อ่านหนังสือเล่มโปรดที่ ‘Orange Badminton’ คาเฟ่และที่พักของคู่รักที่พบกันเพราะหนังสือ

Highlights

 
  • Orange Badminton คือโฮมคาเฟ่และที่พักขนาดเล็กในเชียงใหม่ ชื่อ Orange Badminton เกิดจากการนำชื่อเล่นของเจ้าของอย่าง แบด–กิตติภัทร์ สงฆ์ชู อดีตก๊อบปี้ไรเตอร์ กับชื่อของแฟนสาว ส้ม–ปาร์ค จองฮี แฟชั่นดีไซเนอร์ชาวเกาหลีผู้ตกหลุมรักเชียงใหม่เข้าอย่างจัง
  • การออกแบบพื้นที่ภายในส่วนคาเฟ่และที่พักของ Orange Badminton มีการคำนึงถึงเรื่องความเหมาะสมสำหรับการอ่านหนังสือไว้อย่างระมัดระวัง ตั้งแต่แสง ตำแหน่งการวางโต๊ะ เก้าอี้ ไปจนถึงสุ้มเสียงภายในร้าน
  • ส้มและแบดตั้งใจให้พื้นที่ของพวกเขาสามารถต้อนรับผู้ที่ต้องการจะเข้ามาอ่านหนังสือและเขียนงานได้อย่างเต็มที่ โดยไม่จำกัดเวลา และยังเปิดพื้นที่ให้กับนักเขียนหน้าใหม่ได้แสดงผลงานผ่านกิจกรรมที่พวกเขาคิดขึ้น
   

ท่ามกลางคาเฟ่เกิดใหม่จำนวนมากในเชียงใหม่ ไม่นานมานี้เราเพิ่งค้นพบคาเฟ่และที่พัก airbnb แห่งหนึ่งที่แตกต่างจากแลนด์มาร์กอื่นๆ เพราะที่นี่ออกแบบมาเพื่อคนที่รักการอ่านและงานเขียนโดยเฉพาะ

Orange Badminton คือชื่อที่เกิดจากการนำชื่อเล่นของเจ้าของอย่าง แบด–กิตติภัทร์ สงฆ์ชู อดีตก๊อบปี้ไรเตอร์มารวมกับชื่อของแฟนสาว ส้ม–ปาร์ค จองฮี แฟชั่นดีไซเนอร์ชาวเกาหลีผู้ตกหลุมรักเชียงใหม่เข้าอย่างจัง (เธอได้ชื่อ ‘ส้ม’ จากการบ้านวิชาภาษาไทยที่ครูให้เธอเลือกตั้งชื่อภาษาไทยของตนเอง)

ทั้งสองคือคู่รักที่หลงใหลในงานเขียน เริ่มจากส้ม สาวชาวเกาหลีที่เดินทางเทียวไปเทียวมาระหว่างเกาหลีและเชียงใหม่บ่อยครั้งจนลงมือทำหนังสือทำมือเพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่เธอประทับใจในเชียงใหม่และแบ่งปันให้กับเพื่อนๆ ชาวเกาหลีได้อ่าน 

ในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกัน แบดก็ลาออกจากงานก๊อบปี้ไรเตอร์ที่ต้องเขียนเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า มาทำงานเขียนเพื่อตอบความต้องการส่วนตัวของตัวเอง เชียงใหม่และตัวหนังสือทำให้ทั้งสองพบกันที่ร้าน Bulbul Book Cafe ร้านกาแฟผสมห้องสมุด ซึ่งตอนนั้นแบดทำงานประจำเป็นบรรณารักษ์

ส้มฝันจะย้ายมาใช้ชีวิตอยู่ที่เชียงใหม่ ขณะที่แบดก็อยากหาพื้นที่ทำงานเขียนของตนเอง

ทั้งเลี้ยงชีพ ทั้งหล่อเลี้ยงความรักและความฝัน นี่คือความตั้งใจที่เป็นจุดเริ่มต้นของ Orange Badminton

“พูดตรงๆ เลยนะครับ … เราทำที่นี่ขึ้นมาเพราะต้องหาตังค์” แบดเริ่มต้นเล่าพร้อมกับเสียงหัวเราะ

“นั่นคือเหตุผลแรก แต่อีกส่วนคือเราสร้างพื้นที่ให้ตัวเองได้ทำงานอย่างมีความสุข เราพบว่ามีบางช่วงที่เราไม่สามารถเขียนงานที่บ้านได้ มันตัน เราเลยมักออกไปหาร้านกาแฟเพื่อทำงานเขียนหรืออ่านหนังสือ แต่หลายร้านเขาก็ไม่ค่อยแฮปปี้ที่มีคนมานั่งทำงานหรือนั่งอ่านหนังสือนานๆ บางทีก็เป็นเราเองที่รู้สึกเกรงใจ เราเลยอยากทำร้านกาแฟที่เหมาะกับการอ่านและเขียนหนังสือซึ่งเป็นสิ่งที่เราสองคนชอบขึ้นมา ขณะเดียวกันเราก็อยากมีพื้นที่ให้คนที่ชอบเหมือนเราได้เข้ามาใช้งาน และให้พลังกับคนเหล่านี้ คุณจะนั่งอ่านหนังสือหรือเขียนหนังสือนานเท่าไหร่ก็ได้เลย เรายินดีมากเลยครับ”

“เราตั้งใจเปิดร้านเล็กๆ เป็นโฮมคาเฟ่ที่รับลูกค้าได้ประมาณสิบคน นั่งพูดคุยกันสบายๆ ก็พอแล้ว” ส้มช่วยเสริม

นอกจากคาเฟ่ ทำไปทำมา ทั้งคู่ก็ตัดสินใจทำที่พัก airbnb ร่วมด้วยหลังค้นพบว่ามีชาวเกาหลีจำนวนมากสนใจมาเที่ยวเชียงใหม่ สังเกตได้จากคอมเมนต์ในอินสตาแกรมของส้มเอง

“เรารู้ว่าลูกค้าของเราจะต้องเป็นนักท่องเที่ยว เลยคิดกันว่าจะทำยังไงให้ลูกค้ามาที่นี่แล้วเขามีความสุข เหมือนเวลาเราไปเที่ยวต่างประเทศ เวลาที่เราเจอประสบการณ์ดีๆ มันทำให้ทั้งทริปนั้นกลายเป็นทริปในฝันได้เลย เวลานึกถึงทริปนั้นเราก็จะนึกถึงช่วงเวลาในที่ดีๆ แห่งนั้นขึ้นมา ซึ่งถ้าเราสามารถเป็นผู้ส่งต่อประสบการณ์แบบนั้นให้กับคนอื่นได้บ้างก็คงดี

“นอกจากนั้นเราอยากทำที่พักในราคาที่ไม่แพงมากเพื่อให้คนได้มีโอกาสมาพัก มาเที่ยวแล้วกระเป๋าไม่ฉีก และยังสามารถมีตังค์ไปเที่ยวที่ไหนต่อไหนได้ ไม่ใช่อยู่ได้แต่ในห้อง เราเลยลองทำดูว่ามันจะเป็นยังไง” แบดเล่า

“เราอยากทำให้ที่นี่มีความอบอุ่น ให้ความรู้สึกของความเป็นบ้านด้วยค่ะ พื้นที่ส่วนหนึ่งก็เป็นบ้านที่เราทั้งคู่อาศัยอยู่ด้วย เราเลยเลือกใช้ไม้มาทำประตู เฟอร์นิเจอร์ หน้าต่าง เพราะเป็นโทนสีที่น่าจะทำให้เราทุกคนนึกถึงบ้านของตัวเอง” ส้มอธิบายให้เราฟังถึงเบื้องหลังการออกแบบที่พักที่นุ่มนวล ละมุนตา

นอกจากความรู้สึกของ ‘บ้าน’ พื้นที่พักอาศัยและคาเฟ่ของพวกเขายังให้ความสำคัญกับการออกแบบพื้นที่ให้ตอบโจทย์ความต้องการของคนที่จะเข้ามาอ่านและเขียนหนังสืออีกด้วย

“การอ่านหนังสือโดยได้รับแสงตรงๆ ไม่ค่อยดีต่อตาเท่าไหร่ เราจึงคิดไว้แล้วว่าพื้นที่ของเราจะต้องมีแสงสว่างเพียงพอ ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป ที่สำคัญอีกอย่างคือภาษาของเสียงที่เข้ามาในหู เราพยายามไม่เปิดเพลงที่มีเนื้อเพลงภาษาที่จะรบกวนเรื่องที่ลูกค้ากำลังอ่านอยู่ เราเลยต้องระมัดระวังเรื่องการเลือกเพลงในเพลย์ลิสต์ที่เปิดที่นี่ด้วย

“เราคิดถึงขั้นว่าถ้าวันนี้แสงประมาณนี้ ฝนตกประมาณนี้ เราจะเปิดเพลงประมาณนี้ และพยายามอัพเดตบ่อยๆ แต่บางทีด้วยความที่เราเป็นคนขี้เล่น เราจะแอบแทรกเพลงตลกๆ ไว้ด้วย” แบดหัวเราะก่อนอธิบายต่อ

“เวลาอ่านนิยายเราจะเลือกสถานที่อ่าน เช่น ถ้าอ่านมูราคามิเราจะพกไปอ่านในบาร์แจ๊ซ พอออกแบบ Orange Badminton เราเลยตั้งใจให้คนมาอ่านนิยายที่นี่แล้วได้รสชาติใหม่ๆ คิดว่าหนังสือเล่มไหนกันนะที่จะอ่านที่นี่แล้วสนุก และคิดไปถึงขั้นว่าที่นั่งตรงไหนเหมาะกับการอ่าน ไม่มีสิ่งรบกวน พอพักสายตาเงยหน้าขึ้นมาแล้วรู้สึกดีที่ได้อ่านตรงนี้ แล้วก็สามารถกลับไปจมกับหนังสือได้ต่อ”

เพราะทำด้วยแนวคิดความเป็นบ้าน แบดจึงตั้งใจว่าจะไม่ปรับเปลี่ยนหรือขยายสเปซเล็กๆ ที่นี่เพื่อคงอารมณ์ของการมานั่งเล่นที่บ้านเพื่อน ขณะเดียวกันการอ่านและงานเกี่ยวกับหนังสือก็เรียกร้องเรื่องสมาธิและความสงบไม่ใช่น้อย ที่นั่งต่างๆ ภายในร้านจึงถูกจัดวางเอาไว้ให้ไม่มีอะไรสามารถรบกวนคนที่มาใช้งานภายในพื้นที่

เก้าอี้ต่างๆ ในร้านจึงนั่งหันหน้าเข้าหากำแพงและหน้าต่าง แม้แต่บริเวณส่วนครัวกับพื้นที่คาเฟ่พวกเขาก็เปิดช่องหน้าต่างเล็กๆ สำหรับยื่นอาหารจากครัวมาให้ฝั่งคาเฟ่ เพื่อที่จะได้ลดการเปิด-ปิดประตูเข้า-ออกจากครัวที่อาจรบกวนลูกค้า นอกจากนั้นบริเวณด้านหน้าของคาเฟ่ยังมีกำแพงสีขาวสูงปกปิดเกือบทั้งอาคาร เพื่อกันให้พื้นที่ด้านในมีความเป็นส่วนตัว ลดเสียงรบกวนและช่วยชะลอการเข้ามาของผู้คนจากข้างนอก และช่วยสะท้อนแสงให้เข้ามาสู่ภายในพื้นที่คาเฟ่อย่างพอดีกับการอ่านหนังสือ

วิธีการจัดการพื้นที่ที่ค่อนข้างเล็กของทั้งสองยังน่าสนใจอีกด้วย เช่น เพื่อไม่ให้ผู้ที่เข้ามานั่งในคาเฟ่รู้สึกอึดอัดจากกรอบสี่เหลี่ยมของห้อง พวกเขาจึงเลือกวางบาร์ชงกาแฟเฉียงไม่เป็นระนาบเดียวกับแนวกำแพง ส่วนของห้องพักก็ยกระดับพื้นที่บริเวณที่ใช้เป็นที่นอนเพื่อให้เกิดการแยกพื้นที่การใช้งานชัดเจน ทำให้ห้องพักดูกว้างและน่าสนใจยิ่งขึ้น แถมยังเลือกใช้พื้นเป็นไม้ปาเก้เพื่อให้เกิดความรู้สึกของบ้านแบบไทยๆ

เช่นเดียวกันกับคาเฟ่ บริเวณส่วนที่พักก็จัดวางเฟอร์นิเจอร์และช่องแสงให้เหมาะสมสำหรับการอ่านและเขียนหนังสือเช่นเดียวกัน ทั้งคาเฟ่และส่วนที่พักของ Orange Badminton จึงเหมาะสำหรับคนที่ต้องการความสงบและความสบายเหมือนได้อยู่บ้าน

ด้วยความเป็นคนใส่ใจในทุกรายละเอียดซึ่งเป็นธรรมชาติของคนทำงานเขียนและออกแบบ ทั้งคู่จึงเลือกที่จะเป็นคนดูแล Orange Badminton เองทั้งหมด แบดรับหน้าที่เป็นบาริสต้าชงกาแฟ ส่วนส้มรับหน้าที่คนครัวคอยทำอาหารและเบเกอรีต่างๆ ตามสูตรที่เรียนรู้มาจากเกาหลี และทั้งคู่ยังช่วยกันดูแลห้องพักต่างๆ ด้วยตัวเอง 

และเพื่อที่จะสามารถดูแลได้อย่างดีและทั่วถึงที่สุด Orange Badminton จึงมีห้องพักเพียง 4 ห้องเท่านั้น แบ่งออกเป็นห้องใหญ่หนึ่งห้องสามารถพักได้สูงสุด 4 คน (มี 2 เตียง) และห้องที่เหลือพักได้ 2 คน

ไม่เพียงแต่สานต่อความฝันให้กับงานเขียนของตัวเอง ในความตั้งใจลึกๆ แบดก็อยากมีส่วนช่วยสานฝันของคนที่รักตัวอักษรเหมือนตัวเองด้วย ก่อนหน้านี้พวกเขาจึงพยายามสร้างพื้นที่ให้นักเขียนเรื่องสั้นมีพื้นที่ในการแสดงผลงานของตัวเองผ่านกิจกรรมประกวดงานเขียนเรื่องสั้นธีมฤดูหนาว ซึ่งผู้ที่ได้รับคัดเลือกจะได้เงินรางวัลและยังได้ตีพิมพ์เป็นเล่มโดยทาง Orange Badminton เป็นคนจัดการหลังบ้านให้ทั้งหมด

สำหรับใครที่กำลังตามหาพื้นที่สงบๆ จะเป็นนักอ่าน นักเขียน หรือต่อให้ไม่ใช่คนที่รักงานวรรณกรรมใดๆ เลย เราก็เชื่อว่า Orange Badminton เป็นอีกพื้นที่หนึ่งในเมืองเชียงใหม่ที่หล่อเลี้ยงจิตใจของคุณได้แน่ๆ


Orange Badminton

address : 6/3 ถ.เทวฤทธิ์ ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50300
facebook : Orange badminton
instagram : orangebadminton
tel : 089 418 4994

AUTHOR