มีอะไรในทัวร์ลง? So You’ve Been Publicly Shamed หนังสือที่ออกตามหาต้นตอดราม่าออนไลน์

‘ดราม่า’  So You’ve Been Publicly Shamed

ในยุคที่โลกอินเทอร์เน็ตลุกเป็นไฟได้ง่ายๆ จากทวีตหรือโพสต์เพียงโพสต์เดียว ยุคเดียวกับที่โลกออฟไลน์และออนไลน์แยกกันไม่ขาด ปฏิเสธไม่ได้ว่าคำนี้ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพวกเราไปแล้ว

แต่อะไรกันที่ทำให้โพสต์เล็กๆในโซเชียลที่อาจไม่ใช่ประเด็นสาธารณะด้วยซ้ำ สามารถระเบิดกลายเป็นประเด็นร้อนของสังคมได้ในชั่วข้ามคืน อะไรที่ทำให้คนเรากล้าเปิดเครื่องด่าล้างผลาญคนแปลกหน้าจนยับเยินทั้งๆ ที่ไม่รู้จักกันมาก่อน จนชีวิตจริงของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจถึงขั้นพังพินาศ  

คำตอบอาจจะอยู่ในหนังสือเรื่อง So You’ve Been Publicly Shamed ของนักข่าวและนักเขียนชาวอังกฤษ Jon Ronson ผู้ศึกษาปรากฏการณ์การประณามกันทั้งในและนอกโลกอินเทอร์เน็ต ด้วยการไปไล่สัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องในเคสดราม่าต่างๆ ทั้งฝ่ายคนที่โดนถล่ม ฝ่ายผู้ประณาม รวมถึงนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ว่าเพราะอะไรคนเราถึงดราม่ากันอย่างเอาเป็นเอาตายบนโลกอินเตอร์เน็ต และการประณามกัน โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ จะสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมได้จริงหรือ

So You’ve Been Publicly Shamed

มนุษย์ สัญชาตญาณ และปรากฏการณ์ทัวร์ลง So You’ve Been Publicly Shamed

ปลายปี 2013 Justine Sacco สาวผิวขาวชาวแอฟริกาใต้คนหนึ่งโพสต์มุกที่เธอคิดว่าขำๆ ลงในแอ็กเคานต์ทวิตเตอร์ส่วนตัวก่อนขึ้นเครื่องบินจากนิวยอร์กไปยังเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ ว่า “Going to Africa. Hope I don’t get AIDS. Just kidding. I’m white!” (กำลังบินไปแอฟริกา หวังว่าจะไม่ติดเอดส์นะ พูดเล่น ฉันเป็นคนขาวนะ!)  

เมื่อเครื่องลงจอด แซกโคก็พบว่าในชั่วเวลา 11 ชั่วโมงที่ลอยอยู่ในอากาศ เธอกลายเป็นประเด็นร้อนแรงอันดับหนึ่งของทวิตเตอร์โลก ไม่เพียงแต่คนนับล้านๆ จะได้เห็นและก่นด่าทวีตนั้น ดาราและคนสำคัญนับร้อยก็ออกมารุมประณามและเรียกร้องให้แฟนๆ ไปถล่มแอ็กเคานต์ของเธอจนบริษัทที่เธอทำงานอยู่ต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบด้วยการไล่เธอออกกลางอากาศ

แซกโคเปิดเผยกับรอนสันว่า เธอตั้งใจ ‘ล้อเลียนทัศนคติเหยียดสีผิวของชาวอเมริกัน’ เฉยๆ ไม่ได้ตั้งใจเหยียดสีผิวหรือทำร้ายใครจริงๆ แต่ไม่ว่าเธอจะหมายความอย่างที่พูดหรือไม่ ชาวเน็ตก็ได้ตัดสินลงโทษเธออย่างถึงที่สุดไปแล้ว

แซกโคหยุดร้องไห้ไม่ได้ตลอด 24 ชั่วโมงแรกหลังเกิดดราม่า เธอนอนไม่หลับ หมดอาลัยตายอยากเมื่อรู้ตัวว่าชื่อของเธอจะถูกจารึกไว้บนกูเกิลในฐานะคนเหยียดสีผิวที่ต่ำช้าไปตลอดกาล และชีวิต การงาน ความสัมพันธ์ และความสำเร็จทั้งหมดของเธอถูกทำลายไปหมดสิ้นแล้ว เพียงเพราะแค่ทวีตเดียว

So You’ve Been Publicly Shamed

อะไรทำให้ชาวเน็ตพร้อมรุมด่าคนที่ไม่รู้จักที่อีกฟากโลกได้พร้อมเพรียงกันเป็นหมื่นเป็นแสนคนขนาดนี้ รอนสันหยิบเอาข้อคิดข้อเขียนของ Gustave Le Bon นักคิดชาวฝรั่งเศสจากศตวรรษที่ 19 หนึ่งในผู้บุกเบิกแนวคิดจิตวิทยาฝูงชนด้วยหนังสือ The Crowd: A Study of the Popular Mind มาลองอธิบาย

เลอ บง เชื่อว่าเมื่อคนจำนวนมากมารวมกลุ่มกัน จะเกิดสภาวะที่สมาชิกกลุ่มพร้อมใจกันทิ้งความเป็นปัจเจกของตนเพื่อปรับตัวให้เป็นกลุ่มก้อนเดียวกันโดยธรรมชาติ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มสามารถสถาปนาตนเองขึ้นมาเป็น ‘แกนนำ’ ที่ฝูงชนยอมรับได้สำเร็จ ฝูงชนก็พร้อมที่จะเชื่อในความคิดของบุคคลนั้น และคิดคล้อยตามไปในทางเดียวกัน เพราะความอยากเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มโดยสัญชาตญาณ

ดูเผินๆ แล้ว ข้อความข้างบนน่าจะสามารถอธิบายปรากฏการณ์ที่การเปิดเครื่องด่าของชาวเน็ตไม่กี่คนสามารถชักจูงคนนับหมื่นแสนให้มาทัวร์ลงด้วยกัน หรือปรากฏการณ์ที่คนดังหรือ key opinion leader สามารถชี้นำความคิดของผู้ติดตามได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อรอนสันนำเรื่องนี้ไปถาม Steve Reicher ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาสังคมจากมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูว์สในสกอตแลนด์ รอนสันก็พบว่าความคิดของ เลอ บง นั้นอาจจะไม่ถูกต้องทั้งหมดเสียทีเดียว

สตีฟ ไรเคอร์กล่าวว่า ถ้าทฤษฎีของเลอ บง เป็นความจริง ชาวเน็ตที่มาร่วมดราม่าก็ต้องออกมาพูดเนื้อหาเดียวกันเป็นนกแก้วนกขุนทองทุกครั้งที่มีทัวร์ลง แต่ในโลกความเป็นจริงเราจะเห็นทั้งคนที่รุมทัวร์  คนที่ออกมาปกป้องเหยื่อ คนที่มาดึงประเด็นดราม่าไปใช้ขยายประเด็นส่วนตัวอื่นๆ จนสุดท้ายไม่เกี่ยวกับต้นเรื่องดราม่า หรือแม้แต่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่อาศัยแฮชแท็กฮอตฮิตเพื่อจะขายของเสียยังงั้น

นั่นแปลว่าการที่คนคนหนึ่งจะออกมาประณามคนอื่นนั้นเป็นการกระทำที่มีแรงผลักดันอื่นอยู่เบื้องหลัง ไม่ได้เกิดขึ้นจากสัญชาตญาณร้อยเปอร์เซ็นต์ 

แล้วอะไรคือเหตุผลแท้จริงที่ทำให้คนเราร่วมสังฆกรรมทัวร์ลงกันแน่? รอนสันพบคำตอบจากเหตุการณ์ดราม่าที่เกิดขึ้นขณะที่เขาเขียนหนังสือเล่มนี้

‘คนดี’ ที่รับได้กับการทำร้ายคนเลวฝ่ายตรงข้าม

Hank และ Alex (ชื่อสมมติ) เป็นโปรแกรมเมอร์ที่ไปร่วมงานสัมมนาแห่งหนึ่งในปี 2013 ชายทั้งสองเล่นมุกตลกลามกกันขำๆ จากศัพท์เทคนิคที่ได้ยินจากบนเวที เรื่องคงจะจบลงตรงนั้นถ้าผู้หญิงที่นั่งอยู่แถวหน้าไม่ได้หันกลับมาถ่ายรูปทั้งสองแล้วทวีต

ผู้หญิงคนนั้นคือ Adria Richards โปรแกรมเมอร์หญิงและนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีสายฮาร์ดคอร์ และข้อความที่เธอเขียนประกอบทวีตก็คือ “Not cool. Jokes about forking repo’s in a sexual way and “big” dongles. Right behind me.” (ไอ้สองคนแถวหลังมันกล้าเล่นมุกลามกไม่เห็นหัวผู้หญิงอย่างฉันเลย โคตรไม่โอเค)

ในชั่วข้ามคืน ชายทั้งสองก็กลายเป็นเป้าของชาวทวิตเตี้ยนที่แห่กันมาถล่มทั้งคู่ว่าเหยียดเพศ จนแฮงก์ถูกไล่ออกจากงานในวันต่อมา

คืนวันนั้น แฮงก์โพสต์ขอโทษบนเว็บบอร์ดโปรแกรมเมอร์แห่งหนึ่งว่า ‘แน่นอน เป็นสิทธิของเอเดรียที่จะโพสต์รูปดังกล่าว แต่แทนที่เธอจะกล่าวเตือนผมดีๆ หรือเรียกพวกผมไปคุย เธอกลับถ่ายรูปผมแล้วแอบทวีตออกไปโดยที่ผมไม่มีโอกาสป้องกันตัวเองใดๆ ผมถูกไล่ออก ผมไม่รู้จะหาเงินเลี้ยงลูกสาวทั้ง 3 คนยังไงแล้ว’

So You’ve Been Publicly Shamed

กระแสดราม่าสวนทางในชั่วข้ามคืน ชาวเน็ตอีกกลุ่มเริ่มหาว่าเอเดรียกระทำเกินกว่าเหตุ แล้วออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้กับแฮงก์ด้วยการบุกโจมตีเซิร์ฟเวอร์ของบริษัทที่เอเดรียทำงานอยู่ จนบริษัทตัดสินใจไล่เธอออกโทษฐาน ‘สร้างความขัดแย้งในวงการ’
ดราม่าเรื่องนี้จบลงด้วยการที่ชีวิตของทั้งสองฝั่งพังพินาศด้วยเงื้อมมือของชาวเน็ตที่ทั้งสองฝ่ายดึงให้มาสนับสนุน ทั้งโดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ 

เมื่อรอนสัน ผู้เขียนหนังสือถามเอเดรียว่าเธอทวีตแบบนั้นออกไปเพื่ออะไร และรู้สึกผิดไหมที่เขาโดนไล่ออกเพราะทวีตของเธอ เธอตอบอย่างไม่ลังเลว่า “เขาเป็นผู้ชายผิวขาว ฉันเป็นผู้หญิงยิวผิวดำ เขาหยามเหยียดฉันที่นั่งอยู่ตรงนั้น ฉันต้องปกป้องตัวเอง” ในฐานะโปรแกรมเมอร์หญิงในวงการที่เต็มไปด้วยผู้ชาย เธอถือว่านี่เป็นหน้าที่ลูกผู้หญิงที่ต้องลุกขึ้นสู้กับระบบปิตาธิปไตยในวงการ “ฉันสงสารเขานะ แต่เขาก็ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองพูดเหมือนกัน” เธอกล่าว

ส่วนชาวเน็ตที่รอนสันไปสัมภาษณ์อธิบายว่า ในเมื่อเอเดรียเลือกที่จะใช้อินเทอร์เน็ตเป็นศาลเตี้ย ตีเรื่องให้ใหญ่โตจากมุกที่ไม่ได้ตั้งเป้ามาที่เธอด้วยซ้ำ เพื่อลงโทษผู้ชายคนนั้นจนชีวิตจริงพังพินาศ มันก็เป็นสิทธิของคนบนโลกอินเทอร์เน็ตเช่นกันที่จะลงทัณฑ์เธอคืนเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับแฮงก์

รอนสันจึงสรุปว่า เหตุที่คนเราออกมาดราม่าในเรื่องต่างๆ นั้น ลึกๆ แล้วเป็นเพราะพวกเรารู้สึกว่าเรากำลังทำความดี เรียกร้องความยุติธรรมเพื่อให้สังคมที่เราอยู่ดีขึ้นกันทั้งนั้น

แต่เดี๋ยวก่อน ถ้าพวกเราอยากเป็นคนดี ทำไมพวกเราถึงได้เลือกวิธีที่จะแสดงความดีนั้นด้วยการทำลายล้างอีกฝ่ายให้ป่นปี้ด้วยถ้อยคำรุนแรงและเหยียดหยามกันล่ะ 

รอนสันคิดว่าการประณามอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นในโลกอินเทอร์เน็ตมาจากปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่เรียกว่า cognitive dissonance หรือการที่คนเรามักหาเหตุผลเข้าข้างการกระทำของตัวเอง เช่น ลึกๆ เราเองก็รู้อยู่ว่าการด่าคนอย่างรุนแรงนั้นเป็นการ ‘ทำร้าย’ จิตใจอีกฝ่าย แต่เมื่อปะทะกับความคิดที่อยากทำดี จิตใจของคนเราจึงหาทางออกที่ทำให้เรารับตัวเองได้ นั่นคือการคิดเข้าข้างตัวเองว่าอีกฝ่ายเป็น ‘เดนมนุษย์’ ที่ควรค่าแก่การลงทัณฑ์โดย ‘คนดี’ อย่างพวกเรานั่นเอง

So You’ve Been Publicly Shamed

จะทำยังไง ถ้าวันหนึ่งคุณกลายเป็นคนที่โดนทัวร์ลง

แล้วถ้าเกิดวันหนึ่งเราเป็นคนที่โดนประณามจนชีวิตเปลี่ยน เราจะสามารถกู้ชีวิตของตัวเองคืนมาได้หรือไม่?

รอนสันไปสัมภาษณ์ Max Mosley อดีตประธานสหพันธ์รถยนต์ระหว่างประเทศ (FIA) ผู้เคยเป็นข่าวฉาวจากกรณีที่สำนักข่าวแอบถ่ายเขาขณะกำลังมีเซ็กซ์หมู่กับผู้หญิง 4 คนในชุดคล้ายทหารนาซีและนักโทษชาวยิว ดราม่ายิ่งเข้มข้นเป็นที่โจษจันเมื่อคนรู้ว่าพ่อของโมสลีย์เคยเป็นอดีตผู้นำสหภาพฟาสซิสต์อังกฤษและเป็นคนรู้จักของทั้งฮิตเลอร์และมุสโสลินีด้วย

แต่แทนที่โมสลีย์จะออกมาขอโทษหรือรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งในสหพันธ์ เขากลับฟ้องสำนักข่าวฐานละเมิดสิทธิส่วนบุคคลจนสำนักข่าวต้องชดใช้ค่าเสียหายให้เขาเป็นเงินจำนวนมาก เขาใช้ชีวิตต่อไปอย่างมั่นใจจนสาธารณชนเลิกสนใจเรื่องของเขาไปในที่สุด 

อีกเคสที่รอนสันสนใจก็คือเคสของ Mike Daisey นักเดี่ยวไมโครโฟนที่โด่งดังจากโชว์ของเขาที่พูดถึงประสบการณ์ไปเยี่ยมชมโรงงานบริษัท Apple ที่จีน เขาเล่าถึงการเอาเปรียบคนงานจีนอย่างถึงลูกถึงคนจนได้ไปออกอากาศใน This American Life หนึ่งในรายการวิทยุชื่อดังที่สุดในอเมริกา ผู้ฟังดาวน์โหลดตอนของเขาถึงเกือบ 900,000 ครั้ง จนกระทั่งรายการค้นพบว่าเดซีย์บิดเบือนและแต่งเติมข้อมูลบางส่วนในผลงานของตัวเอง ชาวเน็ตจึงออกมารุมประณามเดซีย์อย่างรุนแรงจนเขาต้องออกมาขอโทษผู้ชมผ่านทางรายการ

แต่แทนที่เดซีย์จะหมดอนาคตทางหน้าที่การงานจากดราม่าครั้งนี้ เขากลับพลิกประเด็นดราม่าว่า ถึงบางส่วนของโชว์จะไม่เป็นความจริง แต่การเอาเปรียบคนงานจีนของบริษัท Apple นั้นยังมีอยู่จริง และเขาจะยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิของคนงานจีนต่อไป และแล้วแฟนๆ ของเดซีย์ก็ค่อยๆ กลับมาสนับสนุนเขา จนเขายังสามารถเดี่ยวไมโครโฟนมาได้ถึงทุกวันนี้

รอนสันสรุปว่าทั้งโมสลีย์และเดซีย์รอดมาได้ก็เพราะว่า แทนที่พวกเขาจะยอมรับผิดหรือออกมาขอโทษ พวกเขากลับเล่นเกมจิตวิทยา แสดงความมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ แล้วสู้คนที่มาดราม่ากลับด้วยความกล้าหาญ (อาจถึงขั้นหน้าด้าน) ว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูก จนฝ่ายที่ออกมาด่าเสียความมั่นใจว่าถ้าเหยื่อผิดจริง พวกเขาจะไม่รู้สึกผิดอะไรได้ขนาดนี้และยังสนับสนุนพวกเขาให้กลายเป็นคนที่ถูกต้องจนพลิกเกมได้ด้วยซ้ำแต่แน่นอน ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถตีหน้าเหี้ยม ปิดความรู้สึกละอายใจในความผิดของตัวเองออกไปจากใจได้

สุดท้ายแล้วหนังสือเรื่อง So You’ve Been Publicly Shamed ก็ยังไม่สามารถหาสูตรสำเร็จได้ว่า คนที่โดนประณามควรจะทำตัวยังไงเพื่อให้รอดพ้นจากสภาวะหลังโดนดราม่า

ดราม่าออนไลน์ หรือละครฉากใหญ่ของบริษัทโซเชียลมีเดีย

ในบทสุดท้ายของหนังสือ รอนสันตั้งข้อสงสัยว่าดราม่าที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์นั้นเกิดขึ้นโดยธรรมชาติของมนุษย์ล้วนๆ หรือเกิดขึ้นจากการเสี้ยมของบรรดาบริษัทโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่ได้รายได้จากดราม่าของผู้ใช้งาน?

จากเหตุการณ์ดราม่าของแซกโคที่เล่าไปเบื้องต้น รอนสันคำนวณออกมาว่าบริษัทกูเกิลได้รายได้จากการเสิร์ชชื่อของแซกโคเป็นเงินกว่า 120,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบๆ 4 ล้านบาทในเดือนเดียว

เป็นไปได้หรือไม่ที่บริษัทอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียต่างๆ กำลังค่อยๆ สร้างโลกที่แบ่งแยกด้วยชุดความเชื่อของคนแต่ละกลุ่มอย่างรุนแรง จนคนต่างกลุ่มพร้อมจะรักษาความเชื่อของตัวเองจนเกิดเป็นดราม่า เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของบริษัทอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียที่หากินกับการสังเวยคนบนโลกอินเทอร์เน็ตรายวัน 

แต่แม้หนังสือเล่มนี้จะพูดถึงดราม่าในโลกอินเทอร์เน็ตในแง่ลบเสียเป็นส่วนมาก รอนสันเองก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าการประณามในโลกอินเทอร์เน็ตหลายครั้งก็สามารถนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมที่อาจไม่มีวันเกิดขึ้นในโลกก่อนยุคอินเทอร์เน็ตได้ เช่น การประท้วงทางการเมือง หรือการบอยคอตต์บริษัทที่ทำผิดจริยธรรมเพื่อผลประโยชน์จนบริษัทเหล่านั้นต้องออกมารับผิดชอบ กลายเป็นว่าการประณามในโลกอินเทอร์เน็ตเองก็เป็นเครื่องมือของคนยุคใหม่ในการสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนเช่นกัน

คำถามจึงตกมาที่ประเด็นว่า อะไรคือตัวตัดสินว่าประเด็นที่เราดราม่านั้นคือประเด็นที่ ‘สมควร’ โดนดราม่า อะไรคือความยุติธรรมที่ ‘ถูกต้อง’ หรือใครกันที่จะเป็นผู้ตัดสินความยุติธรรมนี้ คำถามโลกแตกเหล่านี้ย่อมไม่มีคำตอบตายตัว และคงต้องเป็นหน้าที่ของพวกเราที่จะหาคำตอบที่เหมาะสมกับแต่ละคนต่อไป

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone