“ถ้าคุณไม่เชื่อว่าประเทศนี้สิ้นหวัง ผมถือว่าผมประสบความสำเร็จ” เดชา ปิยะวัฒน์กูล ผู้กำกับสารคดีชะตาธิปไตย

“ถ้าคุณไม่เชื่อว่าประเทศนี้สิ้นหวัง ผมถือว่าผมประสบความสำเร็จ” เดชา ปิยะวัฒน์กูล ผู้กำกับสารคดีชะตาธิปไตย

Highlights

  • ชะตาธิปไตย คือหนังสารคดีของ เดชา ปิยะวัฒน์กูล เล่าเรื่องเพื่อนสนิทจากรั้วศิริราช 3 คนที่กลับกลายมาเป็นผู้สมัคร ส.ส.ที่เป็นขั้วตรงข้ามกันใน 3 พรรคการเมือง
  • หนังตามติดชีวิตของทั้ง 3 คนตอนหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2554 เดชาใช้เวลาตัดต่อ 2 ปีแต่ก็ไม่ได้ฉายเพราะการมาถึงของรัฐบาลทหาร
  • 6 ปีให้หลัง Doc Club ติดต่อเขาให้นำเรื่องนี้มาฉายอีกครั้ง แม้จะดีใจแค่ไหน แต่เดชาก็เล่าให้เราฟังว่าหนังเรื่องนี้ทำให้เขาพังทลาย สำหรับเขา นี่คือหนังแห่งความสิ้นหวังที่ว่าด้วยความเจ็บปวดร่วมกันของคนไทย ความเจ็บปวดที่ยังฝังรากลึกมาถึงทุกวันนี้
  • แต่หากคนดูดูแล้วไม่สิ้นหวัง เดชาคิดว่าเขาประสบความสำเร็จแล้วในฐานะคนทำหนังคนหนึ่ง

พ.ศ. 2554 คือปีที่ฉันมีสิทธิเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีครั้งแรก

เดชา ปิยะวัฒน์กูล เริ่มถ่ายทำหนังสารคดีของตัวเองที่อิงจากเหตุการณ์ในการเลือกตั้งครั้งนั้น

เดชาคือผลผลิตของหลักสูตรแพทย์ศิริราชรุ่น 92 รุ่นเดียวกับ นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว และ นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ เพื่อนสามคนที่ภายหลังกลายมาเป็นนักการเมืองใน 3 พรรคที่ต่างกัน และทุกคนล้วนลงสนามการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรใน พ.ศ. 2554 เหตุการณ์นี้ทำให้เดชาเริ่มสนใจอยากทำหนังสารคดีเรื่องหนึ่ง ว่าด้วยเพื่อนร่วมรุ่นต่างอุดมการณ์ที่โชคชะตาพาให้พวกเขาต้องแข่งขันกัน

Classmate ประเทศไทย คือชื่อในบทดราฟต์แรก ก่อนจะกลายเป็น ชะตาธิปไตย ในท้ายที่สุด

เดชาบอกฉันว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องที่เขาให้ความสนใจมากนัก แต่เขารักการทำหนังเหลือเกิน โดยเฉพาะหนังสารคดีที่เขาเชื่อว่าแม้กลุ่มคนดูในไทยจะน้อยนิด แต่หากสร้างให้น่าสนใจและถูกต้องมันจะได้รับการสนับสนุน

เขารักการทำหนังเกินกว่าจะปล่อยให้โอกาสการตามติดชีวิตเพื่อนทั้ง 3 คนหลุดลอยไป เพราะฉะนั้นเดชาจึงคว้าโอกาสทองไว้ เขาใช้เวลา 1 วันในการเขียนบท, 6 เดือนในการตามเก็บฟุตเทจระหว่างการเลือกตั้ง และ 2 ปีในการตัดต่อฟุตเทจกว่า 100 ชั่วโมงจนได้ฉบับที่มีความยาว 2 ชั่วโมง เสร็จสมบูรณ์ก่อนการเข้ามาของการรัฐประหารครั้งใหญ่ของประเทศไทย

หนังที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งไม่สามารถฉายได้เพราะรัฐบาลไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ชะตากรรมของ ชะตาธิปไตย จึงจบลงตรงนั้น เดชาถึงกับป่วยหนัก และถอดใจไปแล้วว่าคงไม่มีวันที่หนังเรื่องนี้จะได้ฉายอีก

เวลาผ่านไป 6 ปีเต็ม จนถึงปี 2562 มีการเลือกตั้งครั้งใหม่

มีสายโทรศัพท์ต่อตรงมาถึงเขา ถามว่ายังอยากฉาย ชะตาธิปไตย อยู่ไหม เดชารีบตอบตกลงทันทีพร้อมความหวังที่กลับมาแล่นฟูเต็มหัวใจ นั่นคือจุดเริ่มต้นของการได้กลับมาฉาย ‘ครั้งแรก’ ของ ชะตาธิปไตย และนั่นคือเหตุผลที่ฉันมานั่งคุยกับเขาในวันนี้

เขามองหนังเรื่องนี้อย่างไร 6 ปีที่ทิ้งหนังไว้เฉยๆ เขาได้เรียนรู้อะไรบ้าง คำตอบอยู่ในบรรทัดถัดไปแล้ว

ตอนเรียนแพทย์ที่ศิริราช คุณกับเพื่อนสนิทกันแค่ไหน

สนิทกันมาก เพราะเรียนแพทย์มันเรียน 6 ปี ต้องผ่านการปฏิบัติงาน ขึ้นเวร ออกไปอยู่โรงพยาบาลต่างจังหวัด ที่สนิทกันมากที่สุดคือผมกับภูมินทร์ ชลน่านรองลงมา บัญญัติจะไม่ค่อยสนิทกับใครเท่าไหร่ เพราะเขาเป็นเด็กเรียบร้อย เด็กไฮโซ

 

ตอนนั้นทั้งสามและตัวคุณเป็นอย่างไรบ้าง

คล้ายๆ ในหนังเลย ภูมินทร์เป็นนักกิจกรรมมาตั้งแต่สมัยเรียน สมมติตอนนั้นมีคนถามผมว่า อีก 20 ปีข้างหน้ามึงคิดว่าใครจะเป็นนักการเมือง ผมจะบอกว่าภูมินทร์ เพราะมันมีแววมาก่อนแล้ว เขาทำกิจกรรม ทำละครเวที ผมสนิทกับมันเพราะผมไปทำละครเวทีเหมือนกันนี่แหละ ชลน่านเป็นสายเล่นกีฬาเก่ง ดูสปอร์ตแมนมาตั้งแต่ตอนนั้น บัญญัติเป็นคนเงียบๆ เรียบร้อย เรียนเก่ง เป็นลูกคนมีเงิน ส่วนผมเป็นคนบ้าๆ บอๆ ตั้งแต่ตอนเรียน ชอบทำสื่อ เป็นคนแรกในรุ่นทื่ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอชมาทำกราฟิก พอเรียนจบก็ต่อแพทย์เฉพาะทางอยู่ 4-5 ปี ผมก็มาทำงานสายโปรดักชั่น ผมจะไม่เหมือนอีก 3 คนนั้นที่โอเคกับการเป็นหมอ

 

จริงๆ อาชีพหมอก็มั่นคงพอประมาณอยู่แล้ว ทำไมคุณถึงเลือกมาทำงานด้านสื่อ

พูดตรงๆ ผมไม่ได้จนมาก และผมชอบมัน ตอนแรกไม่ได้คิดถึงขนาดทำหนังอย่างตอนนี้หรอก ก่อนหน้านี้ทำกราฟิก ไปเป็นวิชวลไลเซอร์ แล้วก็เป็นโปรเจกต์เมเนเจอร์อยู่บริษัทหนังที่หนึ่ง พอปี ‘40 เจอวิกฤตผมก็เลยออกมาเป็นอาจารย์แพทย์อยู่ 5 ปี ทนไม่ไหว เบื่อ ก็กลับมาทำใหม่ ล้มลุกคลุกคลาน เพราะว่าเราเป็นแต่ทำ หาลูกค้าไม่เป็น ก็เลยไปทำหนังสั้น ส่งบทหนังเข้าประกวดบ้างเผื่อว่าจะเป็นเครดิตของตัวเอง พอทำแล้วมันติดลม รู้สึกว่าทำสาย feature สนุกกว่า ไม่ต้องไปวุ่นวายกับลูกค้ามาก แต่หารู้ไม่ว่าลูกค้าใหญ่ที่สุดของเราคือคนดู แล้วไอ้ตรงนี้มันยิ่งยากกว่าลูกค้ารายย่อยอีก

 

คุณเรียนหมอมาแต่ไม่ได้เรียนฟิล์ม หาความรู้เกี่ยวกับการทำหนังมาจากไหน

จากการทำงานนี่แหละ ใช้วิธีครูพักลักจำ อ่านหนังสือและฝึกฝนเอา โชคดีผมมีอาจารย์คือยุทธนา มุกดาสนิท รู้จักเขาตอนส่งบทไปแข่งใน Thai Script Project โครงการประกวดบทของ อุ๋ย–นนทรีย์ นิมิตบุตร บทของผมได้เข้าชิง ก็ได้ไปอยู่กับแกรมมี่ ฟิล์ม ตอนนั้นคนคุมแกรมมี่ ฟิล์มคือยุทธนา ก็เลยสนิทกัน มีอะไรก็ถามไถ่ ได้ความรู้จากแกเยอะ ใน ชะตาธิปไตย ผมถึงขอบคุณชื่อเขาเป็นคนแรก

เรียนหมอมา 6 ปี เรียนเฉพาะทางด้วย ไม่เสียดายความรู้ที่เรียนมาเหรอ

ก็ไม่เสียดาย จริงๆ ผมก็ใช้มันทำมาหากินทุกวันนี้อยู่นะ แม้กระทั่งตอนทำโปรดักชั่นฟูลไทม์ พอตกหัวค่ำผมก็ต้องออกมาโรงพยาบาลที่นี่ (รพ.ไทยนครินทร์) ผมทำมา 20 กว่าปี 2 ชั่วโมง ผมออกตรวจ 2 ชั่วโมง อาทิตย์ละแค่ 2-3 วัน ผมก็มีรายได้

ข้อนี้ไม่ใช่ข้อดี แต่เป็นข้อเสีย ทำให้ผมไม่ได้ทุ่มกับการทำหนังเต็มที่ อย่างโปรเจกต์ ชะตาธิปไตย ผมลงทุนไปเป็นล้าน ถ้าคนอื่นลงทุนขนาดนี้ แล้วมาทิ้งไว้ 6 ปีคงตายไปแล้ว แต่ผมไม่เดือดร้อน ฉายไม่ฉายก็ไม่เป็นไร รัฐบาลทหารมา ฉายไม่ได้ เราก็ไม่ฉาย นี่เป็นข้อเสียที่ทำให้ผมทำหนังแบบไม่ดิ้นรนมากเท่าไหร่ ถ้าเป็นคนทำหนังที่เขาไม่มีทางออกอื่น เขาจะมุ่งมั่นกว่าเราเยอะ

 

แล้วทำไมถึงไม่มุ่งไปด้านทำหนังอย่างเดียวเลย

ผมว่ามันอยู่ไม่ได้ ผมมีเพื่อนฝูงวงการหนังที่ทำหนังสั้นหนังอินดี้มาด้วยกันเยอะ ดูแล้วมีน้อยคนที่จะสบาย แล้วส่วนใหญ่ที่สบายก็อยู่สายโปรดักชั่นโฆษณา ตัวคนทำหนังไม่มีทางอยู่ได้หรอก พูดตามตรงไม่ได้ดูหมิ่นเหยียดหยาม เพราะวงการหนังบ้านเราไม่เหมือนของฮอลลีวูดที่มีสหภาพแรงงาน ของเราไม่มี

 

ทีนี้มาว่ากันเรื่อง ชะตาธิปไตย โดยปกติ ผู้กำกับหนังสารคดีจะปิ๊งไอเดียจากประเด็นก่อน บางคนเริ่มจากความสนใจในบุคคลหรือซับเจกต์ก่อน ของคุณเป็นแบบไหน

ผสมกันทั้งสองอย่าง ก่อนทำเรื่องนี้ชลน่านก็มาชวน แต่ตอนนั้นคิดว่า ถ้าถ่ายเขาคนเดียว ความซับซ้อนของเนื้อหา big idea ที่จะมาสานต่อเป็นบทหนังใหญ่มันไม่พอ ก็เลยยังไม่รับปากเขา จนกระทั่งบัญญัติลงสมัครเป็น ส.ส.ประชาธิปัตย์สมัยแรก ตอนเขายังไม่ได้ก็ยังเฉยๆ แต่พอมาลงสมัยที่สองแล้วได้ เรารู้สึกว่าเออ กูมีเพื่อนเป็น ส.ส. 3 คนเว้ย คนหนึ่งอยู่ประชาธิปัตย์ คนหนึ่งอยู่เพื่อไทย คนหนึ่งอยู่ชาติไทยพัฒนา เราก็เฮ้ย ถ้าอย่างนี้มันพอได้ มันสามารถปั้นบทให้มีความซับซ้อนได้ แล้วพอมา พ.ศ. 2552-2553 เริ่มมีเสื้อเหลืองเสื้อแดง โอ้โห ทำไมบ้านเรามันไปถึงขนาดนี้ได้วะ คนไทยตอนนั้นเครียดมาก คุยกันไม่รู้เรื่อง ตีกัน จนเริ่มมีคนตาย เร่งความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นรัฐประหาร

ผมถือว่าการรัฐประหารเป็นสิ่งที่เลวทรามที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ของระบบการปกครองเลยนะ คือคุณไปทำลายอำนาจของประชาชน ทำลายความหวัง ทำลายชีวิตของเขาทางอ้อม ตอนนั้นผมสะเทือนใจมาก เลยย้อนกลับมาคิดถึงเรื่องนี้ เรามีเพื่อนสามคนอยู่คนละพรรค ตอนมันมาเจอกัน ไม่เห็นมันจะฆ่ากันตายอย่างนี้เลย คุณเป็นมนุษย์ เป็นเพื่อนกัน คุณคุยกันได้ไหม ปากคุณบอกว่าเป็นประชาธิปไตย แต่แม้กระทั่งฟังความเห็นของคนอื่นคุณยังไม่ยอมฟัง เป็นประชาธิปไตยภาษาอะไร (หัวเราะ) ก็เลยเขียนบทเลย

หนังสารคดีมีการเขียนบทยังไง

บทสารคดีมันเป๊ะไม่ได้ ได้แค่หลวมๆ ว่าจะถ่ายอะไรบ้าง แต่ว่าบทที่แน่นๆ คือ 3 นาทีแรกกับ 3 นาทีสุดท้าย บทพูดสามนาทีแรกผมใช้เวลาเขียนแค่วันเดียว ออกมาจากความคับแค้นในใจเลย

 

ตอนนั้นคับแค้นใจเรื่องอะไรมากที่สุด

สภาพบ้านเมือง แต่พอเวลาผ่านไป จากความโกรธเราก็เริ่มตกผลึกนะ คิดว่าจะทำยังไงต่อเพื่อสื่อสารว่าบ้านเมืองไม่ควรเป็นแบบนี้ คุณทุกคนไม่ควรจะเล่นเกมนี้ มันมีความเป็นไปได้เยอะแยะมากมายที่ควรจะดีกว่านี้ แต่คุณไม่เลือก คุณเลือกอะไรก็ไม่รู้

แต่ผมไม่โทษใครเลยนะ ผมไม่คิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของคนใดคนหนึ่ง ผมคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือกรรมสะสมของทุกคนร่วมกัน เราทุกคนมีส่วนร่วมกับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่มากก็น้อย บางคนร่วมโดยตรง บางคนร่วมโดยยุแยงตะแคงรั่ว บางคนร่วมโดยไม่รู้จักยั้งตัวเอง บางคนร่วมโดยการละเลยไม่เอาใจใส่ ปัญหานี้จะมีทางออกก็คือ ทุกคนอาจไม่ต้องถึงกับทำอะไรมากมาย แต่แค่ยั้งตัวเอง ไม่พาสังคมหวนกลับไปอะไรแบบเดิมอีก

 

อะไรทำให้คุณเปลี่ยนชื่อจาก classmate ประเทศไทย มาเป็น ชะตาธิปไตย

ตอนแรกผมอยากให้เป็นหนังฟีลกู้ด ดูง่าย เชื่อใน big idea ว่าเพื่อนสามคนลงพรรคตรงข้ามกัน มันโอเคพอที่จะขายได้แล้ว คิดว่าหนังจะบันเทิงระดับหนึ่ง ผมเรียกมันว่าเป็นหนังแห่งการปรองดอง แต่พอถ่ายไปๆ มาเจอเอากลางเรื่องว่ามันไม่ใช่หนังแห่งการปรองดอง แต่มันเป็นหนังที่ลงไประดับ spiritual ซึ่งโดยปกติทำหนังที่ลงไปถึงระดับนั้นได้มันยากมาก แต่บังเอิญซับเจกต์ที่เลือกมามันไปถึงระดับนั้น จะสังเกตเห็นช่วงกลางๆ เรื่องที่ไปบ้านของซับเจกต์คนหนึ่ง หนังจะเป็นอีกโทนหนึ่งเลย ลึกขึ้น แล้วอีกสองคนก็พาลึกตามลงไป

ทุกคนล้วนมีชะตากรรมที่มันลึก ผมกลับมองว่าตรงนี้แม่งเจ๋งกว่าเรื่องเลือกตั้ง เรื่องการเมืองเสียอีก การเมืองประมาณครึ่งชั่วโมงแรก ถ่ายพอขำๆ แต่ชั่วโมงสุดท้ายแทบไม่แตะการเมืองเลย

 

ปกตินักการเมืองมักมีภาพลักษณ์ที่ต้องรักษา คุณทำอย่างไรให้ทั้งสามคนยอมมาถ่ายกับคุณ

เราอธิบายให้ฟังว่าหนังเราเป็นศิลปะนะ เนื้อหาของเรื่องจะสัมภาษณ์ลงลึกนะ โอเคไหม คุยกันเป็นเดือน ชลน่านกับบัญญัติก็โอเค ภูมินทร์ก็ตื๊ออยู่หลายรอบ แต่สุดท้ายเขาก็ตกลง

 

ด้วยความที่เขาเป็นเพื่อนเรา ตอนทำหนังเรื่องนี้ คุณรู้สึกว่าตัวเองเข้าข้างเพื่อนไหม

ยอมรับว่ามีไบแอส ผมเข้าข้างเพื่อน เพราะฉะนั้นจะไม่ค่อยโจมตีจุดที่ไม่ค่อยดีของเขาเท่าไหร่ แต่ส่วนตัวเราคิดว่าไม่เป็นไร เพราะเป็นธรรมชาติของคน ผมทำเรื่องนี้โดยมุมมองของมนุษย์ เพราะฉะนั้นผมจึงไม่ยี่หระถ้าจะมีใครไม่เห็นด้วย หรือมีใครเห็นว่ามุมมองของผมมันไม่เข้าท่า จะเห็นได้ว่าในเรื่องผมเข้าไปสัมภาษณ์ชาวบ้านใครก็ได้ เสื้อแดง เสื้อเหลือง เพราะว่าผมมีทีท่าเข้าข้างคนตลอด สำหรับผมแล้ว มนุษย์ทุกคนสมควรได้รับความเคารพความคิดเห็น คุณเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง คุณต้องฟังเขาก่อน ไม่ใช่มาถึงคุณจะตัดสินว่าเขาดีเขาชั่ว เพียงเพราะความคิดเห็นทางการเมือง

ต้องตามติดกองหาเสียงถึง 3 กอง คุณถ่ายยังไง

เรื่องนี้มหัศจรรย์พันลึกมาก วางแผนถ่ายสามช่วง มีทีมงานประมาณ 5-7 คน และแต่ละช่วงก็แบ่งกันไปเป็นสามกอง ตอนออกกองช่วงแรกก็ไปแกลง (พื้นที่หาเสียงของ นพ.บัญญัติ) ก่อน จากนั้นไปกันทรลักษ์ (พื้นที่หาเสียงของ นพ.ภูมินทร์) ก็ผ่าอีสาน ไปจบที่น่าน (พื้นที่หาเสียงของ นพ.ชลน่าน) รอบที่สองถ่ายตอนกลางช่วงเลือกตั้ง ก็วนไปทางน่านก่อน ส่วนรอบที่สามวันเลือกตั้ง ตั้งหลักทีมใหญ่อยู่ที่กันทรลักษ์ เพราะผมเชื่อว่าไคลแมกซ์ของเรื่องอยู่ที่นี่

โจทย์จากฟุตเทจที่มีคือทำยังไงให้คนดูแยกออกว่าคือที่ไหน ผมลงทุนแก้สีหนังให้สามที่ไม่เหมือนกันเลย โดยที่ใช้คำบรรยายทีเดียวตอนต้นเรื่อง นี่คือแกลง นี่คือกันทรลักษ์ นี่คือน่านใต้ แล้วใช้วิธีแก้สีเอา ที่หนึ่งเป็นสีฟ้าเศร้าๆ ที่หนึ่งทำสีเหมือนฟิล์มที่โดนแดดมานานแล้วจะตุ่นๆ แดงๆ  อีกอันก็เป็นสีที่ถ่ายปกติ แค่แก้สีให้ต่างกัน ผมเชื่อว่าถึงจะตัดให้เหมือนหาเสียงสู้กันอยู่ แต่คนดูแยกออก

ผมใช้เวลาถ่ายอยู่ 6 เดือน, ตัด 2 ปี เฉพาะคัดฟุตเทจ 1 ปีเต็มๆ เพราะมีเป็น 100 ชั่วโมง จนมาได้หนังดราฟต์แรก 6 ชั่วโมง ตัดจาก 6 ชั่วโมงลงมาเหลือ 2 ชั่วโมงใช้เวลาอีก 1 ปี

 

แต่หลังจากตัดต่อเสร็จแล้วก็ไม่ได้ฉาย

ไม่ได้ฉาย เพราะเป็นหนังเกี่ยวกับการเลือกตั้ง แม่งยกย่องเชิดชูการเลือกตั้งเต็มๆ พอมีรัฐประหารก็ฉายไม่ได้แน่นอน เพราะตอนนั้นเขาไม่ให้เลือกตั้งเลย

 

ตอนนั้นคุณรู้สึกยังไงบ้าง

เครียดจนป่วยเป็นเส้นเลือดในสมองตีบ เสียใจมาก เพราะตั้งใจทำหนังเรื่องนี้มาก คิดว่าจะเป็นหนังที่ใครดูแล้วเข้าใจ เห็นเจตนาที่ผมซ่อนอยู่โดยมองข้ามเรื่องความขัดแย้ง รับรู้ว่าจริงๆ มันมีอีกทางที่จะเยียวยาความเจ็บปวดของเราทุกคนนอกจากความรุนแรง แต่ดันไม่ได้ฉาย

 

และเราก็ทำอะไรไม่ได้

ผมว่าหนังมันล้อเลียนตัวมันเอง ชะตาธิปไตย มันก็มีชะตากรรม อยู่ๆ ก็ตายไปง่ายๆ มึนๆ ของมันอย่างนั้น (หัวเราะ) จนผมลืมไปเลยนะ ไม่คิดถึงมันอีกเลย ผมเลิกทำหนังแล้วกลับไปทำมาหากินอย่างอื่น เพราะผมไม่สามารถเอาเงินลูกเมียมาเสี่ยง พอ ลืมไปเลย 6 ปี ลืมด้วยซ้ำไปว่าเลือกตั้งแล้วมันฉายได้ จนกระทั่ง Doc Club มาชวน

วินาทีที่เขาถามว่า เดชา ยังอยากฉาย ชะตาธิปไตย อยู่ไหม ผมก็บอก อยากสิ อยาก แล้วก็หลบไปนั่งร้องไห้อยู่ในส้วม เขายังจำหนังเราได้ ดีใจที่อย่างน้อยยังมีคนคนหนึ่งเห็นคุณค่าของมัน แต่ขั้นตอนแต่ละอย่างหลังจากนั้นก็ยากเย็นแสนเข็ญมาก เพราะทันทีที่มีหนังไปแตะเรื่องการเมือง มันยาก สิ่งแรกที่เจอคือเซนเซอร์ ไม่ผ่านสองรอบ ฉากที่ชลน่านกินเหล้า ฉากที่ภูมินทร์บอกว่าศรีสะเกษเต็มไปด้วยผู้มีอิทธิพล ไม่ยอม ตอนแรกจะเอาออกทั้งฉากด้วยซ้ำ มึงจะเอาออกได้ไงฉากไคลแมกซ์ของกู (หัวเราะ) เอาออกคือหนังพังเลยนะ

ต่อรองกันอยู่นานมากจนในที่สุดของภูมินทร์นี่ดูดเสียงพูดออกสองช่วง ส่วนฉากชลน่านกินเหล้าก็ยอมเบลอ เบลอยังไงก็ได้แต่อย่าเอาออก เพราะสิ่งที่สื่อสารคือไม่ได้โฆษณาให้คนอยากกินเหล้า แต่จะสื่อว่านี่คือ ส.ส.ที่มาจากประชาชน จะดี จะชั่ว มันคือตัวแทนของประชาชน นี่คือความงดงามอย่างแท้จริงของประชาธิปไตย

คุณตั้งใจทำหนังเรื่องนี้เพื่อสื่อสารเรื่องการเมืองอย่างเดียวหรือเปล่า

ที่ตั้งใจไว้ตอนแรก เราตั้งใจให้เป็นหนังปรองดอง แต่พอถ่ายไปตั้งแต่กลางเรื่อง เรารู้แล้วว่าปรองดองไม่ใช่จุดจบของมัน มันไม่ได้สำคัญที่ปรองดอง มันสำคัญที่ว่าอะไรทำให้เราปรองดองกัน

ผมตีความลึกลงไปกว่านั้นว่า คนเราจะปรองดองกันได้มันต้องมีความเจ็บปวดร่วมกัน คุณต้องเห็นอีกฝ่ายเป็นมนุษย์เหมือนกับคุณ เห็นสุข เห็นทุกข์ เห็นความเป็นคน ถ้าคุณยังเห็นอีกฝ่ายเป็นฝั่งตรงข้าม เป็นไอ้ชั่ว เป็นไอ้เลว แบ่งแยก ให้ตายก็ไม่มีทางปรองดองกันได้ เพราะต่างฝ่ายก็ไม่ยอมมองมุมของอีกฝ่ายหนึ่ง ซับเจกต์ 3 คนมีความคิดเห็นทางการเมืองต่างกันสุดขั้วเลย แต่ถ้ามองว่าเขาเป็นมนุษย์เหมือนกันก็ไม่มีอะไรต่าง

 

จากการทำหนังเรื่องนี้ คุณคิดว่าความเจ็บปวดร่วมกันของคนไทยคืออะไร

เราทุกคนอยู่ในสังคมเดียวกัน สังคมที่มีปัญหามากมาย มีความเหลื่อมล้ำ ฝ่ายหนึ่งเจ็บปวด ฝ่ายหนึ่งเกรงกลัวอีกฝ่าย นึกถึงภาพคนหนึ่งที่เกิดมาแล้วเลือกไม่ได้ เขามีชะตากรรมที่ขมขื่น เป็นเพราะว่าสังคมมันแย่แบบนี้ไง เขาสมควรได้รับการดูแลความรู้สึกตรงนี้เพื่อให้เขาไว้วางใจสังคมมากขึ้น กับอีกคนหนึ่งที่มองว่าอีกฝ่ายน่ากลัว เขาทำร้ายสังคมได้นะ เพราะแค่ความกลัวนั้น มันกลายมาเป็นไม่ไว้วางใจในเพื่อนมนุษย์

สังคมที่มีคนสองฝั่งแล้วคิดอย่างนี้ มันจะอยู่กันยังไง ความไม่ไว้วางใจกันนี่แหละสร้างความเจ็บปวดร่วมกันของพวกเราทุกคน

 

การกลับมาฉายตอนนี้ คุณไม่รู้สึกว่าประเด็นของหนังมันเก่าไปแล้วเหรอ

รู้สึก แล้วก็ห่วงอยู่ แต่ Doc Club เขาเชื่อว่าหนังมีดีพอจะข้ามเวลาได้ ผมไม่ได้ดูมานานมากนะ เพราะตอนตัดแม่งดูไม่รู้กี่ร้อยกี่พันรอบ แต่มาดูอีกที 6 ปีมาแล้ว มันมีบางอย่างที่ข้ามเวลาได้จริงๆ

 

ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ คุณจะทำหนังเรื่องนี้แบบเดิมไหม

ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ผมจะไม่ทำ เพราะผมเจ็บปวดกับมันมาก เสียเงินยังไม่เท่าไหร่ แต่ความเจ็บปวดขมขื่นที่ได้จากมันเป็นปีๆ ไม่คุ้มเลย แต่ถ้าทำ ผมจะทำแบบเดิม ผมจะไม่เปลี่ยน ได้ซับเจกต์ดีขนาดนี้ จะให้ไปทำหนังพร็อพพากันด้าตอแหลๆ มันไม่ใช่ มีโอกาสเดียวในชีวิตที่จะทำอะไรสักอย่างที่มีคุณค่าในแผ่นดินนี้ ก็สมควรทำอย่างนี้ หนังเรื่องนี้ตอนนี้อาจจะไม่มีใครเห็นคุณค่าของมันเลย อาจจะมีคนด่า แต่ผมเชื่อว่าอีก 50 ปี คนกลับมาดูมันคนจะเห็นอะไรบางอย่าง ต่อให้ผมตายไปแล้ว หนังเรื่องนี้มันยังอยู่

คุณยังมีความหวังกับการเลือกตั้งของไทยอยู่ไหม

ไม่มี ผมสิ้นหวังพอๆ กับสิ้นหวังในวงการหนัง ยอมรับตรงๆ เลยว่าสิ้นหวังกับประเทศนี้ ผมบอกในหนังเลย ตอนแรกโปรดิวเซอร์ไม่เห็นด้วยที่ผมพูดอย่างนี้ แต่ผมบอกว่าหนังเรื่องนี้มันไม่เคยให้ความหวังอะไรแต่แรกอยู่แล้ว ความหวังจะมีได้จากการกระทำของคุณเท่านั้น มันไม่ได้มีได้จากการไปฟังไอ้นู่นไอ้นี่ ถูกปั่นหัว มันโกหกหมดแหละ เพราะฉะนั้นถ้าคุณจะสิ้นหวัง แปลว่าคุณไม่มีปัญญาทำอะไรให้มันดีขึ้นด้วยตัวของคุณเอง สิ่งที่หนังพูดคือ ไม่สนใจด้วยว่ามีความหวังหรือเปล่า สนใจอย่างเดียวคือคุณมีอะไรที่อยากทำให้มันดีขึ้นหรือเปล่า

 

ถ้าหนังเรื่องนี้สามารถสร้างอิมแพกต์อะไรให้สังคมได้สักอย่าง คุณคิดว่ามันจะเป็นอะไร

ถ้าดูแล้วมีคนเอาไปตัดตอนเพื่อโจมตีใคร ผมจะถือว่าผมเฟลเลยนะ เพราะผมไม่มีเจตนาเป็นแบบนั้นเลย แต่ถ้าอย่างน้อยมีใครสักคนดูแล้วมีความเห็นแย้งกับผม ไม่เชื่อที่ผมพูด ไม่เชื่อว่าสังคมไม่มีความจริงใจ ไม่เชื่อว่าประเทศนี้สิ้นหวัง เราอยากจะทำอะไรต่ออะไรให้มันดีขึ้น ถ้ามีใครสักคนตีความมันอย่างนี้นะ ผมถือว่าผมประสบความสำเร็จ ถือว่าหนังมันตั้งคำถามที่สมควรแก่การถาม แล้วคนที่เขาสนใจจะนึกคำตอบของเขาเอง

ผมไม่ได้มีอำนาจไปควบคุมความคิดของคนอื่น ผมมีแค่พลังเล่าเรื่องอะไรบางอย่าง ที่เหลืออยู่ที่คนดูแล้ว

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

กฤต วิเศษเขตการณ์

ช่างภาพผู้ชื่นชอบการถ่ายภาพตามท้องถนนอย่างบ้าคลั่งพอๆ กับการกินกาแฟ และผู้คนมักเขียนชื่อเขาผิด