KLOUD by KBank จากธนาคารสาขา 50 ปีสู่ Co-Working Space ที่ออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมทั้งระบบ

สยามสแควร์คือสถานที่ที่เต็มไปด้วยภาพจำและความทรงจำ ไม่ใช่แค่สถานที่ด้านศิลปวัฒนธรรม สถานที่ที่มีคนหมู่มากใช้งานอย่างธนาคารก็เป็นหนึ่งในภาพจำของพื้นที่แห่งนี้เช่นกัน 

ธนาคารกสิกรไทย สาขาสยามสแควร์ เป็นอาคารที่อยู่กับสยามสแควร์มาตั้งแต่ต้น วันนี้อาคารอายุ 50 ปีต้องปรับเปลี่ยน เช่นเดียวกับพื้นที่ใจกลางเมืองในหลายประเทศปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย เปลี่ยนรูปแบบการใช้งานให้เข้ากับวิถีชีวิตคนเมืองมากขึ้น

KLOUD by KBank คือ Co-Working Space แห่งใหม่จาก KBank ปรับปรุงธนาคารสาขาให้ตอบโจทย์การใช้งานของคนยุคนี้มากขึ้น

ภายใต้ภาพตึกที่ดูทันสมัย น้อยคนจะรู้ว่าที่นี่ออกแบบให้เป็นอาคารเพื่อสิ่งแวดล้อมแบบคิดทุกเม็ด องค์กรนี้ไม่ได้เพิ่งตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมตามกระแส แต่ทำต่อเนื่องจริงจังมายาวนาน ในการทำ KLOUD by KBank พวกเขานำบทเรียนและความรู้มาใช้เต็มที่ ร่วมกับพาร์ตเนอร์อีกหลายเจ้า ทำให้อาคารธนาคารเก่าแก่แห่งนี้อยู่คู่กับคนในยุคสมัยใหม่ได้อย่างกลมกลืน

เราคุยกับ ดร.พิพัฒน์พงศ์ โปษยานนท์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย พูดถึงเบื้องหลังการสร้าง KLOUD by KBank เป็น Co-Working Space ที่มีคนใช้งานคึกคักทุกวันอย่างน่าอิจฉา 

KBank ไม่เพียงมีธนาคารสาขาอยู่ที่สยามสแควร์ แต่ยังได้ทำงานใกล้ชิดกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ ดูแลระบบหลังบ้านให้หลายโครงการ ความผูกพันนี้เป็นเหตุผลที่ KBank ยังอยากเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน 

“ตึกนี้เป็นสาขาของเรามา 50 กว่าปี เราอยู่ที่สยามฯ มาตั้งแต่แรก แล้วก็เป็นพวกยึดติดไม่อยากไปไหน (ยิ้ม) เรามีโครงการต่อเนื่องกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เลยคิดว่าถ้าจะเป็นส่วนนึงของสังคมตรงนี้ การเป็นธนาคารสาขาอย่างเดียวไม่น่าตอบโจทย์ ต้องลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง เราเลือกทำตึกนี้เพื่อเป็นส่วนนึงของสยามสแควร์จริงๆ ก็พัฒนากันมาว่า มันจะเป็นอะไร” ดร.พิพัฒน์พงศ์เล่า

สุดท้ายไอเดียของทีมคือการทำ Co-Working Space เพราะเป็นที่ที่นักศึกษาต้องการมากที่สุด ทางเลือกนี้มีโจทย์ใหญ่ 2 ข้อ หนึ่งคือทำยังไงให้อาคารนี้ยั่งยืน ทั้งในแง่ของการอยู่ได้ในเชิงธุรกิจ การจัดการดีไม่เปลืองกำลังคน และต้องออกแบบให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

สองคือสยามสแควร์คือดงของ Co-Working Space และ Cafe แถมยุคนี้คนยังสามารถทำงานทางไกลที่บ้านได้ง่าย ทำยังไงให้สถานที่นี้น่าใช้จนเด็กยินดีออกจากบ้านเพื่อมาใช้เวลาที่นี่

ดร.พิพัฒน์พงศ์เล่าว่า ธนาคารกสิกรไทยปรับอาคารให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมานาน โดยเฉพาะอาคารสำนักงานใหญ่ และอาคาร KBTG พวกเขานำความรู้ทั้งหมดมาใช้กับการปรับปรุงตึกนี้ โครงสร้างเดิมคืออาคารห้องแถว ทีมงานจัดการทุบไปเยอะให้เหลือแต่โครง ปรับปรุงให้แข็งแรง ทลายเพดานเพื่ออาคารโปร่ง นอกจากนี้ KBank ยังร่วมมือกับ SCG เป็นที่ปรึกษาในการปรับโครงสร้าง ออกแบบการไหลเวียนของอากาศเสริมวัสดุที่ช่วยเรื่องประหยัดพลังงาน ติดหลังคา Solar roof เพื่อให้อาคารมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด

ทีมงานศึกษาพฤติกรรมของผู้ใช้ Co-Working Space และพบว่าปัญหาคลาสสิกอย่างหนึ่งคือไม่มีที่นั่ง หรือนั่งแล้วกลัวมีคนแย่งเวลาไปเข้าห้องน้ำหรือทำธุระอื่น นักศึกษาต้องใช้วิธีหาอะไรก็ได้ใกล้ตัวมาวางบนโต๊ะเพื่อให้คนรู้ว่ามีคนนั่ง

KLOUD by KBank ใช้วิธีให้คนจองที่นั่งผ่านแอปก่อนเข้าตึก คุณจะไม่สามารถเข้ามาได้ถ้าไม่ใช้มือถือสแกนเข้ามา เมื่อเข้ามาถึงระบบจะแจ้งตำแหน่งที่นั่งของเรา (บนโต๊ะจะมีชื่อของเราซึ่งนำข้อมูลตัวตนตอนเราจองผ่านแอปมาใช้) ถ้าเผลอไปนั่งที่ของคนอื่น ปลั๊กไฟจะไม่ทำงาน เมื่อหมดเวลาที่จองไว้ ไฟจะถูกตัดเช่นกัน ต้องจองใหม่ผ่านแอปเท่านั้น

ภายในอาคารจะมีที่นั่งทั้งแบบชิดผนัง ที่นั่งบริเวณตรงกลาง และแบบห้องประชุม จุดนี้เราสามารถผลักผนังกระจกของห้องพับเก็บไว้ที่มุมด้านหนึ่ง เพื่อให้มีพื้นที่จัดกิจกรรมใหญ่ขึ้น ตรงกลางอาคารเป็นบันไดที่นั่งลาดแบบอัฒจันทร์พร้อมจอ สามารถจัดเป็นงานแถลงข่าวขนาดย่อมได้

ระบบจัดการขยะในตึกมี PTTGC มาให้คำแนะนำ ขยะใน Co-Working Space มักเป็นขวดน้ำและขนม จุดทิ้งขยะนอกจากจะมีถังแยกพร้อมคำอธิบายละเอียดยิบ แม่บ้านในตึกยังถูกฝึกเรื่องการแยกขยะ สามารถให้คำแนะนำได้ว่าขยะแบบนี้ต้องทิ้งถังไหน หมดปัญหาการยืนงงอยู่หน้าถังเพราะไม่รู้จะแยกขยะอย่างไร จุดนี้ยังมีที่เทน้ำเครื่องดื่ม และถังเทเศษอาหารที่สามารถแปรรูปเป็นปุ๋ยได้ บรรจุใส่ถุงให้หยิบฟรี อาคารนี้จึงแทบไม่มีของเสียหรือ Zero waste ในการใช้งานแต่ละวันเลย

พาร์ตเนอร์องค์กรสุดท้ายที่มาร่วมโครงการนี้คือ AIS ให้คำปรึกษาเรื่องอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นจุดสำคัญของ Co-Working Space 

เราลืมบอกไปว่า ตึกนี้ให้บริการฟรี นี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ KLOUD by KBank  มีคนใช้งานเยอะมากโดยไม่ต้องโฆษณา อาศัยการบอกปากต่อปากในหมู่นักศึกษา แม้หลายพื้นที่จะยังไม่ได้เปิดให้บริการเต็มรูปแบบ เช่น โซนเครื่องพิมพ์ 3 มิติสำหรับ Maker แค่นี้ที่นั่งก็เต็มเร็วจนน่าอิจฉา

“ความท้าทายคือเราจะทำยังไงให้มันไม่ใช่แค่ Co-Working Space” ดร.พิพัฒน์พงษ์เล่า “ถ้าเราต้องทำกิจกรรมทุกวันเพื่อเรียกคนมาใช้ มันคงอยู่ไม่นาน เราคงไม่มีแรงทำทุกวัน ต้องให้มันอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่ในเชิงการเงิน แต่หมายถึงอาคารจะสะอาด ใช้ประโยชน์ได้จริง เรามีห้องประชุมให้เพราะมันเวิร์กมากสำหรับคนยุคนี้ เขาไม่ได้มา Working Space เพื่อมานั่งคุยกันเฉยๆ เขาอยากมาทำกิจกรรมด้วย”  

KLOUD by KBank เป็นตัวอย่างการออกแบบอาคารที่เข้ากับยุคสมัยในตอนนี้ ทั้งในแง่ของความยั่งยืน และการทำงานที่โชว์ความร่วมมือของหน่วยงานที่แตกต่างหลากหลาย ต่างคนต่างนำความเชี่ยวชาญของตัวเองมาแก้ปัญหาเพื่อเกิดประโยชน์สูงสุด

ปีนี้ KBank ลุกขึ้นมาทำโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมหลายด้าน ผ่านแคมเปญที่ชื่อ Go Green Together แต่เมื่อคุยกันลึกๆ กรรมการผู้จัดการมองว่านี่ไม่ใช่งานที่อยากทำเพื่อการตลาดหรือเอาใจใคร มันเป็นสิ่งที่ทุกองค์กรต้องทำ หลีกเลี่ยงไม่ได้

“ผมว่าความวิปริตของโลกมีมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเห็นได้ชัด เริ่มใกล้ตัวขึ้น เราจะเห็นภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ผมว่าทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กรุ่นน้องๆ ลงไป ค่อนข้างตื่นตัวเรื่องนี้ เขาเองก็อยากมีส่วนร่วมทำบางสิ่งบางอย่างให้สังคมเหมือนกัน เราเป็นองค์กรใหญ่ ก็คงพาคนไปได้กลุ่มนึง อยากจะมีอิมแพกต์ต่อสังคมเหมือนกัน อยากรู้ว่า เราจะพากันไปได้ไกลแค่ไหน”

KLOUD by KBank เปิดให้บริการทุกวัน 10.00 – 20.00 น.

KBank 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชญุตม์ คชารักษ์

ชีวิตหลักๆ นอกจากถ่ายภาพ ชอบชกมวยเป็นชีวิตจิตใจ ฟังเพลงที่ดนตรีฉูดฉาดกับเบียร์เย็นๆ