โซลาร์เซลล์ในอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ต้นแบบการใช้พลังงานทางเลือกเพื่อแก้ปัญหา โดย มจธ. และ ม.เกษตรศาสตร์

เวลาพูดถึงโซลาร์เซลล์ เรามักสนใจประโยชน์ในเชิงความประหยัด ค่าไฟถูก ไม่ได้เน้นเรื่องความสะดวกในการจัดการและควบคุมทางไกลมากนัก 

ประเทศไทยมีอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหลายแห่งทั่วประเทศ สำนักงานที่อยู่บนเกาะจะลำบากเป็นพิเศษ น้ำ ไฟ สาธารณูปโภคไม่ได้สะดวกเหมือนบนแผ่นดินใหญ่

ยกตัวอย่างแค่เรื่องไฟฟ้า วิธีการจ่ายไฟให้คนบนเกาะต้องใช้เครื่องปั่นไฟดีเซล ต้องส่งคนขนน้ำมันจากบนบกมาเติมเครื่องปั่นไฟ สิ้นเปลืองพลังงานทั้งการเดินทางและน้ำมันที่ใช้กับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า

โซลาร์เซลล์น่าจะเป็นคำตอบสุดท้ายของปัญหานี้ได้ดี แต่การลงมือทำจริงไม่ง่ายนัก สามองค์กรด้านการศึกษาและสิ่งแวดล้อมจึงผนึกกำลังกันเพื่อสร้างต้นแบบ นำไฟฟ้าทางเลือกมาใช้งานจริง องค์กรที่ว่าได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

โครงการนี้มีชื่อเต็มๆ ว่า ต้นแบบระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนยั่งยืนสำหรับอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าของประเทศไทย ทีมงานเริ่มต้นทำต้นแบบที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จังหวัดสตูล กระจายตัวไปในหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ ตต.2 (ตะโละอุดัง) หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ ตต.7 (ตะโละปะเหลียน) หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ ตต.3 (อ่าวมะขาม) หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ ตต. 6 (หาดทรายขาว) ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอ่าวเมาะและ หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ ตต.5 (แหลมสน) 

หัวใจของโครงการนี้ คือสร้าง ต้นแบบ ที่สามารถประยุกต์ใช้กับพื้นที่อื่นซึ่งประสบปัญหาแบบเดียวกัน ที่สำคัญคือต้องจ่ายไฟได้พอกับความต้องการ ทนทาน ดูแลง่าย ขนาดไม่ใหญ่ และไม่แพง โจทย์ยากเหล่านี้ทีมงานสร้างต้นแบบได้สำเร็จ ใช้สนับสนุนควบคู่กับเครื่องปั่นไฟแบบเดิมในระยะแรก และนำมาโชว์ที่บูทของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในมหกรรมพลังงานทางเลือก SETA 2022, SOLAR+STORAGE ASIA 2022 และ Enlit Asia 2022 ในวันที่ 20 – 22 กันยายน 2565 ที่ศูนย์ประชุมและนิทรรศการไบเทค บางนา 

ความเจ๋งอีกอย่างของต้นแบบนี้ คือมันสามารถจัดการและดูแลแบบทางไกล (มาก) ได้ บูทที่ไบเทคมีหน้าจอเล็กๆ แสดงผลการผลิตไฟฟ้าของอุทยานแห่งชาติที่อยู่ห่างไกลหลายร้อยกิโลเมตรแบบ real time โครงการนี้ทำให้เราเห็นโอกาสใหม่ๆ ที่จะนำพลังงานทางเลือก ไปสู่แวดวงที่เราคาดไม่ถึง 

หากทำสำเร็จ เชื่อมโยงเป็นเครือข่าย พลังงานทางเลือกในบ้านเราจะก้าวหน้าไปอีกขั้น ต่อยอดเอาไปทำอะไรได้อีกเยอะมาก

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชญุตม์ คชารักษ์

ชีวิตหลักๆ นอกจากถ่ายภาพ ชอบชกมวยเป็นชีวิตจิตใจ ฟังเพลงที่ดนตรีฉูดฉาดกับเบียร์เย็นๆ