เราอยู่ที่วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) วัดเก่าแก่อายุกว่า 700 ปีในชุมชนด้านหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ท่ามกลางซากปรักและประติมากรรมหินปูนที่สะท้อนสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา ในบริเวณเดียวกันนี้กลับมีประติมากรรมโครงสร้างเหล็กสีดำขนาดมหึมาพอที่จะให้คนเป็นสิบเข้าไปอยู่ในนั้นได้ ทั้งแปลกแยกและกลมกลืนกับสถานที่
ประติมากรรมนี้ทำหน้าที่เป็นดังอุโมงค์ โดยเมื่อลอดเข้าไปเงาที่ถูกเจาะช่องเป็นแพตเทิร์นของรูปทรงเครื่องหมายคำถามจะถูกแสงแดดสาดส่องให้เป็นเงาสะท้อนอยู่บนพื้นอิฐ สุดปลายอุโมงค์มีผืนผ้าใบว่างเปล่าแขวนไว้ โดยที่ด้านหลังจะปรากฏใบหน้าของผู้คนในโทนซีเปียร้อยเรียงกันอยู่ ในเวลาที่พินิจมองภาพนี้ เสียงเปียโนบทเพลง Funeral March ของโชแปงจะดังขึ้น สอดคล้องกับที่แสงไฟที่ส่องภาพเขียนดับลง
เหล่าผู้คนในภาพต่างสัมพันธ์กับบุคคลที่นั่งอยู่ตรงกลางภาพ ‘มณเฑียร บุญมา’ ตัวละครสำคัญของเรื่องเล่านี้นั่งอยู่กับครอบครัว คุณแม่ ภรรยา ลูกชาย และบรรดาเหล่ามิตรสหาย พร้อมด้วยรายละเอียดมากมายไม่ว่าจะเป็นผู้คนและสถานที่ ในแง่นี้ ผลงานชิ้นนี้จึงเป็นเหมือนก้อนบรรจุความทรงจำของมณเฑียร ในขณะเดียวกันก็เป็นภาคขยายความรู้สึกของศิลปินผู้สร้างผลงานชิ้นนี้ที่มีต่อมณเฑียรด้วย Black Question (After Montien Boonma), 2020 เป็นหนึ่งในผลงานสำคัญของนิทรรศการ “จากไป กลับมา” หรือ “Departed < > Revisited” เพื่อบอกเล่าถึงชีวิตและผลงานของมณเฑียร บุญมา โดยจัดขึ้นผ่านความร่วมมืออย่างเป็นทางการระหว่างศิลปิน นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ผู้ก่อตั้ง Studio OK และ Montien Atelier สตูดิโอรวบรวมเอกสารและภาพถ่ายของมณเฑียร นิทรรศการนี้จัดขึ้นภายใต้ร่มเงาของวัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) ที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในพื้นที่จัดแสดงงานของมณเฑียรเมื่อยังมีชีวิตอยู่ และเป็นปฏิบัติการศิลปะในครั้งนี้
มณเฑียร บุญมา ผู้บุกเบิกวงการศิลปะร่วมสมัยไทย
กว่า 20 ปีแล้วที่มณเฑียรได้จากโลกนี้ไปด้วยวัยเพียง 47 ปี ทว่าพลังงานมหาศาลที่เขาทิ้งไว้ผ่านผลงานศิลปะกลับยังคงอยู่ หากนึกย้อนไปถึงช่วง 90s บุคคลที่เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในวงการศิลปะร่วมสมัยไทยในขณะนั้นคงมีน้อยคนที่จะไม่รู้จักมณเฑียร ด้วยความที่เขาได้เปิดประตูให้ศิลปินไทยเข้าไปมีที่ทางในวงการศิลปะร่วมสมัยในระดับสากล ผ่านการร่วมแสดงงานในนิทรรศการศิลปะและเทศกาลศิลปะในระดับนานาชาติอีกมากมายหลายแห่ง มณเฑียรจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี สาขาจิตรกรรม จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี 1978 และศึกษาต่อในด้านประติมากรรมที่ École Nationale Supérieure Des Beaux-Arts (National School of Fine Arts) ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งที่นั่นเองที่เขาได้รับอิทธิพลในการสร้างสรรค์งานเป็นอย่างมาก
มณเฑียรเป็นที่ยอมรับในระดับสากล จากผลงานที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและผิดแปลกไปจากศิลปินไทยในช่วงเวลาเดียวกัน ด้วยความหลากหลายในกระบวนการทำงาน ทั้งงานจิตรกรรม ประติมากรรม ไปจนถึงสื่อผสม และงานศิลปะจัดวางที่ละลายขนบของรูปแบบศิลปะในไทย ผลงานของเขาสำรวจในประเด็นที่เกี่ยวข้องทั้งกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ธรรมชาติ การเข้ามาของอุตสาหกรรม ความเป็นเมืองในช่วงเวลาที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้การพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจ และการตั้งคำถามถึงการมีชีวิต ผลงานของเขาหยิบยกเอาวัสดุธรรมดาที่หาได้โดยทั่วไปในชุมชนหรือจากธรรมชาติมาสร้างเป็นงานศิลปะ ทั้งฟางข้าว ดินเหนียว ขี้เถ้า เทียน ยาหอม ไปจนถึงกองอิฐจากไซต์งานก่อสร้าง เพื่อสะท้อนแนวคิดถึงช่วงเวลาอันเปลี่ยนผ่านนั้น ในแง่นี้ผลงานของเขาจึงได้รับอิทธิพลจากกระแสการทำงานศิลปะที่เรียกว่าอาร์เต้ โพเวร่า (Arte Povera–หรือที่แปลเป็นไทยแบบเขินๆ ว่า ศิลปะสมถะ ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน) เพื่อต่อต้านรูปแบบการทำงานศิลปะแบบประเพณีนิยมและกลไกของตลาดศิลปะ ด้วยการสร้างชิ้นงานจากวัสดุที่ดูไร้ค่าไร้ราคา
เมื่อกลับมายังประเทศไทย เขาได้เริ่มงานสอนศิลปะที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี 2531 เป็นที่นี่เองที่เขาได้บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ทางศิลปะไว้ ด้วยความเปิดกว้าง รับฟัง มุ่งเน้นการสอนที่ฝึกให้นักศึกษาใช้แนวคิดในการสร้างงานอย่างเป็นเหตุเป็นผล และเปิดให้ทดลองถึงกระบวนการสร้างสรรค์งานศิลปะในหลากหลายรูปแบบ เขามีลูกศิษย์มากมายที่กลายเป็นศิลปินชื่อดังในปัจจุบัน และแน่นอนว่าหนึ่งในนั้นคือนาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ศิลปินผู้สร้างสรรค์นิทรรศการนี้
การสลายเส้นแบ่งระหว่างปฏิบัติการทางศิลปะกับการปฏิบัติธรรม
นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล คือหนึ่งในศิลปินไทยร่วมสมัยที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ด้วยการสร้างชิ้นงานขนาดใหญ่ที่สัมพันธ์กับชุมชน สื่อจิตรกรรมที่รวบรวมใบหน้าของผู้คนในชุมชนหรือแวดวงนั้นๆ ผ่านการลงพื้นที่สำรวจ รวบรวมข้อมูล และสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ไปจนถึงการสร้างเรื่องเล่าผ่านหนังสือการ์ตูน หรืองานศิลปะจัดวางกับพื้นที่ ต่างเป็นปฏิบัติการทางศิลปะที่เขาพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนเป็นเอกลักษณ์สำคัญ เช่นเดียวกับที่นาวินชอบใช้วิธีการเขียนจดหมายถึงบุคคลที่ล่วงลับ ทั้งที่รู้จักเป็นการส่วนตัวและไม่รู้จัก เพื่อบอกเล่าเหตุการณ์ในปัจจุบันและเป็นการสะท้อนสิ่งที่อยู่ในใจ ไปจนถึงการแสดงความคิดถึง
นาวินทำงานเพื่อระลึกถึงมณเฑียร อาจารย์ที่เขาเคารพรักอยู่หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นทางจดหมายหรือการสร้างชิ้นงานที่เป็นการตีความต่อยอดเพื่อสร้างบทสนทนาตอบกลับ แม้ว่าปลายทางจะไม่มีเสียงตอบกลับมา แต่ในนิทรรศการนี้ ชายผู้เป็นลูกศิษย์ได้มีส่วนในการฟื้นคืนชีวิตให้กับผลงานของมณเฑียรผ่านการสร้างชิ้นงานเดิมขึ้นมาใหม่ แม้ว่าจะไม่ง่ายนัก นั่นเพราะธรรมชาติของชิ้นงานได้สูญสลายไปตามเวลา การจะแกะรอยเพื่อสร้างชิ้นงานเดิมขึ้นมาใหม่จากการศึกษาผ่านภาพถ่ายและบทสัมภาษณ์จึงเป็นโจทย์ยากที่นาวินและทีมงานต้องเผชิญ
ในนิทรรศการนี้เขาได้หยิบยกชิ้นงานสำคัญที่เคยจัดแสดงที่วัดอุโมงค์แห่งนี้กลับมาแสดงอีกครั้งในตำแหน่งเดิมเช่นเมื่อ 27 ปีก่อน หลังจากที่เคยจัดแสดงครั้งแรกในเทศกาลศิลปะของกลุ่ม ‘เชียงใหม่จัดวางสังคม’ ครั้งที่ 2 ผลงานชุด วิปัสสนา-ภาชนะ, 2536 (สร้างขึ้นใหม่ในปี 2563) สร้างขึ้นจากชามดินเผากว่า 600 ใบ โดยในสมัยนั้นมณเฑียรได้ทำงานร่วมกันกับชุมชนหัตถกรรมเหมืองกุง แหล่งเครื่องปั้นดินเผาเก่าแก่ของเชียงใหม่ เขาเอาชามเหล่านี้มาเรียงต่อกันเป็นชั้นวางคว่ำสลับกับวางหงาย ก่อเป็นกำแพงทรงกลมสูง 24 ชั้น ชามแต่ละใบอาศัยการวางเรียงอย่างบรรจงประหนึ่งเป็นการทำสมาธิด้วยความตั้งมั่นเพื่อให้เกิดความสมดุล ขณะเดียวกันก็อยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงที่จะร่วงหล่นลงมา
เมื่อมองลอดกำแพงชามนี้เข้าไป เศษซากเผาไหม้ของกองตะเกียบจำนวนมากโผล่พ้นและปะปนกับกองขี้เถ้า บางคู่คีบก้อนกระดาษที่สำเนาจากรูปกะโหลกศีรษะในหนังสือเรียนกายวิภาค รอบๆ บริเวณของประติมากรรมตามลำต้นของต้นไม้ ตะเกียบที่เหมือนเป็นกระดูกนิ้วมือทำจากโลหะคีบผ้าเช็ดปากสีแดงพิมพ์ลายปากและฟัน ราวกับว่าเป็นงานเลี้ยงสำหรับวิญญาณที่หิวโหย มณเฑียรเปรียบเทียบความหิวโหยนี้กับช่วงเวลาที่พระพุทธเจ้าบำเพ็ญทุกรกิริยา หากคำตอบของทางหลุดพ้นคือทางสายกลาง ความสมดุลคือทางออกระหว่างความขัดแย้งระหว่างตัวตนและการหลุดพ้น การที่ศิลปินเลือกใช้ภาชนะดินเผาที่เป็นวัสดุเปราะบางหรือแตกหักได้ง่ายเหล่านี้เป็นการสะท้อนถึงชะตากรรมของชีวิตอันเปราะบางและความไม่แน่นอนของชีวิต ดังพุทธพจน์บทหนึ่งที่เขายึดถือ ความว่า “ชีวิตสัตว์เหมือนภาชนะดิน ซึ่งล้วนมีความสลายเป็นที่สุด” ในแง่นี้เส้นแบ่งระหว่างการทำงานศิลปะและการปฏิบัติธรรมของมณเฑียรจึงพร่าเลือนในที่สุด
ในบริเวณใกล้กันนั้น เรายังทำความเข้าใจอัตชีวประวัติของมณเฑียรได้ผ่านข้อมูลในเอกสาร บันทึกการทำงานอันสำคัญ รวมไปถึงภาพถ่ายและหนังสือที่ถูกจัดวางไว้อย่างเป็นระบบตามช่วงเวลาในการผลิตสร้างผลงาน คัดสรรและเรียบเรียงโดย Montien Atelier หากพิจารณาดูให้ดีแล้วเราจะเห็นถึงการพัฒนาผลงานของศิลปินอันสัมพันธ์กับบริบทแวดล้อม ทั้งทางสังคม สถานที่ และความสนใจในขณะนั้น รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขากับคนในครอบครัว เหล่าเพื่อน และลูกศิษย์ ทั้งหมดผสานและผลักดันให้เกิดเป็นชิ้นงานที่มีความสำคัญ และชิ้นงานเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นดั่งบันทึกที่สะท้อนประวัติศาสตร์สังคมสมัยใหม่ของประเทศไทย
เมื่อเดินไปทางทิศเหนือของวัด ไต่บันไดมาถึงเนินด้านบนอันเป็นที่ตั้งของเจดีย์โบราณ สนามหญ้าข้างกันนั้นเองที่ผลงาน Room, 2537 (สร้างขึ้นใหม่ในปี 2563) ตั้งอยู่ กลุ่มประติมากรรมจัดวางทั้ง 7 ชิ้นนี้สร้างด้วยท่อนไม้ที่ถูกวางขัดสลับกัน เกิดเป็นโครงสร้างรูปทรงคล้ายสถูป โดยที่มีช่องขนาดเล็กเป็นเสมือนห้องให้ผู้คนแทรกตัวเข้าไปด้านในเพื่อทำสมาธิ ประหนึ่งอยู่ในกลดของพระธุดงค์ และเสมือนอยู่ในห้องที่คล้ายจะเป็นส่วนตัวแต่ขณะเดียวกันก็อยู่ในที่สาธารณะ มีความโปร่งแต่ก็ทึบจนมองไม่เห็น ทั้งรู้สึกอึดอัดและสงบในคราวเดียวกัน ความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้นจากการที่ประติมากรรมแต่ละชิ้นถูกปิดรอบด้านด้วยผ้าโปร่งสีดำที่พิมพ์ลายเครื่องหมายปรัศนีและอัศเจรีย์สีทองอร่าม สัญลักษณ์ทั้งสองแทนค่าได้ถึงการ ‘รับรู้’ และ ‘ไม่รับรู้’ อันเป็นดั่งตัวเเทนของภาวะจิตที่เกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตมนุษย์ทุกคน ทั้งนี้มณเฑียรเชื่อว่าเมื่อจิตใจก้าวเข้าสู่ห้วงแห่งความผ่อนคลาย การตื่นรู้จึงจะเกิด คำถามและปัญหาทั้งหลายจึงจะได้พบคำตอบ
ผลงานต้นฉบับของ Room ถูกสร้างขึ้นสำหรับเทศกาลศิลปะนานาชาติ Adelaide Festival จัดขึ้นที่เมืองแอดิเลด ประเทศออสเตรเลีย เมื่อปี 2537 บริเวณสวนสาธารณะ ในเวลานั้นมณเฑียรต้องอยู่เฝ้าดูแลภรรยาที่กำลังป่วยหนัก เขาวางใจให้นาวินเดินทางไปติดตั้งผลงานชิ้นนี้แทน เมื่อเวลาผ่านพ้นไปกว่า 20 ปี นาวินพบผ้าผืนหนึ่งที่เคยเป็นส่วนประกอบในผลงานครั้งนั้น ผ้าผืนนี้เองที่เป็นแรงบันดาลใจให้นาวินอยากกลับไปสำรวจที่มา จนกลายมาเป็นการสร้างผลงานจำลองของมณเฑียรขึ้นมาอีกครั้ง
นิทรรศการนี้จึงเหมือนเป็นการเชื่อมร้อยสายสัมพันธ์ระหว่างครูและลูกศิษย์ ระหว่างศิลปินถึงศิลปิน หากเราจะระลึกถึงใครสักคนที่จากไปแล้วนั้น เราอาจมองหาวิธีการแบบใดแบบหนึ่ง แต่สำหรับนาวินเขาเลือกส่งต่อมรดกที่ยิ่งใหญ่ของครูผู้เป็นที่รักผ่านการสร้างงานศิลปะตามวิถีของศิลปิน เพื่อเป็นดั่งการแสดงความเคารพและระลึกถึงชายผู้เรียบง่าย ถ่อมตน คุณครูและศิลปินผู้สร้างแรงบันดาลใจและมีแววตาสดใสทุกครั้งเมื่อพูดถึงงานศิลปะ