำเป็นต้องยืนกรานในชื่อคอมมูนิตี้ขนาดนั้นในการสัมภาษณ์ เพราะการยืนสัมภาษณ์ในหน่วยเวลาชั่วโมงอาจไม่เป็นมิตรต่อต้นขาและฝ่าเท้านัก เลยต้องเลือกการนั่ง แต่สำหรับคุณ ไม่ว่าตอนนี้กำลังนั่งเดี่ยว นั่งคู่ ยืนเดี่ยว หรือยืนคู่ ก็ไม่จำเป็นต้องปรับไปตามเราเพื่อที่จะอ่านต่อไป แต่ก็ขอไว้อย่างเดียว ถ้าอยู่เป็นคี่ก็ขอให้นั่ง เพราะการยืนคี่อาจจะนำมาสู่ความลำบากจนเกินงาม

ยืนเดี่ยว

ยืนเดี่ยวคืออะไรกันแน่ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

ยู: ขอปูให้ฟังแบบนี้ ย้อนกลับไปวันแรกที่เราเล่นสแตนด์อัพ (Stand-up Comedy) ครั้งแรกเมื่อปี 2016 พอเล่นเสร็จ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ จะมีคนดูอยู่ 2 แบบ คือคนดูที่อยากดูอะไรใหม่ๆ กับคนดูที่รู้สึกว่าเสี้ยนๆ นิดนึง อยากเล่น อยากเสนอไอเดีย คือเริ่มต้นจากคนรอบตัวด้วย เช่น แฟกซ์เป็นคนเขียนบทให้ในการแสดงครั้งนั้น มีอยู่ครั้งนึง แฟกซ์ซ้อมให้ดูแล้วรู้สึกว่า นี่บทมึงนี่หว่า มึงควรเล่นเอง หรือผมไปดูรายการในช่อง Workpoint รายการเดี่ยวดวลไมค์ ก็เห็นบีเบนซ์ ก็รู้สึกว่า เฮ้ยสนุกดี (เว้นจังหวะ) ทำไมตกรอบวะ (หัวเราะดัง) ตอนนั้นเรารู้สึกว่า อ๋อ มีคนอยากเล่นว่ะ ก็เลยจัดงานชวนคนมาเล่น ซึ่งก็แบ่งเป็นสองพวกอีกคือพวกที่อยากเล่น กับพวกที่เรามองว่าสามารถเล่นได้ ตั้งแต่บรรณาธิการหนังสือ นักแสดงละครเวที คอลัมนิสต์รถยนต์

เรารู้เลยว่า สำหรับเรา ยืนเดี่ยวคือการหาเพื่อนเล่น ไม่งั้นมันไม่มีคนแชร์ในฐานะการขึ้นเวที แล้วเรารู้สึกว่าตอนก่อนจะมียืนเดี่ยว มันโดดเดี่ยวไปหน่อย มันเหงา ด้วยความที่เราตัวคนเดียวไม่ได้แข็งแรง ก็จัดเองไปเรื่อยๆ จนมาเจอพี่แก๊ป

แก๊ป: ตอนนั้นโทรหาพิ (พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน) Glow Story เพราะเหมือนเขาจะทำงานเกี่ยวกับคอมมูนิตี้ เราสนใจอยากฟังว่ามันมีอะไรบ้าง แล้วเขาก็แนะนำยูให้รู้จัก

ยู: พี่แก๊ปมีแพสชั่นเรื่องวัฒนธรรมทางเลือก คราฟต์เบียร์ เกม หนังทางเลือก เหมือนผลักดันวัฒนธรรมให้เกิดความหลากหลายในการเสพเนื้อหา เราเองก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ตรงกัน เราอยากหาเพื่อน พี่แก๊ปอยากผลักวัฒนธรรมแบบนี้ ก็เลยกลายเป็นยืนเดี่ยว ซึ่งสำหรับเรานิยามยืนเดี่ยวคือ หาเพื่อนเล่นแบบเดียวกัน หาเพื่อนรู้สึกแบบเดียวกัน จริงๆ มันเป็นนิสัย อย่างสมมติว่าไปเล่นเครื่องเล่น fuji-Q ที่ญี่ปุ่น ก็จะรู้สึกว่า อยากหาเพื่อนที่รู้สึกแบบนี้เหมือนกันว่ะ มันเลยเป็นธรรมชาติของเราที่อยากหาคนไปยืนบนเวที รู้สึกว่ามันมิตรภาพดี จากคำถาม ยืนเดี่ยวคือ หาเพื่อนมารู้สึกแบบเดียวกันในมุมของคอมเมเดี้ยน

ทำไมแก๊ปถึงมาสนใจเรื่องคอมมูนิตี้

แก๊ป: เท้าความไปแต่ก่อน ตอนนั้นเราไปดูรายการ Rap is now ก็รู้จักต้าร์ โจ้ หลุยส์ ฟลุ๊ค ที่ปั้น Rap is now ขึ้นมา ก็รู้สึกว่า เฮ้ย การทำคอมมูนิตี้มันทำให้เกิดการต่อยอดขึ้นมาได้เยอะมาก มันจะมีคนที่ทำงานในทิศทางที่ชัดเจน เช่น แร็ปเปอร์หลากสไตล์ มีคนทำเอ็มวี มีคนทำบีท อุตสาหกรรมเกิดจากคอมมูนิตี้ พอดูเสร็จก็โทรถามต้าร์ว่า เราอยากทำคอมมูนิตี้ เพราะมันเป็นวัฒนธรรมทางเลือกที่น่าสนใจมากเลย มันจะเกิดความคิดสร้างสรรค์ในรูปแบบอื่นต่อได้ และก็มาเจอยู

ยูทำสิ่งนี้มาก่อนแล้วในการผลักดันวงการสแตนด์อัพคอมเมดี้ในเมืองไทยมา 2-3 ปี ผมคิดว่าถ้าเราทำด้วยกันมันน่าจะเวิร์กอยู่นะ เพราะตอนนั้นเราเป็นคนดูแลสถานที่แนว Co-creation เรามีสถานที่ที่เอื้อสำหรับงานต้นทุนต่ำ ก็โอเค ชวนเลย เรามาทำกันมั้ย ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรแต่ทำงานพวกนี้มันต้องใจก่อน

ทำไมถึงเลือกทำเรื่องแสตนด์อัพคอมเมดี้ ทั้งๆ ที่ถ้าคุณอยากสร้างคอมมูนิตี้ ลองเลือกหัวข้ออื่นก็ได้

แก๊ป: ในเมืองไทย ตลกเป็นคอนเทนต์ที่ยอดนิยมอยู่แล้ว ถ้าจะหาวัฒนธรรมทางเลือกที่ทำให้เป็นกระแสได้ ก็ต้องเป็นวัฒนธรรมที่เข้ากับธรรมชาติของคนไทยเรามีตลกมาตั้งแต่ตลกคาเฟ่ ตลกโบ๊ะบ๊ะ มีพี่โน้ส-อุดม แต้พานิช ที่สร้างบรรทัดฐานมาตรฐานของวงการสแตนด์อัพอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นไม่ยากถ้ามีเรื่องที่น่าสนใจที่มันสามารถไปได้ ก็มองเห็นโอกาสตรงนี้

ทำงานกับคนเยอะน่าจะวุ่นเอาเรื่อง คุณแบ่งงานกันยังไง หน้าที่ของแต่ละคนคืออะไร

ยู: ส่วนมากเราหาคนมาแนะนำให้ยืนเดี่ยวช่วงหลังเราเห็นคนที่มีศักยภาพมากขึ้นคนเล่นก็พอเห็นแล้วว่าแพลตฟอร์มนี้ทำหน้าที่อะไร เพราะตอนเริ่มต้นมันเป็นศูนย์ ความเป็นยืนเดี่ยวมันยังไม่ชัด ก็ต้องการผู้เล่นก่อน ก็จะเป็นนักเล่าเรื่องเซ็ตแรกที่เคยเล่นกันมา เช่น โนะ นนทบุเรี่ยน บรรยากาศก่อนมียืนเดี่ยวเป็นการที่มีใครสักคนนึงจัดสแตนด์อัพขึ้นมาแล้วจะเกิดความรู้สึกว่าไอ้นั่นก็ทำ ไอ้นี่ก็ทำ เกิดการเชื่อมโยงกัน โนะเคยจัดงานในผับแถวนนทบุรี หรือมีคนเห็นบีเบนซ์ไปออกรายการแล้วคนอื่นก็ค่อยเดินเข้ามาหาในงาน หรือเราก็เชื่อมต่อกันเอง 

แก๊ป: ออกแบบรูปแบบโชว์ด้วย ว่ามันควรจะเป็นโชว์แบบยังไง

ยู: ก่อนจะมียืนเดี่ยว เรามีโชว์เดี่ยวของเรา แล้วมันก็ยากมาก ก็เลยออกแบบกับพี่แก๊ปว่าทำเป็นแบบเล่นหลายๆ คนมั้ย มีการจัดลำดับให้ สามคนแรกควรจะเป็นแบบไหน ปิดท้ายควรจะเป็นใคร เป็นสิ่งที่เราทำก่อนหน้าที่จะมียืนเดี่ยวอยู่แล้ว งานนั้นชื่อว่า akatanyu and friends ก็เวิร์ก สนุกดี เราก็เอาความรู้กระปอดกระแปดเท่าที่มี มาปรับใช้ในยืนเดี่ยวช่วงเริ่มต้น 

แก๊ป: ผมจะทำเนื้อหา โลโก้ ทิศทางของงาน วางแนวคิด โปรโมต มองว่าเรามีสินค้า จะให้มู้ดแอนด์โทนประมาณไหน ตอนนั้นคิดว่าเราอยากจะให้คนต้องจดจำแบรนด์ก่อน เราก็ไปดีไซน์โลโก้ขึ้นมา ซึ่งก็ได้พี่หมู ไตรภัค (ไตรภัค สุภวัฒนา นักวาดภาพประกอบชื่อดัง) เป็นคนออกแบบ 

ยู: ปีแรกๆ จะเห็นคาแรกเตอร์เป็นตัวการ์ตูน แต่ปีต่อมา ด้วยความเป็นวัฒนธรรมทางเลือกที่มีความวาไรตี้ เราก็อยากให้คอมเมเดี้ยนเป็นที่จดจำ เป็นที่รู้จัก แล้วก็สามารถไปต่อได้ เช่น พอดูโปสเตอร์ที่วางอยู่ตรงนี้ (ชี้ไปที่โปสเตอร์ยืนเดี่ยว ‘ครั้งแรก’ ที่วางอยู่มุมห้อง ซึ่งเตรียมมาถ่ายภาพในบทสัมภาษณ์) ก็เป็นโปสเตอร์ครบรอบ 1 ปี เป็นครั้งแรกที่เราเลือกใช้หน้าคน หน้าสแตนด์อัพคอมเมเดี้ยนที่เล่น เอามาขึ้นโปสเตอร์เพื่อให้คนจำหน้าได้

ยืนเดี่ยว

การจัดงานยืนเดี่ยวครั้งแรกมีความท้าทายอะไรบ้าง ทำอย่างไรให้สิ่งนี้ออกมาเป็นงานได้ มีคนมาดู มีบัตรขาย

แก้ป: เราทำอยู่ G-Village ที่ค่อนข้างจะเป็นแปลงทดลองทำอะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา เวลาใครเจอเราก็จะรู้สึกว่า มึงทำอะไรของมึงวะ (หัวเราะ) แต่เรารู้สึกว่า การเรียนรู้มักเริ่มต้นจากการทำอะไรบางอย่างที่สามารถเจ็บตัวได้ ทำไป เวิร์กไม่เวิร์กค่อยว่ากัน 

ยู: ตอนนั้นไม่มีอะไรที่จะมาพิสูจน์ได้นอกจากต้องทำก่อน เล่นก่อน จัดก่อน ซึ่งครั้งแรกมันก็สนุกเลย มีพี่โจ๊ก I-scream โคตรตลกเลย ที่พี่แก๊ปบอกว่าตลกขายได้ในคนไทย มันไม่ได้ขายได้แต่คนดูนะ มันขายคนเล่นได้ด้วย ในกลุ่มเพื่อนๆ ทุกคน มันจะมีตัวตลกอยู่หนึ่งตัว ไอ้นี่มันจะเสี้ยนเล่นมุกตลอด ยืนเดี่ยวเปิดพื้นที่ให้กับคนแบบนั้น แต่พื้นที่นี้จะเหมาะถ้าเขาเป็นนักเล่าเรื่อง เป็นคนที่ชอบเล่นมุกแบบเป็นเรื่องเป็นราว มันก็จะเข้ากับพื้นที่ของสแตนด์อัพ ซึ่งอาศัยการเล่าเรื่องราวเพื่อสร้างเรื่องตลก 

ยืนเดี่ยว

ทำไมคุณถึงมั่นใจว่าคนที่เล่นตลกในวงเพื่อนได้จะเล่นบนเวทีได้ หรือการมาเล่นบนเวทีต้องมีส่วนประกอบอะไรเพิ่มเข้ามาบ้าง

ยู: สแตนด์อัพเป็นศิลปะ เป็นการเล่าเรื่องที่เปิดมากๆ คุณจะเล่าแบบไหนก็ได้ สิ่งสำคัญคือความต้องการที่จะเล่น ความต้องการที่จะขึ้นบนเวที เราเชื่อว่าเรื่องตลกก็คล้ายกับของกิน มันมีเรื่องรสนิยมมาเกี่ยวข้อง บางคนชอบกินเผ็ด กินหวาน กินเค็ม เรามีพื้นที่ตรงนี้มาเจอเพื่อนแล้ว เราก็อยากเจอคนดูที่ชอบกินอาหารหลากหลาย ลองชิมแบบนู้นแบบนี้ เพราะมันไม่เคยมีอาหารแบบนี้มาก่อน เราจะไม่ตัดสินใครเลยว่าเขาตลกหรือไม่ตลก เบื้องต้นคือเป็นกำลังใจให้ทุกคนขึ้นมาเล่น แล้วก็คิดว่าทักษะนี้พัฒนาในแบบที่เขาเป็นได้ แม้กระทั่งคนดูที่ไม่มีแววตลกแต่บนเวทีตลกก็มีนะ มันไม่ได้หมายความว่าสแตนด์อัพคือคนที่อยู่ในวงแล้วเล่นมุกตลอดเวลา อาจจะเป็นคนเงียบๆ ที่พอไปถึงจุดหนึ่งก็มีจังหวะของตัวเอง

เราชอบดูแสตนด์อัพแบบตามชีวิตของนักแสดงไปเรื่อยๆ ดูเขาหลายโชว์ บางโชว์ไม่ตลก บางโชว์ตลกชิบหาย บางโชว์ทั้งตลกทั้งเศร้า สิ่งที่เราดูมันเป็นอีกระดับของการเสพ เนื้อหาส่วนนี้ของชีวิตเขาเล่าเรื่องนี้ว่ะส่วนนี้เศร้าชิบหาย สำหรับเรามันคือการเสพชีวิตคนคนนึง มันคือการตามศิลปินหนึ่งคนว่าเขามีแรงขับเคลื่อนอะไรบ้าง

ยืนเดี่ยว

สำหรับแก๊ป ถ้ามองจากมุมมองคนทำคอมมูนิตี้ ยืนเดี่ยวขายอะไร

แก๊ป: ไม่ได้ตั้งต้นว่าจะขายอะไรก่อน แต่เราอยากให้คนรับรู้ความเป็นสแตนด์อัพคอมเมดี้ที่ถูกต้องในเมืองไทย สแตนด์อัพคอมเมดี้ไม่ต้องเป็นโชว์ใหญ่ก็ได้ คือถ้าโชว์ใหญ่อยู่ยอดสุดของพีระมิด เป้าหมายสูงสุดของนักแสดงบางคนก็อาจจะเป็นการมีโชว์ใหญ่ แต่วงการนี้จะเริ่มจากผับก่อนก็ได้ เริ่มจากคนที่มีกลุ่มเพื่อนเล็กๆ มาดูสะสมชั่วโมงบิน คนดูก็จะได้ความหลากหลายของการดูโชว์ลักษณะนี้ เมื่อถึงวันนึงเขาก็ต้องเติบโตไปในเส้นทางของตัวเอง

ยู: ในมุมคนเล่นมันโรแมนติกดีเวลาเราดูโชว์สแตนด์อัพคอมเมดี้ต่างประเทศใน Netfilx หรือ YouTube ก็เห็นว่ามันมีโชว์ขนาดเล็ก เล่นในคลับ เราเองก็เคยไปดูที่นิวยอร์ก บรรยากาศคือมันแฝงอยู่ในชีวิตประจำวันเป็นวัฒนธรรม วันนั้นมีคอมเมเดี้ยนคนนึงจัดเล่นสแตนด์อัพเพราะว่าเป็นวันเกิดเขา แล้วแม่ก็อบคุกกี้มาแจกคนดู เพื่อนๆ ก็ชวนกันมาเล่น ข้างหน้าเป็นบาร์ เปิดไปด้านหลังมีคนเล่นห้าคน คนดูยี่สิบสามสิบคน สบายๆ มันคล้ายกับเราไปผับบ้านเราแล้วไปรอฟังดนตรีสด แต่เปลี่ยนเป็นสแตนด์อัพคอมเมดี้ 

เสน่ห์ของการนั่งฟังคนที่เราไม่รู้จักขึ้นมาเล่าเรื่องตลกบนเวทีคืออะไร

แก๊ป: เราไม่ควรถูกหลอมรวมว่าความตลกคือแบบไหน ทุกคนมีความหลากหลาย ในทุกเรื่องควรจะมีการชื่นชอบในความหลากหลายของความตลกที่ไม่เหมือนกัน คือถ้าดูพี่หม่ำ จ๊กมก แล้วตลก ดูพี่โน้สแล้วตลก เราก็อยากจะผลักดันให้เกิดความรู้สึกว่า มันมีความหลากหลายของความตลกอีกเยอะมาก ทุกคนที่เติบโตมาในพื้นที่พื้นถิ่นที่ไม่เหมือนกันจะมีเรื่องตลกของเขาซึ่งเราต้องเปิดใจที่จะรับฟังสิ่งเหล่านี้ก่อน แล้วจะทำให้เราเป็นผู้ฟังที่ดี ซึ่งก็เป็นจุดหนึ่งที่ยืนเดี่ยวอยากผลักดันให้เกิดความหลากหลายของคำว่าตลก

ยู: ช็อกโกแลตนูเทลล่าอร่อย แต่กินทุกวันอร่อยมั้ย งานของพี่หม่ำหรือพี่โน้สก็คือช็อกโกแลตชั้นดีอร่อยมาก แต่วันนึงไปสนามบินแล้วไปเจอแผงช็อกโกแลตที่มีเยอะมาก ช็อกโกแลตสวิตเซอร์แลนด์ ช็อกโกแลตเบลเยียม เราไปแกะอันนึงมากิน ไม่ได้คาดหวังว่ามันจะอร่อยเหมือนนูเทลล่า แต่อยากทดลองรสชาติใหม่ๆ พอกัดเข้าไปแบบเป็นดาร์กช็อกโกแลตขม เราก็ค้นพบว่าไม่กินแบบนี้แล้ว แต่ในขณะเดียวกันอาจจะมีอีกคนที่รู้สึกว่าแบบนี้แจ๋วว่ะ กูอยากกินขมแบบนี้เพราะไม่ชอบกินหวาน สิ่งที่มันเกิดขึ้นในบ้านเราคือมีแค่นูเทลล่า วันนี้เราแค่คิดว่ามีของใหม่ให้ชิม บางชิ้นคุณอาจจะชอบ บางชิ้นคุณอาจจะไม่ชอบ ไม่เป็นไร แต่มันจะมีบางคนชอบบางชิ้นเหล่านั้นอยู่ เราไม่ได้คิดว่าทำยืนเดี่ยวเพื่อให้คนมั่นใจว่าดูแล้วตลก แต่เราก็ต้องการที่จะสร้างคุณภาพให้ แต่คุณภาพแบบไหนของคนคนนั้นก็ต้องเป็นแบบนั้น ถ้าคนนี้รสชาติขมแล้วดีมันก็ต้องขม จะไปทางหวานไม่ได้ ถ้าอีกคนมาเป็นแนวนมก็ต้องนมไป แล้วก็ปล่อยให้คนเข้ามาลองกินอะไรที่มันหลากหลาย

คุณมีวิธีการทำงานกับสแตนด์อัพรุ่นใหม่ๆ ยังไง

ยู: วิธีการหลังๆ ก็คือ กูไม่ได้ทำอะไรเลย พี่แก๊ปทำ (หัวเราะ)

แก๊ป: การเล่นสแตนด์อัพคอมเมดี้คือศิลปะ เป็นศาสตร์ที่มีรูปแบบความตลกหลากหลาย ผู้ชมรับรู้ในข้อนี้แล้ว คนเล่นก็ต้องรับรู้ในข้อนี้ กลับมาที่คำถามว่า เราสร้างคนรุ่นใหม่ยังไง เราก็ประกาศออกไป ซึ่งก็จะมีคนที่เข้ามาอยากลองเล่น ลองตัวเอง เราก็ทำพื้นที่ของการเล่นแบบง่ายสุดก่อน คุณยังไม่ต้องเล่นโชว์ใหญ่ คุณมีเรื่องจะเล่า ก็มีโชว์ underground คือเล่นในผับ บรรยากาศเหมือนเพื่อนมาดู มาแกะช็อกโกแลตกินร่วมกัน อันไหนไม่อร่อยก็บ้วนทิ้ง อันไหนชอบก็ปรบมือ เฮฮา ก็จะประมาณนี้ เช่น การประกวด Young Man Can Stand-Up ที่เราจัด เริ่มจากประกวดทางออนไลน์ คุณส่งคลิปมาก่อน 5 นาที ถ้าผ่านเราก็เรียกมา มีเวิร์กช็อปให้ด้วย ทำให้เขารู้ว่าควรจะเล่นยังไง ให้เขาขึ้นโชว์ที่ไม่กดดันมาก ก็ดูกันเอง มีคอมเมเดี้ยน มีเพื่อนของคุณดูในห้องส่งไม่กี่คน เพราะฉะนั้น คุณเป็นตัวของคุณได้เต็มที่เลยนะ เราก็จะบันทึกสิ่งนี้ ตัดต่อและปล่อยลงไปในโลกออนไลน์ ผู้ชมที่อยู่ในแฟนเพจหลักแสนก็มาดู ดูเสร็จก็จะมีคอมเมนต์ คอมเมนต์นี้ก็จะเป็นตัวที่คอมเมเดี้ยนเห็น แล้วก็จะรู้ว่าทางของเราเป็นยังไง เรียนรู้ที่จะพัฒนาศักยภาพของตัวเอง

เราว่ามันเหมือนระบบนิเวศ พอเราทำมา 2-3 ปี เรารู้ว่าเมื่อเราหย่อนสารอะไรบางอย่างใส่คอมเมเดี้ยนหนึ่งคนในระบบ ผ่านกระบวนการหนึ่งสองสามสี่ มันจะได้ผลลัพธ์ แล้วผลลัพธ์นี้จะเอาไปต่อยอดในการโชว์ครั้งต่อไป

ยืนเดี่ยว

ยืนเดี่ยวจะเดินทางไปทางไหนต่อ

ยู: เรามองมุมโรแมนติกละกัน สิ่งที่บอกพี่แก๊ปตลอดคืออยากมีโชว์ขนาดเล็ก สำหรับสแตนด์อัพคอมเมเดี้ยนหน้าใหม่ที่เกิดขึ้นบ่อยๆ สัก 300 ที่นั่ง คุณซื้อตั๋วมาดู เดือนนี้เล่น 10 รอบ มีพื้นที่ที่คอมเมเดี้ยนคนนั้นภูมิใจได้เลยว่ามีโชว์เต็ม ผู้คนติดตาม การที่คอมเมเดี้ยนได้อวดโชว์ของตัวเองสักครั้ง มันเป็นความทรงจำที่ดีมากๆ แต่ถ้าเป็นมุมของคนดู มันจะเป็นทางเลือกใหม่ เช่น ศุกร์นี้ไม่รู้จะดูหนังเรื่องอะไร เมื่อก่อนมีละครเวที ตอนนี้ก็เพิ่มแสตนด์อัพเข้าไป เป็น performance show แบบคนเลือกไปดูได้ เหมือนละครใบ้ อยากให้เป็นแบบนี้ 

แก๊ป: เมื่อเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาอย่างสม่ำเสมอ มันก็จะเกิดเป็นวัฒนธรรม เป็น night life เป็นกิจกรรมหนึ่งของคนไทยที่จะถามว่าเสาร์นี้ไปดูสแตนด์อัพโชว์มั้ย มันเป็นสิ่งที่สามารถเกิดได้

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย