กตัญญู สว่างศรี : สแตนด์อัพ คอมเมเดียนคนล่าสุดของไทย ผู้ขึ้นเวทีไปเต้นรำกับความกลัว

ในค่ำคืนหนึ่งของการซ้อมใหญ่ A Katanyu & Friends : One Night Stand (Up) ผมยืนปัสสาวะอยู่ข้าง กตัญญู สว่างศรี ในสุขาชาย ได้ยินเขาปรึกษามุขกับเพื่อนรุ่นน้อง

ลึกๆ ผมรู้สึกเป็นเกียรติไม่น้อยที่ได้ยืนอยู่ตรงนั้น

ไม่-ผมไม่ได้ภูมิใจกับการได้ยืนถ่ายเทของเหลวออกจากร่างเคียงข้างเขา ผมแค่รู้สึกดีที่ได้มาอยู่ในบรรยากาศของการก่อการ ‘คอมเมเดียนคลับ’ ที่เขาบอกว่าอยากผลักดันให้เกิดขึ้นในประเทศ เพื่อให้เหล่าผู้คนที่สนใจคอมเมเดี้ยนได้มาพบปะกันจนเกิดเป็นชุมชน ไม่ให้วงการคอมเมเดียนเงียบเหงาหรือโดดเดี่ยวแบบที่เป็นมา

ก่อนหน้านี้ผมรู้จักกตัญญูในฐานะนักเขียน พิธีกรงานชุก และผู้จัดรายการพอดแคสต์ที่ชื่อ Get Talks ปัจจุบันเขาคือบรรณาธิการบริหาร ดูแลเนื้อหาอยู่ที่ Moonshot Digital ชายหนุ่มหน้าหนวดย้ำบ่อยครั้งว่าตัวเองเป็นคนตลก แต่ผมก็ไม่กล้ายืนยันว่าเขาเป็นคนตลกจริงๆ หรือเขาแค่เป็นคนมั่นใจในตัวเอง

กตัญญูมั่นใจขนาดที่ว่าลุกขึ้นมาจัดสแตนด์อัพ คอมเมดี้ครั้งแรกในวันเกิดครบรอบ 30 ปีของตัวเอง 2 รอบ และที่น่าแปลกใจคือดันมีคนบ้าจี้มาดูเต็มทั้ง 2 รอบ ทั้งที่ไม่รู้ว่าโชว์ครั้งแรกในชีวิตของเขาจะตลกหรือเปล่า ล่าสุดเขามั่นใจและได้ใจถึงขนาดชวนเพื่อนพ้องอีกกลุ่มใหญ่อย่าง อ้น-นพพันธ์ บุญใหญ่, ก้อง-ชณัฐวุฒิ วิกัยการ, แชมป์-ทีปกร วุฒิพิทยามงคล, โจ้บองโก้, ครูทอมคำไทย, ปอนด์ JAIDEE TV และ แซม-พลสัน นกน่วม มาร่วมโชว์ A Katanyu & Friends : One Night Stand (Up) วันที่ 23 – 24 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้

หลังเดินออกจากสุขาชายในค่ำคืนนั้น ผมนั่งบนเก้าอี้แถวที่ 3 นั่งดูกตัญญูและผองเพื่อนขึ้นมาโชว์บนเวทีทีละคน-เวทีที่เขาบอกว่าน่ากลัวที่สุดในชีวิต มีหลายคำถามผุดขึ้นมาขณะนั่งอยู่ท่ามกลางเสียงหัวเราะและความเงียบ ซึ่งนั่นเป็นเหตุให้เรานัดเจอกันอีกรอบ

คุณเคยบอกว่าตัวเองมีคุณสมบัติที่เป็นสแตนด์อัพ คอมเมดี้ได้ คุณสมบัตินั้นคืออะไร
เราเป็นคนเขียนหนังสือมานาน แล้วคนเขียนหนังสือคือคนที่ชอบเสนอความคิด ไม่ว่าจะตัดสินถูกผิดอะไรก็แล้วแต่ในขณะเดียวกันเราก็รับงานพิธีกรซึ่งใช้ทักษะการควบคุมบรรยากาศให้งานมันอยู่ในบรรยากาศที่ดี และเรามีความกวนตีนอยู่ในตัว ที่ผ่านมาเรากวนตีนคนอื่น เราพูดเรื่องของคนอื่นในขณะที่เราเขียนหนังสือ เรื่องสั้น นิยาย มันก็เป็นเรื่องของเราอย่างเดียว พอรวมกันมันเลยกลายเป็นสแตนด์อัพ คอมเมดี้

เรารู้สึกว่าสแตนด์อัพ คอมเมดี้คือการเล่นกับการเล่าเรื่องเพื่อนำเสนอความคิด สำหรับเราไม่ใช่การมาเล่าเรื่องว่าเรื่องนี้มันเกิดขึ้นได้ยังไง แต่ว่ามันเป็นการนำเสนอความคิดผ่านเรื่องเล่า เราเล่นกับมันแล้วเราไปต่อกับเรื่องนั้น ไม่ใช่แค่เดินออกมาบอกเรื่องตลก อย่างวันก่อนกูเจอไอ้นั่นลื่นเปลือกกล้วยล้มหัวแตกตลกฉิบหาย

สแตนด์อัพ คอมเมดี้ไม่เท่ากับการเล่าเรื่องตลก
มันก็ไม่เชิงว่าไม่เท่ากับทั้งหมด แน่นอนว่าเป้าหมายคือความบันเทิง เสียงหัวเราะ แต่ว่ามันเป็นการทำให้คนสนุกผ่านวิธีเสนอความคิด ไอเดีย อาจจะเล่าเรื่องเดิมก็ได้ แต่เสนอมุมมองใหม่ หรือเป็นวิธีที่ทำให้คนรู้สึกถึงอารมณ์และความคิดที่แตกต่างไปจากเดิมที่เรารู้จัก ข้อดีอย่างหนึ่งคือมันขยายขอบเขตของเรื่องบางเรื่องที่เราจะพูด ความตลกมันเป็นวิธีการหนึ่งในการบ่อนเซาะอำนาจ เราจะสังเกตเห็นว่าคนเราจะใช้ความตลกในการล้อผู้นำต่างๆ เราล้อผู้นำเกาหลีเหนือ เราล้อคนใหญ่คนโต อย่างล่าสุดมีการขโมยรูปคนก็เอามาล้อ เพราะเราไม่สามารถใช้พลังโดยตรงเข้าไปจัดการกับอำนาจที่เหนือเราได้ ตลกมันเป็นการบ่อนเซาะอำนาจแล้วทำให้ผู้มีอำนาจกลายเป็นคนที่เท่าเทียมกับเรา เมื่อไหร่ที่เราทำให้เขากลายเป็นคนตลกได้ คล้ายว่าเราลดให้เขากลับมาเป็นมนุษย์ในระดับเท่าๆ กันได้ กูแซวมึงได้นะ แต่ว่ามันจะถูกให้อภัยเพราะว่ามันขำ เหมือนว่ามันเป็นการเอาชนะด้วยวิธีที่เป็นซอฟต์เพาวเวอร์แบบหนึ่งซึ่งมันจะขยายขอบเขตของการพูดเรื่องต่างๆ ในสังคมได้ คือเราจะสังเกตว่าตลกมันแตะเส้นศีลธรรมบางอย่างที่เหมือนจะผิดแล้ว เกือบจะไปกวนตีนคนอื่นแล้ว แต่มันยังไต่อยู่ในระดับที่ยังรับได้ ดังนั้นเรื่องที่ไกลไปกว่าขอบเขตสังคมจะรับได้ เราจะเล่นมันได้ผ่านเรื่องตลก

เหมือนสแตนด์อัพ คอมเมดี้เป็นเสรีภาพอย่างหนึ่งใช่ไหม
ใช่แล้ว ยิ่งประเทศไหนมีเสรีภาพมากยิ่งเล่นแรงมาก เคยดูสแตนด์อัพ คอมเมดี้ต่างประเทศไหม เขาแซวกันแรงมากจะมีมุขแบบว่า ‘ผู้หญิงโง่ๆ จะไม่ชอบมุขของมัน ส่วนผู้หญิงฉลาดจะไม่มาดูโชว์’ คนขำกันขี้แตกขี้แตนเลย

คนไทยกับคนต่างประเทศหัวเราะเรื่องเดียวกันมั้ย
ต่างกัน บางทีเราหัวเราะกันคนละเรื่อง ตลกไทยก็จะเป็นแบบที่เราคุ้นเคย มีเล่นคำ มีสองแง่สองง่าม ซึ่งอันนี้ความจริงก็มีทั้งโลก แต่อารมณ์ขันของไทยมีอย่างหนึ่งที่เรารู้สึกว่าแตกต่างชัดเจน คือเราไม่ค่อยจะไปแตะต้องใครเท่าไหร่ หรือแตะต้องแต่ไม่ใช่ประเด็นที่แหลมคม ในขณะที่ขอบเขตของสแตนด์อัพ คอมเมดี้ต่างประเทศไปได้ไกลกว่า เรื่องเพศสภาพบ้าง วันแห่งโศกนาฏกรรมบ้าง เช่น วันที่คนใส่ชุดโจ๊กเกอร์ไปแล้วไปยิงคนตายในโรงหนังตอนฉายแบทแมน เขารีบเข้าทวิตเตอร์บอกว่า ‘นอกจากมีคนตายแล้วหนังสนุกไหม’ คนขำมากแล้วเขาก็วิจารณ์ต่อ คือตลกเพื่อวิจารณ์สังคมด้วย เขาบอกว่า คนที่โพสต์ลงโซเชียลฯ ว่าสวดมนต์ ว่าเศร้ามาก ก็ไม่ต่างอะไรจากการบอกคนทั้งโลกว่าเห็นฉันไหม ฉันเศร้านะ ไม่มีค่าอะไรเลย แต่เขาสร้างเสียงหัวเราะในวันที่ผู้คนโศกเศร้า เขาคิดแบบนี้ ซึ่งก็มีสิทธิ์ที่เขาจะคิด แล้วเขาก็ยังเล่นต่อไปอีกว่า มีคนเข้ามาด่าเขา หาว่าเขาไปเล่นงานเหยื่อ เล่นมุขกับเหยื่อ เขาบอกว่า “จะเล่นงานเหยื่อได้ยังไง เพราะวันนั้นเหยื่อไม่น่าจะออนไลน์อยู่นะ” ซึ่งเรื่องพวกนี้ไม่มีทางที่จะเล่นในบ้านเราได้ แต่คนบ้านเขาเก็ตว่ามันเป็นมุขตลก

การล้อแบบไทยๆ เนื้อสารมันไม่ชัด จะเป็นการล้อเพื่อเอาฮา แต่ของต่างประเทศมันจี้ไปถึงใจ มันอาจจะเกิดยากนะ แต่ขยายได้ถ้าเรามีวัฒนธรรมนี้เรื่อยๆ เราก็จะหัวเราะ จะให้อภัย มันจะขยายขอบเขตไปเรื่อยๆ แล้วสังคมจะใจกว้างมากขึ้น เวลารับมุขตลกแรงๆ ได้ทำให้เราใจกว้างนะ เหมือนเราเข้าใจว่าแต่ละเรื่องมีกฎเกณฑ์ของมันอยู่ แล้วเรายอมรับกับมันได้

คุณว่าทำไมประเทศไทยไม่ค่อยมีใครลุกขึ้นทำสแตนด์อัพ คอมเมดี้
เพราะบ้านเราไม่มีวัฒนธรรมนี้ สแตนด์อัพ คอมเมเดียนไม่เหมือนนักดนตรีที่แบบว่า เฮ้ย มีพี่เล่นกีตาร์อยู่ข้างบ้าน มีพี่ตูน บอดี้แสลม คือเรามีไอดอลของเรา เรามีหนทาง มีโรงเรียนสอน มีสังคมที่เดินไปถามได้ว่า พี่ครับถ้าผมอยากทำอย่างนี้จะทำยังไง มีนิตยสารที่สัมภาษณ์นักร้องหรือวงดนตรีเยอะแยะมากมาย แต่มันไม่มีสังคมของการเล่นตลกแบบสแตนด์อัพ คอมเมดี้อยู่ มันเลยไม่มีคนซ้อม ไม่มีคนลอง เหมือนเรายกให้เรื่องนี้เป็นเรื่องของพรสวรรค์ไปแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาก็เหมือนมีแค่คนเดียวในประเทศที่ทำได้

เหมือนที่โน้ต อุดม เคยบอกว่าเมืองไทยไม่มีคนที่เป็นผู้กำกับสแตนด์อัพ คอมเมดี้
มันจะมีได้ยังไงในเมื่อไม่มีคนดู คนเล่น ถ้านึกไวๆ มีแค่คนเดียวเลย แล้วเขาจะไปหากินอะไร ถ้ามันจะเกิดขึ้นจริงจัง มันต้องเกิดสังคม ต้องเกิดสปอนเซอร์ ต้องมีคนอยากดู และมีคนอยากเล่น มีความหลากหลายของเรื่องเล่าที่หลายมุมมอง แล้วมันจะตอบโจทย์รสนิยมของคนที่หลากหลาย กลายเป็นเรื่องที่คนมาสนุกกัน เหมือนกับวันหนึ่งที่ฟุตบอลไทยหงอยมากๆ แล้วเราสร้างวัฒนธรรมการดูฟุตบอลขึ้นมา ได้ซูเปอร์สตาร์เต็มไปหมด ผู้คนเต็มไปหมด สังคมสนุกกับเรื่องนี้

เห็นหลายคนคอมเมนต์ว่าคุณกล้าหาญที่ลุกขึ้นมาทำ คุณเองคิดว่าเป็นความกล้าหาญไหม
กลับไปตอบเรื่องเดิมว่าพอไม่มีวัฒนธรรมแบบนี้ ใครออกมาทำก็เลยกลายเป็นว่ามึงกล้าเนาะที่มาทำ ซึ่งถูกไม่ถูกเราไม่รู้ เราคงต้องกล้าประมาณหนึ่งแหละ แต่เราไม่ได้มาเป็นหัวหอกขนาดนั้น ลึกๆ เราทำเพื่อตัวเอง แต่ว่านอกจากทำเพื่อตัวเอง เราอยากให้คำว่ากล้าหาญในการมาเล่นสแตนด์อัพ คอมเมดี้มันหายไป อยากให้กลายเป็นกล้าเล่นมากกว่า เพราะก่อนจะเล่นครั้งแรก เรารู้สึกกลัวมาก

มีอะไรน่ากลัวอะไรขนาดนั้น
เรารู้สึกว่าการเล่นอะไรแบบนี้มันเหมือนเอาความหวังไปรอพังทลายตลอดเวลา ทุกครั้งที่เราพูด เราต้องการเสียงหัวเราะ ต้องการปฏิกิริยาตอบกลับมา แต่มันเป็นไปได้น้อยมากที่จะได้กลับมาทุกครั้ง มันเลยเต็มไปด้วยความกลัว เรากลัวว่ามันจะไม่เป็นอย่างที่หวัง เรากลัวทุกสายตาที่โอบล้อมมาที่เรา การขึ้นไปบนเวทีมันเอาเราไปทั้งร่างกาย คนดูดซับเอาไปทุกสิ่งอย่างทั้งตัวของเรา มึงเครียดเขาก็รู้ ขยี้ตาเขาก็รู้ เราเลยกลัวว่าเราจะเอาชนะมันได้ไหม อย่างตอนซ้อมคนที่มีประสบการณ์มากๆ อย่างพี่อ้น (นพพันธ์ บุญใหญ่) ที่เป็นคนละครเวทียังบอกว่า นี่เป็นเวทีที่เขากลัวที่สุดในชีวิต หรือแชมป์ (ทีปกร วุฒิพิทยามงคล) ก่อนขึ้นเวทีก็จับมือแล้วบอกว่า มึงกูกลัวมากๆ

แล้วคุณบอกอะไรกับคนที่กลัว
เราโชคดีที่โชว์ครั้งที่แล้วมีคนช่วยแนะนำเยอะ เราบอกแบบเดียวกับที่พี่ปอย Portrait (ตวัน ชวลิตธำรงค์) บอกกับเรา พี่เขาแชทมาหาหนึ่งวันก่อนจะขึ้นโชว์ว่า “มึงกลัวใช่มั้ย มึงกลัวแน่ๆ และมึงไม่ต้องไปคิดว่ามึงจะสลายความกลัวนะ มึงเก็บความกลัวไว้ ขึ้นเวทีแล้วเต้นรำไปกับมัน” มันเป็นคอมเมนต์ที่นามธรรมมากนะ แต่เอามาใช้ได้ คือเวลาที่เราพยายามสะกดกลั้นความกลัวว่า กูไม่กลัว กูไม่กลัว กูจะออกไป มันกลายเป็นเหมือนเราตั้งมั่นอยู่กับความกลัว แต่พอคิดแบบ เฮ้ย กูกลัวแหละ แต่กูจะออกไป มันจะเป็นภาวะแบบกูกลัวนะ แต่กูจะเล่น จะสู้ จะอยู่กับมัน เพราะว่าจริงๆ แล้วความกลัวนี้ไม่มีทางที่เราจะสะกดกลั้นมันไว้ได้เลย เรารู้สึกว่ามันเหมือนหนังเรื่อง Troy ที่แม่ทัพถูกส่งออกมารบฝั่งละคน ยังไงคนต้องกลัวตายอยู่แล้ว แต่คนที่กลัวตายมากๆ มีสิทธิ์ที่จะตายมากกว่าคนที่เตรียมใจว่า กูจะตายแต่กูจะฟาดฟันให้เต็มที่

ประกอบกับคอมเมนต์พี่จุ้ย (ศุ บุญเลี้ยง) ที่บอกว่า “เล่นไปเถอะ เล่นตลกแล้วไม่ขำไม่ใช่ผู้ร้าย ไม่ใช่ฆาตกร” เราก็คิดว่าจริงว่ะ เรื่องไม่ขำมันก็ไม่ใช่เรื่องที่กูต้องรู้สึกผิด ความจริงมันก็สลายความกลัวไม่ได้อยู่ดีนะ แต่อย่างน้อยที่สุดมันก็สลายความคาดหวังของตัวเองไปได้ประมาณหนึ่ง ทำให้เรากล้าเล่นมากขึ้น

หลังการซ้อมโชว์ A Katunyu 30 ปีชีวิตห่วยสัส ครั้งแรกเห็นคุณร้องไห้ คุณเสียน้ำตาให้กับอะไร
ก่อนเล่นผมเจอพี่ต๊ะ-จักรพันธุ์ ขวัญมงคล บรรณาธิการบริหารนิตยสาร The Hollywood Reporter เขาบอกว่า มึงเล่นเสร็จ มึงร้องไห้แน่นอน เราก็ไม่เชื่อว่ามันคืออะไร แต่เล่นจบเรากอดกับแชมป์ ทีปกร แล้วร้องไห้เลย

มันมีสองอย่างที่ทำให้เราร้องไห้ออกมา อย่างแรกคือ เราไม่พอใจตัวเองมากๆ อย่างที่สองคือ สิ่งที่เราเตรียมมามันได้ปลดปล่อยออกไปแล้ว เป็นสิ่งที่อธิบายไม่ได้เหมือนกัน มันใช้พลังมากแบบที่ไม่คิดมาก่อน เหมือนเราบ่มมาแล้วขึ้นไประเบิดบนนั้น

คุณชอบสแตนด์อัพ คอมเมเดียนคนไหนเป็นพิเศษ
โดยนิสัยไม่ชอบล็อกว่าตัวเองจะต้องชอบคนไหน เราจะเป็นพวกแบบสแตนด์อัพ คอมเมเดียนคนนี้เราชอบตรงนี้ คนนั้นเราชอบตรงนั้น พี่โตโต้คนวาดการ์ตูนหัวแตงโมเคยถามผมว่า “มึงอยากเป็นคอมเมเดียนคนไหนวะ” ผมก็ตอบไปว่าผมอยากเป็น กตัญญู สว่างศรี คือกวนตีนเขาแหละ แต่ความคิดในใจจริงๆ ผมอยากเป็นผม ไม่ได้อยากเป็นใคร

แล้วกตัญญู สว่างศรี เป็นสแตนด์อัพ คอมเมเดียนแบบไหน
เรามีเวทีเป็นโค้ช มีกรรมการเป็นคนดู เราเพิ่งขึ้นเวทีไปสองสามเวทีเอง เราตอบไม่ได้ว่าเราเป็นสไตล์ไหน แต่สิ่งที่เราชอบเล่นตอนนี้คือเราจะเตรียมเรื่องราวประมาณ 80 แล้วไปเล่นจริง 120 เราชอบความสด เราชอบเล่นมุขที่มันผุดออกมาสดๆ เราชอบเล่นเรื่องราวรอบตัว คอมเมเดียนที่จะเล่าเรื่องได้สนุกต้องเริ่มจากเรื่องที่ตัวเองสนุกก่อน ซึ่งเราชอบล้อตัวเอง เราไม่ได้ชอบล้อคนอื่น เราชอบเล่าเรื่องความผิดพลาดของตัวเอง ฉะนั้นมุขเราก็เล่นงานตัวเองก่อน

สแตนด์อัพ คอมเมดี้ยังเป็นเครื่องมือที่ทำงานได้ดีอยู่ไหมในยุคที่ใครๆ ก็ไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กได้
ยังทำงานได้ดีอยู่ ถ้ามาดูสดจะเห็นว่ามันต่างจากการดูออนไลน์เยอะมาก เราว่าสิ่งที่มนุษย์ยุคนี้อาจจะขาดก็คือโมเมนต์ดีๆ ที่เกิดขึ้น บรรยากาศที่เกิดขึ้นในเวลานั้นเป็นสิ่งที่ออนไลน์ให้ไม่ได้ มันเห็นเนื้อตัวของคนเป็นๆ เห็นอารมณ์ เห็นหัวใจกันตรงเวที ถ้ามาดูแล้วจะรู้ว่าเสียงหัวเราะของคนข้างๆ โลกออนไลน์ไม่สามารถให้ได้ มันมีชีวิตอยู่ในนั้น มีมวลบางอย่างที่แตกต่างไปจากคอนเสิร์ต ละครเวที เป็นบรรยากาศสนุกๆ อีกแบบ มาเจอกัน สนุกกัน มีการเอาใจช่วยกันด้วยนิดนึง ถ้าไม่ขำก็อาจจะเงียบ แต่บางครั้งมึงพูดตรงใจกูสุดๆ ก็ตบเข่าฉาด มันมีความมีชีวิตชีวาที่เฉพาะตัวมากๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สัมผัสได้ด้วยการมาดูจริงเท่านั้น

คุณไม่คิดว่าตัวเองกำลังกระโดดลงทำสิ่งนี้ที่ไม่มีใครสนใจใช่มั้ย
เราว่ามันมีหัวเชื้อของความสนใจอยู่ เพียงแต่ว่าไม่มีคนจุดพลุขึ้นมาให้เห็นแสงไฟสว่าง ให้เห็นว่ามันมีชุมชนตรงนี้อยู่ ล่าสุดก็มีเจ้าของร้านเล็กๆ มาชวนเราไป เขาอยากให้มีโชว์ มีคอเมดี้คลับ เราเชื่อว่ามีคนที่ต้องการสิ่งนี้เต็มไปหมดเพียงแต่ว่าไม่มีคนที่ลุกขึ้นมาทำแล้วบอกว่าสร้างสิ่งนี้กันเถอะ แต่ต้องบอกว่าสิ่งที่เราทำมันไม่ได้ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น เรายังต้องการแรงสนับสนุนอีกมากมาย ใครอยากทำก็มาร่วมกัน ใครอยากเล่นมาคุยกัน เราอยากให้มันมี แต่ไม่ได้มีพลังจะดันให้มันดังเป็นพลุแตกขนาดนั้น

การชวนคนอื่นๆ มาร่วมด้วยในโชว์ A Katanyu & Friends : One Night Stand (Up) คือการสร้างชุมชนคอมเมเดียนวิธีหนึ่งใช่มั้ย
ใช่ ใจจริงอยากเอาเพื่อนๆ มาเล่นด้วยกันจะได้สนุก เราเล่นคนเดียวแล้วจ๋อยๆ ยังไงไม่รู้ เราคิดว่าคนเราต้องการคู่แข่งและเพื่อนไปพร้อมๆ กัน อยากเห็นคนที่มันเก่งกว่า ซึ่งเราก็ตัดพี่โน้ต อุดม ออกไป เราอยากเห็นคนอื่นๆ จะได้มาผลักดันตัวเองด้วย นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เราทำโชว์นี้ ซึ่งการเป็นคู่แข่งไม่ได้ไปเกลียดเขานะ เราแค่อยากเห็นคนเก่งเยอะๆ จะได้ผลักดันตัวเองให้เก่งเท่าเขา

โชว์ A Katanyu & Friends : One Night Stand (Up) จะบ่อนเซาะอะไรมั้ย
บ่อนเซาะความไม่เชื่อ โชว์ครั้งนี้จะทำให้เกิดความเชื่อว่าเราทำให้เกิดขึ้นได้ เราอาจจะเห็นว่าสังคมเป็นแบบนี้ โชว์แบบนี้มันเกิดยาก มันเป็นไปไม่ได้หรอก แต่วันที่ผมซ้อมกับคนอื่นๆ แล้วเห็นแววตาคนเล่นและแววตาคนดู เราว่าเราบ่อนเซาะความไม่เชื่อในตัวเอง เราเชื่อมากขึ้นว่าอะไรแบบนี้มีได้ในบ้านเรา วันนี้มีคนเชื่อมันแล้ว และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ครั้งนี้มีเพื่อนขึ้นโชว์ร่วมเวทีแล้ว คุณยังมองว่าสแตนด์อัพ คอมเมเดียนเป็นงานที่โดดเดี่ยวไหม
โดดเดี่ยว คือเรามีคนช่วยสนับสนุนเยอะแยะ แต่ ณ ขณะที่เราขึ้นโชว์ มันไม่มีใครเลย สุดท้ายมีแค่เราที่ขึ้นไปจัดการกับมันบนเวที ไม่มีใครอยู่กับเรา มีแค่เรากับคนดูและเวทีเท่านั้น ไม่มีพักยก ไม่มีคนบอกบท เราหลุดไปจากเรื่อง คนก็รู้ สมาธิหลุด คนก็เห็น สุดท้ายคือตัวเราคนเดียว จ๋อยก็จ๋อยคนเดียว ผิดหวังก็ต้องสู้ต่อ ถอยไม่ได้ ไม่มีใครมาบอกว่าพักยกก่อนนะ กินน้ำหน่อย เราขึ้นชกแล้วต้องชกยาว โดนชกก็ต้องยอม ถ้าชกได้ก็รัว บางวันชนะคะแนนก็ดี แต่บางวันแค่ไม่ตายก็โอเคแล้ว

Facebook | A – katanyu

ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

AUTHOR