‘BNK48 : GIRLS DON’T CRY’ สารคดีแห่งน้ำตา ความจริง และสิ่งที่ไม่เคยพูดมาก่อน ของ BNK48

นี่ไม่ใช่เรื่องราวของไอดอล

เทรลเลอร์หนังสารคดีเรื่อง BNK48 : GIRLS DON’T CRY ของ เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ บอกเราไว้อย่างนั้น

แน่ล่ะ ถ้ามองผ่านกระจกตู้ปลาหรือหน้าจอ เหล่าเมมเบอร์ของ BNK48 ย่อมคู่ควรกับคำว่าไอดอลมากกว่าใครๆ แต่ในสายตาของนวพล ผู้กำกับผู้คลุกคลีกับเด็กสาวทั้ง 26 ชีวิตมาเกือบครึ่งปี ติดตามพวกเธอไปเก็บฟุตเทจทั้งที่ตู้ปลาและหลังม่านเวที และได้สนทนาแบบลึกๆ กับเมมเบอร์ทุกคน ตัวตนของพวกเธอก็ไม่ต่างอะไรจากวัยรุ่นกลุ่มหนึ่ง เพียงแต่เป็นวัยรุ่นที่เติบโตผ่านประสบการณ์หายากแสนพิเศษ ซึ่งเขาเก็บเกี่ยวเรื่องราวมาไว้ในสารคดีอย่างครบถ้วน

และนี่คือเรื่องของพวกเธอ

 

Scene 1 / โจทย์คือไม่มีโจทย์

“จุดเริ่มต้นโปรเจกต์นี้คือ Salmon House ร่วมทุนกับ BNK48 Office ผลิตสารคดีเกี่ยวกับน้องๆ BNK วันหนึ่งพี่วิชัย (วิชัย มาตกุล creative director Salmon house) โทรมาถามเราว่าอยากทำมั้ย เราก็บอกว่าเอาสิ เพราะเราติดตามวงนี้อยู่แล้วในฐานะแฟนเพลง เรารู้สึกว่ามันน่าสนใจตรงที่วงมีคัลเจอร์ของตัวเองค่อนข้างสูง ก็เลยอยากลองทำดู

“งานนี้ไม่มีโจทย์เลย กระทั่งไปคุยกับคุณต้อม (จิรัฐ บวรวัฒนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีเอ็นเค โฟร์ตี้เอท ออฟฟิศ จำกัด) เขาก็บอกแค่อยากให้สนุกครับ (หัวเราะ) เราก็ไปตามดูสารคดีของญี่ปุ่น แต่รู้สึกว่าต่อให้เป็นวง 48 เหมือนกันแต่คัลเจอร์ญี่ปุ่นกับไทยไม่เหมือนกัน mentality ก็ไม่เหมือนกัน มันไม่จำเป็นเลยที่เราจะต้องทำเหมือนเขา

“ความยากคือน้องออกสื่อทุกวัน ปรากฏตัวบนมีเดียทุกรูปแบบ ทั้งสื่อออนไลน์ เล่น voov ไลฟ์ ฯลฯ เรานี่แหละมาช้าสุดแน่ๆ ก็เลยต้องพยายามคิดว่าเราควรจะทำยังไงให้แตกต่างจากสิ่งที่คนได้เห็นบนสื่อต่างๆ เรียบร้อยแล้ว”

 

Scene 2 / วางโครงด้วยสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน

“เราสัมภาษณ์น้อง 26 คน คนละ 2-3 ชั่วโมง ทุกคนมีของที่น่าสนใจหมดเลย เราต้องค่อยๆ มาเรียบเรียงว่าอะไรที่จะทำให้คนดูดูได้จนจบ อะไรที่ลึกเกินอาจจะต้องอยู่ภาคสองหรือภาค spin-off หรือเปล่า เพราะเราอยากให้คนทั่วไปดูได้ แต่ในอีกทางหนึ่งเราก็ต้องทำให้มันลึกพอที่แฟนฮาร์ดคอร์จะต้องพูดว่า โอ้โห สิ่งนี้เราไม่เคยรู้มาก่อน

“ยิ่งอยู่กับเขาเรายิ่งรู้สึกว่าสิ่งที่เรารู้จากสื่อก่อนหน้านี้มันเป็นแค่ด้านบน แต่มันมีด้านล่างอีกเต็มไปหมด เราเลยปล่อยตัวเองไปตาม subject ไม่ได้คิดว่ามันควรจะเป็นยังไง ไม่คิดไปก่อนว่ามันควรจะสนุก ตลก ดราม่า ซึ่งสิ่งที่เราเอาไปใช้ในหนังก็คือสิ่งที่เราไม่เคยรู้นั่นแหละ บางอย่างก็เป็นเมสเสจที่น้องอยากจะบอกแต่ไม่เคยบอก เขาอยากจะคุยกับใครสักคนแต่เขาไม่รู้จะคุยกับใคร เป็นเรื่องความรู้สึกข้างใน

“บางคนอาจจะรู้สึกกับเรื่องความพยายามเยอะ บางคนอาจจะรู้สึกน้อยแต่ไปรู้สึกกับเรื่องความสัมพันธ์ในวง ซึ่งก่อนสัมภาษณ์เราไม่รู้หรอกว่าแต่ละคนรู้สึกกับเรื่องอะไรเพราะบางคนเขาไม่เคยออกสื่อเยอะขนาดนั้น เราก็ไม่รู้ว่าจริงๆ เขาเป็นยังไง บางคนก็มีเรื่องที่อินเป็นพิเศษ เราก็ต้องตามเขาไป”

 

Scene 3 / ความจริงของไอดอล

“ก่อนสัมภาษณ์เราบอกน้องทุกครั้งเลยว่าอยากพูดอะไรก็พูด อันไหนไม่อยากพูดหรือลำบากใจก็ไม่ต้องพูด แต่ขอให้ไว้ใจว่าเมื่อพูดแล้ว เราจะพยายามทำให้มันดีที่สุด

“น้องกล้าพูดกว่าที่เราคิดเยอะมากจนบางครั้งต้องบอกว่า เฮ้ย ใจเย็นๆ (หัวเราะ) เขาเปิดจนเราตกใจ มันดีตรงที่นี่อาจจะเป็นไม่กี่ครั้งที่คนที่ทำงานสายนี้พูดสิ่งเหล่านี้จริงๆ เราไม่รู้ว่าถ้าเขาโตกว่านี้เขาอาจจะไม่พูดก็ได้นะ ซึ่งพอน้องให้เรามาอย่างนี้เราก็เครียดเพราะเป็นเราที่ต้องดูแลของสดเหล่านี้ให้ไปถึงมือผู้บริโภคอย่างดีที่สุด ไปถึงคนรับสารอย่างถูกต้องที่สุด แล้วก็เคารพน้องเยอะที่สุด

“เราไม่รู้ว่ามันจะเกิดดราม่าหรือเปล่า แต่เรารู้สึกว่านี่คือสิ่งที่เราตกลงร่วมกัน ทุกคนมีสติ รู้ว่าตัวเองจะมาทำอะไร รู้ว่ามีการอัดเทปอยู่ บางคนก็บอกด้วยซ้ำว่านี่แหละคือโอกาสเดียวที่หนูจะได้พูด เป็นพื้นที่ให้เขาได้พูดจริงๆ บางอย่างเขาก็แบบ พี่เอาไปลงเลย หนูอยากพูดตั้งนานแล้ว สิ่งที่เราทำคือพยายามรักษาความตรงไปตรงมานั้นให้มันใกล้เคียงกับที่เขาพูดมากที่สุด ไม่พยายามบิดเพื่อให้เกิดดราม่า”

 

Scene 4 / ประสบการณ์พิเศษที่ทำให้เติบโต

“พอสัมภาษณ์เสร็จเราไม่รู้สึกว่าเขาเป็นเด็กเลย มันไม่มีคำว่าเด็กหรือผู้ใหญ่แล้ว แต่คือคนที่เจอประสบการณ์นี้ ต่อให้เราอายุเยอะกว่าเขาสิบปี สิบห้าปี แต่เราไม่มีประสบการณ์แบบนี้เราก็ไม่มีวันเข้าใจความรู้สึกของใครก็ตามที่อยู่ในวงได้เลย บางความรู้สึกมันซับซ้อนมาก

“เรามองเขาเป็นวัยรุ่น 26 คนที่เจอประสบการณ์พิเศษ เขามีเรื่องที่สามารถแชร์กับเราที่อายุ 35 ได้ เรื่องบางเรื่องที่น้องเจอตอนอายุ 17 เราเพิ่งเจอตอนอายุ 30 ก็มี”

“ประสบการณ์ที่น้องๆ เจอมันสามารถแชร์ได้กับทุกๆ คน คนที่เคยสอบอะไรสักอย่าง คนที่เคยต้องผ่านการคัดเลือก คนที่อยู่กับเพื่อนร่วมงานจำนวนมาก คนที่ต้องอยู่กับการแข่งขัน คนที่ต้องอยู่กับความเข้าใจผิด เข้าใจถูก ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน เป็นเรื่องโคตรทั่วๆ ไปเลย แต่ว่าเราคิดว่ากลุ่มนี้มันเจอในระดับเข้มข้น ด้วยกฎของวง ด้วยสถานะสตาร์ ชื่อเสียงต่างๆ นานา

“เราคิดว่าเรื่องมันใกล้เคียงกับหนังวัยรุ่น coming-of-age เลย เหตุการณ์มันโคตรทำให้โต ทำให้เขาเรียนรู้ เหมือนผ่านคอร์สนี้ตอนจบต้องโต ต้องเป็นผู้ใหญ่แน่นอนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง”

 

Scene 5 / GIRLS DON’T CRY

“ระหว่างสัมภาษณ์มันก็มีการร้องไห้ เป็นช่วงที่เราได้เห็นน้ำตาของคนในหลายรูปแบบและหลายสาเหตุ หรือถ้าคิดเป็น physical คือเราได้เห็นการไหลหลายรูปแบบ ได้เห็นน้ำตาหลายรูปแบบ แล้วเราก็ไม่รู้ว่าเขาเสียน้ำตากันมาเท่าไหร่ตลอดปี มันเลยน่าสนใจที่ทุกคนมีน้ำตาเป็นแกนกลางร่วมกัน ในขณะเดียวกันเราก็รู้สึกว่าคนกรุ๊ปนี้จริงๆ แล้วมันเข้มแข็งว่ะ ต่อให้เขาจะร้องไห้แต่มันไม่ได้เศร้าสร้อย บางทีมันมีความรู้สึกอย่างอื่น มีดีใจ มีอดทน มีพยายาม

“เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้จะเป็นหนังที่ชวนให้เรามาร้องไห้กันเถอะครับ ก็เลยคิดถึงชื่อหนัง Boys Don’t Cry แล้วเราก็พลิกกลับเป็น Girls Don’t Cry มันดีตรงที่มันได้นัยสองอย่าง ทั้ง ‘เธออย่าร้องไห้’ กับ ‘เธอต้องไม่ร้องไห้’ ตีความไปได้หลายอย่างดี”

 

Scene 6 / COMING OF AGE OF NAWAPOL

“ตอนนี้เราก็รู้สึกว่าเราได้ประโยชน์จากการทำโปรเจกต์นี้แล้วนะ ในเชิงชีวิต นี่อาจจะเป็นครั้งแรกที่เราได้ไปอยู่ในโลกของศิลปินกรุ๊ปนี้ที่เราไม่คิดว่าจะได้ไป ได้เจอสถานการณ์ต่างๆ ได้เจอเด็กวัยรุ่นยุคนี้ที่เด็กกว่าเรา 20 ปี ลงไปถึง ม.2 เลย อย่างซัทจัง โมบายล์ เป็นโอกาสดีที่เราจะได้รู้ว่าเขาเป็นยังไง ทำอะไร สนใจอะไร”

“ในเชิงการทำภาพยนตร์ นี่คือการเรียนหนังสือชั้นดี คือคุณได้เจอคน 26 คนในสถานการณ์เดียวกัน ทุกคนอยู่ไทม์ไลน์เดียวกันหมด แต่มีที่มาที่ไปที่ต่างกัน มีความต้องการ ความฝัน ปมที่ต่างกัน มันรีแอกต์คนละทิศคนละทางมากๆ คล้ายๆ ได้เข้าคลาส human study เราได้เจอความหลากหลายของมนุษย์ เห็นความไปได้มากมาย สุดท้ายแล้วเราก็ได้เข้าใจคนหลายๆ แบบ มันไม่มีใครถูกใครผิดในหนังเรื่องนี้ เป็นบทเรียนอันล้ำค่ามาก ไม่เสียแรงที่นั่งสัมภาษณ์หรืออยู่กับเขาเป็นเวลานาน”

 

Scene 7 / FOR BNK48

“เราไม่รู้ว่าคนดูจะชอบหรือไม่ชอบ แต่เราอยากให้น้องๆ รู้สึกโอเคกับมันเพราะเขาคือหนังเรื่องนี้ เราอยากให้มันเป็นหนังของเขา อยากให้เขารู้สึกว่านี่คือบทบันทึกหนึ่งซึ่งเราว่าถ้าเราเป็นน้องก็คงรู้สึกดีที่ในช่วงชีวิตหนึ่งเรามีบันทึกจุดหนึ่งของชีวิตและความรู้สึกต่างๆ ในฐานะคนทำเราอยากให้น้องเก็บมันไว้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตได้”

“จะได้ร้อยล้านไหมไม่รู้เพราะไม่เคยทำได้อยู่แล้ว (หัวเราะ) แต่สิ่งที่ดีกว่านั้นคือเราอยากให้หนังเรื่องนี้อยู่ไปหลายๆ ปี เอากลับมาดูทีหลังได้เพราะมันบันทึกคัลเจอร์ในปีนี้ไว้ นี่คือสิ่งที่เมมเบอร์ในกรุ๊ปคิด เห็น รู้สึก อยากให้มันอยู่ไปยาวๆ”

 

Scene 8 / FOR EVERYONE

“เพราะเราเป็นคนตัดต่อหนังเรื่องนี้เอง ไปๆ มาๆ เรารู้สึกว่าหนังมันไม่เชิงเป็นหนังไอดอลแล้ว แต่มันเป็นหนังวัยรุ่นเรื่องหนึ่งมากกว่า คือน้องๆ แต่ละคนเขามีภาพสะท้อนความเป็นวัยรุ่นของพวกเราทุกคนอยู่ในนั้น

“เราเชื่อว่าใครบางคนต้องเคยเป็นแบบน้องในช่วงวัยรุ่นแน่ๆ มีช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งที่ต้องเคยผิดหวังแบบน้องๆ หรือต้องเคยร้องไห้แบบน้องๆ ไปๆ มาๆ เรารู้สึกว่านี่คือหนังชีวิตว่ะ”

ภาพ Salmon House

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย

นิติพงษ์ การดี

ช่างภาพเจ้าของเพจ Rename. ที่ลงงานปีละครั้ง และมีความคิดว่า ถ้าได้กินกาแฟในตอนเช้าหนึ่งแก้ว ถือว่าวันนั้นเป็นวันที่ดี