Best Ads from Spikes Asia 2018

อาทิตย์ที่แล้วเทศกาลความคิดสร้างสรรค์ Spikes Asia ที่สิงคโปร์เพิ่งจบไปหมาดๆ แม้ด้วยชื่อชั้นอาจไม่ยิ่งใหญ่เท่างานอื่น แต่ด้วยความที่เทศกาลเน้นพูดถึงงานในภูมิภาคเอเชียทำให้งานนี้น่าสนใจสำหรับครีเอทีฟในย่านนี้ งานโฆษณาที่เราเลือกมาเขียนถึงนี้เป็นงานที่ได้รางวัลใหญ่ติดมือ การได้ดูงานเด่นๆ ที่นี่ทำให้เราเห็นทิศทางบางอย่างของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ละแวกบ้านเราเช่นเดียวกัน

Fight for Territory
lion
DDB NEW ZEALAND

ถ้าอังกฤษมีฟุตบอล นิวซีแลนด์ก็มีรักบี้เป็นกีฬาที่เหมือนความบันเทิงแห่งชาติ ในลีกจะมีทีมรักบี้ All Blacks เป็นทีมใหญ่ที่มีเบียร์ Steinlager เป็นสปอนเซอร์คู่ขวัญ และมีทีม Lions สปอนเซอร์คือ Guinness เป็นคู่แข่งทั้งในสนามและการค้า

เวลาแฟนจะเดินทางไปดูที่สนาม ต้องขึ้นเครื่องไปดู ไปถึงก็จะซื้อเบียร์ที่เป็นสปอนเซอร์ของทีมด้วย แคมเปญนี้ Steinlager ซื้อบิลบอร์ดโฆษณาทั้งหมด 65 แห่งในสนามบิน แต่ไม่ได้ใช้เอง เขาเสนอให้คู่แข่งอย่าง Guinness มาใช้ฟรี เจ้าบิลบอร์ดนี้ฝังเทคนิคพิเศษที่ทำให้เวลามีแฟนทีมรักบี้ที่มีเสื้อหรือผ้าพันคอสัญลักษณ์ทีมยืนหน้าบิลบอร์ด มันจะเปลี่ยนสี ข้อความ และสปอนเซอร์เป็นทีมนั้น ถ้าทีมอยากให้บิลบอร์ดทั้งหมดเป็นของตัวเองก็ต้องสู้กันโดยให้แฟนของทีมไปยืนเพื่อยึดบอร์ดเป็นของตัวเอง คล้ายกับการเล่นรักบี้จริงๆ มีแฟนเข้าร่วม 90,000 คน ยอดขายของเบียร์ทั้งสองแบรนด์พุ่งขึ้น นอกจากนี้ยังพาแบรนด์ไปสู่จุดเริ่มต้นของการทัวร์ดูรักบี้ระหว่างเมือง ซึ่งส่วนมากแฟนของทั้งสองจะมาเจอกันในพื้นที่อย่างสนามบิน จนได้รางวัล Grand Prix สาขา Brand Experience & Activation ไปในที่สุด


The Billion Point Giveaway
Velocity Frequent Flyer
CHE PROXIMITY Melbourne

พักหลังเวลาแบรนด์ทำพลาดมักจะเป็นข่าวใหญ่ในโซเชียลมีเดียเสมอ Velocity Frequent Flyer แบรนด์โปรโมชั่นแลก point ของสายการบิน Virgin เลยลองทำพลาดบ้าง ด้วยการส่งอีเมลหาลูกค้าผิดว่าจะสามารถแลก point เพิ่มได้อีกหนึ่งเท่าตัว โดยที่ออกมาชี้แจงตอนหลังว่าเป็นเพราะเด็กฝึกงานทำพลาด เมื่อข่าวเริ่มดัง แบรนด์ก็ทำซีรีส์ออนไลน์พูดถึงชีวิตของเด็กฝึกงานที่ทำพลาดและความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในบริษัท เป็นการเล่นกับกระแสข่าวด้านลบแล้วเทิร์นกลับมาทำให้แบรนด์ถูกพูดถึงได้อย่างชาญฉลาด


Palau Pledge
PALAU LEGACY PROJECT
HOST/HAVAS Sydney

นักท่องเที่ยวล้นเกินกำลังเป็นปัญหาสำคัญที่ทำร้ายเมืองเล็กและสถานที่ทางธรรมชาติ แคมเปญป้องกันปัญหานี้โดยสาธารณรัฐ Palau ทำได้น่ารัก ด้วยการปั๊มตราบนหนังสือเดินทางในช่วงตรวจคนเข้าเมือง ด้านล่างมีช่องลายเซ็นซึ่งแทนที่จะให้เจ้าหน้าที่เป็นคนเซ็นรับรอง กลับเป็นช่องเปล่าให้นักท่องเที่ยวเซ็นเอง มีข้อความบอกว่าเป็นการเซ็นรับรองว่าจะไม่ทำร้ายธรรมชาติ ตรานี้ทำออกมา 5 ภาษาตามชาติของนักท่องเที่ยวที่นิยมเดินทางมาที่นี่ โลโก้ได้แรงบันดาลใจมาจากธงชาติ เป็นวิธีการสื่อสารที่ช่างคิดจนได้ Grand Prix สาขา Design และ Direct มาครอง


SELFIESTIX
MARS NZ
COLENSO BBDO Auckland

คนไม่เลี้ยงหมาจะไม่เข้าใจเลยว่าการถ่ายเซลฟี่กับหมาแล้วอยากให้มันมองกล้องด้วยมันยากแค่ไหน Pedigree DentaSTIX คือขนมสำหรับสุนัขที่คิดว่าแก้ปัญหานี้ได้ ด้วยการทำที่หนีบขนมกับโทรศัพท์บริเวณกล้องหน้า เมื่อกดถ่ายก็จะได้ภาพเซลฟี่ที่มองกล้องสมใจ นอกจากนั้นแบรนด์ยังทำแอพพลิเคชั่นทำฟิลเตอร์คาแร็กเตอร์ต่างๆ คล้ายใน Snapchat หรือ Instagram Story แต่สามารถใช้กับหน้าหมาได้ด้วย ตอบโจทย์คนรักสุนัข เพิ่มยอดขายและ engagement จนได้ Grand Prix สาขา Digital ไปครอง


OBSESSION FOR SMOOTHNESS
Double A
SIX INC. Tokyo

เอ็มวีของ OK GO อาจไม่ใช่เรื่องใหม่แล้ว แต่ต้องยอมรับว่างานทุกชิ้นยังดึงดูดคนไม่เสื่อมคลาย เอ็มวีเพลง Obsession วงทำร่วมกับกระดาษ Double A ซึ่งต้องการโชว์ว่าเนื้อกระดาษนุ่มนวลปรินต์ได้ต่อเนื่องแค่ไหน วงนำปรินเตอร์ 567 เครื่องมาใช้ในการเล่าเรื่อง ดูแล้วไม่แปลกใจว่าทำไมวงยังได้รับคำชื่นชมในแง่ความคิดสร้างสรรค์ชนิดหาตัวจับยากแม้จะทำงานมานานแล้วก็ตาม


FRIENDSHIT
KASIKORNBANK PUBLIC COMPANY LIMITED
GREYNJ UNITED Bangkok

เดินสายกวาดรางวัลต่อเนื่องสำหรับหนังโฆษณา FRIENDSHIT ฝีมือเอเจนซี่ GREYNJ UNITED กำกับโดยนวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ความดีงามของโฆษณาคงไม่ต้องอธิบายอะไรกันอีก งานนี้คว้า Grand prix สาขา Entertainment และ Film ติดมือกลับบ้านไปตามคาด


STOP THE HORROR
GO GENTLE AUSTRALIA
REVOLVER/WILL O’ROURKE Sydney

อีกหนึ่งหนังโฆษณาที่ถูกพูดถึงในหลายเทศกาล Stop The Horror เป็นหนังความยาว 6 นาทีสร้างมาจากเรื่องจริงของ Greg Sims ผู้ป่วยชาวออสเตรเลียที่ต้องทนทรมานจากอาการเจ็บป่วยที่โรงพยาบาลแต่ไม่สามารถขอการการุณยฆาตได้เพราะผิดกฎหมาย โฆษณาถ่ายทอดชีวิตช่วงสุดท้ายของเขาที่ต้องทรมานจนคนดูแทบเบือนหน้าหนี ระหว่างชมจะมีแถบเขียนว่า Stop The Horror เพื่อให้เรากดจะได้หยุดดูเรื่องน่ากลัวนี้เสียที พอกดเข้าไปจะพบกับแบบฟอร์มที่จะส่งถึงนักการเมืองท้องถิ่นเพื่อกดดันให้ผ่านกฎหมายสิทธิซึ่งกำลังจะกลับมาพิจารณาอีกครั้ง คว้า Grand Prix สาขา Film Craft และ Grand Prix for Good ไปครอง


SINDOOR KHELA – NO CONDITIONS APPLY
THE TIMES OF INDIA
FCBULKA Gurgaon

Sindoor Khela เป็นพิธีกรรมทางศาสนาหนึ่งในเมือง Culcatta ประเทศอินเดีย พิธีนี้จะให้ผู้หญิงได้ออกมาเฉลิมฉลองร่วมกัน แต่คนที่จะเข้าร่วมงานนี้ได้ต้องแต่งงานแล้วเท่านั้น แคมเปญนี้เป็นการกระตุ้นให้พิธีนี้ยอมรับผู้หญิงที่มีสถานะอื่นเข้าร่วมด้วย ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่หญิงโสด แต่ยังรวมแม่ม่ายหรือหญิงข้ามเพศด้วย แคมเปญเริ่มจากการณรงค์ให้ใช้ตราสัญลักษณ์ Sindoor จุดแดงบนหน้าผากที่บ่งบอกสถานะแต่งงานแล้ว ซึ่งปกติจะใช้แค่จุดเดียวก็ถูกเปลี่ยนให้เป็นสองจุดให้ผู้หญิงที่ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขการเข้าพิธีใช้ มีการชวนให้คนมีชื่อเสียงในอินเดียเปลี่ยนมาใช้สัญลักษณ์นี้ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงทำให้พิธียอมรับผู้หญิงที่ไม่เคยอยู่ในเงื่อนไขได้เข้าร่วมเป็นครั้งแรกในรอบ 400 ปี


SIP SAFE
MONASH UNIVERSITY
Y&R ANZ Melbourne

ในออสเตรเลียมีปัญหาผู้หญิงโดนวางยาในเครื่องดื่มเพื่อคุกคามทางเพศในคอนเสิร์ตหรือเทศกาลดนตรีเยอะมาก ปัญหาคือเราไม่รู้ว่าเครื่องดื่มที่คนอื่นยื่นให้ปลอดภัยหรือเปล่า แคมเปญนี้ออกแบบริสต์แบนด์ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกใช้ในทุกงานดนตรีให้สามารถตรวจได้ว่าเครื่องดื่มนั้นปลอดภัยหรือไม่ วิธีใช้แค่หยดเครื่องดื่มบนริสต์แบนด์ ถ้าไม่ปลอดภัยมันจะเปลี่ยนเป็นสีฟ้า มหาวิทยาลัย MONASH UNIVERSITY เจ้าของแคมเปญนี้เริ่มใช้ในงานปาร์ตี้ภายในของตัวเองก่อน จากนั้นมันก็ได้รับความนิยมจนถูกผลิตเพิ่มว่า 6,000 ชิ้นกระจายไปตามคลับ บาร์ และเทศกาลดนตรีอื่นๆ ดีงามจนได้ Grand Prix สาขา Healthcare


PROJECT REVOICE
THE ALS ASSOCIATION
BWM DENTSU Sydney

จำแคมเปญ Ice Bucket Challenge ได้มั้ยครับ Pat Quinn คือหนึ่งในผู้ร่วมทำแคมเปญนี้เพื่อกระตุ้นให้คนเห็นความสำคัญของการรักษาโรค ALS (กล้ามเนื้ออ่อนแรง) สามปีต่อมาเขาสูญเสียความสามารถในการพูดซึ่งเป็นหนึ่งในอาการของโรค เขาติดเครื่องช่วยพูดซึ่งเป็นเสียงคนอื่นในโปรแกรม ไม่ใช่เสียงของเจ้าตัวจริงๆ แคมเปญนี้คือการสร้างเสียงของแพทขึ้นมาใหม่ โดยใช้อัลกอริทึมวิเคราะห์ข้อมูลเสียงของเขาที่เคยใช้ในการสัมภาษณ์สื่อช่วงที่แคมเปญ Ice Bucket โด่งดัง เนื่องจากกล้ามเนื้อของแพทไม่สามารถใช้งานได้ ทีมงานจึงพัฒนาให้แพทสามารถใช้เครื่องช่วยพูดด้วยสายตา โดยมองไปที่ตัวอักษรบนแป้นพิมพ์เพื่อประกอบกลายเป็นคำ นอกจากได้รางวัล Grand Prix สาขา Innovation ยังทำให้คนกลับมาพูดถึงความสำคัญในการรักษาโรค ALS อีกครั้ง


WE REMIT
Tencent
TENCENT Shenzhen

ในฮ่องกงมีคนฟิลิปปินส์ทำงานเป็นแม่บ้านอยู่ราว 170,000 คน ทุกวันหยุดพวกเขาจะส่งเงินกลับให้ครอบครัว ปัญหาคือการโอนเงินข้ามประเทศสำหรับคนต่างชาติต้องเข้าคิวต่อแถวยาวเหยียด ต้องกรอกเอกสารยุ่บยั่บ แอพ Wechat ทำแคมเปญช่วงวันแม่แห่งชาติด้วยการเปิดบริการ We Remit ให้คนฟิลิปปินส์สามารถโอนเงินข้ามประเทศได้ง่ายบนแอพเพียงไม่กี่วินาที วิธีการดูไม่ซับซ้อนแต่ทำให้ความนิยม Wechat ในหมู่คนต่างชาติในฮ่องกงพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว คว้า Grand Prix สาขา Mobile มาได้อย่างเอกฉันท์


#GIVEABEAT – A SONG FOR HEART DISEASE DRIVEN BY THE PERCUSSION OF HEARTBEATS
MAX HEALTHCARE & MAX GROUP
PROPAGANDA INDIA Bangalore

ทุกปีจะมีเด็กชาวอินเดียหลักแสนเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดและเสียชีวิตเพราะพ่อแม่รู้ตัวช้าเกินไป แคมเปญนี้อยากทำให้คนรู้จักโรคนี้ในวงกว้างมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แคมเปญนี้จึงเลือกใช้สื่อที่เข้าถึงคนมากที่สุดนั่นคือดนตรี ทีมงานบันทึกเสียงหัวใจทั้งของคนปกติและเด็กที่เป็นโรคนี้ มาให้แรปเปอร์และโปรดิวเซอร์ชาวอินเดีย Brodha V และ Sanjeev Thomas ทำเป็นเสียงเพอร์คัสชั่นในเพลง นอกจากเพลงจะดี ได้รางวัล (Grand Prix สาขา Mobile) ยังทำให้คนเห็นความสำคัญของปัญหานี้มากขึ้น

ชมงานโฆษณาทั้งหมดได้ที่ Spikes.asia