Patriot Act : รายการ Stand-up Comedy ที่จิกกัดการเมืองโลกได้อย่างถึงแก่น

Highlights

  • ‘Patriot Act’ คือรายการ stand-up comedy ทาง Netflix ที่ดำเนินรายการโดย Hasan Minhaj ดาราตลกเชื้อสายอินเดีย-อเมริกัน
  • ในแต่ละตอนไม่เพียงจะเสียดสีสังคมอย่างแสบสัน หากเขายังผูกโยงอารมณ์ขันเข้ากับประเด็นการเมืองได้อย่างน่าทึ่ง
  • รายการนี้ถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการท้าทายกับอำนาจ ไม่เฉพาะแค่การจิกกัดอำนาจในระดับของชีวิตประจำวัน หากยังรวมถึงอำนาจที่ห่างไกล หรือซับซ้อนเกินกว่าที่เราจะตระหนักถึงผลกระทบของมันได้

26 ตุลาคม .. 2001  47 วันหลังจากเหตุการณ์ 9/11 สภาคองเกรสก็ได้ผ่านร่างกฎหมายที่จะให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐสามารถเข้าถึง ตรวจสอบ และสอดแนมข้อมูลส่วนตัวของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นบันทึกการสนทนา อีเมล หรือข้อความเสียง เพื่อจะขัดขวางการก่อการร้ายใดๆ ได้ทันท่วงที กฎหมายที่ว่านี้คือ ‘Patriot Act’ (รัฐบัญญัติรักชาติ) George W. Bush เปลี่ยนสหรัฐฯ ให้กลายเป็นประเทศแห่งความหวาดระแวง

ภายใต้ชื่อเดียวกัน ‘Patriot Act’ คือรายการ stand-up comedy ทาง Netflix ที่ดำเนินรายการโดย ฮาซัน มินฮาจญ์ (Hasan Minhaj) ดาราตลกเชื้อสายอินเดียอเมริกัน ที่ในแต่ละตอนไม่เพียงจะเสียดสีสังคมอย่างแสบสัน หากเขายังผูกโยงอารมณ์ขันเข้ากับประเด็นการเมืองได้อย่างน่าทึ่ง ตัวอย่างเช่น มินฮาจญ์พาเราไปสำรวจกระแสของ ‘Supreme’ แบรนด์สตรีทแวร์ชื่อดัง ทั้งต่อประเด็นที่แบรนด์แบรนด์นี้ฮิตระเบิดระเบ้อไปทั่วโลก และประเด็นที่ว่า เบื้องหลังแบรนด์แบรนด์นี้คือบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ายุทโธปกรณ์สงคราม

หรือการที่เขาชักชวนคนดูคุยเรื่องวัฒนธรรมฮิปฮอปอเมริกันในปัจจุบัน ที่ได้รับอิทธิพลจากบริการสตรีมมิงอย่างเห็นได้ชัด มินฮาจญ์ชี้ว่า เพลงแรปใหม่ๆ จำนวนหนึ่งที่เกิดขึ้นภายใต้แพลตฟอร์มอย่าง SoundCloud หรือ Spotify มีทีท่าว่าจะสั้นลงๆ เขาอธิบายว่า เพราะ Spotify จะจ่ายเงินให้ศิลปินผ่านจำนวนการสตรีม ด้วยเหตุนี้ระยะเวลาของเพลงที่สั้นลง จึงเท่ากับจำนวนการสตรีมที่ถี่ขึ้นและรายได้ที่มากขึ้น ทว่ามินฮาจญ์ไม่ได้หยุดเพียงแค่นี้ หากเลือกจะพาไปสำรวจกระแสฮิปฮอปในประเทศอื่นๆ ที่ไปผูกโยงเข้ากับการเมืองอย่างน่าสนใจ เช่น รัฐบาลจีนได้ใช้เพลงแรปในฐานะเครื่องมือประชาสัมพันธ์อำนาจรัฐ ในทางกลับกัน ที่ประเทศไทยก็ได้ปรากฏเพลงอย่างประเทศกูมีซึ่งต่อต้านรัฐบาลทหารอย่างดุเดือด

จุดเด่นอย่างหนึ่งของ Patriot Act อยู่ตรงที่ว่า ในแต่ละประเด็นที่มินฮาจญ์หยิบขึ้นมาบนเวที เขาไม่ได้จ้องแต่จะพูดถึงด้านแย่ๆ ของประเด็นนั้นๆ หากพยายามจะหาจุดสมดุล เพื่อให้เรื่องที่เล่ากลมที่สุด เช่น แม้เขาจะเห็นว่าบริการสตรีมมิงจะคือตัวอย่างหนึ่งของทุนที่มาครอบงำความคิดสร้างสรรค์ แต่มินฮาจญ์ก็สรุปประเด็นนี้ว่า

มันบ้ามากสำหรับผม แนวเพลงที่ถูกสร้างขึ้นในปาร์ตี้ส่วนตัวแถวย่านบร็องซ์กำลังมีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกทางการเมืองระดับนานาชาติ เพราะสตรีมมิง เพลงฮิปฮอปกำลังช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวจากทั่วโลก เพลงประเภทเดียวกันที่ให้กำเนิด Lil Pump ขณะนี้กำลังช่วยประชาชนให้วิจารณ์ผู้นำเผด็จการสุดโหดว่าค่อนข้างจะน่ารำคาญ*’ ” (*มินฮาจญ์หมายถึงเนื้อหาท่อนหนึ่งของเพลงประเทศกูมีที่ร้องว่าเป็นประเทศที่ผู้นำค่อนข้างจะน่ารำคาญ’)

แน่นอน มินฮาจญ์ไม่ใช่ political comedian คนแรกของสหรัฐฯ เพราะก่อนหน้าก็มีดาราตลกการเมืองแจ้งเกิดมาแล้วไม่รู้ตั้งเท่าไหร่ (Jon Stewart, Stephen Colbert W, Kamau Bell และ John Oliver เป็นเพียงตัวอย่างคร่าวๆ) แต่จุดที่ส่งให้มินฮาจญ์โดดเด่นขึ้นมา ไม่เพียงแค่เพราะเขาเป็นอินเดียอเมริกันเท่านั้น ทว่ามินฮาจญ์ยังเป็นมุสลิมอีกด้วย

ภายใต้ประเด็นการเมืองที่แตกต่างกันไปในแต่ละเอพิโซด มินฮาจญ์มักจะหยอดมุกตลกทางวัฒนธรรมอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการจิกกัดสังคมอินเดียหรือวิถีชีวิตแบบมุสลิม และแม้บางมุกตลกของเขาอาจฟังดูแรง หรืออาจรบกวนจิตใจอยู่ในที ทว่าโจ๊กเหล่านี้ก็ล้วนวางอยู่บนพื้นฐานของความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรมของสังคมอเมริกัน ที่ถึงที่สุดแล้ว ความหลากหลายต่างๆ นี้ก็ยังดำรงอยู่ภายใต้วาทกรรมของการทำให้เป็นคนอื่น

ก่อนหน้า Patriot Act มินฮาจญ์มีจัดแสดงเดี่ยวไมโครโฟนในชื่อ Homecoming King ตลอดชั่วโมงกว่าๆ ของโชว์นี้ มินฮาจญ์บอกเล่าส่วนเสี้ยงหนึ่งของชีวิตเขา ที่แม้ว่าจะเกิดและเติบโตในสังคมอเมริกัน แต่เพราะเป็นอินเดียมุสลิม เขาจึงไม่อาจหลุดออกจากกรอบของคนอื่นได้เลย ในช่วงหนึ่งของโชว์นี้ มินฮาจญ์เล่าถึงประสบการณ์ตัวเองและครอบครัวต้องพบเจอหลังเหตุการณ์ 9/11 เขาเล่าว่า หนึ่งวันหลังจากการก่อการร้าย ครอบครัวของเขาได้รับทั้งโทรศัพท์ขู่ฆ่า รถยนต์ถูกทุบกระจกจนแหลก แถมทรัพย์สินบางส่วนยังถูกขโมยไป มินฮาจญ์เล่าว่า ในจังหวะนั้นเขาประหลาดใจกับท่าทีของพ่อที่ดูไม่โกรธเคืองใดๆ ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ทำไมพ่อไม่พูดอะไรบ้าง ขอร้องล่ะ พูดอะไรบ้างสิมินฮาจญ์ถามพ่อเสียงดัง ด้วยทีท่าซึ่งยังคงสงบนิ่ง พ่อตอบเขาเงียบๆ ว่าฮาซัน เรื่องพวกนี้เกิดขึ้น และมันจะยังเกิดขึ้นต่อไป มันเป็นราคาที่เราต้องจ่ายเพื่ออยู่ที่นี่สำหรับพ่อของมินฮาจญ์ เขามองตัวเองในฐานะผู้อพยพ ที่ต้องทนกับการเหยียดเชื้อชาติประหนึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับมินฮาจญ์ที่เกิดและเติบโตที่นั่น เขาเห็นว่ามันเป็นเรื่องสำคัญในการกล้าจะเรียกร้องความเท่าเทียม

“…ผมรู้ดีว่าเหตุการณ์ 11 กันยายนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ผมเข้าใจ เพราะตอนที่มันเกิดขึ้น ทุกๆ คนในอเมริการู้สึกเหมือนประเทศนี้ถูกโจมตี แต่ในคืนนั้น วันที่ 12 กันยายน เป็นค่ำคืนแรกของค่ำคืนอีกมากมาย ที่ความจงรักภักดีของครอบครัวผมที่มีต่อประเทศนี้ถูกโจมตี และนั่นก็แย่มาโดยตลอด ในฐานะผู้อพยพ เราต้องแสดงตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่าเรารักประเทศชาติ เราพยายามแสดงให้คุณเชื่อว่าเรารักประเทศนี้ ได้โปรดเชื่อเราไม่มีใครรักประเทศนี้มากกว่าพวกเรา

หากลองย้อนกลับมาที่ชื่อของรายการ เราจะเห็นถึงความสัมพันธ์อันชัดเจนที่ยึดโยงอยู่ระหว่าง Patriot Act ทั้งสองความหมาย หนึ่งคือข้อกฎหมายที่แทนที่ความหลากหลายของผู้คนในสังคมด้วยนิยามของความเป็นอื่นกับอีกหนึ่งคือ รายการตลกการเมืองที่ไม่เพียงจะแสดงให้เห็นว่าความหลากหลายสามารถกลายเป็นเรื่องขำขันบันเทิง หากภายใต้มุกตลกแพรวพราวก็ยังสื่อถึงความเจ็บปวดต่อการถูกมองว่าเป็นอื่นซุกซ่อนอยู่อีกขยักหนึ่ง พูดอีกอย่างคือ ถ้ากฎหมาย Patriot Act คืออำนาจที่สร้างความเป็นอื่น Patriot Act ของมินฮาจญ์ก็คือเสียงสะท้อนของความเป็นอื่นที่เป็นผลผลิตจากกฎหมายบทนั้น

ในบทความวิชาการเรื่อง ‘Critical Laughter: The Standup Comedian’s Critique of Culture at Home’ ของนักมานุษยวิทยา Kelsey Timler มีข้อเสนอหนึ่งที่เขาได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ ทิมเลอร์มองลักษณะการทำงานของ stand-up comedian ว่าคือการศึกษาวัฒนธรรมปัจจุบัน เพื่อจะชี้ให้เห็นซึ่งความหมายต่างๆ ที่ซุกซ่อนอยู่ในบรรทัดฐานของสังคม ภายใต้เป้าหมายที่ต้องการเผยให้เห็นถึงระดับชั้นของอำนาจ (hierarchies of power) และวาทกรรมในสังคม

ทิมเลอร์ชี้ว่า ในแง่หนึ่ง อารมณ์ขันคือวิธีการที่จะพูดถึงสถานการณ์หนึ่งๆ ได้อย่างตรงไปตรงมา ด้วยเหตุนี้ stand-up comedy จึงเป็นดั่งเครื่องมือหนึ่งในการจะตั้งคำถามต่อบรรทัดฐานหรือความอยุติธรรมใดๆ ของสังคมได้อย่างซึ่งๆ หน้า ดาราตลกเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะจับจ้องไปยังชีวิตประจำวันด้วยเจตนาที่จะเปิดเผยให้เห็นถึงความหมายที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้ความปกติเท่านั้น แต่ด้วยพวกเขาเลือกจะเสียบแทงมุกตลกไปยังพื้นที่ซึ่งเราไม่ทันระวังตัวกลับหัวกลับหางมุมมองต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว การยั่วล้อ และตั้งคำถามกับสามัญสำนึกที่มักจะถูกมองว่าเป็นเรื่องปกตินี่เอง ที่ยิ่งจะส่งให้มุกตลกยิ่งมีพลัง พูดอีกอย่างคือ สำหรับ stand-up comedy การเสียดสีสามัญสำนึกจึงคือการกระชากหน้ากากของอำนาจลงมาถากถางและท้าทาย

หากพิจารณาในแง่นี้ เราจะเห็นได้ว่า Patriot Act จึงคือตัวอย่างที่ชัดเจนของการท้าทายกับอำนาจ ไม่เฉพาะแค่การจิกกัดอำนาจในระดับของชีวิตประจำวัน (การถูกทำให้เป็นคนอื่น, การเหยียดเชื้อชาติ) หากยังรวมถึงอำนาจที่ห่างไกลหรือซับซ้อนเกินกว่าที่เราจะตระหนักถึงผลกระทบของมันได้ในชีวิตแต่ละวันของเรา เช่นนี้เอง Patriot Act จึงถือเป็นอีกหนึ่งรายการ stand-up comedy ที่น่าสนใจสุดๆ ชั่วขณะนี้ เพราะนอกจากที่คุณจะได้รู้ว่า เบื้องหลังของแบรนด์ Supreme มีความลับดำมืดซ่อนตัวอยู่ หรือวัฒนธรรมฮิปฮอป ที่แม้ในประเทศหนึ่งๆ จะคือตัวแทนของการต่อต้านอำนาจ หากก็ยังมีบางประเทศที่เพลงแรปได้กลายเป็นเครื่องมือของเผด็จการไปเสียได้ คุณยังจะได้หัวเราะร่วมไปกับมุกตลกของมินฮาจญ์ที่คอยย้ำเตือนว่า อำนาจหลบซ่อนอยู่ในทุกพื้นที่ ไม่เว้นแม้แต่ในโจ๊กของเขาเอง


อ้างอิง
Timler, Kelsey. (2012). Critical Laughter: The Standup Comedian’s Critique of Culture at Home. Journal of Graduate Students in Anthropology (13): 49-63.

AUTHOR